Wednesday, May 30, 2007

ตอนที่ 34

ไอ้นัยทำสีหน้าจริงจัง แล้วพูดขึ้นว่า “ปีหน้าอาจะให้กูสอบเข้าโรงเรียน... ว้อย”

สมัยก่อน พอเด็กเรียนถึง ป.๖ ก็ต้องคิดถึงเรื่องวางแผนเรียนต่อ ม.๑ แล้วละครับว่าจะไปเรียนที่โรงเรียนไหน ถ้าเป็นโรงเรียนสังกัด กทม. ซึ่งมีสอนสูงสุดแค่ชั้น ป.๖ ยังไงเมื่อจบ ป.๖ ก็ต้องหาโรงเรียนใหม่แน่ๆอยู่แล้ว (สมัยนั้นโรงเรียนขยายโอกาสไม่ทราบว่ามีหรือเปล่านะครับ แต่คิดว่าไม่มี) ส่วนโรงเรียนเอกชนนั้นส่วนมากมักมีชั้นมัธยมให้เด็กเรียนต่อด้วย แต่เด็กมักไม่นิยมเรียน ส่วนใหญ่อยากสอบเข้า ม.๑ โรงเรียนรัฐชื่อดังมากกว่า มันก็เป็นค่านิยมของเด็กประถมในสมัยก่อนนั่นแหละครับ คือผู้ปกครองก็มองว่าถ้าได้เรียนโรงเรียนดังๆ เด็กก็มีโอกาสสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ตามที่หวังไว้ค่อนข้างสูง ส่วนในแง่ตัวเด็กเองนั้นก็มองว่าถ้าได้เรียนโรงเรียนดังๆมันเท่ครับ เหตุผลมีแค่นี้เอง ส่วนใหญ่ไม่ได้คิดไกลไปถึงตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรอก ไอ้เรื่องนั้นปล่อยให้ผู้ปกครองคิดกันไป

ตอนสมัยผมเรียนประถม ตอนนั้นการเข้าไปเรียนต่อชั้น ม.๑ ในโรงเรียนของรัฐนั้นไม่ได้จับฉลากตามเขตพื้นที่บริการแบบเดี๋ยวนี้นะครับ ใช้สอบคัดเลือกเอา คือโรงเรียนแต่ละแห่งจะรับนักเรียนจากการสอบคัดเลือกประมาณ 80-90% ส่วนอีก 10-20% นั้นเป็นโควต้าสำหรับผู้มีอุปการคุณของโรงเรียน พูดง่ายๆภาษาเด็กสมัยนั้นพูดกันก็คือเป็นโควต้าของเด็กฝากแหละครับ ส่วนสมัยนี้ต้องรับด้วยการจับฉลากไม่เกิน 50% และรับด้วยการสอบเข้าไม่เกิน 30%

เรื่องแผนการเรียนต่อ ม.๑ ที่อื่นนั้น ในตอนนั้นไม่ได้อยู่ในหัวผมเลย ที่จริงตอนนั้นเป็นปลายเทอมหนึ่ง เด็กส่วนใหญ่ก็เริ่มเตรียมตัวเกี่ยวกับการเรียนต่อกันบ้างแล้ว นั่นคือ ด้วยการหาที่ติว

ที่ผมเล่าเรื่องติวมาในตอนต้นนั้นเป็นเรื่องติวสำหรับการเรียนโดยทั่วๆไป แต่สำหรับการติวเพื่อสอบเข้า ม.๑ นั้น ตั้งแต่สมัยผมอยู่ ป.๖ ก็มีโรงเรียนกวดวิชาแนวนี้แล้วเช่นกันครับ แต่ผมไม่ได้สนใจ เพราะพ่อพูดกับผมไว้แต่แรกแล้วว่าให้เรียนที่โรงเรียนนี้ต่อไป เนื่องจากว่าตอนเอ๊ดพี่ชายผมจบ ป.๖ ก็อยากไปเรียนต่อที่โรงเรียนรัฐชื่อดัง ก็เลยไปสมัครสอบจนได้เข้าเรียน พ่อเลยต้องวุ่นวายไปหาที่ฝากให้พักอยู่กับเพื่อนพ่อ อย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟัง เพราะว่าโรงเรียนรัฐไม่มีแผนกประจำเหมือนโรงเรียนเอกชนบางแห่ง ถ้าผมจะเรียนโรงเรียนรัฐอีกคน พ่อก็ไม่รู้จะให้ผมไปอยู่กับใคร เพราะบ้านที่เอ๊ดอยู่นั้นพ่อก็เกรงใจเขามากอยู่แล้ว

ส่วนไอ้ชัชนั้นที่บ้านมันไม่ได้สนใจเรื่องวางแผนเรียนต่ออะไรให้เจ้าลูกชายตัวดี (ที่จริงตัวร้าย) หรอกครับ อยู่ที่ไหนก็อยู่ที่นั่นต่อไป คนค้าขายน่ะครับ คิดว่าเรียนให้จบก็พอแล้ว โรงเรียนไหนก็พอๆกัน ส่วนไอ้นัยก็ไม่เคยพูดอะไร จนผมนึกว่าในแก๊งของเราสามคนไม่มีใครคิดย้ายโรงเรียนเสียแล้ว...

ไอ้ชัชกับผมอึ้งไปชั่วขณะ ... นี่เราใกล้ถึงเวลาที่จะต้องแยกจากกันแล้วหรือนี่?
- - - -

“เฮ้ย ไหงงั้นล่ะ ไม่เห็นมึงเคยพูดมาก่อนเลยนี่” ไอ้ชัชพูดแบบงงๆ ผมเองก็ตั้งตัวไม่ติดเหมือนกัน ใจหายวูบ ได้แต่พูดว่า “นั่นน่ะสิ”

“อาก็เพิ่งบอกกูเมื่อวันอาทิตย์นี่เอง” ไอ้นัยว่า

“แล้วทำไมอามึงถึงได้คิดอะไรแปลกๆแบบนี้ล่ะ” ไอ้ชัชถามอีก ดูมันสิครับ คิดเข้าข้างตัวเองขนาดไหน เด็กนักเรียน ป.๖ สอบเข้าเรียนโรงเรียนรัฐเป็นเรื่องแสนจะธรรมดา มันกลับว่าคิดแปลกๆ เป็นเพราะว่ามันไม่อยากให้ไอ้นัยจากไปนั่นเอง

สมัยผมเรียนอยู่ชั้นประถมนั้น เด็กนักเรียนโรงเรียนทั่วไป คือทั้งโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนสังกัด กทม. ต่างก็อยากได้เข้าเรียนในชั้น ม.๑ ของโรงเรียนรัฐบาลดีๆที่มีชื่อเสียงกันทั้งนั้น นักเรียนในโรงเรียนที่ผมเรียนอยู่นี้ก็เช่นกัน มีเด็ก ป.๖ ประมาณ ๗๐-๘๐ % ที่ไปสมัครสอบเข้า ม.๑ โรงเรียนรัฐบาล มีส่วนน้อยที่อยากเรียนอยู่ที่เดิม แต่ก็นั่นแหละครับ ไปสอบแล้วก็ใช่ว่าจะได้เข้าเรียนโรงเรียนของรัฐกันทุกคน ไม่อย่างนั้นโรงเรียนเอกชนก็ต้องเจ๊งสิครับ เด็กโรงเรียนที่สอบได้และได้ไปจริงๆน่ะมีไม่มากนัก ห้องหนึ่งได้ไปจริงๆไม่ถึงครึ่งห้องหรอกครับ แล้วก็จะไปอีกทีก็ โน่น ตอนขึ้น ม.๔

ก็อย่างที่บอกว่าสมัยที่ผมเรียนนั้น การเข้าเรียน ม.๑ ในโรงเรียนรัฐบาลไม่ได้จับสลากเข้าแบบทุกวันนี้ แต่ต้องสอบเข้า โรงเรียนรัฐบาลชื่อดังๆทั้งหลายก็เนื้อหอมเป็นที่หมายปองของเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ พากันแห่กันไปสมัครล้นหลามมากกว่าโรงเรียนที่ไม่ดัง

โรงเรียนรัฐชื่อดังในสมัยผมก็มี... มีอะไรบ้างล่ะ อ้อ ถ้าบนถนนเส้นลาดพร้าว-บางกะปิก็มีสตรีวิทยา ๒ กับบดินทร์เดชา แต่บดินทร์ฯดูจะดังกว่านะครับ เด็กๆที่โรงเรียนอยากไปเรียนกันมาก ส่วนโรงเรียนเตรียมน้อมฯ นวมินทร์ฯ ย่านถนนสุขาภิบาล ยุคนั้นมีหรือยังผมก็ไม่แน่ใจ แต่ส่วนตัวผมเองไม่เคยรู้จักเลย

ถ้าพ้นย่านลาดพร้าวไปแล้ว โรงเรียนดังอื่นๆที่มีนักเรียนชายก็มีเทพศิรินทร์ สวนกุหลาบ ถ้ามีเงินหน่อยก็เลือกโรงเรียนมัธยมเอกชนกัน ที่ดังๆก็เซนต์คาเบรียล อัสสัมชัญ กรุงเทพคริสเตียน ส่วนนักเรียนหญิงนิยมเรียนโรงเรียนไหนกันนั้น ตอนนั้นผมไม่รู้จริงๆ เพราะผมอยู่แต่โรงเรียนชาย รู้แค่นี้ก็บุญแล้ว

การสอบเข้านั้น ถ้าโรงเรียนชื่อดังก็จะออกข้อสอบเอง โรงเรียนใครโรงเรียนมัน ใครอยากเข้าโรงเรียนไหนก็ต้องลงทุนติวเป็นพิเศษสำหรับเข้าโรงเรียนนั้น ส่วนโรงเรียนระดับรองๆลงไปใช้ข้อสอบรวมหรือออกข้อสอบเองอันนี้ไม่แน่ใจครับ แต่ทุกโรงเรียนจะจัดวันสอบพร้อมๆกัน เพราะป้องกันเด็กตระเวนสอบกับโรงเรียนนั้นที โรงเรียนนี้ที ใครอยากเข้าไปเรียนในโรงเรียนไหนก็ไปสมัครสอบกับโรงเรียนนั้นที่เดียวไปเลย

ทีนี้ถ้าสอบแล้วรับประทานแห้วจะทำอย่างไร จะเคว้งหรือเปล่า การสอบเข้า ม.๑ โรงเรียนรัฐในยุคก่อนก็คล้ายสอบเอ็นทรานซ์อยู่บ้างเหมือนกัน นั่นคือ คล้ายกันตรงส่วนที่ว่านักเรียนต้องประเมินตนเองด้วย เรียนไม่เก่งมากแต่อยากเข้าโรงเรียนดัง โอกาสพลาดก็สูง เพราะการแข่งขันในโรงเรียนดังๆค่อนข้างสูง สมัยผมนี่ยกตัวอย่างโรงเรียนหนึ่งเด็กสมัครสอบ 3,000 รับ 700 คน แต่ที่รับจากการสอบจริงๆก็สัก 500-600 คนเท่านั้น ที่เหลือเป็นโควต้าเด็กเส้นเด็กฝาก

ดังนั้นการจะเลือกโรงเรียนต้องประเมินความสามารถตนเองด้วย เพื่อลดโอกาสพลาดพลั้งให้เหลือน้อยที่สุด แต่ถ้ายังต้องกินแห้วจริงๆก็จะมีเปิดรับรอบสอง คือ ทุกโรงเรียนจะแจ้งโควต้านักเรียนที่เหลือจากรอบแรกแล้วไม่เต็มมาประกาศอีกครั้ง คราวนี้ละครับ ทั้งเด็กและผู้ปกครองวิ่งกันขาขวิดเพราะเป็นโอกาสสุดท้าย คราวนี้ดังหรือไม่ดังไม่สนใจแล้ว สนใจแต่ว่าขอให้มีที่เรียน เพราะว่าโรงเรียนรัฐค่าเทอมถูกมาก ปีหนึ่งไม่กี่ร้อยบาท (แต่ขึ้นราคามาเรื่อยๆนะครับ ไม่ใช่อัตราคงที่) ถ้าไม่มีที่เรียนจริงๆก็ต้องจำใจเรียนโรงเรียนเอกชนซึ่งค่าเทอมตกปีละหลายพันบาทถึงเป็นหมื่น

ส่วนเด็กที่เรียนโรงเรียนเอกชนอยู่แล้วอย่างพวกผมนั้นสบายครับ ถ้ากินแห้วก็เรียนที่เก่า แค่เสียหน้าเท่านั้นเอง แต่ถึงอย่างไรก็มีที่เรียนแน่นอน

อ้อ เกือบลืมเล่าไปว่า เด็ก ป.๖ ที่ไปสอบนั้น บางทีก็ไม่ได้อยากย้ายโรงเรียนทุกคนหรอกครับ มีบางส่วนไปสอบเล่นๆ เห็นเพื่อนไปสอบก็สอบบ้าง ก็ไม่เชิงสอบเล่นๆหรอกครับ แต่มันเหมือนกับการวัดฝีมือกันในหมู่เพื่อนฝูง คือถ้าสามารถสอบเข้าได้โรงเรียนดังอย่างบดินทร์เดชา เทพศิรินทร์ ฯลฯ ใครสอบได้ก็มีหน้ามีตา คุยโตโอ้อวดกับเพื่อนๆได้

อย่างเอ๊ดพี่ชายผมก็เช่นกัน ไปสอบได้โรงเรียนแถวบางกะปินั่นเอง ส่วนผมนั้นตอน ป.๖ เทอมต้น เพื่อนๆก็คุยๆกันและเตรียมตัวเรียนพิเศษกันบ้างแล้ว แต่ผมไม่ได้สนใจ เพราะไอ้ชัชกับไอ้นัยไม่ได้ไปไหน ผมมันคนติดเพื่อนครับ เรียนที่ไหนไม่สำคัญ ขอให้ได้อยู่กับเพื่อนสนิทก็อุ่นใจแล้ว

3 comments:

Anonymous said...

หวัดดีครับคุณอู ^^

ใกล้ถึงตอนล่าสุดเข้าไปทุกทีแล้วนะครับเนี่ย รออ่านอยู่เช่นเคยนะครับผม ^^

e_ngadam said...

ชอบมากๆ
ติดตามมาตลอด
มาให้กำลังใจคนแต่ง

Anonymous said...

แหะๆๆ อ่านมานานเพิ่งมาเม้นท์ครับ :p สนุกมากเลยคุณอู ... รอตอนต่อๆไปอยู่นะคร้าบบบ ;)