Monday, October 31, 2011

ภาคสี่ ตอนที่ 50

“ผลสอบเทอมที่แล้วของป้อมเป็นไงบ้าง” ผมชวนคุย

ป้อมก้มหน้าหลบสายตาผม เพียงแค่นี้ผมก็พอเดาได้แล้วว่าผลสอบของป้อมเป็นอย่างไร เราเดินไปจนถึงโต๊ะที่เราใช้เรียนพิเศษกันเป็นประจำ จากนั้นป้อมไปเอาน้ำเย็นมาให้ผม เมื่อป้อมกลับมาผมจึงรุกถามต่อ

“ขอพี่ดูใบเกรดของป้อมหน่อยสิ” ผมพูด

“อย่าดูเลยพี่อู” ป้อมอึกอัก

“ไม่ต้องอายน่า ให้พี่ดูเผื่อว่าพี่จะช่วยอะไรป้อมได้บ้าง” ผมโน้มน้าว

ป้อมอิดออดแต่ในที่สุดก็หยิบใบเกรดมาให้ผมดู เห็นผลสอบของป้อมแม้สอบผ่านทุกวิชาแต่ก็ไม่ค่อยดีนัก วิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี กับภาษาอังกฤษ ที่ต้องใช้สอบเข้าคณะวิศวะนั้นไม่มีอะไรเด่นเลย โดยเฉพาะคณิตศาสตร์กับภาษาอังกฤษนี่ค่อนข้างแย่ จากผลสอบที่เห็นแสดงว่าการเรียนพิเศษกับผมนั้นไม่ได้ช่วยอะไรป้อมเลย

ผมคืนใบเกรดให้ป้อมโดยไม่พูดอะไร คิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี ความรู้สึกในตอนนั้นก็ท้ออยู่เหมือนกัน เพราะผลการสอบวิชาคณิตศาสตร์ของป้อมเท่ากับบอกว่าผมสอนไม่ได้เรื่อง ความรู้สึกไม่อยากสอนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

ป้อมรับใบเกรดกลับไป แล้วก้มหน้าเงียบ เราสองจมอยู่ในความเงียบชั่วขณะ ผมมองป้อมที่นั่งคอตกอยู่เบื้องหน้า นึกถึงคำพูดของจุ๋ม ขณะที่ผมกำลังครุ่นคิดอยู่นั้น ร่างที่นั่งอยู่ตรงหน้าผมกลับคลับคล้ายเป็นอีกคนหนึ่ง... เป็นเพื่อนที่สนิทที่สุดของผม แต่ในวันที่มันมีปัญหาถาโถมเข้ามาในชีวิต ผมกลับเอาแต่ใจตนเอง ไม่เข้าใจมัน ทอดทิ้งมัน ไม่เคยแม้แต่จะให้โอกาสมันปรับความเข้าใจ...

“เอายังงี้นะป้อม” ผมพูด “ช่วงปิดเทอมนี้เรามาทบทวนเนื้อหาของเทอมที่แล้วกันอีกครั้ง เราจะพยายามทวนกันให้เสร็จก่อนเปิดเทอม เมื่อเปิดเทอมแล้วป้อมจะได้พร้อมที่จะเรียนเนื้อหาของเทอมปลาย เนื้อหาของ ม.๔ เทอมหนึ่งถือเป็นรากฐานของคณิตศาสตร์ ม.ปลาย หากไม่เข้าใจเทอมหนึ่งก็เหมือนกับวางรากฐานได้ไม่ดี เทอมสองก็ลำบาก ยิ่งไป มอห้า มอหก จะยิ่งแย่... พี่จะพยายามช่วยป้อมเต็มที่ แต่ป้อมก็ต้องพยายามเต็มที่ด้วยเหมือนกัน แบบนี้ตกลงมั้ย”

ป้อมพยักหน้า สีหน้าดูแช่มชื่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่แล้วก็รีบพูดขึ้นว่า “ครับ พี่อู”

- - -

หลังจากที่กลับมาจากบ้านต่างจังหวัด วันธรรมดาผมมักใช้เวลาส่วนใหญ่ขลุกอยู่ที่ชมรม ผมมักออกจากชมรมเพื่อกลับหอพักในเวลาบ่ายสี่โมงครึ่งเป็นประจำ

“เฮ้ย ไอ้อู ยังไม่กลับบ้านอีกเหรอ” ได้ยินเสียงทักทายพร้อมกับร่างร่างหนึ่งมายืนอยู่ตรงหน้าผมขณะที่ผมยืนอยู่หน้าห้องภาพเมืองงามตรงป้ายรถเมล์สามย่าน

“อ้อ พี่ตั้ว มาทำอะไรแถวนี้” ผมถาม ยังงงๆ นึกคำตอบไม่ถูก

“จะไปซื้อของที่ร้านจีฉ่อย นายลงมาจากชมรมตั้งเกือบชั่วโมงแล้วนี่หว่า นึกว่าถึงบ้านไปแล้วเสียอีก” พี่ตั้วตั้งข้อสังเกต

“เอ้อ... เมื่อกี้แวะหาอะไรกินในตลาดสามย่านก่อนน่ะ” ผมนึกหาข้อแก้ตัว

“ทำไมกินนานยังงี้วะ” พี่ตั้วตั้งข้อสังเกตอีก ดูเหมือนจะไม่ค่อยเชื่อคำอธิบายของผมนัก

“ไหนจะสั่ง ไหนจะรอ ไหนจะกินอีก มันใช้เวลานะพี่ กินนะครับไม่ใช่ยัด หาเรื่องจับผิดผมจัง” ผมโวย

“ก็ไม่ได้ว่าอะไรนี่ เห็นนายตอบแล้วอึกอัก ก็เลยแกล้งซักดู” พี่ตั้วพูดหน้าตาเฉยแล้วหัวเราะ “นายรอใครอยู่เหรอ ท่าทางชะเง้อเหมือนรอคน”

“เฮ้ย เปล่า” ผมรีบปฏิเสธ “พี่จะซื้อของก็รีบไปถอะ ขืนช้าเดี๋ยวของหมด”

“แน่ะ มีไล่อีก” พี่ตั้วหัวเราะอีก “ไปล่ะ เชิญนายรอตามสบาย”

ที่จริงก็เป็นดังที่พี่ตั้วสังเกต นั่นคือ ผมมารออยู่ที่ป้ายรถเมล์เป็นเวลานานแล้ว ปกติจุ๋มจะมาขึ้นรถเวลาประมาณสี่โมงครึ่ง แต่หลายวันมานี้ยังไม่เห็นจุ๋มเลย แม้จะรอจนถึงห้าโมงกว่าก็ยังไม่พบ

เมื่อรอแล้วไม่พบอยู่เป็นเวลาหลายวัน ในที่สุดผมจึงตัดสินใจไปหาจุ๋มที่คณะในวันหนึ่ง ผมรู้ดีว่าห้องซ้อมของจุ๋มอยู่ที่ไหน โชคดีที่วันนั้นไม่เจอพี่เหล่ง ไม่อย่างนั้นคงต้องหาเรื่องแก้ตัวกันอีก

ผมชะโงกหน้าเข้าไปในห้องซ้อม เห็นจุ๋มกำลังซ้อมไวโอลินอยู่ เพียงครู่เดียวจุ๋มก็หันมาเห็นผม ผมถอยจากประตูมายืนรอที่ระเบียงหน้าห้อง เพียงครู่เดียวจุ๋มก็เดินออกมาจากห้องซ้อม

“หวัดดีค่ะพี่อู” จุ๋มทักทาย

“หวัดดีจุ๋ม” ผมทักทายตอบ

“มาหาพี่เหล่งเหรอ” จุ๋มถาม

“ช่าย” ผมเออออ “เลยแวะมาดูจุ๋มซ้อมเสียหน่อย”

“พี่คล้ำไปเยอะเลยนะ” จุ๋มทัก “ยังกะไปชายทะเลมา”

“ไม่ได้ไปชายทะเลที่ไหนหรอก ก็ค่ายอาสานี่แหละ แดดแรงมาก” ผมตอบ จากนั้นตั้งคำถามต่อ “ตั้งแต่พี่กลับจากค่ายมายังไม่เห็นจุ๋มที่ป้ายรถเมล์เลย”

“ช่วงนี้จุ๋มกลับเร็วค่ะพี่อู บ่ายสามโมงก็กลับแล้ว” จุ๋มตอบ

“มิน่าล่ะ” ผมถึงบางอ้อ

“วันนี้เลิกซ้อมแล้วไปกินอะไรกันหน่อยไหม” ผมชวน

“พี่อูเลี้ยงนะ” จุ๋มทำตาโต

“เลี้ยงอยู่แล้ว” ผมตอบ “ไปกินด้วยกันนะ พี่อยากจะขอบใจจุ๋ม”

“ขอบใจจุ๋มเรื่องอะไรเหรอคะ” จุ๋มถาม

“ไปไหมล่ะ” ผมแกล้งขยักคำตอบเอาไว้ “หากไม่ไปก็ไม่บอก”

“อือม์...” จุ๋มทำท่าคิด ผมรู้ดีว่าจุ๋มไม่ใช่คนที่เห็นแก่กิน ลำพังแค่ชวนไปเลี้ยงอาจไม่เร้าความสนใจจุ๋มมากเท่ากับการแสร้งเป็นมีอะไรลึกลับแฝงอยู่

“กินเดี๋ยวเดียวเอง พี่รู้ว่าจุ๋มต้องรีบกลับ” ผมพูดเสริม

“งั้นก็ได้ค่ะ ตลาดสามย่านก็พอนะพี่อู อย่าไปไกลเลย” จุ๋มมีเงื่อนไข

“ได้ๆๆ” ผมรีบรับคำ “ถ้ายังงั้นพี่ลงไปรอที่ม้าหินข้างล่างก็แล้วกัน จุ๋มซ้อมเสร็จก็ลงไปหาพี่”

ผมลงไปรอที่ม้าหินใต้ตึก รออยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงจุ๋มก็เดินลงมา

“เป็นไง รอนานไหมพี่อู” จุ๋มถาม

“แล้วจุ๋มคิดว่าปล่อยให้พี่รอนานไหมล่ะ” ผมกวน

“ยังงั้นเดี๋ยวจุ๋มค่อยลงมาอีกทีก็แล้วกัน... ยังไม่นานเท่าไหร่เลย” จุ๋มหัวเราะ พลางหันตัวเตรียมจะกลับขึ้นไปบนตึก

“ไม่ต้องขึ้นไปหรอกจ้า ขืนรอต่อไปพอดีพี่ต้องหาที่นอนรอ” ผมตอบ

จุ๋มหัวเราะ เราสองคนจึงเดินออกจากคณะไปท่ามกลางสายตาแอบมองของเพื่อนฝูงในคณะของจุ๋ม แต่เราสองคนทำเป็นไม่สนใจ

“มีคนแอบมองเรานะ” ผมกระซิบบอก

“ช่างเขาสิ ไม่เห็นจะเป็นไรเลย” จุ๋มตอบ

“แล้วถ้าพรุ่งนี้เพื่อนๆถามว่านักศึกษาหนุ่มรูปหล่อที่มารอจุ๋มคนนั้นเป็นใครล่ะ จุ่มจะตอบยังไง” ผมถาม

จุ๋มทำท่าอ้วก

“จุ๋มก็จะตอบว่าไม่มีน่ะสิ คนถามคงเข้าใจอะไรผิดสักอย่างแน่เลย เช่น จำคนผิด” จุ๋มพูดหน้าตาย

“เฮอะ ไม่รักษาน้ำใจกันบ้างเลยนะ” ผมบ่น

“โอ๋ๆๆ ตอบใหม่ก็ได้ นักศึกษารูปหล่อคนนั้นเป็นน้องรหัสของพี่เหล่ง มาหาพี่เหล่ง แล้วก็รู้จักกับจุ๋มด้วย” จุ๋มหัวเราะ

“ฟังคำตอบแล้วจั๊กกระจี้เหมือนกันแฮะ ช่างมันเถอะ ลืมมันไปดีกว่า” ผมรีบปิดประเด็น

เมื่อเราเดินมาจนถึงตลาดสามย่าน ขึ้นไปบนชั้นสอง จากนั้นก็สั่งน้ำหวานและขนมมากิน จุ๋มก็ถามขึ้นว่า

“พี่อูจะขอบใจจุ๋มเรื่องอะไรคะ” จุ๋มถาม

“ตอนนี้พี่กลับไปสอนป้อมแล้วล่ะ” ผมตอบ

“เหรอ ดีจัง” จุ๋มมีสีหน้าดีใจ

“พี่ไปสอนป้อมครั้งหลังดูป้อมเปลี่ยนไปมากทีเดียว พูดมากขึ้น เป็นกันเองมากขึ้น ยอมโอนอ่อนผ่อนตามพี่มากขึ้น” ผมเล่าเกี่ยวกับป้อมให้ฟัง “ที่ต้องขอบใจจุ๋มก็เพราะถ้าไม่ใช่เพราะจุ๋มเตือนสติพี่ พี่ก็คงไม่คิดสอนป้อมต่อ”

“เรื่องแค่เนี้ย” จุ๋มหัวเราะ “ไม่เห็นจะต้องขอบใจอะไรเลย เรื่องเล็กน้อยจะตาย”

“เมื่อตอนเด็ก พี่มีเพื่อนสนิทอยู่คนหนึ่ง เรียนด้วยกันมาตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมัธยม” ผมพูดช้าๆ ตาเหม่อมองจุ๋ม ส่วนใจนั้นล่องลอยไปไกล “เรามีเรื่องเข้าใจผิดกัน ทั้งๆที่เราสนิทกันมาก แทนที่พี่จะให้โอกาสมันอธิบาย ตรงกันข้าม พี่ทำแต่เรื่องงี่เง่าจนเสียเพื่อนสนิทคนนี้ไป ถ้าพี่มีโอกาสแก้ไขความผิดในอดีตได้สักครั้ง พี่จะขอโอกาสแก้ไขเรื่องนี้แหละ แต่มันก็คงเป็นไปไม่ได้...”

ผมหยุดนิ่งไปครู่หนึ่ง แล้วถอนหายใจ

“จุ๋มเข้าใจแล้ว เพราะยังงี้พี่อูจึงให้โอกาสป้อมอีกครั้งหนึ่ง” จุ๋มพูด “ที่พี่อูทำ ถึงแม้จะแก้ไขอดีตไม่ได้ แต่ก็ทำให้พี่อูรู้สึกดีขึ้นบ้างได้...”

“นั่นล่ะ ใช่เลย” ผมพูด “ทำไมจุ๋มรู้ล่ะว่าพี่คิดจะพูดอะไร”

“ดูหน้าพี่อูก็รู้หมดแล้ว หน้าพี่อูอ่านง่ายจะตาย” จุ๋มหัวเราะเบาๆ

ผมนิ่งงัน ตะลึงกับคำพูดของจุ๋ม เมื่อก่อนก็มีใครคนหนึ่งที่รู้ใจ เข้าใจ และพูดกับผมแบบนี้เหมือนกัน...

“เอ้อ... พี่ถามอะไรจุ๋มสักเรื่องได้ไหม” ผมเกริ่น

“อะไรหรือคะ” จุ๋มถาม

“บางครั้งความคิดของจุ๋มเหมือนกับผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกมามาก... ไม่เหมือนกับความคิดของนักศึกษาปีหนึ่งทั่วไปเลย” ผมพูด

“จะบอกว่าจุ๋มแก่แดดยังงั้นเหรอ” จุ๋มยิ้ม

“เปล่า... แต่คนที่จะมีความคิดเป็นผู้ใหญ่อย่างจุ๋มได้คงต้องผ่านประสบการณ์อะไรหลายๆอย่างในชีวิตมา” ผมพูดจากประสบการณ์ที่ได้ประสบมา

จุ๋มนิ่งไป รอยยิ้มหายไปจากใบหน้า

“จุ๋มก็อยากมีโอกาสกลับไปแก้ไขบางเรื่องในอดีตเหมือนกันค่ะพี่อู... แต่มันก็เป็นไม่ได้” จุ๋มพูดช้าๆ “จุ๋มจึงเข้าใจดีว่าคนเราล้วนแต่อยากได้โอกาสแก้ไขหรือแก้ตัวกันสักครั้งทั้งนั้น... หมายถึงถ้าเป็นไปได้นะ... ดังนั้นถ้าจุ๋มให้โอกาสแก่ใครได้จุ๋มก็จะพยายามให้เหมือนกัน”

“จุ๋มต้องการโอกาสแก้ไขเรื่องอะไรในอดีต พอจะบอกพี่ได้ไหม” ผมถาม แต่แล้วก็คิดว่าอาจเป็นการละลาบละล้วงเกินไป “แต่ถ้าไม่อยากเล่าก็ไม่ต้องหรอก”

จุ๋มนิ่งคิดไปครู่หนึ่ง

“เล่าให้พี่อูฟังก็ได้” จุ๋มพูด “มันเกี่ยวกับเรื่องที่จุ๋มต้องรีบกลับบ้านทุกวันนี้ด้วย”




<ชั้นสองของตลาดสามย่านเป็นศูนย์อาหาร มีตั้งแต่แผงขายอาหารไปจนถึงห้องอาหาร หากเป็นช่วงเปิดเทอม ยามบ่ายหลังเลิกเรียนจะคึกคักไปด้วยนักเรียนและนักศึกษา ส่วนตอนค่ำก็คึกคักไปด้วยคนทำงานที่แวะเสียนมาหลังเลิกงาน ศูนย์อาหารด้านที่เห็นนี้เป็นด้านจุฬาซอย ๕๒ หรือด้านที่ใกล้ร้านจีฉ่อย ร้านหัวมุมที่เห็นเป็นร้านอาหารตามสั่ง อาหารขึ้นชื่อก็เป็นพวกต้มยำนมสด ไข่ระเบิด อาหารทะเล ฯลฯ เมนูคล้ายๆร้านหมงที่อยู่ตรงสามย่านข้างคณะบัญชี ใกล้ๆร้านนี้ (แต่ไม่ได้อยู่ในภาพ) มีโรงเรียนกวดวิชาขนาดเล็ก ควันโขมงและกลิ่นอาหารจากร้านนี้มักโชยเข้าไปในห้องติวอยู่เสมอ แถวๆนี้เป็นร้านที่ผมชอบมานั่งกิน>

Monday, October 24, 2011

ภาคสี่ ตอนที่ 49

อาหารมื้อเย็นในวันนั้นเป็นมื้ออาหารแบบง่ายๆ พวกนักศึกษาทำกินกันเองกับพวกครู ส่วนพวกชาวบ้านแยกย้ายกันกลับบ้านไปแล้ว หลังจากกินอาหารและล้างจากเสร็จ พวกนักศึกษาก็ล้อมวงกันที่ลานกว้างหน้าโรงเรียน

อากาศในตอนกลางคืนเย็นลงอย่างรวดเร็ว ต่างจากตอนกลางวันมาก พวกเราก่อกองไฟเล็กๆขึ้น จากนั้นเล่นกีตาร์และร้องเพลงกันเบาๆ ท้องฟ้ายามค่ำคืนในเดือนตุลาคมแม้จะยังไม่หมดหน้าฝน แต่สำหรับคืนวันนั้นฟ้ากระจ่างเห็นดาวพราวเต็มฟ้า หนุ่มสาวบางคู่นั่งแอบอิงพิงกันร้องเพลงอย่างมีความสุข

ผมนั่งพิงไอ้กี้มองลอดผ่านเปลวไฟไปยังวงด้านตรงข้าม เห็นหนุ่มสาวชาวค่ายนั่งผิงไฟร้องเพลงโดยมีเครื่องดนตรีเพียงกีตาร์โปร่ง มีราวป่ามืดทมึนอยู่ไกลตาเป็นฉากหลัง เสื้อผ้าที่แต่ละคนสวมใส่เป็นสื้อผ้าปอนๆ กินอาหารง่ายๆ ภาพที่ผมเห็นอยู่เบื้องหน้าเป็นภาพชีวิตในชนบทที่สุขสงบและสันโดษ ผมนึกถึงฟลามิงโก้เปรียบเทียบกับที่นี่ ที่ฟลามิงโก้เต็มไปด้วยดาวพราวอันเกิดจากไฟดิสโก้ ดนตรีอันเร่าร้อนจากซินติไซเซอร์ และหนุ่มสาวที่แต่งกายหรูหรากำลังวาดลวดลายท่าเต้นอยู่บนฟลอร์ ทำไมวิถีชีวิตของคนเราช่างแตกต่างกันได้ขนาดนี้

เรานั่งผิงไฟร้องเพลงกันอยู่จนถึงประมาณสามทุ่ม ชาวค่ายอาสาก็เริ่มทยอยกันกลับไปเข้านอน ราวสี่ทุ่มก็แยกย้ายกันไปจนหมด สี่ทุ่มสำหรับชาวบ้านที่นี่ถือว่าดึกมากแล้วเพราะว่าส่วนใหญ่เข้านอนกันเร็ว แม้ว่าผมจะรู้สึกแปลกที่อยู่บ้างแต่เนื่องจากเป็นคนนอนง่ายอยู่แล้ว ประกอบกับเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน ดังนั้นเมื่อหัวถึงเป้ (ไม่ใช่หัวถึงหมอนเพราะเอาเป้มาหนุนต่างหมอน) ผมก็ผลอยหลับไปในทันที

“เฮ้ย อู ตื่น... ตื่น...” ผมได้ยินเสียงคนข้างๆเรียกพร้อมกับแขนถูกเขย่า เมื่อโงหัวขึ้นมาก็เห็นว่ารอบข้างยังมืดสนิท ยังไม่ถึงรุ่งเช้าเลย

“มีอะไรเหรอ” ผมถาม ตอนนั้นหายง่วงแล้วเพราะว่าตอนที่ถูกปลุกนั้นผมสะดุ้งตื่นขึ้นมาพอดี

“นาย ละเมอเอะอะใหญ่เลย” เพื่อนที่ปลุกผมพูด “ฝันร้ายหรือไง”

“เราละเมอว่าอะไรบ้างล่ะ” ผมเลียบเคียงถาม ผมจำได้แล้วว่าเมื่อสักครู่นี้ผมฝันอะไรอยู่

“นายพูดอะไรก็ไม่รู้ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เหมือนกับเรียกชื่อใคร แล้วยังพูดอะไรอีกแต่ฟังไม่รู้เรื่อง” เพื่อนตอบ

“ชื่ออะไรนายฟังไม่ออกเลยเหรอ” ผมถามอีก

“ก็ในฝันนายเรียกใครล่ะ” เพื่อนคนนั้นถามกลับ

“ก็จำความฝันไม่ได้น่ะสิถึงได้ถาม” ผมตอบเลี่ยงๆ

ผมรู้สึกแปลกใจ หลายปีมานี้ฝันร้ายเรื่องเดิมจะมารบกวนผมในยามที่ผมตึงเครียด ส่วนใหญ่มักเป็นในช่วงสอบ แต่ในครั้งนี้ผมเองก็นึกไม่ออกว่าผมตึงเครียดด้วยเรื่องอะไร เหตุใดจึงฝันร้ายขึ้นมาได้ แต่ก็ยังโชคดีที่ถ้อยคำที่ผมละเมอออกมาไม่มีใครฟังรู้เรื่อง

- - -

ในวันที่สามของการออกค่าย พวกเราทำงานกันต่อตั้งแต่เช้า ความขันแข็งของคนอื่นๆทำให้ผมอู้ไม่ได้แม้ว่าจะรู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการทำงานเมื่อวานก็ตาม วันนี้ผมช่วยงานมุงหลังคา ทำผนังอาคาร และทาสี ส่วนมากช่วยแต่งานที่หัดได้ง่าย พวกงานที่ต้องอาศัยความชำนาญอย่างเช่นการตั้งวงกบประตูหน้าต่างนั้นให้พวกช่างตัวจริงเป็นผู้ทำ ผมนั้นก็ช่างเหมือนกันแต่ว่าเป็นพวกช่างมันเถอะ

พวกที่ทำหน้าที่จัดห้องสมุดทีแรกนึกว่าเป็นงานง่าย ไม่ต้องใช้แรง แต่ที่ไหนได้ เมื่อไปจัดห้องสมุดจริงๆก็ต้องไปเลื่อยไม้ตอกตะปูเช่นเดียวกับพวกที่ทำงานสร้างตัวอาคารเช่นกัน เพราะว่าห้องสมุดนี้ยังไม่มีวัสดุอุปกรณ์เลย พวกชั้นหนังสือกับโต๊ะอ่านหนังสือต้องทำขึ้นเองทั้งหมด โดยทำแบบง่ายๆ โต๊ะอ่านหนังสือก็เป็นโต๊ะเตี้ยแบบญี่ปุ่น คือนั่งกับพื้น จะได้ประหยัด ไม่ต้องทำเก้าอี้

เราทำงานกันจนเย็นงานก็เสร็จเกือบเรียบร้อยตามแผน นั่นคือ อาคารเรียนกับอาคารอเนกประสงค์รวมสองหลัง กับห้องสมุดเล็กๆพร้อมชั้นวางหนังสือและโต๊ะอ่านหนังสือ ที่ว่าเสร็จเกือบเรียบร้อยก็เนื่องจากเหลือส่วนปลีกย่อยที่ต้องเก็บงานอยู่อีกบ้าง แต่คงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครูกับพี่ๆชาวบ้านสานกันต่อไป

อาหารมื้อเย็นในค่ำคืนวันสุดท้ายของการออกค่ายเป็นการกินร่วมกันระหว่างครู นักเรียน ชาวบ้าน และนักศึกษาโดยถือเป็นงานเลี้ยงอำลา หลังจากกินอาหารเสร็จก็มีการสังสรรค์กันต่อ มีการกล่าวขอบคุณซึ่งกันและกัน โดยครูและชาวบ้านต่างก็ขอบคุณพวกนักศึกษาที่หาทุนและมาช่วยสร้างอาคารพร้อมกับห้องสมุด ส่วนนักศึกษาก็ขอบคุณครูและชาวบ้านที่เอื้อเฟื้อดูแล พร้อมกับมอบประสบการณ์ชีวิตอันหาค่าไม่ได้แก่พวกเรา งานเลี้ยงอำลาในวันนั้นเป็นบรรยากาศที่เป็นกันเองมากเพราะจากการทำงานร่วมกันแม้จะเป็นเวลาสั้นๆเพียงสองวันแต่ก็ทำให้เราสนิทสนมคุ้นเคยกับครู นักเรียน และชาวบ้านอย่างรวดเร็ว เหมือนกับรู้จักกันมานานนับปี ซึ่งคงเป็นเพราะเราได้ทำงานด้วยกัน เหน็ดเหนื่อยด้วยกัน และช่วยเหลือกันและกันนั่นเอง

วันรุ่งขึ้น...

ในวันสุดท้ายของการออกค่ายพวกเราไม่ต้องตื่นเช้ามากนักเพราะวันนี้ไม่ต้องทำงานแล้ว ส่วนผมนั้นยังตื่นแต่เช้ามืดเช่นเคยเพราะตื่นเช้าจนเป็นนิสัย

หลังจากตื่นขึ้นมาพวกเราก็อาบน้ำ แต่งตัว จากนั้นก็ไปเดินเล่นรอบๆบริเวณโรงเรียนและเข้าไปสำรวจในหมู่บ้าน เลยไปจนถึงหัวไร่ปลายนาของชาวบ้านในหมู่บ้าน บางบ้านยังเห็นควันที่เกิดจากการก่อไฟหุงหาอาหารลอยกรุ่นขึ้นมา บรรยากาศยามเช้าในชนบทเกษตรกรรมเขียวขจี สงบ และร่มเย็น ในความร่มเย็นนั้นมีความสว่างไสว สดชื่น กระตือรือร้น กอปรเป็นพลังที่ขับเคลื่อนชีวิตไปข้างหน้า

ผมเข้าไปนั่งเล่นในเพิงปลายนา ชื่นชมกับยามเช้าในชนบทอย่างเงียบๆ นานมากแล้วที่ผมไม่ได้นั่งเล่นในเพิงปลายนาเช่นนี้ จำได้ว่าตอนยังอยู่ชั้นประถม ปีที่ไอ้นัยมาเที่ยวที่บ้านต่างจังหวัดของผม เราขี่จักรยานเล่นไปตามท้องไร่ท้องนาและได้ไปนั่งพักในเพิงปลายนา หลังจากนั้นมา แม้ว่าผมจะกลับบ้านต่างจังหวัดแต่ก็ไม่ได้ทำเช่นนี้อีกเลย

ความสดชื่นในยามเช้าตรู่หมดไปอย่างรวดเร็ว เพียงเวลาใกล้แปดโมง แดดก็เริ่มแรงกล้าขึ้นจนผมเริ่มรู้สึกร้อน จนต้องเดินออกจากเพิงปลายนาเพื่อกลับไปยังโรงเรียน ผมอดคิดไม่ได้ว่าหรือชีวิตของคนเราก็เป็นเช่นนี้เอง วันเวลาที่สุขสดชื่นมีให้เชยชมแต่เพียงสั้นๆเท่านั้น หลังจากนั้นก็ล้วนแต่เป็นช่วงเวลาที่ต้องอดทนและต่อสู้กับความยากลำบาก กว่าจะได้หยุดพักคลายเหนื่อยล้าก็ต้องรอจนกว่าจะถึงยามค่ำคืน ซึ่งในความรู้สึกของผมนั้น ยามค่ำคืนแม้เป็นความสุขสงบที่ได้พักผ่อนหลังจากเหนื่อยล้า แต่แฝงไว้ด้วยความรู้สึกหยุดนิ่ง และขาดพลังที่ขับเคลื่อนชีวิต สิ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตให้ผ่านยามค่ำคืนไปได้มีแต่เพียงความหวัง... ที่หวังว่าเช้าวันใหม่จะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง... เท่านั้นเอง

แล้วชีวิตของผมตอนนี้ล่ะ เป็นยามเช้าอันสดชื่น ยามกลางวันอันยากลำบาก หรือว่ายามค่ำคืนที่มีเพียงความหวัง?

ผมเดินกลับไปยังโรงเรียนอย่างช้าๆ ปล่อยความคิดให้ล่องลอยไป เมื่อมาถึงโรงเรียนก็กินอาหารเช้า จากนั้นก็ไปถ่ายรูปกับผลงานที่พวกเราร่วมสร้างกันขึ้นมากับมือ แม้จะเป็นอาคารเล็กๆกับห้องสมุดเล็กๆแต่ผมก็รู้สึกว่าเป็นความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ จากนั้นก็ร่ำลาครู นักเรียน และชาวบ้าน และแล้วกลุ่มค่ายอาสาก็อำลาจากโรงเรียนชนบทหลังเล็กเพื่อเดินทางกลับสู่กรุงเทพฯ

“เย้ ได้กลับแล้วโว้ย” ไอ้กี้พูดอย่างดีใจ พลางยกท่อนแขนของมันเองขึ้นดู “ได้แผลเต็มแขนเลย”

ผมดูลำแขนและมือของตนเองบ้าง เห็นรอยแผลใหม่หลายเส้นเต็มไปหมดเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นรอยขีดข่วน เสี้ยนตำ และมีดบาด แถมนิ้วหัวแม่มือข้างหนึ่งก็ช้ำเพราะเอาค้อนไปทุบนิ้วตนเองขณะตอกตะปู

“แค่นี้สำออย” ผมเหน็บมัน “กูยังไม่บ่นเลย”

“มึงไม่บ่นก็ช่างมึง กูจะบ่น มีอะไรมั้ย” ไอ้กี้ตีรวนตามนิสัย จากนั้นก็ถามผมว่า “ถ้ามีออกค่ายอีกมึงจะมาหรือเปล่า”

“มาสิ เจ็บตัวนิดหน่อย กูยังไม่เข็ดหรอก” ผมพูด “แล้วมึงล่ะ”

“กูว่ากูได้ประสบการณ์พอแล้ว ครั้งหน้านอนอยู่บ้านดีกว่า” ไอ้กี้หัวเราะ

“ไอ้ขี้เกียจ” ผมด่ามัน

- - -


“แม่ แม่ แม่ กลับมาแล้ว” ผมเอะอะลั่นขณะเดินเข้าไปในบ้าน เห็นแต่บ้านว่างๆ พ่อกับแม่และเอ๊ดไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน หลังจากถามพี่ที่เป็นลูกจ้างเก่าแก่ของพ่อจึงรู้ว่าแม่ไปจ่ายตลาด พ่อไปหาลูกค้า ส่วนเอ๊ดไม่ได้กลับบ้าน

ผมเข้าครัวไปรื้อค้นของกินในตู้เย็นออกมา จากนั้นเอาขนมมานั่งกินพร้อมกับอ่านหนังสือพิมพ์ฆ่าเวลาอยู่ภายในบ้าน คิดว่าจะพักสักครู่แล้วค่อยไปอาบน้ำ ขณะที่นั่งกินขนมและอ่านหนังสือพิมพ์ ผมอดรู้สึกไม่ได้ว่าบ้านนี้มันเงียบๆ เหงาๆ เหมือนกับว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็เป็นเพียงแค่ความรู้สึกเท่านั้น เพราะพยายามสำรวจดูในบ้านแล้วก็ไม่พบว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไป ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม

“อ้าว อู กลับมาแล้วเหรอ” ได้ยินเสียงแม่ร้องทัก

ผมเงยหน้าจากหนังสือพิมพ์ เห็นแม่หอบถุงพะรุงพะรัง ภายในถุงเต็มไปด้วยผักและกับข้าวอื่นๆ

“ก็มาแล้วน่ะสิ ไม่งั้นแม่จะเห็นอูเหรอ” ผมตอบกวนโอ๊ย

“ลูกคนนี้มันยวนจริง” แม่พูด

“แม่ถามคำถามฟุ่มเฟือยต่างหาก” ผมย้อน “เห็นๆอยู่ก็ยังถาม”

“แม่ก็ถามแบบนี้ทุกทีนั่นแหละ” แม่หัวเราะ “ทำไมเพิ่งจะมาบ่นเอาป่านนี้”

“นั่นสินะ” ผมเห็นด้วย “งั้นแม่ก็ถามต่อไปเถอะ อูไม่บ่นก็ได้”

“ทำไมปิดเทอมตั้งนานเพิ่งจะกลับบ้าน” แม่เปลี่ยนเรื่อง ไม่ต่อล้อต่อเถียงกับผมอีก

“อูไปออกค่ายมา หลังจากกลับมาจากออกค่ายก็ไปสมัครเรียนรามมาอีก เสร็จแล้วก็รีบมานี่แหละแม่”

“สมัครเรียนราม” แม่ทวนคำด้วยน้ำเสียงสงสัย “เรียนที่เดียวไม่พอหรือไง ถึงต้องไปเรียนที่รามคำแหงด้วย”

“ก็เพื่อนๆมันสมัครกันน่ะแม่ อูก็เลยอยากลองดูบ้าง” ผมตอบ ที่จริงหากจะพูดให้เจาะจงก็คงต้องบอกว่าเป็นเพราะไอ้กี้สมัครเรียน ผมจึงสมัครเรียนบ้าง

“หาเรื่องใส่ตัวจริงๆ” แม่บ่น “หาเรื่องเสียเงินด้วย”

“ค่าหน่วยกิตไม่แพงมากหรอกแม่ ถ้าเรียนจบก็ได้ปริญญาสองใบเชียว” ผมคุย

“ปริญญาสองใบไม่เอาตรีกับโทจะไม่ดีกว่าหรือ เรียนปริญญาตรีสองใบเพื่ออะไรกัน” แม่ยังไม่เห็นด้วย “แล้วเรียนสาขาอะไรล่ะ”

“สาขาภาษาไทยน่ะแม่” ผมตอบ

“โอ๊ย” แม่หัวเราะ

หลังจากที่ผมกลับมาจากการออกค่าย ผมก็ไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงโดยไม่บอกพวกเพื่อนๆในชมรม ผมไปสมัครเรียนโดยสมัครเข้าเป็นนักศึกษาใหม่พร้อมกับลงทะเบียนเรียนที่รามหนึ่งซึ่งอยู่ที่หัวหมาก

ผมเคยผ่านมหาวิทยาลัยแห่งนี้หลายครั้งแต่ยังไม่เคยเข้าไปข้างในสักที เมื่อเข้าไปครั้งแรกก็พบว่ามหาวิทยาลัยมีเนื้อที่ใหญ่มาก ด้านหนึ่งจรดสนามกีฬาหัวหมาก สมัยนั้นยังเรียกว่าสนามกีฬาหัวหมากอยู่ ยังไม่ได้เรียกว่ารัชมังคลากีฬาสถานเช่นในปัจจุบัน ส่วนอีกด้านหนึ่งจรดโครงการหมู่บ้านจัดสรรเก่าแก่คือหมู่บ้านเสรี รวมแล้วเป็นระยะทางถึงสามป้ายรถเมล์ หากจะไปคณะใดแล้วลงรถผิดป้ายละก็เดินกันเมื่อยเหมือนกัน

มหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้นสมกับเป็นโอกาสทางการศึกษาของชนทุกระดับ เพราะมีค่าหน่วยกิตที่ไม่แพง มีคณะให้เลือกมากมาย ตำราครบครัน ทำให้สามารถศึกษาด้วยตนเองได้ ดังนั้นเมื่อผมเดินเข้าไปในมหาวิทยาลัยจึงพบว่ามีคนมาสมัครเรียนกันเป็นจำนวนมาก ผู้คนและรถราแน่นมหาวิทยาลัย ตึกลงทะเบียนเต็มไปด้วยแถวคอยยาวเหยียด และที่น่าสังเกตคือตามตึกบางหลังจะมีการพ่นสีทำเครื่องหมายไว้ที่เสาใต้ตึกว่าเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ น้ำท่วมมหาวิทยาลัยอยู่ที่ระดับใด เห็นความสูงของระดับน้ำแล้วน่าตกใจเนื่องจากบางจุดสูงถึงอก ถึงคอ เลยทีเดียว

หลังจากที่ผมได้รับใบสมัครพร้อมกับคู่มือสมัครเรียนจากพี่ชัยแล้ว ผมก็ศึกษาดูรายละเอียด พร้อมกับดูหลักสูตรบริหารธุรกิจที่ไอ้กี้สมัคร เห็นรายวิชาแล้วผมคิดว่ายากเอาการ เพราะว่าเป็นสาขาที่ผมไม่มีพื้นฐานมาก่อน ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหากเรียนด้วยตนเองแล้วจะจบหรือไม่ แต่หากมาเข้าฟังบรรยายด้วยคงเป็นไปได้ยาก ในที่สุดจึงตัดสินใจในสาขาภาษาไทยดีกว่าเพราะประเมินแล้วคิดว่าน่าจะมีโอกาสเรียนด้วยตนเองจนจบได้ การแข่งขันกับไอ้กี้อาจไม่จำเป็นต้องเรียนในสาขาเดียวกัน เพราะหากเรียนแล้วไม่จบด้วยกันทั้งคู่ก็คงพิสูจน์อะไรไม่ได้

ท่ามกลางผู้คนจำนวนมากที่ส่วนใหญ่ไม่รู้จักกัน แต่ละคนก็มุ่งแต่ทำธุระของตนเองให้เสร็จ ผมยังลงทะเบียนไม่ถูก เดินถามคนโน้นคนนี้ บางคนก็ตอบ บางคนก็ไม่ตอบเพราะมัวยุ่งกับเรื่องของตนเองอยู่ ทำให้ผมอดรู้สึกโดดเดี่ยวไม่ได้

ระบบการรับสมัครของที่นี่รวดเร็ว แม้จะมีผู้สมัครจำนวนมากแต่ภายในครึ่งวันกว่าๆผมก็สามารถสมัครเรียนพร้อมกับซื้อตำราได้เสร็จเรียบร้อย ในที่สุดผมก็เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงเต็มตัว เมื่อเสร็จเรื่องการสมัครเรียนแล้วจึงได้เดินทางกลับบ้าน...

ปิดเทอมในครั้งนั้นดูพ่อร่วงโรยและเฉื่อยๆไปนิดหน่อย สังเกตได้จากการที่ไม่ค่อยหาเรื่องบ่นหรือเหน็บแนมผมมากเท่ากับเมื่อก่อน เมื่อถามแม่ดูแม่ก็บอกว่าพ่อขี้เกียจขึ้นบ้างจริงๆ ไม่วุ่นวายกับการงานเหมือนเดิม ผมคิดว่าก็คงจะดีเหมือนกัน พ่อจะได้ไม่ต้องเหนื่อยมากเหมือนเมื่อก่อน รวมทั้งจะได้บ่นผมน้อยลงด้วย ส่วนเอ๊ดนั้นไม่ได้กลับบ้านในช่วงปิดเทอมเดือนตุลาคม ปีนั้นเอ๊ดเรียนปีสี่ เป็นปีสุดท้ายแล้ว มีทั้งเรื่องฝึกงานและเก็บรายวิชาต่างๆให้ครบ อีกทั้งยังต้องเที่ยวให้หนำใจก่อนจบอีกด้วย ปีนั้นเอ๊ดจึงกลับมาที่บ้านน้อยมาก ส่วนผมเองในช่วงปิดเทอมนั้นก็มีเรื่องหลายอย่างที่ต้องสะสาง ดังนั้นจึงมีโอกาสกลับบ้านไปเพียงไม่กี่วันเท่านั้น หลังจากนั้นก็ต้องรีบกลับมาที่กรุงเทพฯอีก

- - -

ออด...

เสียงออดหน้าประตูบ้านดังลั่น คนที่กดออดก็คือผมนั่นเอง

เพียงครู่เดียว ประตูรั้วหน้าบ้านที่ผมยืนกดออดก็แง้มออก ใบหน้าของวัยรุ่นชายหน้าตาน่ารักคนหนึ่งโผล่ออกมา จากนั้นวัยรุ่นชายคนนั้นเปิดประตูให้อ้ากว้างเพื่อให้ผมเดินเข้าไปได้

ผมเดินเข้าไปในบ้าน วัยรุ่นคนนั้นยิ้มให้ผม พลางเดินเข้าบ้านไปพร้อมๆกับผมโดยไม่พูดอะไร

“อ้าว ยังไม่ทันไรลืมสัญญาเสียแล้ว” ผมพูดกับวัยรุ่นคนนั้น “ถ้ายังเป็นแบบนี้พี่ว่าพี่กลับดีกว่า”

ผมพูดพลางหันหลังเตรียมเดินกลับ วัยรุ่นคนนั้นจึงพูดอ้อมแอ้มขึ้นด้วยน้ำเสียงงุ้งงิ้งคล้ายเสียงแมว

“หวัดดีฮะพี่อู เชิญเข้าในบ้าน”

“อือม์ ค่อยดีขึ้น” ผมพูดอย่างผู้มีชัย เมื่อได้ทีผมจึงข่มขู่ต่อไป “แต่ควรจะพูดมากกว่านี้อีก ป้อมทำได้ไหม ถ้าไม่ได้...”

“จะพยายามฮะ พี่อู...” ป้อมตอบ

ผมหัวเราะ

“ดีแล้วละป้อม ตอนเรียนพยายามพูดกับพี่ พี่จะได้รู้ว่าป้อมไม่เข้าใจอะไร มีอะไรก็ถาม พี่ไม่กัดป้อมหรอก รับรองได้”

ป้อมพยักหน้า

“อย่าพยักหน้าเฉยๆ” ผมตีหน้าดุใส่อีก

“ฮะ พี่อู” ป้อมตอบ

การกลับมาสอนของผมในครั้งนี้ดูป้อมโอนอ่อนผ่อนตามผมมากจนผมรู้สึกแปลกใจ หรือว่าป้อมอาจกินยาผิดไปจึงได้กลายเป็นเช่นนี้...



<ภาพมหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก หรือที่เรียกว่ารามหนึ่ง ภาพบนเป็นภาพที่ถ่ายในยุค ๒๕๑๐-๒๕๒๐ ไม่ทราบปีที่ถ่ายแน่ชัด ส่วนภาพล่างเป็นภาพถ่ายในปัจจุบัน>



<ภาพถ่ายน้ำท่วมใหญ่ในมหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ในปีนั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯอันเนื่องมาจากมีพายุเข้ามาในประเทศไทยลูกแล้วลูกเล่า จนถึงเดือนตุลาคมก็เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ แม้แต่ถนนสุขุมวิทก็จมน้ำ ส่วนมหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก อยู่ในพื้นที่ต่ำ ระดับน้ำที่ท่วมในมหาวิทยาลัยจึงสูงมาก จนต้องปิดเรียนนานนับเดือน>

Saturday, October 15, 2011

ภาคสี่ ตอนที่ 48

“สวัสดีอู อารออูโทรมาอยู่ตั้งหลายวัน” พ่อของป้อมทักทายแกมต่อว่านิดๆ

“ครับ” ผมได้แต่รับคำเพราะไม่รู้จะแก้ตัวอย่างไร “ป้อมเป็นอย่างไรบ้างครับคุณอา”

“ที่อาอยากคุยกับอูก็เรื่องป้อมนี่แหละ” พ่อป้อมพูด

ก็แหงล่ะ หากไม่ใช่เรื่องของป้อมก็คงไม่มีเหตุอะไรที่ต้องตามหาตัวผม ผมพยายามทำใจ เตรียมพร้อมรับการต่อว่า

“ช่วงนี้อูว่างไหม” พ่อป้อมถาม “สอนพิเศษใครอยู่หรือปล่า”

“ไม่มีครับ” ผมรู้สึกผิดคาด แต่ก็ตอบอย่างระมัดระวัง

“ถ้ายังงั้นอูมาสอนป้อมต่อได้ไหม” พ่อป้อมเริ่มเข้าประเด็น

อ้าว นึกว่าจะโทรมาต่อว่า หลงไม่สบายใจอยู่ตั้งนาน ที่แท้ก็จะตามให้กลับไปสอนพิเศษต่อ ดูท่าพ่อของป้อมคงยังหาใครมาสอนต่อจากผมไม่ได้ จึงพยายามให้ผมกลับไปสอนต่อไปก่อน

“เอ้อ...” ผมอึกอัก นึกถึงภาพตอนที่ผมพูดคนเดียวเหมือนคนเพ้อ นึกถึงความลำบากในการเดินทาง และนึกถึงความโล่งใจหลังจากที่เลิกสอนป้อม... ผมไม่อยากกลับไปสอนอีกเลย แต่จะให้ปฏิเสธก็พูดไม่ออกเพราะเกรงใจ

“ว่าไง กลับมาช่วยน้องหน่อยเถอะนะ” พ่อป้อมพยายามโน้มน้าว

“ผมว่าคุณอาหาคนอื่นอาจจะช่วยป้อมได้ดีกว่าครับ” ผมพูดตามตรง “ผมไม่ถนัดสอนป้อมจริงๆครับ”

“แต่ป้อมอยากให้อูสอน เค้าไม่อยากได้คนอื่น” พ่อป้อมพูด

ให้ยาหอมกันขนาดนี้เชียว แต่ผมรู้ตัวดี ผมไม่คิดว่าป้อมจะประทับใจผมขนาดนั้น นี่คงเป็นเพียงคำพูดเพื่อโน้มน้าวผมเท่านั้น

“ผมไม่รู้จะสอนยังไงจริงๆครับ ป้อมแทบไม่พูดอะไรเลย ผมก็ไม่รู้ว่าป้อมเรียนรู้เรื่องหรือเปล่า จะปรับปรุงการสอนก็ปรับปรุงไม่ถูก” ผมพูดอย่างถนอมน้ำใจที่สุด ที่จริงอยากจะบอกว่าสอนแล้วเบื่อมาก

“อูคอยเดี๋ยวนะ” เสียงพ่อป้อมพูด จากนั้นก็ได้ยินเสียงพ่อป้อมพูดในที่ไกลออกไป “เอ้า เค้าไม่อยากสอนเราแล้ว มาคุยเองก็แล้วกัน”

มีเสียงกอกๆแกกๆ สักครู่ผมก็ได้ยินเสียงเล็กๆ เบาๆ เหมือนแมวร้อง

“หวัดดีฮะพี่อู” เสียงนั้นพูด เป็นเสียงของป้อมนั่นเอง

“หวัดดีป้อม” ผมทักทาย

“พี่อูมาสอนป้อมต่อนะ” ป้อมพูด

ป้อมถึงขนาดลงทุนอ้อนวอน โดนไม้นี้เข้าผมถึงกับใจอ่อน แต่เมื่อผมตั้งใจแล้วผมก็ไม่อยากเปลี่ยนใจง่ายๆ

“เอ้อ... ไม่รู้สิ... ป้อมแทบไม่พูดอะไรเลย พี่ก็ไม่รู้จะสอนยังไง พี่คงสอนป้อมได้ไม่ค่อยดีเท่าไร...” ผมพูดอ้อมๆ ไม่อยากปฏิเสธตรงๆ

“ป้อมจะพูดให้มากขึ้น อยากให้พี่อูมาสอน” ป้อมพูดด้วยเสียงงุ้งงิ้ง

วันนี้ป้อมพูดกับผมถึงสามประโยคทีเดียว มากกว่าที่ป้อมเคยพูดกับผมตลอดทั้งเทอมที่ผ่านมาเสียอีก ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ป้อมอาจกินยาผิดก็ได้ ได้ยินเสียงหูโทรศัพท์ดังกอกแกกอีก จากนั้นก็กลายเป็นเสียงพ่อของป้อม

“ว่าไงอู กลับมาสอนน้องอีกได้ไหม” พ่อป้อมถาม “ปิดเทอมอูคงมีเวลาว่างมากขึ้น มาช่วยติวให้ป้อมหน่อยนะ”

“เอ้อ...” ผมอึดอัดใจ แต่ก็พยายามบ่ายเบี่ยง “คือผมทำกิจกรรมด้วยครับ อีกไม่กี่วันผมต้องไปออกค่ายแล้ว กลับม็ไม่รู้ว่ามีกิจกรรมอะไรที่ต้องทำอีก”

“งั้นอีกสองสามวันค่อยโทรมาบอกอาก็ได้ อูไปดูเวลาว่างของอูมาก่อน แต่อาหวังว่าอูจะมีข่าวดีให้น้อง” พ่อป้อมพยายามรวบหัวรวบหาง เรื่องวาทศิลป์ผูกมัดคนนี่พ่อของป้อมกินขาด

ผมคิดจะถามป้อมว่าทำไมจึงอยากให้ผมสอน แต่ในที่สุดก็ไม่มีโอกาสถาม แต่ถึงจะรู้ไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะถึงอย่างไรผมคงไม่เปลี่ยนใจ...

- - -

ที่ห้างมาบุญครอง

ผมพาจุ๋มมาเลี้ยงตามที่สัญญากันไว้ เดิมทีคิดว่าจะพาจุ๋มไปเลี้ยงที่ร้านไอศกรีมซิกซ์ทีนที่สยามเซ็นเตอร์ แต่เนื่องจากจุ๋มต้องรีบกลับบ้าน ดังนั้นจึงเอาสะดวกเข้าว่า เลือกมากินที่มาบุญครอง

ร้านที่เราเข้าเป็นร้านพิซซ่าฮัท ร้านอาหารหรูมีระดับของวัยรุ่นในยุคนั้นก็คือร้านอาหารพิซซ่าหรือไม่ก็ร้านแฮมเบอร์เกอร์ หากต้องการจะเลี้ยงอาหารใครเป็นพิเศษสักมื้อคงไม่มีใครเลือกไปกินข้าวแกงที่โรงอาหาร ที่จริงร้านพิซซ่าในยุคนั้นไม่ได้มีเพียงพิซซ่าฮัท มีร้านพิซซ่าอีกร้านหนึ่งที่มีชื่อเสียงด้านพิซซ่ากรอบบาง นั่นคือร้านพิซซาเรีย ผมเคยไปกินกับเพื่อนๆและพี่ปริญญาโทที่แผนกครั้งหนึ่ง พวกพี่ปริญญาโทที่แผนกผมนี้บางคนเป็นพวกเชลล์ชวนชิม นั่นคือ ชอบหาร้านอร่อย ตระเวนกินไปเรื่อย ในยุคนั้นก็แค่ไปนั่งกินเฉยๆ ยังไม่มีการถ่ายรูปอาหารมาเขียนรีวิวลงในเว็บบอร์ดเหมือนในสมัยนี้

“จุ๋มจะสั่งอะไรดี” ผมถามหลังจากที่เรานั่งลงที่โต๊ะอาหารและรับเมนูจากพนักงานมา ตอนนั้นผมเริ่มคล่องแล้ว เข้าร้านพวกนี้ได้โดยไม่มีอาการเงอะงะ “สั่งถาดขนาดกลางแล้วมาแบ่งกันดีไหม”

“พี่สั่งเถอะ ตามใจพี่อู” จุ๋มพูด

“พี่เลือกขนาดไปแล้ว จุ๋มเลือกหน้าก็แล้วกัน” ผมเปิดโอกาสให้จุ๋มได้เลือกบ้าง ผลัดกันเลือกคนละหน่อยแต่ละคนจะได้มีส่วนร่วม หลังจากที่จุ๋มเลือกหน้าพิซซ่าแล้วเราก็ต้องนั่งคอยประมาณ ๑๕ ถึง ๒๐ นาที ระหว่างนั้นเราก็นั่งคุยกันไปเพื่อฆ่าเวลา คุยกันเรื่องนั้นเรื่องนี้ สุดท้ายก็วกมาที่เรื่องของป้อม

“พี่โทรไปหาพ่อป้อมแล้ว” ผมเกริ่น อาหารถูกยกมาพอดี เราจึงกินกันไปคุยกันไป “เค้าไม่ได้โทรมาต่อว่าหรอก แต่โทรมาให้ไปสอนต่อ งงเหมือนกัน”

“อ้าว เหรอ” จุ๋มทำน้ำเสียงแปลกใจ ผมจึงเล่ารายละเอียดให้จุ๋มฟัง

“ทีแรกก็คิดว่าพ่อป้อมยังหาคนมาสอนไม่ได้ เลยพยายามให้พี่สอนแก้ขัดไปก่อน แต่ป้อมถึงกับพูดอ้อนพี่เอง ก็คงไม่ใช่เรื่องหาคนสอนไม่ได้ แต่ทำไมถึงอยากให้พี่ไปสอนอีกก็ไม่รู้ ก่อนจากมาก็ไปด่าเสียขนาดนั้น เอ... หรือคนมันชอบโดนด่าหว่า” ผมอดหัวเราะไม่ได้

“แล้วพี่อูคิดยังไงล่ะ” จุ๋มถาม “จะไปสอนอีกไหม”

“ไกลก็ไกล เหนื่อยก็เหนื่อย แถมต้องพูดคนเดียวอีก ไม่ไหวแล้ว” ผมพูด “ถ้าพูดเรื่องเงินก็อยากได้อยู่หรอก แต่สอนแล้วอึดอัดใจพี่ก็... คืออยากสอนแล้วสบายใจด้วยน่ะ”

จุ๋มพยักหน้าเหมือนกับจะเข้าใจความคิดของผม

วันนั้นเราใช้เวลาได้ค่อนข้างสบาย เพราะนัดกันไว้ตั้งแต่บ่ายสามโมง ทำให้มีเวลาเหลือเฟือ ไม่ต้องเร่งรัดเวลา กินกันไปคุยกันไป นั่งแช่อยู่จนได้เวลาที่จุ๋มต้องกลับบ้าน

“กลับกันเถอะพี่อู” จุ๋มพูด พลางยกข้อมือขึ้นดูนาฬิกา

“ได้ๆ กลับก็กลับ” ผมตอบ พลางขยับตัวจะลุกจากที่นั่ง

“ตกลงพี่อูจะกลับไปสอนที่บ้านนั้นอีกไหม” จู่ๆจุ๋มก็ถามขึ้นมา

“จุ๋มคิดว่ายังไงล่ะ” ผมถามกลับ ที่จริงผมพอจะมีคำตอบในใจอยู่แล้ว แต่อยากลองฟังความคิดของจุ๋มดูบ้าง

จุ๋มนิ่งไปนิดหนึ่ง

“พี่อูเคยทำอะไรผิดบ้างมั้ย” จุ๋มถาม

“ทำผิด”ผมทวนคำ ยังงุนงงกับคำถาม ตั้งตัวไม่ถูก ไม่รู้ว่าจุ๋มจะมาไม้ไหน “ทำผิดแบบไหนล่ะ”

“ทำผิดก็คือทำอะไรที่ไม่ถูกไง” จุ๋มตอบแบบกำปั้นทุบดิน “อะไรก็ได้ เรื่องเล็กๆน้อยๆหรือเรื่องใหญ่ๆ เรื่องอะไรก็ได้”

เมื่อพูดถึงทำผิดเรื่องใหญ่ ผมรู้สึกเจ็บแปลบอยู่ในใจ เรื่องในอดีตผุดขึ้นมา ผมพยายามสลัดมันทิ้งไป

“เคยสิ ใครไม่เคยทำผิดบ้างล่ะ” ผมตอบ “ในชีวิตพี่ พี่ทำผิดมากกว่าทำถูกเสียอีก”

“ตอนที่พี่อูทำอะไรผิด แล้วพี่อูอยากได้โอกาสแก้ตัวอีกสักครั้งไหมคะ” จุ๋มถาม พลางมองหน้าผม

ผมนั่งนิ่ง มองจุ๋มอย่างตะลึง วิธีการพูดแบบนี้ช่างเป็นวิธีที่ผมคุ้นเคยเสียนี่กระไร...

- - -

กลางเดือนตุลาคม ในที่สุดก็ถึงวันเดินทางไปออกค่าย

รถบัสคันใหญ่ ไม่ติดแอร์ จอดรออยู่ที่คณะตั้งแต่เช้า พวกเราทั้งสมาชิกชมรมค่ายอาสาและชมรมวิชาการจำนวนหลายสิบคนมากันตั้งแต่เช้าเพื่อจัดของขึ้นรถ พวกชมรมวิชาการที่ไปออกค่ายครั้งนี้มีเกือบสิบคน หนังสือสำหรับทำห้องสมุดของเรามีอยู่ประมาณ ๕๐๐ กว่าเล่ม ใส่กล่องกระดาษลูกฟูกไว้อย่างเรียบร้อยเกือบสิบกล่อง

การจัดของใช้เวลาไม่นานนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เตรียมไว้พร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่นำมาขึ้นรถเท่านั้น ดังนั้นภายในเวลาแปดโมงเช้า ล้อรถบัสก็เริ่มหมุน และการเดินทางของเราก็เริ่มต้นขึ้น

ผมตื่นเต้นกับการเดินทางครั้งนี้ไม่น้อยทีเดียว เพราะเป็นการออกค่ายครั้งแรกในชีวิต เคยได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับการออกค่ายมาไม่น้อย แม้ว่าผมจะเป็นเด็กต่างจังหวัด คุ้นเคยกับชนบท แต่ก็ไม่เคยไปลงมือทำอะไรเพื่อชนบทสักครั้ง ครั้งนี้จะเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของผม

สถานที่ออกค่ายอาสาของพวกเราครั้งนี้เป็นโรงเรียนประถมเล็กๆในชนบทภาคอีสาน รถบัสพาเราเดินทางออกจากกรุงเทพฯไปตามถนนวิภาวดีรังสิต มุ่งไปทางสระบุรี จากนั้นก็แยกไปทางเส้นทางสายอีสานหรือที่เรียกว่าสระบุรีเลี้ยวขวา เพียงแค่ออกจากรุงเทพฯ คณะค่ายอาสาก็กลายสภาพเป็นฉิ่งฉับทัวร์ ตีกลองร้องเพลงกันอย่างสนุกสนาน แต่สุดท้ายเมื่อหลายชั่วโมงผ่านไปก็กลายเป็นนั่งหลับกัน

ทิวทัศน์ชนบทสองข้างทางในช่วงปลายฤดูฝนมีนาข้าวเขียวชอุ่มไปตลอดรายทาง รถบัสเดินทางนานกว่า ๖ ชั่วโมง ในที่สุดก็ถึงที่หมาย

โรงเรียนประถมในต่างจังหวัดนั้นหากลองสังเกตดูดีๆจะพบว่าแต่ละแห่งมีรูปแบบอาคารเรียนเหมือนกันหมด ทั้งนี้เพราะใช้แบบมาตรฐานอันเป็นการประหยัดค่าออกแบบและสะดวกในการตีราคาและควบคุมค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างซึ่งเป็นงบประมาณแผ่นดิน โดยแต่ละโรงเรียนไม่ต้องไปออกแบบอาคารเอง แต่หากเป็นการก่อสร้างขนาดเล็กที่ไม่ได้ใช้งบประมาณทางราชการก็สามารถสร้างอย่างง่ายๆได้ตามอัธยาศัย

สำหรับการออกค่ายของเราในครั้งนี้ เป็นการสร้างอาคารเรียนขนาดเล็กกับอาคารอเนกประสงค์ อาคารเรียนเป็นอาคารไม้ ส่วนอาคารอเนกประสงค์เป็นอาคารอิฐบล็อกผสมไม้ ขนาดใหญ่กว่าอาคารเรียนนิดหน่อย ทั้งสองอาคารมีโครงสร้างชั้นเดียว ง่ายๆ คิดว่าคงไม่ได้มีแบบมาตรฐานเพราะว่าช่างทั่วไปก็สามารถสร้างได้โดยอาศัยความชำนาญ ไม่ใช่อาคาร คสล. ส่วนห้องสมุดที่เราไปทำนั้นไม่ได้อยู่ในอาคารเรียนที่จะสร้างขึ้นใหม่ แต่เป็นการปรับปรุงดัดแปลงห้องเรียนในอาคารเดิมเพื่อทำเป็นห้องสมุดขึ้นมา

เรื่องงานออกค่าย พวกเราที่มาจากชมรมวิชาการรู้เรื่องไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่ทางชมรมค่ายเป็นคนจัดการ แต่ก็พอรู้คร่าวๆมาว่าโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่ค่อนข้างขาดแคลน อาคารที่จะสร้างขึ้นใหม่หลังนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการ แรงงานที่ใช้ก็เป็นแรงงานของชาวบ้านร่วมกับนักศึกษา

เมื่อพวกเราไปถึงก็เป็นเวลาบ่ายแก่แล้ว โรงเรียนชนบทที่เราจะมาออกค่ายกันนั้นไม่ใช่โรงเรียนในฝันที่มีต้นไม้เขียวขจี ทุ่งหญ้าเขียวชอุ่ม แต่เป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง รอบข้างมีแต่ดินลูกรังกับต้นไม้ที่ถูกฝุ่นลูกรังเกาะจนกลายเป็นต้นไม้สีน้ำตาล

“โห นี่มันยิ่งกว่าเขาชนไก่เลยนะเนี่ย” ผมอดกระซิบกับไอ้กี้ไม่ได้ สมัยนี้ต้องเรียกว่าแล้งได้โล่ห์

“นี่มาทำงานนะโว้ย ไม่ได้มาปิกนิก มึงจะเอาสบายไปถึงไหนกัน” ไอ้กี้ดุผม

“กูไม่ได้บอกว่ากูเอาสบายเสียหน่อย เพียงแต่นึกไม่ถึงว่าจะแล้งขนาดนี้ ดุมากนักนะมึง อย่าให้กูได้ยินมึงบ่นเชียว” ผมดุมันกลับบ้าง

“กูระดับไหน ไม่มีบ่นอยู่แล้ว” ไอ้กี้คุยโว

ครูในโรงเรียนและผู้ใหญ่บ้านกับชาวบ้านในหมู่บ้านต่างก็พากันออกมาต้อนรับ จากนั้นครู ชาวบ้าน และพวกเราก็ช่วยกันขนของลงจากรถ และพาเราเข้าที่พัก ซึ่งก็คือห้องเรียนที่เอาโต๊ะและเก้าอี้ออกไป ดัดแปลงเป็นที่พักชั่วคราวนั่นเอง

ตอนค่ำ ทางโรงเรียนจัดงานเลี้ยงเล็กๆขึ้นเพื่อต้อนรับพวกเรา โดยมีครูและชาวบ้านมาร่วมงานด้วย มีการกินอาหาร แนะนำตัว และร้องรำทำเพลงกัน จากนั้นตอนดึกก็มีการประชุมเพื่อซักซ้อมเรื่องการทำงานกันนิดหน่อย จากนั้นก็เข้านอน

การออกค่ายในวันแรกผ่านไปอย่างสบายๆเพราะเป็นเพียงแค่วันเดินทาง แต่ในวันที่สองกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในวันที่สอง พวกเราต้องเริ่มทำงานกันแล้ว พวกเราต้องตื่นกันแต่เช้า จากนั้นผลัดกันไปเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ แต่งตัว กินอาหาร โดยเรื่องอาหารนั้นพวกเราทำกินกันเองเพราะไม่ต้องการรบกวนทางโรงเรียนหรือชาวบ้าน เมื่อกินอาหารเสร็จก็มาที่หน้างานก่อสร้าง พวกชมรมวิชาการส่วนหนึ่งไปที่อาคารเรียนเดิมเพื่อจัดการทำห้องสมุด ส่วนที่เหลือก็ไปช่วยสร้างอาคารเรียน บางส่วนก็เป็นฝ่ายเสบียง คอยหุงหาอาหารมื้อต่อไป พวกผมที่มาจากชมรมวิชาการก็เงอะๆงะๆเพราะไม่เคยออกค่ายมาก่อน ได้แต่คอยทำตามและคอยเป็นลูกมือช่วยนั่นช่วยนี่ไปตามเรื่อง โดยบางคนก็ไปช่วยงานครัว

ช่วงนั้นเป็นช่วงปิดเทอม ชาวบ้านและนักเรียนที่ว่างจากไร่นาของตนก็จะมาช่วยกันกับพวกเราในการก่อสร้างอาคาร เริ่มกันตั้งแต่ แบกอิฐ หิน ปูน ทราย ผสมปูน ขุดดิน ก่ออิฐ โบกปูน เลื่อยไม้ ตอกตะปู ทำกันจนเหงื่อไหลไคลย้อยทั้งวัน พวกชมรมค่ายดูจะมีความคล่องตัว ส่วนพวกชมรมวิชาการค่อนข้างบอบบางและดูเงอะงะ คงจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับงานหนัก ผมเองก็ไม่เคยทำงานหนักขนาดนี้มาก่อน แต่ถึงหนักก็ต้องทนเพราะไม่ต้องการแสดงความอ่อนแอ

“แม่ง... รู้งี้กูไม่มา หนักกว่าฝึก รด. ที่เขาชนไก่ตั้งไม่รู้เท่าไหร่ เขาชนไก่นี่กลายเป็นเรื่องสบายไปเลย” เพียงตอนบ่ายคล้อยไอ้กี้ก็ถึงกับบ่นอุบ

“ไม่ต้องบ่นเลยมึง มาทำงานนะ ไม่ได้มาปิกนิก” ผมเอาคืนมันบ้าง

“เฮ้ย กูจะบอกอะไรให้มึงอย่างนึง มาใกล้ๆ ฟังคนเดียวก็พอ” ไอ้กี้เรียกผมให้เข้าไปใกล้ ไม่ยอมให้คนอื่นได้ยิน

“อะไรวะ” ผมถามมัน

“ไอ้เหี้ย...” ไอ้กี้เอียงหน้ามากระซิบกับผม

- - -

ผมมาช่วยงานสร้างอาคารเรียน การก่อสร้างดำเนินไปเรื่อยๆตั้งแต่เช้า นักศึกษาและชาวบ้านช่วยกันทำงานขันแข็งจนผมรู้สึกประทับใจ นักศึกษาชมรมค่ายบางคู่ก็เป็นแฟนกันแล้วมาออกค่ายด้วยกัน ระหว่างทำงานก็หาน้ำมาป้อนให้กัน เอาผ้าขาวม้าช่วยซับเหงื่อให้กัน ดูแลกันเป็นอย่างดี

จนในยามบ่าย อาคารเรียนหลังเล็กเป็นรูปเป็นร่างอย่างรวดเร็ว จากการตีพื้น ขึ้นเสา ทำจั่ว จนตอนเย็นโครงหลังคาก็เรียบร้อยพร้อมที่จะมุงได้

“เอ้า วันนี้พอเท่านี้ ลงมาได้แล้ว” เสียงคนที่อยู่ข้างล่างตะโกนเรียกผม ขณะนั้นผมกำลังนั่งอยู่บนโครงหลังคา แดดยามกลางวันแรงมาก คนที่ทำงานต้องใส่เสื้อแขนยาวและเอาผ้าขาวม้าโพกหัวโพกหน้าจนมิดชิด ผมเองก็เช่นกัน แต่ตอนนี้เป็นเวลาเย็นแล้ว แดดจึงไม่แรงนัก

“ลงไม่ได้ กลัวตก” ผมตะโกนตอบ

“เออ งั้นก็อยู่บนนั้นไปละกัน” ข้างล่างตะโกนอีก

ที่จริงโครงหลังคาของอาคารชั้นเดียวก็สูงแค่ไม่กี่เมตรจากพื้น แต่เมื่อแรกที่ปีนขึ้นไปก็รู้สึกเสียวอยู่เหมือนกัน เพราะกลัวหล่นลงมา แต่ทำงานไปสักพักก็จะเริ่มคุ้นเคยและไม่เสียวอีกแล้ว

เพื่อนๆที่อยู่บนโครงหลังคาต่างพากันปีนลงข้างล่าง ส่วนผมรีๆรอๆอยู่เพราะอยากนั่งพักชมวิวอยู่บนนั้นอีกสักครู่

ผมมองลงมาข้างล่าง เห็นนักศึกษากับชาวบ้านกำลังละมือจากงานและเดินเข้าร่ม พวกชาวบ้านร่ำลาเพื่อกลับบ้านของตน ส่วนพวกนักศึกษาก็ไปรวมตัวกันที่อาคารเรียนหลังเดิม เมื่อถึงเวลาสิ้นวัน ท้องฟ้าตะวันตกเริ่มป็นสีแดง แสงสีแดงทอทาบพื้นลูกรังสีส้ม ภาพการแยกย้ายจากกันยิ่งขับเน้นบรรยากาศยามเย็นให้ชวนเหงา น่าแปลกที่มากันเป็นคณะใหญ่แต่ผมกลับรู้สึกเหงาขึ้นมาได้

ผมปีนป่ายลงมาจากโครงหลังคา จากนั้นไปรวมตัวกับเพื่อนๆเพื่ออาบน้ำ ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า และกินอาหารเย็น

วันนั้นเป็นวันที่เหน็ดเหนื่อยมาก และก็เป็นอย่างที่ไอ้กี้พูดว่าตอนอยู่ที่เขาชนไก่ยังสบายกว่านี้ ความเหน็ดเหนื่อยทำให้อาหารเย็นมื้อนั้นอร่อยเป็นพิเศษ คู่ที่เป็นแฟนกันก็กินอาหารแบบนั่งพิงหัวซบกันอย่างเหนื่อยอ่อน

หิวด้วยกัน อิ่มด้วยกัน เหนื่อยด้วยกัน พักด้วยกัน ดูแลกัน ไม่ทอดทิ้งกัน อย่างนี้กระมังที่เขาเรียกว่าร่วมทุกข์ร่วมสุข มันเป็นสายใยแห่งความอบอุ่นที่ผมสามารถสัมผัสได้ด้วยความรู้สึก ผมรู้สึกอิจฉาคู่เหล่านี้ ผมอยากมีความรู้สึกที่ผูกพันกับใครสักคนหนึ่งอย่างนี้บ้างเหลือเกิน...





<ช่วงนั้นเป็นช่วงปิดเทอม ชาวบ้านและนักเรียนที่ว่างจากไร่นาของตนก็จะมาช่วยกันกับพวกเราในการก่อสร้างอาคาร เริ่มกันตั้งแต่ แบกอิฐ หิน ปูน ทราย ผสมปูน ขุดดิน ก่ออิฐ โบกปูน เลื่อยไม้ ตอกตะปู ทำกันจนเหงื่อไหลไคลย้อยทั้งวัน พวกชมรมค่ายดูจะมีความคล่องตัว ส่วนพวกชมรมวิชาการค่อนข้างบอบบางและดูเงอะงะ คงจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับงานหนัก ผมเองก็ไม่เคยทำงานหนักขนาดนี้มาก่อน แต่ถึงหนักก็ต้องทนเพราะไม่ต้องการแสดงความอ่อนแอ>

Sunday, October 9, 2011

ภาคสี่ ตอนที่ 47

ภาพที่เห็นในจอทีวีเป็นถนนเพชรบุรีที่มีไฟลุกเป็นกลุ่มเพลิงขนาดใหญ่จนท่วมถนนและลามไปยังอาคารสองฝั่งถนน เปลวไฟแดงฉานสูงหลายสิบเมตรตัดกับท้องฟ้าในยามราตรี กลายเป็นภาพอันน่าสะพรึงกลัว

ข่าวในขณะนั้นทราบแต่เพียงว่ามีรถบรรทุกก๊าซแอลพีจีระเบิดใกล้จุดลงทางด่วนและเกิดไฟลุกไหม้ลามไปทั่วบริเวณ ข่าวช่องสามทันเหตุการณ์กว่าเพื่อนเนื่องจากสถานีโทรทัศน์ช่องสามตั้งอยู่ที่อาคารวานิช อยู่ใกล้ๆกับจุดเกิดเหตุนั่นเอง

จากข่าว รัศมีของเพลิงกินอาณาบริเวณกว้าง และมีรถยนต์ในถนนถูกพลิงไหม้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งเปลวไฟยังลามไปยังอาคารที่ตั้งอยู่ริมถนน ผู้ที่อยู่ในรถยนต์ตอนเกิดเหตุการณ์ส่วนใหญ่หนีไม่ทันเนื่องจากอยู่ในรถยนต์ติดแอร์ จึงไม่ได้กลิ่นก๊าซที่กระจายออกมาจากรถก๊าซ ส่วนผู้ใช้รถยนต์ที่เปิดกระจกจะได้กลิ่นก๊าซนำมาก่อน บางรายไหวทันก็สามารถหนีออกมาได้ แต่ในยุคนั้นรถยนต์ที่ไม่ติดแอร์เหลือเป็นส่วนน้อยแล้ว มักเป็นรถเมล์ รถแท็กซี่ รถกระบะ และรถตู้ ส่วนรถเก๋งบ้านติดแอร์กันเกือบทั้งหมด

ผมมุงดูข่าวทีวีอยู่พักใหญ่ นานไปคนดูก็เริ่มแยกย้ายเนื่องจากยืนดูแล้วเมื่อย ผมเองก็กลับขึ้นห้องไปเช่นกัน

ข่าวรถก๊าซระเบิดกลายเป็นข่าวใหญ่ที่พาดหัวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในวันต่อมา รวมทั้งการสอบของมหาวิทยาลัยในวันถัดมากลายเป็นเรื่องวุ่นวาย เนื่องจากเหตุการณ์รถก๊าซระเบิดทำให้รถติดหนักในตอนเช้า และยิ่งไปกว่านั้น ที่มหาวิทยาลัยยังมีข่าวลือกันว่ามีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยซึ่งสอนอยู่ในคณะอื่นถูกไฟคลอกในเหตุการณ์ด้วย เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นอุบัติภัยครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของไทย ร่วมกับเหตุการณ์ไฟไหมโรงงานเคเดอร์ที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอสามพราน จ.นครปฐม และโรงแรมถล่มทั้งหลังในเขตอำเภอเมือง จ.นครราชสีมา...

- - -

ต้นเดือนตุลาคม

ในที่สุด การสอบปลายภาคแรกของผมก็ผ่านพ้นไป เทอมนั้นผมเตรียมตัวสอบไม่ค่อยดีนักเนื่องจากยังต้องเจียดเวลามาดูแลเรื่องงานหนังสือด้วย สำนักพิมพ์ที่พวกเราขอหนังสือไปเมื่อบริจาคหนังสือมาเราก็ต้องไปรับเอง แม้ในช่วงสอบบางวันยังต้องไปรับหนังสือจากสำนักพิมพ์มาเก็บไว้ที่ชมรม

หลังจากที่สอบปลายภาคเสร็จ เราก็มีเวลาทำงานมากขึ้น หลังจากที่ไปรับหนังสือมาทั้งหมดแล้วก็มาดำเนินการคัดแยกหนังสือ เนื่องจากหนังสือที่ได้มาบางชื่อเรื่องได้มาเป็นจำนวนมากนับสิบเล่ม เราจึงแบ่งมาเก็บเอาไว้เผื่อสำหรับโครงการต่อไป เมื่อคัดแยกเสร็จก็จัดใส่กล่องเพื่อเตรียมส่งไปกับรถขนของต่อไป

“เสร็จแล้วพี่ตั้ว” ผมพูดกับพี่ตั้วหลังจากที่น้องปีหนึ่งมัดหนังสือกล่องสุดท้ายเสร็จเรียบร้อย ช่วงนั้นเรามีรุ่นน้องมาช่วยทำงานด้วย บางเรื่องก็ไม่ต้องทำเอง เพียงสั่งรุ่นน้องทำแล้วคอยดูแลความเรียบร้อย เพิ่งจะรู้สึกว่าเป็นรุ่นพี่แล้วมันดีอย่างนี้นี่เองเนื่องจากสั่งรุ่นน้องได้ แต่ที่จริงปีหนึ่งมันก็เป็นรุ่นเพื่อนนั่นแหละ แต่ผมก็แกล้งทำเป็นลืมข้อนี้ไปเสีย

“เออ เสร็จเสียที งานแรกนี่ลำบากชิบบบบบหายยยยยยยย” พี่ตั้วลากเสียงยาว แม้งานจะเสร็จแต่ก็ยังอดบ่นไม่ได้

“ทีหลังเรื่องเดินขอสปอนเซอร์นี่ไม่เอาอีกแล้วนะพี่” ผมพูดบ้าง

“นั่นดิ พี่ก็ว่ายังงั้น” พี่ตั้วเห็นด้วย “ขอสำนักพิมพ์เอาสบายกว่ากันเยอะ ฮ่าฮ่า”

ขณะที่คุยกัน ไอ้กี้ก็เดินเข้ามาใสนชมรมพอดี เมื่อมันเห็นผมมันก็ทักทาย

“เฮ้ย ไอ้เหี้ยอู มึงไปก่อเรื่องอะไรที่บ้านไอ้ป้อมวะ”

“มีอะไรเหรอ” ผมงง

“ก็เมื่อคืนพ่อไอ้ป้อมโทรมาหากู บอกว่าต้องการคุยกับมึง ให้มึงโทรไปหาด้วย” ไอ้กี้เล่า “ยังบอกอีกว่าให้รีบโทรไป”

“เหรอ” ผมรับคำอย่างงงๆ

“มึงไม่ได้ให้เบอร์เค้าไปหรือไงวะ” ไอ้กี้ถามอีก

“ไม่ได้ให้ว่ะ” ผมตอบ ผมอยู่หอพัก รับโทรศัพท์ไม่ค่อยสะดวก ปกติจึงไม่ค่อยได้ให้เบอร์โทรศัพท์แก่ใครอยู่แล้ว และยิ่งมาเกิดเรื่องเมื่อปีที่แล้วทำให้ผมยิ่งเข็ดขยาดเข้าไปอีก กลายเป็นนิสัยที่ไม่ชอบให้เบอร์โทรศัพท์แก่ใคร แม้แต่ไอ้กี้ก็ไม่รู้เบอร์โทรศัพท์ของผม ที่จริงมันเองก็ไม่ได้สนใจที่จะขอด้วยเช่นกัน รู้จักกันมาหลายปีผมไม่เคยคิดโทรหามัน เพราะไม่ได้มีธุระจำเป็นอะไรให้ต้องโทร ส่วนมันเองก็คงไม่เคยคิดโทรหาผมด้วยเหตุผลเช่นเดียวกัน ส่วนเพื่อนๆที่แผนกนั้นในกลุ่มที่สนิทกันก็มีการแลกเบอร์โทรศัพท์กันไว้เนื่องจากบางครั้งต้องคุยเรื่องการบ้านหรือรายงานบ้างในตอนกลางคืน การติดต่อสื่อสารกันในหมู่วัยรุ่นยุคนั้นแตกต่างจากในยุคนี้มากที่สามารถออนไลน์ในเครือข่ายสังคม สามารถเห็นและคุยกันได้ตลอดเวลาทางแป้นพิมพ์ หรือไม่เช่นนั้นก็คุยกันทางโทรศัพท์มือถือ

“เออ รู้แล้วก็รีบๆโทรไปซะ” ไอ้กี้กำชับ

ที่จริงหน้าที่ของผมก็หมดไปแล้ว ดังนั้นพ่อของป้อมจึงไม่น่าติดต่อมาอีก ยกเว้นจะมีเรื่องอะไรเป็นพิเศษ อดคิดเป็นเรื่องในทางลบไม่ได้ จะว่าคิดเงินให้ผมผิดแล้วโทรมาทวงเงินก็ไม่น่าใช่เพราะเงินค่าสอนก็เป็นไปตามที่ตกลงกัน หากจะมีก็คงมีอยู่เพียงเรื่องเดียว นั่นคือ เรื่องที่ผมพูดทิ้งท้ายกับป้อมในวันสุดท้าย หากป้อมไม่พอใจแล้วเอาไปบอกพ่อ พ่ออาจคิดว่าผมไปด่าลูกชายเขาก็ได้ คิดไปคิดมาก็รู้สึกกังวลนิดหน่อย

โทรไปก็คงโดนด่า ไม่โทรดีกว่า ผมตัดสินใจที่จะไม่โทรกลับไป

- - -

ตั้งแต่ภาคต้นปีนี้ผมยังไม่ได้กลับบ้านเลย ในระหว่างเปิดเรียนก็มีสอนพิเศษทุกวันเสาร์ จนถึงปิดเทอมก็ยังไม่ได้กลับบ้านอีกเนื่องจากต้องเตรียมงานเพื่อไปออกค่ายร่วมกับชมรมค่ายอาสา นอกจากนี้ก็ยังออกไปเที่ยวกับเพื่อนในแผนกบ้าง ส่วนใหญ่เป็นการเที่ยวกลางคืน เรียกได้ว่าปีนี้ห่างบ้านไปหลายเดือนทีเดียว

ตั้งแต่ปิดเทอมมาผมไปทำงานที่ชมรมเกือบทุกวัน เริ่มติดชมรมมากขึ้น พอมีโครงการแล้วทำให้มีงานโน่นงานนี่ที่ต้องทำ หากไม่มีอะไรทำก็ไปนั่งเล่น คุย และร้องเพลงเฮฮาไปตามเรื่อง

ตอนสายวันหนึ่ง เมื่อผมเดินเข้าไปในชมรม ผมก็เห็นไอ้กี้กับเพื่อนและรุ่นน้องปีหนึ่งหลายคนกำลังนั่งก้มหน้าก้มตาฝนเอกสารที่ดูคล้ายกระดาษคำตอบด้วยดินสอดำอยู่อย่างขะมักเขม้น ตรงหน้าของแต่ละคนกางหนังสือเล่มหนึ่งอยู่

“ทำอะไรกันอยู่น่ะ” ผมถามไอ้กี้

“สมัครเรียนรามโว้ย” ไอ้กี้ตอบ

“โห” ผมหัวเราะ “เรียนที่เดียวก็เอาให้รอดก่อนเถอะมึง”

“เสือก” ไอ้กี้วางดินสอดำในมือลง พร้อมกับด่าผม “กูจะเรียนสองปริญญา มีอะไรมั้ย ค่าหน่วยกิตหน่วยละ ๑๘ บาทเอง ถูกจะตาย เผื่อฟลุ้กได้ปริญญาตรีอีกใบนี่โคตรเท่เลยนะมึง”

ยุคนั้นมีค่านิยมอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือการเรียนระดับปริญญาตรีพร้อมกันสองแห่ง อีกแห่งหนึ่งมักเป็นรามคำแหง แต่ก็มีบ้างที่เลือกเรียนที่ มสธ. ไม่แน่ใจว่าค่านิยมเรียนสองแห่งนี้แพร่หลายไปขนาดไหน แต่แถวๆสะพานเหลืองสามย่านนี่นิยมกัน ยุคนั้นค่าหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยรามคำแหงหน่วยละ ๑๘ บาท ไอ้กี้และคนอื่นๆในชมรมจึงอยากลองดูบ้าง

“อ้อ นี่มึงหวังจบแบบฟลุ้ก ไม่ได้คิดจะใช้ความสามารถเลยนะ” ผมกัดมันอีก

“มึงไม่ต้องเสือกเลย เรื่องของกู ไอ้ห่านี่” ไอ้กี้ด่าอีก

“ไหนขอดูคู่มือลงทะเบียนหน่อยสิ” ผมชะโงกหน้าดูหนังสือคู่มือที่กางอยู่ตรงหน้ามัน

“เฮอะ สนใจขึ้นมาแล้วล่ะสิ” ไอ้กี้พูดพลางส่งหนังสือคู่มือการลงทะเบียนเรียนให้ผมดู เห็นมีคณะและสาขาให้เลือกเรียนมากมายไปหมด

“มึงเรียนสองที่ เท่ากับหนึ่งภาคเรียนต้องลงทะเบียนเรียนราวๆ ๔๐ หน่วยกิต แล้วมึงจะเอาเวลาที่ไหนไปเรียนวะ” ผมพูด “แล้วมึงเลือกเรียนสาขาอะไร”

“บริหารธุรกิจ” ไอ้กี้ตอบ “ก็เรียนด้วยตนเองสิ ไอ้โง่ ซื้อหนังสือมาอ่านเอง ถึงเวลาก็ไปสอบ ไม่ต้องเข้าห้องเรียนก็ได้”

“เก่งตายแล้วมึง” ผมหัวเราะอีก

“มึงไม่ต้องมาประชดกู อย่าให้กูรู้ว่ามึงไปสมัครเรียนนะไอ้อู กูจะหัวเราะให้ฟังร่วง” ไอ้กี้พูด “เรื่องของมึงเองน่ะจัดการให้เรียบร้อยเสียก่อนเถอะ พ่อไอ้ป้อมโทรมาหากูอีกแล้ว มึงไปก่อเรื่องอะไรเอาไว้ก็ไปจัดการเสีย อย่าให้กูต้องเข้าปิ้งไปด้วย”

“ทำไมคิดว่ากูไปก่อเรื่องวะ เค้าอาจจะอยากให้เงินกูเพิ่มก็ได้” ผมฝืนหัวเราะ แต่ที่จริงก็รู้สึกไม่ค่อยสบายใจนักเหมือนกัน

“ตีนมั้ยล่ะ ที่ให้เพิ่มเนี่ย” ไอ้กี้หัวเราะ

- - -

เย็นวันนั้น ท้องฟ้าครึ้มไปด้วยเมฆฝน ผมออกจากชมรมราวๆห้าโมงเย็นเพื่อกลับหอพัก ขณะที่ยืนรอรถอยู่ที่ป้ายรถเมล์สามย่านผมอดชะแง้มองหาจุ๋มไม่ได้ ตั้งแต่ช่วงสอบจนถึงตอนนี้ผมไม่ได้เจอจุ๋มเลย ตอนสอบก็กลับไม่เป็นเวลา ส่วนตอนปิดเทอมนั้นยิ่งกลับไม่เป็นเวลาเข้าไปใหญ่ ส่วนใหญ่มักกลับตอนมืดๆค่ำๆ แม้ว่าผมชะแง้มองหาจุ๋มอยู่เสมอ แต่ก็ยังไม่มีโอกาสเจอกันเสียที

“จ๊ะเอ๋” ได้ยินเสียงแจ๋วๆดังอยู่ข้างหลัง ผมอดรู้สึกดีใจนิดๆไม่ได้

“จุ๋มหายไปไหนมาเนี่ย ไม่เจอเสียตั้งนาน” ผมถาม

“จุ๋มก็กลับเวลาประมาณนี้ทุกวันนั่นแหละ” จุ๋มตอบเสียงใส “พี่อูต่างหากล่ะที่หายไป”

“ปิดเทอมแล้วมาทำไมล่ะ” ผมถาม

“แล้วพี่อูล่ะ มาทำไม” จุ๋มย้อน

“แน่ะ เดี๋ยวนี้หัดย้อนรุ่นพี่ เดี๋ยวตีตายเลย” ผมขู่

“กลัวแล้วจ้า” จุ๋มทำหน้าล้อเลียน จนผมอดขำไม่ได้ “จุ๋มมาซ้อมไวโอลิน”

“พี่มาทำงานที่ชมรมน่ะ เร่งเตรียมหนังสือไปออกค่ายทำห้องสมุด” ผมตอบ “ความคิดที่จุ๋มแนะนำได้ผลมาก ได้หนังสือมาเยอะแยะเลย”

“เห็นไหมล่ะ” จุ๋มทำหน้าเหมือนกับจะพูดว่าให้มันรู้เสียบ้างว่าความคิดใคร “ยังงี้ถือว่าทำงานสำเร็จ ก็ต้องพาจุ๋มไปเลี้ยงสิ”

“ได้ๆๆ” ผมตอบ “คราวนี้พี่กัดฟันตั้งงบให้ ๕๐ บาทเลย”

“งั้นไม่ต้องหรอกค่ะ” จุ๋มทำหน้าเซ็ง “พี่อูเก็บเงินเอาไว้ซื้อยาระบายเถอะ”

“ซื้อยาระบายมาทำไม” ผมงง

“ก็พี่อูคงท้องผูก” จุ๋มตอบ

“ไม่ได้ท้องผูกเสียหน่อย” ผมถามต่อ “ทำไมคิดยังงั้นล่ะ”

“ก็พี่อู...” จุ๋มพูดเสียงกระซิบ “ขี้เหนียว... ต้องท้องผูกแน่ๆเลย”

พูดจบเธอก็ทำหน้ากลั้นหัวเราะอย่างเต็มที่ จนผมอดขำไปด้วยกับเธอไม่ได้

“หลอกด่านี่ ไปๆๆ เท่าไรก็เลี้ยง วันนี้ทุ่มหมดกระเป๋าเลย” ผมพูด พลางควักกระเป๋าตังค์ออกมากางดู ในนั้นมีเงินอยู่หลายร้อยบาท

“แจ๋วเลย” จุ๋มหัวเราะ “ขอบคุณมากพี่อู แต่ไม่ไปหรอก จุ๋มล้อเล่น”

“อ้าว ทำไมล่ะ” ผมใจหายที่ถูกปฏิเสธ “รีบกลับบ้านอีกแล้วเหรอ”

“ฮื่อ ก็ยังงั้นแหละ” จุ๋มตอบ พลางแหงนหน้าดูท้องฟ้า “ฝนใกล้ตกแล้วด้วย”

“ยังงั้นพรุ่งนี้จุ๋มเลิกซ้อมเร็วขึ้นสักหน่อยสิ เลิกสักบ่ายสามโมง แล้วเราไปหาอะไรกินกัน เสร็จแล้วจะได้ทันเวลากลับบ้านพอดี ดีไหม” ผมพูดโน้มน้าว “ไปหาอะไรกินแถวมาบุญครอง ใกล้ๆนี่เอง กินเสร็จก็ขึ้นรถกลับได้เลย ไปนะ นะ นะ”

จุ๋มคิดนิดหนึ่ง “ยังงั้นก็ได้ค่ะ”

ฝนตกลงมาพอดี ฝนยามเย็นโปรยปรายลงมาเป็นละอองบาง เนื่องจากฝนตกไม่หนักจึงไม่มีใครวิ่งหลบฝน แต่ละคนจึงยังยืนอยู่ที่เดิม เพียงครู่เดียวรถเมล์สาย ๓๔ ก็มา

“จุ๋มไปแล้วล่ะพี่อู” จุ๋มพูด “อ้อ พรุ่งนี้เจอกันที่ไหนล่ะ”

“เจอที่ป้ายรถเมล์นี่ดีไหม” ผมเสนอ ที่จริงคิดว่าจะไปหาจุ๋มที่คณะอยู่เหมือนกัน แต่คิดอีกทีหากเจอพี่เหล่ง พี่เหล่งอาจจะไปด้วยและเป็นเจ้ามือ ทำให้ผมเสียความตั้งใจ เจอกันที่ป้ายรถเมล์นี้เลยดีกว่า “บ่ายสามโมง”

“ก็ดีค่ะ” จุ๋มพูด พลางก้าวเดินเพื่อไปขึ้นรถ “จุ๋มไปก่อนล่ะ”

ทันใดนั้นผมก็เกิดความคิดขึ้นมาวูบหนึ่ง ผมรีบเดินตามจุ๋มขึ้นรถไปทันที

“อ้าว พี่อู” จุ๋มอุทานอย่างแปลกใจเมื่อเห็นผมอยู่บนรถคันเดียวกับเธอ “ขึ้นสายนี้ทำไมล่ะ มันไม่ได้เข้าลาดพร้าวนี่”

“ก็... เดี๋ยวพี่ไปเป็นเพื่อนจุ๋มก่อน แล้วไปต่อรถอีกทีก็ได้” ผมพูด

“เลยต้องเสียเงินค่ารถเพิ่มอีก” จุ๋มพูด

“ไม่เป็นไรหรอก นานๆที” ผมพูด

วันนั้นการจราจรไม่ติดขัดแม้ว่าจะมีฝนปรอย เพราะเป็นช่วงปิดภาคเรียน รถสามารถเคลื่อนตัวไปได้เรื่อยๆ ลมหอบเอาไอฝนเข้ามาในรถด้วย บรรยากาศภายในรถจึงไม่ร้อนนักและมีกลิ่นไอฝน เมื่อรถผ่านหน้าประตูใหญ่รั้วจามจุรี ภาพตึกหอประชุมในฝนปรอยที่เห็นภายนอกหน้าต่างรถทำให้ผมนึกถึงวันที่ผมและจุ๋มต้องเดินจากสามย่านไปจนถึงสี่แยกพญาไท ผมอดไม่ได้ต้องเหลือบไปมองดูจุ๋มวูบหนึ่ง

เราคุยกันไปเรื่อยตลอดทาง ผมได้เล่าเรื่องพ่อของป้อมที่ต้องการให้ผมติดต่อกลับอย่างไม่ได้ตั้งใจ

“แล้วพี่อูไม่คิดโทรกลับหรือไง” จุ๋มถาม

“ไม่รู้สิ” ผมตอบอย่างลังเล “กลัวโทรไปแล้วปัญหาจะตามมาอีก”

“ถ้าจะมีปัญหานะมันก็คงเกิดขึ้นไปแล้ว พี่อูจะโทรหรือไม่โทรก็เพียงแค่ว่าพี่อูอยากรับรู้หรือไม่อยากรับรู้เท่านั้นเอง” จุ๋มพูด “มันก็แค่... พี่อูอยากสู้ปัญหาหรืออยากหนีปัญหา”

“...”

- - -

ค่ำวันนั้นเอง

เมื่อผมกลับถึงหอพัก หลังจากกินอาหารเสร็จแล้ว ผมก็แวะไปหาพี่คนหนึ่งที่พักอยู่ในหอเดียวกัน แกชื่อชัย พักอยู่ชั้นสอง กำลังเรียนอยู่รามคำแหง

“หวัดดีครับพี่” ผมทักทายพี่คนนั้นหลังจากที่พี่ชัยเปิดประตูออกมา

“อ้อ หวัดดีน้อง” พี่ชัยทักทายตอบ พี่ชัยอยู่ที่นี่มาก่อนผมอีก เรียนรามคำแหงตั้งแต่ก่อนผมมาอยู่จนขณะนี้ก็ยังไม่จบ ปีอะไรแล้วก็ไม่รู้เหมือนกัน แม้เราสองคนจะไม่คุ้นเคยกันนักเพราะพี่ชัยไม่ค่อยขึ้นไปสังสรรค์บนชั้นดาดฟ้า แต่ก็พอรู้จักชื่อของกันและกัน

“พี่ครับ ถ้าผมฝากพี่ซื้อใบสมัครเรียนรามสักชุด พี่ช่วยหน่อยได้ไหม” ผมถาม

“ทำไม โดนรีไทร์แล้วเหรอ” พี่ชัยทำหน้าตกใจ

“ยังครับพี่” ผมตอบ แต่ในใจคิดว่าไม่น่าแช่งกันเลย “แต่อยากรู้ว่าที่รามมีสาขาอะไรให้เรียนบ้าง ผมสนใจพวกกฎหมาย เผื่อจะหาความรู้เอาไว้บ้าง”

“นี่เลย นิติราม” พี่ชัยรีบพูดทันที “เรียนง่ายแต่จบยากนะน้อง”

“ครับๆ ได้ยินว่ายังงั้น ว่าแต่ฝากพี่ซื้อใบสมัครหน่อยได้ไหมครับ” ผมถามเข้าประเด็นอีก

“ได้ๆ พรุ่งนี้พี่เอามาให้” พี่ชัยรับปากอย่างง่ายดาย

หลังจากที่คุยกับพี่ชัยเสร็จ ผมก็ออกไปที่ตู้โทรศัพท์ที่อยู่ในซอย จากนั้นหยอดเหรียญลงไปแล้วกดเลขหมาย

“ฮัลโหล” เสียงใหญ่ๆรับสาย ฟังน้ำเสียงแล้วน่าจะเป็นพ่อของป้อมนั่นเอง

“สวัสดีครับคุณอา ผมอูครับ” ผมพูด ในใจก็ตุ๋มๆต่อมๆ





<จามจุรีสามยุค ภาพหอประชุมหลังรั้วจามจุรีที่ผมผ่านไปมาทุกวันและเห็นจนชินตา ภาพนี้ถ่ายในสามยุคท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ภาพบนสุดเป็นภาพในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ส่วนภาพกลางถ่ายประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๕ และภาพล่างสุดถ่ายในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ แต่ละภาพมีอายุห่างกันราว ๒๕ ปี>