Sunday, August 21, 2011

ภาคสี่ ตอนที่ 40


เช้าวันหนึ่ง ขณะที่ผมกำลังเดินเข้าไปในโรงอาหารเพื่อกินอาหารเช้า วันนั้นผมเห็นนักศึกษามุงกันอยู่ที่ทางเข้าโรงอาหาร ดูท่าทางคงกำลังเอะอะเฮฮาอะไรสักอย่าง

“ไหน ร้องเพลงชาวปูให้ฟังหน่อย” ได้ยินเสียงลอดออกมาจากกลุ่มนักศึกษากลุ่มนั้น

“เต้นด้วยๆ” ได้ยินเสียงลอดมาอีก

ผมเดินเข้าไปมุงดูบ้างด้วยความอยากรู้ ภาพที่ผมเห็นนั้นก็คือชายแต่งกายในชุดนักศึกษาแปลกๆด้วยการใส่เสื้อนักศึกษาหญิงแต่ใส่กางเกงสแล็กแบบนักศึกษาชาย รวมทั้งยังไว้ผมยาวและใส่รองเท้าส้นสูง ดูไม่รู้ว่าเป็นเครื่องแบบของสถาบันไหน ชายคนนี้กำลังส่ายเอวเต้นระบำท่ามกลางเสียงเชียร์ของนักศึกษา ชายคนนี้เองที่ผมนั่งกินอาหารด้วยเมื่อตอนเข้ามาเรียนปีหนึ่งใหม่ๆและทำให้ผมตกใจเพราะเครื่องแต่งการที่แหวกแนว พร้อมกับเรียกผมว่า ‘ตัวเอง’

คนนี้อีกแล้ว ผมคิดในใจ อดสงสัยไม่ได้ว่าเป็นใคร แต่งตัวก็แปลก พฤติกรรมก็แปลก

“พวกเราชาวปู อยู่ในรู กระดึ๊บ กระดึ๊บ” ชายแต่งตัวประหลาดคนนั้นร้องเพลงประกอบการส่ายเอวเข้าจังหวะ

“คนนี้ใครกันน่ะ” ผมถามนักศึกษาคนหนึ่งที่ยืนอยู่ใกล้ๆ

“พี่ปูน้อย” นักศึกษาคนนั้นตอบ

“แล้วเค้าเป็นใคร แบบว่ามาจากไหน เรียนที่ไหนน่ะ” ผมถามต่อ

“ไม่รู้เหมือนกัน” นักศึกษาคนนั้นส่ายหัว “ได้ยินคนเรียกกันว่าพี่ปูน้อย นานๆจะเห็นสักที”

ผมรู้สึกสนใจชายแต่งตัวแปลกที่ชื่อพี่ปูน้อยคนนี้จึงยืนดู เพียงครู่เดียวพี่ปูน้อยก็หยุดเต้นระบำและยืนคุยกับพวกนักศึกษา เรื่องที่คุยก็เป็นเรื่องอาณาจักรดาวปู แต่เพียงไม่นานนักศึกษาที่มุงอยู่ก็สลายตัวไป ในที่สุดก็เหลือเพียงพี่ปูน้อยยืนอยู่เพียงคนเดียว

เมื่อผมรู้ว่าแกไม่ทำร้ายใครก็ไม่ค่อยกลัวแกแล้ว ด้วยความอยากรู้ทำให้ผมเดินเข้าไปหา

“หวัดดีครับ” ผมทักทาย อยากลองคุยกับแกดู

“หวัดดีจ้ะ” พี่ปูน้อยทักทายตอบ “ชื่อไรน่ะ ตัวเอง”

“ชื่ออูครับ” ผมตอบ “พี่ชื่ออะไรล่ะ”

“ปีไหนแล้วเนี่ย” พี่ปูน้อยไม่ตอบคำถามแต่ถามผมอีก

“ปีสองครับ” ผมตอบ แล้วลองเปลี่ยนคำถามใหม่ “แล้วพี่ล่ะ เรียนที่ไหน ปีอะไรครับ”

“เค้าก็เรียนที่นี่ไง” พี่ปูน้อยตอบ แต่ไม่ตอบคำถามที่ว่าเรียนปีไหน

“พี่เรียนแผนกอะไรครับ” ผมถามอีก

“นี่ชาวปู” พี่ปูน้อยเรียกผม “เค้าต้องไปแล้ว เดี๋ยวเข้าเรียนไม่ทัน”

พูดจบก็เดินไปหยิบหนังสือเรียนที่วางอยู่บนม้านั่งแถวๆนั้น ผมเห็นเป็นตำราภาษาอังกฤษเล่มหนาสองสามเล่ม จากนั้นก็เดินจากไป

“พี่จะไปเรียนที่ห้องไหนน่ะ” ผมถามอีก

“โน่น ตึกโน้น” พี่ปูน้อยบุ้ยใบ้ไปทางตึกหลังหนึ่งที่อยู่ไม่ไกล “ไปละนะ”

พูดจบก็เดินจากไป ปล่อยให้ผมยืนงงอยู่ คุยกันอยู่สักพักแต่ว่าแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับแกเพิ่มเติมเลย

- - -

“ท่านประธาน ถามอะไรหน่อยสิ” ผมพูดกับพี่ตั้วหลังจากที่ขึ้นมาถึงชมรมแล้ว

“มีอะไรท่านสมาชิกว่ามาได้เลย” พี่ตั้วยืดอก ทำท่าให้ภูมิฐานสมกับเป็นท่านประธาน

“อยากทราบว่าเช้านี้ท่านประทานกินยาเรียบร้อยแล้วหรือยัง” ผมพูด

“ยาอะไรหรือท่านสมาชิก” พี่ตั้วถาม “ผมไม่ได้ป่วยอะไรนี่”

“อ้าว นึกว่าท่านประธานป่วยเป็นโรคจิต ต้องกินยาทุกวันเสียอีก” ผมหัวเราะ “คนดีๆใครเค้าเป็นแบบนี้กันบ้างล่ะ”

“ไอ้บ้า” พี่ตั้วหัวเราะบ้างพลางลุกขึ้นมาไล่เตะผม ผมหนีไปรอบๆห้อง

“เดี๋ยวๆๆ” ผมร้องห้ามแล้วรีบพูดต่อ “มีเรื่องถามจริงๆ จะถามเรื่องพี่ปูน้อย”

พี่ตั้วหยุดวิ่งไล่เตะผม แล้วถาม

“พี่ปูน้อย มีอะไรเหรอ”

“พี่ตั้วรู้จักไหม” ผมพูด “คนที่แต่งตัวแปลกๆน่ะ ผมเห็นพี่แกที่หน้าโรงอาหาร เลยอยากรู้ว่าเป็นใคร ปีที่แล้วก็เห็นทีหนึ่ง”

“อ๋อ” พี่ตั้วหัวเราะ “เดิมเค้าชื่อพี่อ้อยหวานน่ะ มาป้วนเปี้ยนในมหาวิทยาลัยนี้อย่างน้อยก็สิบปีแล้วมั้ง”

“โห พี่เรียนมานานขนาดนั้นเลยเหรอ ไม่ยักรู้ว่าเป็นซูเปอร์ฟอสซิล” ผมลอบกัดพี่ตั้วอีก

“เดี๋ยวโดนเตะ ใครจะเรียนนานขนาดนั้น” พี่ตั้วพูด “นี่อาจารย์ที่ปรึกษาของชมรมเราเล่าให้ฟังเอง อาจารย์เคยเล่าว่าเห็นพี่อ้อยหวานคนนี้ตั้งแต่อาจารย์เองยังเป็นนักศึกษา ก็กว่าสิบปีมาแล้วนั่นแหละ”

“พี่คนนี้มาเรียนที่นี่หรือไง” ผมสงสัย “แล้วอาจารย์ที่นี่ให้เข้าห้องเรียนด้วยเหรอ”

“นายถามเรื่องพี่อ้อยหวานไปทำไมน่ะ” พี่ตั้วชักสงสัย “ซักจังเลย จะเอาไปทำรายงานหรือไง”

“เปล่าพี่ แต่ผมเห็นว่าเค้าแปลกๆ” ผมตอบพลางหยุดคิดนิดหนึ่ง “ดูแกน่าสงสาร ผมว่าพี่อ้อยหวานคงมีความหลังฝังใจอะไรกับมหาวิทยาลัยอยู่ถึงได้ทำแบบนี้”

“ก็...” พี่ตั้วพูดแล้วหยุดไปนิดหนึ่ง “เค้าลือกันว่า... จริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้นะ... ว่าพี่คนนี้เดิมเป็นนักศึกษาแพทย์ มีคนรักด้วย แล้วต่อมาคนรักต้องมาจากไปเพราะเกิดอุบัติเหตุ ดูเหมือนว่าจะถูกรถชน แกเสียใจมากจน เอ่อ...ต้องหนีออกจากโลกของความเป็นจริง จากนั้นมาแกก็เลยแต่งตัวครึ่งหญิงครึ่งชาย เรียนก็ไม่จบ แล้วก็ใช้ชีวิตแวะเวียนไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ”

“อ้อ ไม่ได้อยู่ประจำที่นี่หรอกเหรอ” ผมถามอีก

“มีคนเจอพี่อ้อยหวานแทบจะทุกมหาวิทยาลัยเลยมั้ง จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ แม้แต่มหาวิทยาลัยเอกชนก็มีคนเคยเห็นแก นี่เป็นเรื่องที่เล่าต่อๆกันมานะ จริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้”

“อือม์ ถ้าจริงก็น่าสงสารนะพี่” ผมพูดอย่างครุ่นคิด “ความรักทำร้ายคนได้ขนาดนี้เลยนะ... ชีวิตหนึ่งเสียไป อีกชีวิตก็เหมือนตายทั้งเป็น...”

“นายอย่าไปคิดแทนเค้าในแง่ร้ายสิ” พี่ตั้วขัดคอ “ตอนนี้พี่อ้อยหวานอาจจะมีความสุขอยู่ในโลกอีกใบหนึ่งที่แกสร้างขึ้นมาเองก็ได้ ใครจะรู้”

- - -

“ไอ้อู ไอ้อู” เสียงไอ้กี้เรียกผมในตอนเช้าวันหนึ่ง เมื่อมันมาถึงชมรมก็รีบเดินเข้ามาทักผม “มึงยังมีหนังสือคณิตศาสตร์ ม.๔ หรือเปล่า พวกข้อสอบ หนังสือติวด้วย”

“มีสิ” ผมตอบ

“ขอเถอะว่ะ” ไอ้กี้ขอดื้อๆ

“ไม่ให้โว้ย แต่ถ้าขายอาจจะลองคิดดู” ผมตอบแบบไร้เยื่อใย

“ไอ้เหี้ยนี่” ไอ้กี้หัวเราะ “เกิดงกขึ้นมานะมึง”

“มึงจะเอาไปทำอะไร แล้วหนังสือ ม.ปลายของมึงไปไหนล่ะ” ผมถาม

“กูสอบเอนทรานซ์เสร็จก็ชั่งกิโลขายไปหมดแล้ว นึกว่าคงไม่ได้ใช้อีก นี่กูจะเอาไปสอนพิเศษโว้ย” ไอ้กี้ตอบ

“สอนพิเศษเหรอ” ผมแปลกใจ ไม่นึกว่าไอ้กี้จะตัดสินใจสอนพิเศษจริงๆ “สอนที่ไหน แล้วได้เท่าไรวะ”

“สอนที่บ้านเด็กนักเรียนนั่นแหละ วันเสาร์ ซอยสุขุมวิท ๑๐๑ สามชั่วโมงสี่ร้อยบาท” ไอ้กี้ตอบ

“ได้เยอะนี่หว่า” ผมพูด “ซื้อหนังสือเองดิ หัดลงทุนบ้าง ขี้เหนียวนักนะมึง”

“ไอ้ห่านี่” ไอ้กี้หัวเราะตาหยี “อย่าเรื่องมาก บอกให้เอามาก็เอามาให้กูเถอะน่า”

“นี่มึงมีเรื่องจะขอร้องกูแล้วมึงพูดแบบนี้เหรอ” ผมถาม

“ตกลงมึงจะให้หรือไม่ให้” ไอ้กี้พยายามทำตาโตใส่ผม แต่มันก็ไม่โตเท่าไร

“ให้ก็ได้ หน้าด้านฉิบหายเลยมึง” ผมตอบ ผมกับไอ้กี้เรียนด้วยกันมาหลายปี แม้ภายนอกเราเหมือนกับจะเป็นคู่กัดกัน แต่ลึกๆแล้วก็ยังมีความรู้สึกของเพื่อนสนิทแฝงอยู่ด้วย

“แค่นี้แหละ เรื่องมากนักนะมึง” ไอ้กี้ด่าผมซ้ำอีก

- - -

หลังจากที่เปิดภาคเรียนไปได้ระยะหนึ่ง กิจกรรมต่างๆก็ตามมา ปีนี้ผมไปงานค่ายน้องใหม่ที่ต้องไปพักแรมที่ต่างจังหวัดอีกครั้งหนึ่งแต่ทว่าในปีนี้ผมไปในฐานะรุ่นพี่ สถานที่เป็นชายทะเลแห่งหนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นจังหวัดเพชรบุรี ได้น้องรหัสต่างคณะมาคนหนึ่ง เป็น เป็นนักศึกษาชายคณะบริหารธุรกิจ ชื่อแปลกๆว่ากลม แต่ที่จริงรูปร่างก็พอดี ไม่ได้อ้วนกลมแต่อย่างใด ใส่แว่น หน้าตาดูใสๆดี

หลังจากงานรับน้องที่ต่างจังหวัดแล้วผมก็ต้องไปต่างจังหวัดอีกครั้ง คราวนี้เป็นงานรับน้องของแผนกซึ่งพวกเราชั้นปีสองไปในฐานะน้อง สถานที่จัดงานรับน้องครั้งนั้นคือหาดก้นอ่าว แถวบ้านเพ จังหวัดระยอง ไม่รู้ว่าทำไมงานรับน้องต้องจัดแต่ที่ชายทะเลเหมือนกัน ไปมาหลายครั้งมีแต่ชายทะเล

งานรับน้องแผนกนี้เป็นงานไม่ใหญ่ นักศึกษาที่ไปทั้งหมดเพียงเจ็ดสิบแปดสิบคน ไม่ได้ไปกันเป็นพันคนแบบงานค่ายรับน้องของมหาวิทยาลัย บรรยากาศการรับน้องแผนกก็อบอุ่น ซุ้มรับน้องก็ไม่โหด การไปในครั้งนี้ทำให้พวกเราที่อยู่ชั้นปีสองที่แต่ละคนมาจากต่างกลุ่มกันสนิทสนมกันมากขึ้น รวมทั้งยังทำให้พวกเราสนิทกับรุ่นพี่มากขึ้นอีกด้วย

หลังจากที่กลับมาจากงานรับน้องในต่างจังหวัด ผมก็พาน้องกลมไปเลี้ยงตามธรรมเนียมของรุ่นพี่ที่ดี ส่วนกับเพื่อนในแผนกนั้นผมเริ่มมีกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆมากขึ้น เมื่อก่อนหลังจากเลิกเรียนส่วนใหญ่ผมก็จะอยู่ที่ชมรม แต่หลังจากที่กลับจากต่างจังหวัดแล้วผมแบ่งเวลาหลังเลิกเรียนของบางวันมานั่งเล่นในห้องพักแผนกด้วยเพื่อที่จะนั่งคุย ปรึกษางานกลุ่ม รวมทั้งลอกสมุดจดวิชาบรรยายของเพื่อนๆด้วย และบ่อยครั้งที่เย็นวันนั้นไม่ได้จบลงที่ห้องพักแผนก แต่ไปจบลงตามร้านต่างๆในสยามสแควร์ มาบุญครอง และเวิลด์ทรดเซ็นเตอร์ ส่วนใหญ่เป็นร้านขายอาหารจานด่วนแบบตะวันตกจำพวกแมคโดนัลด์ เคนตักกี้ พิซซ่าฮัท ฯลฯ หรือไม่ก็ร้านไอศกรีมซิกซ์ทีน (Sixteen) ที่สยามเซ็นเตอร์ จากที่ผมไม่คยเข้าร้านพวกนี้มาก่อนก็กลับกลายเป็นเดินเข้าออกอย่างคุ้นเคย

เย็นวันหนึ่ง ขณะที่ผมยืนรอรถเมล์ที่ป้ายรถสามย่านเพื่อเดินทางกลับหอพัก ผมก็สังเกตเห็นใครคนหนึ่งกำลังยืนรอรถเมล์อยู่ที่ป้ายเช่นกัน

ผมเดินเข้าไปทางด้านหลังของใครคนนั้น พลางเอื้อมมือไปกระตุกปลายแขนเสื้อเบาๆ

“จ๊ะเอ๋” ผมพูด

ใครคนนั้นซึ่งเป็นนักศึกษาหญิงหันมามอง

“อ้อ พี่ไก่อูนั่นเอง หวัดดีค่ะ” เธอพูด เธอก็คือจุ๋ม น้องรหัสฝากเลี้ยงของพี่เหล่งนั่นเอง

“หวัดดีจุ๋ม” ผมพูด รู้สึกแปลกๆอยู่ในใจ “นึกว่าจะหลอกให้ตกใจสักหน่อย ไม่ยักตกใจ”

“โห พี่อู” จุ๋มหัวเราะ “แค่นี้ใครตกใจก็แย่แล้วพี่... ขวัญเอ๊ยขวัญมา”

“อ้อ เหรอ งั้นไม่ต้องตกใจก็ได้” ผมตกบันไดพลอยโจน พลอยหัวเราะไปด้วย “จุ๋มจะกลับบ้านใช่ไหม”

จุ๋มอึ้งไปนึดหนึ่ง

“เปล่าค่ะ” จุ๋มตอบ

“แล้วกำลังจะไปไหนล่ะ” ผมสงสัย

“จะไปต่างจังหวัด” จุ๋มตอบ

“เฮ้ย...” ผมอุทาน “แล้วไปยังไง เย็นขนาดนี้ เป็นผู้หญิงทำไมเดินทางคนเดียวกลางคืน แล้วกระเป๋าเสื้อผ้าอยู่ไหนเนี่ย”

“เบาๆก็ได้พี่ไก่อู” จุ๋มเอานิ้วชี้แตะริมฝีปาก ผมรู้สึกตัวว่าพูดเสียงดังไปบ้าง คงเพราะแปลกใจนั่นเอง

“จุ๋มจะไป...” จุ๋มบอกจังหวัดจุดหมายปลายทาง

“นั่นมันบ้านพี่นี่ จุ๋มจะไปทำไม บ้านเดิมอยู่นั่นเหรอ เอ๊ะ แต่จุ๋มบอกว่าเป็นคนกรุงเทพฯนี่” ผมรีบถาม

ใบหน้าที่เก๊กให้ดูจริงจังของจุ๋มสลายไป จุ๋มหัวเราะขำแบบไม่ต้องอั้น

“โอ๊ย” จุ๋มหัวเราะพลางพูด “ตายแล้วพี่อู ทำไมถึงได้หลอกง่ายยังงี้ พูดแค่นี้ก็เชื่อ”

“อ้าว” ผมถามอีก “หมายความว่าไง”

“จุ๋มหมายความว่าจะกลับบ้านที่ซอยอารีย์นั่นแหละ” จุ๋มตอบ พลางหัวเราะไม่หยุด “แต่เห็นพี่อูถามก็เลยแกล้งอำ ไม่นึกว่าจะเชื่อเลยนะเนี่ย”

“หลอกกันนี่” ผมรู้สึกอาย หน้าร้อนผ่าวไปหมด เสียหน้ามากๆ นักศึกษาแถวนั้นมีหลายคนที่ได้ยินผมคุยกับจุ๋ม เห็นทำหน้าแอบยิ้มกันเป็นแถว

“อะ อะ พูดจริงๆแล้ว ไม่อำแล้ว กำลังจะกลับบ้านที่ซอยอารีย์” จุ๋มพูด “เอาเข็มกับด้ายมั้ยคะ”

“เออ ก็ดี วานเย็บให้ด้วย” ผมยื่นหน้าไปใกล้ๆ “ดูสิ แตกยับเยินหมดแล้ว”

“โอ๊ย พี่ไก่อูนี่จริงๆเลย” จุ๋มหัวเราะจนตัวงออีก

“ทำไมเรียกพี่แบบนี้ล่ะ” ผมถามหลังจากที่จุ๋มหยุดหัวเราะ

“ไม่รู้สิ คิดว่าชื่อนี้เพราะกว่าเรียกพี่อูเฉยๆ” จุ๋มตอบพร้อมกับทำหน้าแอบหัวเราะอีก

ผมอดหวนนึกถึงไอ้อ๊อดไม่ได้ อ๊อดเป็นเพื่อนคนเดียวในโรงเรียนที่เรียกผมว่าไอ้ไก่อู ส่วนผมก็เรียกมันว่าไอ้ลูกอ๊อด นานแล้วที่ไม่ได้ยินคนเรียกชื่อผมแบบนี้ เมื่อนึกถึงไอ้อ๊อดก็อดหวนนึกไปถึงไอ้นัยไม่ได้...

“พี่อู” จุ๋มกระตุกชายเสื้อของผม “เป็นอะไรไป ซึมไปเลย”

“เปล่า ไม่มีอะไร” ผมตอบ พยายามสลัดความคิดเรื่องไอ้นัยออกจากหัว

“รถเมล์มาแล้ว จุ๋มกลับก่อนนะ บ๊ายบาย...” จุ๋มพูดพลางโบกมือหยอยๆให้ผม พร้อมกับก้าวขึ้นรถเมล์ไป

- - -

“เฮ้ย ไอ้เหี้ยอู” ไอ้กี้ทักผมเมื่อมันเดินเข้ามาในชมรมในตอนเช้าวันหนึ่ง

หลังจากที่มันวางเป้ลง มันก็ล้วงมือเข้าไปในเป้พลางหยิบหนังสือสองสามเล่มออกมาวางลงข้างหน้าผม

“กูเอามาคืนมึง” ไอ้กี้พูด

มันคือหนังสือเรียนและหนังสือติวคณิตศาสตร์ ม.๔ ที่มันขอไปจากผมนั่นเอง

“ทำไมเอามาคืนวะ” ผมถามด้วยความสงสัย

“กูไม่สอนแล้วโว้ย” ไอ้กี้ตอบ

“โอ... นับเป็นโชคดีของครอบครัวนั้นมาก” ผมพูด

“ไอ้ห่า” ไอ้กี้หัวเราะ

“เค้ากลัวลูกเค้าโง่เลยไล่มึงออกใช่ไหม” ผมถามอย่างสะใจ

“กูเลิกเองโว้ย สอนไม่ไหว บ้านไกลฉิบหาย รถก็โคตรติด เดินทางไปกลับก็ห้าหกชั่วโมงแล้ว” ไอ้กี้ตอบ

“ข้ออ้างมั้ง” ผมเย้ยหยันมัน “สอนไม่เป็นมากกว่า”

“ไอ้ห่า สอนท่อนไม้มันจะไปยากยังไงวะ กูสอนได้อยู่แล้ว แต่กูเบื่อเดินทาง คิดแล้วไม่คุ้มกับที่เสียเวลาเดินทาง” ไอ้กี้ตอบ

“สอนท่อนไม้นี่เป็นยังไงวะ” ผมถาม

“ก็มึงพูดกับท่อนไม้ ถามอะไรก็ไม่ตอบ เงียบอย่างเดียว กูก็พูดของกูคนเดียว พูดยังไงก็ได้” ไอ้กี้ตอบ “มันจะไปยากตรงไหน ถ้ามึงคิดว่ามึงแน่กว่ากูมึงรับไปสอนได้เลย”

การสอนพิเศษเป็นเรื่องที่ผมไม่เคยคิดมาก่อน แต่ช่วงหลังนี้ผมใช้เงินค่อนข้างเยอะ เบี้ยเลี้ยงจากทางบ้านที่ได้รับถึงกับไม่พอใช้ ต้องถอนเงินเก็บในบัญชีออกมาใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นก็มาจากค่าอาหารที่ไปกินและสังสรรค์กับเพื่อนๆและพี่ๆในแผนกนั่นเอง ถ้าหาเงินเพิ่มได้บ้างก็คงจะดีเหมือนกัน

“มึงพูดจริงหรือเปล่าวะ” ผมถามเพื่อความแน่ใจ

“กูจะไปหลอกมึงทำเบื๊อกอะไร โง่ๆอย่างมึงหลอกไปก็ไม่คุ้ม” ไอ้กี้หัวเราะ ดีใจที่ลอบกัดผมได้อีก





< (คลิกที่ตัวภาพเพื่อดูภาพเต็ม) มาดูวิวัฒนาการของย่านราชประสงค์กันต่อ

หลังจากที่ย่านราชประสงค์เข้าสู่ยุคราชดำริอาเขตตั้งแต่ราวปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นต้นมา ราชประสงค์ฝั่งซอยเกษรก็รุ่งเรือง ส่วนราชประสงค์ฝั่งศูนย์การค้าราชประสงค์ก็ซบเซาลง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เดอะมอลล์ ราชประสงค์ (หรือบางทีก็เรียกว่าเดอะมอลล์ ราชดำริ) ก็เปิดกิจการ ช่วยสร้างความคึกคักให้แก่ย่านราชประสงค์ฝั่งนั้นขึ้นมาอีก โดยเดอะมอลล์ ราชประสงค์อยู่ถัดจากราชดำริอาเขตมาทางสี่แยกราชประสงค์ มีเพียงร้านสหกรณ์กรุงเทพคั่นอยู่

หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ห้างโรบินสันราชดำริที่มีลิฟต์แก้วตัวแรกของประเทศไทยก็เปิดกิจการ ห้างโรบินสันราชดำรินี้อยู่ในซอยถัดจากศูนย์การค้าราชดำริไปทางประตูน้ำ อยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่าศูนย์การค้าบางกอกบาซาร์ซึ่งเป็นพื้นที่ด้านหลังราชดำริอาเขต

ราชประสงค์ฝั่งวังเพชรบูรณ์ (ศูนย์การค้าราชประสงค์) นั้นเมื่อซบเซาลง ในที่สุดก็ถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาลงทุนพัฒนาพื้นที่วังเพชรบูรณ์ส่วนนี้เพื่อเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ร้านค้าและโรงเรียนอินทราชัยต้องย้ายออกไป อาคารเก่าถูกรื้อถอนจนหมด ปิดตำนานศูนย์การค้าราชประสงค์ไปโดยสิ้นเชิงในราวปี ๒๕๒๕

ร้านสหกรณ์กรุงเทพฯคือโรงแรมอโนมาในปัจจุบัน ส่วนเดอะมอลล์ราชประสงค์ปัจจุบันเป็นพื้นที่กำลังก่อสร้างข้างโรงแรมอโนมานั่นเอง

ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เมื่อศูนย์การค้าราชประสงค์ถูกรื้อไปและล้อมด้วยรั้วสังกะสีเพื่อพัฒนาพื้นที่ใหม่ อาคารที่มีหมายเลข 1 กำกับคืออาคารเดียวกับที่อยู่ในภาพตอนที่ ๓๙>

Tuesday, August 9, 2011

ภาคสี่ ตอนที่ 39




นักศึกษาชั้นปีที่สองแม้ว่าจะเป็นรุ่นพี่ในคณะ แต่ในอีกสถานะหนึ่งก็คือเป็นน้องใหม่ในแผนกของตนเอง ดังนั้นเมื่ออยู่ในแผนก ผมและเพื่อนๆจึงต้องผ่านพิธีกรรมต่างๆในฐานะน้องใหม่ของแผนก อาทิ พิธีรับขวัญน้องแผนก การจับคู่พี่รหัสในแผนกหรือที่เรียกสั้นๆว่าพี่แผนก ต่อจากนั้นก็จะเป็นการรับน้องแผนกซึ่งเป็นงานที่จัดนอกสถานที่

ความเท่อย่างหนึ่งของการที่ได้เข้าแผนกก็คือการมีห้องพักและล็อกเกอร์ส่วนตัว นักศึกษาที่เข้าแผนกแล้วทุกแผนกจะมีห้องพักนักศึกษาอยู่ภายในแผนกของตนเอง เอาไว้ใช้ทำงานและพักผ่อนยามว่างจากชั่วโมงเรียน ห้องพักแผนกนี้ชั้นปีที่สอง สาม และสี่ ใช้ด้วยกัน ภายในห้องจะมีโต๊ะและเก้าอี้ พัดลม ตู้หนังสือ และล็อกเกอร์ส่วนตัวของแต่ละคน ส่วนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่นๆก็สุดแล้วแต่ว่าใครจะหามา

พี่รหัสในแผนกหรือว่าพี่แผนกนั้นมีความสำคัญ เพราะว่าเป็นแหล่งของตำรา ชีต และข้อสอบเก่า ชีตและข้อสอบเก่านี่พวกเราส่วนใหญ่จะได้จากรุ่นพี่คล้ายๆกัน หรือหากมีไม่เท่ากันบ้างก็สามารถยืมไปถ่ายเอกสารกันได้ แต่ความแตกต่างที่สำคัญของพี่แผนกแต่ละคนนั่นก็คือตำรา

ตำราที่ใช้เรียนกันในแผนกส่วนใหญ่เป็นตำราภาษาอังกฤษ ในยุคของผมเป็นอย่างนั้นเนื่องจากตำราภาษาไทยไม่ค่อยมีใครเขียนกัน เมื่อไม่มีให้เรียนก็ต้องพึ่งตำราภาษาอังกฤษ ตำราฝรั่งในยุคนั้นราคาแพงเอาการ เล่มหนึ่งมักจะราคาเกิน ๔๐๐ บาท ซึ่งเงิน ๔๐๐ บาทในยุคนั้นถือว่าไม่น้อย พี่บางคนที่ประหยัดหรือขี้เกียจอ่านหนังสือก็จะซื้อตำราฝรั่งเพียงแค่ในบางวิชาที่จำเป็น บางวิชาก็ไม่ซื้อ และใช้จดหรือใช้ถ่ายเอกสารจากแผ่นใสของอาจารย์เอา ส่วนพี่บางคนที่มีกำลังทรัพย์รวมทั้งขยันอ่านหนังสือก็มักซื้อตำราภาษาอังกฤษไว้หลายวิชา ดังนั้น หากใครได้รุ่นพี่ที่สะสมตำราภาษาอังกฤษเอาไว้มากก็ถือว่าโชคดีไป

นอกจากสภาพการเรียนที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว หลังจากที่เข้าแผนกในชั้นปีที่สอง สภาพสังคมของผมก็ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน... โดยเฉพาะการรับรู้ด้านการใช้ชีวิตและรสนิยมของเพื่อนๆ

ตอนที่อยู่ชั้นปีหนึ่งนั้น เพื่อนสนิทในแก๊งก็มีอยู่เพียงสี่ห้าคน แต่ละคนดูธรรมดา แต่งตัวก็ธรรมดา ข้าวของเครื่องใช้ก็ธรรมดา ของใช้ประจำตัวอย่างแพงก็ได้แก่พวกสมุดและกระเป๋ากบเคโระ คิตตี้หรือตัวการ์ตูนดังอื่นๆของญี่ปุ่น สมุดกระเป๋าพวกนี้แพงกว่าสมุดกระเป๋าธรรมดา ส่วนกลุ่มเพื่อนที่อยู่ในชมรมนั้นก็มักเป็นหนอนหนังสือ ข้าวของเครื่องใช้ การกินอยู่ก็ง่ายๆ อาหารการกินก็ตามโรงอาหารหรือตามรถเข็นข้างถนน หรืออย่างดีก็ร้านหมงไข่ระเบิดในสามย่าน เมื่อกลุ่มเพื่อนๆเป็นแบบนี้ ดังนั้นการใช้ชีวิตของผมในตอนปีหนึ่งจึงเรียบ ง่าย และธรรมดาไปด้วย คล้ายๆกับสมัยที่เรียนชั้นมัธยม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผมมีเพื่อนไม่มากนักด้วยก็ได้ จึงอาจได้เห็นอะไรน้อยเกินไป

แต่เมื่อเข้าแผนกแล้วสภาพการณ์ก็เปลี่ยนไป กับเพื่อนๆในแผนกนั้นการที่เราต้องเรียนด้วยกัน ทำแล็บด้วยกัน ทำรายงานด้วยกัน รวมทั้งใช้เวลาว่างคลุกคลีอยู่ด้วยกันในห้องพักแผนกด้วยกัน ทำให้พวกเราเริ่มสนิทกัน รวมทั้งเริ่มสนิทสนมกับรุ่นพี่ในแผนกด้วย เมื่อสนิทกันก็รับรู้เรื่องราวของเพื่อนๆมากขึ้น รวมทั้งก่อให้เกิดกิจกรรมอย่างอื่นตามมา เช่น การไปเดินห้าง ซื้อของ หรือไปกินอาหารข้างนอกกัน เพื่อนร่วมแผนกของผมนี้ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มอื่น ที่มาจากกลุ่มสามมีเพียงไม่กี่คน ดังนั้นส่วนใหญ่ตอนอยู่ชั้นปีหนึ่งจึงไม่ได้สนิทกันนัก เพิ่งกลายมาเป็นสนิทกันตอนที่ได้เรียนร่วมแผนกกันนี่เอง แต่ว่านักศึกษาชั้นปีเดียวกันในแผนกมีจำนวนไม่น้อย จะให้สนิทเท่ากันทั้งหมดก็คงยาก ดังนั้นผมจึงมีกลุ่มย่อยที่สนิทกันมากหน่อยอยู่ราวสี่ห้าคน ส่วนใหญ่เกิดจากการจับกลุ่มทำรายงานและทำแล็บร่วมกัน

เย็นวันหนึ่ง ขณะที่ผมกำลังนั่งลอกรายงานกลุ่มของเพื่อนอยู่ภายในห้องพักแผนก ห้องพักแผนกของเรานี้ค่อนข้างดีทีเดียว มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่าอีกหลายๆแผนก เช่น มีเตาอบไมโครเวฟไว้อุ่นอาหาร ซึ่งถือว่าทันสมัยมาก ยุคนั้นเป็นยุคแรกๆของเตาอบไมโครเวฟ เพิ่งใช้กันเพียงไม่กี่ปี นอกจากนั้นก็ยังมีเครื่องทำน้ำเย็น มีวิทยุเทปสเตริโอ อันเป็นผลงานที่รุ่นพี่หามาให้ใช้ร่วมกัน

“เฮ้ย น้องๆ เย็นนี้ใครว่างบ้าง พี่อยากกินพิซซ่าว่ะ ไปกินด้วยกันที่เวิลด์เทรด” พี่อี๊ดเดินเข้ามาในห้องพักแผนกพร้อมกับกลิ่นหอมฟุ้งและส่งเสียงทักทายน้องๆ

พี่อี๊ดเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สาม ฟังชื่ออี๊ดอาจนึกว่าเป็นนักศึกษาหญิง แต่ที่จริงพี่อี๊ดนี้เป็นผู้ชาย พี่อี๊ดมีรูปร่างสูงเพรียว แต่งตัวเนี้ยบ เสื้อเชิ้ตที่ใส่นี่จะต้องมีสัญลักษณ์ลูกศรอยู่ด้วยอันหมายถึงเป็นเชิ้ตแอร์โรว์ กางเกงก็ยี่ห้อเดียวกัน ในยุคนั้นถือว่าเป็นแบรนด์เครื่องแต่งกายราคาแพง

พี่อี๊ดใส่น้ำหอมเป็นประจำ หอมจนบางคนบ่นว่าเวียนหัว เมื่อถามแล้วพบว่าไม่ใช่น้ำหอมกระจอก แต่เป็นน้ำหอมซีเคหรือเคลวินไคลน์ทีเดียว ราคาในสมัยนั้นขวดเล็กๆก็เกือบพันบาทเข้าไปแล้ว ถ้าขวดใหญ่ก็หลายพันบาท นอกจากนี้พี่อี๊ดยังพกกระเป๋าเล็กๆติดตัว ข้างในมีของใช้ส่วนตัวกระจุกกระจิก เช่น โฟมล้างหน้า หวี กับอะไรอย่างอื่นอีกหลายอย่างซึ่งผมก็ไม่แน่ใจนักว่ามีอะไรบ้างเพราะไม่เคยไปเปิดดู แต่ที่เคยเห็นพี่อี๊ดหยิบออกมาจากกระเป๋าก็คือโฟมล้างหน้ากับหวี พี่อี๊ดไม่มีกิริยาตุ้งติ้งแต่ก็ดูนิ่มๆ อาจกล่าวได้ว่าพี่อี๊ดเป็นหนุ่มสไตล์เมโทรเซ็กชวลในรุ่นบุกเบิกก็คงได้เพราะในยุคนั้นเป็นยุคที่เริ่มมีกระแสเมโทรเซ็กชวลในกรุงเทพฯแล้ว

“เลี้ยงไหมพี่ ถ้าเลี้ยงก็ไป” น้องปีสองที่เป็นผู้หญิงถามกลับ ผู้หญิงกับห้างสรรพสินค้านี่ดูจะเป็นของคู่กัน ห้องพักแผนกตอนนั้นมีนักศึกษาอยู่เพียงสี่ห้าคนเนื่องจากเป็นเวลาเย็นแล้ว ส่วนใหญ่จะกลับกันไปแล้ว เหลืออยู่แต่เพียงกลุ่มของผมที่นั่งลอกรายงานกันอยู่เท่านั้น

“ออกเองสิ กินเองแล้วจะให้ใครออกเงินให้ล่ะ แต่นั่งรถพี่ไป ไม่ต้องนั่งรถเมล์ไปเอง” พี่อี๊ดตอบ “ไปเป็นเพื่อนพี่กันหน่อย เร็วๆเข้า วันนี้อยากกิน ไปกันหมดนี่แหละ”

พี่อี๊ดขับรถมาเรียนด้วย เป็นรถญี่ปุ่นรุ่นทันสมัย ที่จริงในแผนกทั้งสามชั้นปีตอนนั้นมีคนที่ขับรถมาเรียนอยู่สามสี่คน ชั้นปีที่สองรุ่นผมก็มีคนหนึ่งที่ขับรถมาเรียน

“ไปๆๆ” เพื่อนๆตัดสินใจไปสังสรรค์กับพี่อี๊ด “พี่ขี้เหนียว ออกเองก็ได้ เชอะ” เพื่อนๆพูดพลางปิดสมุดรายงานลง เตรียมตัวกลับ

“เราคงไม่ไปล่ะนะ” ผมพูด

“ทำไมล่ะอู” เพื่อนๆถามพลางคะยั้นคะยอ “ไปกินด้วยกันเถอะน่า”

“ขี้เกียจไป” ผมตอบ ที่จริงไม่ใช่ว่าขี้เกียจ แต่ผมรู้ว่าอาหารพวกนี้ราคาแพงกว่าข้าวแกงจานละ ๑๒ บาทในโรงอาหารหลายเท่า อีกอย่างหนึ่งก็คือไม่เคยเข้าร้านพิซซ่ามาก่อนด้วย กินไม่เป็น กลัวไปปล่อยไก่ต่อหน้าสาวๆ

“ไม่ต้องเลยไอ้อู” เพื่อนๆตัดบท พลางดึงสมุดไปจากของผมและใส่ลงเป้ให้ “ไปด้วยกันเดี๋ยวนี้เลย”

“เฮ้ย ไม่เอา ไม่อยากกลับบ้านค่ำ” ผมพูดอีก

“กลับค่ำแล้วหาทางกลับบ้านไม่ถูกหรือไง” เพื่อนๆประชด “บ้านไม่หนีไปไหนหรอกน่า”

“ตังค์ไม่มี” ผมพูดอีก

“เออ ไม่มีเดี๋ยวช่วยออกให้” เพื่อนๆไม่ยอมปล่อยให้ผมกลับ พยายามคะยั้นคะยอ จนในที่สุดผมก็เปลี่ยนใจ คิดว่าลองดูหน่อยก็ดี

“เอา ไปก็ไป” ผมตอบตกลง

พวกเรานั่งเบียดกันไปในรถเก๋งของพี่อี๊ด รถติดช่วงสยามอยู่นานเหมือนกัน แต่ในที่สุดเราก็มาถึงเวิล์เทรดเซ็นเตอร์จนได้

ร้านพิซซ่าในยุคนั้นก็คือร้านพิซซ่าฮัทนั่นเอง ช่วงนั้นเป็นปีที่เครือข่ายร้านอาหารจานด่วนแบบตะวันตกขยายตัวมากเป็นพิเศษโดยสังเกตได้จากจำนวนร้านสาขาเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ร้านอาหารแบบตะวันตกในยุคนั้นเท่าที่จำได้ก็มีโดนัทสองราย คือ ดังกิ้น กับมิสเตอร์โดนัท แนวแฮมเบอร์เกอร์ก็มีแมคโดนัลด์ เบอร์เกอร์คิง นอกจากนั้นก็ยังมีไก่ทอดเคเอฟซี พิซซ่าฮัท ไอศกรีมสเวนเซ่น

ร้านพิซซ่าในยุคนั้นก็เหมือนร้านในยุคนี้ การตกแต่งแม้จะแตกต่างกันไปบ้างแต่ก็ยังคงถือว่าเป็นแนวเดียวกัน เพื่อนๆหยิบสมุดรายการอาหารขนาดใหญ่มากางดูแล้วก็สั่ง ส่วนผมนั้นได้แต่คอยสังเกต

“อยากกินอะไรอู” เพื่อนสาวที่มาด้วยกันถาม “สั่งถาดใหญ่แล้วแบ่งกัน ช่วยกันเลือกหน้าหน่อย”

“อะไรก็ได้” ผมตอบ หน้าที่ว่าหมายถึงหน้าอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน “สั่งมาเถอะ กินได้ทั้งนั้นแหละ”

หลังจากช่วยกันเลือก พวกเราก็สั่งพิซซ่าขนาดใหญ่มาสองถาด ระว่างรออาหารก็คุยกันไปเรื่อยเปื่อย รออยู่สักสิบห้าหรือยี่สิบนาทีอาหารที่สั่งก็มา เห็นพิซซ่าอยู่ในจานกระทะขนาดใหญ่ พิซซ่านี้มีรอยกรีดแบ่งเป็นชิ้นไว้ให้แล้ว เพื่อนๆก็ตักกันไปคนละชิ้น ผมก็ตักตามบ้าง พยายามสังเกตว่าแต่ละคนปรุงอย่างไรเพราะเครื่องปรุงมีหลายอย่าง เห็นหยิบนั่นหยิบนี่ ผมก็หยิบตามบ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร บางอย่างพอเดาได้ว่าเป็นพวกซอสพริก ซอสมะเขือ แต่เกล็ดป่นสีเขียวๆกับผงสีเหลืองฟูๆนั้นไม่รู้ว่าคืออะไร ในที่สุดด้วยความอยากรู้ผมจึงถามขึ้นในโต๊ะอาหาร

“ไอ้เครื่องปรุงพวกนี้มันคืออะไรน่ะ” ผมชี้ไปที่ชั้นวางเครื่องปรุง

“อ้าว เห็นหยิบมาปรุงใหญ่ นึกว่ารู้เสียอีก” เพื่อนสงสัย

“ก็หยิบมั่วๆน่ะ ไม่รู้จักหรอก เพิ่งเคยกินครั้งแรกนี่แหละ” ผมตอบตามตรง

“โถ น้องอู แล้วก็ไม่บอก” เพื่อนๆหัวเราะ “นี่เธอไม่เคยเข้าร้านพิซซ่ามาก่อนเลยเหรอ”

“อย่าว่าแต่ร้านพิซซ่าเลย ร้านแม็คก็เพิ่งเคยเข้าเมื่อไม่กี่วันก่อนนี้เอง” ผมพูด ทีแรกก็กลัวเสียหน้า ไม่อยากพูด แต่พอมาคิดอีกที อยู่กับเพื่อนพวกนี้อีกหน่อยก็คงมีเรื่องอะไรที่ผมไม่รู้หรือไม่เคยทำอีกเยอะ ให้เพื่อนๆรู้จักผมอย่างที่ผมเป็นดีกว่า

หลังจากนั้นเพื่อนๆและพี่อี๊ดก็ช่วยกันสอนวิธีสั่งพิซซ่าและเครื่องปรุงต่างๆให้ ทำให้ผมได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย บรรยากาศการกินเป็นไปอย่างสนุกสนาน สุดท้ายเมื่อเฉลี่ยค่าอาหารกันแล้วดูเหมือนจะจ่ายคนละประมาณ ๖๐ บาท ผมออกเงินเองโดยไม่ได้ให้เพื่อนๆออกให้

- - -

“อ้าว ไอ้เหี้ยอูมาพอดี เมื่อวานเย็นมึงหายไปไหนวะ กูรอมึงอยู่ตั้งนาน” ไอ้กี้ส่งเสียงเอะอะเมื่อเห็นผมเดินเข้ามาในชมรมในตอนเช้าก่อนเข้าเรียน

“มึงรอกูมีปัญหาอะไรเหรอ ไอ้ห่า” ผมไม่ยอมลดราวาศอกให้มัน

“เดี๋ยวนี้พูดไม่สุภาพกะเพื่อนนะมึง” ไอ้กี้หัวเราะ “ไม่มีอะไรมากหรอก มีงานจะให้มึงพิมพ์น่ะ แล้วมึงหายไปไหนมาวะ”

“ไปกินพิซซ่ากับเพื่อนที่แผนกโว้ย” ผมพูด

“ถุย กินพิซซ่าแค่นี้ทำเป็นคุย” ไอ้กี้ทำท่าถุยน้ำลาย

“กูจะบ้า” ผมพูดเสียงดัง “มึงถามกูเองนะไอ้ห่า ไม่รู้จะด่ามึงยังไงแล้ว”

“เฮ้ย อย่าเพิ่งบ้า เดี๋ยวไม่มีคนพิมพ์ต้นฉบับ” ได้ยินเสียงคนพูดแทรกขึ้นมา พี่ตั้วนั่นเอง

“อ้าว ท่านประธานมา ทั้งหมด ตรง” ไอ้กี้ร้องเสียงดังพลางลุกขึ้นยืน

“เชิญมึงบ้ายืนตรงไปคนเดียวเถอะ” ผมไม่รับมุขมัน ยังคงนั่งอยู่ที่เก้าอี้ แล้วหันมาพูดกับพี่ตั้วแทน “ท่านประธาน เชิญนั่งคุยกันดีกว่าครับ ไม่ต้องยืนให้เมื่อยหรอก”

“พวกนายก็บ้าพอกันทั้งสองคนนั่นแหละ” พี่ตั้วหัวเราะ

พี่ตั้วเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สามแล้วและได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมในปีนั้น โดยปกติระเบียบของชมรมไม่ได้กำหนดตายตัวว่าประธานชมรมต้องอยู่ชั้นปีใด แต่ว่าโดยธรรมเนียมแล้วมักเป็นชั้นปีที่สี่ แต่เนื่องจากในปีนั้นนักศึกษาชั้นปีที่สี่ที่ทำงานอยู่ในชมรมมีน้อย อีกทั้งไม่มีใครยอมรับตำแหน่งประธานชมรม พี่ตั้วจึงได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมแบบส้มหล่นทั้งๆที่อยู่ชั้นปีที่สาม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีไม่บ่อยนัก พวกน้องๆจึงมักเรียกพี่ตั้วแบบล้อเลียนว่าท่านประธาน

“จะปรึกษาพวกนายเรื่องโครงงานสำหรับปีนี้น่ะ” พี่ตั้วพูดเข้าเรื่อง คราวนี้ทำสีหน้าจริงจัง “ตอนเย็นเลิกเรียนแล้วมาคุยกันหน่อยสิ”

“ได้ครับท่านประธาน” ไอ้กี้พูด ท่านประธานทำมือเหมือนจะตบกะโหลกมัน แต่ไอ้กี้หลบ

“อ้อ ยังมีอีก” พี่ตั้วพูดต่อ “มีใครสนใจสอนพิเศษไหม วิชาคณิตศาสตร์ ม.๔”

“สอนที่ไหน สอนยังไง เงินดีมั้ย” ไอ้กี้รีบถาม

“สอนที่ไหนไม่รู้ สอนยังไงก็แล้วแต่นาย เงินดีมั้ยก็ไม่รู้อีก” พี่ตั้วตอบหน้าตาย

“สรุปแล้วก็ไม่รู้อะไรสักอย่าง แล้วพี่จะบอกทำไม” ไอ้กี้บ่น

“นี่เป็นงานสอนที่อาจารย์หามาให้พี่ พี่ไม่ได้คิดจะสอนก็เลยไม่ได้ถามรายละเอียด ถ้าพวกนายสนใจจะถามมาให้อีกที” พี่ตั้วตอบ “สนหรือเปล่า”

“สนใจๆ เอารายละเอียดมาหน่อย” ไอ้กี้พูด “อยากหาเงินใช้เหมือนกัน”

“มึงเคยสอนหรือเปล่าวะ สอนมั่วๆเดี๋ยวทำลูกเค้าโง่เหมือนมึงหมด” ผมขัดคอมัน “อีกอย่าง ถ้าเกิดลูกเค้าติดนิสัยปากเสียจากมึงด้วยนั่นก็ยิ่งแย่”

“ไอ้เหี้ยนี่เดี๋ยวนี้หลอกด่าเก่งโว้ย” ไอ้กี้หัวเราะ “มันจะยากอะไรวะ แค่สอนคณิตศาสตร์ ม.๔ ก็ทำโจทย์เข้าไป กูสอนได้อยู่แล้ว ชัวร์”

- - -

การพูดคุยเกี่ยวกับโครงการกิจกรรมประจำปีในเย็นวันนั้นยังไม่มีความคืบหน้าอะไรนัก พี่ตั้วหารือกับน้องชั้นปีสองในชมรมเพื่อรวบรวมความคิดในเบื้องต้นก่อนว่าใครอยากให้มีกิจกรรมอะไรบ้างนอกจากทำชีต เพราะว่าการทำชีตกับการติวปีหนึ่งนั้นเมื่อนานวันเข้าก็กลายเป็นของจำเจและเป็นเรื่องธรรมดาไป นักศึกษาใหม่ที่เข้ามาเป็นสมาชิกชมรมเมื่ออยู่ไปได้สักพักและไม่เห็นว่ามีอะไรแปลกใหม่หรือท้าทายต่างก็พากันลงจากชมรมไป ทำให้หลายปีมานี้ชมรมวิชาการค่อนข้างเงียบเหงา กลายเป็นห้องสันทนาการเคล้าด้วยเสียงกีตาร์กับการนอนพักผ่อนหลังเลิกเรียนแทน

หลังจากที่ผมลงจากชมรมก็มารอรถเมล์ที่ป้ายรถสามย่านที่เดิม ขณะที่ยืนรออยู่นั้นก็รู้สึกว่ามีใครกำลังกระตุกชายเสื้อแขนสั้นของผมอยู่

“อ้าว จุ๋ม” ผมอุทานเมื่อหันไปดูผู้ที่กระตุกแขนเสื้อของผม เห็นจุ๋มกำลังยืนอมยิ้มอยู่ข้างหลัง “มายืนตรงนี้ตั้งแต่เมื่อไร ทำไมพี่ไม่เห็นล่ะ”

“เมื่อกี้จุ๋มยืนตรงโน้น แต่เห็นพี่อูก็เลยเดินมายืนตรงนี้” จุ๋มตอบพร้อมกับทำหน้าแบบแอบหัวเราะ

“หัวเราะอะไรน่ะ” ผมถาม

“ขำน่ะ” จุ๋มตอบ

“ขำอะไรเหรอ” ผมถามอีก

“อยากรู้อะไรหน่อยน่ะ” จุ๋มตอบพลางยิ้มอีก “ถามได้ไหม”

“อยากรู้อะไรก็ถามมาสิ ถ้าตอบได้ก็ตอบให้แหละ” ผมตอบ ชักเริ่มระแวงในรอยยิ้มอันมีเลศนัยนั้น

“อยากรู้ว่า...” จุ๋มแกล้งลากเสียง “พี่อูลงรถเมล์เลยป้ายบ่อยไหม”

ว่าแล้วจุ๋มก็ปล่อยหัวเราะก๊ากออกมาหลังจากที่พูดจบ

“เอ้อ...” ผมอึกอัก รู้สึกเสียหน้านิดหน่อย ไม่นึกว่าน้องจะเห็น ตอนที่อยู่ในร้านแมคโดนัลด์เห็นทำตัวเงียบๆ ที่แท้ก็แซวเก่งไม่เบา “เห็นด้วยเหรอ”

“ทำไมจะไม่เห็น จุ๋มเห็นพี่อูลงมายืนหน้าเซ็งอยู่ที่ป้ายซอยลือชา” จุ๋มหัวเราะอีก แล้วก็หยุดหัวเราะ “อุ้ย รถมาแล้ว จุ๋มไปก่อนล่ะ บ๊ายบาย”

ว่าแล้วจุ๋มก็โบกมือให้ผมหยอยๆก่อนก้าวขึ้นรถเมล์สาย ๓๔ ไป




< (คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพเต็ม) ดังที่เคยเล่าให้ทราบไปแล้วว่าราชประสงค์ในยุครุ่งเรืองนั้นยังแบ่งออกเป็นยุคย่อยๆได้หลายยุค ยุครุ่งเรืองในยุคแรกนั้นอยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๐ โดยประมาณ ต่อจากนั้นก็ซบเซาลงไปบ้างเนื่องจากมีสยามสแควร์และโรงหนังสยาม ลิโด้ สกาล่า เกิดขึ้น ความเป็นศูนย์กลางหรือดาวน์ทาวน์จึงเคลื่อนย้ายไปยังสยามสแควร์ ต่อมาพื้นที่ย่านราชประสงค์มีการพัฒนาต่อไปอีก โดยในราวปี ๒๕๑๔ มีการก่อสร้างศูนย์การค้าราชดำริอาเขตขึ้นนื้นที่ราชประสงค์ฝั่งตรงข้ามกับห้างไดมารูและโรงเรียนอินทราชัย รวมทั้งห้างไดมารูเจ้าของตำนานบันไดเลื่อนตัวแรกในประเทศไทยก็ย้ายมาเปิดในศูนย์การค้าราชดำริอาเขตนี้ด้วยในปี พ.ศ. ๒๕๑๕

ราชดำริอาเขตนี้แบ่งออกเป็น ๓ ช่วง ช่วงหน้าเป็นตัวอาเขตสามชั้นและชั้นใต้ดิน ร้านค้าย่อยจะอยู่ในส่วนนี้ ต่อมาอาคารช่วงกลางเป็นอาคารสูง ๔ หรือ ๕ ชั้น จำไม่ได้แน่ เป็นที่ตั้งห้างไดมารู และส่วนหลังเป็นอาคารจอดรถกับสถานีวิทยุของ ททท. มีหลายคลื่นจัดรายการกันอยู่ที่นี่ ต่อมาจึงย้ายไปอยู่ที่ อสมท.

ศูนย์การค้าราชดำริอาเขตนี้มีแม่เหล็กหลายอย่าง มีสวนสนุกอยู่บนชั้นดาดฟ้า มีซูเปอร์มาร์เกตที่ชั้นใต้ดิน นอกจากมีห้างไดมารูแล้วยังมีร้านค้าสำหรับช้อปปิ้งมากมาย เป็นแหล่งรองเท้าแบรนด์ชั้นนำพวกไนกี้ อะดิดาส มีร้านอาหารอร่อยๆหลายร้าน โดยเฉพาะร้านเกี๊ยวซ่าที่ขึ้นชื่อ ข้างๆศูนย์การค้าราชดำริยังมีร้านสหกรณ์พระนครขายสินค้าต่างๆอีกด้วย

ตำแหน่งที่ตั้งของศูนย์การค้าราชดำริก็คือห้างบิ๊กซีราชดำริในปัจจุบันนั่นเอง ภาพข้างบนนี้เป็นย่านราชประสงค์และศูนย์การค้าราชดำริในยุคนั้น ถ่ายเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ทางเข้าศูนย์การค้าราชดำริอยู่ที่ลูกศรชี้ซึ่งในภาพเห็นปากทางเข้าเพียงนิดเดียว โปรดสังเกตตึกที่กำกับหมายเลข 1 ไว้ด้วย>