Saturday, August 28, 2010

ภาคสี่ ตอนที่ 4

หลังจากที่ไปรายงานตัวต่อทางมหาวิทยาลัยแล้ว คราวนี้รุ่นพี่ก็นัดอีก ในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการนัดเพื่อแนะนำอะไร แต่ว่าเป็นการนัดเพื่อทำกิจกรรม จะเรียกว่าเป็นการเริ่มต้นชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยอย่างแท้จริงก็คงพอได้

กิจกรรมที่นัดพบกันในครั้งนี้เป็นการแบ่งกลุ่ม เนื่องจากนักศึกษาใหม่ในคณะมีทั้งหมดกว่าสี่ร้อยคน การทำความรู้จักหรือทำกิจกรรมกันในกลุ่มใหญ่ๆทำได้ยาก ดังนั้นจึงต้องมีการแบ่งกลุ่มนักศึกษาออกเป็น ๔ กลุ่ม กลุ่มที่แบ่งนี้ไม่ได้เป็นการแบ่งอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาโดยตลอดของนักศึกษาในคณะเทคโนฯ

นักศึกษาทั้งหมดไปรวมกลุ่มกันที่ใต้ตึกเคมีตามที่รุ่นพี่นัดหมาย เมื่อถึงเวลา นักศึกษาใหม่ทั้งหมดก็ทยอยกันไปจับฉลาก ในฉลากจะมีเพียงแค่เบอร์ ๑ ถึงเบอร์ ๔ ใครจับได้เบอร์อะไรก็คืออยู่กลุ่มนั้น

“ได้เบอร์อะไรจ๊ะน้อง” เสียงแจ๋วๆดังขึ้นพร้อมกับมีคนมาตบไหล่ผม เจตสาวห้าวนั่นเอง

“เบอร์ ๓ จ้ะเจ๊” ผมตอบ “เจ๊ล่ะ”

“อุ๊ย อยู่กลุ่มเดียวกันเลย ดีมาก” เจตตอบ

“แล้วมันดียังไง” ผมถาม

“อ้าว รุ่นน้องก็ต้องบริการรุ่นพี่ ชั้นก็จะได้มีรุ่นน้องเอาไว้คอยให้บริการไง” เจตตอบหน้าตาเฉย

“อ้อ จะหาเบ๊รับใช้ ว่ายังงั้นเถอะ” ผมสรุป พร้อมกับเริ่มคิดว่านักศึกษาหญิงคนอื่นๆเป็นอย่างนี้ด้วยหรือเปล่า เพื่อนหญิงคนแรกที่ผมรู้จักดูจะไม่ธรรมดาเอาเสียเลย

“อ๊ะ เด็กคนนี้เข้าใจอะไรง่ายนี่” เจตหัวเราะ

แม้จะอยู่กลุ่มเดียวกันกับเจต แต่ผมก็ยังโชคดีที่ไม่ได้อยู่กลุ่มเดียวกับไอ้กี้ กี้จับฉลากได้กลุ่ม ๔ เมื่อจับฉลากเสร็จเรียบร้อย พี่ๆก็พานักศึกษาใหม่แยกย้ายกันไปเพื่อแนะนำให้รู้จักสถานที่ตั้งของกลุ่ม

สถานที่ตั้งของกลุ่มสามไม่ได้เป็นห้องเหมือนอย่างห้องชมรมหรือห้องสหกรณ์อย่างที่ผมนึกเอาไว้ แต่เป็นเพียงพื้นที่หลังตึกเคมีซึ่งมีชายคาคลุมพอคุ้มฝนคุ้มแดดได้ ขนาดเพียงไม่กี่ตารางเมตร มีโต๊ะไม้ตั้งอยู่ ๓-๔ ตัว ดูท่าคงจุคนพร้อมๆกันได้ไม่กี่สิบคนเท่านั้น เนื่องจากกลุ่มนักศึกษาที่แบ่งนี้ไม่ได้เป็นการแบ่งอย่างเป็นทางการ ดังนั้นกลุ่มจึงไม่มีสถานที่ตั้งที่คณะจัดเอาไว้ให้อย่างเป็นทางการ นักศึกษาก็ไปหาและจับจองมุมตึกต่างๆเพื่อจัดตั้งกลุ่มกันเอาเองและใช้พื้นที่นั้นต่อเนื่องกันมาจนถือเป็นธรรมเนียม กลุ่มอื่นๆก็เป็นพื้นที่หลังตึก ซอกตึก หรือมุมตึกเช่นกัน

เมื่อไปถึงโต๊ะกลุ่ม รุ่นพี่ก็เข้าไปยืนที่ด้านใน ส่วนน้องๆก็อยู่ล้อมรอบ นักศึกษาใหม่ร้อยกว่าคนกับรุ่นพี่กลุ่มรวมกันทุกชั้นปีอีกนับร้อยคนอัดกันเข้าไปแต่อัดอย่างไรก็ไม่หมด คนที่มาทีหลังต้องยืนอยู่นอกชายคา

“แล้วมันจะเบียดกันยังไงวะเนี่ย” เจตซึ่งยืนอยู่ข้างๆผมบ่น “คนตั้งล้าน”

“นี่ เธอ” ผมรู้สึกว่ามีใครสะกิดไหล่ พร้อมกันนั้นก็ได้ยินเสียงหวานๆเรียก

เมื่อหันไปดูผมก็เป็นหญิงสาวรูปร่างป้อมๆ ไม่สูง เข้าข่ายอวบระยะที่สองคนหนึ่ง หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ดูเป็นคนอารมณ์ดี กำลังมองหน้าผมอยู่

“เอ้อ มีอะไรเหรอ” ผมถาม

“เรามองอะไรไม่เห็นเลย ตัวเธอบังมิด” เธอพูดด้วยเสียงหวานน่ารัก “แลกที่กันหน่อยได้ป่าว”

“ได้ มาสิ” ผมตอบ พร้อมกับสลับที่ยืนกับเธอ

“เราชื่อแมวนะ เธอชื่ออะไร” สาวน้อยอารมณ์ดีแนะนำตัว

“เราชื่ออู” ผมตอบ แมวดูเป็นสาวที่อ่อนหวาน ต่างจากเจตโดยสิ้นเชิง เวลาคุยด้วยรู้สึกแปลกๆอยู่เหมือนกันเพราะผมพูดกูๆมึงๆกับเพื่อนมาตั้งแต่เด็กจนชิน

“มันเป็นเด็กสอบเทียบมา” เจตเสนอหน้าแทรกเข้ามา

“เฮ้ เธอบังฉัน” ยังไม่ทันที่ผมจะพูดอะไร สาวอีกคนหนึ่งที่อยู่ด้านหลังของผมโวยขึ้นมาอีก เมื่อหันกลับไปดูก็เห็นว่าเธอนั้นสูงน้อยกว่าแมวเสียอีก

“เชิญมาข้างหน้าละกัน” ผมเชื้อเชิญ “ชื่ออะไรอะ”

“เราชื่อจิ๊บ ก็เป็นเพื่อนกับไอ้แมวนั่นแหละ” เธอแนะนำตัว พลางขยับขึ้นมายืนข้างหน้าผม แมวกับจิ๊บมองหน้ากันแล้วหัวเราะ

“เด็กรุ่นน้อง” จิ๊บพูดกับผม “ทำอะไรต้องให้เกียรติรุ่นพี่สุภาพสตรีนะจ๊ะ”

“ก็คือจะให้เป็นม้าใช้” ผมสรุป สองคนนี้ก็มาแบบเดียวกับเจต ทำไมนะ สาวๆถึงได้ชอบข่มเด็กสอบเทียบกันนัก

“นั่นแหละ” แมวช่วยตอบพลางหัวเราะ

หลังจากหยอกล้อกันนิดหน่อย รุ่นพี่ก็เริ่มรายการโดยเริ่มแนะนำตัวรุ่นพี่ที่เป็นแกนของกลุ่มก่อน แกนของกลุ่มนี้มีตั้งแต่ปี ๒ ยันปี ๔ แมวหันกลับไปยืนฟังรุ่นพี่ ผมจึงสังเกตว่าเส้นผมของเธอถักเป็นเปียเส้นเบ้อเริ่ม เปียทั้งสองเส้นแกว่งไกวไปมาตามจังหวะการโคลงของศีรษะ ดูน่ารักดี

หลังจากการพูดคุยแนะนำตัวกันแล้ว ต่อมาก็เป็นการผูกข้อมืออันเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติมาทุกปี เมื่อพิธีผูกข้อมือเริ่มต้นขึ้น รุ่นพี่ก็ร้องเพลงของมหาวิทยาลัยพลางช่วยกันเอาเชือกสีขาวเส้นเล็กๆผูกที่ข้อมือของรุ่นน้อง เชือกนี้เป็นเชือกธรรมดา นักศึกษาใหม่อยากให้พี่คนไหนผูกข้อมือให้ก็เดินเข้าไปมา ผูกแล้วผูกอีกก็ได้ เสียงเพลงในจังหวะแช่มช้าคลอเบาๆไปตลอดการผูกข้อมือ บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น ฉันมิตร และน่าประทับใจ

กว่าจะเสร็จพิธีก็กินเวลาเข้าไปร่วมครึ่งชั่วโมงเนื่องจากแต่ละคนไม่ได้ให้รุ่นพี่ผูกข้อมือเพียงแค่คนเดียว ส่วนใหญ่จะให้รุ่นพี่หลายคนผูกข้อมือให้ ดังนั้นเมื่อเสร็จสิ้นการผูกข้อมือแล้วปรากฏว่าแต่ละคนมีเชือกผูกเต็มข้อมือ ผมเองก็มีเชือกอยู่สิบกว่าเส้น

สำหรับการเข้ากลุ่มนั้นไม่มีการตั้งรุ่นพี่ให้เป็นพี่เลี้ยงหรือที่เรียกกันว่าพี่รหัส คำว่าพี่รหัสนั้นหมายถึงว่าเป็นรุ่นพี่ประจำตัวที่จะคอยดูแลเราเหมือนเป็นพี่จริงๆคนหนึ่งนั่นเอง แต่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับรหัสประจำตัวนักศึกษาเลย ชื่อเรียกเป็นอย่างนั้นเอง รุ่นพี่รหัสจะไปได้เอาตอนรับน้องคณะกับตอนรับน้องของมหาวิทยาลัย เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยไปแล้วผมจึงได้รู้ว่ากิจกรรมรับน้องนั้นมีเยอะมาก ทั้งรับน้องกลุ่ม รับน้องคณะ รับน้องมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีรับน้องโต๊ะโรงเรียนอันหมายถึงการรับน้องที่มาจากโรงเรียนเก่าเดียวกันอีก นอกจากนี้ใครที่เข้าชมรมก็ยังมีการรับน้องชมรม ทั้งชมรมส่วนกลางและชมรมของคณะอีกด้วย

ธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องหนึ่งระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องก็คือการตกทอดสมบัติหรือตกทอดมรดกให้รุ่นน้อง สมบัติหรือมรดกที่ว่าก็คือตำราปีหนึ่งที่รุ่นพี่เรียนไปแล้ว ชีตประกอบการเรียน ข้อสอบเก่าๆ กับชุดนักศึกษา บางคนก็อาจรวมชุด รด. เข้าไปด้วย พวกตำรากับชีตนั้นโดยธรรมเนียมแล้วเป็นหน้าที่ของพี่รหัสของคณะ แต่เนื่องจากพี่รหัสนั้นเป็นพี่ปีสองที่สมัครใจเป็นพี่รหัส ผู้ที่ไม่สมัครใจก็มี ประกอบกับมีผู้ที่สอบเอนทรานซ์ใหม่แล้วลาออกไปบ้าง ดังนั้นพี่ปีสองที่เป็นพี่รหัสจะมีจำนวนน้อยกว่าน้องมาก พี่ปีสองหนึ่งคนอาจต้องมีน้องรหัสสองคน ถ้าได้พี่ปีสองที่มีน้องหลายคน หรือพี่ปีสองที่ขี้เหนียวหน่อย หรือว่ายังสอบไม่ผ่านในบางวิชา รุ่นน้องก็จะได้มรดกไม่ค่อยเต็มที่นัก ส่วนผู้ที่ได้พี่ใจกว้างอีกทั้งมีน้องคนเดียวก็เท่ากับส้มหล่น ได้รับมรดกไปเต็มๆ

ส่วนหน้าที่หลักของรุ่นพี่ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันก็คือการตกทอดชุดขาวให้รุ่นน้องในกลุ่ม กับหน้าที่รองก็คือแบ่งสมบัติให้น้องในกลุ่มเฉพาะน้องคนที่ไม่ค่อยได้รับอะไรจากรุ่นพี่รหัสนัก

เป็นธรรมเนียมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่จะนักศึกษาชายต้องแต่งชุดขาวมาเรียนอยู่ช่วงหนึ่ง ชุดขาวที่ว่าก็คือชุดนักศึกษาสีขาวประกอบด้วยเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาวและกางเกงขายาวสีขาว ผูกเนคไทตรามหาวิทยาลัย เข็มขัดตรามหาวิทยาลัย รองเท้าหนังสีดำ ส่วนจะแต่งเป็นเวลานานเท่าใดนั้นแล้วแต่ยุคสมัยและแล้วแต่คณะ สำหรับที่คณะเทคโนฯในยุคที่ผมเข้าปีหนึ่งเป็นธรรมเนียมที่จะต้องแต่งชุดขาวมาเรียนเป็นเวลาสองสัปดาห์ หลังจากนั้นให้ใส่ชุดนักศึกษาธรรมดาอันประกอบด้วยเสื้อเชิ้ตขาวแขนสั้นหรือแขนยาวก็ได้ กางเกงขายาวสีกรมท่า เนคไทกับเข็มขัดตรามหาวิทยาลัยดูเหมือนจะไม่บังคับแต่ส่วนใหญ่ก็จะใช้เข็มขัดตรามหาวิทยาลัยกัน ส่วนนักศึกษาหญิงนั้นใส่ชุดนักศึกษาตามระเบียบของมหาวิทยาลัยเหมือนกันตลอดตั้งแต่ปีหนึ่งจนปีสี่ ไม่มีอะไรพิเศษ

เนื่องจากชุดขาวของนักศึกษาชายไม่ได้ใช้บ่อย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องไปตัดกันทุกคน ส่วนใหญ่ก็หายืมเอาจากรุ่นพี่ในกลุ่มนั่นเอง บางคนที่ยืมไม่ได้หรือไม่มีขนาดที่เหมาะกับตัวจริงๆจึงค่อยไปตัดชุดขาวเป็นของตนเอง

ดังนั้นเอง หลังจากที่พิธีผูกข้อมือน้องเสร็จสิ้นลงไป เมื่อรุ่นน้องเริ่มคุ้นเคยกับรุ่นพี่บ้างแล้ว กิจกรรมตามล่าหามรดกของเหล่านักศึกษาปีหนึ่งจึงได้เริ่มขึ้น เสียงดังเซ็งแซ่ บรรยากาศเต็มไปด้วยความครึกครื้น

“พี่ๆ พี่อยู่ปีอะไรน่ะ”

“พี่มีชุดมั้ยครับ”

“พี่จำหนูได้มั้ย พี่ผูกข้อมือให้หนูไง พี่มีหนังสือเรียนมั้ยคะ”

“โอ๊ย ค่อยๆพูดทีละคนสิวะ พี่ฟังไม่ทัน”

ฯลฯ

- - -

หลังจากชุลมุนวุ่นวายกันอยู่พักใหญ่ ผู้คนที่แออัดในบริเวณโต๊ะกลุ่มก็ค่อยๆทยอยจากไป จนบ่ายแก่ก็เหลืออยู่เพียงไม่กี่สิบคน สำหรับผมนั้นไม่ได้มรดกอะไรเลยเนื่องจากเข้าไม่ค่อยถึงรุ่นพี่ พอจะเข้าไปก็มีคนมาตัดหน้าไปก่อน กว่าจะได้ถามรุ่นพี่ก็มักบอกว่าช้าไปต๋อยอันหมายถึงว่ายกให้คนอื่นไปแล้ว ส่วนเรื่องชุดนั้นไม่ค่อยหวังเพราะว่าเท่าที่ดูด้วยสายตาแล้วรูปร่างของรุ่นพี่ชายที่อยู่ในกลุ่มตอนบ่ายวันนั้นมีแต่ตัวเล็กกว่าผมทั้งนั้น

ที่ผมอยู่ที่โต๊ะกลุ่มเป็นเวลานานนั้นไม่ใช่เพราะรอหามรดก แต่เป็นเพราะมัวคุยกับเพื่อนและรุ่นพี่โรงเรียนสองคน คนที่เป็นรุ่นพี่โรงเรียนและตอนนี้กลายมาเป็นรุ่นเดียวกันนั้นเป็นคนเด่นของรุ่น ชื่อพี่จุ้ย

ความพิเศษของพี่จุ้ยคนนี้ก็คือเลือกคณะเทคโนฯเป็นอันดับหนึ่งและได้คะแนนสอบเป็นที่หนึ่งของคณะ ว่ากันว่าคะแนนสอบที่พี่จุ้ยได้นั้นสามารถเรียนในคณะแพทย์ได้อย่างสบาย ซึ่งน้อยคนนักที่จะคิดและตัดสินใจเลือกคณะแบบพี่จุ้ย

ส่วนเพื่อนรุ่นเดียวกันนั้นเป็นเพื่อนต่างห้อง ชื่อพัช คนนี้ก็สอบเทียบมาเช่นกัน ไอ้พัชนี่มันเรียกพี่จุ้ยว่าพี่ตลอด ผมก็เลยเรียกตาม จนท้ายที่สุดก็เรียกจนชิน แก้ไม่หาย พี่จุ้ยจึงกลายเป็นเพื่อนร่วมรุ่นในคณะที่ผมเรียกเป็นพี่มาโดยตลอด

พัชเป็นคนปากหวาน คุยเก่ง เรียกว่าพูดจนลิงหลับ เนื่องจากผมเองก็ไม่ได้รีบร้อนจะไปที่ไหนต่อ จึงนั่งฟังพัชรคุยกับพี่จุ้ยจนเวลาผ่านไปโดยไม่รู้ตัว

“เฮ้ น้อง พวกพี่จะกลับกันแล้ว จะไปกันหรือยัง” รุ่นพี่กลุ่มสุดท้ายที่กำลังจะเดินออกจากโต๊ะกลุ่มเรียกพวกเราสามคน

“พี่จะปิดประตูเหรอ” พัชถาม

“ไอ้บ้า มันมีประตูให้ปิดที่ไหนเล่า” รุ่นพี่หัวเราะ

“อ้าว ก็เห็นพี่เรียกให้กลับ นึกว่าพวกพี่ๆจะปิดประตูล็อกห้อง” พัชกวนอีก

“กวนดีนัก ไปหาอะไรกินกันดีกว่า” รุ่นพี่ชวน ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมกวนแล้วต้องชวนไปกินด้วย

“ไปที่ไหนเหรอพี่ พี่เลี้ยงใช่ป่าว” พัชถาม

“เออ พี่ชวนพี่เลี้ยงก็ได้วะ” พี่ตอบ

“สามคนเลยนะ” พัชถามย้ำ ผมเริ่มเห็นแววตลกบริโภคของมันอยู่รำไร

“เออ เต้าฮวยถ้วยละเจ็ดบาท พี่เลี้ยงสามคนได้ มาเถอะ” รุ่นพี่แจ้งงบประมาณเอาไว้ล่วงหน้า ดูท่าจะทันคนอยู่เหมือนกัน

“พี่ชื่ออะไรครับ” พี่จุ้ยถาม

“พี่ชื่อแต้ม อยู่ปี ๓” พี่แต้มตอบ เมื่อผมได้ยินถึงกับอดยิ้มไม่ได้ พี่แต้มเห็นเข้าพอดี

“ชื่อเหมือนหมาใช่ไหม” พี่แต้มถามผม

“ผมยังไม่ได้ว่าอะไรเลยนะพี่” ผมรีบออกตัว เกรงข้อหาล่วงเกินรุ่นพี่

“เออ นั่นแหละ แต่หน้าเรามันบอก ใครๆก็ถามพี่แบบนี้กันทั้งนั้น” พี่แต้มตอบ “ชินแล้วล่ะ”

หลังจากนั้นพี่แต้มกับรุ่นพี่อีกสองสามคนก็พาพวกเราเดินออกจากมหาวิทยาลัย ข้ามไปทางฝั่งตลาดสามย่าน จากนั้นข้ามถนนพญาไทไปอีกทีไปยังฝั่งคณะบัญชีรั้วสีชมพู ที่ข้างคณะทั้งบริเวณเป็นตึกแถวกลุ่มใหญ่ทั้งริมถนนและอยู่ในซอย ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารเกือบทั้งหมด จะมีบ้างที่เป็นกิจการอื่น เช่น โรงรับจำนำ ร้านขายของชำ และอาบอบนวด ปัจจุบันพื้นที่แถบนี้เปลี่ยนสภาพไปหมดแล้วโดยไม่เหลือเค้าเดิมเอาไว้ กลายเป็นจามจุรีสแควร์

“แถวหน้ามหาลัยไม่ค่อยมีอะไร จะกินอะไรจะใช้อะไรก็ต้องมาที่สามย่านนี่แหละ มีทุกอย่างเลย” พี่แต้มแนะนำ

และครั้งนี้เองเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสสำรวจพื้นที่รอบๆมหาวิทยาลัย พร้อมกับเรียนรู้ว่าส่วนหนึ่งของชีวิตนักศึกษาที่นี่อยู่ที่สามย่านนี่เอง



<สามย่านในอดีต คลิกที่ตัวภาพเพื่อดูภาพในขนาดขยาย ภาพนี้เป็นภาพสถานที่ต่างๆในบริเวณสามย่านในยุคประมาณ ๒๐ ปีมาแล้ว ตอนที่ผมเรียนชั้นปี ๑ อยู่ที่สะพานเหลือง ภาพที่เป็นฉากหลังเป็นภาพถ่ายดาวเทียมที่ถ่ายในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ แม้ไม่ใช่ภาพในยุคนั้นแต่อาคารและพื้นที่ในบริเวณสามย่านยังคงเป็นลักษณะเดียวกันกับเมื่อยี่สิบปีก่อน ยกเว้นพื้นที่ตรงหัวมุมสามย่านด้านคณะบัญชี จุฬาฯ เท่านั้นที่ไม่เหมือนเมื่อยี่สิบปีก่อน ถนนสามเส้นที่เห็นในภาพนั้น ถนนเส้นที่วิ่งขึ้นข้างบนภาพคือถนนพญาไท มุ่งไปทางสยามสแควร์ ปทุมวัน ถนนเส้นซ้ายของภาพคือถนนพระราม ๔ มุ่งไปทางหัวลำโพง ส่วนถนนเส้นขวาของภาพคือถนนพระราม ๔ เช่นกัน มุ่งไปทางสีลม ลองมาดูกันว่าสถานที่สำคัญในยุคนั้นมีอะไรบ้าง

หมายเลข ๑ ตลาดสามย่าน ชั้นล่างเป็นตลาดสด ชั้นบนเป็นร้านขายอาหาร มีร้านอาหารมากมายหลายร้าน และห้องกวดวิชา
หมายเลข ๒ โรงหนังสามย่าน อยู่หลังตลาดสามย่าน ยุคนั้นดูเหมือนจะฉายหนังไทย
หมายเลข ๓ ถนนพระรามที่ ๔ และหัวมุมสามย่านด้านตลาดสามย่าน ร้านค้าแถวหัวมุมเป็นคลินิกแพทย์ ร้านขายข้าวสาร โรงรับจำนำ ร้ายขายยา ร้านขายของชำ และโรงรับจำนำ ฯลฯ
หมายเลข ๔ สามย่านด้านคณะบัญชี จุฬาฯ เป็นตึกแถวจำนวนมาก ทั้งริมถนนและที่อยู่ในซอย ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร มีร้านอาหารระดับตำนานอยู่หลายร้าน เช่น สมบูรณ์ อี่ หมง นายใบ้ โจ๊กสามย่าน เต้าฮวยเย็น จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของแถบนี้ก็คืออาบอบนวด ฯลฯ
หมายเลข ๕ ร้านจีฉ่อย ร้านค้าระดับตำนาน ว่ากันว่ามีขายทุกอย่างเท่าที่คุณจะนึกออก ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันกระสวยอวกาศ ต้องการอะไรจีฉ่อยหามาให้ได้ทุกอย่าง
หมายเลข ๖ โรงเรียนศึกษาวัฒนา>

Tuesday, August 24, 2010

ภาคสี่ ตอนที่ 3

เพียงวันสองวัน ดอกกุหลาบมอญสีแดงที่บานติดต้นมาตั้งแต่ตอนที่ซื้อก็ค่อยๆโรย เมื่อผมเอามือไปโดนดอกกุหลาบ กลีบดอกที่กลายเป็นสีแดงปนน้ำตาลก็ร่วงพรูทันที แต่เนื่องจากกุหลาบมอญเป็นกุหลาบที่ออกดอกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๒-๓ ดอก ในขณะที่ดอกแรกในกลุ่มโรย ดอกอื่นในกลุ่มที่เมื่อตอนที่ซื้อมาเป็นดอกตูมสีเขียวอยู่ก็เริ่มผลิบานส่งกลิ่นหอมกระจาย

กลิ่นกุหลาบมอญยามเช้าทำให้ผมนึกถึงบทเพลงของรอเบิร์ต เบิร์นส์ รวมทั้งยังทำให้นึกไปถึงบทเพลงที่ผมยังไม่มีโอกาสมอบให้ไอ้นัย ป่านนี้ไอ้นัยคงโตขึ้นอีกมาก ไม่รู้ว่าอยู่สุขสบายดีหรือเปล่า จะสูงกว่าผมหรือยังก็ไม่รู้

“อ้าว พี่อู ยังไม่แต่งตัวไปโรงเรียนอีกเหรอ” ผมตื่นจากภวังค์เมื่อได้ยินเสียงทักทายดังขึ้นที่ด้านหลัง เมื่อผมหันไปดูก็เห็นน้องปั้น ชั้น ๓ นั่นเอง ปั้นอยู่ในชุดนักเรียน ในมือถือผ้าเช็ดตัว คงกำลังเอาผ้ามาตากก่อนไปโรงเรียน เห็นชุดนักเรียนของปั้นทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่าวันนี้เป็นวันที่โรงเรียนเริ่มเปิดเรียนภาคต้น ผมสังเกตเห็นเข็มกลัดตราโรงเรียนที่อกเสื้อของปั้น วันนี้คงเป็นวันแรกที่ปั้นติดเข็มไปโรงเรียน

“ไม่ไปหรอก” ผมตอบอ้อมแอ้ม กำลังนึกลังเลว่าจะบอกเรื่องสอบเอนทรานซ์ดีหรือไม่เพราะว่าที่ผ่านมาคนในหอพักไม่มีใครรู้เรื่องการสอบของผมเลยเนื่องจากผมเก็บตัวไม่ค่อยได้คุยกับใคร นี่ถ้าบอกปั้นไปแล้วสอบสัมภาษณ์ไม่ผ่านก็คงเสียหน้าแย่ จึงทำเนียนเปลี่ยนเป็นคุยเรื่องอื่น “ม.ปลายแล้วนะเรา ติดเข็มไปเบ่งกับ ม.ต้นได้แล้ว”

“เบ่งอะไรกันพี่ มันกลัวรุ่นพี่เสียที่ไหน” ปั้นหัวเราะฮิฮะ ทำหน้าทะเล้น ว่าแล้วก็วกมาเรื่องเดิมอีก “ว่าแต่พี่อูทำไมไม่ไปโรงเรียน โดดเรียนตั้งแต่วันแรกเชียว”

“เฮ้ย เปล่าโดด พูดซะเสียหมด” ผมรีบปฏิเสธ “พี่สอบเอนทรานซ์ได้น่ะ กำลังรอประกาศผลอยู่”

“เฮ้ย พี่สอบเทียบได้แล้วเหรอ โห ไม่เห็นรู้เรื่องเลย” ปั้นแปลกใจ

“ก็ไม่รู้ว่าจะสอบได้หรือเปล่า พูดไปแล้วทำไม่ได้เสียหน้าเปล่าๆ เอาไว้ได้แน่ๆแล้วค่อยบอกก็ไม่สาย” ผมตอบไปตามตรง “ปั้นรีบไปเรียนก่อนเถอะ เดี๋ยวจะสาย กลับมาแล้วค่อยมาคุยกันก็ได้”

หลังจากที่อยู่อย่างเรื่อยเปื่อยไม่มีจุดหมายในกรุงเทพฯอยู่พักหนึ่งผมก็เริ่มเบื่อ ยังดีที่ช่วงก่อนเปิดเทอมในหอพักคึกคักตลอดทั้งวันทำให้ผมไม่ค่อยเหงานัก แต่หลังจากที่โรงเรียนเปิดแล้วในเวลากลางวันหอพักคงกลับมาเงียบเหงาเหมือนเดิม ในที่สุดเช้าวันนั้นผมก็ตัดสินใจกลับบ้านชั่วคราว

ปกติเมื่อผมคิดกลับบ้านก็กลับได้เลย ไม่มีอะไรที่ต้องเตรียมตัวหรือว่าต้องเป็นห่วง แต่ว่าครั้งนี้กลับแตกต่างออกไป ผมรู้สึกเป็นห่วงกุหลาบมอญ ถ้าไม่อยู่ใครจะรดน้ำ สองสามวันที่ได้กุหลาบมอญต้นนี้มาผมต้องขึ้นมาดูแลและสูดกลิ่นหอมของมันทุกวัน ตอนนี้มันไม่ได้เป็นเพียงกุหลาบธรรมดา แต่ในความรู้สึกอันลางเลือน มันเป็นเสมือนตัวแทนของอะไรบางอย่าง... หรือไม่ก็เป็นตัวแทนของใครบางคน... ซึ่งผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันคืออะไรกันแน่

ก๊อก ก๊อก

ในที่สุดผมก็คิดอะไรได้อย่างหนึ่ง ผมเดินไปเคาะประตูห้องพี่ธิตซึ่งอยู่ไม่ห่างออกไปนักทันที เสียงกุกกักที่ดังลอดออกมาจากในห้องแสดงว่าเจ้าของห้องยังไม่ได้ออกไปทำงาน

“พี่ธิตครับ นี่อูครับ” ผมส่งเสียงเรียก

ประตูห้องเปิดออก พี่ธิตที่แต่งตัวในชุดทำงานเรียบร้อยเดินออกมาทักทาย

“ว่าไงอู ไปทำอะไรมาเก็บเงียบไม่บอกเลยนะเรา” พี่ธิตพูด

“เมื่อกี้พี่ได้ยินเหรอ” ผมถาม

“หูพี่ไม่ได้หนวกนี่หว่า มายืนคุยหน้าห้องพี่ก็ได้ยินสิ” พี่ธิตตอบ “ดีใจด้วยนะอู”

“ขอบคุณครับพี่ธิต” ผมตอบ “ผมมีเรื่องอยากจะขอรบกวนพี่หน่อย”

“เรื่องอะไรล่ะ” พี่ธิตถาม

“คือผมจะกลับบ้านสักสองสามวันน่ะพี่ ว่าจะไปวันนี้เลย แต่เป็นห่วงกุหลาบ จะฝากพี่รดน้ำมันในช่วงที่ผมกลับบ้านหน่อยจะได้ไหมครับ รดน้ำเช้าเย็นแค่นั้นเอง ไม่มีอะไรยุ่งยาก”

“แล้วไป นึกว่าจะยืมเงิน ชักสงสัยแล้วสิว่ากุหลาบต้นนี้มีอะไรสำคัญนักหนา อูถึงได้ห่วงขนาดนี้” พี่ธิตหัวเราะ “ได้ๆ แค่นี้เรื่องเล็ก เดี๋ยวพี่จัดการให้เอง อูไม่ต้องเป็นห่วง”

“ขอบคุณครับพี่ เดี๋ยวเช้านี้พี่ไม่ต้องรดน้ำนะ ผมจะจัดการเอง ตอนเย็นพี่กลับมาค่อยมารด” ผมไม่วายกำชับ

“เออ เออ ได้ ได้” พี่ธิตรับคำ

หลังจากพี่ธิตปิดประตูไปแล้ว ผมก็กลับมาที่ต้นกุหลาบ จัดการรดน้ำจนชุ่ม ผมสังเกตเห็นว่าเม็ดปุ๋ยที่โคนต้นละลายไปมากแล้ว

เติมปุ๋ยอีกหน่อยดีกว่า จะไม่อยู่อีกหลายวัน เดี๋ยวจะอดอยาก ผมคิด จากนั้นก็เดินลงไปที่ห้อง หยิบเอาปุ๋ยเม็ดมาโรยลงไปอีก จากนั้นจึงกลับลงไปที่ห้อง ครั้นเวลาสายผมก็ออกจากห้องพื่อเดินทางกลับบ้าน

- - -

ผมกลับบ้านเพียงไม่กี่วันก็กลับมากรุงเทพฯอีกครั้งเพื่อมาดูประกาศผลสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในขั้นสุดท้าย โดยในครั้งนี้ผมนั่งรถทัวร์เที่ยวเช้ามืดจากบ้านมาลงที่หมอชิตและเข้ามาดูประกาศผลเลย ที่สนามประกาศผลมีคนไม่มากมาย ต่างจากตอนประกาศผลสอบข้อเขียนมาก

เฮ้ย ติดด้วยโว้ย ผมอุทานในใจหลังจากที่เห็นชื่อของตนเองอยู่ในประกาศที่ติดอยู่บนบอร์ด ใจหนึ่งก็รู้สึกดีใจ อีกใจหนึ่งก็อดแปลกใจไม่ได้ว่าติดได้ยังไง ต่อมาผมจึงได้ทราบความจริงว่าการสอบสัมภาษณ์นั้นส่วนใหญ่มักไม่มีปัญหาอะไรดังที่รุ่นพี่เคยพูดเอาไว้นั่นเอง แต่ปัญหาอาจมีได้ตอนตรวจร่างกายเสียมากกว่า เช่น บางคนไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าตนเองตาบอดสี เมื่อตรวจร่างกายและพบว่ามีอาการตาบอดสีก็อาจทำให้เรียนในบางสาขาไม่ได้ เป็นต้น

หลังจากที่รู้ผลแล้ว ที่บอร์ดก็จะมีประกาศเกี่ยวกับการไปรายงานตัวที่มหาวิทยาลัย ครั้งนี้ผมรู้แล้วว่าต้องเดินตามหารุ่นพี่ที่คณะที่คอยมาเป็นพี่เลี้ยงเพื่อขอคำแนะนำเพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผมไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ควรหาคนแนะนำเอาไว้ก่อนจะได้ไม่พลาด ผมเดินอยู่ในบริเวณสนามประกาศผลเพียงครู่เดียวก็พบมุมที่รุ่นพี่ของคณะเทคโนฯจับกลุ่มกันอยู่

“น้องคณะเทคโนฯ มะรืนนี้ต้องมารายงานตัวและรับเอกสารที่คณะนะน้อง แล้วสิบโมงเช้ามาพบกันที่ใต้ตึกหลังเดิม... ที่เก่าเวลาเดิม” ได้ยินเสียงรุ่นพี่บอกรุ่นน้องที่แวะเข้ามาหาซ้ำแล้วซ้ำอีก

เมื่อผมเดินผละจากกลุ่มรุ่นพี่คณะเพื่อกลับหอพัก ผมก็รู้สึกว่ามีคนเอามือมาตบไหล่ของผม ผมหันไปดูแต่ไม่เห็นใคร เมื่อเหลือบลงไปมองที่ด้านล่างก็เห็นไอ้ตี๋นั่งย่อตัวอยู่ข้างหลังของผม มุขนี้เป็นมุขที่ไอ้ตี๋ชอบแกล้งผมตอนที่เรียนอยู่ชั้น ม.๑ สมัยที่มันยังซ่าอยู่ หลังจากที่เกิดเรื่องใหญ่ตอนชั้น ม.๒ นิสัยของตี๋เปลี่ยนไปเป็นเงียบขรึม มันก็ไม่ค่อยหยอกผมด้วยมุขนี้อีก

“ไอ้ตี๋” ผมอุทานด้วยความดีใจ “มึงติดคณะอะไรวะ”

“ศึกษาศาสตร์โว้ย คณะที่อยู่ใกล้ๆกับมึงนั่นแหละ” ตี๋ตอบ

“มึงรู้เหรอว่ากูติดที่ไหน” ผมงง มันรู้ได้ยังไงกัน

“กูเห็นมึงแยกออกมาจากกลุ่มพี่คณะเทคโนฯก็รู้แล้วว่ามึงติดที่ไหน” ตี๋ตอบ

“ดีใจด้วยนะไอ้ตี๋” ผมจับมือมันมากุม แสดงความยินดีกับมันจากใจจริง “ในที่สุดมึงก็ทำสำเร็จ”

“ได้ก็เพราะหนังสือที่มึงให้นั่นแหละ” คำตอบของตี๋ทำให้ผมต้องสะท้อนใจ หนังสือติวมูลค่าเพียงไม่กี่ร้อยบาทที่ผมไม่ได้ใช้และไม่ได้สนใจอะไรกลับมีค่าต่อมันมาก ทำไมชีวิตของคนเราจึงแตกต่างกันได้มากมายขนาดนี้ “ตอนแรกก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะได้เรียนไหม”

“อ้าว ทำไมล่ะ” ผมถาม

ตี๋มองไปที่แขนข้างที่ลีบเล็กของมัน “ก็กูพิการ ไม่รู้ว่าเค้าจะรับคนไม่สมประกอบหรือเปล่า” ตี๋พูดเรื่อยๆเหมือนจะให้ฟังเป็นเรื่องขำ แต่ผมฟังแล้วไม่รู้สึกขำเลยแม้แต่น้อย

“เอาน่าตี๋ ยังไงมึงก็สู้จนสำเร็จแล้ว จะไปคิดเรื่องแบบนั้นอีกทำไม” ผมตัดบท ไม่อยากให้มันคุยเรื่องนี้ต่อ “แล้วหลังจากสอบเอนทรานซ์เสร็จมึงไปทำอะไรมาบ้างวะ”

“กูก็พยายามหางานชั่วคราวทำ จะได้มีรายได้เป็นทุนเรียน ส่วนใหญ่ก็พยายามหางานขาย พนักงานเสิร์ฟ หรือไม่ก็เป็นเด็กหลังแคชเชียร์ตามซูเปอร์มาร์เก็ต ทำได้สักเดือนหนึ่งก็ยังดี” ตี๋เล่า ผมอดรู้สึกผิดนิดหน่อยไม่ได้ ในขณะที่มันกำลังตระเวนหางานพิเศษทำ ผมก็กำลังเพลิดเพลินกับการล่องใต้อยู่

“ทำแล้วเป็นไงบ้างล่ะ เก็บเงินได้เยอะไหม” ผมรีบถามต่อ ดีใจที่เปลี่ยนเรื่องคุยได้สำเร็จ

“ได้ทำที่ไหนล่ะ ไปสมัครที่ไหนก็ไม่มีใครรับ” ตี๋ตอบช้าๆด้วยน้ำเสียงที่เรียบเฉยจนจับความรู้สึกไม่ออก

โอย แบบนี้แย่แน่ คุยไปคุยมาก็กลับมาที่เรื่องเก่าอีก

“ไปสมัครตั้งหลายที่ เสียเงินค่ารถไปหลาย แต่ในที่สุดก็เสียเงินเปล่า ต้องกลับมาช่วยที่บ้านขายของตามเดิม รู้ยังงี้ไม่รนหาที่ให้เสียเงินหรอก อยู่เฉยๆดีกว่า” ตี๋พูดต่อ

ปกติตี๋เป็นคนที่อดทนมาก มีอะไรก็ทบเก็บเอาไว้ ไม่เคยปริปากบ่น มาคราวนี้มันถึงกับหลุดปากระบายออกมาแสดงว่าชีวิตในช่วงที่ผ่านมาของมันคงได้รับความคับแค้นใจไม่น้อยเลยทีเดียว

“ถ้ามีอะไรที่กูพอจะช่วยได้ก็บอกนะตี๋ อีกหน่อยเราคงได้เจอกันอีกบ่อยๆ ถ้ามีอะไรขอให้บอก” ผมตบไหล่มันเป็นเชิงปลอบใจ

ตี๋จับมือผมเอาไว้พร้อมกับบีบเบาๆแล้วพยักหน้า จากนั้นเราก็จากกัน

- - -

ผมกลับถึงหอพักในตอนบ่าย เมื่อกลับไปถึงหลังจากวางของไว้ในห้องแล้วผมก็รีบขึ้นไปยังชั้นดาดฟ้าทันที ไม่ได้อยู่กรุงเทพฯเสียหลายวันไม่รู้ว่ากุหลาบมอญของผมเป็นอย่างไรบ้างแล้ว

เฮ้ย เกิดอะไรขึ้นเนี่ย เมื่อขึ้นไปเห็นต้นกุหลาบผมก็ต้องตกใจ ผมเห็นใบของต้นกุหลาบเหี่ยวและกลายเป็นสีเหลืองอมเขียวไปทั้งต้น ดอกกุหลาบที่ติดมากับต้นตั้งแต่ตอนที่ซื้อมานั้นไม่ต้องพูดถึง กลีบโรยไปจนหมดแล้ว

พี่ธิตคงลืมรดน้ำแน่เลย กุหลาบถึงได้เหี่ยว คิดแล้วก็อดโมโหพี่ธิตไม่ได้ ฝากแค่นี้ก็ไม่ได้เรื่อง คิดพลางก็เอาขันไปรองน้ำมารดที่โคนต้นกุหลาบ

ผมสังเกตพบว่าน้ำที่เคยซึมผ่านผิวหน้าดินและไหลออกไปทางรูก้นกระถางอย่างรวดเร็วมาวันนี้กลับซึมช้าผิดปกติไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้เฉลียวใจอะไร ผมรดน้ำกุหลาบจนชุ่มและพยายามลิดใบที่เหลืองมากๆออกไปบ้าง

“โอ๊ย” ผมอุทานออกมา ความสะเพร่าและความใจร้อนของผมทำให้หนามกุหลาบตำนิ้วอย่างแรงจนเลือดออก ตอนที่หนามกุหลาบตำเข้าไปในนิ้วนั้นผมรู้สึกปวดมาก แม้ถอนหนามกุหลาบออกไปแล้วก็ยังรู้สึกปวดไม่คลาย

“ซวยจริงๆเลย” ผมบ่นพึมพำกับตนเอง พยามยามเค้นเลือดออกจากปลายนิ้ว “เจ็บตัวเสียอีก”

เย็นวันนั้นผมมาดักรอพี่ธิตที่หน้าห้องตั้งแต่ตอนเย็นด้วยความโมโห ตั้งใจจะต่อว่าพี่ธิตเต็มที่ แต่เมื่อพี่ธิตขึ้นมาที่ห้องยังไม่ทันที่ผมจะพูดว่าอะไรพี่ธิตก็ชิงทักผมเสียก่อน

“เฮ้ย อู เห็นกุหลาบหรือยัง” พี่ธิตถาม

“เห็นแล้วพี่” ผมตอบ ความเคืองทำให้คำว่าครับที่ควรจะมีหายไป

“พี่รดน้ำเช้าเย็นตามที่เราบอกทุกอย่างเลยนะ ไม่ได้ลืมเลยสักวัน แต่ทำไมมันเป็นยังงี้ได้ก็ไม่รู้” พี่ธิตรีบอธิบาย สีหน้าแสดงความกังวล คงเกรงจะถูกผมต่อว่าว่าดูแลไม่ดีนั่นเอง “ตั้งแต่อูไปมันก็เริ่มเหลืองเลย”

เมื่อได้ยินคำอธิบายเช่นนั้น อีกทั้งเห็นพี่ธิตไม่สบายใจ แม้จะยังไม่หายเคืองแต่ก็ไม่อยากต่อว่าพี่ธิตแล้ว ไหนๆผมก็กลับมาแล้ว ต่อไปดูแลเองก็คงไม่เป็นไรแล้ว

- - -

คืนนั้นผมโทรศัพท์ไปบอกที่บ้านเรื่องผลการสอบ เพื่อนๆในหอพักที่คุ้นเคยกันก็รู้กันทั่วจากปากคำของพี่ธิตและปั้น ปีนั้นในหอพักมีผมเพียงคนเดียวที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัย ชาวหอคนอื่นๆถ้าไม่ใช่เรียนจบและทำงานแล้วก็กำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาหรือไม่ก็ในระดับอาชีวศึกษา

หลังจากการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ชีวิตของผมก็ไม่ได้อยู่ว่างๆรอคอยเวลาให้ผ่านไปวันๆอีกต่อไป ตอนนี้ผมมีเรื่องที่ต้องทำมากมาย เริ่มตั้งแต่การไปรายงานตัว รับเอกสารคู่มือนักศึกษาใหม่ การขึ้นทะเบียนนักศึกษา การพบอาจารย์ที่ปรึกษาและการลงทะเบียนเรียน ตลอดไปจนถึงการซื้อเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์การเรียน ตัดผม ถ่ายรูป ฯลฯ และที่สำคัญคือกิจกรรมต่างๆตามแต่รุ่นพี่จะนัดหมาย เรียกได้ว่าช่วงปลายเดือนมีเรื่องให้ออกจากหอพักได้ทุกวัน

หลังจากที่ผมไปรายงานตัวแล้วก็ได้รับเอกสารต่างๆมาอ่านหลายเล่ม ทั้งคู่มือ ระเบียบ และอื่นๆ อ่านแล้วก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ดีที่มีรุ่นพี่คอยให้คำแนะนำเป็นขั้นๆจึงเข้าใจขั้นตอนต่างๆ จากนั้นผมก็ไปถ่ายรูปเพื่อเตรียมไว้ใช้ประกอบเอกสารต่างๆรวมทั้งใช้ในการทำบัตรนักศึกษา

บัตรนักศึกษาในยุคนั้นยังใช้รูปถ่ายที่ไปถ่ายมาจากร้านถ่ายรูปนำมาแปะบนบัตรอยู่ ไม่ได้ไฮเทคเป็นสมาร์ตการ์ดแบบในปัจจุบันที่ถ่ายรูปแล้วพิมพ์ลงบนบัตรไปเลย ผมต้องไปถ่ายรูปขนาด ๑ นิ้วในชุดนักศึกษาเพื่อใช้ติดบัตรจากร้านถ่ายรูปแถวๆสามย่านเนื่องจากฝั่งสะพานเหลืองหน้ามหาวิทยาลัยไม่ค่อยมีร้านรวงเท่าไรนัก จะทำอะไรหรือว่าจะซื้ออะไรส่วนใหญ่ต้องข้ามไปทางฝั่งสามย่าน

เมื่อไปถึงร้านถ่ายรูปผมก็เปลี่ยนเป็นชุดนักศึกษา ชุดนักศึกษาที่ว่าก็ไม่มีอะไรมาก เป็นเพียงเสื้อเชิ้ตขาวและเนคไทที่มีตรามหาวิทยาลัยปักอยู่ เสื้อเชิ้ตกับเนคไทนี้ทางร้านถ่ายรูปมีเตรียมเอาไว้ให้แล้ว ไปถึงก็เปลี่ยนเสื้อ เอาเนคไทซึ่งผูกเป็นห่วงเรียบร้อยแล้วคล้องคอ รูดปมให้กระชับคอ แล้วก็ถ่ายได้เลย

- - -

วันเสาร์

หลายวันต่อมา ต้นกุหลาบมอญของผมอาการทรุดหนักลง จากใบที่สีเหลืองอมเขียวกลายเป็นสีเหลืองอ๋อยและเหี่ยวไปทั้งต้น แม้ว่าผมจะรดน้ำอย่างไรอาการก็ไม่ดีขึ้นเลย ด้วยความรู้สึกที่ผูกพันกับกุหลาบต้นนี้ทำให้ผมรีบไปที่ตลาดนัดจตุจักรเพื่อถามลุงคนขายกุหลาบให้รู้แน่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับกุหลาบของผม

เมื่อผมไปถึงร้านของลุงขายกุหลาบ ผมเห็นแกกำลังนอนเอกเขนกอยู่บนเตียงพับรอลูกค้าอยู่เช่นเคย

“ลุงครับ กุหลาบมอญที่ผมซื้อไปเมื่อวันก่อนน่ะ ไหนว่าเลี้ยงง่ายไง ตอนนี้ใบมันเหลืองไปทั้งต้น จะตายมิตายแหล่อยู่แล้ว” ผมต่อว่าลุงขายกุหลาบทันที

“หา พ่อหนุ่มเลี้ยงกุหลาบมอญยังไม่รอดเลยเหรอ” ลุงขายกุหลาบมองผมด้วยสีหน้าแปลกใจ

โห แน่มากเลยนะลุง มีการเกทับกลับมาว่าผมเลี้ยงต้นไม้ไม่เป็นเสียอีก

“ผมก็ทำตามที่ลุงแนะนำทุกอย่าง รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ทำไมมันเป็นยังงี้ละครับ ต้มไม้มันเป็นโรคอะไรอยู่แล้วหรือเปล่าครับลุง” ผมโบ้ยความผิดไปให้ลุงบ้าง

“มันจะเป็นโรคอะไรล่ะ ตอนที่พ่อหนุ่มซื้อไปยังออกดอกงามอยู่เลย ต้นไม้ไม่แข็งแรงจะออกดอกสวยแบบนั้นได้ยังไง ไหน เล่าอาการของต้นไม้มาให้ลุงฟังก่อน”

ผมก็เล่าอาการของกุหลาบให้ฟังตามที่เห็น

“สงสัยจะรากเน่านะ แต่ เอ... รากเน่ามันก็ไม่น่าเร็วขนาดนี้” ลุงรำพึงกับตนเอง

“เนี่ย ผมดูแลอย่างดี รดน้ำเช้าเย็น แถมใส่ปุ๋ยลงไปตั้งหลายหน” ผมบ่นด้วยความไม่พอใจเมื่อเห็นลุงขายกุหลาบไม่ยอมรับว่าต้นไม้ของตนเองไม่แข็งแรง

“ไหน พ่อหนุ่มใส่ปุ๋ยยังไง” ลุงถาม

ผมก็เล่าให้ลุงฟังว่าโรยปุ๋ยลงไปอย่างไร พอเล่าจบลุงก็หัวเราะก๊าก

“ตายแล้ว ใครเขาเลี้ยงต้นไม้กันอย่างนั้น” ลุงหัวเราะขำไม่หาย “ใส่ปุ๋ยเคมีเยอะขนาดนั้น รดน้ำขนาดนั้น มันจะไปรอดได้ยังไง ลุงบอกให้โรยทีละนิด เจ็ดวันสิบห้าวันก็ใส่ลงไปสี่ห้าเม็ด นี่โรยเป็นกำมือ ปุ๋ยมันเป็นพิษน่ะสิ ดินเสียหมดแล้วล่ะ เหมือนคนกินข้าวน่ะ กินมากๆท้องก็แตกตาย”

จริงด้วยสิ ลุงเคยบอกเอาไว้ว่าให้ใส่ปุ๋ยทีละนิด แต่ว่าผมอยากให้มันโตไวๆจึงอัดปุ๋ยใส่ลงไปเสียตั้งเยอะ เมื่อรู้ความจริงผมถึงกับจ๋อย

“ไม่รอดแน่แล้วหรือครับลุง” ผมเสียงอ่อย

ลุงขายกุหลาบส่ายหน้าและถอนหายใจแทนคำตอบ

“เอายังงี้นะ พ่อหนุ่มอย่าเพิ่งท้อใจ ลองเอาต้นใหม่ไปเลี้ยงอีกสักครั้งไหม ลองแก้ตัวดู คราวนี้ตั้งใจเลี้ยงตามที่ลุงบอก ต้นใหม่นี้ลุงลดให้เหลือ ๒๐ บาทเท่านั้น” ลุงเสนอเงื่อนไขจูงใจ

ใจหนึ่งก็ชักจะเริ่มท้อ แต่อีกใจหนึ่ง... มันเป็นความรู้สึกลึกๆที่อธิบายไม่ถูก... ในที่สุด วันนั้นผมก็กลับหอพักพร้อมกับต้นกุหลาบมอญต้นใหม่อีกหนึ่งต้นเพื่อนำมาเลี้ยงทดแทนต้นที่กำลังจะตายจากไป


<หลังจากการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาอันเป็นการประกาศผลขั้นสุดท้ายของกระบวนการสอบเอนทรานซ์ ผู้ที่สอบได้ก็ต้องไปรายงานตัวและดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าเป็นนักศึกษา ณ มหาวิทยาลัยที่ตนสอบได้ ผู้ที่สอบได้มหาวิทยาลัยในภูมิภาคก็เช่นกัน เมื่อประกาศผลแล้วก็ต้องเก็บกระเป๋าและร่ำลาครอบครัวเพื่อเดินทาง กิจกรรมเกี่ยวกับการเดินทางเพื่อเข้าเป็นนักศึกษาใหม่ที่กล่าวขานถึงมากที่สุดน่าจะเป็นการรับน้องรถไฟของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กิจกรรมนี้มีมานานแล้วและจัดทุกปีจนกลายเป็นประเพณี โดยรุ่นพี่จะเหมาขบวนรถไฟเพื่อให้นักศึกษาใหม่เดินทางจากกรุงเทพฯไปด้วยกัน ใช้เวลาในขบวนรถไฟประมาณ ๑๕ ชั่วโมง ถือเป็นการรับน้องและสร้างความสัมพันธ์กันไปในตัว>

Wednesday, August 18, 2010

ภาคสี่ ตอนที่ 2

“ถ้าอยากเรียนแพทย์จริงไปเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยเอกชนจะดีกว่ามาเรียนที่นี่ไหม” อาจารย์อีกคนหนึ่งเสริมขึ้น

ในปีนั้นมหาวิทยาลัยรังสิตอันเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์และเปิดรับนักศึกษาเป็นปีแรก และถือว่าเป็นคณะแพทย์แห่งแรกของมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทย ผมสบตากับอาจารย์ทั้งสองคน อ่านใจอาจารย์ไม่ออกว่าอาจารย์ถามด้วยความรู้สึกอะไร ถามเพราะว่าอยากรู้ความตั้งใจของผมหรือว่าถามเพราะต้องการจะไล่ต้อนผมให้จนมุม เพราะว่าค่าเล่าเรียนนั้นแพงมาก ตลอดหลักสูตร ๙๙๐,๐๐๐ บาท ขาดอีกหมื่นเดียวก็ครบหนึ่งล้านบาท เงินหนึ่งล้านบาทในยุคนั้นไม่ใช่น้อยๆ น้ำมันเบนซินยังแค่ลิตรละประมาณ ๕-๖ บาทเท่านั้น ดังนั้นไม่ใช่ว่าใครอยากเรียนก็จะเรียนได้

สัมภาษณ์แรงแบบนี้สงสัยผมคงอดเรียนแน่ ผมคิด พร้อมทั้งนึกต่อว่ารุ่นพี่อยู่ในใจด้วยว่าทำไมติวแต่คำถามที่อาจารย์ไม่ได้ถาม ทีเรื่องสอบเอนทรานซ์ใหม่กลับไม่ติวคำตอบสวยๆให้บ้าง

ในตอนนั้นผมคิดว่าคงหมดหวังแน่แล้ว เพราะดูกรรมการสอบสัมภาษณ์จะไม่ค่อยชอบเด็กสอบเทียบนัก แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกกลัวหรือกังวลมากนัก คิดแต่ว่าหากไม่ได้ก็กลับไปเรียน ม.๖ ที่โรงเรียน ปีหน้าผมก็ยังมีโอกาสสอบอีก พร้อมกันนั้นก็เกิดความรู้สึกโกรธ พอสอบติดคณะนี้พ่อก็ว่า พอมาสัมภาษณ์อาจารย์ก็ขับไล่ไสส่งอีก ดูเหมือนว่าผมทำอะไรก็ผิดไปหมด ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ถูกเสมอ

เมื่อคิดได้เช่นนั้นผมจึงตอบไปแบบพลีชีพ

“มหาวิทยาลัยเอกชนแพงครับ ที่บ้านไม่มีฐานะจะส่งหรอกครับ” ผมตอบ “อันดับที่ผมเลือกนั่นแสดงถึงความตั้งใจของผมจริงๆครับ เพราะคณะแพทย์อันดับสุดท้ายกับคณะเทคโนฯคะแนนห่างกันตั้งมาก ถ้าผมเลือกตามค่านิยมจริงๆผมก็ต้องเลือกทันตฯ เภสัชฯ เป็นอันดับรองลงมาสิครับ จะมาเลือกแพทย์ทั้งหมดแล้วกระโดดลงมาเลือกคณะเทคโนฯทำไม พ่อผมอยากให้ผมเลือกบัญชีผมก็ไม่เอาเพราะว่าผมไม่ชอบ พ่อยังบ่นอยู่เลยครับ”

อาจารย์ทั้งสองหันมาสบตากันเมื่อเห็นผมพรูคำพูดออกมา ไหนๆพูดแล้วก็ขอพูดต่อให้หมดใจก็แล้วกัน

“ผมเลือกแต่เฉพาะคณะผมคิดว่าผมอยากเรียน ถึงผมสอบเทียบได้ผมก็ไม่ได้คิดมาลองเรียนเล่นๆหรือซ้อมสอบครับ ผมทราบว่าผมมาแย่งที่นั่งของรุ่นพี่ ถ้าผมได้เรียนก็ต้องมีคนอื่นที่ไม่ได้เรียน แต่ทำไมผู้ใหญ่ถึงคิดเหมาเอาว่านักเรียนสอบเทียบต้องไปเอนทรานซ์ใหม่ทุกคนละครับ บางคนมีฐานะทางบ้านไม่ดี การเรียนเร็วขึ้นอีกปีหนึ่งก็เท่ากับได้ทำงานเร็วขึ้นอีกปีหนึ่ง ช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวได้ อีกอย่างหนึ่งผมคิดว่าคนที่เรียนปีหนึ่งไปแล้วจะสอบเอนทรานซ์ใหม่หรือเปล่านี่น่าจะอยู่ที่ว่าคณะที่เรียนอยู่นั้นมีอะไรให้เค้ารักที่จะอยู่ต่อไปด้วยหรือเปล่าครับ ผมเรียนที่โรงเรียนผมก็รักโรงเรียนของผม ยังไม่อยากไปสอบ ม.๔ ที่อื่นเลย ถ้านักศึกษาไปสอบใหม่ตั้งครึ่งคณะนี่ผมว่ามาโทษเด็กฝ่ายเดียวก็ไม่ยุติธรรมครับ” ผมพูดรวดเดียวจนจบ นึกถึงเหตุผลของไอ้ตี๋จึงเอามาใช้ประกอบเสียเลย

อาจารย์ทั้งสองมองหน้ากันแล้วอมยิ้ม

“ฮื่อ เค้าว่าเราอยู่นะ” อาจารย์คนหนึ่งเปรยขึ้นมา “บอกให้เราพิจารณาตัวเอง”

- - -

“เฮ้ย น้อง เป็นไงบ้าง” รุ่นพี่ชายคนหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและเดินไปเดินมาอยู่หน้าห้องสอบสัมภาษณ์เดินเข้ามาทักผมเมื่อผมออกมาจากห้องสอบสัมภาษณ์

“แย่พี่” ผมตอบ “อาจารย์ถามเรื่องสอบเอนทรานซ์ใหม่ด้วย ตอนพวกพี่ๆติวไม่เห็นแนะนำเลยว่าคำถามนี้ควรตอบยังไง”

“อ๋อ คำถามนี้ไม่ติวให้น่ะ” รุ่นพี่หัวเราะ “พวกพี่ๆตกลงกันว่าสำหรับคำถามนี้จะไม่ติวให้และจะไม่บอกล่วงหน้าด้วย ข้อนี้ถือว่าน้องต้องวัดดวงกันเอาเอง เพราะว่าพวกพี่ๆก็ไม่อยากให้น้องปีหนึ่งเข้ามาแล้วก็ไปสอบเอนทรานซ์ใหม่เยอะๆเหมือนกัน”

มิน่าล่ะ ผมนึกในใจ

“แล้วน้องตอบว่าไง” รุ่นพี่ถาม

“ก็ไม่รู้จะตอบยังไงน่ะครับ” ผมตอบเนือยๆ ไม่อยากเล่าให้มากความ “ปีหน้าค่อยเจอกันอีกนะพี่”

“เฮ้ย ไอ้น้อง อะไรกัน แค่นี้ฝ่อแล้ว” รุ่นพี่หัวเราะ “ใจเย็นๆ ถ้าน้องไม่ผิดปกติจริงๆยังไงก็ผ่านอยู่แล้ว”

เมื่อสอบภาษณ์เสร็จผมก็เดินลงมาใต้ตึกเพราะยังมีขั้นตอนการตรวจร่างกายอีก ต้องเดินไปตรวจร่างกายที่สนามกีฬาในร่มซึ่งอยู่ไกลออกไป ตอนนั้นรู้สึกเซ็งๆอยู่บ้างเหมือนกัน ค่อนข้างมั่นใจเลยว่าสอบไม่ผ่าน แต่ผมมักไม่หมดหวังอะไรง่ายๆ ถึงแม้มีความหวังเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยผมก็ไม่คิดทิ้งความหวังนั้น ดังนั้นจึงยังไม่ถอดใจจนถึงกับไม่ไปตรวจร่างกาย

เมื่อผมเดินลงมาที่ใต้ตึกก็พบไอ้กี้กำลังยืนคุยกับพวกพี่ๆอยู่ คงจะเพิ่งสอบเสร็จมาเหมือนกัน

“ไอ้เหี้ยอู มานี่ก่อน” ไอ้กี้เรียก “เป็นไงบ้างวะ ถามเยอะไหม”

“ถามว่ากูจะสอบเอนทรานซ์ใหม่หรือเปล่าด้วยว่ะ มึงถูกถามเรื่องนี้ไหม” ผมเล่าสั้นๆ

“ไม่ได้ถามนี่หว่า แต่อาจารย์ถามว่าทำไมกูอยากเรียนคณะนี้” ไอ้กี้ตอบ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าไอ้กี้เลือกคณะและอันดับยังไงบ้าง บางทีการเลือกของมันอาจไม่ทำให้อาจารย์ระแวงนักก็เป็นได้ จึงไม่ถูกถาม

“แล้วมึงตอบยังไง” ผมถาม

“กูก็ตอแหล ตอบแบบเว่อๆ” กี้หัวเราะอารมณ์ดีจนตาเหลือเพียงเส้นนิดเดียว “ไม่รู้เค้าจะเชื่อกูหรือเปล่านะ”

หลังจากนั้นผม กี้ และว่าที่นักศึกษาใหม่คนอื่นๆที่สอบสัมภาษณ์เสร็จแล้วก็พากันเดินไปยังสนามกีฬาในร่มเพื่อเข้ารับการตรวจร่างกาย

เมื่อไปถึงจึงเข้าใจว่าทำไมจึงเลือกสถานที่ตรวจร่างกายที่สนามกีฬา ก็เพราะว่าผู้ที่ต้องมาตรวจร่างกายมาจากทุกคณะรวมกัน คนเยอะมากราวกับมีมหกรรม ขั้นตอนการตรวจร่างกายก็ไม่มีอะไรมาก ถือเอกสารเอาไว้แล้วก็ยืนรออยู่ในแถว ที่หน้าแถวจะมีฉากกั้นทำเป็นห้องชั่วคราวเล็กๆ เมื่อถึงคิวก็เดินเข้าไปในห้องนั้น เท่าที่จำได้ก็มีการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ฟังหัวใจ ปอด และซักถามทั่วไป จากนั้นก็ไปทดสอบตาบอดสีด้วยการดูภาพชุดสำหรับตรวจตาบอดสี ใช้เวลาไม่นานก็เป็นอันเสร็จพิธีการ หลังจากที่ตรวจร่างกายเสร็จแล้วผมก็กลับหอพักไป

- - -

หลังจากที่สอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกายเสร็จก็ไม่มีอะไรแล้ว เพียงแต่รอวันประกาศผลอย่างเป็นทางการเท่านั้น ช่วงนี้ที่จริงจะกลับบ้านก็ได้แต่เนื่องจากผมรู้สึกเซ็งๆ ยังน้อยใจพ่อไม่หายจึงยังไม่กลับบ้าน อยู่เตร็ดเตร่ในกรุงเทพฯต่ออีกหลายวัน จะว่าไปอยู่ในกรุงเทพฯก็ไม่มีอะไรทำเท่าไรนัก ไม่ได้นัดเพื่อนไปเที่ยวที่ไหนเลย ไปไหนก็ไปเพียงคนเดียว

อันที่จริงช่วงต้นเดือนเป็นช่วงที่ต้องลงทะเบียนเรียนและชำระค่าเทอมกับซื้อหนังสือสำหรับการเรียนในชั้น ม.๖ แต่ผมกะเอาแบบทุบหม้อข้าวตีเมือง คือไม่ไปชำระค่าเล่าเรียนไม่ทำอะไรทั้งนั้น หากไม่ติดค่อยมาว่ากันอีกที

ช่วงที่รอผลอยู่นั้นเอง เมื่อว่างๆไม่มีอะไรทำ ในวันหยุดจึงไปเดินเล่นที่ตลาดนัดจตุจักร ที่เลือกไปในวันหยุดเพราะนอกจากจะได้ดูหนังสือแล้วยังได้เดินเล่นดูสินค้าอื่นๆแก้เหงาไปด้วย

แผงหนังสือทั้งสองฝั่งของถนนกำแพงเพชร ๒ ค่อนข้างคึกคัก ผมแวะไปทางฝั่งแผงหนังสือเก่าก่อน เตร็ดเตร่ดูแผงที่ขายสามเล่มยี่สิบ เห็นคนเดินไปมาขวักไขว่ รออยู่นานกว่าจะได้จังหวะที่คนซา เมื่อแผงเริ่มปลอดคนผมก็โฉบเข้าไปหยิบนิตยสารแบบไม่ต้องดูหน้าปก ไปถึงก็คว้าเลย จากนั้นยื่นให้คนขายใส่ถุง จ่ายเงินแล้วรีบเดินจากมาโดยเร็ว การซื้อหนังสือของผมใช้เวลาเพียงไม่ถึงครึ่งนาทีด้วยซ้ำ

หลังจากได้นิตยสารสามเล่มยี่สิบมาแล้วผมก็ข้ามฝั่งไปดูแผงหนังสือกวดวิชา ดูๆไปก็รู้สึกว่าไม่รู้จะดูไปทำไมเพราะว่าภาระเรื่องการสอบเอนทรานซ์ของผมได้หมดไปแล้ว อย่างน้อยก็ในปีนี้

ถัดจากซุ้มหนังสือ บริเวณที่ติดกันคือโซนขายต้นไม้ ในสมัยนั้นโซนขายต้นไม้ก็เป็นส่วนที่ขายต้นไม้จริงๆ มีต้นไม้นานาพันธุ์ให้ชมและซื้อมากมาย ต่างจากในปัจจุบันที่โซนขายต้นไม้กลายเป็นโซนที่มีของทุกอย่างขายปนเปกันไปหมด ทั้งเสื้อผ้า อาหาร ของใช้ ฯลฯ ส่วนร้านที่ขายต้นไม้มีอยู่เพียงส่วนเดียวเท่านั้น ในยุคนี้หากต้องการซื้อต้นไม้ต้องไปวันพุธและวันพฤหัส สองวันนี้จะมีแต่ผู้ค้าต้นไม้นำต้นไม้มาขายจนเต็มไปหมดทั้งตลาดนัด

ผมเดินชมต้นไม้ไปเรื่อยๆ ทั้งไม้ดอกและไม้ใบของแต่ละร้านล้วนแต่แลดูสวยและสดชื่นด้วยกันทั้งนั้น พวกแคคตัสในกระถางเล็กๆดูจุ๋มจิ๋มน่ารัก กล้วยไม้ก็สวย ความรู้สึกของผมในตอนนี้แตกต่างจากเมื่อปีที่ผ่านมาอย่างมาก ปีที่แล้วผมมุอ่านหนังสือและหายใจเข้าออกเป็นบอยจนแทบไม่มีเวลาสนใจกับอย่างอื่น แต่วันนี้ผมกลับได้มาเดินทอดน่องอย่างสบาย ไม่ต้องกังวลกับการดูหนังสือ แต่มีความรู้สึกหนึ่งที่หลายปีมานี้คงอยู่กับผมมาตลอดและไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย นั่นก็คือความเหงา...

ขณะที่เดินชมต้นไม้อยู่นั้น เมื่อเดินผ่านร้านขายกุหลาบ ทันใดนั้นเองจมูกของผมก็ได้กลิ่นหอมที่คุ้นเคยกลิ่นหนึ่ง มันเป็นกลิ่นกุหลาบที่หอมแรง แต่ก็แฝงไว้ด้วยความหวานละมุน ไม่ได้หอมแรงแบบฉุนจมูก จำได้ว่าตอนเด็กๆผมชอบกินตะโก้แห้ว บางครั้งเมื่อกลับบ้านตอนปิดเทอมแม่ก็จะซื้อตะโก้จากตลาดมาฝากผมในบางครั้ง ตะโก้แห้วที่ผมเคยกินในสมัยเด็กนั้นอร่อยมาก ตัวกระทงทำด้วยใบตอง หน้ากะทิของตะโก้วางไว้ด้วยกลีบกุหลาบสีแดง แม้จะมีเพียงกลีบเดียวแต่ก็ส่งกลิ่นหอมหวาน กลิ่นหอมของกลีบกุหลาบผสมกับกลิ่นกะทิกลายเป็นกลิ่นหอมที่หวานมัน เย้ายวนให้ลิ้มชิม และที่สำคัญ แม้ว่าผมจะชอบกินตะโก้นี้เพียงใด แต่เมื่อใดที่ไอ้นัยไปพักที่บ้านผมจะต้องแบ่งกินกับมันเสมอ… แม้จะเหลือตะโก้เพียงกระทงเดียวผมก็ต้องแบ่งกันกับมันคนละครึ่ง

กุหลาบในกระถางวางอยู่เรียงรายหลายสิบต้น กุหลาบแต่ละพันธุ์ไม่เหมือนกัน บางพันธุ์เน้นที่ดอกสวยแต่กลิ่นแทบไม่มี ส่วนพันธุ์ที่มีกลิ่นนั้นก็มีกลิ่นหอมที่แตกต่างกันออกไป ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่ากลิ่นนี้มาจากกุหลาบต้นไหนกันแน่

“ลุงครับ กุหลาบอะไรน่ะ หอมจัง ได้กลิ่นตั้งแต่ยืนอยู่นอกร้านเลย” ผมเดินเข้าไปถามลุงขายกุหลาบซึ่งนอนเอกเขนกรอลูกค้าอยู่บนเตียงพับในแผงของแก

“อ๋อ กุหลาบมอญน่ะ” ลุงขายกุหลาบลุกขึ้นมาพร้อมกับตอบคำถาม พร้อมกับชี้ไปที่ต้นกุหลาบต้นหนึ่งที่มีดอกสีแดง มีกลีบซ้อนกันหนา “ต้นนั้นไง”

“กุหลาบมีตั้งหลายต้น ผมถามแค่นี้ลุงรู้เลยเหรอครับว่าผมหมายถึงต้นไหน” ผมยังไม่แน่ใจนัก

“ถ้าพ่อหนุ่มได้กลิ่นตั้งแต่ยืนอยู่ตรงนั้นละก็มีแต่กุหลาบมอญนั่นแหละ กุหลาบมอญเป็นกุหลาบที่ให้กลิ่นหอมแรง ได้กลิ่นแต่ไกล” ลุงอธิบาย

ผมเดินไปดูใกล้ๆ ดูจากสีของดอกก็น่าจะใช่อยู่เหมือนกัน และเมื่อได้กลิ่นก็แน่ใจได้ว่าใช่เลย

“กุหลาบเป็นสัญลักษณ์ของความรักนะ ซื้อไปฝากสาวสิ รับรองชอบแน่” คุณลุงพยายามโน้มน้าว

“ไม่ละครับลุง” ผมส่ายหน้า “ผมไม่เคยเลี้ยงต้นไม้ อยู่หอพักด้วย ไม่รู้จะเลี้ยงยังไง แถมไม่มีสาวให้ฝากอีกต่างหาก”

“ไม่มีสาวจะให้ก็เลี้ยงเองเอาไว้ก่อนก็ได้พ่อหนุ่ม มีแล้วค่อยให้” ลุงขายกุหลาบโน้มน้าวอีก แต่ผมว่าความคิดของลุงก็แปลกๆอยู่ มีแต่เอาดอกกุหลาบไปให้สาว ไม่เคยได้ยินว่าให้กุหลาบกันทั้งต้นสักที

ผมปฏิเสธพลางเดินออกจากร้าน แต่เมื่อผมเดินผ่านกุหลาบมอญต้นนั้นผมก็ได้กลิ่นอันหอมหวานอีก มันทำให้ผมนึกถึงตะโก้แห้ว นึกถึงวัยเด็กอันแสนสุขที่บ้านในชนบท นึกถึงบทเพลง My love is like a red, red rose และนึกถึง... ไอ้นัย...

“เอ้อ ลุงครับ มันเลี้ยงยากไหม” ผมกันกลับไปถาม ลุงขายกุหลาบที่กำลังเดินผละจากผมไปก็หันกลับมาอีกเช่นกัน

“ปกติกุหลาบเลี้ยงยาก โรคและแมลงมันกวนเยอะ ถ้าเป็นกุหลาบพันธุ์อื่นลุงไม่แนะนำให้เลี้ยงหรอก แต่กุหลาบมอญนี่เป็นพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย ทนทานมาก ถ้าพ่อหนุ่มเลี้ยงไม่รอดก็ไม่ต้องเลี้ยงอะไรแล้ว... ยังงี้หาเลี้ยงแฟนก็ไม่รอดเหมือนกัน” ลุงพูดติดตลก

ในที่สุดผมก็ตัดสินใจซื้อกุหลาบมอญต้นนั้นมาในราคา ๒๕ บาท ต้นขนาดไม่ใหญ่นัก สามารถใส่ถุงพลาสติกใบใหญ่และหิ้วเอามาได้ พร้อมกันนั้นก็ซื้อปุ๋ยมาถุงหนึ่งเพื่อใช้บำรุงตามคำแนะนำของลุงผู้ขาย ที่จริงลุงแกแนะนำให้ผมซื้อกระถางและดินมาด้วยเพราะว่ากระถางที่ปลูกอยู่นี้เป็นกระถางขนาดเล็ก เมื่อซื้อไปแล้วควรย้ายลงปลูกในกระถางที่ใหญ่ขึ้นจึงจะงาม แต่ผมยังไม่ซื้อเพราะว่าแบกกระถางดินเผาและดินปลูกกลับหอพักไม่ไหว คิดไปแล้วก็ไม่รู้ว่าซื้อมาได้อย่างไรเหมือนกัน จะว่าหลงคารมคนขายก็คงไม่ใช่เพราะว่าลุงแกหว่านล้อมไม่ได้เรื่องเอาเสียเลย

- - -

เมื่อกลับไปถึงหอพักก็เป็นเวลาเย็นแล้ว หลังจากเอาของไปเก็บที่ห้องแล้วผมก็เอากุหลาบขึ้นไปวางไว้บนชั้นดาดฟ้าซึ่งเป็นพื้นที่โล่งสำหรับพักผ่อนหย่อนใจรวมทั้งเป็นสถานที่ซักผ้าของบรรดาชาวหอ ลุงขายกุหลาบบอกว่ากุหลาบชอบแดด ผมจึงนำมาเลี้ยงที่ชั้นดาดฟ้าโดยวางไว้ที่ข้างกำแพงด้านหนึ่งพร้อมกับเขียนป้ายเล็กๆห้อยเอาไว้ว่าเป็นของอู ชั้น ๔ เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ สมาชิกในแก๊งของพี่ธิตเมื่อเห็นกุหลาบห้อยป้ายของผมต่างก็พากันแซว

“เฮ้ย อู อยู่ดีๆก็เลี้ยงกุหลาบแดง กำลังมีความรักหรือไง” พี่ธิตทัก

“เลี้ยงกุหลาบต้องเป็นคนที่กำลังมีความรักด้วยหรือครับ” ผมกวน

“ก็ไม่ใช่หรอก แต่พฤติกรรมของเรามันชวนให้สงสัย” พี่ธิตกวนมั่ง น้องปั้นและคนอื่นๆช่วนกันแซวผมเป็นการใหญ่

“กลิ่นมันหอมน่ะครับ ชอบกลิ่นนี้ และเห็นว่ามันไม่แพงด้วยก็เลยลองซื้อมาเลี้ยงดู” ผมตอบ

หลังจากที่หาที่วางกระถางกุหลาบได้เรียบร้อยแล้วผมจึงโรยปุ๋ยลงในกระถางพร้อมกับรดน้ำจนชุ่ม จากนั้นก็อยู่สังสรรค์กับแก๊งของพี่ธิตต่อไปจนค่ำจึงกลับลงไปที่ห้อง

- - -

เช้าวันรุ่งขึ้น เรื่องแรกที่ผมทำหลังจากตื่นนอนตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางนั่นก็คือเดินขึ้นไปดูกุหลาบที่ชั้นดาดฟ้า

ดอกกุหลาบมอญสีแดงที่ติดมากับต้นตั้งแต่ตอนซื้อมายังบานสวยอยู่ ส่งกลิ่นหอมกระจาย อากาศยามเช้าที่สดชื่นเจือด้วยกลิ่นกุหลาบมอญที่หอมหวานละมุนทำให้ผมอดคิดถึงวัยเด็กและไอ้นัยไม่ได้ ผมอดรู้สึกแปลกใจตนเองไม่ได้ที่หมู่นี้ภาพของไอ้นัยแว่บเข้ามาในความคิดของผมหลายครั้งแล้ว ทั้งๆที่เมื่อก่อนหน้านี้... โดยเฉพาะตอนที่ผมกำลังทุ่มเทใจให้แก่บอย... ช่วงนั้นผมไม่ค่อยนึกถึงไอ้นัยเท่าไรยกเว้นแต่ตอนที่ผมฝันร้าย แต่หลังจากที่ผมตัดใจจากบอยได้แล้ว... น่าแปลกที่ผมกลับไม่ค่อยหวนคิดถึงบอยเท่าไร ภาพของไอ้นัยกลับเข้ามาในความคิดของผมบ่อยกว่าเสียอีก

กลิ่นกุหลาบเหมือนมีมนต์ที่สามารถปลดปล่อยความคิดของผมให้ล่องลอยไปไกลแสนไกล จนเมื่อแสงทองเริ่มรำไรที่ขอบฟ้าผมจึงตื่นจากภวังค์ ผมเริ่มรู้สึกผูกพันกับกุหลาบมอญต้นนี้ทั้งๆที่เมื่อวานตอนที่ซื้อมาผมก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่าซื้อมาได้อย่างไร

บำรุงเสียหน่อย จะได้งามๆ ผมคิดพลางเดินกลับลงไปที่ห้อง ไปหยิบถุงปุ๋ยเม็ดขึ้นมาโรยเพิ่มลงไปในกระถางอีกจากที่โรยลงไปแล้วเมื่อวาน จากนั้นก็รดน้ำอยู่นานเนื่องจากกลัวว่าจะให้น้ำไม่เพียงพอทั้งๆที่กระถางก็ใบเล็กนิดเดียว


<กุหลาบมอญหรือมีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่ายี่สุ่น เป็นไม้ดอกทรงพุ่ม ลำต้นสูงประมาณ ๑-๒ เมตร เลี้ยงง่าย ทนทานต่อโรค ส่งกลิ่นหอมแรง ที่พบเห็นบ่อยเป็นชนิดดอกสีแดงและดอกสีชมพู หากเป็นสีแดงมักเรียกกุหลาบมอญแดงประเสริฐ ส่วนกุหลาบมอญสีชมพูมักเรียกว่ากุหลาบมอญไกลกังวล กลีบดอกกุหลาบมอญแดงมักใช้ทำขนม ส่วนกุหลาบมอญชมพูนั้นมักใช้สกัดทำน้ำหอม น้ำมันหอมระเหยหรือว่าน้ำหอมที่สกัดได้จากกุหลาบกลีบมอญนั้นมีราคาแพงมาก ปัจจุบันกิโลกรัมละกว่าสองแสนบาท>


<ตะโก้ที่ประดับด้วยกลีบกุหลาบมอญแดง กลิ่นกะทิผสมกับกลิ่นกุหลาบให้กลิ่นเฉพาะที่หอมหวานและเป็นเอกลักษณ์อันเป็นความประทับใจในวัยเยาว์ ปัจจุบันหาตะโก้ที่ประดับด้วยกุหลาบมอญได้ไม่ง่ายนัก ยิ่งตะโก้ประดับกุหลาบมอญที่มีกลิ่นเฉพาะที่หอมหวานละมุนยิ่งหายากเข้าไปใหญ่เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่ คนทำขนมต้องมีฝีมือจึงจะได้กลิ่นกะทิที่หอม รวมทั้งกลีบกุหลาบมอญจะส่งกลิ่นเฉพาะในช่วงเช้าตอนที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ หากทิ้งไว้นานกลิ่นจะไม่ค่อยเหลือแล้ว>

Thursday, August 5, 2010

ภาคสี่ ตอนที่ 1

“แม่ อูสอบติดนะ อูสอบได้คณะเทคโนโลยี” ผมกรอกเสียงลงไปในหูโทรศัพท์ หลังจากที่กลับมาถึงหอพักผมก็โทรหาที่บ้านเป็นอย่างแรก แม่เป็นคนรับสาย

“เหรอ ดีแล้วอู” แม่พูด น้ำเสียงของแม่ไม่ได้แสดงความตื่นเต้นอะไรนัก ที่บ้านของผมก็เป็นอย่างนี้เอง เรื่องเรียนค่อนข้างจะปล่อยลูกๆ ผลการเรียนเป็นอย่างไรก็ไม่ว่า เกรดต่ำก็ไม่ตำหนิ เกรดสูงก็เฉยๆ แม่คงคิดว่าลูกๆถึงอย่างไรคงเอาตัวรอดในเรื่องเรียนได้

เมื่อวางสายจากแม่ผมคิดจะโทรไปหาบอยเป็นรายต่อไป อยากบอกข่าวนี้แก่บอยรวมทั้งอยากรู้ด้วยว่าบอยสอบติดโรงเรียนเตรียมฯหรือไม่ แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากโทรไป ตอนนี้ผมทำใจได้แล้ว ในเมื่อเรื่องมันผ่านไปแล้วผมก็ควรปล่อยให้มันผ่านเลยไป ไม่ควรไปฟื้นฝอยหาตะเข็บอีก ลังเลอยู่ชั่วขณะผมก็กลับขึ้นห้องไป

- - -

หลังจากที่ประกาศผลสอบเอนทรานซ์ในส่วนของข้อเขียนแล้วก็มีขั้นตอนตามมาอย่างต่อเนื่อง ผมยังต้องสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย และหลังจากนั้นก็จะมีประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่งจึงจะถือว่ากระบวนการเสร็จสิ้นสมบูรณ์และได้เรียนต่อแน่นอน ต่อจากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนการลงทะเบียนเรียนและการเข้าเป็นนักศึกษาใหม่

นอกจากขั้นตอนที่เป็นทางการแล้วยังมีขั้นตอนที่ไม่เป็นทางการอีก อันได้แก่กิจกรรมที่ว่าที่รุ่นพี่ของคณะเป็นผู้นัดหมาย ส่วนใหญ่ก็เป็นการนัดพบเพื่อให้คำแนะนำและเพื่อทำความรู้จักคุ้นเคย

หลังจากวันประกาศผลการสอบ วันรุ่งขึ้นผมต้องไปที่คณะเทคโนโลยีตามที่รุ่นพี่ของคณะนัดเอาไว้ พวกพี่ๆเรียกกิจกรรมในวันนี้ว่าเป็นวันแรกพบน้อง โดยรุ่นพี่ในคณะจะมาทำความรู้จักกับน้องๆ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อสอบสัมภาษณ์และการตรวจร่างกาย รวมทั้งเป็นโอกาสที่ว่าที่นักศึกษาใหม่จะได้มาพบปะและทำความรู้จักกันเองอีกด้วย โดยในยุคนั้นการสร้างความคุ้นเคยของนักศึกษาใหม่ด้วยกันมักเป็นการนัดพบปะและทำกิจกรรมด้วยกันที่คณะ หลังจากนั้นเมื่อเปิดเรียนแล้วก็เป็นแบบเรียนไปก็คุ้นเคยกันไป ส่วนการจัดกิจกรรมในลักษณะไปเที่ยวด้วยกันหรือกิจกรรมค่ายก่อนเปิดเทอมนั้นยังไม่ค่อยมี มานิยมกันในยุคหลังเสียมากกว่า

ในวันแรกพบน้องรุ่นพี่นัดเอาไว้สิบโมง ผมจึงออกจากหอพักตั้งแต่ยังไม่เก้าโมงเช้า เวลาเดินทางชั่วโมงกว่าสบายๆ

ผมนั่งรถเมล์ปรับอากาศสาย ปอ.๒ ผ่านเส้นทางอันคุ้นเคย ผ่านปากทางลาดพร้าว สะพานควาย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สยามสแควร์ เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ผมใช้เดินทางมาเรียนดนตรีเป็นเวลาหลายปี เมื่อวานก็เพิ่งนั่ง ปอ.๒ มาตอนที่มาดูผลสอบเอนทรานซ์ แต่ทว่าความรู้สึกกลับไม่เหมือนกัน เมื่อวานผมเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ตื่นเต้น ส่วนในวันนี้อารมณ์ของผมค่อนข้างสับสน ผมทั้งคิดถึงอนาคตที่รออยู่ข้างหน้า ขณะเดียวกันก็หวนนึกถึงอดีตที่ผ่านมา ย่านสยามสแควร์เป็นสถานที่ที่ให้ความทรงจำอันลึกซึ้งแก่ผม ทั้งสุขและทุกข์ ทั้งดีและร้าย เมื่อก่อนผมมาที่สยามสแควร์เฉพาะในวันหยุดแต่ต่อไปผมคงผ่านได้ทุกวัน

ผมลงรถที่ป้ายสามย่าน จากนั้นเดินข้ามถนนไปที่ฝั่งตลาดสามย่าน เดินเลาะไปทางถนนพระรามสี่และข้ามถนนอีกครั้งที่แถวหน้าโรงหนังรามา แถวนี้เป็นย่านสะพานเหลืองซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับสามย่าน ตลอดทางที่เดินนั้นผมไม่เงียบเหงาเพราะมีเด็กวัยรุ่นในวัยเดียวกับผมเดินด้วยกันเป็นกลุ่ม คงเป็นเพื่อนใหม่ที่สอบติดมหาวิทยาลัยเดียวกับผมนั่นเอง

ผมเดินเข้าประตูมหาวิทยาลัยจากนั้นก็เดินไปทางคณะเทคโนโลยี คณะนี้ถือว่าเป็นคณะที่มีนักศึกษามากคณะหนึ่ง ปีนี้รับทั้งหมดกว่าสี่ร้อยคน ตึกในคณะจึงมีหลายตึก แม้ว่าเป็นคณะตั้งใหม่แต่เมื่อดูจากสภาพภายนอกของตึกแล้วกลับไม่ได้ใหม่สักเท่าใดนัก มีตึกใหม่เพียงบางตึกเท่านั้น ตึกส่วนใหญ่มีสภาพกลางเก่ากลางใหม่ และบางตึกอยู่ในสภาพเก่าเลยทีเดียว ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่ามีการแบ่งตึกเรียนจากคณะเดิมมาใช้ด้วยพร้อมกับสร้างใหม่เพียงบางส่วนนั่นเอง

สถานที่นัดหมายของรุ่นพี่นั้นไม่ต้องเสียเวลาไปหา เมื่อเข้ามาในบริเวณคณะผมก็เดินตามกลุ่มคนไปเรื่อยๆก็เจอได้เอง ระหว่างที่เดินไปผมสังเกตเห็นว่าบางคนก็คุ้นหน้า คงจะเป็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนนั่นเอง

“เฮ้ย ไอ้เหี้ยอู มึงมาทำอะไรแถวนี้วะ” เสียงอันคุ้นเคยเรียกผม ใส่คำนำหน้าชื่อให้แบบนี้คงไม่ใช่ใครอื่น ผมอดนึกในใจไม่ได้ว่าทำไมถึงได้ซวยขนาดนี้ เจอมันมาสองปีเบื่อปากมันจะแย่อยู่แล้ว นี่ยังต้องมาเรียนคณะเดียวกันอีก

“กูก็มางานแรกพบน้องน่ะสิ” ผมหันไปตอบเจ้าของเสียง “มีอะไรมั้ย”

“ไอ้ห่านี่” ไอ้กี้หัวเราะจนตาเหลือเป็นเส้นเล็กๆ “มึงสอบติดคณะนี้จริงหรือวะ แหกตาหรือเปล่า กูไม่เห็นมึงสอบเทียบหรือสอบห่าอะไรเลย แล้วมึงเอนทรานซ์ได้ยังไง”

“ถ้ากูแหกตามึงได้ก็ดีสิ เวลามึงลืมตาคนอื่นจะได้รู้ว่ามึงลืมตาอยู่” ผมตอบ “กูก็เรียน กศน. แล้วก็สอบเอนทรานซ์นั่นแหละ กูจะทำอะไรต้องมาคอยรายงานให้มึงรู้ด้วยหรือไง”

“เดี๋ยวนี้ปีกกล้าขาแข็ง หือใหญ่แล้วนะมึง” ไอ้กี้หัวเราะร่วน

“ซวยฉิบหาย ทำไมกูหนีมึงไม่พ้นเลยวะ ไปที่ไหนก็เจอ” ผมถอนหายใจ “ปีหน้ากูสอบใหม่ดีกว่า”

ผมและไอ้กี้เดินไปเรื่อยๆจนถึงตึกใหญ่หลังหนึ่ง ใต้ตึกเป็นพื้นที่กว้าง ที่นั่นมีเด็กวัยรุ่นจำนวนมากกระจายกันนั่งอยู่ก่อนแล้ว มีรุ่นพี่หลายสิบคนเดินไปเดินมา คอยพูดคุยกับน้องๆและพาไปนั่ง ผมกวาดสายตาดูไปรอบๆ เห็นบรรดาน้องใหม่มีคนคุ้นหน้าอยู่หลายคน บางคนก็เป็นเพื่อนต่างห้อง บางคนก็เป็นรุ่นพี่ แต่คนที่มาจากห้องเดียวกับผมไม่มีคนอื่นอีกเลยนอกจากไอ้กี้

“น้องชื่ออะไรคะ” รุ่นพี่คนหนึ่งเดินมาถามผมและไอ้กี้ ในมือถือกระดาษร้อยเชือกพลาสติกดูพะรุงพะรัง เมื่อเราบอกชื่อไป พี่คนนั้นก็เอาปากกาเขียนชื่อของเราลงบนกระดาษ จากนั้นก็ให้เราห้อยคอเอาไว้ “อะ ห้อยเอาไว้นะ แล้วหาที่นั่งได้ตามสบายเลย เพื่อนร่วมรุ่นของเราทั้งนั้น”

หลังจากนั้นไอ้กี้กับผมก็เดินไปเลือกที่นั่ง กี้เห็นเพื่อนที่เคยเรียนด้วยกันมาแต่ว่าฝ่าเข้าไปนั่งด้วยไม่ถึง จึงเลือกเอาที่พื้นที่ว่างใต้ตึกรอบนอก เห็นคนหน้าตาคุ้นๆที่คิดว่าน่าจะมาจากโรงเรียนเดียวกันแล้วก็ชวนผมนั่งลง ก็ดีเหมือนกัน นั่งกับคนที่รู้จักกันก็อุ่นใจหน่อย

เมื่อนั่งลงไปแล้วก็สังเกตดูเพื่อนๆที่นั่งอยู่โดยรอบโดยละเอียด คนเหล่านี้น่ะหรือที่จะเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนของผมต่อไป ความรู้สึกที่ไม่คุ้นเคยเกิดขึ้นทันที ผมเคยย้ายโรงเรียนมาก่อน อีกทั้งคละชั้นเรียนอยู่หลายปี การรู้จักกับเพื่อนใหม่ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่สร้างรู้สึกไม่คุ้นเคยให้แก่ผมนั่นก็คือ…

ผู้หญิง!

“ดีจ้า ชื่อไรจ๊ะ” ผมได้ยินเสียงพร้อมรู้สึกตึงวูบที่คอ เพื่อนใหม่ที่นั่งติดกับผมเอื้อมมาดึงป้ายชื่อกระดาษที่คล้องคอผมไปดู “อ้อ ชื่ออู เราชื่อเจตนะ แล้วที่นั่งข้างๆนั่นมาด้วยกันใช่ไหม ชื่ออะไรน่ะ”

เจตเป็นสาวน้อยท่าทางห้าวหาญ ใส่แว่นกรอบใหญ่ พูดจาฉาดฉานเสียงดังฟังชัดจนผมตกใจ

“อ้อ หวัดดีเจต ไอ้คนนี้ชื่อกี้” ผมทักทายและแนะนำกี้ ตอนนั้นกี้กำลังคุยกับคนที่นั่งติดกับมันอยู่เช่นกัน

“เฮ้ย ไอ้อู นี่พี่โรงเรียนจริงๆด้วยโว้ย ชื่อพี่เพชร” เสียงกี้เรียกผมพร้อมทั้งแนะนำคนที่นั่งข้างๆให้ผมรู้จัก เพชรเป็นพี่ ม.๖ ที่โรงเรียนนั่นเอง

“หวัดดีครับพี่” ผมหันทักทาย ด้วยความนับถือในอาวุโสตามที่ถูกปลูกฝังมาจากที่โรงเรียนจึงทำให้ผมและกี้เรียกเพชรว่าพี่ทั้งๆที่ความจริงขณะนี้เราเป็นรุ่นเดียวกันแล้ว

“อ้าว นี่เด็กสอบเทียบหรอกเหรอ” เสียงเจตอุทาน “เฮอะ ยังงั้นพวกเธอต้องเรียกชั้นพี่เจตนะยะ เพราะเธอเป็นรุ่นน้อง จะมาตีเสมอไม่ได้”

ผมอึ้ง นึกคำพูดที่จะตอบไม่ถูก เพื่อนหญิงคนแรกของผมนั้นห้าวหาญเกินกว่าที่ผมจะตั้งหลักและรับมือได้ทัน

“เรียกเจ๊ได้มั้ย” กี้พูดหลางหัวเราะตามแบบฉบับของมัน ผมอดทึ่งในไหวพริบของมันไม่ได้ ผมน่าจะประฝีปากกับเจตได้แบบนี้บ้าง ไม่ใช่นั่งอึ้งกิมกี่

“เรียกเจ๊ก็ได้” เจตไม่ขัดข้อง “หน้าเธอมันยี้ หยี เอ๊ย ตี๊ ตี๋ ยอมให้เรียกเจ๊ละกัน”

หลังจากต่อปากต่อคำกันพอสนุก พวกเราก็ได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่นั่งอยู่รอบข้างทั้งหญิงและชายอีกหลายคน หลักจากที่คุยกันสักพัก พวกพี่ๆก็เริ่มงานวันแรกพบน้อง โดยแนะนำตัวพวกพี่ๆให้น้องรู้จัก พร้อมทั้งให้น้องๆแต่ละคนได้แนะนำตัวเอง จากนั้นก็เป็นการแนะนำเกี่ยวกับการสอบสัมภาษณ์และการตรวจร่างกายซึ่งจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า ที่จริงเมื่อวานที่สนามประกาศผลก็มีการแนะนำไปบ้างแล้ว แต่ ในวันนี้มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นอีก อย่างเช่นคำถามที่มักถูกถามบ่อยในการสอบสัมภาษณ์ เป็นต้น

เพียงไม่ถึงบ่ายโมงกิจกรรมก็เสร็จสิ้นลง หลังจากนั้นก็เป็นเวลาตามสบาย ใครจะกลับก็ได้ หรือจะนั่งคุยกับเพื่อนใหม่หรือคุยกับรุ่นพี่ต่อก็ได้ ผมกับกี้นั่งเล่นอยู่ที่ใต้ตึกนั้นต่ออีกพักใหญ่ กิจกรรมในวันนั้นทำให้ผมเริ่มรู้จักกับเพื่อนใหม่ทั้งชายและหญิง รวมทั้งเพื่อนและรุ่นพี่จากโรงเรียนเพิ่มขึ้นอีกหลายคน

- - -

ต้นนนทรีที่สองฝั่งถนนในชนบทยังพอมีดอกเหลืองให้เห็นอยู่ในเดือนพฤษภาคม ในที่สุดผมก็กลับมาบ้านอีกครั้งหนึ่ง การกลับบ้านในครั้งนี้ก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกจากคราวก่อนๆอีก ครั้งก่อนๆผมกลับมาในฐานะนักเรียน แต่ครั้งนี้ผมกลับบ้านในฐานะว่าที่นักศึกษามหาวิทยาลัย แม้ผมเพิ่งจะพ้นจากรั้วโรงเรียนมาเพียงไม่กี่เดือนแต่ผมกลับรู้สึกว่าผมเติบโตขึ้นอีกมาก

แต่ความรู้สึกเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกแช่มชื่นมากนัก ตรงกันข้าม เมื่อผ่านถนนกลับบ้านเส้นนี้ครั้งใดผมมักรู้สึกอ้างว้างเสมอ ครั้งนี้ก็เช่นกัน...

“ป๊า แม่ เอ๊ด อูกลับมาแล้ว” ผมร้องเอะอะเมื่อก้าวเท้าเข้ามาในบ้านทั้งๆที่ยังไม่เห็นใคร “ไปไหนกันหมด”

“อ้าว อู จะมาก็ไม่บอก” แม่และเอ๊ดเดินออกมาจากห้องครัวพร้อมกับส่งเสียง ช่วงนั้นเอ๊ดยังอยู่ที่บ้านเพราะยังปิดเทอมอยู่

“ป๊าไปไหนล่ะ” ผมถาม

“อยู่ในโรงงาน เดี๋ยวก็มา” แม่ตอบ

หลังจากนั้นแม่ เอ๊ด และผมก็คุยกันเกี่ยวกับเรื่องการสอบที่ผ่านมา รวมทั้งถามรายละเอียดเกี่ยวกับคณะที่ผมสอบติด คุยกันได้ไม่นานพ่อก็เดินเข้ามา

“ป๊า” ผมทัก

พ่อพยักพร้อมกับส่งเสียงฮื่อๆในลำคอเป็นการทักทายผม

“ช่วงนี้ยังไม่มีอะไรอูเลยกลับมาเที่ยวบ้าน สัปดาห์หน้าอูถึงจะสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย” ผมคุยให้พ่อฟัง

“บอกแล้วให้เรียนบัญชีก็ไม่เชื่อ” พ่อเอ่ยปากขึ้น “เรียนคณะอะไรก็ไม่รู้ จบแล้วจะไปทำงานอะไร”

ช่วงนั้นเป็นยุคที่ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ลดค่าเงินบาทมาเพียงไม่กี่ปี ตอนที่ลดค่าเงินบาทนั้นเศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากโดยเฉพาะวงการก่อสร้าง ทั้งล้ม ทั้งหนี กระทบกันเป็นลูกระนาด บัณฑิตตกงานก็มีไม่น้อย

ผมชะงัก ผมต้องกลืนรื่องสนุกๆที่อยากจะคุยกลับลงไปจนหมด รู้สึกเจ็บลึกเข้าไปในหัวใจ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ในครั้งนี้ถึงแม้ว่าแม่จะไม่ได้แสดงความดีใจอะไรมากนัก ส่วนเอ๊ดนั้นก็ไม่ใช่คนที่ช่างพูดหรือช่างแสดงรู้สึก แต่ทั้งสองคนก็ยังเออออไปกับผม ยังให้กำลังใจผม ส่วนพ่อ... ถ้าเป็นพ่อของคนอื่นคงชื่นชมที่ลูกสอบเอนทรานซ์ได้ และอาจพาไปเที่ยวหรือซื้อของที่อยากได้ให้เป็นรางวัลไปแล้ว แต่สำหรับพ่อของผม... ประโยคแรกที่พ่อทักหลังจากที่ผมสอบเอนทรานซ์ได้...

“ก็อูไม่อยากเรียนนี่นา” ผมตอบเบาๆ แล้วก็คุยสัพเพเหระอีกสักครู่จากนั้นก็ปลีกตัวขึ้นห้องนอนไป เมื่อผมน้อยเนื้อต่ำใจมากๆผมจะไม่เอะอะโวยวายเลย ตรงกันข้าม ผมจะเงียบและเฉย เก็บมันเอาไว้ในใจ จนแทบไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับผม

- - -

การกลับบ้านในครั้งนั้นผมอยู่ที่บ้านเพียงสองสามวันเท่านั้น สาเหตุหนึ่งเพราะว่าต้องมาสอบ ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะรู้สึกว่าอยู่แล้วก็ไม่มีอะไร คำพูดของพ่อทำให้ผมสูญเสียความกระตือรือร้นไปจนหมด

อย่างไรก็ตาม ก่อนกลับกรุงเทพฯผมมีโอกาสขี่รถจักรยานเล่นไปที่สวนผลไม้ซึ่งเป็นทางเข้าไปสู่บึงน้ำ ผมหยุดรถที่หน้าสวน มองเข้าไปตามทางเล็กๆซึ่งทอดเข้าไปในสวนแต่ไม่ได้ขี่จักรยานเข้าไป

ผมอดนึกถึงไอ้นัยไม่ได้ หลังจากที่ผมต้องทุกข์ใจกับเรื่องของบอย กาลเวลาสามารถเยียวยาหัวใจที่บอบช้ำของผม ในที่สุดผมก็ค่อยๆตัดใจจากบอยได้ จนท้ายที่สุดบาดแผลในหัวใจของผมก็หายจนแทบสนิท จากที่เมื่อก่อนเจ็บจนเจียนตาย มาวันนี้ผมรู้สึกว่ามันก็เป็นเพียงความทรงจำจางๆเพียงรอยหนึ่ง แต่กับไอ้นัย ความรู้สึกของผมกลับแตกต่างออกไป...

ผมสูดลมหายใจแรงๆ ได้กลิ่นหอมอ่อนๆอันคุ้นเคยของดอกไม้แถวนั้น ผมหยุดที่หน้าสวนอยู่พักใหญ่ ปล่อยความคิดให้ล่องลอยไป และในที่สุดก็จากมา...

- - -

วันสอบสัมภาษณ์

การสอบสัมภาษณ์และการตรวจร่างกายมีขึ้นที่มหาวิทยาลัยในสัปดาห์ถัดมา ตอนเช้าเป็นการสอบสัมภาษณ์ซึ่งกรรมการสอบเป็นอาจารย์ของคณะเทคโนโลยีนั่นเอง ผมไปถึงที่คณะแต่เช้าและไปรออยู่ที่หน้าห้องสอบ ห้องสอบสัมภาษณ์ของผมและไอ้กี้อยู่คนละชั้นกัน ที่ตึกสอบมีรุ่นพี่ของคณะมาคอยให้กำลังใจน้องๆอยู่ด้วย

“ไม่ต้องห่วงนะน้อง โอกาสสอบสัมภาษณ์ไม่ผ่านมีแค่ร้อยละศูนย์จุดศูนย์หนึ่ง” รุ่นพี่ให้กำลังใจด้วยวิชาความน่าจะเป็นและสถิติ

ปกติการสอบสัมภาษณ์เป็นการกลั่นกรองด้านทัศนคติและความประพฤติของผู้เข้าสอบ หากไม่ถึงกับพูดจาไม่รู้เรื่องหรือมีการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมที่จะเข้าเรียนต่อจริงๆ ก็มักไม่มีปัญหาอะไรดังที่รุ่นพี่พูดเอาไว้นั่นเอง

เมื่อถึงคิวที่ผมต้องเข้าสอบสัมภาษณ์ กรรมการสอบมี ๒ คน เป็นชายหนึ่งหญิงหนึ่ง ท่าทางเป็นกันเองไม่ดุเลย เรื่องที่คุยกับผมก็ไม่ใช่เรื่องที่รุ่นพี่ซักซ้อมมาให้ซึ่งผมพยายามเตรียมคำตอบและซักซ้อมเอาไว้แล้ว แต่กลับกลายเป็นเรื่องสัพเพเหระ อย่างเช่น เรื่องหนังจีนกำลังภายในที่ฉายทางทีวีอยู่ในขณะนั้น ซึ่งผมตอบไม่ได้เลยเพราะไม่มีทีวีดู เมื่อกลับบ้านครั้งนี้ก็ไม่ได้ดู ถ้าถามเกี่ยวกับข่าวอาจจะยังพอตอบได้บ้างเพราะว่าอ่านหนังสือพิมพ์

“แหะๆ ไม่ทราบครับ ผมไม่ได้ดูทีวี ผมอยู่หอพักครับ ที่ห้องไม่มีทีวี” ผมตอบอ้อมแอ้ม

แค่นั้นแหละ เป็นเรื่อง อาจารย์ทั้งสองจึงถามซักไซร้ไล่เรียงกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผมอย่างละเอียด ซึ่งผมก็ตอบว่าดูหนังสือ ดูหนังสือ และดูหนังสือ ผมต้องดูหนังสืออย่างหนักเพราะไม่ได้เรียนกวดวิชา อีกทั้งยังต้องเตรียมสอบ กศน. อีกด้วย

“อ้อ สอบเทียบมา” อาจารย์หัวเราะหึหึ ผมใจหายวาบ ว่าจะไม่พาดพิงถึงเรื่องนี้แล้วเชียว ถึงแม้ว่าอาจารย์อาจจะมีข้อมูลของผมอยู่แล้วก็ตาม แต่หากเลี่ยงที่จะคุยเรื่องนี้ได้เป็นดีที่สุด แต่แล้วผมก็หลุดปากออกไปจนได้

“มาแย่งที่นั่งรุ่นพี่ เรียนปีหนึ่งแล้วก็ไปสอบใหม่ สูตรสำเร็จของนักเรียน ม.๕ ยุคนี้” อาจารย์อีกคนเสริม

“แล้วนี่ก็คงคิดที่จะสอบเอนทรานซ์ใหม่อีกล่ะสิ ใช่หรือเปล่า ไหนเล่ามาให้ฟังหน่อยว่าตอนเลือกคณะเลือกอะไรไปบ้าง” คนหนึ่งชงอีกคนหนึ่งรับ เข้ากันได้ดี

“เอ้อ” ผมอึกอัก พลางแจกแจงอันดับการเลือกคณะให้อาจารย์ฟัง

“โอ้โฮ ม.๕ เลือกคณะแบบนี้ก็เห็นความตั้งใจแล้ว แล้วปีหน้ายังจะอยู่ให้ครูเห็นหน้าอีกหรือนี่” ในที่สุดผมก็ถูกต้อนให้จนมุม

ไม่น่าตอบโง่ๆเลยเรา ตอบอะไรก็พลาดไปหมด สงสัยที่รุ่นพี่บอกว่าว่าโอกาสสอบไม่ผ่านมีเพียงร้อยละ ๐.๐๑ เท่านั้นนี่คงเป็นผมแน่นอน คิดแล้วอดเจ็บใจตัวเองไม่ได้

“...”

“เอ้า ว่าไงล่ะ” อาจารย์เร่งรัดเอาคำตอบ



<รถเมล์ปรับอากาศสาย ปอ.๒ ในยุคนั้น ต้นสายด้านหนึ่งอยู่ที่สีลม ตรงข้ามโรงพยาบาลเลิดสิน เมื่อก่อนจอดพักรถกันอยู่ที่ริมถนนสีลมนั่นเอง แต่ต่อมาภายหลังรถจอดรอไม่ได้ เมื่อเข้าท่าแล้วต้องออกเลยเพราะหากจอดรอจะทำให้จราจรตัดขัด ส่วนต้นสายอีกด้านหนึ่งนั้นอยู่ที่แฮปปี้แลนด์ คลองจั่น รถวิ่งผ่านถนนลาดพร้าว พหลโยธิน พญาไท ผ่านสยามสแควร์ จากนั้นเลี้ยวเข้าถนนพระรามสี่ตรงสามย่าน ผ่านสวนงู และเข้าสีลม ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๔ มีการเปลี่ยนแปลงสายรถประจำทาง เส้นทางสาย ปอ.๒ ถูกเปลี่ยนเป็นสาย ๕๐๒ และต่อมามีการตัดระยะลงเหลือเพียงจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงคลองจั่น จนถึงปัจจุบัน รถอีซูซุรุ่นที่เห็นในภาพนี้เป็นรุ่นที่วิ่งตั้งแต่สมัยที่ผมเรียนมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย>