Wednesday, July 28, 2010

ภาคสี่ (วัยแสวงหา)

เกริ่นนำ

เรื่อง “เก็บฝันไว้ให้นายที่ปลายฟ้า” นี้เป็นภาค ๔ จากเรื่อง “เรื่องของอู” โดยภาคแรก (วัยเด็ก) เป็นเรื่องราวในวัยเด็กของเพื่อนรัก ๓ คน คือ นัย ชัช และอู ขณะเรียนอยู่ชั้นประถม ส่วนภาคสอง (วัยฝัน) เป็นเรื่องราวในลำดับต่อมาเมื่อทั้งหมดต่างเติบโตเป็นวัยรุ่นและเข้าสู่ชั้นมัธยมต้นอันเป็นวัยแห่งความฝันอันสดใส

ภาคสาม (วัยแสวงหา) เป็นเรื่องราวต่อมาเมื่ออูเติบโตขึ้น เรียนอยู่ในชั้นมัธยมปลาย และตระหนักว่าตนเองเป็นเกย์ อูเติบโตในบริบทของสังคมยุคที่สังคมทั่วไปยังมองรักร่วมเพศเป็นเรื่องที่ผิดปกติ ในช่วงนั้นเป็นยุคต้นที่เอดส์แพร่ระบาด และเนื่องจากโรคนี้แพร่กระจายในหมู่ชายรักร่วมเพศ ดังนั้นจึงมีคนบางส่วนจึงเข้าใจไปผิดไปว่าเกย์เป็นต้นตอของการแพร่ของโรคเอดส์ รวมทั้งบางคนก็คิดเลยเถิดไปถึงว่าเกย์ทุกคนในที่สุดต้องจบชีวิตลงด้วยโรคมรณะนี้ ดังนั้นรักร่วมเพศจึงยิ่งกลายเป็นเรื่องที่น่ากลัวและน่ารังเกียจสำหรับคนบางคน รวมทั้งพฤติกรรมทางเพศที่ผิดแปลกไปจากที่บรรทัดฐานทางสังคมกำหนดทำให้ผู้ที่เป็นรักร่วมเพศต้องถูกเยาะเย้ยและเหยียดหยาม

จากบริบทของสังคมดังกล่าว แม้อูจะตระหนักว่าตนเองเป็นเกย์ แต่บางครั้งก็ยากที่จะยอมรับในธรรมชาติของตนเองได้ อูเก็บซ่อนมันเอาไว้ในเงามืดของจิตใจ ไม่ยอมให้ใครเข้ามาพบเห็น ประกอบกับต่อมาอูได้รู้ว่าแท้ที่จริงตนเองเป็นต้นเหตุให้นัยก้าวเดินผิดพลาดในชีวิต จึงถูกติเตียนจากมโนธรรมอย่างรุนแรงตลอดมา จากเด็กที่ร่าเริงและมีผลการเรียนที่ดี อูกลายเป็นเด็กที่จมอยู่กับอดีต คิดมาก เก็บกด และผลการเรียนตกต่ำ มีปัญหากับทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนจนเกือบจะต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เด็กชายรุ่นน้องซึ่งอูคิดว่าจะมาเป็นผู้ที่เยียวยาจิตใจให้แก่ตนเองก็ได้กลายเป็นผู้ซ้ำเติมให้สภาพจิตใจของอูย่ำแย่ลงไปอีก

แต่ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ในที่สุดอูก็เริ่มเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามอดีตอันเจ็บปวดที่เคยฉุดรั้งชีวิตอูมานาน อูเรียนรู้ด้วยบทเรียนที่บุคคลผู้เป็นที่รักของอูคนแล้วคนเล่าซื้อหามาให้ด้วยราคาแห่งชีวิต จนในที่สุดอูสามารถสอบเทียบชั้น ม.๖ ได้และสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เมื่อจบชั้น ม.๕

ภาคสี่ (วัยแสวงหา) นี้เป็นเรื่องราวต่อมาเมื่ออูเติบโตขึ้นและเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย มุมมองในชีวิตของอูเริ่มเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับกาลเวลาและการเติบโต ภาพฝันในวัยเยาว์เริ่มพร่าเลือนขณะที่ภาพความเป็นจริงของชีวิตเริ่มแจ่มชัดขึ้น อูยังคงแสวงหาความหมายของชีวิตและคุณค่าของการดำรงอยู่ เพื่อที่จะดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิ พร้อมกับมีสันติสุขในจิตใจ แต่จากประสบการณ์ชีวิตในช่วงมัธยม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนัย เรื่องของบอย เรื่องของพงษ์ เรื่องของนน รวมทั้งชีวิตของอูเอง ทำให้อูพบว่าการที่จะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิพร้อมกับการใช้ชีวิตในแบบ ‘ผู้ชายรักกัน’ นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นอูจึงยังคงต้องแสวงหาหนทางชีวิตของตนเองต่อไป

บุคคลและสถานที่ที่ปรากฏในเรื่องนี้ล้วนแต่เป็นการเขียนขึ้นจากจินตนาการทั้งสิ้น มิได้มีตัวตนอยู่จริง ดังนั้น หากมีบุคคลหรือสถานที่ในเรื่องที่เหมือนหรือคล้ายกับบุคคลหรือสถานที่ที่มีอยู่จริง ขอให้ทราบว่านั่นเป็นเพียงความบังเอิญเท่านั้น มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด

Friday, July 23, 2010

ภาคสาม ตอนที่ 73 (อวสาน)

อำเภอสุไหงโก-ลกไม่ได้มีอะไรน่ากลัวหรือต้องตื่นเต้นผจญภัยอย่างที่ผมเคยคิดเอาไว้ก่อนหน้านี้ ในตัวเมืองเจริญทีเดียว พื้นที่ที่เราไปอยู่นั้นเป็นย่านของชาวจีนและชาวไทยพุทธซึ่งอยู่นอกตัวอำเภอ บรรยากาศจึงเป็นชนบท สงบ และปลอดภัย เราพักอยู่ที่บ้านญาติของกรณ์ คุณอาซึ่งเป็นอาแท้ๆของกรณ์ให้การต้อนรับพวกเราเป็นอย่างดี แต่เหตุการณ์ก็ไม่เป็นอย่างที่คิด พวกเราไม่มีโอกาสไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญเลยเนื่องจากพวกผู้ใหญ่ไม่ค่อยว่างกัน จึงไม่มีใครพาไป พวกเราจึงได้แต่นั่งๆนอนๆ กินๆ เล่นๆ ในบริเวณบ้านพัก อย่างมากก็ออกไปเดินเล่นในสวนยางใกล้ๆบ้านพักเท่านั้น

พักอยู่หลายวันพวกเราก็ลาคุณอาของกรณ์และเดินทางต่อมายังจังหวัดปัตตานีซึ่งกรณ์มีญาติอยู่อีกรายหนึ่ง ที่นี่ก็เป็นเช่นเดียวกัน พวกเราได้แต่นั่งๆนอนๆและเที่ยวเล่นอยู่ในบริเวณใกล้เคียงบ้านพัก ไม่มีโอกาสได้ไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวแต่อย่างใด จะไปกันเองก็ไม่กล้าเนื่องจากญาติของกรณ์กำชับเอาไว้หนักนหาว่าเป็นเด็กมาจากต่างถิ่นอย่าไปไหนกันเองให้ไกลหูไกลตา

หลังจากที่จับเจ่าอยู่แต่ในละแวกบ้านเป็นเวลาหลายวัน พวกขาเที่ยวทั้งหลายก็เริ่มบ่น กรณ์เองก็อึดอัดใจแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เรื่องฆ่าเวลาที่พอทำได้ก็คือเล่นไพ่กับดูวีดิโอ ยังดีที่บ้านนี้มีวีดิโอหนังจีนชุดกับหนังฝรั่งอยู่ไม่น้อย จึงพอฆ่าเวลาในช่วงแรกไปได้บ้าง พวกขาไพ่ก็จั่วกันทั้งวันพอหายเซ็งไปได้เนื่องจากเล่นไพ่กินเงินกัน ส่วนพวกดูวีดิโอสนุกแต่ในช่วงแรก ไปๆมาๆก็ดูวีดิโอจนเบื่อจึงเลิกดู หลังจากนั้นก็ต้องกลับมาดูวีดิโอใหม่อีกครั้งเนื่องจากไม่มีอะไรทำ

“โอ๊ย นี่กูอยู่บ้านไม่ดีกว่าหรือวะเนี่ย จะมาล่องใต้ทำไมให้เสียเงิน” ไอ้กี้บ่นอุบอิบ คนอื่นก็คิดเช่นนั้นเหมือนกันแต่ว่าแอบบ่นไม่ให้กรณ์ได้ยินเนื่องจากเกรงใจกรณ์ ยกเว้นแต่ไอ้กี้ที่หลุดปากบ่นออกมา บรรยากาศจึงเริ่มตึงเครียด กรณ์เองก็อึดอัดใจกับเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย

“ลองหาวีดิโอดูดีกว่า” หมูพยายามผ่อนคลายบรรยากาศด้วยการเปลี่ยนหัวข้อสนทนา พลางเดินไปที่ตู้เก็บม้วนวีดิโอเทป หลังจากค้นไปค้นมาชั่วครู่ก็หยิบวีดิโอเทปออกมาม้วนหนึ่ง “ดูเรื่องนี้ละกัน เก่าหน่อยแต่เป็นหนังรางวัล”

หนังเรื่องที่หมูหยิบออกมาคือหนังเรื่อง มนต์รักเพลงสวรรค์ หรือ The Sound of Music ซึ่งเป็นหนังที่เก่าพอดู อายุของภาพยนตร์ในตอนนั้นก็ยี่สิบกว่าปีเข้าไปแล้ว ถ้านับอายุมาจนถึงตอนนี้ก็สี่สิบกว่าปี ผมเคยได้ยินชื่อเสียงของหนังเรื่องนี้มารวมทั้งเคยดูในทีวีด้วยแต่ไม่เป็นการดูอย่างกระท่อนกระแท่น ไม่เคยได้ดูเต็มเรื่องเลย

หนังเก่าที่ถือว่าเป็นหนังคลาสสิกหรือบางคนอาจเรียกว่าเป็นหนังอมตะนิรันดร์กาลนั้น ตั้งแต่ในวัยเด็กมาที่รู้จักก็มีอยู่เพียงสองสามเรื่อง เช่น เบนเฮอร์ (Ben-Hur) ซึ่งเป็นหนังประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้ ๑๑ ตุ๊กตาทอง และมนต์รักเพลงสวรรค์นี่เอง

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เพลง การดำเนินเรื่องเป็นแบบนิยายชีวิตและสอดแทรกบทเพลงร้องอยู่ในเนื้อเรื่อง ซึ่งถ้าในยุคก่อนก็ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่สนุกสนานอีกทั้งมีบทเพลงไพเพราะ แต่วัยรุ่นในยุคนี้อาจหัวเราะและคิดว่าเป็นเรื่องตลกขบขันหรือเป็นเรื่องเชยไปแล้วก็ได้

เมื่อหมูเริ่มฉายหนังเรื่องนี้ เพื่อนๆหลายคนดูได้สักพักก็พากันปลีกตัวจากไปตั้งวงเล่นไพ่กันแทนเพราะเห็นว่าหนังไม่สนุก

“หนังอะไรวะ ดีใจก็ร้องเพลง เสียใจก็ร้องเพลง ร้องไปก็เต้นไป จะบ้าหรือเปล่า กูไปเล่นไพ่ดีกว่า” ไอ้กี้วิจารณ์พลางเดินจากไป

เนื่องจากหมู กรณ์ และสิทธิ์เป็นนักดูหนัง ทั้งสามคนจึงดูหนังเรื่องนี้อย่างตั้งอกตั้งใจ ผมเองทีแรกก็ไม่ได้สนใจอะไรมากนัก แต่เนื่องจากไม่มีอะไรจะทำจึงดูหนังไปเรื่อยๆ ดูไปดูมาก็สนุกดีเหมือนกัน เวอร์ชันที่ดูนี้เป็นเสียงภาษาอังกฤษในฟิล์มและมีคำบรรยายไทย

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประเทศออสเตรียในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เนื้อเรื่องก็เป็นแนวรักมีอุปสรรคเพราะช่องว่างระหว่างชนชั้น กล่าวคือ นางเอกของเรื่องชื่อมาเรีย เดิมทีต้องการจะอุทิศชีวิตให้แก่พระผู้เป็นเจ้าด้วยการบวชเป็นนางชี จึงมาใช้ชีวิตในคอนแวนต์เพื่อเตรียมตัวเตรียมใจ ขณะที่อยู่ในคอนแวนต์นั้นเอง มาเรียก็มีโอกาสได้รับงานพี่เลี้ยงดูแลเด็กชายหญิง ๗ พี่น้อง หัวหน้าครอบครัวนี้หรือพระเอกในเรื่องนี้เป็นคือผู้การฟอนแทรปป์ซึ่งนายทหารเรือมีชาติตระกูลและเป็นพ่อหม้าย

เมื่อมาเรียมาเป็นพี่เลี้ยงเด็กก็เกิดต้องตาต้องใจกับพระเอก จนกลายเป็นความรักขึ้น แต่ผู้การคนนี้มีคู่หมั้นหมายที่มีฐานะสมกันอยู่แล้วและกำลังจะแต่งงานกัน เมื่อมาเรียทราบความจริงเช่นนี้จึงหนีออกจากคฤหาสน์ของผู้การฟอนแทรปป์และกลับไปที่คอนแวนต์ด้วยหัวใจที่บอบช้ำ พร้อมกับแสดงเจตนาต่อแม่อธิการว่าต้องการอุทิศชีวิตรับใช้พระเจ้าอยู่ในคอนแวนต์

ผมดูไปเรื่อยๆจนมาถึงตอนนี้ ก็ได้ยินเสียงแม่อธิการพูดขึ้นมาว่า

“Maria, these walls were not meant to shut out problems. You have to face them. You have to live the life you were born to live.”

ผมสะดุดกับคำพูดที่ได้ยินจากในภาพยนตร์ ขณะที่กำลังใคร่ครวญอยู่นั้นเอง ผมก็ได้ยินเสียงเพลงที่ร้องโดยแม่อธิการดังตามมา

Climb every mountain,
Search high and low.
Follow every byway,
Every path you know..

Climb every mountain,
Ford every stream.
Follow every rainbow,
'Til you find your dream!

A dream that will need
all the love you can give,
Every day of your life
for as long as you live.

Climb every mountain,
Ford every stream,
Follow every rainbow,
'Til you find your dream!

บทเพลงถูกร้องอย่างชัดถ้อยชัดคำ ภาษาที่ใช้ก็ไม่ยาก ผมจึงฟังและเข้าใจความหมายของเนื้อเพลงได้โดยตลอด แม่อธิการกำลังเตือนสติให้มาเรียให้เผชิญหน้ากับอุปสรรคโดยไม่หนีปัญหา ใช้ชีวิตอย่างที่ตนเองถูกกำหนดเอาไว้ให้เป็น พร้อมทั้งให้ตามหาความฝันอย่างไม่ลดละ ไม่ว่าจะเป็นขุนเขา ห้วยละหาน และรุ้งยาวที่ทอดข้ามฟ้า จนกว่าจะพานพบฝันของตน

เพลงจบลงไปแล้ว และภาพยนตร์ก็ดำเนินต่อไป แต่ผมไม่ได้ใส่ใจกับภาพที่เคลื่อนไหวในจอทีวีอีก ผมกลับคิดถึงคำพูดและความหมายของเนื้อเพลงที่ได้ยินนั้น

ใช่แล้ว แต่ละคนย่อมมีความฝันของตน ผมเองก็มีความฝันของผมเช่นกัน หญิงสาวในภาพยนตร์ในที่สุดก็คงลงเอยกับชายที่ตนรักอย่างสุขสมตามแบบฉบับของนิยาย ส่วนผมนั้นเล่า... ความฝันของผมไม่ใช่ความฝันในแบบที่คนปกติทั่วไปใฝ่ฝันกัน มันไม่ใช่เรื่องของชายหนุ่มหญิงสาว แต่มันเป็นเรื่องของชายกับชายที่รักกัน...

“เธอเป็นเด็กผู้ชาย ยังไงต่อไปก็ควรต้องแต่งงานมีครอบครัว เธออย่าเลือกเดินทางผิดนะ หากถลำไปแล้วมันจะถอยได้ยาก อีกหน่อยเธออาจเป็นคนมีชื่อเสียง มีหน้ามีตาในสังคมก็ได้ เธอต้องประพฤติตัวให้สังคมยอมรับได้ คิดเสียตั้งแต่ยังไม่สายเกินแก้” คำพูดของอาจารย์ประพิมพ์ อาจารย์ประจำชั้น ม.๑ ยังดังก้องอยู่ในหู อาจารย์เคยเตือนผมหลังจากที่ผมมีเรื่องกับโหนก คำพูดเหล่านี้แม้จะเป็นความหวังดีแต่ก็บาดลึกเข้าไปในหัวใจของผม

หลายปีมานี้ผมเริ่มยอมรับในธรรมชาติที่ผิดปกติของตนเอง ผมพยายามที่จะพิสูจน์ว่าคำพูดของอาจารย์ประพิมพ์นั้นไม่เป็นความจริง... ผมสามารถเลือกเส้นทางเดินของผมเองได้ ผมเป็นอย่างที่ผมเป็นได้... มันก็แค่ผู้ชายรักกัน... แต่ทว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาผมก็ยังไม่สามารถหักล้างคำพูดของอาจารย์ได้เลย

หวนนึกถึงชะตาชีวิตของไอ้นัย น้ำเสียงและท่าทีของคุณอาไอ้นัยที่มีต่อหลานเมื่อคิดว่าหลานเป็นเกย์... อุปสรรคในชีวิตครั้งนั้นผมแทบจะผ่านมันไปไม่ไหว

หวนนึกถึงพงษ์ปากกว้างที่ถูกไอ้อ้วนเหยียดหยามรังแกเมื่อตอนอยู่ชั้น ม.๑...

หวนนึกถึงนน จอมมารดำ ถึงแม้การเป็นเด็กเรียนเก่งจะช่วยให้เพื่อนๆเกรงใจได้บ้าง แต่นนก็ไม่วายถูกเพื่อนๆหยามเล่นเป็นเรื่องสนุก…

หวนนึกถึงบอย... จู่ๆบอยก็เปลี่ยนไปและเริ่มถอยห่างจากผมเมื่อผมเริ่มรู้สึกจริงจังกับมัน...

เมื่อหวนนึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต อาจบางที... ผมไม่ควรติดตามสายรุ้งยาวที่ทอดข้ามขอบฟ้าไปจนพบความฝันของตนเอง แต่ผมควรเก็บความฝันนั้นไว้ที่ปลายฟ้าด้านโน้นเสียมากกว่ากระมัง... เก็บซ่อนเอาไว้เพื่อที่จะไม่มีใครได้พบ... ทิ้งความฝันเอาไว้ที่นั่นเพื่อที่ผมจะได้ไม่มีวันหวนกลับไปหามันได้อีก... พร้อมทั้งอยู่ต่อไปอย่างไร้ความฝันและพยายามใช้ชีวิตเยี่ยงคนปกติ...

“เฮ้ย ไอ้อู เป็นอะไรไป” ได้ยินเสียงคนเรียกชื่อผมพร้อมทั้งเขย่าตัว ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นใครเรียก

“ทำไมเหรอ” ผมค่อยตื่นขึ้นมาจากภวังค์

“พวกเราเรียกมึงตั้งหลายครั้งมึงก็ไม่ตอบ นึกว่าช็อคตายคาจอทีวีไปแล้ว” กรณ์พูด

“ใจลอยคิดอะไรเพลินไปหน่อยน่ะ” ผมตอบ เรื่องใจลอยกับผมนี่เป็นของคู่กัน บอยชอบว่าผมในเรื่องนี้เป็นประจำ

“คิดอะไรอยู่วะ หนังก็ไม่ดู” กรณ์ถามอีก

“คิดเรื่อยเปื่อยน่ะ ไม่มีอะไรหรอก” ผมพูดปัด

- - -

หลังจากพักที่ปัตตานีอยู่หลายวัน ในที่สุดพวกเราก็เดินทางต่อไปยังจังหวัดสงขลา กรณ์คนญาติเยอะมีญาติอยู่ที่สงขลาด้วย

“คราวนี้คงจะได้เที่ยวเสียที อย่างน้อยก็ไปดูวอล์กแมนที่ตลาดสันติสุข” ไอ้กี้ตั้งความหวัง มันเตรียมเงินมาจำนวนหนึ่งเพื่อซื้อวอล์กแมนรุ่นดีๆกลับไป

เมื่อไปจึงจังหวัดสงขลา เหตุการณ์ก็ไม่เป็นไปอย่างที่คิดเสียอีก กรณ์บอกว่าญาติของมันอยู่ในตัวเมือง พวกเราก็คิดกันว่าน่าจะอยู่ใกล้ๆตลาดสันติสุขและสามารถไปเที่ยวได้โดยสะดวก ตลาดสันติสุขในยุคนั้นมีชื่อเสียงมากเพราะเป็นแหล่งเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกที่นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ว่ากันว่าถูกกว่าซื้อในกรุงเทพฯพอสมควรทีเดียว เหตุที่ราคาถูกเพราะว่าส่วนหนึ่งใช้การหิ้วเข้ามา แต่อีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้คุณภาพไม่ค่อยดีนัก จึงขายได้ในราคาต่ำ ราคาถูกเอาไว้ก่อนส่วนจะใช้งานได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

บ้านของญาติไอ้กรณ์นั้นอยู่ในตัวเมืองสงขลาจริง ส่วนตลาดสันติสุขและแหล่งซื้อของต่างๆนั้นอยู่ในอำเภอหาดใหญ่ซึ่งเป็นคนละอำเภอกัน จึงกลายเป็นว่าบ้านที่เราไปพักอยู่นั้นห่างจากตลาดสันติสุขหลายสิบกิโลเมตรเลยทีเดียว บ้านนี้อยู่ใกล้ชายทะเล ถ้าจะไปเที่ยวชายทะเลละก็ง่ายมาก

“โอย กูจะบ้าตายห่า” ไอ้กี้ถึงกับครางเมื่อรู้ข้อเท็จจริง “กูจะมาซื้อของ กูไม่ได้มาเที่ยวทะเลโว้ย”

พวกเราพักอยู่ที่นี่อีกสามสี่วัน ที่สงขลานี้การคมนาคมสะดวก สามารถนั่งรถไปซื้อของที่ตลาดสันติสุขและตลาดกิมหยงได้ อีกทั้งหาดใหญ่ สงขลา เป็นเมืองท่องเที่ยว ตอนนั้นไม่มีปัญหาเรื่องการก่อความไม่สงบเลย ดังนั้นพวกเราจึงไม่ถึงกับต้องแกร่วอยู่แต่ในบ้าน สามารถนั่งรถมาเที่ยวที่ตลาดและตัวเมืองหาดใหญ่ได้ตามสบาย แต่นอกจากเดินตลาดแล้วพวกเราก็ไม่ค่อยได้ไปไหนเช่นเดิม

สงขลาเป็นจังหวัดสุดท้ายที่เราแวะพัก ในที่สุดการเดินทางก็สิ้นสุดลง เราเดินทางกลับด้วยรถโดยสารปรับอากาศหรือว่ารถทัวร์ รถทัวร์ทำเวลาได้ดีกว่ารถไฟมาก ไม่มีหวานเย็น ใช้เวลาเพียง ๙ หรือ ๑๐ ชั่วโมงก็ถึงกรุงเทพฯ ไอ้กี้บ่นพึมมาหลายวันแล้ว ดูท่าทางมันคงผิดหวังการการเที่ยวครั้งนี้ไม่น้อย เพื่อนๆคนอื่นๆก็ผิดหวังมากบ้างน้อยบ้างตามแต่ความคาดหวังของแต่ละคน สำหรับผมนั้นก็ผิดหวังเช่นกัน แต่ก็ไม่มากนัก แม้ไม่ได้ไปตามสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อต่างๆ แต่อย่างน้อยผมก็ได้มาเปิดหูเปิดตาในเส้นทางสายภาคใต้ที่ผมไม่เคยไปมาก่อน และยังเป็นการเดินทางไกลครั้งแรกในชีวิตของผมอีกด้วย

- - -

พวกเรากลับมาถึงกรุงเทพฯตอนสิ้นเดือนเมษายน ส่วนการประกาศผลสอบเอนทรานซ์เป็นช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เมื่อเวลาห่างกันอีกเพียงไม่กี่วันผมจึงไม่ได้กลับบ้านต่างจังหวัด แต่อยู่ในกรุงเทพฯเพื่อรอดูผลสอบไปเลย

ในยุคที่ผมเข้าสอบและก่อนหน้านั้น ช่องทางหลักในการประกาศผลการสอบเอนทรานซ์จะใช้วิธีการติดประกาศบนบอร์ด ไม่สามารถดูผลการสอบแบบออนไลน์ได้เพราะในตอนนั้นแม้มีคอมพิวเตอร์แบบพีซีแล้วแต่ก็ยังไม่มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สำหรับส่วนกลางนั้นสถานที่ประกาศผลสอบก็คือสนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่เรียกกันเล่นๆว่าสนามจุ๊บซึ่งอยู่แถวๆสามย่าน

หลังจากที่มีการติดประกาศผลบนบอร์ดไปแล้วหนังสือพิมพ์ก็จะนำรายชื่อผู้ที่สอบได้ในคณะต่างๆมาทยอยลงในหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน รวมทั้งสถานีวิทยุบางแห่งก็มีการนำรายชื่อผู้ที่สอบได้มาอ่านด้วย แต่รายชื่อนับหมื่นไม่สามารถตีพิมพ์หรืออ่านออกอากาศได้หมดภายในวันเดียว ดังนั้นจึงต้องทยอยตีพิมพ์หรืออ่านออกอากาศเป็นเวลาหลายวัน นอกจากช่องทางเหล่านี้แล้วผู้ที่สอบได้ยังได้ได้รับไปรษณียบัตรแจ้งจากทบวงมหาวิทยาลัยโดยตรงอีกด้วย

สำหรับการติดประกาศผลการสอบนั้นเจ้าหน้าที่จะมาติดประกาศผลกันตั้งแต่ยังไม่รุ่งเช้า ดังนั้นในคืนก่อนหน้าวันประกาศก็จะมีนักเรียนมารอที่สนามประกาศผลแล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่ติดประกาศผลการสอบเอนทรานซ์เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ยังมืดอยู่ นักเรียนจึงต้องจุดเทียนหรือส่องไฟดูผลกัน สำนวนที่พูดกันในยุคก่อนว่าส่องเทียนดูผลเอนทรานซ์ก็มีที่มาเช่นนี้เอง

- - -

วันประกาศผลสอบ

ในที่สุดวันประกาศผลการสอบเอนทรานซ์ก็มาถึง ผมออกจากหอพักไปสนามจุ๊บตั้งแต่เช้าตรู่ด้วยความตื่นเต้น ผมลงจากรถประจำทางที่หน้าคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ จากนั้นเดินทะลุคณะครุศาสตร์ไปทางด้านหลังก็จะเป็นสนามจุ๊บ

เมื่อไปถึงบริเวณสนามกีฬา ผมแลเห็นนักเรียนออกันอยู่เป็นจำนวนมาก สนามจุ๊บเป็นสนามกีฬาขนาดมาตรฐาน พื้นที่ตรงกลางเป็นสนามกีฬา ขอบนอกเป็นอัฒจรรย์สำหรับนั่งชมกีฬา บอร์ดที่ติดประกาศผลการสอบเอนทรานซ์นี้ตั้งเรียงรายอยู่รอบนอกของสนามกีฬานั่นเอง

ขณะที่ผมเดินเข้าไปใกล้บอร์ดที่ติดประกาศผลการสอบ ผมได้มีโอกาสเห็นภาพชีวิตที่ผมไม่มีวันลืม นั่นคือ ผมได้เห็นทั้งผู้ที่ปรีดาและโศกเศร้าเป็นจำนวนมากในเวลาและสถานที่เดียวกัน นักเรียนที่เดินสวนออกมามีทั้งผู้ที่อยู่ในอาการลิงโลดและผู้ที่มีอาการเศร้าซึม นักเรียนบางคนเดินร้องไห้ออกมา บ้างก็ถึงกับต้องให้เพื่อนช่วยพยุงไปนั่งในขณะที่บางคนก็กระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ

ผมค่อยๆเบียดคนที่มาออกันที่บอร์ดประกาศผล นักเรียนคนแล้วคนเล่าเบียดเสียดเข้ามาที่บอร์ดจากนั้นก็ผละออกไปด้วยอาการต่างๆกัน

ผมเดินหาบอร์ดที่ติดประกาศผลสอบในช่วงเลขที่นั่งของผม เมื่อหาบอร์ดพบแล้วก็เบียดเข้าไปดูใกล้ๆ ค่อยๆไล่หาเลขที่นั่งสอบบนกระดาษที่แปะอยู่ในบอร์ดอย่างระมัดระวังด้วยใจอันระทึก

หมายเลขที่นั่งสอบเลขแล้วเลขเล่าผ่านสายตาของผมไป... ในที่สุดผมก็พบเลขที่นั่งสอบของผมในประกาศ ที่ท้ายชื่อและนามสกุลมีรหัสคณะเทคโนโลยีพิมพ์ติดอยู่ด้วย

ผมดูประกาศให้แน่ใจอีกครั้ง จากนั้นก็ถอยออกมาจากบอร์ดด้วยความรู้สึกที่เลื่อนลอย ความรู้สึกในขณะนั้นนึกถึงคนหลายๆคนขึ้นมาพร้อมๆกันจนแยกไม่ออกว่านึกถึงใครก่อนกัน มีทั้งแม่ พ่อ ไอ้นัย และบอย ภาพเหตุการณ์ต่างๆในอดีตหลั่งไหลเข้ามาในห้วงคำนึงของผมอีกครั้งหนึ่ง...

เมื่อถอยห่างออกมาจากบอร์ด ผมเริ่มสังเกตว่ามีพี่ๆนักศึกษามาคอยบอกนักเรียนทราบว่าใครที่สอบได้คณะอะไรก็ให้ไปพบพี่ๆของคณะตนที่บริเวณด้านหนึ่งของสนามกีฬา หลังจากที่ผมตามหาพี่ๆคณะเทคโนโลยีจนพบ พวกพี่ๆก็ทักทายและแสดงความยินดีแก่ผม พร้อมกับให้คำแนะนำสำหรับขั้นตอนต่อไป เช่น เรื่องการตรวจร่างกายและการสอบสัมภาษณ์ ฯลฯ

หลังจากที่คุยกับรุ่นพี่เสร็จเรียบร้อย ผมก็เดินออกจากสนามจุ๊บมา ความรู้สึกในของผมในตอนนั้นก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าดีใจหรือเสียใจ พึงพอใจหรือว่าผิดหวัง ภาพต่างๆที่ผมเห็นอยู่รอบข้างทำให้ผมวางอารมณ์ของตนเองไม่ถูก แต่อย่างน้อยผมก็ได้เรียนรู้ความจริงอย่างหนึ่ง... ความจริงที่ผมไม่ได้ตระหนักในยามที่เป็นนักเรียน... นั่นคือ โลกนี้คือการแข่งขัน และผู้เข้มแข็งเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้...

การเดินทางล่องใต้ของผมจบลงไปแล้ว แต่การเดินทางบนเส้นทางชีวิตของผมดูเหมือนเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น บนเส้นทางการล่องใต้ ผมได้เห็นและเรียนรู้ชีวิตและวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่เดินทางผ่านไป... บนเส้นทางชีวิต ผมก็ต้องเรียนรู้โลกไปพร้อมกับแสวงหาคุณค่าของชีวิต... เพื่อที่จะเอาตัวรอดในโลกใบนี้ และเพื่อการดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีความหมาย...

ผมอดนึกถึงพุทธภาษิต วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ ที่เคยเรียนมาในวิชาสังคมไม่ได้ หวนนึกถึงบทเรียนในชีวิตที่ทำให้ผมเติบโตและงอกงามขึ้นมาได้ล้วนแต่เป็นบทเรียนที่แลกมาด้วยชีวิตของคนที่ผมรักทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความขมขื่นของไอ้นัย การจากไปของครูช่วย และความเจ็บป่วยของแม่ แม้ว่าความเจ็บป่วยของแม่จะเป็นเรื่องบังเอิญก็ตาม แต่ผมเชื่อว่าหากแม่รู้ว่าบทเรียนนี้จะช่วยผมได้แม่ก็พร้อมที่จะจ่ายคุณค่าเพื่อซื้อมันมา หากผมยังใช้ชีวิตดังเช่นที่ผ่านมาอีกก็ไม่รู้เหมือนกันว่าบุคคลที่ผมรักยังต้องจ่ายคุณค่าอีกเท่าใดเพื่อซื้อบทเรียนชีวิตให้แก่ผม

ผมหยุดยืนที่หน้าประตูสนามกีฬาอยู่ครู่หนึ่งราวกับจะตั้งหลัก สูดอากาศยามเช้าเข้าไปจนเต็มปอด จากนั้นจึงก้าวเดินต่อไปข้างหน้า พร้อมกับทิ้งเสียงหัวเราะและเสียงร้องไห้เอาไว้เบื้องหลัง...


ฟังเพลง Climb Every Mountain พร้อมทั้งชมคลิปภาพยนตร์ตอนที่มาเรียหนีจากคฤหาสน์กลับมาที่คอนแวนต์


<ภาพยนตร์เรื่องมนต์รักเพลงสวรรค์หรือ The Sound of Music เป็นภาพยนตร์เพลงที่สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริงโดยก่อนที่จะมาเป็นภาพยนตร์นี้เคยเป็นหนังสือและละครบรอดเวย์มาก่อน ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ และได้รางวัลตุ๊กตาทองถึง ๕ รางวัล แม้ด้านรางวัลจะสู้ภาพยนตร์ ๑๑ ตุ๊กตาทองเรื่องเบนเฮอร์ไม่ได้ แต่ทว่าด้านรายได้กลับดีกว่า อันแสดงถึงความนิยมชื่นชอบของผู้ชมที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย ต่อมาก็มีการจัดโปรแกรมทัวร์ตามรอยภาพยนตร์เรื่องนี้โดยนำชมเมืองซาลส์บูร์ก (Salzburg) ประเทศออสเตรียและบริเวณใกล้เคียงอันเป็นสถานที่ในเนื้อเรื่อง พร้อมทั้งพาชมสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ โปรแกรมทัวร์ออสเตรียหลายโปรแกรมที่ผ่านเมืองซาลส์บูร์กก็ยังพานักท่องเที่ยวแวะชมสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่แม้เวลาจะผ่านมากว่าสี่สิบปีแล้วก็ตาม>


<จูลี แอนดรูว์ส นางเอกของเรื่องมนต์รักเพลงสวรรค์ซึ่งเป็นทั้งนักร้องและนักแสดง ในวัยเกือบ ๓๐ ปีอันเป็นช่วงที่แสดงภาพยนตร์เรื่องนี้กับในวัยเกือบ ๗๐ ปีของปัจจุบัน>


<ในยุคที่ผมเข้าสอบและก่อนหน้านั้น ช่องทางหลักในการประกาศผลการสอบเอนทรานซ์จะใช้วิธีการติดประกาศบนบอร์ด สำหรับส่วนกลางนั้นสถานที่ประกาศผลก็คือสนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่เรียกกันเล่นๆว่าสนามจุ๊บ เดิมชื่อสนามกีฬาจารุเสถียร ต่อมาภายหลังยุค ๑๔ ตุลาจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นสนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การติดประกาศผลการสอบนั้นเจ้าหน้าที่จะมาติดประกาศผลกันตั้งแต่ยังไม่รุ่งเช้า โดยในคืนก่อนหน้าวันประกาศก็จะมีนักเรียนมารอที่สนามประกาศผลแล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่ติดประกาศผลการสอบเอนทรานซ์เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ยังมืดอยู่ นักเรียนจึงต้องจุดเทียนหรือส่องไฟดูผลกัน ในยุคต่อมาสถานที่ประกาศผลของส่วนกลางถูกย้ายไปที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และการประกาศผลก็มีช่องทางเพิ่มมากขึ้น เช่น การประกาศผลทางทีวีโดยใช้ตัววิ่ง ต่อมาการติดประกาศผลสอบเอนทรานซ์ที่สถานที่กลางได้ถูกยกเลิกไปพร้อมๆกับการสิ้นสุดของยุคการสอบเอนทรานซ์เมื่อมีระบบคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยด้วยระบบแอดมิชชันเข้ามาแทนที่ ภาพนี้ถ่ายเมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีมาแล้ว บอร์ดประกาศผลเรียงรายอยู่รอบนอกของสนามจุ๊บ คลาคล่ำไปด้วยนักเรียนที่มาดูผลสอบ>


<ภาพถ่ายที่นราธิวาสเมื่อครั้งล่องใต้หลังจบ ม.๕ สามคนที่อยู่ข้างหน้าสุดคือหมู กรณ์ และสิทธิ์ ถัดมาคือพัน คนนี้เรียนเก่งมากแต่ก็ทะลึ่งมากด้วยเช่นกัน คนหลังสุดในภาพคือไอ้กี้ นอกนั้นเป็นเพื่อนๆที่ไม่ได้กล่าวถึงในเรื่อง>

Tuesday, July 20, 2010

ภาคสาม ตอนที่ 72

สภาพของการแข่งขันเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยในยุคนั้นหากเทียบกับยุคปัจจุบันแล้วผมคิดว่าในยุคของผมนั้นสภาพการแข่งขันในภาพรวมมีสูงกว่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยที่ร่วมในการสอบเอนทรานซ์มีเพียงมหาวิทยาลัยของรัฐ ๑๓ แห่ง ผู้สมัครสอบเอนทรานซ์มีประมาณหนึ่งแสนคน ที่นั่งก็มีเพียงสามหมื่นกว่าที่เท่านั้น นักเรียนจึงมีความตึงเครียด คิดคร่าวๆสภาพการแข่งขันก็ประมาณ ๑ ต่อ ๓ ถึง ๑ ต่อ ๔ อย่างหนึ่งต่อสามหมายถึงว่าผู้สอบเอนทรานซ์สามคนจะมีสอบติดหนึ่งคน หนึ่งต่อสี่ก็ความหมายทำนองเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วบางคณะอัตราการแข่งขันสูงมากเพราะว่าเป็นคณะยอดนิยม บางคณะก็มีอัตราการแข่งขันเป็น ๑ ต่อ ๑๐ หรือสูงกว่านั้นก็มี เทคนิคการเลือกคณะตามลำดับคะแนนสูงสุดต่ำสุดก็มีส่วนช่วยเพิ่มหรือลดโอกาสในการสอบติดอีกด้วย ดังนั้นผู้ที่ต้องการสอบเข้าคณะดังๆหรือว่าคณะที่เป็นที่นิยมจึงค่อนข้างตึงเครียด

ตัวอย่างจำนวนรับของบางคณะ เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ตอนนั้นไปแยกสาขาตอนปี ๒ ดังนั้นต้องเอนทรานซ์เข้าคณะวิศวฯไปก่อน จำนวนรับในตอนนั้นประมาณ ๕๒๐ คน ส่วนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตอนนั้นต้องเลือกสาขาตั้งแต่ตอนสอบเอนทรานซ์ไปเลย จำนวนรับประมาณ ๔๒๐ คน ส่วนบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งปัจจุบันเป็นคณะยอดนิยมแห่งหนึ่ง ตอนนั้นยังไม่เป็นคณะ ยังเป็นเพียงสาขาบริหารธุรกิจในคณะสังคมศาสตร์ ปีนั้นรับประมาณ ๘๐ คน

อย่างไรก็ตาม หลังจากปีที่ผมเข้าสอบ ในอีกไม่กี่ปีต่อมาสถานการณ์การแข่งขันก็ดีขึ้นบ้างนิดหน่อยเนื่องจากมีมหาวิทยาลัยเกิดใหม่อีก ๓ แห่ง นั่นคือ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยสุรนารี และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเพื่อช่วยรองรับนักเรียน

สำหรับทางเลือกของผู้ที่พลาดจากการสอบเอนทรานซ์ ในยุคนั้นมีมหาวิทยาลัยเอกชน ๒๖ แห่ง แล้วก็มีวิทยาลัยครู (คือมหาวิทยาลัยราชภัฎในปัจจุบัน) และมหาวิทยาลัยเปิดอีก ๒ แห่ง

นอกจากนี้ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของนักเรียนที่ต้องพยายามสอบเอนทรานให้ได้นั่นก็คือเรื่องของปัญหาค่าเล่าเรียน การเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐเสียค่าหน่วยกิตถูกกว่ามหาวิทยาลัยเอกชนมาก อีกทั้งทุนเล่าเรียนฟรีก็มีจำกัด ดังนั้นผู้ที่มีกำลังทรัพย์จำกัดจึงต้องพยายามเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐให้ได้

ส่วนการสอบในสมัยนี้สภาพการแข่งขันอาจไม่รุนแรงเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยเอกชนเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนไม่น้อย อีกทั้งยังมีสถาบันราชภัฎซึ่งมีจำนวนรับมากขึ้น แล้วยังมีมหาวิทยาลัยเปิดที่ไม่จำกัดจำนวนรับอีก รวมทั้งในยุคปัจจุบันที่มีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือว่า กยศ. ที่ทำให้เกิดระบบ เรียนก่อน ผ่อนทีหลังขึ้น ทำให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ก็ยังสามารถเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนได้หากจำเป็นหรือว่าต้องการเช่นนั้น แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาพอสมควร นั่นเรื่องที่บัณฑิตที่ขอทุน กยศ. บางคนแปลงตัวเป็นซามูไรในเวลาต่อมา

แม้ว่าสภาพการแข่งขันในยุคนี้เมื่อดูในภาพรวมแล้วเหมือนกับจะน้อยกว่าในยุคของผม แต่ดูไปแล้ววุ่นวายอลเวงกว่า ความเครียดของนักเรียนยุคนี้จึงอยู่ที่ความวุ่นวายของระบบการสอบแอดมิชชัน เนื่องจากมีการสอบวัดผลโอเน็ต (O-Net) ปีละครั้ง สอบแกต (GAT) และแพต (PAT) อีกปีละหลายครั้ง อีกทั้งระบบการคัดเลือกแบบแอดมิชชันยังมีจุดอ่อน เงื่อนไขการคิดสัดส่วนคะแนนเปลี่ยนอยู่ตลอดยังไม่ลงตัว ทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆพากันเปิดสอบแบบรับตรงของตนเองขึ้นมาโดยจะรับนักศึกษาโดยวิธีตรงก่อน หากมีที่นั่งเหลือจากการรับตรงจึงเอาที่นั่งที่เหลือนั้นไปรับในกระบวนการแอดมิชชัน นักเรียนจึงต้องวุ่นวายกับการเตรียมตัวสอบแกต แพต (ซึ่งนักเรียนเรียกว่าแกะ กับ แพะ) สอบปีละหลายครั้งเพื่อเอาครั้งที่ได้คะแนนดีมาใช้ รวมทั้งต้องตระเวนสอบตามมหาวิทยาลัยที่เปิดรับตรง นอกจากนี้ยังต้องติวเพิ่มในส่วนที่โรงเรียนไม่ได้สอนอีก ตัวอย่างเช่นการสอบ GAT หรือ general aptitude test ซึ่งเป็นการสอบเพื่อวัดความถนัดทั่วไปนั้นโดยหลักการแล้วไม่จำเป็นต้องเตรียมสอบเพราะไม่ใช่วิชาเรียน แต่ในความเป็นจริงแล้วอะไรที่กว้างจนจับแนวทางไม่ได้นักเรียนยิ่งต้องการติวเพราะขาดความมั่นใจ อีกทั้งคะแนนก็มาก ๓๐๐ คะแนน หรือที่เรียกว่าตัวละสามร้อย ดังนั้นการติวแกตจึงเป็นการธุรกิจที่ทำรายได้ดีวิชาหนึ่งของวงการติวในยุคนี้ ส่วนการติวฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา กลับกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญน้อยลงเนื่องจากเป็นวิชาสามตัวสามร้อยอันหมายถึงสามวิชานี้รวมกันอยู่ใน PAT2 คิดเป็น ๓๐๐ คะแนน (แต่ถ้าเป็นการสอบ O-Net คิดสามตัวร้อย) นักเรียนหลายๆคนจึงคิดว่าสู้เอาเวลากับเงินไปติวแกตดีกว่า

- - -

เรื่องการทุจริตในการสอบเอนทรานซ์นั้นมีมาทุกยุคทุกสมัย ในยุคของผมก็มีเช่นกัน เท่าที่รู้มักเป็นการทุริตแบบโลว์เทค อย่างเช่นพวกการจดโพยเข้าไปในห้องสอบ อาจจะจดใส่กระดาษหรือจดใส่ชายเสื้อ พกไม้บรรทัดสูตรเข้าไปในห้องสอบ พวกนี้มักเป็นนักเรียนทำกันเองเป็นส่วนตัว ส่วนพวกที่ทำเป็นขบวนการก็มี นั่นคือ พวกที่ไปเก็บเงินนักเรียนเป็นหลักหมื่นแล้วบอกว่าจะช่วยให้สอบเอนทรานซ์ได้ ส่วนใหญ่มักเป็นการหลอกเอาเงินแล้วเชิดหนีไป

แก๊งที่ทุจริตการสอบเอนทรานซ์จริงๆก็มี ที่เคยเป็นข่าวก็คือไปหลอกล่อนักเรียนให้หลงเชื่อแล้วจ่ายเงิน จากนั้นแก๊งทุจริตก็จะส่งทีมงานเข้าไปสอบ ส่วนใหญ่วิชาหนึ่งต้องเข้าไปหลายคน แต่ละคนถูกมอบหมายให้จำข้อสอบและตัวเลือกมาคนละส่วน จากนั้นรีบออกจากห้องสอบโดยเร็วที่สุด (ในระเบียบการสอบจึงต้องมีการดักทางเอาไว้ว่าห้ามออกจากห้องสอบก่อนเวลาที่กำหนดเอาไว้) แล้วทีมงานอีกส่วนหนึ่งก็จะรีบเฉลยโดยเร็ว จากนั้นใช้กระจกเงาสะท้อนแสงส่งเป็นรหัสจากยอดตึกให้ผู้เข้าสอบเห็น แต่แล้วในที่สุดก็ถูกจับได้เนื่องจากกรรมการคุมสอบสังเกตเห็นแสงวับๆแวมสะท้อนเข้ามาในห้องสอบอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องของการทุจริตแบบโลว์เทคในอดีตซึ่งแตกต่างจากในปัจจุบันที่ใช้วิธีการไฮเทค เช่น มีการติดอุปกรณ์รับสัญญาณระบบสั่นซ่อนเอาไว้ในตัวนักเรียนแล้วส่งคำตอบด้วยการสั่นของเครื่องรับสัญญาณ

อีกธุรกิจหนึ่งที่ทำเงินได้มากในยุคก่อน นั่นคือ การเฉลยข้อสอบเอนทรานซ์ขายแบบจานด่วน กล่าวคือ กลุ่มที่ทำจะส่งทีมงานเข้าไปนั่งสอบเช่นกัน แล้วจำข้อสอบกับตัวเลือกออกมาคนละส่วน จากนั้นรีบนำมาเฉลยและพิมพ์ขาย ภายในช่วงการสอบหรือว่าหลังการสอบนิดหน่อย แต่ว่าต้องแอบขายเพราะว่าผิดกฏหมาย แต่ถึงจะผิดกฎหมายเช่นกันแต่ก็ดูเหมือนกับว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าการทุจริตในการสอบ

- - -

ในที่สุดการสอบทั้ง ๖ วิชาก็ผ่านพ้นไป ผมไม่ได้ซื้อเฉลยข้อสอบจานด่วนมาดูเพราะว่าไม่แน่ใจในความถูกต้อง ดูแล้วอาจเสียกำลังใจเปล่าๆ สอบแล้วก็ช่างมัน เอาไว้ลุ้นตอนประกาศผลจริงๆดีกว่า ตื่นเต้นดี

หลังจากการสอบ เรื่องแรกที่ผมทำในวันรุ่งขึ้นก็คือ กลับบ้าน...

“ป๊า แม่ อูกลับมาแล้ว” ผมส่งเสียงดังเอะอะเมื่อเดินเข้าบ้าน การกลับบ้านในครั้งนี้รู้สึกโล่งใจอย่างประหลาด ผมสามารถปลดเปลื้องภาระในจิตใจไปได้หลายอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสอบ กศน. การสอบเอนทรานซ์ รวมทั้งเรื่องของบอย...

พ่อกำลังยุ่งๆอยู่ คุยกันได้ไม่กี่ประโยคก็ต้องไปคุยโทรศัพท์ ส่วนแม่นั้นซักถามผมไม่ได้หยุด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอยู่ว่าทุกข์ สุข สบายหรือไม่สบายอย่างไรมากกว่า ไม่ค่อยได้ถามเรื่องการสอบเอนทรานซ์ของผมเท่าไรนัก

“กลับมาคราวนี้อยู่บ้านนานไหม เมื่อไรต้องกลับไปกรุงเทพฯอีกล่ะ” แม่ถาม

“คงอยู่จนหลังสงกรานต์น่ะแม่” ผมตอบ

“ทำไมสั้นนักละ ก็สอบเสร็จหมดแล้ว ไม่มีธุระอะไรอีกแล้วไม่ใช่เหรอ” แม่สงสัย

“หลังสงกรานต์เพื่อนๆมันชวนไปเที่ยว ถ้าป๊ากับแม่ยอมให้ไปอูก็จะกลับกรุงเทพฯหลังสงกรานต์ แล้วต้นเดือนหน้าก็ประกาศผลสอบเอนทรานซ์ ถ้าสอบไม่ติดก็ได้อยู่ที่นี่ยาวหลายปีเลยแม่” ผมตอบขำๆ พลางสังเกตดูแม่ หลายเดือนที่ไม่ได้เจอกันดูแม่กลับมาดูมีน้ำมีนวลขึ้น ช่วงก่อนผ่าตัดแม่ดูผอมไปมากคงเนื่องมาจากความกังวล คิดแล้วอดสะท้อนใจไม่ได้ ความคิดของคนเรานี่น่ากลัวจริงๆ ที่ไม่ได้ป่วยอะไรก็กังวลจนกลายเป็นสุขภาพทรุดโทรม ที่ป่วยอยู่ก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง

“มาสิ มาอยู่ที่บ้านบ้างก็ดีเหมือนกัน” แม่พูดหน้าตาเฉย

“อ้าว นี่แม่ไม่ได้หวังจะให้อูสอบติดเลยเหรอ” ผมอุทาน

“ก็ถ้ามันไม่ติดแล้วจะให้ทำยังไงเล่า แม่ก็ว่ามาอยู่กับแม่นี่แหละ หลายปีมานี้อูแทบจะไม่ได้อยู่บ้านเลย” แม่พูดให้ฟังขำ แต่ผมว่าหางเสียงของแม่ฟังแล้วอ้างว้างอย่างไรก็ไม่รู้ หวนนึกถึงถ้าผมสอบติดมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดก็คงเหมือนเอ๊ดที่กลับบ้านบ่อยๆไม่ได้ หากได้ในกรุงเทพฯก็พอค่อยยังชั่วหน่อย

ผมคุยกับแม่เรื่องการไปเที่ยวโดยเพื่อนๆจัดไปเที่ยวกันเอง

“ไปจังหวัดอะไรนะ” แม่ถาม

“นราธิวาสอะ” ผมตอบ

“หา อะไรนะ” แม่ทำเสียงตกใจ “อูจะไปทำไม”

ในยุคนั้นแม้จังหวัดนราธิวาสไม่ถึงกับมีเหตุการณ์ไม่สงบดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็มีการก่อความไม่สงบในบางพื้นที่อยู่บ้าง ดังนั้นในความคิดของหลายๆคนจึงเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยมากกว่าคิดเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว

“ล้อเล่นน่ะแม่ ไปสงขลา หาดใหญ่” ผมพูดความจริงไปเพียงครึ่งเดียว ถือว่าทำไร่สตรอเบอร์รี่ไปเพียงครึ่งไร่

“อย่าไปเลยอู มีแต่เด็กๆทั้งนั้น เดินทางไกลตั้งสิบวันแล้วยังไม่มีผู้ใหญ่ไปด้วย แม่ไม่สบายใจเลย เกิดเป็นอะไรเข้าไม่มีใครดูแล” แม่ห้ามปราม นี่ถ้าแม่รู้ว่าไปนราธิวาสด้วยจริงๆมีหวังอดไปแน่นอน

แต่มีหรือที่ผมจะยอมฟัง เมื่อแม่ไม่อนุญาตผมจึงไปขอพ่อแทน

“มีแต่เด็กๆไปกันเองไม่ปลอดภัย อย่าไปดีกว่า” พ่อตอบสั้นๆ

“แต่อูอยากไปน่ะป๊า ไปกันตั้งสิบคน แล้วก็แค่เดินทางขึ้นรถไฟไปกลับกันเองเท่านั้น ไปถึงที่ก็มีผู้ใหญ่ดูแลและพาเที่ยว ไม่ได้เที่ยวเองเลย ขออูเที่ยวฉลองจบ ม.ปลายหน่อยนะป๊า ครั้งเดียวในชีวิตเองนะ” ผมทั้งตื๊อ ทั้งอ้อน พร้อมกับหมกเม็ดไปนิดหน่อยโดยโมเมเอาว่าแค่ไปและกลับเองเท่านั้น แต่ไม่ได้เล่ารายละเอียดว่าจะแวะตามรายทางหลายจังหวัดอย่างไร

ในที่สุดพ่อก็ใจอ่อน เมื่อพ่ออนุญาตแม่ก็ไม่ขัดอะไร เป็นอันว่าในที่สุดผมก็สามารถร่วมเดินทางไปกับเพื่อนๆได้

ผมใช้เวลาอยู่ที่บ้านประมาณสิบกว่าวันจนถึงหลังสงกรานต์ เทศกาลสงกรานต์ในยุคนั้นมีวันหยุดราชการเพียงวันที่ ๑๓ เมษายนวันเดียวและยังเป็นเพียงแค่วันสงกรานต์ตามประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณ ไม่ได้หยุดราชการในวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายนและถือเป็นวันครอบครัวดังเช่นในปัจจุบัน แต่ถึงแม้ว่าในสมัยนั้นจะหยุดราชการเพียงวันเดียวก็ตาม แต่บริษัทห้างร้านต่างๆก็หยุดติดต่อกันหลายวันเหมือนเช่นในปัจจุบันเนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่ต้องการเดินทางกลับบ้านเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล ณ ภูมิลำเนา บางแห่งก็หยุดมากถึง ๕ วันหรือ ๗ วันก็ยังมี

ชีวิตที่อยู่ที่บ้านในช่วงนั้นแตกต่างกับเมื่อก่อนโดยสิ้นเชิง แต่ละครั้ง แต่ละปีที่ผมกลับบ้าน ผมกลับไปด้วยสภาพที่แตกต่างกัน บ้างครั้งสนุกสนานรื่นเริงเนื่องจากมีไอ้นัยกลับไปด้วย บางครั้งก็เศร้าซึมหดหู่เพราะความผิดหวัง บางครั้งก็ว่างเปล่าไม่มีทั้งอดีตและอนาคต บางครั้งวุ่นวายกับการอ่านหนังสือสอบ แต่ในครั้งนี้กลับเป็นความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง... ผมรู้สึกว่าภาระอันหนักหน่วงได้ถูกปลดเปลื้องไปแล้วส่วนหนึ่ง ขณะนี้ผมอยู่ว่างๆ... แต่กลับไม่รู้สึกว่างเปล่า เปรียบเหมือนการพักชั่วครู่เพื่อเตรียมตัวสำหรับการเดินทางใหญ่ในครั้งต่อไป... บนเส้นทางชีวิต...

- - -

เมื่อเทศกาลสงกรานต์ผ่านพ้นไป ผมก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯกลับมาพักที่หอพักเช่นเดิม เมื่อถึงวันนัดหมาย ผมก็เดินทางไปที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เราเดินทางล่องใต้ด้วยรถไฟเที่ยวค่ำโดยมีจุดหมายปลายทางคืออำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส สุดเขตชายแดนของประเทศไทยทางด้านใต้

ในตอนนั้นรถไฟไปสุไหงโก-ลกยังมีเที่ยวหัวค่ำ ออกจากกรุงเทพฯตอนค่ำแล้วไปถึงปลายทางราวบ่ายสามโมง ผมไปถึงสถานีรถไฟหัวลำโพงตั้งแต่ ๕ โมงเย็นตามเวลาที่นัดกันพร้อมกับหิ้วกระเป๋าเดินทางใบเขื่อง ข้างในส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าที่ต้องเอาไปมากถึงสิบกว่าชุดเนื่องจากไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสได้ซักผ้าระหว่างการท่องเที่ยวหรือไม่

ที่สถานีรถไฟหัวลำโพงคลาคล่ำไปด้วยผู้คน แต่ก็หากันพบได้ไม่ยากนักเนื่องจากห้องโถงที่เป็นทั้งห้องขายตั๋วและจุดนัดพบมีขนาดไม่ใหญ่นัก อีกทั้งพวกเรายังเป็นกลุ่มใหญ่พอสมควร เห็นกันได้ง่าย

“อ้าว ไอ้เหี้ยอู มึงไปกับเค้าด้วยเหรอ” เสียงที่ผมไม่ค่อยอยากได้ยินนักลอยมาเข้าหูหลังจากที่ผมหากลุ่มเพื่อนๆพบ

“โอย มึงไปด้วยเหรอ ยังงั้นกูกลับดีกว่า” ผมพูดพลางหันหลังกลับ ไอ้กี้เจ้าของเสียงทักทายดึงกระเป๋าเดินทางของผมเอาไว้

“ไอ้ห่านี่ มึงเห็นกูแล้วจะหนีเหรอ” ไอ้กี้หัวเราะ

“เบื่อแม่งฉิบหาย” ผมบ่นลอยๆ “ตอนเรียนก็เจอ จะไปเที่ยวยังมาเจออีก ซวยอะไรยังงี้”

“เออ มึงจะกลับก็ได้ แต่ต้องจ่ายเงินเข้ากองกลางมาก่อน ตั๋วรถไฟก็ซื้อมาแล้ว ของกินก็ซื้อมาแล้ว มีส่วนของมึงด้วยทั้งนั้น ไม่ไปก็ต้องจ่ายมา” ไอ้กี้ไม่สนใจคำบ่นของผม

“อ้าว เหรอ ยังงั้นกูไปก็ได้ เสียดายเงินโว้ย” ผมเปลี่ยนใจ “กูยอมทนเบื่อมึงละกัน”

“โธ่ กูนึกว่ามึงจะแน่” กี้หัวเราะจนตาหยี

เพื่อนๆที่เดินทางไปด้วยกันในครั้งนี้มีด้วยกันประมาณ ๑๐ คน นอกจาก กรณ์ หมู และสิทธิ์แล้วก็ยังมีไอ้กี้และเพื่อนคนอื่นๆในห้องอีก ส่วนใหญ่เป็นพวกที่อยู่กลางห้องกับหน้าห้อง กลุ่มไอ้เฉาไม่มีเลย ส่วนกลุ่มหลังห้องมีแต่ผมและกี้เท่านั้น ผมเองก็ยังงงว่าไอ้กี้มาด้วยได้อย่างไรเพราะไม่รู้มาก่อนเลย

ในที่สุดการเดินทางของเราก็ได้เริ่มขึ้น รถไฟออกช้ากว่าเวลานิดหน่อย เราเดินทางกันด้วยรถไฟชั้น ๓ อันเป็นรถนั่งไม่ปรับอากาศเพราะต้องการประหยัด ในชีวิตของผมเพิ่งมีโอกาสเดินทางด้วยรถไฟเพียงไม่กี่ครั้งเอง ดังนั้นผมจึงตื่นเต้นกับการเดินทางด้วยรถไฟในครั้งนี้พอสมควร

แม้จะเป็นรถไฟสายทางไกลแต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ตั๋วนั่ง ผู้โดยสารที่ตีตั๋วยืนก็มี แม้อากาศจะร้อนอบอ้าวแต่ในตู้รถไฟไม่ร้อนเท่าใดนักเนื่องจากลมพัดโกรกเข้ามาทางหน้าต่างตลอดเวลา

- - -

ดึกแล้ว...

เมื่อขึ้นรถไฟไปแรกๆพวกเราก็สนุกสนานเฮฮากัน แต่เมื่อนั่งไปหลายๆชั่วโมงเข้าความง่วงและความเงียบก็ค่อยๆเข้ามาครอบคลุม ผู้โดยสารที่ยืนอยู่ในรถต่างก็พากันหาที่นั่งกันตามแต่จะหาได้ เช่น ตามรอยต่อระหว่างโบกี้ ตามช่องว่างข้างทางเดิน และหน้าห้องน้ำ ฯลฯ จนในที่สุด รถไฟทั้งขบวนก็ตกอยู่ในความสงัด มีเพียงเสียงล้อรถไฟที่กระทบรางเหล็กส่งเสียงดังเป็นจังหวะอย่างต่อเนื่องเท่านั้น เพื่อนๆต่างพากันนั่งหลับกันจนหมด คงเหลือแต่ผมที่นั่งอยู่ตรงที่นั่งข้างหน้าต่างและยังตื่นอยู่

ผมเหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง ในช่วงต้นข้างแรมแสงจันทร์ยังส่องสว่างทำให้พอมองเห็นทิวทัศน์ในยามดึกได้ ผมเห็นทิวไม้ตะคุ่มคล้อยหลังไปอย่างรวดเร็วขณะที่รถไฟวิ่ง บรรยากาศค่อนข้างอ้างว้างเงียบเหงา

ผมจมอยู่กับบรรยากาศยามดึกที่อ้างว้างอยู่เนิ่นนาน ปล่อยความคิดให้ล่องลอยไปไกลแสนไกล จนในที่สุดก็ผลอยหลับไป...

วันถัดมา...

การเดินทางของเราใช้เวลาเกือบ ๒๔ ชั่วโมง เมื่อแรกเดินทางก็สนุกสนานกันดี แต่เมื่อนั่งรถไฟนานหลายชั่วโมงก็ชักเริ่มเมื่อยล้ารวมทั้งรู้สึกเหนอะหนะเนื่องจากอากาศร้อนอีกทั้งยังไม่ได้อาบน้ำมาเป็นเวลานาน จนในทุกสุดทุกคนก็เริ่มบ่นกันว่าเมื่อไรจะถึงเสียที แต่สำหรับผมแล้วผมรู้สึกตื่นเต้นไปกับการเดินทาง แม้จะเบื่อบ้างก็เป็นบางขณะเท่านั้น มันเป็นการเดินทางไกลเป็นครั้งแรกในชีวิตของผม ทิวทัศน์ที่แปลกตา สถานที่และผู้คนที่ผมไม่คุ้นเคย ล้วนแต่น่าสนใจ น่าค้นหา และน่าเรียนรู้...

รถไฟเดินทางไฟเรื่อยๆแบบหวานเย็น สลับกับการจอดแวะตามสถานีต่างๆ จนถึงเวลาบ่ายแก่เราก็เริ่มเข้าเขตจังหวัดนราธิวาส ทิวทัศน์สองข้างทางก็เริ่มเปลี่ยนแปลง จากทิวทัศน์ท้องไร่ท้องนาสลับกับสวนยางพารากลายเป็นทิวทัศน์สวนยางเกือบทั้งหมด บรรยากาศค่อนข้างร่มครึ้ม

เมื่อถึงเวลาไต้เข้าไฟ เราก็ใกล้ถึงจุดหมายปลายทางเต็มทีแล้ว แสงตะวันค่อยๆเลือนลับไปจากขอบฟ้า อากาศก็เริ่มเย็นลง ความชื้นที่พื้นดินจับตัวกันก่อให้เกิดเป็นหมอกหนาปกคลุมต้นไม้ใบหญ้าเหมือนกับที่เราเห็นหมอกหนายามเช้าในช่วงฤดูหนาว ก่อให้เกิดเป็นทัศนียภาพที่แปลกตา ผมต้องกอดอกเอาไว้เพราะรู้สึกเย็น

กลิ่นไอดินลอยเข้ามาในขบวนรถ ผมสูดอากาศเย็นที่กรุ่นกลิ่นไอดินเข้าไปจนเต็มปอด บรรยากาศที่สงบและสันโดษของชนบทในจังหวัดนราธิวาสทำให้ผมอดนึกถึงสยามสแควร์ไม่ได้ มันช่างเป็นชีวิตที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง…


<ผมเข้าห้องสอบด้วยจิตใจที่ไม่ตื่นเต้นมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมคิดว่ายังมีโอกาสแก้ตัวได้อีกครั้งหนึ่งในปีหน้า จึงทำให้การทำสอบของผมไม่เคร่งเครียดนัก ต่างกับนักเรียนบางคนที่ตึงเครียดจนถึงกับเกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนออกมา>


<รถไฟเดินทางไฟเรื่อยๆแบบหวานเย็น สลับกับการจอดแวะตามสถานีต่างๆ จนถึงเวลาบ่ายแก่เราก็เริ่มเข้าเขตจังหวัดนราธิวาส ทิวทัศน์สองข้างทางก็เริ่มเปลี่ยนแปลง จากทิวทัศน์ท้องไร่ท้องนาสลับกับสวนยางพารากลายเป็นทิวทัศน์สวนยางเกือบทั้งหมด บรรยากาศค่อนข้างร่มครึ้ม ภาพนี้เป็นภาพที่ถ่ายในระหว่างการเดินทาง>

Thursday, July 15, 2010

ภาคสาม ตอนที่ 71

หลังปีใหม่ผลการสอบพรีเอนทรานซ์ก็ออกมา คะแนนวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ไม่ได้เรื่องสักวิชา แค่อยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ย พูดง่ายๆก็คือได้ประมาณเกรดซี ส่วนคะแนนวิชาชีววิทยาของผมได้ศูนย์ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าผมจะทำไม่ได้เลยสักข้อ ผมทราบต่อมาในภายหลังว่าที่ได้คะแนนศูนย์เป็นเพราะว่าผมระบายเลขรหัสประจำตัวสอบผิด และบังเอิญที่เลขรหัสที่ผมระบายผิดนั้นเจ้าของเลขประจำตัวสอบตัวจริงก็ไม่ได้มาสอบในวิชาชีววิทยา คะแนนของผมจึงเป็นของคนนั้นไป นับว่าเป็นบทเรียนที่มีค่ามากสำหรับความผิดพลาดซึ่งบางครั้งเราอาจไม่มีโอกาสแก้ตัวได้อีก

ช่วงปลายภาคในปีนี้ค่อนข้างพิเศษกว่าปีอื่นๆ อย่างน้อยก็ในความรู้สึกของผม นักเรียนกว่าครึ่งห้องดูหนังสืออย่างขะมักเขม้นเพื่อนเตรียมสอบสอบเอนทรานซ์ บรรยากาศการเรียนในชั้นเรียนไม่ค่อยดีนักเนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่ไม่ค่อยตั้งใจเรียนเพราะมุ่งแต่อ่านหนังสือเตรียมสอบ กศน. และสอบเอนทรานซ์ หากมีโอกาสโดดเรียนได้เป็นต้องมีคนโดดเรียน ผมเองไม่นิยมการโดดเรียนเพราะว่าโดดแล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปไหน ส่วนใหญ่ก็จะนั่งอยู่ในห้องเรียนแต่ว่าเอาหนังสืออื่นมานั่งอ่านใต้โต๊ะไปด้วย

กลุ่มติวของเชาวน์ยังเกาะกลุ่มกันอยู่แต่เหลือกลุ่มไม่ใหญ่นัก หลายคนแยกไปดูหนังสือด้วยตนเอง แต่ส่วนที่ยังเกาะกลุ่มกันอยู่ทำงานเป็นทีมกันได้ดี มีการนัดติวทุกวันไม่เว้นแม้แต่วันหยุด ส่วนวันหยุดของผมนั้นผมใช้เวลาไปกับการดูหนังสือ พบกลุ่ม กศน. และกลับบ้านต่างจังหวัด ช่วงปลายภาคเป็นช่วงที่ผมโดดเรียน กศน. ไปหลายครั้งเพื่อกลับบ้านไปเยี่ยมแม่ แต่ว่าไม่เกินเกณฑ์จนถึงกับหมดสิทธิ์สอบ

ในช่วงปลายภาคผมไม่ได้ติดต่อกับบอยอีกเลย ผลสอบพรีเอนทรานซ์ทำให้ผมต้องทบทวนแผนการเตรียมตัวสอบเสียใหม่และพยายามอ่านหนังสือหนักยิ่งขึ้น ความรู้สึกบอบช้ำจากเรื่องของบอยค่อยๆลดน้อยลงไปและในที่สุดผมก็ตัดใจจากบอยได้และกลับมามีสมาธิกับการอ่านหนังสือได้อีกครั้งหนึ่ง

หลังจากวันนั้นแล้วผมไม่ได้โทรศัพท์ไปหาบอยอีกเลย เรายังพบกันบ้างเมื่ออยู่ในโรงเรียนแต่ก็ไม่ได้พูดคุยกัน เพียงแค่พยักหน้าทักทายกันเท่านั้น จนท้ายที่สุด เราสองคนก็กลายเป็นแค่คนที่เคยสนิทกันเท่านั้น

- - -

ในที่สุด ภาคสองของปีการศึกษาก็ใกล้จบสิ้นลง วันนี้เป็นการสอบปลายภาควันสุดท้าย

ผมมาถึงโรงเรียนแต่เช้าและเดินเล่นไปรอบๆโรงเรียน การสอบปลายภาคสำหรับผมก็เป็นเช่นเดียวกับนักเรียนที่เรียน กศน. ไปด้วยคนอื่นๆ นั่นคือไม่ค่อยมีความหมายอะไรนัก ขอแค่ผ่านก็พอ ไม่ได้หวังเอาเกรดสวยๆแต่อย่างใด สอบ กศน. ให้ผ่านเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า

ผมเดินเล่นไปรอบๆโรงเรียนด้วยความรู้สึกที่แปลกไปจากทุกวัน หากผมสอบ กศน. และสอบเอนทรานซ์ได้ วันนี้ก็จะเป็นวันสุดท้ายที่ผมจะได้เรียนอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ คิดไปแล้วก็ใจหาย เวลา ๕ ปีที่นี่นับว่าไม่สั้นนัก บางครั้งกว่าผมจะผ่านชีวิตไปได้แต่ละวันมันช้าเหมือนกับจะเจียนตาย แต่เมื่อมองย้อนกลับไป ห้าปีที่นี่กลับกลายเป็นรวดเร็วอย่างที่คาดไม่ถึง

ผมเดินขึ้นไปบนอาคารเก่าแก่อันเป็นที่ตั้งของห้องสมุดและชมรมต่างๆ เดินไปเรื่อยๆจนมาหยุดอยู่หน้าห้องสหกรณ์การอ่าน

ประตูห้องสหกรณ์ปิดและคล้องกุญแจเอาไว้เนื่องจากปิดให้บริการในช่วงปลายภาค ผมยืนเหม่ออยู่หน้าประตูห้อง ความคิดล่องลอยย้อนกลับไปสู่อดีต ผมมีความทรงจำอยู่ที่นี่มากมาย ทั้งสุขและทุกข์... ไอ้นัย บอย ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับสถานที่นี้ทั้งสิ้น แต่หลังจากวันนี้ไปมันคงกลายเป็นความทรงจำที่ผมจำเป็นต้องทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง...

เมื่อผมกลับไปที่ห้องเรียนซึ่งขณะนี้เปลี่ยนสภาพไปเป็นห้องสอบ นักเรียนอออันอยู่หน้าห้องเพื่อรอเข้าแถวเคารพธงชาติ บางคนนั่งอ่านหนังสือเงียบๆ บางคนก็นั่งคุยกัน บรรยากาศเหมือนกับวันสิ้นปีการศึกษาโดยทั่วๆไปเช่นปีก่อนๆ ไม่มีการร่ำลาเหมือนกับการจบการศึกษาแต่อย่างใดทั้งๆที่พวกเราก็รู้กันดีว่าวันนี้อาจเป็นวันสุดท้ายที่โรงเรียนนี้สำหรับหลายๆคน...

- - -

ในที่สุดการสอบปลายภาคในวันสุดท้ายก็สิ้นสุดลง ต่างคนสอบเสร็จต่างก็ทยอยกันกลับไป ผมออกจากห้องสอบเกือบเป็นคนสุดท้าย วันนี้ผมรู้สึกเหงาๆอย่างไรก็ไม่รู้ ผมอดแปลกใจไม่ได้ ไม่มีการนัดเลี้ยง ไม่มีการอำลา ราวกับว่าปีการศึกษาหน้าพวกเราจะได้มาพบกันอีก ในใจของผมรู้สึกอยากร่ำลาเพื่อนๆ... เผื่อว่าเราจะไม่ได้พบกันอีก แต่แล้วในที่สุดก็ไม่ได้ทำเพราะไม่มีเห็นใครทำกัน

“ไอ้อู รอเดี๋ยว” เสียงคนเรียกผมขณะที่ผมกำลังเดินลงจากตึก

“ว่าไง” ผมหันไปมอง หมู กรณ์ และสิทธิ์ เพื่อนร่วมโต๊ะวิทยาศาสตร์และขาดูหนังของผมกำลังเดินไล่หลังมา

“ปิดเทอมไปเที่ยวด้วยกัน จองตัวมึงแล้วนะโว้ย” กรณ์พูดขึ้นมาไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

“ไปเที่ยวที่ไหนเหรอ” ผมถามอย่างงงๆ

“ล่องใต้ หลายจังหวัด” กรณ์ตอบ

“ไอ้กรณ์ชวนไปเที่ยวที่บ้านมัน มันมีญาติอยู่หลายจังหวัด ที่นราธิวาสด้วย ก็เลยวางแผนกันว่าจะเที่ยวไล่ตั้งแต่นราธิวาสขึ้นมาเลย แวะหาดใหญ่ด้วย ไปสักสิบวัน” หมูอธิบายเพิ่ม

“หูย เที่ยวยาวเลย” ผมตาโต ผมไม่เคยได้ท่องเที่ยวกับเพื่อนๆแบบไปกันเองเช่นนี้มาก่อน ยิ่งเป็นแบบยาวๆเช่นนี้ด้วย ฟังดูน่าสนุกมาก “ไปเมื่อไรล่ะ มีนากับต้นเมษาไม่ว่างอะ”

ผมออกตัวเนื่องจากต้องสอบเอนทรานซ์ในเดือนเมษายนและก่อนหน้านั้นก็ต้องเตรียมตัวสอบ

“ไปหลังสงกรานต์ มีพวกที่สอบเอนทรานซ์จะไปด้วย รอให้พวกมันสอบเสร็จกันก่อน” กรณ์ตอบ

“ดีเลย งั้นขอไปถามที่บ้านก่อน ไม่รู้ว่าพ่อจะให้ไปไหม” ผมยังลังเล “ถ้าพ่อให้ก็ไปได้”

“เออ เออ ไม่เป็นไร เอาไว้ปิดเทอมแล้วค่อยโทรนัดกันอีก ไปขอพ่อขอแม่ให้เรียบร้อยเสียก่อน” กรณ์พูดติดตลก

หลังจากที่ทั้งสามคนแยกจากไป ผมหันกลับไปดูห้องเรียนของผมอีกครั้ง ระเบียงทางเดินและที่นั่งยาวหน้าห้องที่ผมและเพื่อนๆมักนั่งคุยกันเล่นขณะนี้ไร้ผู้คน บรรยากาศเงียบเหงาอย่างน่าใจหาย

ผมก็เดินไปที่สหกรณ์อีกครั้งหนึ่ง ประตูห้องยังปิดสนิทและคล้องกุญแจเอาไว้เช่นเดิม แม้ผมจะถูกกางกั้นเอาไว้ด้วยประตูไม้เก่าแก่บานใหญ่แต่ในห้วงคำนึงของผมเหมือนกับเห็นไอ้นัยนั่งทำงานอยู่ในนั้น และพร้อมกันนั้นก็เหมือนกับเห็นบอยคอยเชียร์ลูกค้าให้เช่าหนังสืออยู่... ผมยืนอยู่ที่หน้าห้องอีกชั่วครู่ปล่อยให้ความคิดล่องลอยกลับไปสู่วันเวลาที่ผ่านมา... และแล้ว ในที่สุดผมก็เดินกลับ

ลาก่อน... ผมกล่าวคำอำลาด้วยใจที่ยังห่วงหาอาวรณ์... ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผมยังห่วงหาอาวรณ์ใครหรือสิ่งใด...

- - -

การสอบปลายภาคของ กศน. ก็เสร็จสิ้นลงในเวลาที่ใกล้เคียงกับการสอบปลายภาคที่โรงเรียน เมื่อการสอบทั้งสองผ่านพ้นไป เวลาที่เหลือก็ถือว่าเป็นโค้งสุดท้ายของการเตรียมตัวสอบเอนทรานซ์สำหรับนักเรียนชั้น ม.๕ และ ม.๖ และรวมทั้งเป็นช่วงเวลาทองของธุรกิจติวเอนทรานซ์ โรงเรียนติวทุกแห่งต่างก็จัดโปรแกรมติวโค้งสุดท้ายก่อนสอบเอนทรานซ์โดยใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน นักเรียนจากต่างจังหวัดหลั่งไหลกันเข้ามาพักในกรุงเทพฯเพื่อติวและรอสอบเอนทรานซ์ไปด้วยในตัว หอพักย่านใจกลางกรุงตั้งแต่ย่านหัวลำโพงไล่มาจนถึงย่านราชเทวี ตลอดไปจนถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิล้วนแต่มีนักเรียนจากต่างจังหวัดมาพักจนแน่นขนัดไปหมด

โรงเรียนติวเอนทรานซ์ในยุคของผมนั้นเป็นยุคเปลี่ยนผ่าน กล่าวคือ เดิมทีโรงเรียนติวมักอยู่ในย่านถนนราชดำเนินและมักเป็นธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียว นั่นคือ เจ้าสำนักก็คือผู้ติวเอง อาทิ ฟิสิกส์เซ็นเตอร์ของอาจารย์นรินทร์ที่ติวฟิสิกส์ แม็ทเซ็นเตอร์ของอาจารย์สกนธ์ที่ติวคณิตศาสตร์ โฮมออฟอิงลิชของอาจารย์คณิศวร์และเสริมหลักสูตรของอาจารย์สงวนที่ติวภาษาอังกฤษ พวกนี้จะอยู่ย่านราชดำเนิน นอกจากนั้นก็มีโรงเรียนพันธะศึกษาและอาจารย์สุธนที่ติวเคมี ในปีที่ผมสอบเอนทรานซ์นี้อาจารย์อุ๊เคมียังไม่ดัง อาจารย์ช่วง ทมทิตชงค์ติวฟิสิกส์ ถ้าเป็นวิชาชีววิทยาก็ต้องอาจารย์กันยา แล้วก็ยังมีกวดวิชาแม็ค พวกหลังนี้อยู่นอกย่านราชดำเนินโดยบางส่วนอยู่ในย่านสยามสแควร์และสามย่าน

ต่อมายุคเจ้าสำนักติวเองเริ่มเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นสำนักติวที่มีลักษณะเป็นเจ้าของหลายคนหรือว่าเป็นหุ้นส่วนกันและจ้างติวเตอร์มาติว หรือบางทีหุ้นส่วนก็ติวเอง พร้อมๆกันนั้นศูนย์กลางการติวก็ย้ายจากถนนราชดำเนินมายังสยามสแควร์ สามย่าน และรองเมือง ยุคนี้เป็นยุคที่มีทั้งสำนักติวยุคเก่ากับสำนักติวยุคใหม่ปะปนกัน ตัวอย่างของสำนักติวรุ่นใหม่ในตอนนั้นได้แก่ PEP เดอะติวเตอร์ พร็อบเบล็มเซ็นเตอร์ ฯลฯ เริ่มมีการเปิดสาขาทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดเนื่องจากเป็นธุรกิจที่ทำรายได้อย่างงดงาม

หลังจากนั้นต่อมายุคของเจ้าสำนักติวเองหรือโรงเรียนติวในยุคแรกก็ค่อยๆหายไป ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ติวสูงวัยขึ้นและไม่มีการสืบทอดกิจการ จึงทำให้ต้องเลิกราไป ที่เหลือสืบทอดต่อมาได้มักเป็นผลงานของทายาทในรุ่นที่สอง

เวลาผ่านมาหลายสิบปี เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป รูปแบบของสำนักติวและรูปแบบการติวก็เปลี่ยนแปลงไป การติวในยุคนี้ผู้ติวใช่ว่าจะเก่งวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องสร้างความบันเทิงได้ด้วย อย่างที่เรียกว่าเอดูเทนเมนต์ หรือว่าติวไปเต้นไป สำนักติวในยุคก่อนที่อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ก็มีและที่ล้มหายตายจากไปก็มี รวมทั้งที่เกิดใหม่เป็นสำนักติวร่วมสมัยก็มาก ศูนย์กลางการติวมีแนวโน้มค่อยๆย้ายออกจากย่านสยามสแควร์และสามย่านไปสู่ย่านสี่แยกพญาไท แม้วันเวลาจะเปลี่ยนผันไป รูปแบบของธุรกิจติวจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ที่ยังเหมือนเดิมก็คือนักเรียนทั้งประถมและมัธยมต้องแข่งกันเรียนพิเศษ เรียนเพิ่ม เรียนเสริม กันอย่างเอาเป็นเอาตาย

สำหรับผมนั้นก็นิยมการซื้อหนังสือมาดูด้วยตนเองเช่นเดิม ดูที่หอพักบ้าง กลับมาดูที่บ้านบ้าง แต่ต่อมาผมฝันร้ายบ่อยมากซึ่งฝันร้ายนั้นก็เป็นเรื่องเดิมๆที่มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผมมีความกดดันหรือเคร่งเครียด ผมไม่แน่ใจว่าตนเองละเมอเอะอะบ้างหรือเปล่า ดังนั้นเพื่อความสบายใจ ไม่อยากให้ที่บ้านกังวลถึงปัญหาสุขภาพจิตของผม ผมจึงดูหนังสืออยู่ที่หอพักโดยตลอด

ผมจำใจต้องเลิกดูหนังสือในแนวติวแม้ว่าจะยังอ่านไม่จบก็ตาม และใช้เวลาที่เหลืออยู่หันมาตั้งหน้าตั้งตาทำข้อสอบเอนทรานซ์เก่าๆแทน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการทำโจทย์ ทำไปจับเวลาไป เสร็จแล้วก็มาดูเฉลย หนังสือเฉลยข้อสอบเอนทรานซ์ในยุคนั้นก็มาตรฐานไม่ค่อยแน่นอน บางทีอ่านเฉลยแล้วงง คิดหัวแทบแตกก็คำนวณไม่ได้คำตอบตามนั้น ที่ไหนได้กลายเป็นว่าหนังสือพิมพ์ผิด ทำให้เสียเวลาไปเปล่า

- - -

ในที่สุดผลการสอบของผมก็ออกมา ผลการสอบชั้น ม.๕ ที่โรงเรียนผมได้เกรดประมาณ ๒.๘ ส่วนผลการสอบ กศน. นั้นผมสอบผ่านทั้งหมด รวมแล้วผมสามารถจบหลักสูตร ม.ปลายได้ภายในหนึ่งปีโดยไม่ต้องสอบซ่อมเลย

เมื่อจบ ม.ปลาย แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการสมัครสอบเอนทรานซ์ การสอบเอนทรานซ์มีเพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น สูตรสำหรับการสอบเอนทรานซ์ในยุคนั้นก็คือ ๓-๔-๕ นั่นคือ สมัครสอบเดือนมีนาคม สอบช่วงต้นเดือนเมษายน และประกาศผลสอบช่วงเดือนพฤษภาคมพร้อมทั้งดำเนินขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์และการรับเข้าเป็นนิสิตนักศึกษาใหม่

การสอบเอนทรานซ์ในยุคของผมนั้นเลือกได้ถึง ๖ อันดับ ระบบที่เลือกได้ ๖ อันดับนี้ใช้กันมาแต่ดั้งเดิมจนถึงปีการศึกษา ๒๕๓๓ เมื่อมีการทำวิจัยพบว่าอันดับสุดท้ายมีนักเรียนสละสิทธิ์กันเป็นจำนวนมาก ต่อมาในปีการศึกษา ๒๕๓๔ จึงมีการลดอันดับการเลือกลงให้เหลือเพียง ๕ อันดับ ใช้มาได้เพียงไม่กี่ปีก็พบว่าอันดับสุดท้ายยังมีการสละสิทธิ์กันมากอีก จึงใช้มาเพียงแค่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ต่อมาในปี การศึกษา ๒๕๓๗ จึงมีการลดอันดับการเลือกให้เหลือเพียง ๔ อันดับ และหลังจากนั้นมาก็ให้เลือกได้เพียง ๔ อันดับมาจนจบยุคของการสอบเอนทรานซ์

การสมัครสอบนั้นถือเป็นมหกรรมอย่างหนึ่งเลยทีเดียว เนื่องจากมีนักเรียนสมัครสอบเป็นจำนวนมาก สถานที่สมัครสอบแต่ละแห่งทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดจึงเนืองแน่นไปด้วยนักเรียน นักเรียนที่วางแผนและเตรียมตัวมาดีจะต้องรู้ความสามารถของตนเองเสียก่อนโดยประเมินตนเองจากการทำข้อสอบเอนทรานซ์เก่าๆ จากนั้นลองคำนวณคะแนนที่ได้และเปรียบเทียบกับค่าคะแนนสูงสุดต่ำสุดที่แต่ละคณะรับในปีที่ผ่านมา ผู้ที่ไม่ประเมินตนเองสูงเกินไป เลือกแต่คณะที่มีระดับคะแนนสูงสุดต่ำสุดในช่วงคะแนนของตนเองก็จะมีโอกาสสอบติดมากขึ้น หากไม่มีการประเมินตนเองมาก่อนเลือกส่งเดชก็อาจเสียเปรียบ ในยุคของผมนั้นมีจำนวนคณะ/สาขาวิชาให้เลือกไม่มากมายเหมือนในปัจจุบันเนื่องจากในสมัยนั้นการแยกวิชาเอกหรือแยกสาขามักทำในชั้นปีที่ ๒ คือหลังจากที่เข้าคณะไปแล้ว ส่วนปี ๑ จะเรียนเหมือนกันโดยไม่มีการแยกเป็นสาขา ดังนั้นการเลือกในการสอบเอนทรานซ์จึงมักเป็นการเลือกคณะเสียเป็นส่วนใหญ่

สำหรับผมนั้นผมตัดสินใจเลือกคณะแพทย์ไปทั้งหมด ๕ อันดับ ตอนนั้นมีความตั้งใจที่จะเรียนแพทย์มาก จึงเลือกคณะแพทย์ไปเกือบหมด ไม่ได้เลือกคณะวิศวกรรมศาสตร์เอาไว้เลย เหลือไว้เพียงอันดับสุดท้ายที่เลือกคณะที่คะแนนไม่สูงนักเอาไว้กันเหนียว

อันดับที่ ๖ นี่เอาอะไรดี ผมคิดอยู่นาน ในที่สุดก็ไปเลือกเอาคณะเทคโนโลยีอันเป็นคณะที่เพิ่งเปิดใหม่ของมหาวิทยาลัยกลางเก่ากลางใหม่แห่งหนึ่งซึ่งคะแนนไม่สูงมากนัก ในยุคนั้นเป็นยุคที่เกิดค่านิยมที่ว่าใครครองเทคโนโลยี ผู้นั้นก็ครอบครองอำนาจ อะไรประมาณนั้น ทางภาครัฐจึงให้การสนับสนุนการเรียนด้านเทคโนโลยีค่อนข้างมาก ทำให้มีการเปิดคณะใหม่และสาขาใหม่ด้านเทคโนโลยีกันในหลายสถาบัน

- - -

เดือนเมษายน

ในที่สุดวันสอบเอนทรานซ์ก็มาถึง ผมต้องสอบทั้งหมด ๖ วิชา สนามสอบของผมเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ใจกลางกรุง

ในการสอบวันแรกเป็นวันที่ทุลักทุเลเอาการสำหรับผมเนื่องจากผมอ่านหนังสือจนดึกมาก เดิมทีตั้งใจว่าจะนอนตั้งแต่หัวค่ำและตื่นแต่เช้า แต่เนื่องจากดูหนังสือเท่าไรก็ไม่ทันเสียทีจึงพยายามดูจนถึงนาทีสุดท้าย ผมตั้งนาฬิกาปลุกเอาไว้หลายเรือนเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผมจะตื่นแต่เช้ามืดได้แน่ๆ แต่แล้วในที่สุดผมก็ตื่นสาย โชคดีที่ตื่นสายไม่มาก คำนวณแล้วน่าจะไปสอบได้ทัน

ผมไปถึงห้องสอบก่อนเวลาพอสมควร สนามสอบคลาคล่ำไปด้วยนักเรียน ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ที่ผมเคยเห็นออกดอกบานอยู่บนต้นในช่วงฤดูหนาว พอมาถึงตอนนี้ดอกสีชมพูอ่อนพร้อมใจกันร่วงลงจากต้นเกลื่อนอยู่บนทางเดิน ทำให้ทางเดินราวกับปูด้วยพรมดอกไม้งดงามดังเช่นในจินตนาการ

ผมเข้าห้องสอบด้วยจิตใจที่ไม่ตื่นเต้นมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมคิดว่ายังมีโอกาสแก้ตัวได้อีกครั้งหนึ่งในปีหน้า จึงทำให้การทำสอบของผมไม่เคร่งเครียดนัก ต่างกับนักเรียนบางคนที่ตึงเครียดจนถึงกับเกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนออกมา


<ผมก็เดินไปที่สหกรณ์อีกครั้งหนึ่ง ประตูห้องยังปิดสนิทและคล้องกุญแจเอาไว้เช่นเดิม แม้ผมจะถูกกางกั้นเอาไว้ด้วยประตูไม้เก่าแก่บานใหญ่แต่ในห้วงคำนึงของผมเหมือนกับเห็นไอ้นัยนั่งทำงานอยู่ในนั้น และพร้อมกันนั้นก็เหมือนกับเห็นบอยคอยเชียร์ลูกค้าให้เช่าหนังสืออยู่... ผมยืนอยู่ที่หน้าห้องอีกชั่วครู่ปล่อยให้ความคิดล่องลอยกลับไปสู่วันเวลาที่ผ่านมา...>


<หนังสือเฉลยข้อสอบเอนทรานซ์ คู่มืออย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับนักเรียนที่เตรียมสอบเอนทรานซ์ หนังสือเฉลยข้อสอบในยุคนั้นมีสำนักพิมพ์ผลิตออกมามากมายหลายสำนักพิมพ์ แต่ทว่าคุณภาพแตกต่างกัน โดยมากมักเป็นปัญหาด้านความถูกต้อง>

Sunday, July 11, 2010

ภาคสาม ตอนที่ 70

หลังจากที่แม่กลับบ้านไป ผลตรวจชิ้นเนื้อก็ออกมา พ่อเป็นคนรับทราบผลตรวจและคุยกับหมอโดยไม่บอกให้แม่รู้ พ่อเล่าให้ฟังว่าผลตรวจเป็นไปตามที่หมอคิดเอาไว้ นั่นคือ เนื้องอกของแม่นั้นเป็นมะเร็งชนิดหนึ่ง และหลังจากนี้ต่อไปแม่ควรมารับการตรวจเป็นระยะเพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงเนื่องจากเซลล์มะเร็งอาจกระจายออกไปแล้วก็ได้

หลังจากที่แม่กลับบ้านไปแล้ว คนที่สบายอกสบายใจดูเหมือนจะมีอยู่คนเดียวในบ้านนั่นคือแม่ซึ่งเป็นตัวคนไข้เอง แม่คงเข้าใจว่าเนื้องอกของแม่นั้นเป็นเพียงเนื้องอกธรรมดา เมื่อผ่าตัดออกไปแล้วจึงสบายใจขึ้น ส่วนเราสามคนพ่อลูกกลับรู้สึกกังวล โดยเฉพาะผม การป่วยของแม่ทำให้ผมรู้สึกว่าครอบครัวของเราสูญเสียความมั่นคงทางใจไป ทุกครั้งที่ผมคิดถึงวันที่ครอบครัวของเราอาจไม่ได้อยู่พร้อมหน้ากันทั้งสี่คนผมอดรู้สึกหวั่นไหวไม่ได้

การดูหนังสือเตรียมสอบของผมเต็มไปด้วยความยากลำบาก ความรู้สึกต่างๆที่โถมทับลงมาไม่ว่าเรื่องของบอย เรื่องของแม่ ทำให้ผมคิดฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลา เมื่อใดก็ตามที่ผมเริ่มเปิดหนังสือออกมาอ่าน ผมก็จะริ่มคิดโน่นคิดนี่ไปเรื่อยและไม่สามารถรวบรวมสมาธิได้ การต่อสู้กับความฟุ้งซ่านภายในจิตใจไม่ใช่เรื่องง่าย เวลาแต่ละวินาทีที่ผมนั่งอ่านหนังสืออยู่ที่โต๊ะเป็นความเบื่อหน่ายและความทุกข์ ผมนึกไม่ออกเลยว่าเวลาเช่นนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใดและผมจะผ่านพ้นเวลาเช่นนี้ไปได้อย่างไร...

ทางด้านบอยนั้นเหมือนกับชะตาจะเล่นตลกกับผม ในช่วงก่อนที่ผมพยายามมองหาบอยผมก็ไม่ค่อยพบบอย แต่พอมาในช่วงนี้เมื่อผมต้องการตัดใจจากบอยผมกลับเห็นบอยบ่อยๆ ในโรงอาหารบ้าง ในสนามช่วงเข้าแถวเคารพธงชาติบ้าง ความพยายามที่จะลืมบอยจึงไม่สำเร็จ

“ฮัลโหล” เสียงวัยรุ่นจากปลายสายอีกด้านหนึ่งรับสายแบบเนือยๆ ตอนนั้นเป็นเวลาดึกแล้ว

“บอยเหรอ นี่พี่เอง” ผมพูดกับบอยด้วยความดีใจ หลายเดือนมานี้บอยไม่เคยรับโทรศัพท์เองเลย เข้าใจว่าอาจต้องการหลบผม แต่วันนี้... หลังจากที่ผมไม่ได้โทรหาบอยนานพอสมควรแล้ว... ผมก็ได้ยินเสียงบอยอีกครั้งหนึ่ง

“พี่อู” บอยพูดเสียงอึกอัก

“ไม่ได้คุยกันนานเลยนะ” ผมทักทาย “นายเป็นไงบ้าง สบายดีหรือเปล่า”

“สบายดีฮะ” บอยตอบด้วยเสียงแผ่วเบา “พี่อูโทรมามีอะไรหรือเปล่า”

“ไม่มีอะไรแล้วโทรมาไม่ได้หรือไง” ผมพยายามพูดให้ตลก ความรู้สึกของการเป็นส่วนเกินหรือว่าส่วนที่ไม่พึงปรารถนานี่มันขมขื่นจริงๆ

“...”

“พี่... เอ้อ” ผมเริ่มอึกอักบ้าง รู้สึกเหมือนกับจะพูดไม่ออก “นี่ก็ใกล้วันลอยกระทงอีกแล้ว... พี่เลย... ก็... เอ่อ... ลองโทรมาถามดูเผื่อว่านายอยากไปเที่ยวงานภูเขาทองปีนี้อีก”

พูดจบก็รู้สึกโล่งใจ คืนนี้ผมเดินวนเวียนอยู่รอบตู้โทรศัพท์อยู่เป็นนาน รู้สึกลังเลใจว่าจะโทรไปชวนบอยดีหรือไม่แต่ในที่สุดก็แพ้ใจตนเอง ผมยังไม่สามารถตัดความรู้สึกห่วงหาอาวรณ์บอยออกไปจากใจได้

“บอยไม่ว่างฮะพี่อู” บอยอึกอักอีก

“มีธุระอะไรนักหนา พ่อนักธุรกิจร้อยล้าน” ผมใช้คำพูดที่มันเคยพูดเหน็บผม “แค่ไปเที่ยวงานวัดก็ไม่ว่าง”

“ก็... ไม่ว่างน่ะพี่อู” บอยพูดย้ำคำเดิม

“ที่จริงพี่น่าจะรู้คำตอบอยู่แล้ว ไม่ใช่นายไม่ว่าง แต่ว่านายไม่อยากไปกับพี่” ผมพูดพลางถอนหายใจ “พี่ผิดเอง พี่เคยสัญญากับนายเอาไว้ว่าจะไม่กวนใจนายอีก แต่พี่ก็ห้ามใจตัวเองไม่ได้ แต่นายไม่ต้องลำบากใจ พี่ไม่ตื๊อให้นายไปกับพี่หรอก แค่ลองโทรมาถามดูเท่านั้น ไม่ไปก็ไม่ไป”

“ฮะ พี่อู” บอยตอบด้วยเสียงแผ่วเบา น้ำเสียงของบอยในคืนนี้ทั้งแผ่วเบา ทั้งอึกอัก ผมเดาใจบอยไม่ออกเลยว่าบอยกำลังคิดอะไรอยู่

“วันพฤหัสนี้ตอนสามทุ่มพี่จะอยู่ที่ยอดภูเขาทองนะบอย เอ้อ... แค่บอกให้นายรู้เฉยๆน่ะ” ผมอดมีความหวังใยสุดท้ายไม่ได้

การสนทนาของเราในคืนนั้นใช้เวลาไม่นานนักเนื่องจากผมไม่อยากกวนใจบอยนาน ผมอยากตัดใจจากบอยให้ได้แต่แล้วผมก็ทำไม่ได้เสียที

- - -

วันพฤหัส

ผมไปที่งานภูเขาทองตั้งแต่ยังหัวค่ำ วันนั้นรถติดมาก เมื่อไปถึงวัดสระเกศก็เห็นคนมาเที่ยวงานเต็มไปหมด อาหารและสินค้าละลานตา

บอยต้องชอบของกินพวกนี้แน่เลย ผมคิดขณะที่เดินผ่านซุ้มขายอาหารต่างๆ ผมไม่มีใจจะดูข้าวของต่างๆ เมื่อมาถึงก็เดินลัดเลาะเพื่อขึ้นไปยังชั้นดาดฟ้าของภูเขาทองเลย

คนที่เดินขึ้นภูเขาทองในช่วงค่ำแน่นมาก ผมไหลไปกับฝูงชนเรื่อยๆ ใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะเบียดเสียดผู้คนมาจนถึงชั้นดาดฟ้าได้ เมื่อขึ้นไปอยู่บนดาดฟ้าก็แทบไม่มีที่เดินเพราะว่าคนอยู่กันเต็มไปหมด

ตอนนั้นเป็นเวลาสองทุ่มครึ่ง ผมอดเสียใจไม่ได้ที่กำหนดสถานที่เช่นนี้กับบอย เพราะกว่าจะขึ้นมาใช่ว่าจะง่ายๆ เมื่อขึ้นมาถึงแล้วก็ใช่ว่าจะหากันเจอ ผมพยายามเบียดเสียดผู้คนเดินวนรอบเจดีย์ภูเขาทองไปเรื่อยๆเผื่อว่าจะเห็นบอยได้ง่ายขึ้นรวมทั้งบอยคงสังเกตเห็นผมได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน... ถ้าบอยมา...

ห้าทุ่มแล้ว

ผมยืนเหม่อมองดูทิวทัศน์ของกรุงเทพฯยามราตรีอย่างเลื่อนลอย คนบนชั้นดาดฟ้าซาลงไปมากแล้ว ผมรออยู่กว่าสองชั่วโมงแต่ก็ไม่พบบอยแม้แต่เงา แม้ผลลัพธ์เช่นนี้จะอยู่ในความคาดหมายของผมอยู่แล้วแต่ถึงกระนั้นก็ยังอดรู้สึกเคว้งคว้างไม่ได้

ผมเดินลงมาจากภูเขาทอง เมื่อมาถึงพื้นล่างก็เดินไปตามทางเดินที่เต็มไปด้วยร้านค้า น่าแปลกที่ผมรู้สึกว่าตอนขากลับนี้อาหารที่เมื่อตอนขามาส่งกลิ่นหอมหวนก็กลายเป็นไร้กลิ่นชวนกิน ขนมที่เมื่อขามามีสีสันสดสวยดึงดูดใจให้ลิ้มลองก็กลับกลายเป็นสีซีดจางดูไม่น่ากิน แม้แต่ไฟประดับในงานที่เจิดจ้าสว่างตาก็กลายเป็นหม่นทึมไป ผมเดินอย่างไรจุดหมายอยู่ในงานภูเขาทองคนเดียวสักพักเพื่อคลายเหงาแต่ยิ่งเดินก็ยิ่งรู้สึกเหงา... เหงาจนจับใจ

- - -

สายลมเย็นพัดโชยเข้ามาในรถประจำทาง ผมสูดกลิ่นอายชนบทในช่วงต้นฤดูหนาวเข้าไปอย่างสดชื่น กลิ่นอายชนบทจะแตกต่างกันออกไปตามฤดูกาล ฤดูร้อนก็อย่างหนึ่ง ฤดูฝนก็อย่างหนึ่ง กลิ่นที่ผมกำลังสูดอยู่นี้เป็นกลิ่นที่ผมค่อนข้างแปลกใหม่เนื่องจากมันเป็นกลิ่นอายชนบทในช่วงต้นฤดูหนาวซึ่งปกติผมไม่ค่อยได้กลับบ้านในช่วงเวลานี้

เมื่อผมลงจากรถประจำทางและเดินเข้าไปในบ้าน พ่อและแม่ต่างก็มองหน้าผมด้วยความแปลกใจ

“อู กลับบ้านมาทำไมกัน มีเรื่องอะไรเหรอ” แม่ถาม สีหน้าแสดงความเป็นห่วง

“โห แม่” ผมอุทานพลางหัวเราะ “อูจะกลับบ้านสักครั้งต้องมีเรื่องเดือดร้อนหรือไง”

“เปล่าๆ” แม่รีบพูด “แต่นี่มันเปิดเทอมอยู่ อูไม่เคยกลับบ้านในช่วงนี้เลยนี่”

“อูมาเยี่ยมแม่ ก็แม่บอกว่าให้กลับบ้านบ่อยหน่อย อูก็มานี่ไง” ผมทวนความจำให้แม่

“กินอะไรมาหรือยัง หิวหรือเปล่า เดี๋ยวแม่ทำอาหารให้กิน” แม่พูดพลางลุกจากเก้าอี้เตรียมจะเข้าครัว

“อูกินมาจากที่ท่ารถแล้วแม่” ผมตอบ แล้วหันมาทักทายพ่อ “ป๊าเป็นไงบ้าง”

“ฮื่อ ก็ดี” พ่อตอบ ดูพ่อจะเหนื่อยน้อยลงเมื่อไม่ต้องวิ่งขึ้นล่องระหว่างบ้านกับกรุงเทพฯบ่อยๆ

“แล้วแม่เป็นไง แผลหายดีหรือยัง เมื่อไรต้องไปหาหมออีก” ผมหันไปถามแม่อีก

“ก็สบายดี” แม่ตอบ ว่าแล้วก็อดบ่นไม่ได้ “แต่แผลผ่าตัดมันน่าเกลียด แม่ต้องพยายามเอาคอเสื้อปิดเอาไว้”

“ก็บอกแล้วว่าให้หาสร้อยทองโตๆใส่ทับ จะได้ไม่เห็นแผล” ผมแนะนำ

“บ๊อง อยู่บ้านใส่สร้อยทองให้ใครดูกัน” แม่ตอบ ปกติแม่เป็นคนไม่ชอบใส่เครื่องประดับยกเว้นตอนไปงานเท่านั้น

“งั้นใส่ตอนออกไปนอกบ้านก็ได้” ผมแนะนำใหม่

“ไม่เอาหรอก เดี๋ยวโดนกระชากสร้อยคอขาด” แม่ไม่เอาความคิดนี้อีก

“ยังงั้นแม่ก็ใส่เสื้อปิดคอเอาไว้ละกัน ง่ายดี” ผมยอมแพ้ อะไรก็ไม่เอาสักอย่าง

“ตกลงนี่อูกลับบ้านมาทำไมกันเนี่ย” แม่วกมาที่เรื่องการกลับมาของผมอีก คงยังไม่หายสงสัย

“ก็กลับมาเยี่ยมแม่ไง ไม่ได้มีเรื่องอื่นจริงๆ” ผมตอบ “ต้นเดือนธันวาอูมีสอบพรีเอนทรานซ์ อูเอาหนังสือมาอ่านด้วย อ่านที่หอทุกวันแล้วเซ็ง เปลี่ยนบรรยากาศบ้าง นอนอ่านที่บ้านสักคืนแล้วพรุ่งนี้ค่อยกลับ”

“แล้วทำไมตอนตอบต้องหัวเราะด้วย” แม่ก็ยังสงสัยอยู่ดี

“ถ้าอูทำหน้าบึ้งตอบแม่ก็คงถามว่าทำไมตอนตอบต้องทำหน้าบึ้ง” ผมอดย้อนไม่ได้ “เอางี้ละกัน แม่อยากให้อูตอบยังไง แม่บอกมาได้เลย เดี๋ยวอูจะตอบให้ตามนั้น แม่จะได้สบายใจ”

“ยวนจริงเชียวลูกคนนี้” แม่ดุแล้วก็หัวเราะ

“ไปดีกว่า” ได้แซวแม่เสียหน่อยแล้วค่อยสบายใจ จากนั้นผมก็รีบเดินขึ้นห้องไป

หลังจากที่แม่ออกจากโรงพยาบาล ความคิดของผมก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป แต่เดิมที่ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องที่บ้านและไม่ค่อยได้กลับบ้านบ่อยนัก แต่ตอนนี้ผมกลับรู้สึกเป็นห่วงที่บ้านขึ้นมา ความรู้สึกไม่มั่นคงทำให้ผมอยากกลับบ้าน เวลาของแม่จะเหลืออีกเท่าไรไม่มีใครรู้ได้... ผมอยากใช้เวลาที่เหลืออยู่นี้ให้ดีที่สุด ความรู้สึกที่ว่าชีวิตนี้เป็นอิสระก็เริ่มกลายเป็นมีห่วงของครอบครัวให้พะวงขึ้นมา

- - -

ต้นเดือนธันวาคม

ในที่สุดวันสอบพรีเอนทรานซ์ก็มาถึง เนื่องจากการสอบนี้จัดโดยกิจกรรมนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ดังนั้นห้องสอบส่วนใหญ่จึงอยู่ตามตึกต่างๆในมหาวิทยาลัย นักเรียนเดินกันขวักไขว่เต็มไปหมด มาจากโรงเรียนต่างจังหวัดก็ไม่น้อย ห้องสอบของผมอยู่ที่ตึกในคณะวิทยาศาสตร์ ตัวอาคารเป็นตึกสี่ชั้นเก่าแก่ ดูเหมือนว่าผมมักหนีไม่พ้นตึกเรียนเก่าๆ

ผมนั่งรอเวลาเข้าห้องสอบอยู่ที่ชั้นล่างของตึก ด้านหลังตึกเป็นถนนเล็กๆและลานขนาดย่อม มีต้นชมพูพันธุ์ทิพย์เรียงราย เมื่อลมหนาวพัดโชยต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ที่เริ่มผลิดอกบ้างแล้วก็ปล่อยให้ดอกร่วงหล่นลงมาบ้าง หวนนึกถึงยามที่ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ปล่อยดอกให้ร่วงหล่นลงมาพร้อมๆกัน พื้นถนนคงราวกับปูด้วยพรมดอกไม้สีชมพูอ่อน แม้มีนักเรียนมานั่งรอเพื่อเข้าห้องสอบเป็นจำนวนมากแต่บรรยากาศยามเช้าก็ยังเงียบสงบเพราะนักเรียนส่วนใหญ่นั่งอ่านหนังสือกันเงียบๆ ผมก็นั่งอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบแต่ก็อดเงยหน้าขึ้นมามองดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ที่ร่วงหล่นจากต้นไม่ได้

“ไอ้เหี้ยอู” คำเรียกหาอันคุ้นเคยดังขึ้นที่ข้างหู “มึงมาสอบกับเค้าด้วยหรือวะ”

ผมเงยหน้าจากหนังสือ ไอ้กี้นั่นเอง

“เฮ้อ” ผมแกล้งถอนหายใจดังๆ “ทำไมกูต้องมาเจอมึงด้วยวะ”

“ไอ้สัตว์นี่” กี้พูดพลางหัวเราะตาหยี ไม่สนใจถ้อยคำประชดของผม “เสือกมาซุ่มสอบ มึงจะสอบไปทำไมวะ”

“ก็อยากลอง มีไรมั้ย” ผมตอบ “แล้วมึงจะเรียกกูว่าอูเฉยๆได้มั้ย”

“แน่ะ เดี๋ยวนี้หือ ไอ้เหี้ยอูเฉยๆ” กี้หัวเราะอีก “เจอพวกไอ้เฉาหรือยัง”

“ยังอะ ไม่เห็นเจอใครเลย” ผมตอบ ที่จริงการมาสอบในครั้งนี้ผมก็ไม่ค่อยอยากเจอเพื่อนๆนัก จึงมาหลบมุมดูหนังสือปนกับนักเรียนจากโรงเรียนอื่น พยายามไม่สนใจใครและไม่อยากให้ใครมาสนใจผม

“งั้นกูไปเดินหาพวกมันก่อน มึงดูหนังสือไปเถอะ โชคดีโว้ยเพื่อน” ไอ้กี้ทิ้งท้ายก่อนปลีกตัวจากไป

ก่อนเก้าโมงเล็กน้อย เสียงออดเข้าห้องสอบก็ดังขึ้น พวกนักเรียนที่มายืนออกันพร้อมหน้าอยู่ที่หน้าห้องสอบพากันทยอยเข้าห้อง จากนั้นผู้คุมห้องสอบซึ่งเป็นนิสิตก็กล่าวชี้แจงกฎระเบียบในการสอบพร้อมกับแนะนำการฝนกระดาษคำตอบ

การสอบเอนทรานซ์ในยุคนั้นเป็นยุคเริ่มต้นของการใช้เครื่องตรวจข้อสอบ ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่ปียังเป็นยุคของการตรวจกระดาษคำตอบด้วยมืออยู่ กระดาษคำตอบในยุคตรวจด้วยมือเป็นกระดาษพิมพ์ธรรมดา การตอบก็เพียงใช้ปากกาทำเครื่องหมายกากบาททับตัวเลือกที่ต้องการ ซึ่งเหมือนกับการสอบในโรงเรียน แต่ต่อมาเมื่อการสอบเอนทรานซ์มาถึงยุคของการใช้เครื่องตรวจข้อสอบ กระดาษคำตอบจึงเปลี่ยนมาเป็นกระดาษที่พิมพ์ขึ้นมาเป็นพิเศษ การตอบต้องใช้ดินสอดำ 2B ฝนตัวเลือกที่ต้องการ แม้แต่รหัสประจำตัวผู้เข้าสอบก็ยังต้องฝนลงในช่องที่กำหนด ไม่ได้ใช้การเขียนด้วยปากกา

กระดาษคำตอบแบบฝนซึ่งตรวจด้วยเครื่องนี้ปัจจุบันใช้กันแพร่หลายทั่วไป นักเรียนคุ้นเคยกันดี แต่ในยุคนั้นมีใช้เฉพาะมหาวิทยาลัยเปิดอันได้แก่ มสธ. และรามคำแหง ซึ่งมีนักศึกษาจำนวนมากเท่านั้น และต่อมาจึงนำมาใช้กับการสอบเอนทรานซ์ จึงถือว่าเป็นของใหม่ในการสอบเอนทรานซ์ ปีแรกๆที่นำมาใช้ก็อลเวงกันพอสมควรเพราะว่านักเรียนฝนกระดาษคำตอบผิดพลาดกันมาก มีนักเรียนที่พลาดโอกาสในการสอบเข้าเนื่องจากมีปัญหาในการฝนกระดาษคำตอบ เช่น ฝนแล้วแก้แต่ลบไม่หมด ทำให้ไม่ได้คะแนน

การสอบพรีเอนทรานซ์ในยุคนั้นดูเหมือนจะมีเพียงที่หรือสองที่เท่านั้นที่ใช้กระดาษคำตอบแบบฝนและตรวจด้วยเครื่องเหมือนกับการสอบเอนทรานซ์จริงๆ นอกนั้นยังเป็นการใช้กากบาทแล้วตรวจด้วยมือ และนี่เองคือสาเหตุที่เชาวน์และพวกเพื่อนๆเลือกที่จะมาสอบที่นี่ ทั้งนี้ เพื่อซ้อมการฝนกระดาษคำตอบนั่นเอง การเตรียมตัวสอบที่ดีของเชาวน์และเพื่อนๆในกลุ่มทำให้ผมพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วยทั้งๆที่ตอนนั้นผมเองก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไรนัก มีอะไรก็ต้องคอยตามเพื่อนๆ

- - -

การสอบใช้เวลา ๒ วัน มีเพียง ๔ วิชา คือ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ใช้เวลาในการสอบวิชาละ ๓ ชั่วโมง จำนวนข้อสอบวิชาละ ๑๐๐ ข้อ เหมือนกับการสอบเอนทรานซ์จริงๆ รวมทั้งบรรยากาศในการสอบก็น่าจะใกล้เคียงกันเนื่องจากเมื่อเข้าไปนั่งสอบผมอดรู้สึกเกร็งไม่ได้ ทำไปคิดไม่ออกก็กัดดินสอเล่น เมื่อเห็นว่าใช้เวลานานเกินไปแล้วก็ข้ามไปก่อน ข้ามไปข้ามมาในที่สุดก็ย้อนกลับมาทำไม่ทัน สุดท้ายก็ต้องฝนมั่วๆในส่วนที่ทำไม่ทัน ดีกว่าปล่อยให้ว่างเอาไว้เนื่องจากตอบผิดก็ไม่หักคะแนน การมั่วตอบนั้นก็มีสองแบบ คือแบบตามใจฉัน นั่นคือ ฝนมั่วๆคละกันไปทั้งตัวเลือก ก ข ค ง สุดแท้แต่ว่าอยากจะเอาตัวเลือกไหน ซึ่งแบบนี้เดาไม่ถูกว่าจะมีโอกาสได้คะแนนเพิ่มอีกสักกี่คะแนน กับอีกแบบคือฝนแบบทิ้งดิ่ง นั่นคือ ฝนมั่วไปเพียงตัวเลือกเดียว ถือว่ามั่วแบบมีหลักการ ซึ่งหากมองในแง่ของความน่าจะเป็น การฝนแบบนี้ทำให้มีโอกาสได้คะแนนเพิ่มอีกหนึ่งในสี่ของข้อที่มั่ว เช่น หากฝนทิ้งดิ่ง ๒๐ ข้อก็น่าจะมีโอกาสได้คะแนนสัก ๕ คะแนน เป็นต้น แต่ถ้าเป็นการสอบในปัจจุบันหากมั่วแบบทิ้งดิ่งจะถูกหักคะแนนเพราะผู้ตรวจรู้ทันเนื่องจากสามารถวิเคราะห์รูปแบบการตอบได้

หลังจากการสอบ แม้ว่าผลสอบยังไม่ออกแต่ผมก็พอรู้ตัวเองว่าน่าจะอยู่ในขั้นร่อแร่ เพราะว่าทั้งสี่วิชามีส่วนที่ทำไม่ได้มากทีเดียว แต่ละวิชานี่โคนดินสอ 2B เยินไปหมด นี่ยังไม่นับวิชาภาษาอังกฤษกับสามัญ ๑ หากเป็นการสอบเอนทรานซ์จริงๆเรื่องสอบติดคณะอะไรยังไม่ต้องไปคิดถึง แค่จะสอบติดหรือไม่ก็ยังไม่แน่ การเตรียมตัวที่ผ่านมากับความพร้อมที่ได้มาดูเหมือนว่าจะไม่สมกันนัก

ในขณะที่เรามีความทุกข์ เวลามักเหมือนกับจะหยุดนิ่ง ความทุกข์ดูเหมือนจะดำเนินอยู่ไม่มีที่สิ้นสุดจนเราไม่รู้ว่าเมื่อใดความทุกข์นั้นจึงจะหมดไป แต่ในขณะเดียวกันแผลในจิตใจของเราก็จางเบาบางลงพร้อมกับเวลาที่ผ่านไป ดังนั้นเวลาจึงเป็นเสมือนยาพิษร้ายที่กัดกร่อนจิตใจและในขณะเดียวกันก็เป็นยาวิเศษที่สามารถเยียวยาแผลในจิตใจได้ แต่แท้ที่จริงแล้วเวลาดำเนินไปด้วยจังหวะที่แน่นอน ให้ความยุติธรรมเสมอหน้าแก่ทุกคน ไม่ว่ายากดีมีจน ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ เวลาล้วนผ่านไปอย่างเท่าเทียมกัน เพียงขึ้นอยู่กับว่าใครจะรู้สึกอย่างไรเท่านั้นเอง

หลังจากการสอบทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นอีกมาก ผมต้องทบทวนวิธีการดูหนังสือและสิ่งที่ได้ดูไปแล้วใหม่ ขณะเดียวกันผมก็กลับบ้านบ่อยขึ้นกว่าเดิมมาก เวลาที่ผ่านไปและชีวิตที่ดำเนินไปทำให้จิตใจที่บอบช้ำจากเรื่องของบอยค่อยบรรเทาลง เดิมทีผมแทบไม่รู้ว่าจะผ่านวันเวลาต่อไปได้อย่างไรเมื่อไม่มีบอยแต่ในที่สุดผมก็ผ่านพ้นมาจนได้

- - -

ปีใหม่

ปีนี้ผมและเอ๊ดต่างก็กลับบ้านในช่วงปีใหม่ อากาศในช่วงปีใหม่ของปีนี้ค่อนข้างหนาวทีเดียว เราสี่คนพ่อแม่ลูกได้อยู่กันพร้อมหน้าในช่วงเทศกาล พ่อนึกครึ้มอะไรขึ้นมาก็ไม่รู้ ซื้อเค้กก้อนใหญ่มา ทำให้เอ๊ดและผมกินเค้กกันจนท้องอืด

กิจกรรมในช่วงปีใหม่ที่กลับบ้านไปในครั้งนี้ก็ไม่มีอะไรมากนัก ส่วนใหญ่ผมจะนั่งอ่านหนังสืออยู่ในห้อง เอ๊ดก็นั่งๆนอนๆโดยไม่รบกวนผม บางทีผมเบื่อๆขึ้นมาก็ออกไปขี่จักรยานเล่นคนเดียว

ผมขี่จักรยานไปเรื่อยๆตามถนนในชนบท จนมาหยุดที่สวนซึ่งเป็นปากทางเข้าบึงน้ำ จู่ๆผมก็รู้สึกเหงาขึ้นมาจับใจ อดนึกเรื่องราวที่ผ่านมาไม่ได้ ใจหนึ่งอยากจะเข้าไปดูในบึงน้ำว่าเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใดแล้ว แต่อีกใจหนึ่งก็คิดถึงความตั้งใจที่เคยตั้งใจเอาไว้ ในที่สุดจึงไม่ได้เข้าไป

ผมยืนมองที่หน้าสวนอยู่ชั่วครู่ ปากทางเข้าเต็มไปด้วยใบไม้แห้งที่ร่วงหล่น ผมอดนึกถึงสายลมเย็นและภาพของถนนที่โรยไปด้วยดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ไม่ได้ ผมอยากให้ชีวิตของผมสงบสุขและราบรื่นเช่นนั้นบ้างเหลือเกิน...


<ผมยืนมองที่หน้าสวนอยู่ชั่วครู่ ปากทางเข้าเต็มไปด้วยใบไม้แห้งที่ร่วงหล่น ผมอดนึกถึงสายลมเย็นและภาพของถนนที่โรยไปด้วยดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ไม่ได้ ผมอยากให้ชีวิตของผมสงบสุขและราบรื่นเช่นนั้นบ้างเหลือเกิน...>