Sunday, June 3, 2007

ตอนที่ 35

พอผมกับไอ้ชัชรู้เรื่องไอ้นัยเข้าก็ใบ้กิน พูดไม่ออกเลย แต่ในที่สุดก็คุยซักถามกันจนได้ความว่า อาผู้ชายมันเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนดังที่อยู่ในเมืองแห่งหนึ่ง (ตอนนั้นลาดพร้าวยังจัดเป็นชานเมือง เลยเรียกส่วนกรุงเทพฯชั้นในว่าในเมือง) พอไอ้นัยถึงวัยจะเข้า ม.๑ อาก็เลยอยากให้ไอ้นัยได้เรียนที่นั่นด้วย ก็ตามประสาเลือดโรงเรียนเก่าเข้มข้นนั่นแหละครับ แล้วก็อีกอย่าง ลูกหลานศิษย์เก่าสมัครสอบมีคะแนนพิเศษเพิ่มให้ด้วย ได้บวกอีก ๕ คะแนนอะไรประมาณนี้แหละ พูดง่ายๆก็คือได้เปรียบเด็กทั่วไปอีกหน่อยนึง ได้ยินมาว่ายังงั้นนะครับ เท็จจริงไม่รู้เหมือนกัน แต่น่าจะจริง ไอ้นัยเลยซวย โดนจัดการกับชีวิตให้เสร็จสรรพ

โรงเรียนนี้อยู่ไหนผมยังไม่รู้เลยครับ คือรู้จักแต่ชื่อเท่านั้น แต่ไอ้นัยบอกว่าโคตรไกลเลย ยิ่งถ้านับจากบ้านมันด้วยต้องนั่งรถเมล์เป็นชั่วโมง แต่ถึงไกลเท่าไกล อามันก็ยังอยากให้มันเรียนที่นั่นอยู่ดี

“เอายังงี้ก็แล้วกัน” ผมเสนอความคิด “ยังงั้นพวกเราก็ไปสมัครสอบบ้าง สอบเสียด้วยกันทั้งสามคน ไม่แน่นะ อาจจะได้เรียนด้วยกันอีก”

“เออ ใช่ ดีๆๆ” ไอ้ชัชรีบเห็นด้วย “ถ้าพวกมึงสอบไม่ติดพวกเราก็จะได้เรียนด้วยกันที่นี่อีก”

“ไอ้เปรต” ไอ้นัยด่า “นี่แปลว่ามึงแช่งให้กูสอบไม่ติดใช่ไหม”

“เปล๊า” ไอ้ชัชแกล้งพูดเสียงแหลม “กูพูดเผื่อไว้ต่างหาก พระท่านว่า อ้า...ว่าอะไรวะ”

“เออ มึงนึกไม่ออกก็ช่างเถอะ โห เดี๋ยวนี้ยกคำพระเลยนะมึง” ผมขัดคอมัน ไอ้ชัชมันก็กวนๆแบบนี้แหละครับ มันสนุกแบบหนึ่ง ไอ้นัยก็สนุกอีกแบบหนึ่ง มีมันสองคนเป็นเพื่อน ชีวิตในวัยเด็กของผมดูเหมือนจะไม่ต้องการอะไรเพิ่มเติมอีกแล้ว แต่แล้วในที่สุดผมก็อาจจะต้องเผชิญกับความจริงของโลกอันโหดร้ายใบนี้ ที่ว่าทุกสิ่งไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน

ก็เป็นอันว่า ในที่สุดพวกเราก็ตกลงกันได้ว่าจะลองไปสมัครสอบโรงเรียนเดียวกับไอ้นัยดู จากทีแรกที่พวกเราทั้งสามคนรู้สึกเศร้าเสียใจที่เราอาจจะต้องพรากจากกัน พอมาตอนท้ายก็เริ่มยิ้มได้บ้าง เพราะอย่างน้อย พวกเราก็มีความหวังว่าอาจจะได้เรียนด้วยกันต่อไปอีก มันทำให้ผมเริ่มเรียนรู้แล้วว่า การมีความหวังมันก็ดีเหมือนกัน เพราะมันทำให้เรามีกำลังใจที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าได้

แต่แล้วไอ้ชัชก็ทำหน้าเศร้าห่อเหี่ยวอีก

“ถึงกูสอบได้ พ่อกูก็ไม่ให้ย้ายไปไหนอยู่ดี” ไอ้ชัชพึมพำ ท่าทางท้อแท้

“ทำไมล่ะ” ผมถาม

“เค้าไม่สนใจเรื่องพวกนี้หรอก อีกอย่าง ถ้าไปเรียนโรงเรียนแบบนั้น กูจะไปพักที่ไหน โรงเรียนประจำก็ไม่มี”

“นอนป้ายรถเมล์ดิ กูเคยเห็นคนนอน” ไอ้นัยพูดแทรกขึ้นเบาๆ

ไอ้ชัชได้ยินเข้าก็อดยิ้มไม่ได้ ยกมือเขกหัวไอ้นัยไปหนึ่งป๊อก แต่คราวนี้ไอ้นัยหลบทัน “กูจำได้ ประโยคนี้มึงเคยบอกกูแล้ว มึงจะให้กูนอนที่ป้ายรถเมล์ตลอดทั้งปีเลยเหรอ” ผมเองก็จำได้เหมือนกัน ไอ้นัยเคยพูดประโยคนี้ตอนอยู่ ป.๕

“เออ นั่นดิ จริงด้วย ไหนจะต้องอาบน้ำอีก จะไปอาบที่ไหน” ไอ้นัยพูด แล้วมันก็ชะโงกหน้ามาพูดเบาๆพอได้ยินกันสามคน “ไหนยังต้องชักว่าวอีก ฮุฮุ”

พอได้แหย่กันบ้าง สถานการณ์ที่เคร่งเครียดก็เริ่มดีขึ้นอีกครั้ง นี่ถ้าไม่ได้ไอ้นัยช่วยแหย่ ไอ้ชัชคงยังไม่หายซึม ที่จริงผมเองก็คงมีปัญหาเช่นเดียวกับไอ้ชัช คือถ้าสอบได้แล้วพ่อก็คงไม่ให้เรียน ปัญหาหลักก็คือเรื่องที่พักนั่นเอง

แต่อย่างไรก็ตาม แผนการขั้นแรกของพวกเราก็คือ สมัครสอบโรงเรียนเดียวกับไอ้นัย ส่วนแผนการขั้นที่สองที่ต้องคิดถัดมาก็คือ ถ้าอยากสอบให้ได้ก็คงจะต้องหาที่เรียนพิเศษ
- - - -

หลังจากที่ไอ้นัยบอกเรื่องการสอบเข้า ม.๑ และพวกเราตัดสินใจว่าจะลองไปสอบกันทั้งสามคน ในตอนหัวค่ำวันนั้นเอง ผมก็รีบโทรไปหาเอ๊ดผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งพักอยู่บ้านเพื่อนพ่อในถนนลาดพร้าวเหมือนกัน และบอกว่าผมอยากสอบเข้า ม.๑ โรงเรียน... รวมทั้งอยากเรียนพิเศษด้วย เพื่อให้ช่วยพูดกับพ่อให้ที

ผมใช้โทรศัพท์หยอดเหรียญซึ่งอยู่ในหอ หยอดทีละ ๕ บาท คุยได้นาน ๕ นาที

“เอ็งจะมาบอกข้าทำไมวะ” เอ๊ดถาม ดูสิครับ อุตส่าห์โทรมาขอความช่วยเหลือ ยังแกล้งทำเป็นไม่เข้าใจอีก ปกติเวลาคุยกันเอ๊ดจะไม่พูดกูมึงกับผม แต่จะใช้เอ็งๆข้าๆแบบนี้แหละ

“ก็อยากให้เอ๊ดช่วยพูดกับพ่อให้หน่อย เรียนพิเศษต้องใช้ตังค์อ่ะ นะ นะ พูดให้อูหน่อย” ผมใส่ลูกอ้อนเข้าไปเพื่อเรียกคะแนนสงสาร

“ข้าว่ายากนะ เอ็งก็รู้ว่าพ่ออยากให้เอ็งเรียนที่นี่ต่อ” เอ๊ดว่า มันก็จริงหรอก แต่ผมไม่อยากยอมแพ้ง่ายๆ

“ก็นี่ไง ถึงได้อยากให้ช่วยคุยให้อูหน่อย ถ้าเอ๊ดช่วยพูดให้ มันก็พอมีโอกาสแหละ ช่วยหน่อยดิ” ผมคาดคั้นให้เอ๊ดช่วยพูดให้ได้

ก็สรุปว่า ทั้งผมและไอ้ชัช ต่างก็พากันไปติดต่ออ้อนพ่อแม่เพื่อขอตังค์มาเรียนพิเศษ หลังจากที่ผมโทรไปหาเอ๊ด ไอ้ชัชก็โทรบ้าง มันโทรทางไกลไปคุยกับพ่อโดยตรงเลยครับ ผลเป็นยังไงน่ะเหรอ พ่อมันทั้งไม่อนุญาตและไม่ให้เงิน เพราะไม่อยากให้มันย้ายโรงเรียน อยากให้มันเรียนอยู่ที่นี่ต่อไป

ส่วนของผมนั้น วันรุ่งขึ้นผมก็โทรไปหาเอ๊ดอีก เพื่อเอาคำตอบ เอ๊ดนี่เห็นพูดกวนๆ แต่ที่จริงแล้วก็ช่วยดีครับ รีบโทรไปคุยกับพ่อให้เลย ผลก็เป็นเช่นเดียวกับไอ้ชัช คือพ่อไม่สนับสนุน ดังนั้นจึงไม่ให้เงินมาเรียนพิเศษ

หลังจากวันนั้นเป็นมา ผมรู้สึกเซ็งๆอย่างไรชอบกล บอกตามตรงว่าไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เลย อันที่จริงเรื่องการสอบเข้า ม.๑ โรงเรียนรัฐบาลนั้นตามปกติเป็นเรื่องที่สร้างความกระตือรือร้นให้แก่เด็กชั้น ป.๖ เพราะมันเป็นเรื่องของการแข่งขัน เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เนื่องจากเราไม่ได้แข่งขันกันอยู่เพียงเฉพาะเพื่อนในห้องหรือในโรงเรียนเดียวกัน แต่มันเป็นการแข่งขันระหว่างเด็กนักเรียนต่างโรงเรียนกันด้วย แต่สำหรับกับผมแล้ว ผมไม่ชอบมันเลย

ช่วงนี้เองที่ผมเริ่มรู้สึกกลัวอนาคตขึ้นมา ทั้งๆที่แต่ก่อนหน้านี้ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องของอนาคตเท่าไร ชีวิตในวัย ป.๕ ของผมส่วนใหญ่มีแต่ปัจจุบัน ... ปัจจุบันอันสนุกสนาน เต็มไปด้วยความสุขและมิตรภาพ แต่พอมาอยู่ชั้น ป.๖ ผมเริ่มคิดถึงอนาคตบ้างแล้ว ... มันไม่ใช่เป็นความสุขกับอนาคตนะครับ แต่เป็นความกังวลกับอนาคต ไอ้ชัชเองก็ดูจะเงียบๆ เซ็งๆไปบ้างเหมือนกัน

แปลกนะครับ กับเพื่อนคนอื่นๆ มันจะไปสอบที่ไหนก็ช่าง ผมไม่เห็นจะคิดอะไรมากเลย แต่พอกับไอ้นัยเท่านั้นแหละ มันทำให้ผมถึงกับซึมไป เพิ่งจะรู้ตัวเองเหมือนกันว่าในส่วนลึกแล้วผมรู้สึกผูกพันกับไอ้นัยมากเพียงใด

ส่วนไอ้นัยน่ะเหรอครับ ผมดูมันไม่ออกจริงๆ ไอ้นี่มันหน้าตายอยู่ตลอด เดาใจมันจากสีหน้าไม่ค่อยจะถูก ไม่รู้ว่าตัวมันเองอยากไปเรียนที่ใหม่หรือเปล่า และยิ่งดูไม่ออกว่ามันแคร์ผมกับไอ้ชัชแค่ไหน จนในที่สุด ผมอดรนทนไม่ไหว ก็เลยถามมันไปตรงๆ

“ไอ้นัย มึงเองอยากได้เรียนที่โรงเรียน...หรือเปล่าวะ” ผมถามไอ้นัยขณะที่เรากินอาหารเที่ยงด้วยกันในวันหนึ่งหลังจากวันที่พูดกันเรื่องสอบเข้า ม.๑ เป็นครั้งแรกเพียงไม่กี่วัน

ไอ้นัยเงียบไปสักพัก...พักใหญ่เลย จึงค่อยตอบว่า “ไม่รู้ดิ ใจนึงก็อยาก อีกใจก็ไม่อยาก”

“อยากไปเพราะอะไร ไม่อยากไปเพราะอะไร ไหนว่ามาซิ” ผมรุกถามต่อ โดยมีไอ้ชัชนั่งเคี้ยวข้าวเอียงหูฟังอยู่ข้างๆ มันก็อยากรู้เหมือนกัน

No comments: