Thursday, September 1, 2011

ภาคสี่ ตอนที่ 41


ทางด้านการเรียนนั้นเมื่อเปิดเทอมใหม่ๆการเรียนในแผนกดูเหมือนจะไม่ยาก แต่เมื่อเรียนไปได้สักพักหนึ่งก็กลายเป็นว่าการปีสองนั้นไม่ง่ายเลย ตำราส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษแต่ก็พออ่านรู้เรื่องเนื่องจากใช้ภาษาที่ไม่ยาก หากรู้ศัพท์เทคนิคในสาขานั้นๆก็อ่านเข้าใจได้ แต่ที่ยากกลับเป็นตำราภาษาไทยเพราะบางวิชาอ่านอย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง สุดท้ายก็ต้องไปหาฉบับภาษาอังกฤษมาอ่าน

การเรียนในปีนี้มีวิชาภาคปฏิบัติมากขึ้น มีทั้งวิชาแล็บที่ทำการทดลองในห้องทดลอง กับวิชาทางด้านอุตสาหกรรม วิชาภาคปฏิบัติทางด้านอุตสาหกรรมจะเรียนในห้องปฏิบัติการอุตสาหกรรมซึ่งมีสภาพคล้ายโรงงานขนาดเล็ก ภายในห้องมีอุปกรณ์อย่างเดียวกับที่ใช้ในโรงงานขนาดเล็ก อย่างเช่น หม้อต้มความดันหรือที่เรียกว่าบอยเลอร์ เครื่องกรอง รีแอกเตอร์ ฯลฯ การเรียนวิชาภาคปฏิบัติต้องเรียนเป็นกลุ่มและทำรายงานกลุ่มหลังจากการเรียนหรือทำการทดลองในแต่ละครั้ง ซึ่งการเรียนและทำรายงานวิชาภาคปฏิบัตินี้เป็นเรื่องที่ใช้เวลา บางทีเก็บข้อมูลการทดลองภายในเวลาเรียนแล้วยังได้ไม่ครบก็ต้องรอเก็บหลังเลิกเรียนต่อ บางวันก็อาจต้องอยู่จนค่ำ แต่ก็ยังโชคดีที่มีไม่บ่อยนัก นอกจากนี้บางครั้งยังมีการการทัศนศึกษาโดยออกไปดูโรงงานจริงอีกด้วย

แม้ว่าการเรียนจะใช้เวลาและบางครั้งใช้เวลาไม่แน่นอน แต่ในที่สุดผมก็ตัดสินใจรับสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์ ม.๔ ต่อจากไอ้กี้ ในยุคนั้นนักศึกษาคณะวิศวะกับคณะเทคโนนิยมหารายได้เสริมด้วยการสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์ซึ่งถือว่าเป็นวิชายากในการสอบเอนทรานซ์ของนักเรียนชั้น ม.ปลาย บางคนก็สอนแบบตัวต่อตัว บางคนก็สอนเป็นกลุ่ม ตอนเย็นๆมักเห็นนักศึกษากับนักเรียนติวกันตามม้านั่งหินภายในบริเวณมหาวิทยาลัย หรือไม่อย่างนั้นก็อาจไปติวกันในร้านอาหารแบบฟาสต์ฟูด

แรงจูงใจที่ทำให้ผมตัดสินใจสอนพิเศษส่วนหนึ่งก็เนื่องจากเห็นคนอื่นสอนกันผมก็เลยอยากลองดูบ้าง นอกจากนี้ก็ยังอยากหารายได้พิเศษด้วยเนื่องจากตอนปีสองนั้นกินและเที่ยวมากขึ้นกว่าเดิมจนเบี้ยเลี้ยงแต่ละเดือนไม่พอใช้ เมื่อไม่อยากขอจากทางบ้านเพิ่มก็ต้องหาเงินใช้เอง อีกอย่างหนึ่งคือสอนในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันว่างด้วย อยู่ที่หอก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน สู้สอนพิเศษหารายได้น่าจะดีกว่า

ไอ้กี้ใช้ลูกไม้ในการเลิกสอนแบบเนียนๆด้วยการบอกกับนักเรียนและพ่อแม่ของนักเรียนว่าช่วงนี้มันมีงานที่ต้องช่วยทางบ้านในวันหยุด จะหาเพื่อนมาสอนแทนให้ชั่วคราวไปก่อน หลังจากนั้นก็ให้ผมสอนไปเรื่อยๆโดยที่ไอ้กี้ไม่มีวันกลับไปสอนอีก

“เฮ้ย แล้วเค้าจะไม่ว่าเอาหรือไงถ้าในที่สุดมึงไม่กลับไปสอนอีก” ผมถามไอ้กี้ ยังไม่ค่อยแน่ใจกับวิธีของมันนัก “ไปโกหกแบบนี้ดูจะไม่เหมาะ เกิดเค้ารู้ความจริงเข้าจะว่าเอาได้ว่ากูกับมึงสมรู้กันหลอกเขา เสียหมาหมด”

“ไม่ว่าหรอก” ไอ้กี้ตอบแบบสบายๆ “ถ้ามึงสอนดีเค้าก็ไม่สนใจกูหรอกว่าจะมาหรือไม่มา เค้าสนใจอยู่ที่ว่าสอนลูกเค้าให้ได้ผล ใครสอนก็ไม่ต่างกันหรอก มึงอย่าขี้กังวลนักเลย”

“เข้าใจพูดนะมึง” ผมตอบ “เอาก็เอา ลองดูก็ได้วะ”

ในที่สุดไอ้กี้ก็ดำเนินตามแผนที่มันวางเอาไว้ โดยบอกว่าจะหาเพื่อนมาสอนแทนไปก่อนในช่วงที่มันไม่อยู่ ส่วนผมนั้นก็ใช้เวลาเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนการสอนประมาณ ๑ สัปดาห์

เนื่องจากไม่เคยสอนพิเศษมาก่อน ดังนันจึงยังไม่รู้เทคนิคการสอนใดๆ ก็ได้แต่เตรียมตัวสอนไปตามหัวข้อในหนังสือคณิตศาสตร์ ของ สสวท. บวกกับหาข้อสอบเอนทรานซ์กับโจทย์กับเฉลยจากหนังสือติวต่างๆเอามาเตรียมเอาไว้ เมื่อเรียนถึงบทไหนก็จะเอาข้อสอบที่เกี่ยวกับบทนั้นๆมาทำด้วยกันกับนักเรียน ทีแรกนึกว่าจะใช้เวลาเตรียมตัวไม่นาน แต่พอลงมือเตรียมตัวจริงๆกลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ผมใช้เวลานานกว่าที่คาดเอาไว้มาก โดยเฉพาะการเตรียมข้อสอบเอนทรานซ์กับโจทย์ต่างๆนั้นผมต้องลองทำเองก่อนทุกข้อ และต้องพยายามอธิบายให้ได้ด้วยว่าทำไมต้องทำวิธีนั้น ทำด้วยวิธีอื่นได้หรือไม่ ฯลฯ ผลปรากฏว่าผมต้องกลับหอพักเร็วกว่าปกติและใช้เวลาเตรียมตัวอยู่จนดึกทุกวันจนตลอดสัปดาห์ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ใช้เวลาแต่ในตอนนั้นผมมีความกระตือรือร้นมาก จึงกลับมองว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย

ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ผมจะไปสอน ผมออกจากมหาวิทยาลัยประมาณบ่ายสี่โมงครึ่งทุกวัน กว่าจะกลับไปถึงหอพักก็เกือบๆหกโมง หลังจากนั้นก็จะกินอาหารและเตรียมงานสอนอยู่จนหลังเที่ยงคืนจะเข้านอน และในช่วงนี้เองที่ผมพบจุ๋มที่ป้ายรถเมล์เกือบทุกวัน จนผมสังเกตได้ว่าจุ๋มจะมารอรถเพื่อกลับบ้านในช่วงเวลาประมาณสี่โมงครึ่ง ยกเว้นบางวันที่ติดซ้อมดนตรีจึงกลับช้ากว่านั้น

“เอ๊ะ ทำไมหมู่นี้เราเจอกันบ่อย” ผมทักทายจุ๋มเมื่อเราพบกันที่ป้ายรถเมล์ในตอนเย็นวันหนึ่ง วันนั้นจุ๋มยืนอยู่หน้าร้านถ่ายรูปนครอาร์ต

“นั่นสิ เบื่อแย่เลย” จุ๋มพูด

“อ้อ เบื่อพี่เหรอ งั้นวันหลังพี่หลบไปยืนไกลๆก็ได้ จุ๋มจะได้ไม่ต้องเห็นพี่” ผมพูด

“เปล่า จุ๋มหมายความว่าพี่อูจะเบื่อจุ๋มแย่เลยต่างหาก” จุ๋มหัวเราะ “แต่ถ้าพี่อูจะคิดแบบนั้นก็ตามใจ สงสัยจะหัวล้าน”

“เอ๊ะ เรานี่ เอายังไงกันแน่” ผมหัวเราะบ้างจากนั้นเปลี่ยนหัวข้อสนทนา “กลับบ้านเร็วเกือบทุกวันเลยนะ”

“ฮื่อ” จุ๋มพยักหน้า “ยกเว้นวันไหนซ้อมก็กลับช้าหน่อย”

“แล้วทำไมต้องกลับบ้านเร็วขนาดนี้ด้วยล่ะ” ผมถาม “เห็นคนอื่นต้องรอให้ดาวขึ้นก่อนจึงจะกลับบ้านถูก”

วัยรุ่นยุคนั้นก็เหมือนวัยรุ่นยุคนี้ ติดเพื่อนฝูง กลับบ้านช้า เถลไถลไปเรื่อย กว่าจะถึงบ้านก็ค่ำหรืออาจจะดึกเลยด้วยซ้ำ บางคนที่ไม่เที่ยวก็มัวแต่ขลุกอยู่ตามชมรมต่างๆจนเย็นจนค่ำ

“จุ๋มต้องทำงานบ้านด้วย” จุ๋มตอบ “ถ้ากลับบ้านช้ากว่าจะเสร็จก็ดึก”

“ชีวิตรันทดจริงๆ” ผมหัวเราะขำ แต่ดูเหมือนจุ๋มจะขำไม่ออก สีหน้าของเธอเปลี่ยนไปนิดหนึ่ง

ผมรู้ตัวว่าคงพูดอะไรผิดไปเป็นแน่ แม้ยังไม่รู้สาเหตุว่าพูดผิดตรงไหนแต่ผมก็รีบเปลี่ยนเรื่องทันที

“จุ๋ม... เอ้อ วันนี้พี่หิวนิดหน่อย ถ้าจุ๋มไม่รีบ ไปหาอะไรกินกันก่อนไหม” ผมเสนอ

เห็นจุ๋มทำสีหน้าลังเล ผมจึงรีบโน้มน้าวต่อ

“ไปกินที่ตลาดสามย่านนี่เอง กินเดี๋ยวเดียวก็เสร็จ ไม่เสียเวลามากหรอก และที่สำคัญ พี่เลี้ยงด้วยนะ”

“เลี้ยงจริงนะ” จุ๋มมีท่าทีดีใจพร้อมกับทำสีหน้าคาดคั้น จนผมอดขำไม่ได้

“จะหลอกทำไมล่ะ จุ๋มกินไม่จุ แค่นี้พี่เลี้ยงได้อยู่แล้ว” ผมย้ำ

“งั้นวันนี้จะกินให้พุงแตกเลย” จุ๋มพูด ทำสีหน้าแบบว่าแกเสร็จฉันแน่คราวนี้

“แหะ งั้นจำกัดงบประมาณเอาไว้ที่ยี่สิบบาทก็แล้วกัน” ผมกลับคำทันที “เกินกว่านั้นจุ๋มออกเอง”

“โอ๊ย พี่นี่” จุ๋มหัวเราะ “ทำไมขี้เหนียวยังงี้”

“ไม่ได้ขี้เหนียว แต่ยังไม่อยากล่มจม” ผมแก้ตัว “ไปกันเถอะ ไม่นานหรอก”

จุ๋มพยักหน้า จากนั้นเราก็เดินเข้าไปในซอยเล็กๆที่อยู่ใกล้ๆร้านนครอาร์ต ตลาดสามย่านในยุคนั้นอยู่หลังป้ายรถเมล์นั่นเอง เพียงคั่นด้วยตึกแถวริมถนนเท่านั้น ระหว่างตึกแถวจะมีซอยเล็กๆที่สามารถเดินเข้าไปถึงตลาดสามย่านได้

ตัวตลาดสามย่านนั้นชั้นล่างเป็นตลาดสด เปิดมายี่สิบกว่าปีแล้ว เดิมเป็นตลาดสดเก่าๆ โทรมๆ ลักษณะเฉพาะของตลาดสดรุ่นเก่าก็คือพื้นตลาดต้องเจิ่งนองไปด้วยน้ำสกปรก เวลาเดินต้องระวังน้ำกระเด็นโดนขาหรือว่าระวังน้ำที่เจิ่งนองบนพื้นซึมเข้าไปในรองเท้า ต่อมาตลาดสามย่านถูกปรับปรุงใหม่ให้เป็นตลาดสดทันสมัย ทางเดินยกสูง มีรางระบายน้ำด้านข้าง เวลาเดินไม่เฉอะแฉะ การปรับปรุงเกิดขึ้นก่อนหน้าที่ผมเข้ามาเรียนเพียงไม่กี่ปี ตอนที่ผมเรียนอยู่แถวนั้นตลาดสดสามย่านก็อยู่ในสภาพที่ทันสมัยและน่าเดินแล้ว

เราสองคนเดินขึ้นไปยังชั้นสอง ตลาดสามย่านนี้เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างเป็นตลาดสด ชั้นบนเป็นศูนย์อาหาร มีร้านอาหารให้เลือกมากมายทั้งระดับราคาปานกลางไปจนถึงระดับราคาแพง นอกจากร้านอาหารแล้วยังมีสำนักติวอยู่ด้วย ตอนนั้นมีอยู่สองแห่ง ห้องติวแต่ละแห่งมีขนาดไม่ใหญ่นัก จัดติวได้เพียงชั้นเรียนขนาดเล็ก

ชั้นสองในยามบ่ายแก่ยังไม่ถึงกับแน่นขนัด ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักศึกษากับนักเรียนในย่านนั้น แต่เมื่อหลังเลิกงานไปแล้วจะมีคนทำงานมากินอาหารด้วย ถ้ามาในตอนหัวค่ำจะเห็นร้านอาหารคลาคล่ำไปด้วยผู้คน กลิ่นและควันจากการปรุงอาหารคลุ้งไปหมด โดยเฉพาะหากเป็นร้านชื่อดังจะมีคนไปนั่งรอคิวกันเลยทีเดียว

เราสองคนเลือกนั่งที่หน้าร้านขายขนมพวกน้ำแข็งไสและน้ำหวาน สั่งน้ำกับขนมมากินและนั่งคุยกันไป จุ๋มเป็นหญิงสาวที่มีอารมณ์ขัน ใบหน้าของเธอมักประดับด้วยรอยยิ้มเสมอ ยิ่งรู้จักกันดีขึ้นผมก็พบว่าเธอก็ชอบแกล้งและชอบแซวเหมือนกัน ไม่ใช่เด็กสาวที่เงียบและเรียบร้อยเหมือนเมื่อตอนที่ได้พบครั้งแรก เวลาผ่านไปอย่างไม่รู้ตัว เรานั่งคุยกันอยู่นานพอสมควรจนจุ๋มยกข้อมือขึ้นดูเวลา เธอก็ทำสีหน้าตกใจ

“อุ๊ย ต้องกลับแล้วละพี่อู ห้าโมงกว่าแล้ว” เธอพูด

“ห้าโมงกว่าแล้วเหรอ นึกว่าสี่โมงกว่าเอง” ผมพยายามถ่วงเวลา “ดูเวลาผิดมั้ง”

“พี่อูก็ดูนาฬิกาของพี่สิ มันจะสี่โมงกว่าได้ยังไง ตอนที่เราอยู่ที่ป้ายรถเมล์ก็เลยสี่โมงครึ่งมาแล้ว” จุ๋มพูด พลางลุกจากที่นั่ง “กลับกันเถอะพี่อู”

“เอ้า กลับก็กลับ” ผมจนใจที่จะเหนี่ยวรั้งให้นั่งคุยกันต่อ ดังนั้นจึงจ่ายเงินค่าขนมและเดินไปที่ป้ายรถเมล์ด้วยกัน เมื่อรถเมล์สาย ๓๔ มาก่อน จุ๋มก็ขอตัวกลับไปก่อน

“ไม่รอรถ ปอ.๒ ล่ะ เย็นกว่านะ” ผมแนะนำ เราจะได้คุยกันต่อในรถได้

“ไม่ไหวละพี่ นานๆมาสักคัน จุ๋มรีบกลับก่อนดีกว่า ไปละค่ะพี่อู” จุ๋มปฏิเสธ พลางเดินขึ้นรถเมล์สาย ๓๔ ไป

- - -

วันเสาร์

ในที่สุดวันที่ผมจะต้องไปสอนพิเศษเป็นครั้งแรกในชีวิตก็มาถึง เดิมไอ้กี้ไปสอนตั้งแต่เวลาบ่ายโมงจนถึงบ่ายสี่โมง รวม ๓ ชั่วโมง ผมจึงไปสอนตามเวลาเดิม

ผมออกจากหอพักตั้งแต่ ๑๐ นาฬิกากว่าๆ นั่งรถเมล์สาย ๙๒ ไปลงหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่หัวหมาก จากนั้นนั่งรถเมล์จากหน้ารามไปลงที่ปากซอยสุขุมวิท ๗๑ หลังจากนั้นจึงต่อถเมล์ไปลงที่ปากซอยสุขุมวิท ๑๐๑ หรือที่เรียกกันว่าซอยปุณณวิถี จากนั้นเดินเข้าซอยไปประมาณ ๕๐๐ เมตรจึงจะถึงบ้านนักเรียนที่ผมจะสอน สมัยนี้มีแผนที่กูเกิล จะไปไหนก็สามารถศึกษาเส้นทาง สายรถเมล์ และระยะทางล่วงหน้าได้อย่างสะดวก แต่ในยุคนั้นไม่มีเครื่องมืออะไร แผนที่ กทม. ก็มีแต่ต้องซื้อจากร้านหนังสือซึ่งซื้อแล้วดูครั้งเดียวก็ไม่คุ้ม จึงต้องอาศัยการสอบถามจากคนอื่นและเดินทางแบบลองผิดลองถูกเอา

การไปสอนพิเศษวันแรกของผมนั้นทุลักทุเลพอสมควร นั่งรถอยู่สองสามชั่วโมง การจราจรในถนนลาดพร้าว รามคำแหง ตลอดไปจนสุขุมวิทในวันเสาร์คับคั่งตลอด แถมยังมีหลงทางขึ้นรถผิดอีกนิดหน่อย อีกทั้งยังต้องเดินเข้าซอยอีก โชคดีที่ผมเผื่อเวลาเอาไว้มากจึงไม่ได้ไปสาย แต่กว่าจะไปถึงเหงื่อก็ไหลโชกเต็มเสื้อไปหมด ตอนที่คุยกับไอ้กี้และมันบ่นให้ฟังถึงเรื่องระยะทางอันแสนไกลผมยังคิดว่ามันสำออย ผมเรียนไกลมาตั้งแต่เด็ก ช่วงที่เรียนมัธยมเดินทางจากลาดพร้าวไปสะพานพุทธอยู่หลายปี ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยนี้ก็ไม่ถือว่าใกล้ ดังนั้นเรื่องเดินทางไกลผมจึงค่อนข้างชินกับมัน แต่การเดินทางมาสอนพิเศษนี่เป็นระยะทางไกลอย่างที่ผมคาดไม่ถึง

ผมหาบ้านตามบ้านเลขที่ที่ไอ้กี้จดให้ เมื่อพบบ้านที่ต้องการ ผมจึงกดกริ่งที่เสารั้วหน้าบ้าน

บ้านนี้ดูจากภายนอกเห็นเป็นหลังใหญ่ ตัวบ้านปลูกจนเกือบชิดกำแพงแทบไม่มีระยะเว้น รอสักครู่ประตูเล็กที่หน้าบ้านก็เปิดออกพร้อมกับเด็กวัยรุ่นชายรูปร่างกะทัดรัดคนหนึ่งชะโงกหน้าออกมา

วัยรุ่นคนนี้ตัวไม่สูงนัก อายุราว ๑๕ ปี ใส่เสื้อยืด กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ รูปร่างปานกลาง ไม่อ้วนไม่ผอม ไว้ผมรองทรงสูง ผิวสีแทน ใบหน้าสั้นแต่สมส่วน ปลายคางมน จมูกเล็กและรั้นเล็กน้อย ปากเล็ก ริมฝีปากบาง รวมความแล้วหน้าตาน่ารักทีเดียว เพียงเห็นปราดแรกผมก็รู้ว่าวัยรุ่นคนนี้คือนักเรียนของผม

ผมรู้สึกสะดุดอยู่ในใจเล็กน้อย มันเป็นความรู้สึกแปลกๆที่อธิบายไม่ถูก รูปร่างที่กะทัดรัดของเด็กคนนี้ทำให้ผมอดนึกถึงไอ้น้องบอยไม่ได้แม้ว่าหน้าตาจะไม่เหมือนกันก็ตาม

“ป้อมใช่ไหมครับ” ผมทักทาย

นักเรียนของผมพนักหน้าตอบโดยไม่พูดอะไร ดูท่านายคนนี้จะเป็นโรคพิกุลทองจริงๆ

“พี่ชื่ออูนะครับ มาสอนแทนพี่กี้” ผมแนะนำตัว

ป้อมไม่พูดอะไรแต่เปิดประตูบานเล็กให้กว้างขึ้นเป็นทีเชื้อเชิญให้ผมเข้าไปข้างในบ้าน

เมื่อผมก้าวเข้าประตูเล็กไปก็แลเห็นบ้านขนาดใหญ่ พร้อมกับโรงรถขนาดใหญ่ ในโรงรถว่างเปล่าไม่มีรถจอดอยู่ ป้อมพาผมเดินเข้าไปในตัวบ้าน เมื่อผมก้าวเข้าไปในบ้าน ความคิดวูบแรกของผมก็คือคิดถึงบ้านของเวช เพื่อนร่วมห้องสมัยมัธยมปลาย บ้านนี้ดูจากขนาดและการตกแต่งทำให้รู้ได้ว่าเป็นบ้านของครอบครัวที่มีฐานะ จึงทำให้ผมอดคิดถึงเวชไม่ได้ น่าแปลกที่การมาสอนพิเศษที่บ้านนี้ทำให้ผมอดหวนคิดถึงเรื่องเก่าๆไม่ได้

ป้อมพาผมเข้าไปที่ห้องเล็กๆห้องหนึ่ง ดูจากการตกแต่งที่มีตู้หนังสือและโต๊ะทำงานที่มีเก้าอี้สองตัวตั้งตรงข้ามกันทำให้รู้ได้ว่าเป็นห้องทำงาน ห้องนี้คงเป็นห้องเรียนพิเศษของป้อม ป้อมพาผมเดินมาที่โต๊ะทำงานและนั่งลงที่ด้านหนึ่ง

“คุณพ่อคุณแม่อยู่ไหมป้อม พี่อยากไปสวัสดีคุณพ่อคุณแม่ของน้องเสียก่อน” ผมพูด

ป้อมส่ายหน้า

“คุณพ่อคุณแม่ไม่อยู่เหรอ” ผมถาม ความรู้สึกเหมือนกับว่าตนเองกำลังเล่นเกมยี่สิบคำถามอยู่

ป้อมพยักหน้า

“อ้อ ถ้ายังงั้นเรามาเริ่มเรียนกันเลยก็แล้วกัน” ผมพูด

ป้อมหยิบหนังสือและสมุดสองสามเล่มออกมาจากเป้ที่วางอยู่บนโต๊ะทำงาน เห็นเป็นหนังสือเรียนคณิตศาสตร์ ม.๔ กับสมุดจด พลางหยิบปากกาขึ้นมา แสดงท่าทีพร้อมที่จะเรียน

ตั้งแต่เข้าบ้านมา ป้อมยังไม่ได้พูดอะไรเลยสักคำ นี่ถ้าไม่ได้รู้จากไอ้กี้มาก่อนว่าป้อมพูดได้ผมคงคิดว่าป้อมเป็นใบ้ จากข้อมูลที่ไอ้กี้ถ่ายทอดแก่ผม ป้อมเป็นลูกคนเดียว พ่อแม่ต้องการให้ลูกเรียนเก่งและสอบเอนทรานซ์เข้าคณะวิศวฯ จุฬาฯให้ได้ จึงพยายามกวดวิชาให้ลูกตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น ตัวของป้อมเองนั้นพูดน้อยมากถึงมากที่สุด ไอ้กี้เองก็แทบไม่รู้ว่าป้อมมีพื้นคณิตศาสตร์แค่ไหนเนื่องจากสอนอะไรก็พยักหน้าอย่างเดียว รวมทั้งไม่ค่อยถามอะไรอีกด้วย

ผมรู้สึกกระหายน้ำมาก แต่รออยู่สักพักก็ไม่เห็นป้อมที่เป็นเจ้าบ้านจะหาน้ำมาเลี้ยงแขกตามธรรมเนียมเสียที เมื่ออดรนทนกระหายไม่ได้จึงต้องทำหน้าด้านขอน้ำดื่ม

“เอ้อ น้องป้อม” ผมพูด “ขอน้ำเย็นสักแก้วได้ไหม พี่นั่งรถมาไกล หิวน้ำมากเลย”

ป้อมไม่พูดอะไร เดินออกจากห้องเรียนหนังสือหายไปพักหนึ่ง จากนั้นก็เข้ามาพร้อมกับน้ำเย็นหนึ่งแก้ว ผมยกแก้วขึ้นดื่มรวดเดียวหมดแก้วด้วยความกระหาย ขอเท่าไรก็ให้เท่านั้นจริงๆ รู้ยังงี้ขอสักสองสามแก้วดีกว่าเพราะแก้วเดียวยังไม่ทันได้ดับกระหายเลย

“เอ้า เรามาเริ่มเรียนกันดีกว่า” ผมพูดกับป้อม “ที่ป้อมเรียนกับพี่กี้ไปมีอะไรที่ไม่เข้าใจไหม พี่จะได้ทวนให้ก่อนที่จะไปต่อ”

ป้อมส่ายหน้า ผมเริ่มรู้สึกอึดอัด เข้าใจแล้วว่าการพูดกับลมกับแล้งนั้นเป็นความรู้สึกเช่นไร




<ตลาดสามย่านเดิม คือตลาดที่อยู่หลังป้ายรถเมล์สามย่าน หรือในซอยจุฬา ๑๕ ตลาดสามย่านนี้เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เดิมเป็นตลาดเอกชน ต่อมามอบให้ฝ่ายทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้บริหารจัดการ ในยุคดั้งเดิมของตลาดสามย่าน ชั้นล่างเป็นตลาดสดที่พื้นเจิ่งนองไปด้วยน้ำสกปรกจากแผงตามแบบตลาดสดทั่วไป ส่วนชั้นบนเป็นแผงขายอาหาร ด้านหลังของตลาดจะมีรถเข็นขายอาหารและขนมมาตั้งโต๊ะเก้าอี้ชั่วคราวขายกันคับคั่งในตอนเย็นและมีลูกค้ามาอุดหนุนกันมาก


ต่อมามีการปรับปรุงตลาดสามย่านเสียใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยปรับปรุงพื้นตลาดสดให้แห้งและสะอาด แผงต่างๆก็ได้รับการปรับปรุงให้สะอาดถูกสุขอนามัยยิ่งขึ้น หลังปี ๒๕๓๐ รถเข็นขายอาหารที่มาชุมนุมหลังตลาดตอนเย็นหายไปจนหมด เข้าใจว่าถูกห้ามขาย ในภาพเป็นตลาดสามย่านเดิมที่ปรับปรุงแล้ว ภาพย่อยบนเป็นอาคารตลาดสามย่านที่มองจากภายนอก ภาพย่อยล่างซ้ายเป็นตลาดสดชั้นล่าง ภาพย่อยล่างขวาเป็นศูนย์อาหารชั้นบน>




<ต่อมาเจ้าของพื้นที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ในย่านนั้นเสียใหม่ จึงเรียกที่เช่าคืนทั้งบริเวณ ทั้งตลาดสามย่านโรงเรียน และอาคารพาณิชย์ในย่านนั้นทั้งหมด ตลาดสามย่านใหม่ถูกสร้างขึ้นในบริเวณซอย ๓๒-๓๔ เป็นการทดแทนและก็คือตลาดสามย่านในปัจจุบัน ตำนานของตลาดสามย่านเดิมได้ถูกปิดลงในตอนกลางปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ในภาพเป็นสภาพชั้นบนของตลาดสามย่านเดิม มีห้องติวและร้านอาหารมากมาย อาหารราคาตั้งแต่ปานกลางจนถึงแพง>

13 comments:

Anonymous said...

พี่อูโพสเข้ามากเลยครับ ขอบคุณครับที่แบ่งปันเรื่องราวให้ได้อ่านกัน
ทอป

พี said...

ตอนนี้มาวันหวยออกเลย...555

ช่วงนี้ไม่ค่อยได้มาทักท่ย แต่เข้ามาแอบอ่านเสมอ...ครับ

*** PEE ***

Anonymous said...

จุ๋มคงไม่ได้มาจีบน้องอูนะ
คงจะเข้ามาทำให้ชีวิตปั่นป่วนมากกว่า 555

ตำราภาษาไทยอ่านเข้าใจยากกว่าตำราภาษาอังกฤษ
เรื่องอมตะในทุกสาขาวิชา

ป้าขวัญเองจ๊ะ

Anonymous said...

พื้นฐานอูเป็นคนขี้สงสาร..
พอรู้ปัญหาลึกๆของน้องจุ๋มและลูกศิษย์ป้อม คงมีอะไรๆตามมาอีกล่ะค่ะ..

คนลาดพร้าว

Anonymous said...

ท่าทางจะมีเรื่องอีกเเน่เลยครับ อาอู

-มังกรน้อย-

Anonymous said...

ผมว่าแรกๆ ป้อมยังไม่พูด อาจเก็บกดบางอย่าง แต่พอได้รู้จักคุณอู ผมว่าป้อมจะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน ผมคิดว่าอย่างนั้นครับ
pk

Anonymous said...

http://www.youtube.com/watch?v=YKEB3PiKiAQ&feature=related

คล้ายๆกันเลยอะ

-มังกรน้อย-

อู said...

ช่วงนีต้องขออภัยที่โพสต์ได้ช้ามาก อยากให้ได้มากกว่านี้แต่ก็ไม่ไหวแล้ว เต็มที่ได้เท่านี้เองครับ

ช่วงที่เรียนในมหาวิทยาลัยนี้หลายคนอาจบอกว่าไม่ค่อยสนุก ไม่ค่อยมีเรื่องหวือหวาหรือวาบหวิว แต่สำหรับอูแล้วถือได้ว่าเป็นช่วงที่คลื่นลมสงบ ชีวิตได้มีวันเวลาที่ราบเรียบบ้าง แต่ก็มีพัฒนาการและการแสวงหาอย่างต่อเนื่อง อย่าให้พบแต่มรสุมทั้งชีวิตเลย เหนื่อยแย่ ส่วนเรื่องวาบหวิวนั้นมีไม่มากเพราะช่วงชีวิตนี้อยู่กับการค้นหาตัวเองมากกว่า ไม่ค่อยได้ยุ่งกับใครนัก มีแค่นิดๆหน่อยๆเอง เอาไว้จะเล่าให้ฟังครับ

ป้าขวัญคงคิดเหมือนผมที่ว่าตำราไทยเมื่อก่อนอ่านไม่รู้เรื่องจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องทางเทคนิค แต่เดี๋ยวนี้ดีขึ้นมากแล้วครับ บางเล่มเขียนดีกว่าตำราฝรั่งอีก

พี่สาวลาดพร้าวคาดการณ์ได้ใกล้เคียงมากครับ เอาไว้คอยดูกันต่อไป

ช่วงนี้ผมเป็นหวัด ตากฝนมาหลายวัน นึกว่าแข็งแรงไม่เป็นไรแล้วเชียว ในที่สุดก็เป็นหวัดจนได้ แต่ยังไม่หนักหนา หวังว่าทุกคนคงสบายดีครับ

Unknown said...

มาเก็บอ่านครับ
มาช้าดีกว่าไม่มาครับ
ยังไรก็รักษาสุขภาพด้วยนะครับ
บอกคนข้างๆให้ใส่ใจคุณอูด้วยนะครับ
เดี๋ยวพวกผมจะไม่ได้อ่านนะครับหรืออาจจะต้องรออ่านนานมากขึ้น
หรือคุณอูไม่มีคนข้างๆ ห้าห้าห้า

รออ่านอยู่นะครับ
กัน

Anonymous said...

ป้อมแน่ๆๆ ที่จะเข้ามาเปิดหัวใจอาอู

จิ้นและลุ้นต่อไป อิอิ

Riverunt said...

แวะมาให้กำลังใจเช่นเดิมครับ ขอให้หายป่วยไวๆ
เรื่องนี้อ่านแล้วได้อารมณ์ร่วมค่อนข้างมาก
เหมือนคุณอูมาเล่าเรื่องส่วนตัวให้เพื่อนๆ ฟัง
สำหรับรายละเอียดในตอนนี้ คาดว่าคงมีบทบาทอีก
มากพอสมควรในระยะหลัง แอบลุ้นๆ

Choo said...

ตอนนี้ก็เมนต์ไปแล้วครับอู

แต่มันหายไปนะ จะเม้นต์ใหม่ก็อาจไม่เหมือนเดิม

ยังอ่านอยู่ตลอด ไม่ได้หายไปไหนครับ

รักษาสุขภาพด้วย

Anonymous said...

อ่า หลานก็ชอบติวให้เพื่อนๆ เหมือนกัน
เคยเจอคนนึงที่ไม่เข้าใจก็ไม่บอกออกมา...

หลาน Arus ของอาอู