Monday, September 27, 2010

ภาคสี่ ตอนที่ 7

ต้นเดือนมิถุนายน วันเปิดเรียน

หลังจากผ่านขั้นตอนต่างๆในการรับนักศึกษาใหม่ ในที่สุดมหาวิทยาลัยก็เปิดภาคเรียน

แม้ว่าผมจะไปที่มหาวิทยาลัยบ่อยครั้งในช่วงปลายเดือนที่แล้วแต่ว่าวันนี้จึงเป็นวันที่เริ่มต้นชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง

ผมใส่ชุดนักศึกษาสีขาวพร้อมผูกเนกไทสีน้ำเงินเข้มออกจากหอพักตั้งแต่เช้าเพื่อไปขึ้นรถเมล์ที่ซอยภาวนาเช่นเคย

แม้ว่าผมจะขึ้นรถเมล์ที่ป้ายนี้เกือบทุกวันเป็นเวลาหลายปีมาแล้วก็ตาม แต่ผมรู้สึกว่าที่ป้ายรถเมล์แห่งนี้มีอะไรใหม่ๆให้ผมสังเกตอยู่เสมอ ในวันเปิดภาคเรียนวันแรกของมหาวิทยาลัยวันนี้ก็เช่นกัน เมื่อก่อนผมมักสังเกตนักเรียนที่รอรถอยู่ที่ป้ายรถเมล์ แต่ในวันนี้ผมกลับพยายามสังเกตวัยรุ่นที่อยู่ในชุดนักศึกษา และผมก็สังเกตพบว่ามีนักศึกษาปี ๑ ของมหาวิทยาลัยหลายแห่งมารอขึ้นรถเมล์ที่ป้ายนี้เช่นกัน ที่เห็นหลายคนหน่อยได้แก่นิสิตที่ผูกเนกไทสีเขียวเข้มที่กำลังรอรถเมล์สาย ๑๒๖ ซึ่งแน่นมาก

ในช่วงนั้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพิ่งเริ่มมีวิทยาเขตกำแพงแสน นิสิตปีที่หนึ่งและสองเรียนที่บางเขน พอขึ้นปีสามและปีสี่ส่วนใหญ่ก็จะย้ายไปเรียนที่กำแพงแสน และคงพูดได้ว่าในช่วงที่ผมเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนี้เองเป็นช่วงเริ่มต้นของยุควิทยาเขต เพราะต่อจากนั้นมามหาวิทยาลัยต่างๆก็ทยอยเปิดวิทยาเขตในพื้นที่ปริมณฑลของกรุงเทพฯเนื่องจากความแออัดของพื้นที่ในเมือง จนมาถึงในยุคปัจจุบัน นอกจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯที่ไปเปิดวิทยาเขตในต่างจังหวัดแล้ว มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดก็ยังมาเปิดวิทยาเขตในกรุงเทพฯหรือไปเปิดวิทยาเขตในจังหวัดอื่นๆอีกด้วย วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยบางแห่งก็เป็นเพียงสถานที่เล็กๆไม่ต้องมีพื้นที่ใหญ่โตเป็นไร่ๆหรือมีอาคารหลายหลัง แค่เช่าพื้นที่เพียงไม่กี่ร้อยตารางเมตรในอาคารก็ได้แล้ว

รถ ปอ.๒ ในวันนั้นแน่นขนัดยิ่งกว่าทุกวันที่ผมเคยขึ้นมา ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นวันเปิดภาคเรียนวันแรก อีกทั้งมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯเปิดพร้อมกันเกือบทุกแห่ง แม้มหาวิทยาลัยในยุคนั้นจะไม่มากมายเหมือนในวันนี้แต่การจราจรและรถเมล์กลับแออัดไม่แพ้ในปัจจุบันหรืออาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ

แม้ว่าผมจะขึ้นรถปรับอากาศแต่ทว่าอากาศภายในรถก็ร้อนอบอ้าว เนกไทสุดเท่ที่ผมเห่ออยู่นั้นเริ่มทำให้ผมรู้สึกร้อนและอึดอัดที่ลำคอ ส่วนเป้ใบใหม่ที่ผมสะพายไหล่อยู่นั้นก็เริ่มรู้สึกเกะกะ

เจ็ดโมงสี่สิบห้านาที กว่าจะถึงสามย่านก็ใช้เวลาอยู่ในรถเมล์ราวหนึ่งชั่วโมง เมื่อลงจากรถผมก็รีบจ้ำอ้าวเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยเนื่องจากชั้นเรียนวิชาแรกในชีวิตมหาวิทยาลัยของผมเริ่มเรียนตอนแปดโมงเช้า แม้ว่าจะมีนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเดียวกันเดินกันเป็นกลุ่มแต่เนื่องจากไม่เห็นใครที่ผมรู้จัก ดังนั้นผมจึงรีบเดินโดยไม่สนใจใคร

หลังจากที่เดินจ้ำอย่างรีบร้อนบนถนนพระรามสี่เพียงชั่วครู่ผมก็ได้ยินเสียงผู้หญิงแว่วอยู่ทางด้านหลังเรียกอะไรตี๋ๆแต่ผมไม่ได้สนใจ

“โอ๊ย มันจะรีบไปตามควายหายที่ไหน เรียกตั้งหลายครั้งยังไม่ได้ยิน” ได้ยินเสียงของหญิงสาวพูดขึ้น

“อุ๊ย เธอ พูดน่าเกลียดเชียว” เสียงหญิงสาวอีกคนหนึ่งพูดปนหัวเราะ “เราเดินนินทาไปเรื่อยๆก็แล้วกัน ดูซิว่าเมื่อไรเค้าจะได้ยิน”

จากนั้นก็เป็นเสียงหัวเราะกันกุ๊กกิ๊กๆ ผมเริ่มเอะใจจึงหันไปมอง

“อ้าว” ผมอุทาน สองสาวที่ผมได้ยินเสียงอยู่ข้างหลังก็คือแมวกับจิ๊บนั่นเอง “เดินตามมาตั้งแต่เมื่อไรเนี่ย”

“ตั้งนานแล้วล่ะ นินทาเธอไปตั้งเยอะแต่เธอไม่ได้ยิน” แมว สาวน้อยหุ่นเจ้าเนื้อ ดวงตากลมโต พูดด้วยน้ำเสียงหวานน่ารัก

“ที่จริงไม่ได้นินทานะ เพราะเราตั้งใจคุยให้เธอได้ยิน ถ้าเธอได้ยินก็ไม่เรียกว่านินทา แต่เธอดันหูตึงเสียนี่” จิ๊บแก้ไขคำพูดของแมว

“เอ้อ เมื่อกี้ได้ยินอะไรตี๋ๆเหมือนกัน แต่นึกว่าเรียกคนอื่น” ผมชะลอฝีเท้าลงและเดินคุยไปกับสองสาว “แล้วยังมีอะไรควายๆด้วย”

“เรียกตี๋อู ไม่ใช่ตี๋เฉยๆ” แมวอธิบายแล้วก็หัวเราะกิ๊ก “จิ๊บมันบอกว่าเธอตามควายหาย ไม่ได้ว่าเธอเป็น... ฮิฮิ ... นะ”

“กลัวจะเข้าเรียนวิชาแรกไม่ทันน่ะ เลยรีบเดิน” ผมอธิบาย “วิชาแรกเรียนเคมี”

“ก็เรียนวิชาเดียวกันนั่นแหละเดินแค่นี้เอง ทันถมเถ” จิ๊บพูด “แล้วซี้เธอล่ะ”

“ซี้ของเรา ใครเหรอ” ผมงง ซี้นี่หมายถึงเพื่อนซี้หรือว่าเพื่อนสนิท

“ก็เด็กที่มาจากโรงเรียนกับเธอนั่นไง คนที่พูดเก่งๆน่ะ” จิ๊บอธิบาย

“อ๋อ ไอ้พัชน่ะเหรอ” ผมตอบ “เรียนอยู่คนละห้องกัน แค่เคยเห็นหน้า เพิ่งมาคุยกันก็ตอนอยู่ที่คณะนี่แหละ”

“อ้าว งั้นเหรอ” แมวทำเสียงแปลกใจ “นึกว่าเพื่อนซี้เธอเสียอีก แล้วเธอมีเพื่อนสนิทที่สอบได้คณะนี้ด้วยกันหรือเปล่า”

“ไม่มีหรอก” ผมอึ้งไปนิดหนึ่งก่อนส่ายหน้า ตอนเรียนที่โรงเรียนยังแทบไม่มีเพื่อนสนิทเลย อย่าว่าแต่เพื่อนสนิทที่สอบได้คณะเดียวกัน ผมคิดในใจแต่ไม่ได้พูดออกมา

เดินอีกไม่นานก็ถึงมหาวิทยาลัย เมื่อเข้าประตูมหาวิทยาลัยไปบรรยากาศภายในก็แตกต่างไปจากภายนอก นักศึกษาเดินกันขวักไขว่ พวกนักศึกษาปีหนึ่งจะสังเกตได้ง่ายเพราะว่าชุดที่สวมใส่อยู่ส่วนใหญ่เป็นชุดใหม่เอี่ยมละออทั้งหญิงและชาย รวมทั้งนักศึกษาชายจะใส่ชุดขาวด้วยซึ่งพี่ปีอื่นๆที่เป็นชายจะไม่ใส่ชุดขาวกัน จะมีบ้างที่ชุดขาวของปีหนึ่งดูมอๆหน่อยเนื่องจากเป็นชุดที่ได้มาจากรุ่นพี่ ส่วนนักศึกษาหญิงแต่งตัวเหมือนกันทุกชั้นปี ถ้าหากไม่สังเกตความใหม่ของชุดนักศึกษาก็ต้องใช้การสังเกตความใหม่ของใบหน้าเอาว่าเป็นรุ่นไหน

ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งเรื่องการพกพาหนังสือและอุปกรณ์การเรียน ในโลกใบใหม่ที่ผมอยู่นี้แตกต่างจากโลกใบเก่าค่อนข้างมาก ตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยม นักเรียนชายในโรงเรียนส่วนใหญ่มักสะพายเป้หรือไม่ก็ถือกระเป๋านักเรียนหรือกระเป๋าหนังจาคอบ ที่ถือหนังสือมาเรียนโดยไม่มีกระเป๋าก็พอมีบ้างแต่ว่าน้อย แต่เมื่อมาเรียนที่นี่ ผมไม่เห็นใครถือกระเป๋านักเรียนหรือแม้แต่กระเป๋าหนังเลย หากเป็นนักศึกษาชายส่วนใหญ่จะสะพายเป้ ย่าม หรือกระเป๋าผ้า พวกนี้จะเป็นแบบสะพายไหล่เดียว พวกเป้หลังสะพายสองไหล่ตอนนั้นยังไม่ฮิต ถ้าไม่สะพายก็ถือหนังสือในมือไปเลย ส่วนนักศึกษาหญิงมักนิยมถือกระเป๋าพลาสติกใสๆ ใบเล็กๆ พวกกระเป๋าคิตตี้หรือมีตัวการ์ตูนญี่ปุ่นน่ารักๆ ข้างในบรรจุของได้ไม่เยอะนัก ส่วนใหญ่ใส่ได้แต่สมุดจดกับเครื่องเขียน หนังสือตำราเรียนก็ต้องถืออยู่นอกกระเป๋าอยู่ดี แต่ก็มีนักศึกษาหญิงบางคนที่ใช้กระเป๋าหนังหรือกระเป๋าผ้าลักษณะคล้ายๆถุง กระเป๋าแบบนี้จะจุของได้มากหน่อย

ผมสังเกตว่าแมวใช้กระเป๋าผ้าทรงถุง ส่วนจิ๊บถือกระเป๋าพลาสติกใบเล็กๆ สำหรับผมนั้นก็สะพายเป้เหมือนเดิมเพียงแต่ว่าเปลี่ยนเป้ใบใหม่เนื่องจากใบเก่ามีตราโรงเรียนอยู่ ส่วนใบใหม่นี้ไม่มีตราอะไร เป็นเป้ที่ซื้อจากร้านทั่วไป

วิชาแรกของชีวิตในมหาวิทยาลัยของผมเป็นวิชาเคมี แบบแผนการเรียนของคณะเทคโนนี้วันจันทร์ พุธ ศุกร์ จะใช้สูตร แปด เก้า สิบ สิบเอ็ด อันหมายถึงว่าตั้งแต่แปดโมงเช้ายันเที่ยงเรียน ๔ วิชานั่นเอง วิชาที่เรียนก็ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และแคลคูลัส แต่การเรียงลำดับรายวิชาของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในหมู่เรียนที่เท่าไร ส่วนบ่ายวันจันทร์กับบ่ายวันศุกร์ รวมทั้งวันอังคารกับพฤหัสบดีเต็มวันจะเป็นวิชาพวกแล็บฟิสิกส์ แล็บเคมี แล็บชีววิทยา วิชาภาษาอังกฤษ และวิชาสังคม

เราสามคนเดินไปยังตึกเคมีเก่าซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของห้องเรียนวิชาเคมี ตึกเคมีนั้นมีตึกเก่ากับตึกใหม่ ตึกใหม่ก็คือตึกที่รุ่นพี่มักใช้นัดพบว่าที่นักศึกษาใหม่ในช่วงก่อนนั่นเองเนื่องจากตึกนี้มีพื้นที่ใต้ตึกเป็นลานกว้างขวาง ส่วนตึกเคมีเก่านั้นเป็นตึกสองชั้นที่อยู่ใกล้ๆกัน ตัวตึกเมื่อดูจากภายนอกน่าจะเก่ามาก

ก้าวแรกที่เข้าไปภายในตึกเคมีเก่าผมรู้สึกได้ว่าบรรยากาศสลัวลงในทันที ทางเดินภายในอาคารมืดทึม ภายในตึกตรงกลางเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ ห้องเรียนเดียวกินเนื้อที่ทั้งชั้นหนึ่งและชั้นสอง นอกนั้นเป็นห้องเรียนย่อยและห้องปฏิบัติการสำหรับเรียนวิชาแล็บ

ทางเข้าห้องเรียนใหญ่เป็นประตูไม้บานใหญ่สีโอ๊ค ทางเดินทึมๆและประตูไม้โบราณขนาดใหญ่สร้างบรรยากาศลี้ลับวังเวงเหมือนอยู่ในหนังเขย่าขวัญ ดีที่มีนักศึกษาเดินอยู่ในตึกเป็นจำนวนมาก ถ้ามาคนเดียวในวันหยุดผมอาจจะไม่กล้าเข้ามาในตึกก็เป็นได้

เมื่อเดินเข้าไปในห้องเรียน เห็นห้องเรียนมีขนาดใหญ่ เพดานสูงมาก โคมไฟห้อยลงมาก้านยาวเหยียด พัดลมเพดานก็เป็นพัดลมแบบเก่าก้านยาวเหยียดเช่นกัน เครื่องตกแต่งล้วนแต่เป็นไม้สีโอ๊คทำให้ดูทึมและขรึม พื้นเป็นระดับขั้นเหมือนในหอประชุม แถวหนึ่งมีโต๊ะเรียน ๓ ชุด โต๊ะเรียนที่ว่าเป็นโต๊ะยาวพร้อมเก้าอี้ยาว ตัวหนึ่งตัวสามารถจุนักศึกษาได้ถึงหกคน หากนั่งเต็มแถวแล้วคนที่นั่งอยู่ตรงกลางจะเข้าออกไม่สะดวกเนื่องจากต้องฝ่าออกไป เห็นโต๊ะเก้าอี้ไม้ยาวในห้องเรียนแล้วทำให้นึกถึงโบสถ์คาทอลิกเก่าๆที่เคยเห็นในภาพยนตร์ ยังไงยังงั้นเลย

บริเวณด้านหน้าของชั้นเรียนซึ่งเป็นบริเวณของผู้สอนเป็นยกพื้น มีโต๊ะขนาดใหญ่เหมือนกับเป็นเคาน์เตอร์ตั้งอยู่ตรงกลาง ตรงกำแพงเป็นกระดานดำ ด้านข้างของกระดานดำทั้งสองข้างเป็นตู้ใม้ขนาดใหญ่มีขวดสารเคมีวางอยู่ภายใน ดูแล้วน่าเป็นของโชว์มากกว่าของที่ใช้งานจริง

และที่น่าสนใจก็คือกระดานดำ กระดานดำในห้องเรียนปกติเป็นสีเขียว แต่กระดานดำที่นี่เป็นสีดำจริงๆ ลักษณะเก่าแก่กระดำกระด่าง และมีขนาดใหญ่มาก อีกทั้งยังมีสองแผ่นวางอยู่บนรางเลื่อน แผ่นหนึ่งอยู่ข้างล่างในระดับที่เอื้อมมือไปเขียนได้ถึง ส่วนอีกแผ่นอยู่ข้างบน เอื้อมมือเขียนไม่ถึง กระดานดำชุดนี้เองที่ทำให้ห้องเรียนนี้ดูขลังขึ้นอีกมาก

อุปกรณ์ชิ้นเดียวที่ดูจะขัดกับสภาพภายในห้องก็คือเครื่องฉายภาพแบบข้ามหัวหรือที่เรียกว่าโอเวอร์เฮดโปรเจกเตอร์เพราะดูเหมือนจะเป็นอุปกรณ์ไฮเทคที่สุดในห้อง เครื่องฉายภาพนี้นักศึกษามักเรียกกันขำๆว่าเครื่องปิ้งแผ่นใส เพราะในยุคนั้นยังเป็นเครื่องฉายภาพที่ต้องวางแผ่นใสบนเครื่องแล้วเอาปากกาเมจิกเขียนลงไปบนแผ่นใสนั้น ต่างจากในยุคปัจจุบันที่ใช้ไฟล์พาวเวอร์พอยต์ฉายลงบนฉากหรือใช้เครื่องฉายภาพแบบสะท้อนแสงที่เขียนลงไปบนกระดาษธรรมดาได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้แผ่นใส

เมื่อเข้ามาในห้องเรียน แมวกับจิ๊บชวนผมไปนั่งที่ด้านหน้าชั้นเรียน ผมสังเกตว่าพวกผู้หญิงมักไปออกันอยู่ที่แถวหน้า ส่วนผมนั้นแม้ไม่ชอบนั่งด้านหน้าแต่เมื่อเพื่อนชวนก็ขัดไม่ได้

ขณะที่เดินอยู่ในห้องเรียน ทันใดนั้นสายตาของผมก็สบกับคนคุ้นเคยคนหนึ่ง คู่กัดของผมนั่นเอง มันกำลังเดินขึ้นไปทางหลังห้อง

“ไอ้ห่าหมากี้” ผมทักมันก่อน

ไอ้กี้มองหน้าผมนิ่งเหมือนกับตะลึงไปชั่วขณะ พยายามลืมตาโพลงเพื่อแสดงความประหลาดใจแต่ดูยังไงตาก็ไม่โพลง เห็นเป็นเพียงเส้นเล็กๆ

“ไอ้เหี้ยนี่ เดี๋ยวนี้มึงเรียกกูแบบนี้เหรอ” กี้พูดแล้วก็หัวเราะ

“จะเรียกแบบนี้แล้วมีอะไรมั้ย” ผมตอบ

“ไม่มีครับพี่” ไอ้กี้ตอบ หลังจากแหย่กันอีกเล็กน้อยแล้วกี้ก็เปลี่ยนเรื่อง “กูว่าห้องเรียนของโรงเรียนเราโบราณแล้วนะ ที่นี่โบราณกว่าอีกว่ะ มืดก็มืด กูนึกว่าอยู่ในโบราณสถานเสียอีก”

“ฮื่อ” ผมเห็นด้วย “ห้องเรียนแสงน้อยมึงคงเรียนลำบากแย่เลย ไปนั่งข้างหน้าด้วยกันก็ได้นะ”

“แสงน้อยแล้วกูเรียนลำบากตรงไหนเหรอ” กี้งง

“ก็ตามึงนิดเดียว แสงน้อยแล้วมึงจะเห็นเหรอ” พอผมพูดจบก็รีบเดินหนีทันที

“คนนี้คงใช่เพื่อนซี้จากโรงเรียนเก่าของเธอแล้วละสิ” แมวพูดขึ้นขณะที่เราเดินไปนั่งหาที่นั่งแถวโต๊ะด้านหน้า “แซวกันแรงกันซะขนาดนั้น”

“เพื่อนซี้เหรอ” ผมทวนคำ สองคนนี้คงเป็นคู่หูกันมานาน แล้วยังได้มาเรียนคณะเดียวกันอีก จึงมักคิดว่าคนอื่นๆคงมีเพื่อนคู่หูที่มาจากโรงเรียนเดียวกันด้วยเช่นกัน อย่างไอ้กี้นี่ถือว่าเป็นเพื่อนซี้ได้หรือเปล่า ผมอดคิดไม่ได้ แม้ว่าเราเรียนห้องเดียวกันมาหลายปี แถมตอนไปล่องใต้ก็ยังไปด้วยกัน ถ้าจะบอกว่ารู้จักกันมานานละก็คงใช่ แต่นึกถึงตอนที่มันด่าผมอย่างสาดเสียเทเสียแล้วผมคงยกตำแหน่งเพื่อนซี้ให้มันไม่ลง “ซี้ซั้วมากกว่ามั้ง”

โต๊ะเรียนที่ด้านหน้าแน่นขนัดไปด้วยนักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิง แมวกับจิ๊บต้องแยกกันและนั่งเบียดเสียดกับเพื่อนใหม่ ส่วนผมเองก็หาที่นั่งแทรกเข้าไปได้ตรงกลางๆห้องเรียน ผมนั่งติดกับกลุ่มนักศึกษาหญิงสามคนซึ่งกำลังนั่งคุยกันอยู่

ช่วงเวลาก่อนเข้าชั้นเรียนในเช้าวันนั้นเป็นช่วงเวลาที่วุ่นวาย เพราะว่าแต่ละคนต่างก็พยายามทำความรู้จักกับเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างๆ ทำให้เสียงพูดคุยดังจ้อกแจ้กไปทั้งห้องเรียน ส่วนเพื่อนสาวที่นั่งข้างผมทั้งสามคนนั้นหันมาทักทายผม หลังจากแนะนำตัวแล้วก็หันไปคุยกันเองต่อ ทิ้งให้ผมนั่งเก้ออยู่คนเดียว

อากาศในห้องร้อนอบอ้าว ประกอบกับเนกไทและกระดุมคอเสื้อที่กลัดอยู่ทำให้ผมรู้สึกอึดอัด เมื่อนั่งได้เพียงครู่เดียวผมก็รู้สึกง่วงนอนจึงฟุบหน้าลงไปกับโต๊ะ…

- - -

ผมมารู้สึกตัวอีกทีที่หอพัก กำลังนั่งฟุบหน้าหลับกับโต๊ะเพราะอ่านหนังสือเตรียมสอบเอนทรานซ์จนเมื่อย มารู้สึกเหมือนกับว่ามีใครมาเขย่าแขนให้ตื่น แต่ผมพักอยู่คนเดียวนี่นา คนที่มาปลุกผมในห้องนี้เป็นใครกัน

“นี่ เธอ ตื่นเร็วเข้า อาจารย์เรียกแล้ว” เสียงแจ๋วๆของหญิงสาวเรียกผม เมื่อผมโงหัวขึ้นมาก็พบว่าตนเองกำลังอยู่ในห้องเรียนวิชาเคมี ไม่ใช่ในหอพัก และที่หน้าชั้นมีอาจารย์วิชาเคมีซึ่งเป็นหญิงวัยกลางคนกำลังมองมาที่ผม

ฉิบหายแล้ว เผลอหลับไปจนอาจารย์เข้าสอนแล้วก็ยังไม่รู้ตัว โดนเรียกเสียเลย

“เอ้า นักศึกษาว่าไง ฝันเห็นเลขอะไร เอามาบอกกันบ้าง” อาจารย์พูดเสียงดังได้ยินกันไปทั้งห้อง ห้องเรียนนี้แม้จะใหญ่โตแต่กลับใช้ไมค์ตะโกน ไม่ใช้ไมโครโฟน

“...”

“ว่าไง อย่าหวงเอาไว้คนเดียว บอกเพื่อนๆมั่งสิ” อาจารย์พูดต่อ เห็นเลขอะไรบ้าง”

“ในฝันดูเหมือนจะไม่มีตัวเลขเลยครับอาจารย์” ผมตอบอ้อมแอ้ม นักศึกษาทั้งชั้นฮาครืน

“อ้อ นี่คุณฝันจริงๆเหรอเนี่ย เมื่อคืนไปเข้าเวรยามที่ไหนมาหรือเปล่า ทำไมเปิดเรียนวิชาแรกก็ง่วงนอนขนาดนี้” อาจารย์ถาม คราวนี้ผมสังเกตออกว่าอาจารย์ถามยิ้มๆ ไม่มีแววดุ

“อากาศมันอบอ้าวครับ ผมเลยง่วงแล้วก็เผลอหลับไป ไม่ได้เฝ้ายามหรือทำงานที่ไหนครับ” ผมตอบไปตามตรง เวลาตอบต้องตะโกนดังๆให้อาจารย์ได้ยิน รู้สึกอายเพื่อนๆมาก แต่ยังดีที่อาจารย์ไม่ถามชื่อ ไม่อย่างนั้นชื่อของผมอาจกระฉ่อนไปทั้งชั้นปีก็เป็นได้

“เอ้า หายง่วงแล้วเรามาเริ่มวิชาของเรากัน” อาจารย์ไม่ติดใจผมอีกและวกกลับมาที่การเรียนการสอน

ในชั่วโมงแรก อาจารย์ผู้สอนแนะนำให้นักศึกษารู้จักเกี่ยวกับระบบการศึกษาภายในคณะ จากนั้นพูดคุยกับเนื้อหาวิชาและวิธีการคิดคะแนนและตัดเกรด วิชาบรรยายก็เรียนในภาคบรรยายและสอบด้วยการทำข้อสอบ ไม่มีการปฏิบัติ คะแนนระหว่างภาคมาจากคะแนนสอบกลางภาคกับคะแนนทดสอบย่อยหรือที่เรียกว่าควิซ (quiz) ไม่มีการทำรายงานหรือการทำการบ้านส่งเนื่องจากนักศึกษามาก อาจารย์ตรวจไม่ทัน ยกเว้นกรณีพิเศษนานๆครั้ง ส่วนการเข้าเรียนนั้นจะมีการสุ่มเช็คชื่อในบางครั้ง หรืออาจเช็คชื่อทุกครั้งก็ได้ แล้วแต่ผู้สอนจะเห็นสมควร ซึ่งเรื่องการไม่มีรายงานและการบ้านนั้นถูกใจผมมาก

ขณะที่อาจารย์พูดก็วางแผ่นใสเกี่ยวกับหลักสูตรและฉายขึ้นจอประกอบไปด้วยซึ่งเราเรียกกันง่ายๆว่าปิ้งแผ่นใส ขณะที่อาจารย์คุยไป ปิ้งแผ่นใสไป จู่ๆกลิ่นไหม้ก็ลอยอบอวลไปทั้งห้องเรียน

“เอ๊ะ พวกคุณได้กลิ่นไหม้อะไรหรือเปล่า” อาจารย์หันมาถามพวกนักศึกษาพร้อมทั้งทำจมูกฟุดฟิด

ยังไม่ทันที่ใครจะตอบอะไร กลุ่มควันก็พวยพุ่งออกมาจากเครื่องปิ้งแผ่นใส จากนั้นไฟก็ไหม้เครื่องฉายและลามเลียไปบนแผ่นใสอย่างรวดเร็ว อาจารย์กระโดดถอยห่างไปตั้งหลักก่อนโดยไม่กล้าเข้าไปถอดปลั๊กไฟเนื่องจากปลั๊กไฟอยู่ใกล้เปลวไฟที่กำลังลุกไหม้อยู่ เพียงพริบตาเดียวไฟก็ลุกไหม้ท่วมเครื่องปิ้งแผ่นใสจนกลายเป็นลูกไฟกองใหญ่

“เฮ้ยๆ ไฟไหม้ ไฟไหม้” นักศึกษาเอะอะ เสียงดังไปทั้งห้อง

“นักศึกษาออกไปก่อน ไม่ต้องรีบแต่เร็วๆเข้า ออกไปรอที่หน้าตึกก่อน” อาจารย์ตะโกนบอกนักศึกษา จากนั้นก็เดินไปที่หน้าห้องเล็กๆซึ่งมีประตูทางเข้าอยู่ที่หน้าชั้น น่าจะเป็นห้องควบคุมหรือห้องเตรียมการสอน “ไฟไหม้แล้ว เจ้าหน้าที่มาดับไฟหน่อย”


<เมื่อเดินเข้าไปในห้องเรียน เห็นห้องเรียนมีขนาดใหญ่ เพดานสูงมาก เครื่องตกแต่งล้วนแต่เป็นไม้สีโอ๊คทำให้ดูเก่าพื้นเป็นระดับขั้นเหมือนในหอประชุม แถวหนึ่งมีโต๊ะเรียน ๓ ชุด โต๊ะเรียนที่ว่าเป็นโต๊ะยาวพร้อมเก้าอี้ยาว ตัวหนึ่งตัวสามารถจุนักศึกษาได้ถึงหกคน หากนั่งเต็มแถวแล้วคนที่นั่งอยู่ตรงกลางจะเข้าออกไม่สะดวกเนื่องจากต้องฝ่าออกไป>


<กระดานดำในห้องเรียนปกติเป็นสีเขียว แต่กระดานดำที่นี่เป็นสีดำจริงๆ ลักษณะเก่าแก่กระดำกระด่าง และมีขนาดมหึมา อีกทั้งยังมีสองแผ่นวางอยู่บนรางเลื่อน แผ่นหนึ่งอยู่ข้างล่างในระดับที่เอื้อมมือไปเขียนได้ถึง ส่วนอีกแผ่นอยู่ข้างบน เอื้อมมือเขียนไม่ถึง เมื่อเขียนกระดานแผ่นล่างจนเต็มผู้สอนก็จะดันกระดานแผ่นล่างขึ้นไปอยู่ข้างบน และดึงกระดานแผ่นบนลงมาเขียนต่อไป การใช้กระดานดำสองแผ่นเลื่อนขึ้นลงได้เช่นนี้ก็ทำให้ไม่ต้องลบกระดานดำเร็วเกินไปและนักศึกษาก็มีเวลาจดตามไปทันนั่นเอง กระดานดำชุดนี้เองที่ทำให้ห้องเรียนนี้ดูขลังขึ้นอีกมาก>

Sunday, September 19, 2010

ภาคสี่ ตอนที่ 6

หลังจากที่จัดการเกี่ยวกับเรื่องเครื่องแต่งกายจนเรียบร้อยแล้ว ก่อนเปิดภาคเรียนเพียงไม่กี่วัน ผมก็มีโอกาสได้แต่งตัวในชุดนักศึกษาเป็นครั้งแรก

ขั้นตอนของทางมหาวิทยาลัยขั้นต่อมาสำหรับนักศึกษาใหม่ก็คือการพบอาจารย์ที่ปรึกษา ลงทะเบียนเรียน และปฐมนิเทศ หลังจากนั้นจึงจะเปิดภาคเรียน

นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ แต่ละคนจะมีอาจารย์ที่ปรึกษาหนึ่งคน อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับมหาวิทยาลัยนั้นแตกต่างจากอาจารย์ประจำชั้นเนื่องจากการเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ได้แบ่งนักเรียนออกเป็นห้อง ดังนั้นการเรียนของนักศึกษาจึงไม่มีห้องประจำ จึงไม่สามารถมีอาจารย์ประจำชั้นได้ แต่การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยก็จำเป็นต้องมีอาจารย์คอยดูแล ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงต้องจัดให้มีอาจารย์คอยดูแลให้คำปรึกษาแก่นักศึกษา เรียกว่าเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

บทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษาในความคิดของผมในขณะนั้นยังไม่ชัดนัก แต่อย่างน้อยที่สุดความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาในความดูแลก็คือการเซ็นเอกสารลงทะเบียนเรียน

ในวันลงทะเบียนเรียน เช้าวันนั้นผมแต่งตัวในชุดนักศึกษา เสื้อเชิ้ตแขนสั้นและกางเกงสีน้ำเงินเข้ม ไม่ผูกเนกไท ออกจากหอพักไปตั้งแต่เช้า แต่ก่อนออกจากหอผมไม่ลืมที่จะขึ้นไปรดน้ำกุหลาบมอญที่ชั้นดาดฟ้าเสียก่อน

“เฮ้ย อู นายใส่ชุดนี้แล้วดูเปลี่ยนไปเยอะเลย” แป๋งทักผมเมื่อเราพบกันที่ชั้นล่าง แป๋งในชุดนักเรียนกำลังจะออกไปโรงเรียนพอดีเราจึงเดินออกไปปากซอยด้วยกัน ผมสังเกตเห็นแป๋งผอมลงไปบ้างแต่สีหน้าดูยิ้มแย้มแจ่มใสดี

“เปลี่ยนยังไง” ผมถาม

“ก็ดูโตขึ้นเยอะ” แป๋งตอบ แล้วเอียงหน้ามาใกล้ๆผม “แล้วไอ้นั่นโตขึ้นด้วยหรือเปล่าวะ”

“ไอ้เปรต” ผมเอียงหน้าไปกระซิบตอบมันบ้าง “อยากรู้มาวัดดูเองโว้ย”

“เดี๋ยวนี้มีต่อปากต่อคำด้วยนะ” แป๋งหัวเราะ ว่าแล้มแป๋งก็ขยับตัวให้ห่างจากผม “ไม่อยากเดินกับนายว่ะ เดินด้วยกันแบบนี้คนอื่นจะคิดว่านายเป็นรุ่นพี่เรา”

“เอ้อ ที่จริงเราก็เป็นรุ่นพี่นายไปแล้วนะ ต่อไปอย่าลืมเรียกพี่อูด้วยล่ะ” ผมรีบเกทับ

“เฮอะ ฝันเถอะ” แป๋งตอบ

เมื่อถึงปากซอยผมก็แยกจากแป๋งโดยเลี้ยวซ้ายเพื่อเดินไปยังซอยภาวนา

“ไปก่อนนะแป๋ง”

“ยังไปขึ้นรถที่ป้ายนั้นอยู่อีกเหรอ” แป๋งถาม “งงโว้ย ขึ้นตรงนี้สะดวกกว่าตั้งเยอะ”

“ฮื่อ มันเคยชินน่ะ รอรถตรงนั้นสบายดี” ผมตอบส่งเดช

เมื่อผมไปถึงป้ายรถเมล์ตรงข้ามซอยภาวนา เห็นนักเรียนยืนคอยรถเมล์อยู่ที่ป้าย ผมอดก้มลงไปมองดูชุดนักศึกษาที่สวมใส่อยู่ไม่ได้ เมื่อไม่กี่เดือนก่อนนี้เองผมยังใส่ชุดนักเรียนอยู่เลย ชีวิตของผมเดินหน้าต่อไปอีกก้าวหนึ่งแล้ว ไอ้ชัชก็เหมือนกัน แล้วไอ้นัยล่ะ อยากให้มันมาเห็นผมในชุดนี้จัง รวมทั้งผมเองก็อยากเห็นมันใส่ชุดนักศึกษาบ้าง แต่เท่าที่ดูจากในหนังฝรั่ง การเรียนที่นั่นไม่มีเครื่องแบบ แต่งกายตามสบาย คงต้องให้มันกลับมาเรียนในมหาวิทยาลัยเมืองไทยจึงจะเห็นมันใส่ชุดนักศึกษา

ผมคิดไปเรื่อยเปื่อย สายตาก็สอดส่ายมองไปในหมู่ผู้คนที่ยืนรอรถเมล์เหมือนกำลังมองหาใครอยู่ มันเป็นความเคยชินที่ผมปฏิบัติมานานหลายปีแล้วด้วยหวังว่าในเช้าวันหนึ่งอาจมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นและผมได้พบใครบางคน... แต่มันก็เป็นเช่นทุกวันที่ผ่านมา... ที่แม้ว่าปฏิหาริย์อาจมีจริงแต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับผม

รถ ปอ.๒ ในช่วงเช้าแน่นมากจนถึงกับปิดประตูไม่ได้เนื่องจากผู้โดยสารล้นออกมาถึงประตู และคนหนึ่งที่ยืนขวางประตูเอาไว้จนปิดไม่ได้ก็คือผมนั่นเอง ผมพยายามเบียดขึ้นรถคันนั้นจนได้เนื่องจากไม่อยากเสียเวลารอคันถัดไปซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไรจะมาแต่ก็ต้องยืนที่ประตูรถ รถเมล์ขับไปจนถึงปากทางลาดพร้าวกว่าที่จะมีคนลงและปิดประตูได้

ค่าโดยสารรถเมล์ปรับอากาศในยุคนั้นเป็นขั้นๆตามระยะทาง ๕, ๗, ๙, ๑๑, ๑๓ และ ๑๕ บาท จากซอยภาวนาไปสามย่านดูเหมือนจะจ่ายค่าโดยสาร ๙ หรือ ๑๑ บาท ในขณะที่รถเมล์ธรรมดาแบบครีมน้ำเงินเสียค่าโดยสาร ๒ บาท รถเมล์ครีมแดงเสียค่าโดยสาร ๓ บาท มาเรียนที่นี่ผมต้องขึ้น ปอ.๒ ทำให้จ่ายค่ารถเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยเลยทีเดียว ในยุคนั้นยังมีรถเมล์อีกประเภทหนึ่ง นั่นคือ รถด่วนพิเศษ ที่ว่าด่วนพิเศษก็เพราะว่าจอดเฉพาะบางป้ายเท่านั้น เสียค่าโดยสาร ๓.๕๐ บาท เห็นทำอยู่หลายปีเหมือนกันแล้วก็เลิกไป

เมื่อไปถึงคณะเทคโนฯผมก็เดินไปที่ตึกสำนักงานของคณะเพื่อตรวจรายชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาเสียก่อน ที่หน้าตึกคณะเต็มไปด้วยนักศึกษาในชุดนักศึกษาใหม่เอี่ยมละออ สีขาวกระจ่างกับสีน้ำเงินเข้มละลานตาไปหมด พวกปีหนึ่งเมื่อมาพบกันก็ทักกันวุ่นวาย พี่จุ้ย ไอ้กี้ และพัชก็อยู่ที่นั่นด้วยเช่นกัน

เมื่อผมเห็นไอ้กี้ในชุดนักศึกษาเป็นครั้งแรกผมก็อดสะดุดใจไม่ได้ เมื่อไม่กี่เดือนก่อนผมเห็นกี้ในชุดนักเรียนกางเกงขาสั้น ทรงผมก็ยังเป็นทรงนักเรียนตัดสั้นอยู่ มาวันนี้ผมเห็นมันในชุดนักศึกษา ไว้ผมรองทรง ดูมันเติบโตขึ้นอีกมาก ความเป็นเด็กแทบไม่มีเหลือแต่กลายเป็นชายหนุ่มคนหนึ่ง เพียงช่วงไม่กี่เดือนมานี้ราวกับว่ามันเติบโตอย่างกะทันหันอีกหลายปีเลยทีเดียว แม้เพื่อนคนอื่นๆเช่นพี่จุ้ยและพัชก็มีความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เหมือนกัน แต่กี้เป็นคนที่ผมเห็นมันมาตั้งแต่มัธยมต้น เห็นมันตั้งแต่ตอนที่มันเด็กกว่านี้ ตัวเล็กกว่านี้ ผมจึงเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวของมันได้ชัดเจนกว่าที่เห็นจากในคนอื่นๆ

ผมก้มลงที่ชุดของตนเองแล้วก็อดสะท้อนใจไม่ได้ นึกถึงคำพูดของแป๋งเมื่อเช้า ผมเองก็คงมีความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับไอ้กี้เพียงแต่ในยามปกติอาจจะดูตนเองไม่ออก พร้อมกันนั้นก็รู้สึกใจหาย ผมต้องละทิ้งชีวิตแบบวัยเด็กไปเพื่อแลกกับการเจริญเติบโต... ในขณะที่ผมก้าวต่อไปข้างหน้าผมจำเป็นต้องทิ้งอดีตเอาไว้ข้างหลัง ใจหนึ่งก็รู้สึกว่าเป็นความท้ายทายแต่อีกใจหนึ่งก็รู้สึกเสียดายและประหวั่นกลัว ทันใดนั้นเอง จู่ๆผมก็รู้สึกอ้างว้างขึ้นมา

“อู เป็นไรไปวะ เห็นมาแล้วก็ยืนเฉยๆ” พี่จุ้ยเดินเข้ามาทักทายผมเป็นคนแรก จากนั้นกี้ก็เดินตามมาสมทบ

“ไม่ได้เป็นอะไรนี่พี่” ผมตอบ

“เห็นนายเหมือนกับงงๆ” พี่จุ้ยพูดต่อ

“ไอ้ห่านี่มันชอบใจลอยน่ะพี่ ไม่รู้ว่าแม่งสอบติดได้ยังไง วันๆเห็นเอาแต่นั่งเหม่อทั้งวัน ตอนเรียนมันก็เป็นแบบนี้แหละ” กี้รีบใส่ไฟ

“น้อยๆหน่อย ยังไงกูก็สอบเข้าได้ ไม่ได้จับฉลากได้เหมือนมึง” ผมเอาคืนบ้าง

“โห ดุเสียด้วย” กี้หัวเราะจนตาเหลือเส้นเดียว “เดี่ยวกูส่งไปเฝ้าสวนเสียเลย”

“พอแล้ว” พี่จุ้ยรีบปราม “กัดกันแต่เช้าเชียว เดี๋ยวไปลงทะเบียนไม่ทันหรอก”

การหยอกของพวกเราจึงยุติลง แต่ละคนต่างก็แยกย้ายกันไปพบอาจารย์ที่ปรึกษาของตนตามตึกต่างๆ

ตึกคณิตศาสตร์เป็นตึกค่อนข้างเก่า มีเพียงสองชั้น พวกตึกที่เกี่ยวกับวิชาพื้นฐานมักเป็นตึกเก่าและมีความสูงเพียงไม่กี่ชั้นเพราะใช้ตึกที่มีมาแต่ดั้งเดิม ส่วนตึกใหม่ๆจะเป็นห้องเรียนรวมกับตึกที่เป็นสาขาด้านประยุกต์ที่เปิดขึ้นมาในช่วงหลังและมักเป็นตึกสูง

เมื่อผมเข้าไปในตึกก็เดินขึ้นไปที่ชั้นสองซึ่งเป็นห้องพักอาจารย์ เมื่อพบห้องของอาจารย์ที่ปรึกษาของผมก็เคาะประตูและผลักประตูเข้าไป

เมื่อเข้าไปในห้องก็พบว่าข้างในเป็นห้องทำงานเล็กๆ เก่าๆ แออัดไปด้วยนักศึกษาทั้งชายแลหญิงราวสิบคน ที่โต๊ะทำงานมีอาจารย์ที่ปรึกษาของผมนั่งอยู่ ด้านตรงข้ามมีเก้าอี้สองตัวสำหรับต้อนรับแขกหรือนักศึกษาที่มาพบ

อาจารย์ที่ปรึกษาของผมชื่ออาจารย์สุ เป็นหญิงในวัยกลางคน รูปร่างโปร่งๆ เส้นผมไม่ถึงกับดำสนิท มีผมขาวแซมบ้างประปราย เมื่อผมเข้าไปอาจารย์กำลังคุยกับนักศึกษาด้วยน้ำเสียงที่แช่มช้า เนิบๆ อันส่อว่าน่าจะเป็นคนที่ใจดีและใจเย็น ผมยกมือไหว้

“สวัสดีจ้ะ ที่มาใหม่นั่นชื่ออะไรล่ะ” อาจารย์รับไหว้พร้อมกับกล่าวทักทายผม

ผมแนะนำตนเอง อาจารย์พยักหน้า

“ยังเหลืออีกคนหนึ่ง รออีกเดี๋ยวนะ มาครบแล้วครูจึงค่อยเริ่ม” อาจารย์พูด

ผมลองนับคนในห้องดู ปรากฏว่ามีนักศึกษา ๑๑ คนรวมทั้งตัวผมด้วย ทั้งชายและหญิงจำนวนพอๆกัน แสดงว่าอาจารย์รับนักศึกษาปี ๑ ไว้ ๑๒ คนหรือหนึ่งโหล หลังจากที่รอสักครู่ลูกศิษย์คนสุดท้ายของอาจารย์ก็เข้ามา เธอเป็นสาวที่หน้าตาสวยทีเดียว

หลังจากที่มากันครบอาจารย์ก็ให้พวกเราแนะนำตัวทั้งชื่อเล่นและชื่อจริง เพื่อว่าอาจารย์จะได้รู้จักพวกเรารวมทั้งพวกเราจะได้รู้จักกันเองด้วย เพื่อนๆที่ร่วมอาจารย์ที่ปรึกษาเดียวกันนี้ไม่มีใครที่ผมคุ้นหน้าเลยสักคน จึงคิดว่าน่าจะมาจากกลุ่มอื่นเนื่องจากถ้าเป็นกลุ่ม ๓ ด้วยกันน่าจะพอคุ้นหน้ากันบ้าง

“อ้อ เพ็ญ คุณนี่เอง” อาจารย์สุพูดขึ้นมาลอยๆหลังจากที่สาวหน้าตาดีที่เข้ามาเป็นคนสุดท้ายแนะนำตัว

“ค่ะ” เพ็ญขานรับ คนอื่นๆในห้องทำหน้างงๆไม่รู้ว่าทั้งสองคนคุยอะไรกันอยู่

“ไม่มีอะไรหรอก ครูเป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์ของเพ็ญตอนเอนทรานซ์ เพ็ญได้คะแนนสอบสูงมาก ดูเหมือนคุณจะเป็นนักเรียนดีเด่นประจำจังหวัดด้วยใช่ไหม” อาจารย์สุพูดกับทุกคน ส่วนประโยคสุดท้ายหันมาพูดกับเพ็ญ

“อาจารย์สัมภาษณ์นักเรียนตั้งมาก ยังจำหนูได้เหรอคะ” เพ็ญยิ้ม เวลาที่เธอยิ้มใบหน้ายิ่งดูสวยยิ่งขึ้นไปอีก แม้แต่ผมที่ไม่ได้สนใจผู้หญิงนักก็ยังอดชมไม่ได้ว่าเพ็ญเป็นนักศึกษาที่สวยและมีเสน่ห์ แถมยังเป็นคนต่างจังหวัดเหมือนกับผมเสียด้วย

หลังจากนั้นอาจารย์ก็อธิบายเกี่ยวกับชีวิตนักศึกษาในคณะ ระบบการเรียน ขั้นตอนการลงทะเบียน และหน้าที่ของอาจารย์ที่ปรึกษาว่ามีอะไรบ้าง และจะช่วยอะไรให้แก่นักศึกษาได้บ้าง

“การเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นไม่เหมือนกับในโรงเรียนมัธยม ในมหาวิทยาลัยไม่มีใครมาคอยจ้ำจี้จ้ำไช ไม่ว่าวิชาอะไรก็ตาม ไม่มีใครมาคอยตามให้ส่งการบ้าน ไม่มีใครมาคอยตามให้เข้าห้องเรียน ทุกเรื่องอยู่ที่ตัวของพวกคุณเอง หากไม่ทำก็ไม่มีคะแนนเก็บหรืออาจไม่มีสิทธิ์สอบ ใครก็ช่วยอะไรไม่ได้” อาจารย์คุยให้พวกเราฟังด้วยน้ำเสียงที่เป็นกันเอง ความแตกต่างอย่างหนึ่งเท่าที่พบก็คือที่นี่อาจารย์จะใช้สรรพนามบุรุษที่สองกับนักศึกษาว่าคุณ ไม่ใช่เธอเหมือนตอนที่เรียนมัธยม

“เมื่อเรียนในมหาวิทยาลัยนักศึกษาต้องดูแลตัวเอง เท่าที่ครูสังเกตมานักศึกษาปีหนึ่งเมื่อเข้ามาแล้วมักจะเล่นกันมาก อาจเป็นเพราะว่าเคร่งเครียดจากตอนเรียนมัธยมปลายมาก็ได้ พอเข้ามหาวิทยาลัยได้ก็อยากเรียนให้สบายๆบ้าง แต่ครูอยากบอกพวกคุณว่าเกรดปีหนึ่งนั้นสำคัญมาก หากเล่นจนเกรดเสียตั้งแต่อยู่ปีหนึ่งแล้วจะแก้ไขได้ยาก เกรดในระดับปริญญาตรีมีความสำคัญต่อการหางานไม่น้อยทีเดียว ดังนั้นครูอยากให้ระวังเรื่องผลการเรียนตั้งแต่ต้น อาจารย์ที่ปรึกษานั้นชื่อก็บอกอยู่ว่าเป็นอาจารย์ที่คอยให้คำปรึกษา ดังนั้นหากพวกคุณมีอะไรก็มาหาครู มาคุยกับครูได้ แต่หากคุณไม่มาหาไม่มาคุย ครูก็ได้แต่ดูอยู่ห่างๆ” อาจารย์เตือนสติพวกเรา

หลังจากนั้นอาจารย์ก็ชี้แจงเกี่ยวกับการเลือกรายวิชาในการลงทะเบียนเรียนในภาคแรกนี้ การลงทะเบียนในยุคนั้นยังเป็นระบบเอกสารอยู่ ใบลงทะเบียนเป็นสมุดเล่มเล็กๆรูปทรงและขนาดคล้ายกับสมุดเช็ค ข้างในมีกระดาษที่มีคาร์บอนในตัวซ้อนกันอยู่หลายแผ่น เวลากรอกให้เขียนหนักๆลงบนแผ่นแรกแล้วแผ่นล่างๆก็จะติดไปด้วย

ระบบการลงทะเบียนในยุคนั้นยังไม่ได้เป็นแบบเหมาหรือว่าแบบแพกเกจดังเช่นในปัจจุบันที่ในแต่ละภาคการศึกษามีการจัดรายวิชาที่ต้องลงมาให้อย่างเรียบร้อย รวมทั้งค่าลงทะเบียนและค่าธรรมเนียมต่างๆก็คิดให้เบ็ดเสร็จในลักษณะเหมาจ่าย ผู้เรียนแทบไม่ต้องทำอะไรนอกจากชำระค่าลงทะเบียนแล้วก็เรียนไปตามนั้น

สำหรับการลงทะเบียนเรียนในยุคของผมนั้นเป็นแบบพึ่งตนเอง นั่นคือ ต้องเลือกรายวิชาเอง คำนวณค่าลงทะเบียนเอง ที่จริงแล้วการลงทะเบียนเรียนในยุคนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก ต้องอาศัยเทคนิคพอสมควรในการจัดวิชาเรียนในแต่ละภาคเรียน โดยเฉพาะนักศึกษาที่ผลการเรียนไม่ดีจะยิ่งยุ่งยากมากขึ้น แต่เนื่องจากวิชาเรียนในชั้นปีหนึ่งนั้นเป็นวิชาบังคับพื้นฐานที่ต้องเรียนเหมือนๆกันทั้งสิ้น ได้แก่พวกวิชาแคลคูลัส ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ภาษาอังกฤษ วิชาด้านสังคม และวิชาแล็บหรืออีกนัยหนึ่งวิชาภาคปฏิบัติซึ่งต้องมีการทำการทดลองในห้องแล็บ จึงเรียกว่าวิชาแล็บ ดังนั้นตอนปีหนึ่งเทอมหนึ่งจึงไม่ต้องเลือกอะไรเองเลย

ในส่วนที่เป็นวิชาบังคับนั้นที่นักศึกษาสามารถเลือกได้เองในการลงทะเบียนก็คือการเลือกหมู่เรียน เนื่องจากแต่ละวิชานั้นมีนักศึกษาเรียนกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องแบ่งการสอนออกเป็นหลายห้องเรียน หรือที่เรียกว่าหลายหมู่ วิชาไหนเปิดกี่หมู่สามารถดูได้จากตารางเรียนที่คณะ ชอบใจหมู่ไหนก็เลือกลงทะเบียนว่าต้องการเรียนในหมู่นั้น แต่สำหรับในเทอมแรกนี้เนื่องจากเป็นการลงทะเบียนครั้งแรก หากให้เลือกหมู่เองก็ยังเลือกไม่ถูกอยู่ดี ดังนั้นอาจารย์จึงจัดหมู่ให้นักศึกษาเลือกตามนั้น จะได้เรียบร้อยไม่มีปัญหา

การกรอกใบลงทะเบียนก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแค่กรอกชื่อและรหัสนักศึกษาของตนเอง รหัสวิชา ชื่อรายวิชา หมู่ที่จะลง ซึ่งอาจารย์จัดรายละเอียดมาให้ พวกเราเพียงแต่ลอกลงไป จากนั้นก็ตีเส้นปิดรายการเพื่อว่าจะได้ไม่มีใครมาแอบเติมภายหลัง และให้อาจารย์ที่ปรึกษาลงชื่อกำกับ เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

ส่วนขั้นตอนการลงทะเบียนนั้นต้องไปลงทะเบียนและชำระเงินที่สำนักทะเบียน ตอนนั้นค่าหน่วยกิตวิชาภาคบรรยายหรือที่เรียกว่าวิชาเล็กเชอร์หน่วยกิตละ ๒๕ บาท ส่วนค่าหน่วยกิตวิชาภาคปฏิบัติหรือที่เรียกว่าวิชาแล็บนั้นหน่วยกิตละ ๕๐ บาท เทอมหนึ่งลงทะเบียน ๒๑ หน่วยกิต เสียเงินค่าหน่วยกิตกับค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงอื่นๆอีกเพียงนิดหน่อย รวมแล้วเพียงพันกว่าบาทเท่านั้น แต่หลังจากนั้นมาเพียงไม่กี่ปีก็มีการปรับขึ้นค่าหน่วยกิต ค่าธรรมเนียม และค่าบำรุงอีกหลายระลอก จนสุดท้ายดูเหมือนจะเป็นหน่วยกิตละ ๒๐๐ บาท และหลังจากนั้นก็กลายเป็นระบบแพ็กเกจหรือว่าระบบเหมาจ่ายเทอมละเป็นหลักหมื่นบาท

- - -

หลังจากการลงทะเบียนผ่านไป วันต่อมาก็เป็นการปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ นักศึกษาใหม่ทุกคณะต้องไปเข้าร่วมงานปฐมนิเทศเวลา ๙.๐๐ น. ในชุดขาวซึ่งหมายความว่าต้องผูกเนกไทด้วย

ผมลืมเรื่องผูกเนกไทไปสนิท จนป่านนี้ยังผูกเนกไทไม่เป็นเลย ดังนั้นในตอนเช้าของวันปฐมนิเทศผมจึงแต่งกายด้วยชุดนักศึกษาเสื้อแขนยาวสีขาวและกางเกงขายาวสีขาวแต่ไม่ได้ผูกเนกไทเพราะว่ายังผูกไม่เป็น ออกจากหอตั้งแต่เช้า เมื่อไปถึงคณะก็รีบไปที่โต๊ะกลุ่มสามทันที

ตอนนั้นเป็นประมาณแปดโมงกว่า เกือบจะแปดโมงครึ่งแล้ว อีกไม่นานก็จะถึงเวลาเข้าหอประชุมเพื่อปฐมนิเทศ เมื่อไปถึงที่กลุ่มก็เห็นนักศึกษาชายปีหนึ่งหลายคนกำลังหัดผูกเนกไทอยู่ รุ่นพี่ชายก็กำลังง่วนสอนน้องๆผูกเนกไท ส่วนนักศึกษาหญิงปีหนึ่งก็นั่งคุยกันเพื่อรอเวลาเข้าหอประชุม

“เอ๊า น้องอู ไม่ผูกเนกไทมาเหรอ” ได้ยินเสียงเจตทัก ตอนนั้นเจต แมว จิ๊บ และเพื่อนอีกหลายคนกำลังจับกลุ่มคุยกันอยู่

“ยังผูกไม่เป็นเลย” ผมรีบตอบ พลางชูเนกไทใหม่เอี่ยมในมือให้เจตดู “ผูกเป็นป่าว สอนหน่อยสิ เร็วๆเข้า”

“จะบ้าแล้ว” เจตหัวเราะ “ชั้นจะผูกเนกไทเป็นได้ไง”

“เฮ้ย มันผูกเป็น มันเป็นทอม” เสียงใครก็ไม่รู้ดังขึ้น กลุ่มสนทนาหัวเราะกันสนุก

ผมไม่มีเวลาจะสนุกด้วย หันรีหันขวาง เพื่อนนักศึกษาคนหนึ่งที่กำลังพยายามผูกเนกไทอยู่ก็เสนอให้ความช่วยเหลือ

“มาๆ จะสอนให้” เพื่อนคนนั้นพูด พร้อมกับบอกให้ผมทำตาม “เอาเนกไทคล้องคอแบบนี้ก่อน”

หลังจากนั้นมันก็สอนให้ผมผูกเนกไททั้งๆที่ตนเองก็ยังผูกไม่เสร็จ ชื่ออะไรยังผมก็ยังไม่ทันได้ถามเลย

“นี่ๆ ขวาทับซ้าย แล้วก็ยังงี้ ยังงี้” มันทำให้ดู ผมพยายามทำตาม แต่ทำแล้วก็ไม่สำเร็จ มันไม่เป็นปมเนกไท เป็นอะไรก็ไม่รู้ ไอ้คนสอนเองก็ทำไม่สำเร็จ

“ตายห่า ลืมไปแล้วว่ะ” มันบอก พลางเนกไทออกมาลองผูกใหม่

โธ่เอ๊ย ซวยจริงๆ ยิ่งรีบอยู่ด้วย จากนั้นก็รีบวิ่งไปที่รุ่นพี่คนหนึ่งที่กำลังสอนการผูกเนกไทอยู่

“พี่ๆ สอนผมด้วยครับ” ผมรีบพูด

“ใกล้จะได้เวลาเข้าหอประชุมแล้ว” รุ่นพี่ดูเวลา “เอายังงี้ดีกว่า ส่งเนกไทมา”

ผมงง แต่ก็ส่งเนกไทให้ พี่คนนั้นเอาเนกไทไปผูกที่คอของตนเอง จากนั้นก็คลายปมให้หลวมแล้วยกเนกไทออกมาจากคอมายื่นให้ผม

“เอาสำเร็จรูปไปฟังปฐมนิเทศก่อน คล้องหัวเข้าแล้วรูดปมขึ้น เท่านี้ก็เสร็จ แล้วบ่ายๆค่อยมาหัดอีกที”

หลังจากนั้นพวกพี่ๆช่วยผูกเนกไทแบบสำเร็จรูปให้แก่น้องๆที่ยังผูกไม่สำเร็จ เมื่อเรียบร้อยพวกปีหนึ่งทั้งหมดก็เดินไปที่หอประชุมด้วยกัน

ในการปฐมนิเทศนั้น อธิการบดีพูดได้จับใจผมมาก ทำให้ผมนึกถึงภาพที่ตนเองเมื่อจบการศึกษาไปแล้วเป็นบัณฑิต ออกไปประกอบอาชีพและรับใช้สังคมอย่างมีศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิ พร้อมกับมีส่วนช่วยสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น ช่วยผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า แม้ว่าหลายเรื่องจะฟังดูเป็นอุดมคติอยู่บ้างก็ตาม แต่ว่าเหล่านี้ก็ทำให้ผมเกิดความฝันใหม่ๆขึ้นมา มันเป็นความฝันที่แตกต่างจากความฝันวัยเด็กของผม ทำให้ผมรู้สึกว่าชีวิตของผมมีเป้าหมายและเกิดกำลังใจที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า


<สามย่านในปัจจุบัน คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดขยาย ภาพถ่ายจากดาวเทียมที่เป็นฉากหลังถ่ายในปี ๒๕๕๒ ซึ่งมีสภาพใกล้เคียงกับในปัจจุบันมาก ลองมาดูกันว่าสถานที่ของสามย่านในอดีตทั้ง ๖ แห่งที่ปรากฏในภาพที่แล้วในปัจจุบันนี้ เมื่อกาลเวลาผ่านไปและเมื่อโลกเปลี่ยนไป สถานที่เหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

หมายเลข ๑ ตลาดสามย่าน ปิดตำนานตลาดอายุ ๔๓ ปีไปเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๑ ตลาดยามย่านถูกโยกย้ายไปยังพื้นที่แห่งใหม่ พื้นที่ตลาดเดิมถูกรื้อถอนจนกลายเป็นที่ว่างในเวลาต่อมา ส่วนอาคารรอบๆตัวตลาดนั้นติดปัญหาเรื่องผู้เช่าย้ายออกล่าช้า ทำให้การรื้อถอนคาราคาซัง แต่ปัจจุบันผู้เช่าย้ายออกไปหมดแล้วและกำลังรื้อถอน
หมายเลข ๒ โรงหนังสามย่าน ปัจจุบันเป็นศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง
หมายเลข ๓ ถนนพระราม ๔ และหัวมุมสามย่านด้านตลาดสามย่าน ปัจจุบันกำลังรื้อถอน
หมายเลข ๔ สามย่านด้านคณะบัญชี จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นจัตุรัสจามจุรีหรือจามจุรีสแควร์ เปิดดำเนินการราวปลายปี ๒๕๕๑ ร้านค้าดั้งเดิมที่อยู่ในยุคที่ผมเรียนกระจัดกระจายไปเปิดใหม่ในพื้นที่ต่างๆกัน
หมายเลข ๕ ร้านจีฉ่อย ปัจจุบันย้ายไปอยู่แถวยูเซ็นเตอร์ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปอีกเนื่องจากพื้นที่ในย่านร้านดั้งเดิมกำลังถูกรื้อถอน
หมายเลข ๖ โรงเรียนศึกษาวัฒนา ปัจจุบันกำลังถูกรื้อถอน>

Monday, September 13, 2010

ภาคสี่ ตอนที่ 5

สามย่านฝั่งข้างคณะบัญชีเมื่อก่อนยังไม่ได้เป็นจตุรัสจามจุรีหรือว่าจามจุรีสแควร์ดังเช่นในปัจจุบัน แต่เป็นตึกแถวที่ปลูกซ้อนกันอยู่ตลอดทั้งบริเวณ ส่วนที่ติดกับรั้วด้านข้างของคณะบัญชีจะเป็นซอยลึกไปจนถึงประตูข้างคณะบัญชีด้านหลัง (ปัจจุบันคือถนนทางเข้าที่จอดรถ) และเลยต่อไปอีก

เมื่อพี่แต้มพาผมข้ามฝั่งไปยังข้างคณะบัญชี เห็นปากซอยเป็นแผงลอย มีรถเข็นขายเต้าฮวยพร้อมโต๊ะและเก้าอี้นั่งหลายชุดวางเรียงรายอยู่ มีคนนั่งกินเต้าฮวยกันอยู่พอสมควร ทั้งคนทำงานและวัยหนุ่มสาว ใกล้ๆกันเป็นรถขายกล้วยปิ้งนครปฐม พี่แต้มพาเราไปนั่งที่โต๊ะว่างตัวหนึ่ง จากนั้นถามขึ้นว่า

“จะกินอะไร ที่นี่มีเต้าฮวยร้อน เต้าฮวยเย็น เฉาก๊วยร้อน เฉาก๊วยเย็น”

“เต้าฮวยเย็นเป็นไงพี่” พัชถาม ผมเองก็ไม่เคยกินเหมือนกัน เคยกินแต่เต้าฮวยร้อนๆ

“อยากรู้ต้องลองสั่งดู” พี่แต้มตอบ

สรุปแล้วพวกน้องๆสั่งเต้าฮวยเย็นกันหมดเพราะอยากรู้ว่าเป็นยังไง ส่วนพวกพี่ๆก็สั่งกันตามอัธยาศัย มีทั้งเต้าฮวยและเฉาก๊วย

เมื่อเต้าฮวยเย็นถูกนำมาส่งที่โต๊ะ ผมจึงเห็นว่าเต้าฮวยเย็นนี้ก็คือเต้าฮวยราดน้ำเชื่อมแล้วใส่น้ำแข็ง ส่วนเต้าฮวยร้อนจะเป็นเต้าฮวยราดน้ำขิงร้อนๆแล้วใส่น้ำตาลทรายแดงตามแบบที่ขายกันทั่วไป รสชาติของเต้าฮวยเย็นเมื่อกินขณะที่อากาศร้อนก็ชื่นใจดีเหมือนกัน

หลังจากที่กินเต้าฮวยเสร็จพวกเราก็แยกย้ายจากกัน ผมข้ามถนนกลับมายังฝั่งตลาดสามย่าน เพื่อรอรถ ปอ.๒ กลับหอพัก ขณะที่เดินทางกลับ ผมอดคิดไม่ได้ว่าประสบการณ์ที่ได้พบมาในรั้วมหาวิทยาลัยช่างแตกต่างกับที่โรงเรียนอย่างสิ้นเชิง นี่ขนาดยังไม่เปิดเทอม เมื่อเปิดเทอมไปแล้วชีวิตคงมีอะไรใหม่ๆให้เรียนรู้ยิ่งกว่านี้อีกเป็นแน่

- - -

ใกล้เวลาเปิดเทอมเข้ามาทุกทีแล้ว ผมรอให้ถึงเวลาเปิดเทอมใหม่ด้วยจิตใจที่กระตือรือร้น หลังจากวันที่จัดแบ่งกลุ่มน้องใหม่แล้วชีวิตของผมก็ไม่ได้หยุดนิ่ง ผมต้องจัดการเรื่องต่างๆให้พร้อมก่อนที่จะเปิดเทอม

เครื่องแต่งตัวนั้นผมต้องหาซื้อใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเชิ้ตทั้งแขนสั้นและแขนยาว พร้อมกับกางเกงสีน้ำเงินเข้มและกางเกงขาว เข็มขัด เนกไท ถุงเท้า รองเท้า กางเกงในไม่ต้อง ใช้ของเก่าก็ได้ วันรุ่งขึ้นผมจึงไปที่มหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง คิดเอาไว้ว่าเครื่องแต่งกายทั้งหมดจะซื้อสำเร็จรูปเอาจากร้านสหกรณ์นั่นเองเพราะไม่รู้ว่าจะไปซื้อที่ไหน เอาง่ายไว้ก่อน ที่จริงจะสั่งตัดก็ได้เพราะในยุคนั้นยังมีร้านตัดเสื้อผ้าของผู้ชายอยู่ ลักษณะก็เป็นห้องแถวแบบร้านตัดเสื้อผู้หญิงนั่นเอง และผมสังเกตเอาเองว่าร้านตัดเสื้อชายเหล่านี้ชื่อร้านมักมีคำว่าสูท ทรง หรือคำว่าเทเลอร์อยู่ด้วย เช่น สูทดารา ทรงสมัย ฯลฯ แถวย่านซอยภาวนาก็มีอยู่หลายร้าน แต่จะสั่งตัดก็เกรงจะเสียเวลาคอยนาน เดี่ยวจะไม่ทันกับเปิดเรียน

แต่เมื่อไปที่สหกรณ์ร้านค้าของมหาวิทยาลัย พอเลือกเสื้อผ้าเข้าจริงๆกลับไม่มีอะไรถูกใจ เสื้อเชิ้ตแขนสั้นผ้าก็บางจ๋อยราวกับผ้าซีทรู แบบนี้ซักไม่กี่ทีคงพัง เสื้อแขนยาวก็ไม่พอดีตัว ที่ไหล่พอดีแขนเสื้อก็สั้นเกิน ถ้าเป็นเสื้อเบอร์ใหญ่ก็โคล่งไปเลย เรื่องซื้อเสื้อนี่ไปคนเดียวก็ลำบากนิดหน่อยเพราะว่าไม่มีห้องให้ลอง ต้องอาศัยการทาบไหล่เอา เมื่อไม่มีเพื่อนไปซื้อด้วยก็ต้องอาศัยพนักงานขายให้ช่วยทาบไหล่ให้ ซึ่งวันนั้นพนักงานขายก็ยุ่งมากเพราะมีนักศึกษาใหม่เข้ามาซื้อเครื่องแต่งกายกันคับคั่ง ลองได้นิดหน่อยก็เกรงใจพนักงานขายจึงคิดว่าจะไปหาซื้อเสื้อจากที่อื่นดีกว่า แล้วก็เปลี่ยนไปเลือกกางเกงขายาวแทน

กางเกงขายาวก็มีปัญหา ขากางเกงสั้นเกิน กางเกงนักศึกษาที่ขายที่นี่เป็นแบบที่พับปลายขากางเกงไว้เรียบร้อยแล้ว แบบที่ปลายขาปล่อยเอาไว้ให้ไปตัดขาเอาเองก็ไม่มี สุดท้ายเลยได้มาแต่เนกไทกับเข็มขัด ที่เหลือต้องไปหาซื้อที่อื่น ทีแรกคิดว่าจะไปหาซื้อที่เซ็นทรัลลาดพร้าวแต่พนักงานขายแนะนำให้ไปดูแถวย่านประตูน้ำเพราะว่าราคาเสื้อผ้าน่าจะถูกกว่าซื้อในห้าง ผมจึงลองไปดู

ในช่วงวัยเด็กถึงมัธยม โลกของผมมีอยู่แค่ที่พัก โรงเรียน และสยามสแควร์ พออยู่ ม.ปลายก็มีศูนย์ฝึก รด. ที่ถนนวิภาวดีรังสิตกับศูนย์ กศน. ที่บางกะปิเพิ่มขึ้นมา อะไรที่อยู่นอกเส้นทางรถเมล์สาย ๘ สาย ปอ.๒ และสาย ๙๒ แล้วผมแทบไม่รู้จักเอาเลย

ย่านประตูน้ำในตอนนั้นยังไม่มีห้างแพลตินัม มีแต่ซิตี้พลาซ่าซึ่งก็คือซิตี้คอมเพล็กซ์ที่ปากซอยเพชรบุรี ๒๑ ในปัจจุบัน ซอยนี้สามารถเดินไปจนทะลุถึงตึกใบหยก ๑ ได้ ในตอนนั้นยังไม่มีตึกใบหยก ๒ และที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเยื้องๆไปหน่อยก็จะเป็นอาคารพันธุ์ทิพย์พลาซ่า

เมื่อผมลงจากรถเมล์ผมก็แวะไปที่พันธุ์ทิพย์พลาซ่าก่อน อาคารพันธุ์ทิพย์พลาซ่าในตอนนั้นยังไม่ได้เป็นพันธุ์ทิพย์พลาซ่าศูนย์กลางของอุปกรณ์ไอที ภาพยนตร์ และซอฟต์แวร์เช่นในปัจจุบัน แต่เป็นห้างสรรพสินค้าชื่อพันธุ์ทิพย์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ โรงหนัง และภัตตาคาร ลานสเก็ตและสนุกเกอร์

เมื่อเข้าไปภายในตึกผมก็พบกับความเงียบวังเวง ตอนที่ผมไปนั้นผมไม่รู้เลยแม้แต่น้อยว่าห้างใกล้จะปิดมิปิดแหล่อยู่แล้ว ตรงชั้นลอยเป็นร้านพระเครื่องและมีร้านขายของมือสองกินพื้นที่กว้างเลยทีเดียว ชื่อร้านดูเหมือนจะชื่อว่าคู่มือซื้อขายอันเป็นชื่อนิตยสาร คือทำทั้งนิตยสารคู่มือซื้อขายของมือสองกับทำร้านขายของมือสองควบคู่กันไปด้วย ร้านค้าในพลาซ่านอกจากนั้นถ้าไม่ใช่ร้านว่างแล้วก็จะเป็นร้านประกอบคอมพิวเตอร์แบบขายส่ง คือเป็นทั้งร้านและเป็นสถานที่ประกอบเครื่องเลย ไม่ต้องใช้โรงงานในการประกอบแต่อย่างใด พื้นที่ชั้นบนๆเป็นสำนักงานให้เช่า ส่วนห้างและโรงหนังนั้นอยู่ในสภาพที่วังเวง

ผมเดินสำรวจห้างเล่นอยู่สักพัก รู้สึกว่าวังเวงจนน่ากลัว ขณะที่กำลังจะออกจากห้างอยู่นั้นเองสายตาก็เหลือบไปเห็นลิฟต์ด้านที่อยู่ริมถนนเพชรบุรีเข้า

เออ ลิฟต์แก้วนี่หว่า ว่างๆเสียด้วย งั้นลองขึ้นเสียหน่อยก็แล้วกัน

ในยุคนั้นห้างที่มีลิฟต์แก้วดูเหมือนจะมีอยู่เพียงสองแห่งเท่านั้น คือที่โรบินสันราชดำริกับที่พันธุ์ทิพย์พลาซ่า ว่ากันว่าตอนที่เปิดบริการใหม่ๆคนเข้าแถวรอขึ้นลิฟต์กันยาวเหยียด แต่ตอนที่ผมไปนั้นลิฟต์แก้วที่เคยมีชื่อเสียงและเป็นแม่เหล็กดึงดูดลูกค้ากลับต้องจอดอย่างเงียบเหงาเนื่องจากไม่มีลูกค้ามาใช้บริการเลย

ผมลองขึ้นลิฟต์แก้วขึ้นลงเล่นรอบหนึ่ง ดูทิวทัศน์ภายนอกผ่านลิฟต์แก้วก็น่าตื่นเต้นดี ในยุคนั้นลิฟต์แก้วขึ้นลงเพียงแค่ห้าหกชั้นก็ถือว่าหรูแล้ว แตกต่างจากสมัยนี้ที่ลิฟต์แก้วขึ้นตึกสิบชั้นยังถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

ผมออกมาจากพันธุ์ทิพย์พลาซ่าด้วยมือเปล่า ไม่มีอะไรให้ซื้อเลย จึงเดินข้ามถนนมาอีกฝั่งหนึ่งเพื่อไปที่ซิตี้พลาซ่า

บรรยากาศภายในห้างซิตี้พลาซ่าแตกต่างจากพันธุ์ทิพย์พลาซ่าโดยสิ้นเชิง ห้างซิตี้พลาซ่าและบริเวณใกล้เคียงไปจนถึงตึกใบหยกเป็นแหล่งขายส่งเสื้อผ้าแฟชั่นที่ขึ้นชื่อ ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศต่างก็มาจับจ่ายซื้อเสื้อผ้ากันอย่างคับคั่ง และไม่ได้ซื้อกันคนละตัวสองตัว แต่ซื้อกันเป็นมัดๆ บางรายถึงกับต้องเอาใส่เข่งเนื่องจากซื้อเยอะมาก ผมเดินวนไปเวียนมาจนตาลายก็ยังเลือกซื้อเสื้อผ้าไม่ได้เพราะว่าคนเบียดมาก อีกทั้งพ่อค้าแม่ค้าไม่ได้แสดงท่าทีสนใจผมเลยแม้แต่น้อย

เดินวนเวียนอยู่แถวซิตี้พลาซ่าอยู่พักใหญ่ก็ยังไม่ได้เสื้อผ้าที่ต้องการ ผมเดินทะลุไปจนถึงโรงแรมอินทราก็ยังซื้อชุดนักศึกษาไม่ได้ ส่วนหนึ่งผมก็ไม่ค่อยตั้งใจมองหาด้วยเนื่องจากคนเบียดกันแน่นมาก แออัดจนรู้สึกว่าไม่น่าเดินและไม่น่าซื้อ ในที่สุดเมื่อไม่ได้อะไรผมจึงไปที่พึ่สุดท้าย นั่นก็คือห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว

เมื่อไปถึงห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ผมเลือกซื้อเสื้อผ้าที่ต้องการได้จนครบ ไม่ต้องเบียดคนด้วย รู้ยังงี้มาที่นี่แต่แรกก็ดีหรอก แต่จะว่าไปหากไม่ได้ไปที่ประตูน้ำป่านนี้ก็คงยังไม่มีโอกาสได้ขึ้นลิฟต์แก้วยอดฮิตเสียที

- - -

เมื่อผมออกจากห้างเซ็นทรัลพลาซ่า ตอนนั้นก็เป็นเวลาเย็นแล้ว ขณะที่ยืนรอรถเมล์อยู่นั้นผมอดสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในย่านปากทางลาดพร้าวไม่ได้ ลาดพร้าวในหลายปีที่ผ่านมานี้เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเร็วทีเดียวโดยเฉพาะลาดพร้าวในช่วงต้นไปจนถึงแยกรัชดาภิเษก

เมื่อเห็นปากทางลาดพร้าวก็อดคิดถึงครูช่วยและโรงเรียนเก่าไม่ได้ เมื่อคิดถึงโรงเรียนเก่าก็อดคิดเลยไปถึงเพื่อนเก่าคนหนึ่งที่ยังเรียนอยู่ที่นี่ไม่ได้... ชัชนั่นเอง

หลายปีมานี้ผมต้องเดินทางไปและกลับโดยผ่านโรงเรียนเก่าเกือบทุกวัน ผมนั่งรถและผ่านเลยโรงเรียนไปทุกวันจนกลายเป็นความเคยชิน... จนลืมไปว่าผมยังมีเพื่อนเก่าคนหนึ่งที่เคยสนิทกันมากเมื่อสมัยประถมเรียนอยู่ที่นี่... จะว่าไปก็เหมือนกับผมแกล้งลืม ซึ่งมันก็คงมีส่วนจริงเพราะผมยังนึกไม่ออกว่าเมื่อพบไอ้ชัชแล้วจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับไอ้นัยอย่างไรดี ในที่สุดเมื่อนึกไม่ออกก็เลยพานเลี่ยงไม่พบเสียเลยดีกว่า

ป่านนี้ไอ้ชัชทำอะไรอยู่นะ ผมอดคิดไม่ได้ นี่ก็เลิกเรียนไปนานแล้ว สงสัยว่าถ้าไม่กำลังเล่นฟุตบอลอยู่ก็คงกำลังนั่งดูทีวีอยู่ในหอนักเรียนประจำ ปกติเด็กหอเมื่อไม่มีอะไรทำก็มักนั่งดูทีวีหรือไม่ก็จับกลุ่มคุยกันอยู่ในห้องดูทีวี เมื่อคิดถึงไอ้ชัช ภาพในอดีตก็หลั่งไหลเข้ามาในห้วงคำนึงของผมเป็นฉากๆ มันทำให้ผมอดยิ้มกับตัวเองไม่ได้

ใจหนึ่งก็อยากเข้าไปเยี่ยมเพื่อนรักในวัยเด็กแต่อีกใจหนึ่งก็ยังตะขิดตะขวงใจอยู่ หากไปเยี่ยมไอ้ชัชในตอนนี้คงไม่แคล้วโดนมันด่าว่าทิ้งเพื่อนหายไปหลายปี พร้อมกันนั้นก็ยังนึกไม่ออกว่าจะเล่าเกี่ยวกับไอ้นัยให้ไอ้ชัชฟังอย่างไรดี แต่เมื่อมาคิดดูอีกที หากผมไม่เข้าไปเยี่ยมไอ้ชัชในตอนนี้ ปีหน้าเมื่อมันจบจากโรงเรียนนี้ไปแล้วก็ไม่รู้ว่ามันสอบได้มหาวิทยาลัยที่ไหน บ้านที่ต่างจังหวัดมันยังอยู่ที่เดิมหรือย้ายไปแล้วก็ไม่รู้ ไม่แน่ว่าต่อไปอาจขาดการติดต่อกันไปจริงๆก็ได้

- - -

เมื่อผมก้าวเท้าเข้าไปในโรงเรียนเก่าที่ผมเคยเรียนในสมัยประถม ผมก็พบว่าโรงเรียนเปลี่ยนแปลงไปมาก พนักงาน รปภ ก็แปลกหน้า ไม่ใช่คนเก่าๆที่ผมคุ้นเคย มีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมขึ้นมาอีกหลายตึกทีเดียว และตึกที่กำลังก่อสร้างอยู่ในปัจจุบันน่าจะเป็นตึกที่สูงมาก ความรู้สึกอบอุ่นและคุ้นเคยหายไปจนหมด เหลือไว้แต่ความเป็นคนแปลกหน้า

ภายในโรงเรียนในตอนนั้นยังมีนักเรียนเหลืออยู่บ้าง ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่รอผู้ปกครองมารับกับพวกที่เล่นกีฬา ผมเดินไปที่สนามฟุตบอลแต่ก็ไม่พบไอ้ชัช ขณะที่เดินผ่านตึกเรียน ในอุปาทานเสมือนกับผมได้เห็นภาพตนเองกำลังนั่งอยู่กับไอ้นัยและไอ้ชัชเพื่อรอให้คุณอาไอ้นัยมารับ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่นัยโดนไอ้ชิดรังควานโดยมีผมเป็นต้นเหตุ ผมกับไอ้ชัชต้องอยู่เป็นเพื่อนไอ้นัยทุกวันจนกว่าอาของมันจะมา

ผมเดินไปเรื่อยๆจนถึงแผนกอนุบาล จำได้ว่าไอ้ชัชเคยแอบมานั่งเล่นชิงช้าคนเดียวที่นี่เพราะว่าน้อยใจผม ไม่รู้ว่าตอนนั้นชัชอ่อนไหวเกินไปหรือว่าผมซื่อบื้อเกินไป กว่าที่ผมจะเข้าใจความรู้สึกของมันได้ก็เกือบจะสายเกินแก้แล้ว มาถึงตอนนี้เมื่อคิดย้อนไปก็อดขำไม่ได้ เรื่องที่เคยดูเป็นเรื่องคอขาดบาดตายเมื่ออดีต ครั้นเวลาผ่านไปก็กลับกลายเป็นเพียงรอยเท้าบนพื้นทรายเท่านั้น

อาคารใหม่ๆที่เกิดขึ้นทำให้ผมอดนึกถึงครูช่วยไม่ได้ ตอนที่ผมไปนั่งเล่นที่บ้านของครูช่วยที่ซอยลาดพร้าว ๑ นั้นจำได้ว่าครูช่วยเคยเล่าเกี่ยวกับโรงเรียนในยุคแรกให้ฟังว่าสมัยที่โรงเรียนเริ่มเปิดดำเนินการใหม่ๆนั้นตึกที่สูงที่สุดในโรงเรียนมีเพียง ๖ ชั้น หลังจากนั้นก็มีตึก ๑๑ ชั้นซึ่งถือว่าเป็นตึกเรียนที่สูงมากในสมัยนั้น อาจารย์ใหญ่เป็นปลื้มกับตึกสูงนั้นมากและพวกครูอาจารย์ก็มักนำตึกนี้มาอำกันสนุก เช่น บอกว่าวันไหนที่อากาศดีจะสามารถมองเห็นทะเลบางแสนได้ หรืออำกันว่าเวลาสอนต้องคอยระวังเพราะเครื่องบินอาจบินชนตึกได้เนื่องจากตึกสูงมาก ฯลฯ

ผมเดินพลางปล่อยความคิดให้ล่องลอยไปในอดีตเรื่อยๆ จนในที่สุดก็มาหยุดอยู่ที่หน้าหอพัก ความลังเลผุดขึ้นมาอีกแต่ในที่สุดผมก็ตัดสินใจเดินเข้าไปข้างใน

เมื่อไปถึงบริเวณห้องดูทีวีใต้ตึก สายตาของเด็กหอต่างก็จ้องมองมาที่ผม นักเรียนที่อยู่ในห้องดูทีวีในขณะนั้นไม่มีใครที่ผมคุ้นหน้าเลย สายตาที่จ้องมองเหมือนกับกำลังดูคนแปลกหน้าที่บุกรุกเข้ามาจนทำให้ผมรู้สึกอึดอัด

“เอ้อ ผมมาหาชัช ม.๖ เห็นบ้างมั้ยครับ” ผมถามเด็กหอคนที่อยู่ใกล้ตัวผมมากที่สุด

เด็กหอคนนั้นส่ายหัว

“ไม่เห็นมีนี่พี่” เด็กคนนั้นตอบ คราวนี้เด็กหอหลายคนเริ่มเข้ามามุงผมเมื่อรู้ว่าผมมาหาคน

“ชัช ม.๖ แต่ไม่รู้ว่าห้องไหน มันอยู่หอนี้มาตั้งแต่ชั้นประถมเลย” ผมพยายามอธิบายเพิ่มเติม “ที่ผอมๆ ท่าทางเหมือนลิงน่ะ”

พวกเด็กหอต่างพากันส่ายหัวไม่รู้จัก จนผมรู้สึกแปลกใจและเริ่มใจไม่ดี พอดีเหลือบไปเห็นแม่บ้านทำความสะอาดคนหนึ่งซึ่งทำงานในหอพักนักเรียนประจำมาตั้งแต่สมัยที่ผมยังเรียนอยู่ที่นี่ ผมจึงเดินเข้าไปหา

“น้ามัย จำผมได้มั้ยครับ ผมอูไง” ผมยกมือไหว้พลางกล่าวทักทาย

“อูเหรอ” น้าละมัยนิ่งคิดอยู่สักครู่เหมือนกับจะทบทวนความจำ “โอ้โฮ โตขึ้นกว่าเดิมตั้งเยอะ ไม่ได้แวะมาหลายปีเลยนะ จำเกือบไม่ได้ ตอนนี้เรียนอยู่ที่ไหนล่ะ”

“ผมเข้ามหาวิทยาลัยแล้วครับ” ผมตอบ

“เวลาผ่านไปเร็วจริงๆ เมื่อก่อนน้ายังเห็นอูเป็นเด็กเล็กๆอยู่เลย เดี๋ยวเดียวโตเป็นหนุ่ม เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว” น้าละมัยพูดด้วยน้ำเสียงดีใจ “ดีใจที่อูกลับมาเยี่ยม นักเรียนเก่าๆส่วนใหญ่ไปแล้วก็ไปเลย ไม่ค่อยกลับมาเยี่ยมกันหรอก”

“ผมมาหาไอ้ชัชครับน้ามัย ถามน้องๆก็ไม่มีใครรู้จัก” ผมพูด

“ชัชน่ะเหรอ” น้าละมัยคิดสักครู่ “ออกไปตั้งนานแล้ว ตั้งแต่จบ ม.๓”

ผมใจหายวาบ ที่จริงเป็นเรื่องที่ผมรู้อยู่แก่ใจดีว่าในยุคนั้นนักเรียนประถมที่นี่ส่วนใหญ่จะแยกย้ายไปเรียนต่อที่อื่นกัน มีเพียงส่วนน้อยที่เรียนที่นี่ตั้งแต่ประถมจนจบ ม.๖ ดังนั้นนักเรียนมัธยมของที่นี่ส่วนใหญ่จึงเป็นนักเรียนมามาจากที่อื่นและมาเข้าเรียนในชั้น ม.๑ คงเป็นทำนองคนในอยากออก คนนอกอยากเข้านั่นเอง แต่สำหรับไอ้ชัชนั้นผมรู้ดีว่าที่บ้านของมันต้องการให้มันเรียนอยู่ที่นี่เพราะทั้งสะดวกและสบาย ดังนั้นผมจึงประมาทคิดไปว่ามันคงต้องอยู่ที่นี่ไปเรื่อยๆจนจบชั้น ม.๖

ผมถามน้าละมัยว่ามีใครที่เป็นเด็กเก่ารุ่นผมเหลืออยู่บ้าง น้ามัยก็ตอบว่ายังพอมีอยู่บ้าง เมื่อเอ่ยชื่อผมก็พบว่าเป็นคนละห้องและคนละกลุ่มกัน แม้ไม่สนิทกับไอ้ชัชเท่าไรนักแต่ก็น่าจะพอถามได้ความ ผมจึงขอให้น้าละมัยช่วยตามเพื่อนเก่าเหล่านี้จากบนหอมาสักสองสามคนเพื่อสอบถาม เมื่อน้าละมัยตามเพื่อนเก่าเหล่านี้มาถามก็ได้ความว่าไอ้ชัชสอบติดโรงเรียนเตรียมอุดมจึงได้ลาออกไป

- - -

กว่าที่ผมจะออกมาจากโรงเรียนก็เป็นเวลาโพล้เพล้แล้ว ใจหนึ่งรู้สึกผิดหวังไม่น้อยที่ไม่มีโอกาสได้พบกับไอ้ชัช แต่อีกใจหนึ่งก็โล่งใจที่ผมไม่ต้องเล่าเรื่องที่ไม่อยากรื้อฟื้นให้มันฟัง อย่างน้อยก็ยังรู้ว่าตอนนี้มันอยู่ที่ไหน ที่จริงถึงผมไม่พบใครที่โรงเรียนนี้ผมก็โทรไปถามที่บ้านมันก็ได้ เบอร์โทรศัพท์ของที่บ้านมันผมยังจำได้แม่น ถ้าไม่ย้ายไปเสียก่อนก็คงถามได้ความมาเช่นกัน ส่วนที่ว่าจะไปตามหามันที่โรงเรียนเตรียมฯหรือไม่ตอนนี้ผมยังไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น

เมื่อกลับมาถึงหอพัก เรื่องแรกที่ผมทำก็คือขึ้นไปดูกุหลาบที่ชั้นดาดฟ้า ตอนนี้กุหลาบมอญต้นแรกตายไปเรียบร้อยแล้วโดยที่ไม่อาจช่วยอะไรได้ ดินในกระถางแข็งเป็นดานจนน้ำไหลผ่านไม่ได้อันเนื่องจากฤทธิ์ของปุ๋ยเคมี ส่วนต้นที่สองนี้ผมดูแลมันเป็นอย่างดี ตั้งกระถางเอาไว้ริมกำแพงเพื่อไม่ให้รับแดดมากเกินไป ตอนบ่ายจะได้เงาจากกำแพงบ้าง รดน้ำเฉพาะตอนเช้ากับตอนบ่ายไม่เกินบ่ายสี่โมง หากวันไหนกลับช้าก็เท่ากับว่ารดน้ำตอนเช้าเพียงครั้งเดียว รอบบ่ายข้ามไปเลย ปุ๋ยก็ใส่ตามที่ลุงขายกุหลาบแนะนำอย่างเคร่งครัด แม้กุหลาบต้นที่สองนี้จะยังดูเรียบร้อยดีอยู่แต่ทว่าหลังจากที่ออกดอกรุ่นแรกไปแล้วมันก็ยังไม่ออกดอกอีกเลย

เมื่อได้ชุดนักศึกษามาแล้วผมก็ลงมือซักและรีด จากนั้นก็จัดตู้เสื้อผ้าเสียใหม่ ชุดนักเรียนก็ไม่ต้องใช้แล้ว ผมจึงปลดเสื้อนักเรียนลงมาจากไม้แขวนพร้อมกับกางเกงนักเรียนสีดำที่วางอยู่ในตู้แล้วพับเก็บเอาไว้ในลิ้นชักข้างล่าง ขณะที่เก็บเสื้อผ้าอยู่นั้นก็อดรู้สึกอาลัยอาวรณ์กับเสื้อที่ปักตราโรงเรียนไม่ได้ จากนั้นก็เอาเสื้อนักศึกษาทั้งแขนสั้นและแขนยาว พร้อมกับเนกไทและกางเกงขายาวที่ซักและรีดเรียบร้อยแล้วมาแขวนแทน โดยเฉพาะเนกไทนี่เท่ชะมัด ในชีวิตยังไม่เคยผูกเนกไทกับเขาสักทีเพราะเมื่อก่อนก็ไม่มีโอกาสพิเศษอะไรที่จะต้องผูกเนกไท

เออ แล้วผูกเนกไทกันยังไงหว่า... ไม่เป็นไร เอาไปให้พี่ที่คณะช่วยสอนก็ได้ ทีแรกคิดว่าจะเอาไปให้พี่ธิตสอนวิธีผูกให้แต่ก็เกรงว่าพี่ธิตจะคิดว่าอวดเนกไทจึงเปลี่ยนใจ



<ตึกพันธุ์ทิพย์พลาซ่าแต่ดั้งเดิมนั้นมีห้างสรรพสินค้าชื่อเอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์เช่าเหมาพื้นที่ตึกจากเจ้าของตึกไปบริหาร โดยทำเป็นโครงการดีพาร์ทเมนต์สโตร์ ภัตตาคาร ลานสเก็ต โต๊ะสนุกเกอร์ และมีร้านค้าในโซนพลาซ่า เปิดในราวปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ช่วงปี ๒๕๒๖-๒๕๒๗ เป็นยุคที่ห้างสรรพสินค้ากำลังเฟื่อง มีห้างสรรพสินค้าเกิดใหม่ขึ้นมามากมาย แต่ต่อมาในปลายปี ๒๕๒๗ เศรษฐกิจเริ่มพลิกผันเพราะทางการประกาศลดค่าเงินบาท ห้างเอกซ์เซลพอเปิดได้ไม่นานก็ขาดสภาพคล่อง ต่อมาก็มีการเทกโอเวอร์เกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๘ กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่กลายเป็นกลุ่มเจ้าของตึกนั่นเอง และเปลี่ยนชื่อห้างสรรพสินค้าชื่อพันธุ์ทิพย์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ แม่เหล็กดึงดูดคนของพันธุ์ทิพย์พลาซ่านี้มีหลายอย่าง ทั้งห้างสรรพสินค้าที่เน้นความทันสมัย มีการนำระบบบาร์โค้ดมาให้เป็นห้างแรกๆ อีกทั้งมีโรงหนังพันธุ์ทิพย์เธียเตอร์และมีลิฟต์แก้วตัวที่สองของประเทศไทย (ที่เห็นอยู่ที่มุมตึกในภาพ ลิฟต์แก้วตัวแรกอยู่ที่ห้างโรบินสันราชดำริ เปิดราวปี ๒๕๒๕) และพันธุ์ทิพย์ภัตตาคารอาหารจีนที่นิยมเอาดาราฮ่องกงมาจัดคอนเสิร์ตที่นั่น แต่แม้ว่าเปลี่ยนกลุ่มผู้ถือหุ้นแล้วกิจการก็ยังไปไม่ไหวอีกเนื่องจากในยุคนั้นห้างมาบุญครองเปิดและดึงลูกค้าไปทางด้านสยามสแควร์แทน โรงหนังกับภัตตาคารก็คึกคักได้เพียงช่วงเดียวในระยะต้นๆ ประกอบกับมีการปรับเปลี่ยนการจราจรบนถนนเพชรบุรีจากเดินรถสวนทางเป็นเดินรถทางเดียวหรือว่าวันเวย์ในปี ๒๕๒๙ ทำให้ห้างในย่านถนนเพชรบุรีและเพชรบุรีตัดใหม่ได้รับผลกระทบมาก ธุรกิจของพันธุ์ทิพย์พลาซ่าจึงซบเซา ในยุคที่ซบเซานี้เองได้มีกลุ่มผู้ค้าพระเครื่องและร้านประกอบคอมพิวเตอร์ขายส่งหรือที่เรียกกันในยุคนั้นว่าคอมพิวเตอร์ห้องแถวมาเช่าพื้นที่เนื่องจากค่าเช่าถูกมาก ต่อมาก็มีการเปลี่ยนเจ้าของอีกครั้งในปีที่ผมเข้าเรียนปี ๑ นี่เอง กลุ่มทุนใหม่ที่เข้ามาคือกลุ่มของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ใช้เวลาปรับปรุงอยู่หลายปีและเปลี่ยนแนวธุรกิจเป็นศูนย์การค้าด้านไอที นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางด้านพระเครื่องอีกด้วย พันธุ์ทิพย์พลาซ่ายุคที่เป็นธุรกิจไอทีจริงจังน่าจะเริ่มในช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๕ และมีการเจริญเติบโตเรื่อยมาจนเป็นเช่นในปัจจุบัน ส่วนโรงภาพยนตร์นั้นอยู่มาจนถึงประมาณปี ๒๕๔๔ ก็เลิกไป>