Sunday, December 4, 2011

ภาคสี่ ตอนที่ 54

“วันศุกร์แล้ว ค่ำนี้ไปต่อกันไหมน้องๆ” พี่อี๊ดเดินเข้ามาในห้องพักแผนกในช่วงเที่ยง พอเข้ามาก็หาเพื่อนเที่ยวทันที และแน่นอน ขาเที่ยวของพี่อี๊ดก็ไม่ใช่อื่นไกล เป็นพวกปีสองหรือพวกเรานั่นเอง

“ไป ไป พี่อี๊ดจะพาไปไหน” เสียงพิมพ์พูดอย่างดีใจ

“สงสัยยายพิมพ์จะชอบพี่อี๊ดว่ะ ติดพี่อี๊ดแจเลย ชวนไปไหนก็ไปหมด” สาย เพื่อนร่วมรุ่นและเป็นหนึ่งในขาเที่ยวกลุ่มพี่อี๊ดกระซิบกับผมเบาๆ

“พูดยังกับเธอไม่ได้ไปยังงั้นแหละ เห็นไปหมดเหมือนกันนี่นา” ผมเหน็บ

“วุ้ย ตาบ้า” สายตีแขนผมอย่างสนิทสนม “มันเหมือนกันที่ไหน เธอดูสายตายายพิมพ์สิ ปิ๊งๆๆเลย ชั้นว่ายายนี่มันคงชอบพี่อี๊ดแน่ๆ”

ที่จริงผมเองก็สังเกตพบท่าทีที่ผิดปกติของพิมพ์ต่อพี่อี๊ดมาก่อนหน้านี้แล้ว จึงไม่แปลกใจที่เพื่อนคนอื่นๆจะสังเกตเห็นเช่นกัน หัวข้อเรื่องพิมพ์ชอบพี่อี๊ดจึงเป็นหัวข้อที่เม้ากันสนุกโดยที่เหยื่อเม้าทั้งสองคนยังไม่ได้ระแคะระคาย

“ชอบกันก็ไม่แปลกนี่” ผมพูด “ตำรวจไม่จับ”

“นี่แน่ะ กวนโอ๊ยนักนะ” สายพูดพลางตีแขนผมอีก พลางพูดต่อ “ดูๆไป พี่อี๊ดก็เทกแคร์ยายพิมพ์เป็นพิเศษเหมือนกันนะ”

“ไม่รู้ ไม่ได้ไปนั่งเฝ้าสองคนนี้นี่หว่า” ผมกวนอีก

“โอ๊ย ไม่อยากพูดกับเธอแล้ว” สายพูดพลางหันหน้าไปทางอื่น “กวนชิบเป๋งเลย”

แผนเที่ยวในคืนวันนั้นผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเนื่องจากต้องเตรียมตัวสอนป้อมในวันรุ่งขึ้น อีกอย่าง ตั้งแต่กลับจากออกค่ายมาผมก็เริ่มมีทัศนคติที่เปลี่ยนไปบ้าง ดังนั้นจึงไม่ค่อยเสียดายโอกาสเฮฮายามราตรีกับเพื่อนๆสักเท่าใดนัก แต่ผมกลับสนใจเรื่องอื่นมากกว่า...

หลังจากเลิกเรียน ผมก็รอจนสี่โมงครึ่ง จากนั้นก็เดินมุ่งหน้าไปยังคณะศิลปกรรม

“พี่อู เข้ามาเลยค่ะ” เสียงจุ๋มพูดขณะที่ผมชะโงกหน้าเข้าไปในห้องซ้อมดนตรี

ครั้งนี้ผมไม่ได้ชะโงกหน้าเข้าไปในห้องแล้วออกมารอที่ระเบียงเหมือนครั้งก่อนๆ แต่กลับเดินเข้าไปในห้องเลย ภายในห้องซ้อมมีเพียงแต่จุ๋มคนเดียว จุ๋มกำลังซ้อมไวโอลินอยู่

“วันนี้โชคดี ไม่มีใครใช้ห้องซ้อมตอนเย็นเลย เพิ่งเปิดเทอมไม่นาน คนยังใช้น้อยอยู่” จุ๋มพูด พลางวางไวโอลินและคันชักในมือลง

“ทางสะดวก” ผมพูดพลางหัวเราะ แต่แล้วก็อดถามไม่ได้ “แล้วถ้าใครมาเห็นเข้าจะเป็นไรไหม”

“ไม่เป็นไรมั้ง” จุ๋มตอบ “พี่อูก็เคยทำมาแล้วนี่”

“ก็ใช่หรอก” ผมเห็นด้วย “ว่าแต่วันนี้มีอะไรให้พี่เล่นล่ะ”

“ลองนี่ดูละกัน เอาอย่างง่ายๆไปก่อน” จุ๋มพูด พลางหยิบแฟ้มใส่โน้ตเปียโนขึ้นมาเล่มหนึ่ง “ไปนั่งที่เปียโนเลยพี่อู”

ผมเดินไปนั่งที่เปียโน วันนี้ผมแอบเข้ามาเล่นเปียโนในห้องซ้อมอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ไม่ได้มาใช้นานแล้ว โดยครั้งก่อนนั้นผมมากับพี่เหล่ง แต่ในครั้งนี้จุ๋มเป็นคนหาเวลาว่างให้

“อะ พี่อูลองซ้อมเล่นเพลงนี้ดูก่อน” จุ๋มพูด พลางกางแฟ้มใส่โน้ตเพลงเล่มนั้นออก เลือกกางหน้าที่ต้องการออกมาจากนั้นวางลงบนหน้าเปียโนเพื่อให้ผมหัดเล่น

“เฮ้ย” ผมอุทานเบาๆ

เมื่อผมเห็นเพลงหน้าที่จุ๋มเลือกให้ ผมก็ต้องอุทานออกมา เพราะมันคือเพลง Canon in D ของพาเชลเบลนั่นเอง

“ทำไมคะ พี่อูรู้จักเหรอ” จุ๋มถาม

“รู้จักสิ เพลงโปรดเลยล่ะ” ผมตอบ พลางนึกไปถึงเพลง Kanon จากชุดดีเซ็มเบอร์ (December) ของจอร์จ วินสตัน ที่ไอ้บอยมอบให้ผมเมื่อนานมาแล้ว “อยากเล่นเพลงนี้ได้มานานแล้ว”

เพลง Canon in D นั้นมีเป็นนับร้อยเวอร์ชันเพราะเป็นเพลงที่โด่งดังมาก โน้ตเปียโนเวอร์ชันนั้นไม่ยากนัก อีกทั้งไม่ใช่เวอร์ชันสำหรับเดี่ยวเปียโน แต่เป็นเวอร์ชันแบบเล่นคู่หรือที่เรียกว่าดูเอต (duet) คือเล่นด้วยเครื่องดนตรีสองชิ้น สำหรับไวโอลินกับเปียโน แนวไวโอลินเป็นแนวทำนองหลัก ส่วนแนวเปียโนเป็นแนวคลอหรือที่เรียกว่า accompaniment และตัดทอนบทเพลงให้สั้นลงกว่าฉบับดั้งเดิม ผมหัดก๊อกๆแก๊กๆสักสิบนาทีก็พอจะเล่นได้แล้ว

“พอไหวไหม” ผมถาม

“จังหวะยังไม่แม่นค่ะ แต่ลองดู” จุ๋มตอบ พลางยกไวโอลินขึ้นหนีบกับซอกคอ “พี่อูเริ่มเล่นก่อนเลย”

ผมเริ่มเล่นเพลงนั้นอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจุ๋มก็สีไวโอลินตาม ผมเล่นแนวสำหรับเปียโนไปเรื่อยๆ ที่จริงแนวเปียโนเป็นแนวคลอ ส่วนแนวไวโอลินอันเป็นแนวทำนองหลัก แต่ปรากฏว่าจุ๋มต้องพยายามสีไวโอลินคลอตามจังหวะการเล่นของผมซึ่งช้าๆเร็วๆไม่แน่นอน

“ไม่หวาย” ผมพูดหลังจากถูไถเล่นไปจนจบเพลง “พี่เล่นไม่เอาอ่าวเลย”

ไม่เอาอ่าวก็คือไม่เอาไหนนั่นเอง สำนวนนี้ใช้กันในยุคนั้น แต่ปัจจุบันคงไม่มีใครพูดกันแล้ว

“ลองอีกทีพี่อู คราวนี้เคาะเท้าคุมจังหวะไปด้วย” จุ๋มบอก

เราลองเล่นกันอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ผมตบเท้ากับพื้นห้องเบาๆเพื่อนับจังหวะไปด้วย ทำให้จังหวะการเล่นแม่นยำขึ้น หลังจากที่ซ้อมกันสักสองสามครั้ง เพลงนี้ก็เข้ารูปเข้ารอย จากที่ไวโอลินต้องคอยตามเปียโนมาเป็นเปียโนคลอตามไวโอลิน ฟังไปก็เพราะดีเหมือนกัน

“เอาละพี่อู เมื่อกี้ซ้อมใหญ่ คราวนี้ออกโรงแล้วนะ” จุ๋มพูดแล้วก็หัวเราะ “เล่นเป็นรอบสุดท้าย คราวนี้เอาจริงแล้ว”

ผมพรมนิ้วลงบนคีย์เปียโนก่อนด้วยท่อนอินโทร จากนั้นจุ๋มจึงสีไวโอลินตาม ผมเล่นบทเพลงเที่ยวนี้อย่างตั้งใจที่สุด เสียงไวโอลินหวานและอ้อยอิ่ง ในจินตนาการ ผมเห็นหิมะขาวโพลนปกคลุมต้นสน ในค่ำคืนอันหนาวยะเยือกและเดียวดาย คล้ายกับผมเข้าไปอยู่ในภาพหน้าปกเทปชุด December ผมมองเงาของจุ๋มที่สะท้อนอยู่บนผิวไม้เคลือบแชลแล็คของเปียโน รู้สึกราวกับอยู่ในภวังค์

ผมรู้สึกว่าการเล่นดนตรีคู่คล้ายกับการเล่นกีฬาเป็นทีมตรงที่เป็นการกิจกรรมที่ต้องอาศัยการสอดประสานกันเป็นอย่างดีระหว่างผู้เล่นแต่ละคน แต่ก็แตกต่างจากการเล่นกีฬาตรงที่การเล่นดนตรีใช้จินตนาการและการสื่อสารกันทางอารมณ์มากกว่า ในชั่ววูบหนึ่งของอารมณ์ ผมรู้สึกถึงความเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันในขณะที่เล่นดนตรี และในจินตนาการของผม เงาร่างที่สะท้อนอยู่บนตัวเปียโนนั้นคลับคล้ายจุ๋มแต่ก็คลับคล้ายไม่ใช่...

เวลาครึ่งชั่วโมงผ่านไปอย่างรวดเร็วราวกับเพียงห้านาที เสียงไวโอลินแผ่วเบาลงทีละน้อยขณะที่จุ๋มลากคันชักอย่างช้าๆไปจนสุดคัน และแล้ว ในที่สุดบทเพลงก็จบลง

จุ๋มดึงไวโอลินออกจากซอกคอ และตบมือให้ผมเบาๆ ผมจึงละมือจากคีย์เปียโนและลุกขึ้นยืนโค้งคำนับลมๆแล้งๆโดยเลียนแบบนักดนตรีที่เคยดูจากทีวี จุ๋มหัวเราะขำ

“สนุกจัง” ผมพูด พลางเก็บแฟ้มใส่โน้ตเพลงและปิดฝาเปียโนลง “จุ๋มคงต้องกลับแล้วใช่ไหม”

“ค่ะ” จุ๋มรับคำ “เกือบห้าโมงแล้ว ต้องกลับบ้านแล้วล่ะ”

ผมรู้ดีว่าจุ๋มต้องกลับบ้านตามเวลา การเล่นดนตรีสองคนนั้นสนุกมาก ผมยังประทับใจกับความรู้สึกในขณะที่เล่นดนตรีคู่กับจุ๋มได้

“พี่เล่นแย่ไปหน่อย” ผมพูด “สนิมเกาะนิ้ว ไม่ได้เล่นเสียตั้งนาน”

“ใช้ได้แล้วล่ะพี่อู” จุ๋มพูดให้กำลังใจผม

“ถ้าจุ๋มไม่ช่วยหัดให้พี่ก็คงไม่ได้แบบนี้หรอก” ผมตอบ และพูดด้วยความรู้สึกจากใจ “ขอบคุณนะ...”

จุ๋มยิ้มให้โดยไม่พูดอะไร จุ๋มเก็บของอยู่สักครู่ จากนั้นเราก็เดินออกจากห้องซ้อม เราเดินไปด้วยกันเรื่อยๆเพื่อไปยังป้ายรถเมล์สามย่าน อากาศยามเย็นในเดือนพฤศจิกายนสดใส สนามหญ้าผืนใหญ่เขียวขจีจากฝนอันชุ่มฉ่ำในฤดูฝนที่เพิ่งผ่านมา ผมยังใจลอยนึกถึงบทเพลงที่เพิ่งเล่นจบไปเมื่อครู่

“เริ่มเรียนหนักหรือยังพี่อู” จุ๋มชวนคุยขณะที่เราสองคนเดินอยู่บนสนามหญ้า หญ้าที่ขึ้นงามให้ความรู้สึกนุ่มเท้าในขณะที่เดิน

โดยทั่วไปแล้วช่วงเปิดเทอมถือเป็นช่วงที่เรียนกันสบายๆ การบ้านก็ยังไม่ค่อยมี แต่พอผ่านไปได้สักระยะหนึ่งก็จะเริ่มเรียนหนักขึ้นและหนักขึ้น

“การบ้านชักเริ่มเยอะแล้วล่ะ แต่พี่ก็ไปเรื่อยๆ เรียน สอนพิเศษ งานชมรม ชีวิตก็มีเท่านี้” ผมตอบ “อ้อ แล้วก็มีไปเที่ยวกับเพื่อนๆบ้าง”

“นั่นมันก็หลายอย่างแล้วนะ ยังบอกมีเท่านี้อีก” จุ๋มหัวเราะ

“นั่นสิ ที่จริงก็หลายอย่างอยู่เหมือนกัน” ผมเออออเห็นด้วย “ยังดีที่ไม่ได้มีเยอะกว่านี้ เมื่อวันก่อนป้อมงอแง จะให้พี่ติววิชาภาษาอังกฤษให้ด้วย ไม่รู้คิดยังไงของเค้า พี่บอกให้หานักศึกษาที่รับติวภาษาอังกฤษจะตรงกว่า ป้อมก็ไม่เอา”

“แล้วพี่อูตอบไปว่ายังไงล่ะ” จุ๋มถาม

“พี่ก็ไม่คิดจะสอนหรอก แต่ป้อมงอแงมาก พี่เลยบอกให้ไปถามพ่อก่อน ต้องให้พ่ออนุญาตก่อนแล้วค่อยมาคุยกัน” ผมตอบ “ถ้าพ่อป้อมเห็นด้วย และถ้าพี่รับสอน งานพี่ก็เยอะขึ้นอีก”

“แล้วก็ได้เงินเยอะขึ้นด้วย” จุ๋มพูดต่อให้

“แต่พี่เดาว่าพ่อป้อมไม่เอาพี่มากกว่า” ผมส่ายหน้า “ที่จริงหากคิดเรื่องเงินก็ไม่น่ารับหรอก มันไม่คุ้มเหนื่อย ไม่มีนักศึกษาคนไหนรับติวแบบนี้กัน”

“อ้าว ทำไมละคะ” จุ๋มสงสัย

“ปกตินักศึกษาจะสอนวิชาที่ตนเองถนัด แล้วหานักเรียนมาเรียนให้ได้หลายๆคน เตรียมสอนครั้งหนึ่งก็หากินได้หลายครั้ง นี่พี่เตรียมการสอนหลายหลายวิชาแต่หากินกับนักเรียนคนเดียว แค่เตรียมการสอนก็อ้วกแล้ว คิดยังไงก็ไม่คุ้ม” ผมอธิบาย

“แปลว่าถึงพ่อป้อมอนุญาต พี่อูก็จะไม่สอน” จุ๋มถามอีก

“เอ้อ...” ผมอึ้ง ผมเองก็ไม่ได้เตรียมหาคำตอบในเรื่องนี้เอาไว้เหมือนกัน เพราะผมเชื่อว่าถึงอย่างไรพ่อของป้อมก็คงไม่เห็นด้วยแน่ เพราะหากต้องการนักศึกษาติววิชาภาษาอังกฤษ พ่อแม่คนไหนก็คงหานักศึกษาที่เรียนเอกภาษาอังกฤษมาสอนมากกว่าให้นักศึกษาคณะเทคโนสอน

เมื่อจุ๋มถามประเด็นนี้ขึ้นมา ผมก็อดคิดไม่ได้ว่าหากพ่อป้อมไม่ขัดข้องขึ้นมา แล้วผมจะติวภาษาอังกฤษให้แก่ป้อมหรือไม่ หากสอนก็คงเหนื่อยขึ้นอีกมาก แต่หากไม่สอนก็นึกถึงสีหน้าที่แสดงความผิดหวังของป้อม...

“แล้วจุ๋มคิดว่ายังไงล่ะ” ผมถาม

“จุ๋มคิดยังไงน่ะเหรอ...” จุ๋มพูดช้าๆแบบใช้ความคิด “จุ๋มคิดยังไงไม่สำคัญหรอก สำคัญอยู่ที่พี่อูคิดยังไงต่างหาก พี่อูคิดว่าตัวเองเป็นครูของป้อม ไม่ใช่นักศึกษารับจ้างสอนพิเศษ... ถูกไหมคะ”

คำพูดของจุ๋มทำให้ผมถึงกับชะงักเท้า ผมไม่เคยแยกแยะความรู้สึกของตนเองต่อการสอนพิเศษให้แก่ป้อมมาก่อน ผมหันไปมองหน้าจุ๋ม

“เอ้อ ไม่รู้สิ...” ผมตอบอย่างลังเล “แล้วมันต่างกันตรงไหนล่ะ...”

“เมื่อไรที่พี่อูรู้ เมื่อนั้นพี่อูก็มีคำตอบ” จุ๋มพูดพลางหัวเราะ

“พูดแบบนี้เหมือนไม่ได้ตอบอะไร โธ่เอ๊ย หลงฟังอยู่ตั้งนาน” ผมบ่นอุบ “รู้ยังงี้ไม่ถามดีกว่า”

- - -

“โอ๊ย เซ็งเลยพี่อู” ป้อมเปิดประตูหน้าบ้านเพื่อต้อนรับผมในตอนเช้าวันเสาร์ พอเห็นหน้าผมเท่านั้นก็เริ่มบ่นด้วยเสียงงุ้งงิ้งน่ารัก

“คุณชายเป็นอะไรไปล่ะ” ผมถาม “ใครกล้าบังอาจทำให้คุณชายเซ็ง บอกมาเลย เดี๋ยวพี่อูจะจัดการให้”

“ก็พ่อน่ะสิ” ป้อมตอบ “พี่อูไปจัดการให้หน่อยเร็ว”

“เฮ้ย ไม่ได้ ต้องยกเว้นเอาไว้คนนึง จะหาเรื่องให้พี่ตกงานแล้วไหมล่ะ” ผมรีบปฏิเสธ “ว่าแต่เกิดอะไรขึ้นล่ะ”

“ก็พ่อไม่ให้ป้อมเรียนภาอังกฤษกับพี่อูน่ะสิ” ป้อมตอบ สีหน้าบ่งบอกอาการเซ็งอย่างชัดเจน

ผมไม่รู้สึกผิดคาด นึกอยู่แล้วว่าคงออกมาในรูปนี้

“พ่อบอกว่าถ้าอยากเรียนจริงๆจะหาครูอีกคนมาสอนให้” ป้อมพูดต่อ

“ก็ดีแล้วนี่ น่าจะตรงกว่านะ” ผมสนับสนุน แต่ในส่วนลึกก็อดผิดหวังนิดๆไม่ได้ที่รู้สึกว่าพ่อของป้อมไม่ให้ความไว้วางใจผม

“ไม่เอา ป้อมอยากให้พี่อูสอน” คุณชายป้อมเริ่มโยเยอีก

“อ้าว ก็คุณพ่อไม่ให้สอน แล้วจะให้พี่สอนได้ยังไง” ผมหัวเราะ

“ไม่รู้ล่ะ พี่อูต้องหาทาง” ป้อมไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ระเบิดอารมณ์คุณหนูออกมา

“เวรกรรม แล้วจะหาทางอะไรได้ล่ะ” ผมตอบ

“ถ้าพ่อไม่อนุญาตแล้วพี่อูสอนไม่ได้เพราะอะไรล่ะ” ป้อมถาม “พ่อก็ส่วนพ่อ ป้อมก็ส่วนป้อม”

“อ้าว พูดซะยังงั้น” ผมหัวเราะขำกับอารมณ์คุณหนู แต่แล้วก็รีบเปลี่ยนเป็นสีหน้าจริงจัง “มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องค่าจ้างสอนนะ ป้อมอย่าเข้าใจผิด แต่ว่ามันเป็นเรื่องของความเชื่อถือ พี่ไม่ได้เรียนเอกภาษาอังกฤษ ดังนั้นพ่อของป้อมอาจไม่สบายใจที่จะให้พี่ติวภาษาอังกฤษให้ป้อม เพราะกลัวว่าพี่อาจสอนอะไรผิดๆให้แก่ป้อม พี่เข้าใจคุณพ่อนะ ป้อมเองก็ต้องเข้าใจด้วยเหมือนกัน”

คราวนี้ป้อมไม่เถียงอีก แต่ทำเสียงฮึฮึด้วยความไม่พอใจ ดังที่เคยบอกว่าป้อมน่ารักตรงที่ไม่งอแงมาก แค่งอแงเพียงนิดหน่อยแล้วก็ยอม แต่สีหน้าของป้อมบ่งบอกอารมณ์ผิดหวังอย่างแรง

วันนั้นป้อมมีอาการจ๋อยตลอดการสอนในช่วงเช้า ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษจึงกลายเป็นประเด็นขึ้นมาได้ ที่จริงป้อมน่าจะดีใจที่เรียนแค่นี้ด้วยซ้ำไป เพราะว่าเรียนมากก็เคร่งเครียดมาก

“เอาล่ะ วันนี้พอเท่านี้” ผมพูด ตอนนั้นนาฬิกาบนผนังบอกเวลาเที่ยงแล้ว “การบ้านที่ให้ไปป้อมไปทำต่อเองนะ แล้วมาเฉลยกันครั้งหน้า”

“พี่อูไม่อยู่ช่วยป้อมทำการบ้านตอนบ่ายเหรอ” ป้อมถาม น้ำเสียงแสดงความผิดหวัง ฟังแล้วก็อดสงสารไม่ได้

“บ่ายนี้พี่มีงานอื่นต้องทำ คงไม่ได้อยู่ช่วยป้อมทำการบ้านหรอก” ผมปฏิเสธ

“เออ... จะไปไหนก็ไปเลย” ป้อมไล่ส่ง ผมได้ยินแล้วก็อดขำไม่ได้

- - -

ผมไม่ได้หลอกป้อมเลย บ่ายวันนั้นผมมีงานที่ต้องทำจริงๆ หลังจากที่ผมออกจากบ้านป้อม ผมก็ไปที่มหาวิทยาลัย

“โอ้โฮ ลมอะไรหอบไอ้เหี้ยอูมาถึงนี่วะ” เสียงเอะอะเฮฮาทักทายผมกันขรมเมื่อผมโผล่ไปที่ชมรมวิชาการในตอนบ่ายวันเสาร์ โดยเฉพาะเสียงของไอ้กี้ดังเป็นพิเศษ

ในเทอมสองนี้ผมขึ้นมาทำงานที่ชมรมน้อยลงเพราะต้องแบ่งเวลาไปให้กับเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะ
ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์นี่ตั้งแต่เปิดเทอมมาผมไม่ได้มาชมรมในวันหยุดเลย เพิ่งจะมาในวันนี้เอง ต่างจากเทอมที่แล้วที่ผมแทบยึดเอาชมรมเป็นบ้านหลังที่สอง

“แวะมาถามหาหนังสือเรียนหน่อย” ผมตอบ “มึงมีหนังสืออีเอ็นปีหนึ่งไหมวะ”

หนังสืออีเอ็น (EN) หมายถึงแบบเรียนภาษาอังกฤษนั่นเอง สำหรับที่คณะเทคโนในยุคนั้นเรียนภาษาอังกฤษทั้งหมด ๓ เทอมหรือเรียกว่าสามเล่ม ปีหนึ่งเรียนสองเล่ม ปีสองเทอมหนึ่งเรียนอีกหนึ่งเล่ม

“ไม่มีโว้ย ให้น้องไปหมดแล้ว” ไอ้กี้ปฏิเสธ “มึงจะหาไปทำไม”

“จะเอามาดูอะไรหน่อย” ผมตอบเลี่ยงๆ

“จะหาก็ต้องไปขอจากพวกปีหนึ่งโน่น” ไอ้กี้ตอบ

ผมเที่ยวไล่ขอยืมหนังสือจากพวกปีหนึ่ง แต่ก็ได้ภาษาอังกฤษเล่มหนึ่งมาเพียงเล่มเดียว ส่วนเล่มสองไม่มีใครให้ยืมเนื่องจากกำลังใช้เรียนอยู่ในภาคเรียนปัจจุบัน แต่ได้มาเพียงเล่มเดียวก็ยังดี...


ฟังเพลง Canon in D ฉบับบรรเลงด้วยไวโอลินกับเปียโน




<เพลง Canon in D นั้นมีเป็นนับร้อยเวอร์ชันเพราะเป็นเพลงที่โด่งดังมาก แต่งโดยโยฮันน์ พาเคลเบล (Johann Pachelbel) นักดนตรีและนักแต่งเพลงชาวเยอรมนีในยุคบารอค สันนิษฐานกันว่าเพลงนี้น่าจะแต่งในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ หรือเมื่อราวสามร้อยกว่าปีมาแล้ว ในภาพเป็นโน้ตเพลงในเวอร์ชันไวโอลินกับเปียโน>