Friday, July 31, 2009

ภาคสาม ตอนที่ 10

ไหนๆก็เล่ามาแล้ว ขอเล่าให้หมดเลยก็แล้วกัน

จำได้ว่าเมื่อตอนมาอยู่กับคุณอาใหม่ๆ กูกลัวมาก กลัวถูกดุด่า ถูกตีอีก ก็เลยพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เค้ารัก ทำตัวเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อไม่ซน อยากให้ทำอะไรกูก็ทำ อยากให้กูเป็นอะไรกูก็เป็น อยากให้ตั้งใจเรียนก็ตั้งใจเรียน คราวนี้ได้ผล เพราะดูเหมือนคุณอาทั้งสองคนจะรักกูและไม่เคยตีกูเลย

ตอนประถมต้นเราอาจไม่ค่อยสนิทกันเท่าไร มึงอาจจะจำไม่ได้ว่าตอนเข้ามาเรียน ป.๑ ใหม่ๆกูโดนเพื่อนๆแกล้งบ้างเหมือนกัน กูอยากให้เพื่อนๆรักก็เลยทำเหมือนเดิม คือพยายามตามใจเพื่อนๆเสมอ เพื่อนๆก็เลยไม่ค่อยแกล้งกู แต่กูก็ไม่มีใครที่เป็นเพื่อนสนิท ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน

เรามาสนิทกันตอนประถมปลาย รู้มั้ยว่ากูดีใจขนาดไหนในที่สุดมีเพื่อนสนิทเสียที กูยอมให้มึงกับไอ้ชัชแกล้งด้วยความเต็มใจเพื่อแลกกับมิตรภาพของพวกมึง ไม่รู้ว่ามึงจะเข้าใจหรือเปล่า

ตอนที่กูไปเที่ยวบ้านมึง ได้เห็นครอบครัวที่อบอุ่น มีพี่ชายที่ดี มันทำให้กูอิจฉามึงมากรู้มั้ย ความรู้สึกของกูมันอธิบายไม่ถูก มันทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อย กูอายเพื่อนๆ โดยเฉพาะอายมึง กูคงเป็นเด็กที่เกิดมาโดยพ่อแม่ไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิด ก็เลยทิ้งกูไป

ตั้งแต่นั้นมากูก็พยายามชดเชยปมด้อยให้ตัวเอง คุณอาอยากให้กูเรียนให้เก่ง สอบเข้า ม.๑ ที่นี่ให้ได้ กูก็พยายามเต็มที่ ความอิจฉาที่มึงมีครอบครัวที่อบอุ่น ทำให้กูอยากเอาชนะมึงในบางด้านเพื่อชดเชยความรู้สึกที่ด้อยกว่ามึง ก็เลยพยายามเรียนให้ชนะมึง พยายามสอบเข้าให้ได้ คุณอาอยากให้กูเป็นสถาปนิก กูก็ตั้งความฝันไว้ว่าจะเป็นสถาปนิกให้ได้ ยิ่งสนิทกับมึงเท่าไร กูก็ยิ่งพยายามชดเชยปมด้อยให้ตัวเองมากขึ้น แต่ก็เพื่อจะได้รู้สึกทัดเทียมกับมึงบ้างแค่นั้นเอง กูไม่ได้ต้องการเอาชนะเพื่อข่มมึงนะอู

ตอนที่เราสอบจะเข้า ม.๑ แล้วมึงเกิดเปลี่ยนใจขึ้นมา รู้ไหมว่ากูผิดหวังมากขนาดไหน กูไม่กล้าพูดอะไรมากเพราะเกรงใจไอ้ชัชมัน แต่ถ้ากูมีสิทธิ์เลือกใครสักคนเพื่อมาเรียนต่อ ม.๑ เป็นเพื่อนกูได้ คนที่กูจะเลือกก็คือมึง

ตอนเรียน ม.๑ เป็นปีที่มีความสุขมาก เราไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด โดยเฉพาะวันเสาร์เป็นวันที่กูรอคอยเลยแหละ เพราะจะได้ไปเดินเล่นสยามสแควร์กับมึงสองคน

ช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดอีกช่วงหนึ่งก็คือเวลาที่เราอยู่ด้วยกันที่บึงน้ำ มันเป็นโลกที่กูชอบมาก ที่นั่นไม่มีใครอื่น ไม่มีใครเด่น ไม่มีใครด้อย มีแต่ความสงบสุข ความรัก และความอบอุ่น หลายต่อหลายครั้งที่กูคิดจะเล่าเรื่องในครอบครัวให้มึงฟัง แต่ก็ไม่กล้าเล่าสักที ใจหนึ่งก็อยากบอกความจริง อีกใจหนึ่งก็กลัวมึงโกรธที่โกหกมาตั้งนาน อีกอย่างหนึ่งก็คงอายด้วยแหละ เพราะมันเป็นปมด้อยของกูมาตลอด

ตั้งแต่กูมาอยู่กับคุณอา แม่ไม่ค่อยได้ติดต่อมาบ่อยนัก แม่ใช้ชีวิตอยู่กับแฟนอีกหลายคน ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด ตอนที่เราอยู่ ม.๒ เทอมต้น ช่วงนั้นแม่อยู่ในกรุงเทพฯนี่เอง แต่เราก็ไม่ค่อยติดต่อกันเท่าไร เพราะคิดว่าเค้าก็มีครอบครัวของเค้า กูก็มีครอบครัวของกู

จู่ๆแม่ก็บอกว่าแม่กับแฟนจะย้ายไปอยู่อเมริกาเพราะไปลงทุนเปิดร้านอาหารที่นั่น มันทำให้รู้สึกวูบเหมือนกันนะ กูเสียใจมาก เพราะอะไรก็รู้สิ กูว่าเค้าก็ไม่รักกู แต่ทำไมพอจะจากไปกูกลับรู้สึกไม่อยากให้เค้าไปเลย ตอนนั้นแหละที่กูเริ่มรู้สึกสับสนกับชีวิต

ตอนนั้นเองที่กูได้รู้จักกับพี่เต้ หลังจากที่กูช่วยงานพี่เต้ได้สักพัก กูรู้สึกว่าคนนี้แหละคือพี่ชายที่กูเคยฝันอยากจะมีตั้งแต่เด็ก พี่เต้ดีกับกูมากเหมือนที่พี่เอ๊ดดีกับมึง มึงมีพี่ชายได้ ถ้ากูมีสักคนก็คงไม่ผิดใช่ไหมอู แต่กูรู้สึกว่ามึงไม่ค่อยพอใจพี่เต้เลย

แม่เดินทางไปอเมริกาตอนที่เราปิดเทอมกลางของ ม.๒ ตอนนั้นกูเสียใจมาก ทำไมก็ไม่รู้เหมือนกัน มันคล้ายกับว่าแม่ไม่ได้สนใจไยดีหรือรักกูเลยแม้แต่น้อย อยากไปไหนก็ไป อยากทิ้งก็ทิ้ง ไม่เคยคิดห่วงกูเลย อยากระบายกับมึงนะ เคยคิดว่าถ้าได้ระบายให้มึงฟังแล้วคงสบายใจขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำเพราะเหตุผลอย่างที่ว่า คือไม่รู้จะเริ่มต้นบอกอย่างไร

ตอนนั้นแหละที่กูเริ่มพยายามหาคำตอบว่าความรักคืออะไรกันแน่ พอได้ไปอ่านเรื่อง ๒๓ นิยาย เล่มที่มึงเคยเห็นนั่นแหละ ในนั้นบอกว่าพระเจ้าคือความรัก กูก็เลยสนใจอยากศึกษาศาสนาคริสต์ ทั้งที่เราก็จบมาจากโรงเรียนคาทอลิกมาก่อน แต่ก็ยังไม่ได้พบคำตอบอะไร

ช่วงนั้นกูรู้สึกว่าพี่เต้ชดเชยความรู้สึกให้กูได้บ้าง มันเหมือนกับว่าแม่จากไป แต่กูยังมีพี่ชายเหลืออยู่ อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน แต่ความรู้สึกที่กูมีกับพี่เต้ไม่ได้เหมือนที่มีกับมึง กูไม่เคยคิดว่าพี่เต้สำคัญกว่ามึงเลยนะอู มึงต่างหากที่เป็นคนที่สำคัญที่สุด แต่ดูเหมือนมึงจะไม่เข้าใจ และไม่ชอบพี่เต้เอาเลย หรือว่ากูทำผิดพลาดไปก็ไม่รู้สิ แต่ตั้งแต่พี่เต้เข้ามา กูรู้สึกว่ามึงดีกับกูน้อยลง

แล้วจู่ๆพี่เต้ก็หายไป มึงคงไม่รู้ว่ากูเสียใจมากขนาดไหน แม่ก็ไป พี่ชายก็ไป ตอนนั้นกูรู้สึกว่ามีแต่มึงคนเดียวที่อยู่กับกูมาตลอด แต่ก็กลายเป็นว่าระหว่างเรายังมีอะไรที่คาใจกันอยู่ เราแทบไม่พูดกันเลย กูแอบเสียใจเสมอ อยากให้มึงดีกับกูเหมือนก่อน แต่ก็ไม่เป็นอย่างที่คิด ตอนเทอมปลายกูรู้สึกเคว้งคว้างมากเลย เพราะไม่ว่าแม่ มึง พี่เต้ ต่างก็ทอดทิ้งกูไปหมด

กูยังมีเรื่องที่กูโกหกมึงอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือตอนปิดเทอมปลาย ม.๒ กูเห็นมึงโกรธกูไม่หายสักที และไม่เห็นมึงชวนกูไปเที่ยวบ้านมึงตอนปิดเทอมเหมือนทุกปี ที่จริงกูอยากไปนะ อยากให้มึงชวน แต่มึงไม่ชวนสักที กูก็เลยโกหกว่าพี่เต้ชวนไปเที่ยว เพราะอยากให้มึงรู้สึกว่าต้องรีบชวนกู แต่กูคงคิดผิดไป ถึงตอนนั้นก็พูดอะไรไม่ออกแล้ว ปิดเทอมปีนั้นก็เลยได้แต่อยู่บ้าน ไม่ได้ไปไหน

ตอนปิดเทอมใหญ่ ม.๒ แม่โทรมาคุยและเล่าแผนการว่าจะให้กูไปอยู่และไปเรียนที่นั่นด้วย ตอนนั้นตกใจมาก กูไม่ต้องการไป กูไม่อยากไปไหน ที่มีคุณอา มีมึง ทุกคนที่กูรักอยู่ที่เมืองไทยหมด มันก็แปลก ตอนที่แม่ไปก็คิดว่าเค้าทิ้งกู แต่พอจะเอากูไปอยู่ด้วยกูกลับไม่อยากไป

กูบอกให้คุณอาช่วยพูดกับแม่ หลังจากนั้นคุณอาก็บอกว่าคุณอาก้าวก่ายไม่ได้ เป็นเรื่องระหว่างแม่กับลูก กูทั้งผิดหวังและเสียใจมาก นี่น่ะหรือที่พวกเค้าบอกว่ารักกู ไม่เห็นปกป้องกูเลย ใครจะมาพากูไปไหนก็ปล่อยให้พาไป ไม่เคยถามกูเลยว่ากูอยากไปไหม

ปิดเทอมนั้นกูเซ็งชีวิตมาก มึงก็ไม่อยู่ กูก็เลยไปคบเพื่อนแถวนั้น มันก็สอนให้กูสูบบุหรี่ แล้วต่อมาก็กัญชา ตอนที่มึงมาเจอกูนั้นกูเพิ่งสูบบุหรี่ไปไม่กี่ครั้ง ส่วนกัญชาก็เพิ่งสูบไปครั้งนั้นครั้งที่สองเอง พอมึงมาเจอเข้ามึงก็ไม่ฟังอะไรทั้งนั้น ด่ากูอย่างเดียว กูก็เลยหลุดปากพูดไม่ดีออกไป

หลังจากนั้นกูก็เสียมึงไปอีกคน คนที่กูคิดว่าสำคัญที่สุดในชีวิต ตอนนั้นกูคิดว่าชีวิตไม่เหลืออะไรแล้ว ไม่มีใครที่รักกู ไม่มีใครปกป้อง มีแต่คนที่คิดขับไล่ไสส่ง ก็เลยอยากทำอะไรให้มันสะใจบ้าง กูอยากประชดคุณอา อยากประชดมึง อยากประชดทุกๆคน โดยทำเรื่องเหี้ยๆอย่างที่มึงเห็น ที่จริงยังมีเรื่องเหี้ยๆของกูอีกหลายเรื่อง แต่ไม่เล่าละกัน แค่นี้มึงก็เกลียดกูมากพอแล้ว ไม่อยากให้เกลียดมากไปกว่านี้อีก

ตอนที่ รปภ จับกูได้ในห้องน้ำ ความรู้สึกแรกที่กูโดนจับกูคิดถึงมึง คิดว่าถ้ามึงรู้เรื่องเข้าแล้วจะคิดยังไง จะโกรธและเกลียดกูมากขนาดไหน คิดไม่ออกเลยจริงๆ ความรู้สึกต่อมาก็คือถ้าคุณอารู้แล้วอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แล้วพอกูออกมาจากห้องน้ำ กูก็ได้เจอมึง ตอนนั้นกูตกใจมาก ทั้งกลัว ทั้งตกใจ เสียใจ และก็สะใจ สมน้ำหน้าตัวเอง ความรู้สึกมันปะปนกันไปหมดจนแยกไม่ออก

กูถูก รปภ จับไปสอบปากคำที่ห้อง เค้าให้เลือกว่าจะให้ส่งตำรวจหรือเชิญผู้ปกครองมา ในที่สุดกูก็ตัดสินใจเลือกอย่างหลัง เพราะถ้าเรื่องถึงตำรวจ ยังไงคุณอาก็ต้องรู้อยู่ดี หลังจากนั้นกูก็ให้เบอร์ที่บ้านไป แล้วคุณอาก็มารับกูกลับไป

คุณอาทั้งสองคนร้องไห้ใหญ่ แล้วก็ทะเลาะกันเอง ต่างก็โทษกันว่าเลี้ยงกูไม่ดี กูถึงได้วิปริตแบบนี้ ภาพนั้นสะเทือนใจที่สุด คำว่าวิปริตนี่...จะบอกยังไงดีล่ะ มันยิ่งกว่าบาดหัวใจ มันบาดลึกเข้าไปถึงวิญญาณเลย คุณอาตบหน้ากู เป็นครั้งแรกที่กูถูกคุณอาตี แม้กายจะเจ็บ แต่หัวใจมันเจ็บยิ่งกว่า แต่จะโทษใครได้ กูทำเองทั้งนั้น กรรมใดใครก่อ คนนั้นก็ต้องรับผลใช่ไหม

หลังจากนั้นไม่นาน คุณอาก็ตัดสินใจส่งตัวกูให้ไปเรียนต่อเมืองนอกตามแผนการของแม่ ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมเสียอีก เดิมจะให้กูเรียนจนจบ ม.๓ เสียก่อน แล้วคุณอาก็คุมตัวกูยังกับนักโทษ ไม่ให้กูติดต่อใครเลย เค้าสงสัยไปหมดว่าเพื่อนๆเป็นสาเหตุที่ทำให้กูเป็นแบบนี้ โดยเฉพาะเค้าสงสัยมึงมากที่สุด

อู กูยังมีเรื่องโกหกมึงอีกเรื่องนึง เห็นไหมว่ากูเป็นเด็กขี้โกหก ถ้าจมูกยาวได้ป่านนี้คงยาวมากแล้ว

อีกเรื่องที่กูโกหกก็คือ จดหมายสองฉบับก่อนกูบอกว่ากูสบายดีน่ะ กูคิดว่ามึงเป็นห่วงกู กลัวจะไม่สบายใจ ก็เลยบอกไปยังงั้น แต่ตอนนี้คงไม่ต้องปิดบังอะไรแล้วมั้ง

กูถูกจับส่งมาเรียนในโรงเรียนประจำ ไม่รู้เหมือนกันว่าเค้าจะให้กูมาเรียนที่อเมริกาทำไม ถ้าเค้าอยากให้กูอยู่ใกล้ๆก็คงให้กูไปอยู่โรงเรียนไปกลับมากกว่า แต่นี่กลับส่งมาอยู่โรงเรียนประจำ แต่ก่อนกูเคยอยากอยู่โรงเรียนประจำเพราะจะได้อยู่กับมึง แต่ไม่ใช่แบบนี้ อยู่ที่นี่โคตรเลวร้ายเลย มาใหม่ๆภาษาไม่กระดิก ต้องมาหัดภาษาก่อน ยังไม่รู้เลยว่าเรียนภาษานานเท่าไร เมื่อเรียนภาษาจนใช้ได้แล้วต่อไปก็ต้องไปเรียน ม.๓ ใหม่ ต้องเสียเวลาเรียนซ้ำชั้นไปอีกหนึ่งปี

อยู่ที่นี่ใหม่ๆเหมือนตกนรก อาหารก็ไม่คุ้น อากาศก็ไม่คุ้น ภาษาก็ยังใช้ไม่ได้ เพื่อนก็ไม่มี มีแค่กีตาร์เป็นเพื่อน การรังแกกันที่นี่ก็มีบ้าง แต่กูยังไม่เจออะไรแรงๆ แต่แค่นี้ก็แย่แล้ว คิดถึงบ้าน คิดถึงมึงมาก ถ้ากูตาย ยังไงก็ขอให้เอาศพกูกลับเมืองไทยด้วยละกัน ไม่อยากฝังที่นี่หรอก

อู มึงรู้ไหมว่ากูประทับใจมึงมากที่สุดตอนไหน มึงคงทายไม่ถูก ตอนกบฎ ๙ กันยาไง เช้าวันนั้นตอนที่กูเข้าไปหามึงในซอย มึงวิ่งหน้าตาตื่นออกมาลากกูเข้าไปในบ้าน หน้าตามึงขำมากเลยรู้ไหม เพราะมึงทำยังกับว่าเค้ายิงกันที่หน้าปากซอย แต่กูขำไม่ออก เพราะสีหน้าของมึงบอกกูหมดทุกอย่าง กูไม่เคยเห็นใครที่จริงใจและห่วงใยกูขนาดนี้มาก่อน กูดีใจที่ได้เล่นเพลง A Lover’s Concerto ให้มึงฟังนะอู

เรื่องที่เราจะปลูกบ้านอยู่ติดกัน เห็นจะมีโอกาสเลือนรางเต็มที แต่ถ้ามึงยังอยากให้เป็นยังงั้นอยู่... ช่างมันเถอะ เราอาจไม่ได้เจอกันอีกแล้ว จะคิดไปทำไม


<ผมเอาจดหมายทั้งสามฉบับออกมาจากห้องธุรการ พลางคิดว่าจะหาที่สงบๆที่ไหนอ่านดี... ห้องสมุดก็แล้วกัน... เมื่อคิดได้ดังนั้น ผมก็รีบวิ่งตรงไปยังห้องสมุดทันที ผมเดินเข้าไปด้านในของห้องสมุด เลือกมุมสงบที่มีคนน้อยที่ไอ้นัยเคยนั่งอ่านหนังสือ>

Sunday, July 26, 2009

ภาคสาม ตอนที่ 9

ผมรีบวิ่งไปยังห้องธุรการของโรงเรียนซึ่งอยู่ในตึกหลังเดียวกับสหกรณ์แต่ว่าอยู่คนละปีกกัน ผมสังหรณ์ว่านี่เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องอำ

ตลอดสามปีกว่าที่ผมเรียนอยู่ที่นี่ ผมเข้าไปในห้องธุรการน้อยครั้งมาก เพราะว่าไม่มีเรื่องอะไรที่ต้องเข้าไปติดต่อ ดังนั้นผมจึงไม่รู้เรื่องอะไรที่เกี่ยวกับระบบจดหมายภายในโรงเรียนเลย

เมื่อไปถึง ผมถามเจ้าหน้าที่ว่าจะรับจดหมายได้ที่ไหน พี่เจ้าหน้าที่บุ้ยปากไปที่ตะกร้าพลาสติกสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ใบหนึ่งที่วางอยู่บนโต๊ะมุมห้อง

“โน่นจ้ะน้อง ไปหาเอาเองเลย” พี่เจ้าหน้าที่ตอบ

ในตะกร้าขนาดใหญ่มีจดหมายกองอยู่เป็นจำนวนมาก บางฉบับมีฝุ่นจับเขรอะ แสดงว่ามีจดหมายที่ผู้รับไม่รู้อยู่เป็นจำนวนมาก

ผมคุ้ยจดหมายดูสักครู่ มือไม้สั่นด้วยความตื่นเต้นร้อนรน ในที่สุดก็เห็นจดหมายอากาศหรือว่าแอโรแกรม (aerogramme) มาจากเมืองนอกอยู่สองฉบับ ตัวจดหมายมีฝุ่นจับ เมื่อหยิบมาดูจ่าหน้าซองก็พบว่าทั้งสองฉบับนั้นจ่าหน้าซองถึงผม มันเป็นลายมือที่ผมคุ้นเคย...ลายมือของไอ้นัยนั่นเอง!

ผมดีใจมาก เพราะในที่สุดผมก็ได้รับการติดต่อจากไอ้นัย แต่แล้วผมก็เริ่มเอะใจว่าไอ้นัยเขียนมาถึงผมแล้วกี่ฉบับกันแน่

ผมค่อยๆหยิบจดหมายในตะกร้าขึ้นมาดูทีละฉบับ หลังจากตรวจดูจ่าหน้าซองของจดหมายทั้งหมด ผมพบว่าไอ้นัยเขียนจดหมายถึงผมทั้งหมด ๓ ฉบับด้วยกัน สองฉบับเป็นแอโรแกรมซึ่งมีลักษณะเป็นจดหมายสำเร็จรูป เขียนเสร็จแล้วพับ เอาน้ำทาที่ลิ้นขอบจดหมายให้กาวละลายออกมาแล้วปิด จากนั้นส่งในตู้จดหมายได้เลย ส่วนอีกฉบับหนึ่งเป็นจดหมายแบบเป็นซองซึ่งต้องไปชั่งน้ำหนักติดแสตมป์ที่ไปรษณีย์ ตัวซองโป่งพองออกมาแสดงว่าตัวจดหมายที่อยู่ภายในซองคงมีจำนวนหลายแผ่น

จดหมายทั้งสามฉบับจ่าหน้าซองเป็นภาษาไทย เขียนชื่อผม ระบุชั้นม.๓ และเลขห้องที่ผมเรียนชัดเจน จากนั้นจึงมีภาษาอังกฤษต่อท้ายว่า Bangkok Thailand

จดหมายทั้งสามฉบับนี้มาถึงโรงเรียนตั้งแต่ปีที่แล้วโดยที่ผมไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย!

ระบบจดหมายของนักเรียนในช่วงที่ผมเรียนอยู่นั้นไม่ค่อยดีเท่าไร จดหมายที่มาถึงนักเรียนจะไม่มีการบอกให้ผู้รับได้รู้ ต้องถือว่ารู้เอาเอง การรับจดหมายก็หละหลวม หลังจากที่ไปคุ้ยตะกร้าแล้วก็หยิบไปได้เลย หากมีการขโมยจดหมายกันหรือแม้แต่หยิบผิดไปจะไม่มีใครล่วงรู้ได้เลย ถึงรู้ว่ามีจดหมายหายก็จับมือใครดมไม่ได้

ผมเอาจดหมายทั้งสามฉบับออกมาจากห้องธุรการ พลางคิดว่าจะหาที่สงบๆที่ไหนอ่านดี... ผมอยากรู้เนื้อความในจดหมายใจแทบขาด แต่ก็ต้องหาที่ที่สงบและปลอดภัยเพื่ออ่าน เพราะผมไม่รู้ว่าข้างในไอ้นัยเขียนอะไรไว้บ้าง

ห้องสมุดก็แล้วกัน...

เมื่อคิดได้ดังนั้น ผมก็รีบวิ่งตรงไปยังห้องสมุดทันที

ผมเดินเข้าไปด้านในของห้องสมุด เลือกมุมสงบที่มีคนน้อยที่ไอ้นัยเคยนั่งอ่านหนังสือ

ผมพิจารณาจดหมายทั้งสามฉบับ ดูวันที่จากตราประทับไม่ชัด จึงฉีกจดหมายทั้งสามฉบับออกมาพร้อมกันเพื่อดูวันที่ แอโรแกรมสองฉบับไอ้นัยเขียนเมื่อปลายเดือนสิงหาคมและกันยายนปีที่แล้ว ส่วนอีกฉบับที่เป็นจดหมายใส่ซอง ข้างในระบุว่าเขียนตอนปลายเดือนตุลาคมปีที่แล้วเช่นกัน

- - -

ผมหยิบแอโรแกรมฉบับแรกขึ้นอ่าน มันเป็นจดหมายที่ไอ้นัยเขียนสั้นๆเขียนเพียงไม่กี่บรรทัด

หวัดดีอู

เป็นไงบ้าง แปลกใจไหมที่ได้รับจดหมายที่โรงเรียน ตอนแรกกูคิดว่าจะเขียนไปที่บ้านต่างจังหวัดของมึง แต่มาคิดอีกที ถ้าส่งไปที่นั่นไม่รู้ว่าเมื่อไรมึงจะได้อ่าน และอีกอย่าง กูกลัวว่าจดหมายจะถูกคนอื่นเปิดอ่านด้วย เลยเขียนมาที่โรงเรียนดีกว่า น่าจะเร็วและเป็นส่วนตัวมากกว่า

ตอนนี้กูอยู่ที่เอมริกาแล้ว เมือง... รัฐ... อากาศเย็นกว่าเมืองไทยเยอะเลย ทุกอย่างเรียบร้อยดี ไม่ต้องเป็นห่วง

วันนี้กูเล่นกีตาร์เพลงอะไรรู้ไหม A Lover’s Concerto ไง เล่นไปก็คิดถึงมึงไป จำตอนที่กูเล่นเพลงนี้ให้มึงฟังได้ไหม กูยังจำได้ไม่เคยลืม

มึงอยู่เมืองไทยเป็นไงบ้าง เขียนจดหมายมาเล่าให้ฟังบ้างนะ

คิดถึง
นัย

- - -

ผมรีบหยิบแอโรแกรมฉบับที่สองขึ้นมาอ่านต่อ มันยังคงเป็นจดหมายสั้นๆเพียงไม่กี่บรรทัดเช่นเดิม

หวัดดีอู

เห็นมึงเงียบไป ไม่ตอบจดหมายมา คิดว่าจดหมายคงไปถึงมึงตอนที่มึงกำลังเตรียมตัวสอบหรือไม่ก็กำลังสอบไล่อยู่ ทำเกรดให้ดีๆนะ กูจะได้เอาแบงก์กาโม่จากมึงมาใช้บ้าง

วันนี้ฟังเพลง Longer ของ Dan Fogelberg มา ฟังแล้วคิดถึงมึงจัง

กูอยู่ที่นี่สบายดี ไม่ต้องเป็นห่วง มึงอยู่โน่นเป็นไงบ้างเขียนมาเล่าให้กูฟังบ้าง รออ่านอยู่

คิดถึง
นัย

- - -

ปกติไอ้นัยไม่ใช่คนช่างเล่า ตอนเด็กๆเวลาปิดเทอม เมื่อเราเขียนจดหมายถึงกัน ผมมักเป็นฝ่ายที่เขียนยาวเหยียด เล่าโน่นเล่านี่ ส่วนไอ้นัยก็มักเขียนเพียงสั้นๆ แต่ก็ยังไม่สั้นถึงขนาดนี้ และปกติไอ้นัยก็ไม่เคยบอกว่าคิดถึงผมอย่างโจ่งแจ้งขนาดนี้มาก่อน

ผมดึงจดหมายฉบับที่สามออกจากซอง ครั้งนี้ไอ้นัยเขียนมายาวมาก มีความยาวถึงหลายหน้ากระดาษ เนื่องจากผมคุ้นเคยกับลายมือของไอ้นัยดี ผมสังเกตว่าจดหมายฉบับนี้ของมันมีลายมือหลายแบบ มีทั้งตัวเล็ก ตัวใหญ่ มีทั้งหวัด ทั้งบรรจง มีทั้งลายมือยุ่งเหยิงและเรียบร้อย

หวัดดีอู

กูรอจดหมายจากมึงทุกวัน แต่ก็ไม่เห็นจดหมายตอบของมึงเลย

สองฉบับที่แล้วกูยังไม่แน่ใจว่ามึงคิดยังไงกับกู ก็เลยไม่กล้าเขียนอะไรไปมาก คิดเอาไว้ว่าเมื่อมึงตอบมาแล้วจะได้คุยกันต่อ

ตอนนี้กูเข้าใจแล้วว่ามึงคงเกลียดกูมากเลย เกลียดจนไม่อยากตอบจดหมายกู กูไม่โทษมึงหรอกนะ เพราะกูรู้ว่ามึงเจ็บ ต้องโทษตัวกูเองที่ทำเหี้ยๆเอาไว้ คิดแล้วก็สมน้ำหน้าตัวเองเหมือนกัน จริงไหม

ถ้ามึงเกลียดกูขนาดนี้ ถึงกูอธิบายอะไรมึงก็คงยังเกลียดกูอยู่ดี แต่ถึงยังไงกูก็คิดว่าจะเล่า... ก็เรื่องที่กูปิดบังมึงไง เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วก็จะเล่าให้มึงฟัง เพราะถ้าไม่เล่าตอนนี้กูอาจไม่มีโอกาสได้เล่าอีก และคงจะเป็นเรื่องที่คาใจเราสองคนตลอดไป

กูมีเรื่องที่โกหกมึงมาตั้งแต่เด็กจนโต กูโกหกมานานจนไม่กล้าบอกความจริงกับมึง เพราะกลัวว่ามึงจะเกลียดคนโกหกอย่างกู ก็เลยต้องโกหกมึงเรื่อยมา

ที่จริงกูเป็นคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่คนต่างจังหวัด พ่อกับแม่เลิกกันตอนกูยังเด็ก อายุได้ ๔ ขวบ พ่อหน้าตาเป็นยังไงก็จำไม่ได้แล้ว ตอนนั้นยังเด็กมากและไม่เคยเจอกันอีกเลยหลังจากที่เลิกกับแม่

หลังจากที่เลิกกับพ่อ แม่ก็มีแฟนใหม่ แล้วย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด ตอนนั้นแหละที่กูได้ไปอยู่ต่างจังหวัด ตอนนั้นจำความได้แล้ว ห้าขวบ แฟนใหม่ของแม่ กูไม่เรียกพ่อเลี้ยงได้ไหม ไม่อยากเรียก แฟนใหม่ของแม่มีลูกชายอยู่แล้วคนนึง แก่กว่ากูสามสี่ขวบ บ้านเราอยู่ด้วยกันรวมสี่คน

ชีวิตช่วงนั้นไม่ค่อยดีนัก แฟนใหม่ของแม่เป็นนักธุรกิจ ต่อหน้าก็ทำดีกับกู แต่ลับหลังก็ดุด่ากูตลอด ถ้ากูทำอะไรไม่ถูกใจหรือไม่ทันใจ เค้าก็จะตีกู หยิกกู ลูกเค้าก็รังแกกูเป็นประจำ แม่ซื้อของเล่นให้ก็แย่งเอาไปพัง มันไม่ได้เล่นนะ มันเอาไปพัง กูจะได้ไม่มีของเล่นไง

แม่กูก็พอรู้มั้ง คิดว่านะ เพราะบอกให้อดทน แต่บางทีแม่ก็ไม่เชื่อที่กูเล่า หาว่ากูเรียกร้องความสนใจ วันๆก็กูไม่ค่อยเจอแม่หรอก กลางวันกูก็ไปโรงเรียนอนุบาล ตอนเย็นกลับมาก็ไม่ค่อยได้เจอแม่ แม่มักต้องไปงานเลี้ยง งานสังคม กับแฟนเสมอ ทิ้งให้กูอยู่กับลูกชายเค้า แถมยังนอนห้องเดียวกันอีกด้วย มันแกล้งกูสารพัด เคยจับกูมัดกับเก้าอี้แล้วเอาเทียนหยดใส่ด้วย

กูอยู่ที่นั่นต้องพยายามเอาตัวรอดด้วยการทำตัวเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย ไม่มีปากเสียงกับใคร กูคิดว่าถ้าทำตัวเป็นเด็กว่าง่ายแล้วใครๆจะได้รักกูบ้าง โดยเฉพาะแม่ แต่กูไม่คิดว่ามันได้ผล เพราะไม่เห็นจะมีใครรักกูเลย

ตั้งแต่กูโดนไอ้เด็กคนนั้นรังแก กูเคยฝันเอาไว้ว่าอยากมีพี่ชายที่ใจดีและรักกูสักคน

กูอยู่บ้านนั้นได้สองปี เรียนอนุบาลจนจบอนุบาลสอง แล้วแม่ก็เลิกกับแฟนคนนี้ แล้วหลังจากนั้นก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น กูก็ได้มาอยู่กับคุณอาสองคนนี้ และเข้ามาเรียน ป.๑ จนได้เจอกับมึงนั่นแหละ คุณอาผู้ชายเป็นลูกพี่ลูกน้องกับแม่ ไม่ใช่พี่น้องแท้ๆ หลังจากนั้นแม่ก็ไปไหนก็ไม่รู้ ตอนนั้นยังเด็ก ไม่รู้เรื่องของผู้ใหญ่ แต่ก็มารู้อีกทีตอนหลังว่าหลังจากเลิกกับแฟนคนนั้นแล้วแม่กูไปมีแฟนใหม่อีก แล้วต่อมาก็มีอีกหลายคน

มันก็เลยกลายเป็นว่าคุณอาต้องสอนให้กูบอกว่าบ้านกูอยู่ต่างจังหวัด แล้วมาพักกับอาในกรุงเทพฯเพื่อเรียนหนังสือ จะได้ไม่ต้องเล่าเรื่องครอบครัวมาก คนอื่นจะได้ไม่รู้ว่ากูเป็นเด็กที่พ่อแม่ทิ้ง คุณอาทั้งสองคนรักกูมาก กูว่ารักกูมากกว่าพ่อแม่จริงๆของกูเสียอีก แต่ทำไมเค้าไม่รับกูเป็นลูกเสียเลยก็ไม่รู้เหมือนกัน ตอนนี้มึงก็รู้ความลับแล้วนะ กูโกหกเพื่อนทุกคนรวมทั้งมึงด้วยมาตั้งแต่เด็ก มันนานหลายปีเต็มที พอกูคิดจะบอกความจริงก็ไม่กล้า เพราะโกหกมานานเกิน


<จดหมายอากาศ (aerogramme) เป็นจดหมายสำเร็จรูป มีลักษณะเป็นกระดาษบางๆหนึ่งแผ่น ขนาดประมาณ A4 มีแสตมป์อยู่แล้วเรียบร้อย มีลิ้นด้านข้างทากาวเอาไว้ การเขียนก็เขียนข้อความและจ่าหน้าซองไว้ในจดหมายอากาศนั้นเลย เมื่อเขียนเสร็จก็พับทบกัน เอาน้ำละลายกาวที่ลิ้นของจดหมายแล้วปิด ก็จะได้จดหมายสำเร็จรูป นำไปส่งในตู้ไปรษณีย์ได้เลยโดยไม่ต้องไปที่ที่ทำการไปรษณีย์เพื่อชั่งน้ำหนักและคำนวณค่าแสตมป์ แนวคิดก็คล้ายกับไปรษียบัตรนั่นเอง แอโรมแกรมในภาพนี้เป็นแอโรแกรมของสหรัฐอเมริกา>


<ภาพแอโรแกรมหรือจดหมายอากาศของไทยในยุคที่ผมเรียนมัยธยม สมัยนั้นจดหมายอากาศราคาฉบับละ ๘.๕๐ บาท เมื่อพับเสร็จเรียบร้อยแล้วจะได้จดหมายอากาศซึ่งมีด้านหน้าและด้านหลังอย่างที่เห็นในภาพ ปัจจุบันจดหมายอากาศราคาฉบับละ ๑๕ บาท แม้ในยุคนี้ซึ่งเป็นยุคของอีเมล การใช้แอโรแกรมจะน้อยลงไปมาก แต่ก็ยังมีผลิตออกมา มีนักสะสมจำนวนหนึ่งซื้อแอโรแกรมเพื่อการสะสม ไม่ใช่เพื่อใช้งาน เพราะว่าภาพประกอบสวยๆด้านหน้าและด้านหลังของแอโรแกรมล้วนแต่มีความหมายและความเป็นมา>

Tuesday, July 21, 2009

ภาคสาม ตอนที่ 8

ห้องชายแดนของเราเป็นห้องที่ได้ชื่อว่าวุ่นวายอลเวงที่สุดในระดับชั้น ม.๔ เพราะว่านักเรียนในห้องนี้สร้างวีรกรรมเอาไว้สารพัด ทั้งหนีเรียน ไม่สนใจการเรียน ก้าวร้าวและล้อเลียนอาจารย์ ทำงานแบบขอไปที ฯลฯ อาจารย์แต่ละคนถึงกับส่ายหน้าด้วยความเอือมระอา อาจารย์ทุกคนต่างพูดตรงกันว่าโชคดีที่ได้อาจารย์วารีเป็นอาจารย์ประจำชั้น เพราะถ้าเป็นคนอื่นนักเรียนคงไม่เกรงใจเท่านี้

น่าแปลกที่นักเรียนที่แรงกลับไม่ได้มีแต่กลุ่มเด็กเกอย่างเวชและเกรียง แต่กลุ่มเด็กเรียนดีอย่างกลุ่มไอ้เฉาก็แรงด้วยเหมือนกัน ทั้งโดดเรียนและไม่สนใจการเรียนพอๆกับกลุ่มไอ้เวช เรียกว่าพื้นเพต่างกันแต่พฤติกรรมเดียวกัน

สำหรับเด็กเกนั้นโดยปกติก็ไม่เอาใจใส่การเรียนอยู่แล้ว แต่การที่เด็กเก่งไม่เอาใจใส่การเรียนนั้นสาเหตุสำคัญก็มาจากระบบการสอบเอนทรานซ์นั่นเอง

ระบบการเข้ามหาวิทยาลัยในยุคก่อนต่างจากในยุคนี้ค่อนข้างมาก ตลอดเวลาหลายสิบปีของระบบอุดมศึกษาไทยได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงมามาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในรอบสิบปีมานี้ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากจนยากจะตามได้ทัน

ในอดีต ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๔ การเข้ามหาวิทยาลัยนั้นใช้ระบบแต่ละมหาวิทยาลัยต่างคัดเลือกเอง ซึ่งสร้างความลำบากให้แก่นักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมาก ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ จึงเริ่มมีการคัดนักเรียนเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยโดยการสอบแบบรวมศูนย์ขึ้นมา ซึ่งก็คือระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยหรือที่เรียกว่า การสอบเอนทรานซ์ นั่นเอง

ในยุค พ.ศ. ๒๕๐๔ มีมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่แห่งที่เข้าร่วมในการสอบเอนทรานซ์นี้ ได้แก่ จุฬาฯ เกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ขณะนั้นคณะแพทยศาสตร์ล้วนแต่สังกัดมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ (มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในยุคนั้นประกอบด้วย คณะแพทย์ศาสตร์มี ๓ คณะ คือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ ฯลฯ แต่ในเวลาต่อมามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยโอนคณะบางคณะไปสังกัดมหาวิทยาลัยต่างๆ และตัวมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เองกลายเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล) ต่อมาก็มีมหาวิทยาลัยต่างๆที่เข้ามาร่วมในการสอบเอนทรานซ์เพิ่มเติมขึ้นอีก

มาจนถึงในขณะที่ผมเรียนอยู่ชั้น ม.ปลาย การสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยก็ยังเป็นการสอบเอนทรานซ์ในระบบเดิม เพียงแต่ว่าในสมัยของผมมีมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมในการสอบเอนทรานซ์ ๑๓ มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหิดล เกษตรศาสตร์ ศิลปากร พระจอมเกล้าลาดกระบัง พระจอมเกล้าธนบุรี พระนครเหนือ ศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา เชียงใหม่ ขอนแก่น และแม่โจ้ จำนวนนักเรียนที่สมัครสอบในระบบเอนทรานซ์กลางในสมัยผมก็ประมาณหนึ่งแสนต้นๆ ในขณะที่ที่นั่งในมหาวิทยาลัยทั้ง ๑๓ แห่งมีรวมกันประมาณ ๓๐,๐๐๐ ที่ หากสอบเอนทรานซ์ไม่ได้ก็ต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยเปิด หรือมหาวิทยาลัยเอกชน หรือไม่ก็ไปเรียนวิทยาลัยครู (ชื่อในตอนนั้น ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏ)

เมื่อเปรียบเทียบกับในยุคปัจจุบัน นักเรียนที่สมัครในระบบแอดมิชชันกลางก็มีประมาณหนึ่งแสนต้นๆเช่นเดียวกัน แต่มีมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนบางแห่งให้เลือกได้มากถึง ๙๔ สถาบัน ๗๘๘ คณะ/วิชา มีที่นั่งที่รับได้รวมกันถึง ๘๐,๐๐๐ ที่ ดังนั้นในภาพรวมแล้วสภาพการแข่งขันของยุคที่ผมต้องเข้ามหาวิทยาลัยดูจะมีมากกว่า

การสอบเอนทรานซ์ในสมัยของผมและก่อนหน้านั้น สำหรับสายวิทย์ มีการสอบเพียง ๕ วิชาหลัก ได้แก่ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี อังกฤษ (มีชื่อเรียกว่า อังกฤษ กข) และวิชาสามัญ ๑ (สังคมกับภาษาไทย) ซึ่งวิชาสามัญ ๑ นี้เพิ่งบรรจุเข้ามาในการสอบเอนทรานซ์รุ่นปีการศึกษา ๒๕๒๖ ก่อนหน้านั้นยังไม่มี

นอกจากวิชาหลักทั้งห้าแล้วก็ยังมีวิชาชีววิทยา สำหรับนักเรียนที่ต้องการเข้าคณะด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ และวิชาเฉพาะ เช่น ถ้าต้องการเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็ต้องสอบวิชาความถนัดทางวิศวกรรม ถ้าต้องการเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ก้ต้องสอบวิชาความถนัดทางสถาปัตย์ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อรวมแล้วนักเรียนที่เรียนสายวิทย์และต้องการสอบเอนทรานซ์ในคณะที่อยู่ในสายวิทย์ก็มักสอบไม่เกิน ๗ วิชา

และเนื่องจากแนวคิดของการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยก็คือการ ‘คัดเลือก’ ไม่ใช่การวัดผลสัมฤทธิ์ ดังนั้นข้อสอบคัดเลือกจึงเป็นข้อสอบที่ยาก ผู้ที่เก่งกว่าเท่านั้นจึงจะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ผู้ที่ออกข้อสอบก็เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่อาจารย์ระดับมัธยม ดังนั้นเนื้อหาที่นำมาออกในข้อสอบเอนทรานซ์จึงมักจะยากกว่าที่เรียนมา ด้วยเหตุนี้เอง นักเรียนชั้นมัธยมปลายซึ่งตั้งเข็มทิศชีวิตมุ่งเข้าสู่มหาวิทยาลัยจึงมุ่งเรียนและติวแต่วิชาห้าหกวิชาที่ว่ามานี้อย่างเอาเป็นเอาตาย โดยไม่สนใจวิชาอื่นๆ วิชาอื่นๆขอแค่สอบผ่านจนจบได้ก็พอ

และสำหรับวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่สอนในโรงเรียนเองนั้นเป็นไปตามหลักสูตรของ สสวท (พวกเรามักล้อกันว่า สสวท ย่อมาจาก สถาบันส่งเสริมการสอนวรรณคดีไทย) ซึ่งมีเนื้อหาที่เน้นการทดลองและการทำความเข้าใจในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แต่มีโจทย์คำนวณค่อนข้างน้อย ซึ่งก็ไม่สอดคล้องกับแนวของข้อสอบเอนทรานซ์ที่เน้นการทำโจทย์คำนวณ ดังนั้นนักเรียนจึงมักมองวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่สอนในโรงเรียนว่าไม่ตรงหรือไม่เพียงพอ ต้องดิ้นรนไปติวกับโรงเรียนกวดวิชานอกโรงเรียน ยกเว้นวิชาชีววิทยาที่ไม่ค่อยนิยมกวดวิชากันมากนัก เพราะคิดว่าเป็นวิชาท่องจำ และที่สอนให้ห้องเรียนก็ใกล้เคียงพอสมควรแล้ว

ดังนั้นเรื่องการที่นักเรียนโดดเรียน ไม่สนใจวิชาเรียนในห้อง ขอแค่สอบผ่านก็พอ และไปกวดวิชาอย่างเอาเป็นเอาตาย จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับนักเรียนมัธยมปลายในชั้น ม.๕ และ ม.๖ พวกอาจารย์ก็ทราบดีแต่ก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร ได้แต่ทำใจ แต่สำหรับห้องของผมนั้นเริ่มออกอาการดังว่ามาตั้งแต่ ม.๔ เลยทีเดียว โดยมีผู้นำคือกลุ่มไอ้เฉา กลุ่มนี้มีหัวก้าวหน้า ต้องการเรียนจบและสอบเอนทรานซ์ให้ได้ภายในสองปี แทนที่จะเป็นสามปี บวกกับมีการเกาะกลุ่มและการวางแผนการติวที่ดี กลุ่มนี้จึงแทบไม่สนใจการเรียนในห้องเอาเลย แถมยังมีเพื่อนๆเอาอย่างและขยายกลุ่มออกไปอีกด้วย พฤติกรรมเช่นนี้จึงกลายเป็นแนวร่วมของกลุ่มเวชและเกรียงไปโดยปริยาย

สำหรับผมนั้น ในตอนต้นเทอมผมก็ไม่ค่อยสนใจกลุ่มไอ้เฉาเท่าไรนัก เพราะว่าตอนนั้นยังไม่ได้คิดอะไรมากนักเกี่ยวกับเรื่องการสอบเอนทรานซ์และการตั้งเข็มชีวิตว่าจะเรียนคณะอะไร รวมทั้งไม่ได้คิดเรื่องกวดวิชาและเรื่องเรียนสองปีจบด้วย แต่ต่อมาเมื่อเห็นกลุ่มของไอ้เฉามีความเข้มแข็งและมีเพื่อนๆตามอย่างมากขึ้น กระแสของกลุ่มนี้จึงค่อนข้างแรง แม้แต่ไอ้กี้และไอ้ยูรก็เป็นไปด้วย ผมก็เลยเริ่มสนใจเรื่องเอนทรานซ์และการกวดวิชาขึ้นมาบ้าง และมักฟังพวกมันคุยกันเสมอ

- - -

บางครั้งเมื่อผมมมีเวลาว่าง ผมก็มักไปที่สหกรณ์เพื่อไปดูหนังสือการ์ตูนและนิตยสาร ที่จริงผมไม่ค่อยได้สนใจที่จะเช่าอะไรมาอ่านมากนัก เพียงแต่ว่าบางครั้งก็รู้สึกอยากไปที่นั่นเท่านั้นเอง เพราะว่าอดีตบางส่วนของผมอยู่ที่นั่น... ในวันที่ยังมีไอ้นัยอยู่ด้วย

“หวัดดีพี่” เสียงแจ๋วๆทักทายผม ไอ้น้องบอยนั่นเอง “วันนี้เช่าอะไรดีฮะ หรือว่าจะดูเฉยๆ”

ในวันนั้นมีสตาฟอยู่ในห้องหลายคน แต่คนที่มาตอนรับผมคือบอยเจ้าเก่า

“เห็นหน้าพี่ก็เริ่มกวนเลยนะเอ็ง” ผมดุมัน “นี่ทั้งสหกรณ์ไม่มีคนอื่นต้อนรับลูกค้าเลยหรือไง พี่มาทีไรเจอแต่หน้าเอ็งทุกที”

บอยยิ้มแฉ่ง แววตาแจ่มใส “ก็มีอยู่หรอกพี่ แต่ผมแย่งเค้าทำน่ะ”

“ขยันเว้ยเฮ้ย” ผมอดชมมันไม่ได้ ท่าทางมันกระตือรือร้นดีจริงๆ “แล้วเอ็งไม่ไปเล่นไปเที่ยวกับเพื่อนๆบ้างเหรอ เอาแต่มาหมกอยู่ในนี้”

“อยู่นี่หนุกดีพี่ ได้เจอคนเยอะ ไม่เหงาอะ” บอยพูด ว่าแล้วมันก็พูดเหมือนกับนึกขึ้นมาได้ “เอ้อ พี่ ชื่อไรอะ ยังไม่รู้ชื่อพี่เลย”

“ชื่อพี่ก็อยู่ในบัตรสมาชิก เอ็งก็เห็นอยู่ทุกที” ผมกวนมันบ้าง

ไอ้น้องบอยอ้าปาก ทำหน้าเหมือนไม่เชื่อ “โห ผมหมายถึงชื่อเล่นหรอกครับ นี่พี่เรียนมาถึง ม.ปลายได้ไงเนี่ย แค่นี้ไม่เข้าใจ”

“หนอย บังอาจต่อปากต่อคำ” ผมดุมัน พลางเอามือเบิ๊ดกะโหลกมันเบาๆ

บอยย่นคอเหมือนกับจะหลบมือผม แต่ก็หลบไม่พ้น “โอ๊ยพี่ อย่าตีหัวดิ”

ผมชะงัก คำพูดนี้เป็นคำพูดที่ผมคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก ภาพเก่าๆไหลเข้ามาในห้วงคำนึงของผม เด็กที่ยืนตรงหน้าเหมือนกับไม่ใช่ไอ้น้องบอย แต่เป็นอีกคนหนึ่ง... คนที่ผมอยากพบเป็นที่สุด

“เดี๋ยวสมองเสื่อมหมด” บอยพูดต่อ

แม้เหตุผลของมันจะไม่ใช่เรื่องฉี่รดที่นอน แต่มันก็ไม่แตกต่างกันเท่าไร

“พี่ ยืนอึ้งเลย ผมล้อเล่น” เสียงใสๆของบอยกระชากผมให้ตื่นจากภวังค์

“พี่ชื่ออู” ผมบอกชื่อเล่นของตนเอง

“พี่อู” บอยเรียก ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ทุกครั้งที่ผมเห็นบอย ผมเห็นแต่ใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสของมัน มันทำให้ผมอดรู้สึกสดชื่นและกระตือรือร้นไปด้วยไม่ได้

“เห็นผมทุกที เบื่อเหรอพี่ ผมเห็นพี่ทุกทียังไม่เบื่อเลย” ไอ้น้องบอยเริ่มกวนอีก

“ทำไมเอ็งถึงได้กวนขนาดนี้วะ” ผมดุมันอีก แต่ในใจรู้สึกเอ็นดูมัน

“ไม่รู้ดิ” บอยตอบหน้าตาย “ผมเห็นพี่แล้วก็นึกอยากกวนขึ้นมาอะ”

จำได้ว่าตอนเด็กๆผมเคยอยากมีน้อง เพราะผมเองเป็นลูกคนเล็ก เวลาเห็นเพื่อนแถวบ้านมีน้อง ต้องดูแลน้อง รวมทั้งเล่นสนุกกับน้องและแกล้งน้องได้ ทำให้ผมรู้สึกอยากมีน้องบ้าง แต่ความรู้สึกนี้ก็เบาบางลงไปตั้งแต่สนิทกับไอ้นัย ผมเอาเวลาไปใส่ใจมันจนลืมคิดเรื่องการมีน้องไป แต่มาถึงวันนี้... ในวันที่ไม่มีไอ้นัย เมื่อผมเห็นความแจ่มใสน่ารักของบอย ความรู้สึกอยากมีน้องชายสักคนก็คุกรุ่นขึ้นมาอีก

- - -

“ไอ้อู ยังไม่ไปเอาจดหมายมาอีกเหรอ” ไอ้นนทักผมขณะที่ผมนั่งเล่นอยู่ที่ระเบียงหน้าห้องเรียนในตอนพักเที่ยงของวันหนึ่งในเดือนกรกฎาคม ขณะนั้นมันเพิ่งขึ้นตึกมา

แมนและนนที่เมื่อตอนต้นเทอมเพื่อนๆตั้งฉายาให้ว่า แบล็กแอนด์ไวต์ คล้ายยี่ห้อวิสกี้ แต่หลังจากผ่านมาจนถึงกลางเทอมก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากเพื่อนๆให้เป็น จอมมารดำขาว จากผลงานอำเพื่อนๆอย่างสะบั้นหั่นแหลกของมันทั้งสองคน

“ไปเอามาตั้งนานแล้ว” ผมอำมันกลับบ้าง

“เอามากะผีอะไร เมื่อกี้กูยังเห็นอยู่เลย” ไอ้นนพูด

ผมสังเกตเห็นในกระเป๋าเสื้อของมันมีซองจดหมายที่ถูกฉีกปากซองแล้วฉบับหนึ่ง ผมชักเริ่มเอะใจ

“มึงไปเอาจดหมายมาเหรอ” ผมถาม

“เออดิ กูไปเอาทุกเดือนแหละ ธนาณัติจากทางบ้านน่ะ” นนตอบ

สมัยนั้นถ้าเด็กที่อยู่ต่างจังหวัดและพ่อแม่ต้องการส่งเงินรายเดือนมาให้มักใช้วิธีส่งเป็นไปรษณีย์ธนาณัติ โดยส่งใบธนาณัติซึ่งมีค่าเท่ากับตั๋วแลกเงินมาทางจดหมาย ผู้รับก็เอาใบนั้นไปขึ้นเงิน ณ ที่ทำการไปรษณีย์ การโอนเงินทางบัญชีธนาคารยังไม่เป็นที่นิยมกัน

“แล้วทำไมเค้าไม่เอาจดหมายมาส่งให้ที่ห้องเรียนวะ” ผมถามด้วยความสงสัย ผมเข้าใจเอาว่าถ้ามีจดหมายมาถึงนักเรียน ทางโรงเรียนก็น่าจะนำมาส่งให้ที่ห้องเรียน

“จะบ้าเหรอ ใครจะมาคอยส่งให้มึง นักเรียนมีตั้งหลายพันคน” ไอ้นนหัวเราะ “ต้องไปเอาเองที่ห้องธุรการทุกคนแหละ รีบไปเอาเถอะ จดหมายจากเมืองนอกซะด้วยนะมึง”

“หา... อะไรนะ” ผมละล่ำละลักถาม รู้สึกสังหรณ์ใจอย่างไรชอบกล “แล้วทำไมมึงไม่เอามาให้กูด้วยล่ะ”

ผมซักมันต่อ เพราะยังไม่วางใจสนิท เกรงจะถูกมันอำ

“ซองจดหมายมีภาษาฝรั่ง ซองมาจากเมืองนอก หยิบมาให้ไม่ได้เพราะถ้ามีเงินข้างในเดี๋ยวคนจะหาว่ากูขโมย” นนตอบ “ที่จริงกูเห็นจดหมายพวกนี้มานานแล้วนะโว้ย แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้จักมึง”

ผมรีบผุดลุกขึ้นทันที “ไอ้ห่า ทำไมเพิ่งมาบอกวะ” ผมด่ามัน

“ไอ้เวร” ไอ้นนด่ากลับ “ก็กูบอกมึงตั้งเดือนแล้วมึงเสือกไม่ไปเอาเอง”

ประโยคหลังผมได้ยินเพียงแว่วๆเพราะว่ากว่ามันจะพูดจบผมก็วิ่งลงบันไดตึกไปแล้ว...


<ภาพมอส ปฏิภาณ เมื่อตอนเข้าวงการถ่ายแบบไม่นาน ตอนที่ผมเรียน ม.ปลาย มอสยังเป็นวัยรุ่น ม.ต้นอยู่>

ดาวน์โหลดเพลง รักแท้ (แต่รอให้รวยก่อน) ผลงานยุคแรกๆของชมพู ฟรุตตี้ เป็นเพลงแนวตลก ฟังแล้วขำๆดี เพลงนี้หาฟังได้ค่อนข้างยาก

Thursday, July 16, 2009

ภาคสาม ตอนที่ 7

หลังเลิกเรียนของวันนั้น นอกจากยูรแล้วยังมีอีกหลายคนที่จะไปติวภาษาอังกฤษฟรี ของฟรีใครๆก็ชอบ ผมจึงขอตามไอ้ยูรและเพื่อนๆเพื่อไปติวฟรีภาษาอังกฤษด้วย โรงเรียนกวดวิชาของอาจารย์สงวนที่ยูรว่านั้นอยู่ใกล้ๆศาลาว่าการ กทม. ตรงเสาชิงช้า ชื่อจริงของโรงเรียนนี้คือโรงเรียนเสริมหลักสูตร

แม้ผมจะอยู่โรงเรียนนี้มาปีนี้เป็นปีที่สี่แล้ว แต่ชีวิตของผมก็วนเวียนอยู่กับสถานที่ซ้ำๆ อันได้แก่ บ้าน โรงเรียน และสยามสแควร์ แถวเสาชิงช้าและราชดำเนินนี่นานๆจะได้ผ่านมาสักที ส่วนโรงเรียนกวดวิชาแถวราชดำเนินนั้นไม่เคยไปมาก่อน ดังนั้นไปกับเพื่อนๆน่าจะอุ่นใจกว่า ไม่ต้องกลัวหาไม่เจอ อีกทั้งยังไม่เหงาอีกด้วย

เราเดินไปขึ้นรถเมล์สาย ๑๒ แถวๆหน้ากรมที่ดิน เมื่อถึงหน้าศาลาว่าการ กทม ก็ลงจากรถ และเดินเข้าไปในซอยอีกเล็กน้อย โรงเรียนเสริมหลักสูตรเป็นตึกแถวหลายคูหา ภายในอัดแน่นไปด้วยเด็กนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆที่มารอติวฟรี และที่นี่เองที่ผมได้พบกับไอ้กี้รวมทั้งกลุ่มของไอ้เฉา ไอ้เฉาหัวเราะชอบใจเมื่อรู้ว่าอาจารย์ฝึกสอนหัวเสียที่นักเรียนหายตัวไปอีก

“เฮ้ย มึงมาด้วยเรอะ” ไอ้กี้ถามด้วยสีหน้าแปลกใจ

“ทำไมวะ กูมาไม่ได้หรือไง” ผมถามกวน

“ก็ไม่ใช่มาไม่ได้หรอก แต่ก็เห็นมึงขี้เกียจๆ ไม่นึกว่ามึงจะสนใจมาติว” กี้พูดพลางหัวเราะร่วน

ผมอึ้ง พูดไม่ออก โห นี่มันดูถูกกูขนาดนี้เลยหรือนี่

พวกเราที่อยู่ห้องเดียวกันก็มาจับกลุ่มอยู่ด้วยกัน รอกันอยู่นานเพื่อรับบัตรที่นั่ง หลังจากที่รับบัตรที่นั่งจากโต๊ะประชาสัมพันธ์แล้วผมก็ตามเพื่อนๆขึ้นไปชั้นบน

ชั้นบนของโรงเรียนกวดวิชาแห่งนี้เป็นตึกแถวหลายๆห้องที่นำมาทุบฝาให้ทะลุถึงกันแล้วกั้นห้องเสียใหม่ให้เป็นห้องเรียน ห้องเรียนมีอยู่หลายห้อง ห้องที่ผมเข้าไปเรียนนั้นเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ ภายในไม่มีโต๊ะเรียน มีแต่เก้าอี้เลกเชอร์เรียงรายอัดกันแน่นจนเดินแทบไม่ได้ ที่เพดานมีโทรทัศน์ห้อยลงมาเป็นระยะๆ ขนาดของห้องที่ว่าใหญ่นั้นก็ดูเล็กไปถนัดเมื่อมีนักเรียนเข้ามานั่ง เพราะนั่งเรียนที่มาติวนั้นมีจำนวนมาก นั่งเบียดเสียดกันจนแทบขยับไม่ได้ ห้องเรียนห้องนั้นไม่รู้ว่าจุนักเรียนเข้าไปกี่ร้อยคน เรียกว่าใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างเต็มที่

“สงสัยต้องขี่คอกันเรียนแน่เลย” ผมบ่นกับยูร ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมเหยียบย่างเข้ามาในโรงเรียนกวดวิชา อะไรๆจึงดูแปลกใหม่ไปเสียหมด

“ที่อื่นก็ยังงี้แหละ พอมีรอบตัวฟรีก็จะแห่กันมา” ยูรอธิบาย

โรงเรียนของอาจารย์สงวนแห่งนี้เป็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ สอนตั้งแต่ภาษาอังกฤษสำหรับสอบเข้าเรียนต่อปริญญาโทมาจนถึงติวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยและติวเพื่อเพิ่มเกรดสำหรับชั้นมัธยม โรงเรียนนี้เปิดมานานกว่าสิบปีแล้ว เมื่อก่อนเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักศึกษามากกว่าในหมู่นักเรียน

แต่เดิมนั้นหลักสูตรติวเอนทรานซ์ของอาจารย์สงวนยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไร แต่มาในปีหนึ่ง ข้อสอบเอนทรานซ์ในภาคการอ่านเพื่อทำความเข้าใจ หรือว่า reading comprehension เกิดออกเรื่องเดียวกับที่อาจารย์สงวนติวเอาไว้ในปีนั้น เป็นเรื่องแผ่นดินไหว ตั้งแต่นั้นมา หลักสูตรติวเอนทรานซ์ภาษาอังกฤษของอาจารย์สงวนก็ดังระเบิดในหมู่นักเรียน

สำหรับการติวฟรีในวันนี้เป็นกลยุทธ์ในการแนะนำหลักสูตรนั่นเอง คือให้มาทดลองเรียนก่อน ถ้าประทับใจก็มาสมัครเรียน สัปดาห์ที่แล้วที่มีติวฟิสิกส์ฟรีก็เป็นลักษณะนี้เช่นกัน คือเป็นการทดลองเรียนนั่นเอง

อาจารย์สงวนในยุคนั้นเป็นชายในวัยประมาณสามสิบกว่า ไม่น่าจะถึงสี่สิบปี บุคลิกคล่องแคล่ว มีลีลาการสอนที่ฟังไปได้เรื่อยๆไม่เบื่อ พูดไปแล้วก็ย้อนมาทวนของเก่าตรงโน้นนิด ตรงนี้หน่อย มีเรื่องเฮฮาเล่าประกอบ ส่วนใหญ่จะเน้นที่การเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษ กล่าวได้ว่ามีเอกลักษณ์ในการสอน ซึ่งแตกต่างจากการเรียนในโรงเรียนค่อนข้างมาก

การสอนในวันนั้นกว่าจะได้เริ่มสอนจริงๆก็ประมาณห้าโมงเย็นเพราะว่าเด็กนักเรียนเยอะมาก มัวแต่ชุลมุนกันอยู่ที่โต๊ะประชาสัมพันธ์ พอถึงห้าโมงครึ่งก็ได้เวลาที่ผมจะต้องกลับบ้าน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะออกจากห้องเรียนได้อย่างไรเพราะว่านักเรียนนั่งติดกันพรืดไปหมด นอกจากจะต้องบุกฝ่าออกไปซึ่งก็จะเป็นการรบกวนการสอน เพราะอาจารย์สงวนพูดแบบนอนสต็อป ไม่มีหยุดพักเลย

ซวยแล้วกู ผมนึกในใจ วันนี้เห็นจะต้องกลับบ้านค่ำแน่ จะโทรไปบอกที่บ้านก่อนก็ไม่มีโอกาส วันนี้กลับไปคงต้องโดนดุแน่

กว่าชั้นเรียนจะเลิกก็เกือบหนึ่งทุ่ม เมื่อเลิกแล้วผมรีบไปโทรศัพท์บอกที่บ้าน จากนั้นก็รีบขึ้นรถเมล์กลับบ้านทันที โชคดีที่ตรงถนนดินสอ ข้างๆศาลาว่าการ กทม มีรถเมล์สาย ๙๖ ซึ่งผ่านบ้านผมพอดี ทำให้ประหยัดเวลาไปได้บ้าง

ผมรู้สึกหิวแต่ก็ไม่กล้าแวะกินเพราะกลัวจะเสียเวลา จึงต้องแขวนท้องมาตลอดทางจนถึงบ้าน ผมกลับถึงบ้านราวสองทุ่มกว่า ก็โดนดุนิดหน่อยตามธรรมเนียม แต่ไม่มาก เพราะระยะหลายปีมานี้ผมกลับบ้านช้าแทบจะนับครั้งได้ คุณลุงคุณป้าจึงเชื่อว่าผมไม่มีนิสัยเถลไถล แต่สิ่งที่คุณลุงคุณป้าไม่เคยรู้ก็คือ ผมไปเถลไถลในวันเสาร์แทนซึ่งมีเวลาเถลไถลได้มากกว่า

อันที่จริงหลังจากที่เอ๊ดย้ายออกไป ภาระงานบ้านของผมก็มากขึ้น แม้จะหลายเดือนแล้วก็ตามที แต่ผมก็ยังปรับตัวไม่ค่อยได้ วันหยุดมีเวลาว่างน้อยลง งานบางอย่างยังทำได้ไม่เรียบร้อยเท่าเอ๊ด อย่างเช่นงานรีดผ้า ล้างจาน ฯลฯ บางทีคุณป้าก็บ่นๆเอาเหมือนกัน

ตั้งแต่เอ๊ดไม่อยู่ ผมก็ได้ครอบครองห้องนอนแต่เพียงผู้เดียว ผมย้ายมานั่งทำงานที่โต๊ะของเอ๊ดซึ่งอยู่ริมหน้าต่างแทนโต๊ะตัวเดิมของผม เพราะที่ริมหน้าต่างบรรยากาศดีกว่า เวลาที่ผมชอบมากที่สุดก็คือยามดึก ผมชอบใช้เวลาไปกับการปล่อยอารมณ์คิดโน่นคิดนี่ไปเรื่อยเปื่อย

อย่างเช่นคืนนี้ ท่ามกลางบรรยากาศอันเงียบสงบในเวลาใกล้เที่ยงคืน ผมปิดไฟในห้อง นั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานในความมืด อาศัยเพียงแสงจากไฟส่องทางในซอยที่สาดลอดเข้ามา ผมนั่งดูกล่องใส่ทิชชู่รูปหมา แม้มันจะตั้งอยู่บนโต๊ะเป็นประจำมานานหลายปีแล้วก็ตาม แต่บ่อยครั้งที่ผมมองข้ามมันไปและลืมนึกถึงความเป็นมาของมัน

ผมมองกล่องใส่ทิชชู่รูปหมาในความมืด หวนนึกถึงเพื่อนในวัยประถม แม้ตอนชั้น ป.๖ จะมีเรื่องที่ไม่น่าจดจำอยู่มาก แต่ตอน ป.๕ นั้นมีแต่เรื่องดีๆในชีวิต มันเต็มไปด้วยความฝันอันสดสวยของชีวิตที่ยังไม่เดียงสาต่อโลก...

ผมหวนนึกถึงคำพูดของไอ้กี้ตอนที่ไปติวภาษาอังกฤษ และผมก็นึกถึงไอ้นัย... ป่านนี้ไอ้นัยไปอยู่ที่ไหนหนอ ผมอาจจะขี้เกียจจริงๆในสายตาของไอ้กี้ก็ได้ นี่ถ้าไอ้นัยอยู่ด้วย ผมคงมีกำลังใจที่จะเรียนมากกว่านี้

- - -

เช้าวันถัดมา

คาบเรียนในตอนเช้าเป็นวิชาคณิตศาสตร์ของอาจารย์พิกุลเช่นเคย ขณะที่เรียน ผมอดนึกถึงลีลาการสอนของอาจารย์สงวนไม่ได้

สมาธิในการเรียนของผมต้องถูกรบกวนเมื่อกลุ่มของเวชและเกรียงนั่งคุยกันและด่ากันไปมา เพื่อนที่อยู่ใกล้ๆกับพวกมันต่างก็คงมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่มีใครกล้าเอ่ยปากห้ามปรามเพราะไม่อยากเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ แม้แต่อาจารย์พิกุลเองก็พยายามเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ เพราะไม่อยากอารมณ์เสีย

พวกเวชคุยกันโขมงได้เพียงพักเดียว อาจารย์พิกุลก็เอาหูไปนาต่อไปอีกไม่ได้แล้ว

“นี่ พวกเธอ คุยอะไรกัน ครูสอนอยู่ทำไมเอาแต่คุยกัน” อาจารย์พิกุลพยายามพูดด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล แต่เมื่อผมดูสีหน้าอาจารย์ก็รู้ว่าอาจารย์กำลังข่มอารมณ์อย่างเต็มที่

“กำลังคุยกันเรื่องวิชาการครับ” เวชแหกปากตอบเสียงดัง

“หา วิชาการเหรอ วิชาอะไร ไหนว่ามาซิ” อาจารย์พิกุลถามอย่างระมัดระวัง อาจารย์เคยเสียท่าไอ้เวชมาแล้ว คงจะไม่อยากพลาดซ้ำสอง

“พอดีผมไปอ่านเรื่องสุขภาพในหนังสือพิมพ์ เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยเอามาบอกเพื่อนๆครับ” เวชพูด

“ว่า...” อาจารย์พิกุลเร่งให้เวชพูด

“คือหมอบอกว่าคนอ้วนมีโอกาสหัวใจวายตายมากกว่าคนทั่วไปน่ะครับ” เวชพูดเสียงลั่น

แทนที่พวกนักเรียนในห้องจะฮากับคำตอบของเวช ห้องเรียนทั้งห้องกลับเงียบกริบลงในทันทีทันใด ความเงียบนั้นเป็นความเงียบที่ผิดปกติ อุปมาเหมือนกับชายทะเลที่เงียบสงัดไม่มีแม้แต่เสียงคลื่นซัดชายหาด เพราะคลื่นนั้นหนีออกไปจากชายหาดไกลโข

และทันใดนั้นเอง ชายหาดที่แห้งผากและเงียบสงัดก็ถูกโหมกระหน่ำด้วยสึนามิอย่างที่ไม่ทันได้ตั้งตัว!

อาจารย์พิกุลถึงกับร้องกรี๊ด และหลังจากนั้น อาจารย์ก็ระเบิดความอัดอั้นตันใจในการสอนออกมาเป็นเวลานาน นักเรียนทุกคนนั่งก้มหน้างียบกริบ ยกเว้นเวช หลังจากที่อาจารย์พรั่งพรูความอัดอั้นตันใจออกมาได้สักพักจากนั้นก็เดินออกจากห้องไปและไม่กลับมาสอนอีกเลยจนหมดคาบ

ปัญหาระหว่างอาจารย์และศิษย์ในที่สุดก็บานปลายออกไป ไม่ใช่เพียงแต่คู่ของเวช แต่ยังมีคู่อื่นอีกด้วย ในตอนบ่าย อาจารย์วารี อาจารย์ประจำชั้น ถึงกับต้องขอเวลาจากอาจารย์วิชาอื่นเพื่อเข้ามาคุยกับพวกเรา

“พวกเธอรู้กันหรือเปล่าว่าครูได้รับเสียงตำหนิติเตียนจากอาจารย์วิชาอื่นถึงเรื่องของพวกเธอกันมาหลายคนแล้ว” อาจารย์วารีเกริ่น สีหน้าของอาจารย์เคร่มขรึม แต่น้ำเสียงของอาจารย์ยังนุ่มนวล ไม่มีแววโกรธเคืองหรือข่มอารมณ์แม้แต่น้อย

“...” พวกนักเรียนก้มหน้านิ่ง

“อาจารย์พละก็มารายงานว่าพวกเธอไม่สนใจเรียน หนีเรียนกันไปหลายคน อาจารย์วิชาอื่นๆก็บ่นกันว่าพวกเธอไม่ตั้งใจเรียน ชอบเอาหนังสือวิชาอื่นมาอ่านเวลาอาจารย์สอน” อาจารย์หยุดหายใจนิดหนึ่ง “และล่าสุด อาจารย์พิกุลก็มาบอกครูว่าเห็นจะสอนพวกเธอไม่ไหวแล้ว”

“...” พวกนักเรียนเงียบกริบ เพราะไม่รู้จะพูดอะไรจริงๆ

“ผมเองครับ ที่ไปต่อล้อต่อเถียงกับอาจารย์” เวชสารภาพ แต่สีหน้าไม่มีแววสำนึกเลยสักนิด ดูเหมือนมันกำลังคิดว่านี่เป็นวีรกรรมมากกว่า

“แต่เท่าที่รู้ เวชไม่ได้ต่อล้อต่อเถียงกับอาจารย์พิกุลนี่ ครูอาจจะเข้าใจผิดก็ได้ เธอจะเล่ามาก็ได้นะ ครูจะได้รู้ข้อเท็จจริง” อาจารย์วารีพูดด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลและมีท่าทีที่เป็นมิตร แม้ในเวลานี้ อาจารย์ก็ยังเปิดโอกาสให้เวชอธิบาย

“เอ้อ ผมล้อเลียนอาจารย์น่ะครับ” เวชสารภาพเสียงอ่อย น่าแปลกที่เวชแม้ปกติจะก้าวร้าว แต่กับอาจารย์วารี เวชไม่เคยแสดงท่าทีก้าวร้าวกับอาจารย์เลย

อาจารย์วารีถอนหายใจอย่างหนักใจ “เรื่องมันบานปลายแล้วนะเวช ครูอาจจะต้องเชิญผู้ปกครองของเธอมาคุย...”

“เชิญมาได้เลยครับอาจารย์” เวชตอบ ฟังไม่ออกเลยว่านี่เป็นการท้าทายหรือเปล่า

“แล้วยังมีพวกที่หนีเรียนที่ครูต้องสะสางอีก” อาจารย์วารีถอนหายใจอีก

“ครูเป็นครูประจำชั้นของพวกเธอนะ หากพวกเธอมีอะไรครูยินดีช่วยทุกเรื่อง หากมีอะไรหนักใจหรือมีอะไรไม่สบายใจ ขอให้เธอมาบอกครู ครูจะพยายามหาทางช่วย อย่าไปคิดเองทำอะไรเอง บางทีเรื่องมันบานปลายไปแล้วแก้ไขได้ยาก ผลเสียก็ตกแก่พวกเธอเองนั่นแหละ” อาจารย์วารีพูดด้วยน้ำเสียงกังวล

“มีอะไรขอให้บอกครูดีกว่านะ ไม่ว่าเรื่องอะไร ครูจะพยายามช่วย” อาจารย์ย้ำ

“ยกเว้นเรื่องเงิน...” เวชต่อท้ายเบาๆ แม้บรรยากาศจะไม่อำนวย แต่มันก็อดปากเสียไม่ได้

“ไม่มียกเว้น” อาจารย์วารีพูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง “แม้แต่เธอติดขัดเรื่องการเงินก็ปรึกษาครูได้ ครูตัวคนเดียว ลูกก็ไม่มี เงินเดือนข้าราชการครูแม้ไม่มาก แต่ครูไม่ได้ฟุ่มเฟือยอะไร เงินเก็บครูพอมี หน้าที่ของครูคือส่งพวกเธอให้ถึงฝั่ง... ถึงฝั่งแห่งความสำเร็จของพวกเธอ แม้ครูจะเป็นเพียงครูมัธยม แต่ถ้าพวกเธอต้องการให้ครูไปส่งให้ถึงฝั่งที่ไกลกว่านั้นครูก็ยินดี ครูส่งลูกศิษย์เรียนจนจบปริญญามาแล้วหลายคน ที่เซ็นค้ำประกันให้เรียนแพทย์ก็หลายคน”

สิ้นเสียงอาจารย์วารี นักเรียนทั้งห้องรวมทั้งเวชก็ก้มหน้าเงียบ เหตุการณ์ในวันนั้นเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ผมต้องจำไปจนชั่วชีวิต แม้แต่เวชเองก็ยังยอมรับนับถืออาจารย์วารี แม้อาจารย์จะตัวเล็ก แต่หัวใจของอาจารย์นั้นยิ่งใหญ่

“ผมผิดเองครับ อาจารย์ไม่ต้องลำบากใจ เชิญผู้ปกครองมาเถอะครับ” เวชพูดเสียงแผ่วเบา

หลังจากนั้น พวกเราก็ถูกอาจารย์วารีอบรมอีกสักครู่ และในที่สุด อาจารย์วารีก็จำต้องเชิญผู้ปกครองของเวชมาพบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้



<หนังสือรวมข้อสอบเอนทรานซ์หลาย พ.ศ. หนึ่งในหนังสือประกอบในหลักสูตรติวเอนทรานซ์ภาษาอังกฤษของอาจารย์สงวนในยุคนั้น ค่าเล่าเรียนหลักสูตรหนึ่งดูเหมือนจะประมาณสองพันบาท แถมหนังสือมาหนึ่งตะกร้าใหญ่ๆ อ่านกันจนอ่านไม่ไหว>

ฟังเพลง คนข้างเคียง ผลงานยุคแรกๆของชมพู ฟรุตตี้


<ชมพู ฟรุตตี้ เป็นหนึ่งในนักร้องที่โด่งดังในยุค 80 เป็นหนึ่งในนักร้องไม่กี่คนที่มีพรสวรรค์ในการแต่งเพลงเองด้วย เพลงที่แต่งในยุคหลังของชมพูส่วนใหญ่เราคุ้นเคยกันดี มักเป็นเพลงประกอบละครย้อนยุค เช่น เพลงประกอบละครอาญารัก คู่กรรม สายโลหิต รัตนโกสินทร์ ฯลฯ >

Sunday, July 12, 2009

ภาคสาม ตอนที่ 6

“เฮ้ย กี้ ขอดูสมุดการบ้านคณิตศาสตร์หน่อยดิ อยากเทียบคำตอบหน่อย” ผมพูดกับกี้ในเช้าวันหนึ่ง ก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติ วันนั้นมีการบ้านคณิตศาสตร์ที่ต้องส่ง แต่บางข้อทำแล้วไม่แน่ใจว่าคิดถูกหรือเปล่า จึงอยากดูของกี้เพื่อเปรียบเทียบ

“ไอ้กี้ อาจารย์วารีเรียกให้ไปพบ” ไอ้แมนเดินเข้ามาในห้องพอดี หลังจากวางเป้แล้วก็บอกกี้ อาจารย์วารีก็คืออาจารย์ประจำชั้นของพวกเรานั่นเอง

“อ้อ เหรอ มีเรื่องอะไร” กี้ถาม

“กูจะไปรู้ได้ไง รีบๆไปเถอะ” แมนพูด

“ดูเร็วๆนะมึง” ไอ้คุกกี้ตาไม่มีเล่าเต๊งพูดพลางหยิบสมุดการบ้านส่งให้ผม จากนั้นก็รีบเดินออกไปจากห้องเพื่อไปพบอาจารย์

ผมนั่งดูสมุดการบ้านของไอ้กี้ เปรียบเทียบวิธีคำนวณของมันและที่ผมทำ เมื่อรู้ว่าผมคิดผิด ผมก็รีบคำนวณใหม่ ช่วงนั้นผมไม่ค่อยได้ลอกการบ้านเพื่อนๆแล้ว เพราะเริ่มเรียนทันเนื่องจากไม่มีอะไรคอยทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน การบ้านส่วนใหญ่ผมทำเองทั้งหมด แต่บางทีก็ไม่แน่ใจ จึงต้องขอดูจากไอ้กี้หรือเพื่อนคนอื่นๆเพื่อเปรียบเทียบ

“เฮ้ย ไอ้อู ขอยืมลอกหน่อยดิ” เวชชะโงกหน้ามาพูดกับผม

ผมอึ้งไปนิดหน่อย ผมไม่ค่อยชอบเวชเท่าไรนัก เพราะมันชอบทำคึกคะนอง ส่งเสียงเอะอะหนวกหูไม่เกรงใจใคร น่ารำคาญมาก

“เอามาหน่อยเร็ว เวลาเหลือน้อย กูยังไม่ได้ทำเลย” เวชเร่งรัดอีก

ไอ้เปรต มึงจะยืมแล้วพูดให้มันดีๆหน่อยไม่ได้หรือไง พูดราวกับกูติดหนี้มึงอยู่ ผมคิดในใจ จากนั้นก็จำใจส่งสมุดการบ้านคณิตศาสตร์ของผมให้มันอย่างไม่เต็มใจนัก ไอ้เวชเคยยืมการบ้านของผมลอกหลายครั้งแล้วในทุกวิชา

“ไอ้สัดแมน มึงหลอกกู” เสียงไอ้กี้โวยวายลอยมา ไอ้กี้เดินกลับเข้าในห้อง พร้อมกับด่าไปหัวเราะไป “ไอ้เหี้ย กูหน้าแตกเลย”

“ทำไมเชื่อคนง่ายนักวะมึง” ไอ้แมนหัวเราะชอบอกชอบใจที่หลอกไอ้กี้ได้ ที่จริงไม่อาจารย์วารีไม่ได้เรียกกี้ไปพบ มันกุเรื่องทั้งเพ

คู่หูขาวดำนี้ยิ่งนานยิ่งซ่า ได้ชื่อว่าเป็นนักอำประจำห้อง มีเพื่อนที่เสียท่าถูกมันอำไปหลายคนแล้ว โต๊ะไอ้เฉาโดนอำยกโต๊ะ ไอ้พัน ไอ้มอน และคนอื่นๆก็โดนมาแล้ว ไอ้กี้ครั้งนี้เพิ่งโดนเป็นครั้งแรก ส่วนผมนั้นยังไม่เคยโดนมันอำ

“เฮ้ย เสร็จแล้วก็คืนดิ” ผมหันไปพูดกับเวชเมื่อเห็นมันส่งสมุดการบ้านของผมไปให้ไอ้เกรียง

“มึงอย่างกนักเลยไอ้อู” เกรียงพูดกับผม พร้อมทั้งกางสมุดของผมออกและลงมือลอกการบ้าน “หัดเผื่อแผ่เพื่อนฝูงบ้างสิวะ กูยอมลอกของมึงเนี่ยถือว่าเป็นบุญของมึงแล้วนะ”

ไอ้ห่าเอ๊ย จะลอกแล้วยังพูดกวนตีน ผมด่ามันในใจ ผมไม่ค่อยชอบไอ้เวชนัก แต่กับไอ้เกรียงนี่ยิ่งไม่ชอบหน้ามันเข้าไปใหญ่ ทั้งกวน ทั้งนิสัยหยาบคาย การมานั่งอยู่ที่ชายแดนนี่ทำให้ผมรู้สึกอึดอัด เพราะนอกจากถูกกลุ่มเวชและเกรียงรบกวนการเรียนแล้ว ยังถูกไถการบ้านลอกอีกด้วย การบ้านของผมและยูรมักถูกแก๊งของเวชใช้เป็นต้นฉบับเสมอๆ

ขณะเดียวกัน นนก็เดินเข้ามาในห้องเรียนเป็นรายต่อมา หลังจากที่มาถึงที่นั่ง วางเป้แล้ว ไอ้แมนก็รีบเล่าเรื่องที่อำไอ้กี้ได้เป็นผลสำเร็จ นนหัวเราะชอบใจ ดูไปแล้วไอ้สองคนนี้คล้ายกับจะแข่งขันกันสร้างผลงานว่าใครจะอำเพื่อนๆได้มากกว่ากัน

“เฮ้ย ไอ้อู มีจดหมายส่งมาถึงมึงอยู่ที่ห้องธุรการแน่ะ” นนชะโงกหน้ามาพูดกับผม

“ไอ้แหกตา” ผมหัวเราะ แมนอำไอ้กี้เพิ่งจะเสร็จไป นี่ไอ้นนจะอำผมต่อเลย มันจะง่ายไปหน่อย

“เฮ้ย จริงๆ นี่เรื่องจริง” ไอ้นนพูดพลางหัวเราะพลาง

“เรื่องจริงแล้วทำไมเวลามึงพูดต้องหัวเราะไปด้วยวะ” ผมย้อน

“อ้าว กูอารมณ์ดีกูก็หัวเราะดิ” ไอ้นนพูดพลางหัวเราะไปด้วยอีก

“เออ กูเชื่อ” ผมพูด แต่ในใจกำลังคิดว่า ถ้ากูเชื่อมึงก็โง่ดิ

“เฮ้ย อย่าลืมไปเอานะโว้ย” นนย้ำอีกพลางหัวเราะ

- - -

เที่ยงวันนั้น ผมแวะไปที่สหกรณ์ เมื่อเดินผ่านห้องธุรการยังนึกขำไอ้นน อุตส่าห์นึกมุขแปลกๆมาอำเพื่อน ไอ้กี้โดนหลอกให้เดินไปห้องพักครูยังถือว่าไม่ไกลนัก แต่ถ้าผมโดนหลอกให้เดินข้ามตึกมาที่นี่ต้องถือว่าไกลพอสมควรทีเดียว ถ้ามันหลอกผมสำเร็จ ผลงานของมันคงล้ำหน้ากว่าไอ้แมน

“อ้าว พี่ หวัดดีครับ” ไอ้น้องบอยทักผมเพื่อเห็นผมเดินเข้าไปในสหกรณ์ วันนั้นคงเป็นเวรของมัน

“เอ็งจำพี่ได้เหรอ” ผมถามมันด้วยความสังสัย เพราะมันทักราวผมกับเป็นคนคุ้นเคย

“จำได้ดิพี่ พี่เคยมาดูเธอกับฉันแล้วไม่ได้เช่าไปไง” ไอ้น้องบอยตอบพลางหัวเราะเสียงใส แก้มของมันเป็นสีชมพู ปากก็แดงอิ่มเอิบ ดูน่ารัก แถมยังช่างเจรจา มันจำผมได้จริงๆด้วย

“ม.ปลายมาเช่าเธอกับฉันมีไม่กี่คนหรอกพี่” บอยพูดแล้วก็หัวเราะอีก

“ยังกวนตีนอีก เดี๋ยวโดนเตะจนได้” ผมดุมัน

“พี่เช่าไปหน่อยดิ นะ นะ ยิ่งเช่าเยอะ ตอนสิ้นปีก็ได้เงินปันผลมาก” บอยอ้อน “พี่เช่าไปเถอะ ผมไม่บอกใครหรอก”

“ยังไม่เลิกกวน ตื๊อจริงเอ็งนี่” ผมแกล้งบ่น แต่รู้สึกขำมันมากกว่า ไม่ได้รำคาญเลยแม้แต่น้อย

“น่า พี่ ช่วงนี้การค้าไม่ค่อยดี รายได้ไม่ค่อยมีเลยอะ ช่วยหน่อยดิครับ การ์ตูนก็มี” บอยพูดต่อ

“เอ็งต้องคอยตื๊อลูกค้าทุกรายนี่ไม่เหนื่อยเหรอวะ” ผมถาม

“สบาย สบาย ถูกใจก็คบกันไป” ไอ้น้องบอยตอบเป็นเพลง แล้วก็หัวเราะ “ไม่ได้ตื๊อทุกคนหรอกฮะ กลัวโดนเตะเหมือนกัน”

“กวนขนาดนี้มันก็สมควรโดนเตะหรอก แล้วเอ็งไม่กลัวโดนพี่เตะเหรอ” ผมถาม

“ไม่ฮะ” บอยตอบ ยิ้มแฉ่งจนเห็นฟันขาว “ดูก็รู้ว่าพี่ใจดี น่ากวนออกจะตาย”

สุดท้ายผมก็เช่าการ์ตูนญี่ปุ่นมาอ่านเพื่ออุดหนุนไอ้น้องบอย ที่จริงอยากเช่าเธอกับฉันมาเหมือนกัน เพราะว่ามีนายแบบวัยรุ่นชายน่ารักๆอยู่ในเล่ม แต่ก็ไม่กล้าเช่า กลัวโดนล้อ เลยได้แต่พลิกๆดู

หลังจากนั้นมา ผมก็มักแวะเวียนไปที่สหกรณ์ เมื่อพบบอยก็มักคุยทักทายกับมัน เพราะว่ามันเป็นเด็กที่ช่างคุย ได้คุยกับมันแล้วรู้สึกดี

- - -

ชั่วโมงพลศึกษาในสัปดาห์ถัดมา อาจารย์ฝึกสอนอยู่กับนักเรียนตลอดเวลาไม่กล้าไปไหน คุมนักเรียนแจเพราะกลัวจะเกิดเหตุการณ์แบบสัปดาห์ที่แล้ว

“โธ่เอ๊ย คุมเข้มซะขนาดนี้ก็จะหนียังไงวะ” ไอ้ยูรบ่นอุบขณะที่ฝึกซ้อมอยู่

“มึงจะหนีไปไหนเหรอ” ผมถาม

“วันนี้มีติวภาษาอังกฤษฟรีน่ะสิ” ยูรพูด

“ที่ไหนวะ” คราวนี้ผมชักสนใจ คราวก่อนผมคิดไม่ทัน เลยไม่ได้ไปติวฟิสิกส์ฟรี ที่จริงน่าจะตามเพื่อนๆไปด้วย พอมาคราวนี้เลยไม่อยากพลาด

“อาจารย์สงวน” ยูรตอบ

ยูรพยายามหาช่องทางหลบหนีออกไปจากโรงยิม แต่จังหวะไม่ปลอด จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ไปสักที จนเวลาล่วงเลยมาถึงตอนปลายคาบ

“เอา นักเรียน จัดแถว” เสียงอาจารย์ฝึกสอนตะโกนลั่น

พวกนักเรียนต่างวิ่งมารวมตัวกันเพื่อตั้งแถว พอตั้งแถวเสร็จ อาจารย์ก็อุทาน

“เฮ้ย หายไปไหนอีกแล้ววะ”

จากนั้นอาจารย์ก็นับจำนวนนักเรียน พบว่ามีเหลือเพียงเกือบสี่สิบคน หายไปถึงสิบกว่าคน กลุ่มโต๊ะไอ้เฉาหายไปหมดทั้งโต๊ะ รวมทั้งกลุ่มของเวช และมีคนอื่นผสมโรงด้วยอีกนิดหน่อย พวกนี้ไม่รู้ว่าหายไปตั้งแต่เมื่อไร แม้แต่ผมเองก็ไม่ทันสังเกต

ฟังเพลง สบาย สบาย



<ภาพหน้าปกและเนื้อในของแบบเรียนวิชาชีววิทยา ม.๔ เทอม ๑ ในยุคนั้น ภาพภายในเล่มสีขาวดำแบบกระดำกระด่าง จนบางทีก็ดูรายละเอียดในภาพไม่ออก>


<ปกซีดีอัลบั้ม สบาย สบาย ของเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ออกในช่วงต้นปี ๒๕๓๐ ยุคนั้นเป็นยุคที่พี่เบิร์ดโด่งดังมาก เพลงของพี่เบิร์ดในช่วงนั้นส่วนใหญ่ไพเราะ น่าฟัง และได้รับความนิยม โดยเฉพาะเพลงสบาย สบายนี้ ทำให้วลี ‘สบาย สบาย’ ถูกพูดกันจนติดปาก ช่วงนั้นเทปคาสเส็ตต์เริ่มเสื่อมความนิยม และแผ่นออดิโอซีดีก็เริ่มเข้ามาแทนที่มากขึ้นเรื่อยๆ>

Wednesday, July 8, 2009

ภาคสาม ตอนที่ 5

กศน นั้นย่อมาจากการศึกษานอกโรงเรียน เป็นช่องทางการศึกษาของผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียน บางทีก็เรียกว่าศึกษาผู้ใหญ่ หลักสูตรของ กศน นั้นมีทั้งหลักสูตรประถมและมัธยม สำหรับหลักสูตรมัธยมนั้นก็มีทั้งหลักสูตรเพื่อการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา และหลักสูตรเพื่อการอาชีพ ซึ่งเนื้อหาวิชาก็จะแตกต่างกันออกไป วิธีการเรียนนั้นก็มีความยืดหยุ่นมาก ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เรียนที่ไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียนสามารถเลือกเรียนได้เหมาะกับสภาพของตน เช่น ผู้ที่ทำงานแล้ว ผู้ที่อยู่ห่างไกล หรือมีความจำเป็นใดๆก็ตามที่ไม่สามารถเข้าไปเรียนในระบบโรงเรียนได้ ฯลฯ โดยวิธีการเรียนนั้นก็มีทั้งการเรียนแบบชั้นเรียน ถ้าเป็นแบบนี้จะเรียนภาคค่ำ หรือไม่อย่างนั้นก็ใช้วิธีเรียนทางไกล ซึ่งเป็นการเรียนจากสื่อที่ทาง กศน ผลิตขึ้น ทั้งตำรา รายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์

วิธีการเรียนอีกประเภทหนึ่งก็คือการเรียนด้วยตนเอง พูดง่ายๆก็คือไปศึกษามาจากที่ไหน อย่างไร ก็ได้ ขอให้สอบผ่านก็แล้วกัน ช่องทางนี้เองเป็นช่องโหว่ที่นักเรียนในระบบโรงเรียนมาเรียน กศน โดยซื้อหนังสือมาดูเองที่บ้าน จากนั้นไปสอบเทียบ เมื่อได้วุฒิมัธยมปลายแล้วก็นำไปใช้สอบเอนทรานซ์ ซึ่งการเรียน กศน นั้นเราสามารถเร่งให้จบภายในหนึ่งปีหรือสองปีก็ได้ แล้วแต่การวางแผนการดูหนังสือและการสอบของตนเอง

การที่นักเรียนในระบบโรงเรียนใช้วิธีสอบเทียบนี้เป็นปัญหาให้ถกเถียงมาโดยตลอด เพราะทุกปีจะมีนักเรียนในระบบโรงเรียนที่เรียนอยู่ชั้น ม.๔ หรือ ม.๕ สอบเทียบได้ รวมทั้งสอบเอนทรานซ์ได้ด้วย แต่อาจได้คณะที่ไม่ถูกใจนัก ก็พากันสละสิทธิ์ หรือไม่อย่างนั้นก็ไปเรียนในมหาวิทยาลัยหนึ่งปีก่อนแล้วออกมาสอบเอนทรานซ์ใหม่ ทำให้นักเรียนที่จบ ม.๖ ตามปกติบางคนต้องถูกรุ่นน้องแย่งที่นั่ง ทำให้ต้องพลาดโอกาสเรียนอย่างที่ควรจะได้ไปอย่างน่าเสียดาย หรือถ้าแย่หน่อยก็อาจถูกรุ่นน้องเบียดที่ไปจนกลายเป็นสอบไม่ติดเลยก็เป็นได้

ที่ไอ้กี้พูดว่านักเรียนครึ่งค่อนห้องต่างก็พากันเตรียมสอบเทียบนั้นไม่ใช่เรื่องเกินความจริง เพราะเมื่อผมลองสังเกตดูก็พบว่ามีเพื่อนๆหลายคนซุ่มอ่านหนังสือเรียนล้ำหน้าไปกว่าเนื้อหาที่เรียนในชั้นเรียนจริงๆ

- - -

ในห้องเรียนวิชาฟิสิกส์ นับเป็นโชคดีที่โต๊ะเรียนกลุ่มของผมอยู่ติดกับโต๊ะเรียนกลุ่มของเชาวน์หรือไอ้เฉา เพราะว่ากลุ่มนี้ขยันเรียนและเกาะกลุ่มกันดี การที่ได้นั่งโต๊ะติดกันทำให้ผมได้ยินการพูดคุยของเชาวน์และเพื่อนในกลุ่ม ทำให้ผมรู้ข่าวสารต่างๆที่เกี่ยวกับการเรียนในชั้น ม.๔ ไม่น้อย นอกจากนี้ ตำแหน่งที่ผมนั่งยังหันหน้าเข้าหามอน อดีตนายนพมาศอีกด้วย ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน แต่ว่าผมชอบดูใบหน้าของมอน มันน่ารักอย่างบอกไม่ถูก

ดังที่ได้เคยเล่าไปแล้วว่าโต๊ะเรียนวิทยาศาสตร์ของกลุ่มผมนั้นประกอบด้วยผม กี้ แมน นน และยูร รวม ๕ คน แมนและนนนั้นเวลาอยู่ในห้องเรียนปกติก็นั่งโต๊ะติดกันด้วย เป็นคนเฮฮาอารมณ์ดีทั้งคู่ สองคนนี้ยิ่งนานก็ยิ่งสนิทกันมากขึ้น เวลาไปไหนมักไปด้วยกันแบบปาท่องโก๋ เพื่อนๆมักเรียกคู่หูคู่นี้ว่า ‘แบล็กแอนด์ไวต์’ อันเป็นชื่อเดียวกับวิสกี้ เพราะสองคนนี้สีผิวตัดกันอย่างรุนแรง แมนผิวขาวเหลืองแบบลูกจีน ส่วนนนนั้นผิวคล้ำแบบสำลีเม็ดใน นานวันเข้า พอสนิทกันมากขึ้น ไอ้คู่นี้มักทำอะไรประหลาดๆอยู่เสมอ

“พวกมึงจะยุกยิกทำเหี้ยอะไรวะ” ไอ้กี้โวยวายใส่คู่หูขาวดำในชั่วโมงฟิสิกส์ เพราะมันเล่นอะไรกันกิ๊กกั๊กๆจนไอ้กี้รำคาญ

ไอ้สองตัวนี่หยุดกิ๊กกั๊กไปชั่วครู่ แล้วก็ทำอะไรยุกยิกอยู่ใต้โต๊ะ จากนั้นก็หัวเราะกิ๊กกั๊กกันอีก

“ไอ้ห่านี่ พวกมึงจะอุบาทว์กันก็อย่ากวนกูสิวะ รำคาญโว้ย” ไอ้กี้ดุอีก ไอ้สองตัวนั่นก็เงียบเสียงลงไปอีกครั้ง

ผมเอะใจกับคำพูดของไอ้กี้ และเริ่มสังเกตว่าไอ้คู่หูสองคนนี่มันเล่นอะไรกัน ทีแรกนึกว่ามันแย่งของอะไรกันใต้โต๊ะ แต่ที่ไหนได้ มันไม่ได้แย่งของกัน แต่มันกำลังแย่งกันจับท่อนเนื้อของกันและกันอยู่ จับไปก็หัวเราะกันไป

“โอ๊ย รำคาญพวกแม่งฉิบหาย” ไอ้กี้บ่นอุบอิบ ขนาดด่าแล้วยังไม่รู้สึก แม้แต่ไอ้กี้เองก็จนปัญญา

“เฮ้ย มันเล่นอะไรกันวะ” ผมถามเพื่อความแน่ใจเพราะจากตำแหน่งที่ผมนั่งอยู่มองไม่เห็นว่ามันทำอะไรกันใต้โต๊ะ แต่จากกิริยาท่าทางก็พอเดาได้

“แม่งเล่นอุบาทว์ จับควยกันเล่นทั้งวัน” ไอ้กี้พูด แล้วมันก็อดหัวเราะไม่ได้ “โคตรวิปริตเลยไอ้ห่าสองตัวนี่”

ผมรู้สึกแปลกใจและทึ่งกับแมนและนน เพราะคู่นี้ใจกล้ามากทีเดียว ขนาดนั่งล้วงควักเป้ากางเกงกันโดยไม่อายสายตาเพื่อนๆ ส่วนเพื่อนๆก็เห็นเป็นเรื่องตลกไป แม้แต่ไอ้กี้เองก็ดูเหมือนจะเห็นเป็นเรื่องตลก เพราะแม้มันด่าแต่ก็เป็นการด่าไปหัวเราะไป

การเล่นกันของแมนและนนทำให้ผมอดนึกถึงเรื่องเก่าๆไม่ได้ หลายปีก่อน ผมกับไอ้นัย ไอ้ชัช และเพื่อนคนอื่นๆก็เล่นกันแบบนี้ ทุกคนก็เห็นเป็นเรื่องเล่นขำๆเหมือนกัน แต่ในวันนี้ ในวันที่เราเติบโตขึ้น แม้เพื่อนๆหลายคนจะขำ แต่ก็ยังมีคำว่า ‘วิปริต อุบาทว์’ อยู่ในคำพูดด้วย ไม่แน่ว่าพวกเพื่อนๆอาจจะหัวเราะเหมือนเวลาที่ดูละครสัตว์หรือเหมือนเวลาที่ดูละครตลกที่เอาปมด้อยของมนุษย์มาล้อเลียนก็เป็นได้

ทางด้านโต๊ะกลุ่มไอ้เฉา แก๊งนี้นั่งอ่านหนังสือกันอย่างขะมักเขม้น เมื่อมีการทดลองให้ทำก็พยายามทำการทดลองให้เสร็จโดยเร็ว จากนั้นก็นั่งทำโจทย์จากคู่มือติวหรือไม่ก็นั่งอธิบายการคำนวณให้ฟังกันในกลุ่มของตน

ทางด้านสองนักเรียนเก่ง พันและโชคนั้น โต๊ะของพันทำงานกันอย่างครึกครื้น เพราะว่าพันใจดี มีอะไรก็แบ่งให้เพื่อนๆในกลุ่มดู หรือบางทีก็อธิบายให้เพื่อนในกลุ่มฟัง แต่ทางด้านโชคนั้นกลับเป็นตรงกันข้าม โชคเต็มไปด้วยความเคร่งขรึม ถ้างานของตนเองไม่เสร็จก็จะยังไม่ยอมละงานมาเพื่อช่วยกลุ่มในขณะที่เพื่อนส่วนใหญ่จะต้องละงานของตนเองไว้ก่อนเพื่อมาทำงานของกลุ่มให้เสร็จ นอกจากนี้ โชคยังไม่ค่อยยอมให้ใครยืมสมุดจดงานหรือการบ้านไปดู ถ้าเพื่อนมาขอดูก็มักปฏิเสธโดยหาข้ออ้างสารพัด แต่บางทีปฏิเสธไม่ได้จริงๆก็จะให้ยืมแต่รีบขอคืนโดยเร็ว

ส่วนกลุ่มของเวชเป็นกลุ่มที่สร้างความรำคาญให้แก่พวกเพื่อนๆได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย มีทั้งแซวอาจารย์ แซวเพื่อนๆ และแซวกันเองในกลุ่ม จะพูดหรือทำอะไรแต่ละทีต้องส่งเสียงเอะอะโวยวาย ทุกคนรำคาญแต่ก็ไม่มีใครกล้าออกหน้าว่าอะไร คงจะถือคติอย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ เพราะโวยไปก็ไม่ได้ช่วยอะไร ซ้ำหากถูกไอ้พวกนี้เขม่นและแกล้งเอาจะยิ่งมีปัญหา

เวลาเรียนในห้องเรียนที่ตึก ม.๔ ผมและไอ้ยูรจะได้รับผลกระทบจากกลุ่มไอ้เวชมากที่สุด เพราะมันนั่งติดกับผมและยูรนั่นเอง เวลาไอ้เวชกับพวกของมันแหกปากกันที ผมถึงกับเรียนไม่รู้เรื่องเลยทีเดียว

- - -

“เอ้า ซ้อมกันเองไปก่อนนะ เดี๋ยวครูมา ขอไปคุยกับอาจารย์นิเทศก์หน่อย” อาจารย์ฝึกสอนวิชาพลศึกษาพูดกับนักเรียนห้องผมในชั่วโมงพลศึกษา เทอมนี้ชั่วโมงพลศึกษาถูกจัดให้อยู่เป็นวิชาสุดท้ายของวัน เรียนเสร็จก็กลับบ้านไปเลย ซึ่งก็ดีเหมือนกัน เพราะถ้าเรียนเวลาเช้าหรือกลางวัน เมื่อเหงื่อออกแล้วก็จะเหนอะหนะไปทั้งวัน

หลังจากที่อาจารย์ฝึกสอนลับตาไปจากโรงยิมฯ พวกนักเรียนก็ทยอยหายตัวกันไปด้วย เริ่มจากกลุ่มของเวชก่อน ไอ้พวกนี้มันคงหนีไปเที่ยว หลังจากนั้นก็เป็นกลุ่มของเชาวน์

“เฮ้ย พวกกูไปก่อนนะ มึงเฝ้าโรงยิมไปละกัน” เชาวน์หักไปบอกกับพันอย่างอารมณ์ดี จากนั้นกลุ่มโต๊ะวิทยาศาสตร์ของไอ้เชาวน์ทั้งกลุ่มก็หายตัวไปจากโรงยิมฯ

“เฮ้ย กูไปด้วย” พันพูด จากนั้นก็คว้ากระเป๋านักเรียนตามออกไปบ้าง

เพียงครู่เดียว นักเรียนในโรงยิมก็หายไปเกือบครึ่งห้อง ผมเห็นไอ้กี้กับไอ้ขาวดำคว้ากระเป๋าเตรียมจะออกไปด้วยเช่นกัน ผมก็รีบเข้าไปถามมัน

“เฮ้ย นี่มันไปไหนกันหมดวะ” ผมถามไอ้แมน ถามไอ้นี่ดีกว่า ไอ้กี้มันปากไม่ค่อยดี ถ้าถามมันคงโดนมันด่าอีก

“ไปเรียนกวดฟิสิกส์โว้ย วันนี้เปิดรอบเรียนฟรี ไปเร็วหน่อยก็ดี ไปหลังไม่มีที่นั่ง อยู่นี่ไม่มีอะไรแล้วนี่หว่า” แมนตอบ ว่าแล้วก็รีบเดินจากไป

ในเวลาเพียงไม่กี่นาทีหลังจากอาจารย์ฝึกสอนเดินออกไป นักเรียนกว่าครึ่งห้องก็หายตัวตามไปด้วย สำหรับผมนั้นที่จริงก็ขี้เกียจอยู่เรียนเหมือนกัน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปไหนดี จึงทนเล่นอยู่ในโรงยิมต่อไป

หลังจากนั้นราวสิบห้านาที อาจารย์ฝึกสอนก็กลับมาเข้าในโรงยิมฯ คราวนี้ไม่ได้มาคนเดียว แต่มาพร้อมกับอาจารย์พลศึกษาตัวจริง

“เฮ้ย มันหายไปไหนกันหมดวะเนี่ย” อาจารย์พลศึกษาอุทาน ส่วนอาจารย์ฝึกสอนหน้าจ๋อย เพราะการที่นักเรียนหนีเรียนไปกว่าครึ่งห้องย่อมต้องถือเป็นความบกพร่องของผู้สอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

- - -

วันรุ่งขึ้น

วิชาแรกของวันนั้นเป็นวิชาคณิตศาสตร์ อาจารย์พิกุล อาจารย์คณิตศาสตร์ของพวกเราพาร่างอันอ้วนใหญ่เดินเข้ามาในห้อง

“เป็นไงกัน พวกเธอ เมื่อวานไปสร้างวีรกรรมอะไรเอาไว้ อาจารย์พละกลับไปโวยวายลั่นไปทั้งห้องพักครู” อาจารย์พิกุลทักทายอย่างยิ้มแย้ม ที่จริงอาจารย์คงรู้มาแล้วว่านักเรียนห้องนี้สร้างวีรกรรมอะไรเอาไว้ เพียงแต่อยากฟังจากปากของพวกเราเท่านั้นเอง

“...” ไม่มีใครกล้าตอบ

“เอ้า กล้าหนีเรียน แต่พอถามกลับไม่กล้าตอบ” อาจารย์พูดยิ้มๆ “เฮ้อ พวกเธอนี่ก็จริงๆเลย เรียนมาได้เดือนกว่าๆก็ออกฤทธิ์กันแล้ว”

“เมื่อวานอาจารย์ไม่สอนน่ะครับ ผมเห็นว่าอาจารย์หายไปนาน นึกว่าไม่มาแล้ว ก็เลยกลับกัน” เวชตอบสวนด้วยเสียงอันดัง ไม่ค่อยมีหางเสียงเท่าไรนัก

อาจารย์พิกุลหยุดยิ้มทันที เท่าที่ผมสังเกต เวชดูจะไม่ค่อยชอบอาจารย์พิกุลสักเท่าไร จะเห็นได้จากการที่มันชอบต่อล้อต่อเถียงกับอาจารย์พิกุลเป็นพิเศษ

“เธอแน่ใจเหรอว่าที่พูดน่ะเป็นความจริง ที่ว่าอาจารย์ไม่สอนน่ะ” อาจารย์เปลี่ยนน้ำเสียงเป็นเคร่งขรึมทันทีเมื่อพูดกับเวช

“จริงสิครับ” เวชตอบ แล้วก็พูดเหมือนนึกอะไรขึ้นมาได้ “อ้อ อาจารย์ทราบไหมครับว่าวันนี้เป็นวันอะไร”

อาจารย์พิกุลขมวดคิ้ว นิ่งนึก แล้วสั่นหัว “ไม่เห็นมีอะไรพิเศษนี่ วันอะไรล่ะ แล้วมันเกี่ยวอะไรด้วย”

“วันลดความอ้วนแห่งชาติครับ” เวชพูดไปหัวเราะไป

นักเรียนฮาครืน เท่านั้นเอง อาจารย์พิกุลก็ถึงกับหมดความอดทน เทศนาสั่งสอนเวชถึงเรื่องสัมมาคารวะเสียยาวเหยียด เวชนั่นอมยิ้ม ไม่สะทกสะท้าน จนอาจารย์พิกุลเหนื่อย

“โอ๊ย ครูไม่อยากยุ่งกับเธอแล้ว เรียนต่อกันดีกว่า” อาจารย์พิกุลตัดบทเอาดื้อๆอย่างอ่อนใจ

เป็นอันว่าการเรียนคณิตศาสตร์ในเช้าวันนั้นบรรยากาศเต็มไปด้วยความตึงเครียด อาจารย์ก็อารมณ์ไม่ดี นักเรียนก็อึดอัด คงมีแต่เวชเท่านั้นที่นั่งทำหน้าทะเล้นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น


<แบบเรียนวิชาฟิสิกส์ในยุคที่ผมเรียน ตามหลักสูตรมัธยมปลายในสมัยนั้น ฟิสิกส์จะเรียนเทอมละ ๑ เล่ม รวมทั้งหมด ๖ เทอม ไม่มีแบ่งเป็นพื้นฐานและเพิ่มเติมแบบในปัจจุบัน ทำให้เรียนได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ซ้ำซ้อน และประหยัดเวลากว่า วิชาวิทยาศาสตร์อื่นๆก็เช่นกัน แบบเรียนที่ใช้ปกติจะใช้แบบเรียนของ สสวท ซึ่งนักเรียนโปรแกรมวิทย์-คณิตทั่วประเทศจะเรียนเหมือนกันหมด ในภาพเป็นแบบเรียนฟิสิกส์ ม.๔ เทอม ๑>


<เนื้อในของแบบเรียนวิชาฟิสิกส์ ม.๔ เทอม ๑ เป็นที่น่าแปลกใจว่าตอนอยู่ชั้นประถม แบบเรียนยังมีสีสันสดใส น่าอ่าน แต่พอยิ่งโตขึ้นสีก็ยิ่งหายไป จนถึงชั้นมัธยมปลาย แบบเรียนวิชาต่างๆก็เหลือแต่สีขาวดำ>

Saturday, July 4, 2009

ภาคสาม ตอนที่ 4

ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับพวกเรา เพราะในยุคของผม ชั้นมัธยมต้นพวกเราเรียนวิทยาศาสตร์โดยแทบไม่มีกิจกรรมที่เป็นการทดลองใดๆ แต่พอขึ้นมาอยู่ในชั้น ม.ปลาย การเรียนวิทยาศาสตร์ของพวกเราต้องมีกิจกรรมการทดลองควบคู่ไปด้วยเสมอ

หลักสูตรมัธยมปลายสมัยที่ผมเรียนนั้นเป็นหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช ๒๕๒๔ ซึ่งจะมีกลุ่มวิชาบังคับ ได้แก่ ภาษาไทย สังคม พลานามัย วิทยาศาสตร์ และพื้นฐานวิชาอาชีพ แล้วก็มีวิชาเลือกเสรีในกลุ่มภาษา กลุ่มสังคมศึกษา กลุ่มพัฒนาบุคลิกภาพ (พลานามัย ศิลปศึกษา) กลุ่มวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และกลุ่มการงานและอาชีพ แต่ในการจัดการเรียนการสอนจริงๆแล้วก็จะจัดมาให้เป็นแบบเกือบสำเร็จรูป กล่าวคือ จัดหลักสูตรมาให้เป็นแบบแพกเกจ เหลือวิชาเลือกเสรีที่นักเรียนเลือกได้โดยอิสระจริงๆเพียงนิดๆหน่อยๆ หากจะนำมาเทียบกับหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุธศักราช ๒๕๔๔ ที่แบ่งวิชาเรียนออกเป็น ๘ กลุ่มสาระวิชาก็นับว่ามีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย

ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรมวิทย์-คณิต ที่เราเรียนกันจะมีหลักสูตรเกือบสำเร็จรูปอยู่แล้ว คือ ต้องเรียนกลุ่มวิชาบังคับ ส่วนวิชาเลือกเสรีก็ต้องบังคับให้เลือกกลุ่มวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์เท่านั้น จะไปเลือกกลุ่มอื่นไม่ได้ กับวิชาเลือกเสรีที่นักเรียนเลือกได้เองตามอัธยาศัยอีกนิดหน่อย เช่น ภาษาต่างประเทศที่สอง เป็นต้น

สำหรับการเรียนในกลุ่มคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา นักเรียนโปรแกรมวิทย์-คณิตต้องเรียนทั้งหมด ๖ ภาค ในหนึ่งภาคก็จะมีแบบเรียนคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิชาละหนึ่งเล่มไปเลย ไม่มีแยกเป็นพื้นฐานกับเพิ่มเติมดังแบบเรียนในหลักสูตร พ.ศ. ๒๕๔๔

ห้องเรียนวิทยาศาสตร์อยู่อีกตึกหนึ่ง ห้องเรียนมีขนาดพอๆกับห้องรียนปกติ แต่บรรยากศแตกต่างกันมาก โต๊ะเรียนไม่ได้เป็นโต๊ะเดี่ยว โต๊ะเรียนในห้องวิทยาศาสตร์เป็นโต๊ะขนาดใหญ่ ขาเป็นเหล็กแต่หน้าโต๊ะเป็นไม้อัดปูโฟไมก้า คล้ายโต๊ะในโรงอาหาร โต๊ะตัวหนึ่งนั่งได้เต็มที่ ๖ คน แต่มักจะนั่งกันโต๊ะละ ๕ คน เก้าอี้เรียนก็เป็นเก้าอี้กลมไม่มีพนัก เวลาเรียนบางคนก็ต้องนั่งตะแคงเรียนเนื่องจากการนั่งล้อมโต๊ะทำให้นักเรียนไม่ได้หันหน้าเข้าหากระดานดำทุกคน ถ้าต้องนั่งจดกระดานดำนานๆก็เอี้ยวตัวจนเมื่อยอยู่เหมือนกัน

ห้องเรียนฟิสิกส์ก็จะมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับวิชาฟิสิกส์วางเรียงรายอยู่รอบห้อง อาทิ ลูกตุ้ม ปริซึม จานหมุน มัลติมิเตอร์ ฯลฯ ห้องเรียนเคมีก็จะมีขวดสารเคมีต่างๆ ตะเกียงแอลกอฮอล์ บีกเกอร์ ขวดชมพู่ หลอดทดลอง กับภาพตารางธาตุ ฯลฯ ส่วนห้องเรียนชีววิทยาก็จะมีกล้องจุลทรรศน์ ตู้ปลา และขวดโหลภายในเลี้ยงสาหร่ายเอาไว้ ฯลฯ

สำหรับวิชาฟิสิกส์นั้น การเรียนในบทแรกๆจะเกี่ยวกับเลขนัยสำคัญและการวัด จากนั้นก็จะเป็นเรื่องความเร็ว การทดลองแรกๆในวิชาฟิสิกส์ได้แก่การทดลองวัดอัตราเร็วของรถโดยใช้รถเด็กเล่นคันเล็กๆ ด้านหน้ารถมีเชือกผูก ปลายเชือกอีกด้านเป็นตุ้มน้ำหนัก ตรงท้ายจะห้อยแถบกระดาษยาวเฟื้อยเอาไว้คล้ายหางว่าว แถบกระดาษนี้จะลอดผ่านเครื่องเคาะจังหวะ พอนักเรียนทดลองโดยการปล่อยลูกตุ้มให้หล่นจากโต๊ะ ลูกตุ้มจะลากรถไป เครื่องเคาะจังหวะก็จะตอกจุดบนแถบกระดาษ เราก็เอาระยะทางระหว่างจุดบนแถบกระดาษนั้นมาหาอัตราเร็วของรถได้ คนที่เคยทดลองก็จะนึกภาพตามออก แต่ถ้าไม่เคยทดลองอาจจะนึกภาพได้ยาก ต้องไปเห็นการทดลองจริงๆจึงจะเข้าใจ มันเป็นการทดลองแรกๆในชีวิตการเรียนมัธยมปลายสายวิทย์ ดังนั้นแม้จะผ่านเวลามานานปีแล้วแต่ก็ยังพอจะจำได้อยู่

สำหรับวิชาเคมี การเรียนในชั่วโมงแรกๆจะเกี่ยวกับตารางธาตุ อาจารย์ก็จะให้นักเรียนทดลองเกี่ยวกับคุณสมบัติของสาร โดยเอาการบูรมาให้ทดลองละลายดู การบูรเป็นผงสีขาว หน้าตาคล้ายๆผงชูรส ปรากฏว่าใช้น้ำก็ไม่ละลาย ใช้น้ำมันก็ไม่ละลาย แต่เมื่อเอาผงอีกชนิดหนึ่งมาผสมเข้าด้วยกันกกับการบูร กลับกลายเป็นว่าผงทั้งสองชนิดรวมกันกลายเป็นของเหลว แถมบีกเกอร์ที่ใส่ผงสองชนิดนี้อยู่ก็เย็นตัวลงจนรู้สึกได้ ของเหลวที่เกิดขึ้นนี้มีกลิ่นหอมชวนดม

“ผงที่เอามาใส่ทีหลังนี้คือพิมพ์เสน” อาจารย์วิชาอธิบาย “การบูรกับพิมเสนเมื่อรวมตัวกันจะเป็นปฏิกิริยาดูดความร้อน ทำให้กลายเป็นของเหลวและอุณหภูมิลดลง”

วิชาที่น่าตื่นเต้นที่สุดสำหรับการเรียนวิทยาศาสตร์ในช่วงแรกๆน่าจะเป็นวิชาชีววิทยา ในบทต้นๆเราเรียนเกี่ยวกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้แก่ การสังเกตและตั้งคำถาม การรวบรวมข้อมูล การตั้งสมมติฐาน การทำการทดลองเพื่อตรวจสอบสมมติฐาน การวิเคราะห์ผลการทดลองและการสรุปผล อาจารย์จะเอาฟางข้าวมาให้พวกเราจัดการต้ม แบ่งกลุ่มกันทำ โต๊ะใครโต๊ะมัน เมื่อต้มเสร็จก็จดลักษณะเอาของของเหลวที่ต้มได้เอาไว้ จากนั้นนำของเหลวไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ แล้วเก็บใส่ขวดโหลคลุมด้วยผ้าขาวบาง ไม่ต้องปิดฝา จากนั้นทิ้งไว้สามวัน การเรียนครั้งต่อไปก็มาดูอีกครั้ง โดยเอาน้ำต้มฟางข้าวในขวดโหลมาส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อีกครั้ง

พวกนักเรียนฮือฮาด้วยความตื่นเต้น เพราะภาพที่เห็นในกล้องจุลทรรศน์พบสิ่งมีชีวิตหน้าตาคล้ายรองเท้าแตะ มีอยู่เป็นจำนวนมากเต้นดุ๊กดิ๊กอยู่

ช่วงนั้นอาจารย์จะหลบออกไปข้างนอกสักครู่ ปล่อยให้พวกเราอภิปรายกันว่าควรจะตั้งสมมติฐานอย่างไร และจะทดลองเพื่อทดสอบสมมติฐานต่อไปอย่างไร พวกเราก็คุยกันและดูกล้องจุลทรรศน์กันไปเพลินๆ

“เฮ้ย โต๊ะไอ้เวชแม่งมีตัวแปลกๆโว้ย” เสียงใครก็ไม่รู้ที่ดูกล้องจุลทรรศน์ที่โต๊ะเวชเอะอะขึ้น เวชและกลุ่มเด็กเกรวมตัวกันอยู่เป็นโต๊ะเดียวกัน

พวกนักเรียนก็ฮือกันเข้าไปดู ผมก็เข้าไปมะรุมมะตุ้มดูด้วยเช่นกันเพราะอยากเห็นของแปลก ภาพที่ผมเห็นในกล้องจุลทรรศน์เป็นตัวลูกอ๊อดจำนวนมากมายดิ้นไปดิ้นมาอยู่

“เฮ้ย เอาไปให้อาจารย์ดูดีกว่า ของแม่งไม่เหมือนชาวบ้านว่ะ” ใครอีกคนพูดขึ้น

“เฮ้ยๆ ไม่ต้องให้อาจารย์ดู” ไอ้เวชห้ามเพื่อนๆ “นี่ลูกๆกูเอง แต่ไม่รู้ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย”

“ไอ้เหี้ยเวชแม่งเอาน้ำว่าวมาส่อง ฮ่าๆ” ไอ้เกรียงเฉลยพร้อมทั้งหัวเราะร่า พร้อมทั้งดึงถ้วยกระดาษใบเล็กๆออกมาจากใต้โต๊ะ คาดว่าภายในถ้วยกระดาษนี้คงบรรจุลูกๆของไอ้เวชอีกเป็นจำนวนมาก พวกเพื่อนๆเฮกันใหญ่

“มิน่า กูว่ากูได้กลิ่นคาวๆตอนส่อง” ไอ้กี้พูดเสียงดังตามนิสัยชอบเอะอะของมัน

เรื่องน้ำว่าวกับกล้องจุลทรรศน์ก็คงเป็นเรื่องเฮฮาที่นักเรียนหลายๆคนคงเคยผ่านมาเช่นกัน มุขนี้ไม่ใช่มุขใหม่ เล่นกันมาตั้งแต่รุ่นพี่ๆแล้ว และยังคงเล่นต่อมาได้ทุกรุ่น

- - -

นโยบายไม่คละชั้นเรียนใหม่สำหรับนักเรียนมัธยมปลายก็เพื่อให้นักเรียนมีความสนิทสนมกันและสามารถเกาะกลุ่มกันได้ สามารถช่วยเหลือพึ่งพากันในการเตรียมตัวสอบเอนทรานซ์นั้นถ้าอยู่ในห้องเรียนปกติน่าจะทำให้เกิดการเกาะกลุ่มกันได้ยาก แต่การเรียนในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดการเกาะกลุ่มกันโดยปริยาย เพราะโต๊ะหนึ่งจะมี ๕-๖ คน เวลาทำกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ทั้งหมดจะต้องช่วยกันทำงาน อภิปราย และเขียนรายงาน ใหม่ๆก็นั่งกันมั่วๆ ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่พอเรียนไปได้สองสามสัปดาห์ก็เกิดการสลับที่นั่ง ใครถูกอัธยาศัยกันก็นั่งด้วยกัน และค่อยๆก่อตัวเป็นกลุ่มขึ้นเองตามธรรมชาติ

คนที่ใครๆอยากเข้าไปอยู่ในกลุ่มด้วยก็ได้แก่พันและโชค ทั้งคู่เป็นนักเรียนที่ได้ที่หนึ่งมาจากห้องอื่น พันนั้นได้เคยกล่าวถึงไปบ้างแล้ว ส่วนอีกคนที่ยังไม่ได้พูดถึงก็คือโชค

โชคนั้นมีนิสัยแปลกๆ เป็นคนพูดน้อย ไม่ค่อยชอบยุ่งกับใคร เวลาเรียนหรือทำงานจะเอาจริงเอาจังมาก ไม่ชอบให้ใครไปรบกวน ในห้องวิทยาศาสตร์ พันกับโชคนั่งกันคนละโต๊ะ ซึ่งก็ไม่แน่ใจแหมือนกันว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือเป็นไปตามสุภาษิตที่ว่าเสือสองตัวย่อมไม่อยู่ในถ้ำเดียวกัน โชคนั่งจับกลุ่มรวมกับเด็กเก่งระดับรองๆลงมา ส่วนพันนั้นกลับไปจับกลุ่มร่วมโต๊ะกับพวกเด็กนักเรียนปานกลาง

อีกกลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มของไอ้เฉา ไอ้เฉานี้ชื่อเชาวน์แต่เพื่อนๆมักไม่เรียกเชาวน์ นิยมเรียกว่าเฉามากกว่า กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้เกรดเป็นเลขตัวเดียวมาจากระดับมัธยม แม้ไม่ใช่ที่หนึ่ง แต่กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันได้เหนียวแน่นที่สุดในเวลาต่อมา

นอกเหนือจากกลุ่มที่กล่าวมาแล้ว ที่เหลือก็เป็นกลุ่มของนักเรียนปานกลางและอ่อนที่จับกลุ่มคละเคล้ากันไป ไม่ค่อยมีอะไรที่น่ากล่าวถึงมากนัก

ตัวผมนั้นก็อยากอยู่โต๊ะเดียวพันเหมือนกัน เพราะนั่งกับคนเก่งนิสัยดีคงพอพึ่งพาอาศัยได้บ้าง แต่ก็ไม่มีโชคดีขนาดนั้น โต๊ะของผมนั้นประกอบด้วยไอ้กี้ ผม ยูร แมน และนน

ทั้งห้าคนนี้เหตุที่มาจับกลุ่มร่วมโต๊ะเรียนวิทยาศาสตร์ด้วยกันก็เพราะเวลาอยู่ในห้องเรียนปกตินั่งติดๆกันนั่นเอง ไอ้กี้นั่งติดกับผม ที่นั่งถัดจากไอ้กี้ไปเป็นคู่ของแมนและนน ส่วนยูรนั้นเป็นนักเรียนที่นั่งข้างหน้าผม ไอ้กี้กับแมนเป็นเด็กเรียนเก่ง ส่วนนนกับยูรก็ใช้ได้ ผมเองนั้นดูเหมือนคนที่เกรดตอนมัธยมต้นด้อยที่สุดในโต๊ะ

- - -

เดือนมิถุนายน

หลังจากที่เรียนมาได้ประมาณหนึ่งเดือน เพื่อนๆก็เริ่มสนิทกัน การปรับตัวเข้ากับการเรียนในระดับมัธยมปลายของทุกคนก็ค่อยๆเข้าที่เข้าทาง สำหรับผมนั้น บรรยากาศของการเรียนและการแข่งขันทำให้ผมพลอยกระตือรือร้นไปด้วย ผมรู้สึกดีขึ้นกว่าเมื่อตอนเรียนชั้น ม.๓ มาก บรรยากาศมีส่วนช่วยได้มากจริงๆ แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังมีนิสัยเฉื่อย ขี้เกียจ กินแรงเพื่อน และใจลอยอยู่บ้าง ยังไม่หายไปเสียหมดทีเดียว

หลายๆคนเริ่มวางแผนการเรียนเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายในการสอบเอนทรานซ์ ส่วนผมนั้นยังไม่ค่อยได้วางแผนอะไร คงเรียนไปเรื่อยๆ แต่ก็ติดตามสถานการณ์จากเพื่อนๆเสมอว่าใครทำอะไรไปบ้าง

หลังจากที่เรียนมาได้เดือนกว่า นอกจากโปรแกรมการเรียนวิทย์-คณิต ศิลป์คำนวณ และศิลป์ภาษาแล้ว ยังมีโปรแกรมการเรียนอีกโปรแกรมหนึ่งที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน

ในชั่วโมงเรียนสังคมศึกษา ผมเห็นไอ้กี้ไม่สนใจเรียน มันกางหนังสือแบบเรียนอยู่บนโต๊ะ แต่ที่ใต้โต๊ะมันกางหนังสืออีกเล่มหนึ่งและกำลังอ่านอยู่อย่างจดจ่อ

“เฮ้ย อ่านอะไรวะ หนังสือโป๊เหรอ” ผมหันไปถามมัน

“โป๊พ่อมึงดิ” ไอ้กี้หันมาด่า ผมไม่ค่อยชอบปากมันเลย แต่ก็ต้องทนเพราะว่านั่งโต๊ะติดกันและผมยังต้องพึ่งมันอยู่

“แล้วหนังสืออะไรล่ะ” ผมถามอีก

ไอ้กี้พลิกหนังสือให้ดูหน้าปก มันเป็นหนังสือติวฟิสิกส์ ม.๔ เทอมปลาย มันไม่ใช่แบบเรียนของ สสวท แต่เป็นหนังสือประเภทติวเข้มของสำนักพิมพ์เอกชนแห่งหนึ่ง

“มึงจะอ่านไปทำไมวะ เทอมหนึ่งยังเรียนไม่หมดเลย” ผมถามด้วยความสงสัย

“มึงนี่ควายจริงๆ หน้าบ้านมึงมีภูเขาหรือเปล่าวะ” ไอ้กี้ด่าผมอีก แล้วก็หัวเราะ

“ไอ้เหี้ย กูไม่ได้อยู่หลังเขาโว้ย” ผมด่ามันกลับให้บ้างเพราะรู้สึกเคือง

“อ้อ นึกว่ามึงจะแปลไม่ออกเสียอีก” ไอ้กี้หัวเราะอีก

“ตกลงมึงจะบอกหรือไม่บอกวะ” ผมชักโมโห

“เค้าอ่านกันครึ่งค่อนห้อง มึงไปอยู่ที่ไหนมาวะถึงได้ไม่รู้เรื่อง ก็ไอ้พวกที่จะสอบเอนทรานซ์ปีหน้ามันก็ต้องเรียนปีนี้ให้ได้ ๓ เล่ม แล้วปีหน้าอีก ๓ เล่มโว้ย” ไอ้กี้อธิบาย

“แล้วมึงจะสอบเอนทรานซ์ได้ไงวะ ในเมื่อไม่จบ ม.๖” ผมยังสงสัย

“โหย แม่งโคตรควายเลย” ไอ้กี้หัวเราะ แล้วด่าผมอีก ผมรู้สึกอยากชกหน้ามันจริงๆ จากการเรียนตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทำให้ผมอดรู้สึกไม่ได้ว่าเพื่อนๆร่วมโต๊ะวิทยาศาสตร์มักมองผมเป็นตัวตลก ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าที่เป็นเช่นนี้สาเหตุมาจากผมเป็นคนที่มีผลการเรียนจากชั้น ม.ต้นด้อยที่สุดในกลุ่ม หรือว่าเป็นเพราะการนิสัยที่ต้องการพึ่งพิงคนอื่นของผมกันแน่ที่ทำให้ผมถูกเพื่อนๆดูแคลน

หลังจากที่ถูกมันหลอกด่าไปหลายประโยค ในที่สุดผมก็ได้รู้ว่า นอกจากแผนการเรียนปกติทั้ง ๓ โปรแกรมแล้ว ยังมีแผนการเรียนที่ไม่อยู่ในหลักสูตรของโรงเรียนอยู่อีกหนึ่งแผน นั่นก็คือ โปรแกรมการเรียนให้จบมัธยมปลายภายใน ๒ ปีด้วยการสอบเทียบหรือที่เรียกว่าสอบ กศน นั่นเอง


<ดาราและนายแบบวัยรุ่นอีกคนหนึ่งซึ่งโด่งดังในยุคเดียวกับอธิป ทองจินดา นั่นก็คือ ต้อม พลวัฒน์ มนูประเสริฐ ภาพนี้เป็นนิตยสารที่ออกในปี ๒๕๒๘>


<โฆษณาเอเวอร์เซ้นส์โคโลญชุดนี้โด่งดังมากในยุคนั้น เพราะนายแบบหล่อและน่ารักถูกใจสาวๆมาก รุ่นเดียวกับเพ็ญ พิสุทธ์>


<หลังจากห่างหายไปจากงานละครนานหลายปี จนผมเกือบจะลืมพี่ต้อมไปแล้ว ในที่สุดพี่ต้อมก็กลับมาแสดงละครอีกครั้งในราวปี ๒๕๔๗ ภาพนี้เป็นภาพในยุคปัจจุบัน>