เช้าวันรุ่งขึ้น ขณะที่เรานั่งรถเมล์ไปเรียนดนตรีด้วยกัน เมื่อมีโอกาสผมก็ถามไอ้นัย
“หนังสือเมื่อวานเป็นไงบ้าง” ผมถามด้วยความอยากรู้
ไอ้นัยอมยิ้ม “เจ๋ง”
คำตอบของไอ้นัยทำให้ผมคันที่หัวใจ อยากให้ถึงตอนบ่ายเร็วๆ จะได้ไปดูหนังสือเล่มนั้นบ้าง
“แตกไปกี่รอบวะ” ผมกระซิบถามมัน
ไอ้นัยยิ้มอายๆ ตอบเสียงแผ่วเบา “หลาย”
พูดจบผมก็สังเกตเห็นเป้ากางเกงของไอ้นัยเริ่มโป่งพองเป็นลำ จนมันต้องเอาเป้บังไว้ให้มิดชิดเพื่อไม่ให้ใครเห็น
“มึงอย่าถามมากดิ” ไอ้นัยกระซิบดุผม
หลังจากเลิกเรียนดนตรี ปกติเราจะเดินเล่นที่สยามสแควร์และนั่งกินโดนัทกัน แต่วันนั้นผมรีบชวนมันกลับบ้าน เพราะอยากรีบไปดูหนังสือปกขาว และอยากรู้ว่าไอ้นัยมีของอะไรที่จะอวด
“หิวอะ” ไอ้นัยตีหน้าตาย ไม่ยอมกลับเสียยังงั้นแหละ “หาอะไรกินกันก่อนดีกว่า”
ผมขัดมันไม่ได้ ก็เลยต้องไปเดินสยามสแควร์เพื่อกินอาหารเที่ยง
ปกติเมื่อเราเลิกเรียนดนตรี เรามักจะไปกินอาหารเที่ยงกันที่โรงอาหารของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ตอนนั้นยังไม่มีศูนย์หนังสือเช่นทุกวันนี้ สถานที่ตรงที่เป็นตึกศูนย์หนังสือในยุคนั้นเป็นเพียงศาลาขนาดใหญ่ซึ่งใช้เป็นโรงอาหาร ต่อมาภายหลังจึงรื้อออกและก่อสร้างเป็นตึกสูงเช่นในปัจจุบัน
บางทีเราก็ไปกินอาหารกันที่โรงอาหารของคณะทันตแพทย์ศาสตร์ สองแห่งนี้อาหารราคาถูก เพราะเป็นราคาที่ขายนิสิต จานหนึ่งประมาณ ๑๐-๑๕ บาท บางวันถ้าหรูหน่อยก็ไปกินก๋วยเตี๋ยวที่ร้านรสดีเด็ดที่อยู่ด้านหลังโรงหนังสกาล่า ในตอนนั้นราคาก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งประมาณ ๒๕-๓๐ บาท กินชามเดียวไม่เคยอิ่มเพราะว่าชามเล็ก แต่ก็อร่อยดี
“หาอะไรแปลกๆกินดีกว่า” ไอ้นัยพูด วันนี้ดูมันอารมณ์ดีเป็นพิเศษ ถึงขนาดอยากหาอะไรแปลกๆกิน
“กินขี้ดิ แปลกดี” ผมแนะ
“ไอ้เปรต มึงกินคนเดียวละกัน” ไอ้นัยตอบ “ลองเข้าร้านที่พวกพี่ๆเค้าเข้ากันดีกว่า”
พวกพี่ๆที่ไอ้นัยหมายถึงก็คือพวกพี่นิสิตจุฬาฯ แถวสยามสแควร์นั้นนิสิตจุฬาฯเดินกันเยอะมาก ร้านอาหารที่เป็นระดับห้องอาหาร ติดแอร์ ที่หนุ่มสาวนิยมเข้าไปกินกันในยุคนั้นก็จะมีร้านอัปทาวน์ ดาวน์ทาวน์ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ตรงที่เป็นธนาคารกสิกรไทยในปัจจุบัน แต่เดิมก็คือร้านดาวน์ทาวน์นั่นเอง ถ้าเป็นแนวสุกี้ก็จะมีร้านโคคา และแคนตั้น ที่อยู่ด้านถนนอังรีดูนังต์
“แพงนะ อย่ากินเลย กินที่โรงอาหารละกัน” ผมค้าน ร้านอาหารติดแอร์แบบนั้นค่าอาหารคงเกินมื้อละยี่สิบบาทเป็นแน่
“ก็อยากกินอะ” ไอ้นัยทำสีหน้าดื้อ แบบว่ายังไงก็จะกินให้ได้ นานๆไอ้นัยจะแสดงนิสัยคุณหนูออกมาสักที จนผมอดขำไม่ได้ แสดงว่ามันคงอยากลองกินจริงๆ
“อะ อะ ตามใจมึง” ผมยอมตามมัน
เราสองคนเดินเล่นกันในสยามสแควร์อยู่นาน ไอ้นัยก็ไม่แวะเข้าร้านไหนเสียที
“มึงนะมึง แกล้งกู จำเอาไว้” ผมฝากคำอาฆาต แต่ไอ้นัยไม่สนใจ ยังคงเดินต่อไปเรื่อยๆ
เราข้ามไปสยามเซ็นเตอร์ ในที่สุดไอ้นัยก็มาหยุดสนใจที่หน้าร้านร้านหนึ่ง
“ลองกินสเต๊กดูดีกว่า” ไอ้นัยสรุป
ร้านที่เราเข้าไปกินกันก็คือร้านไฮไลท์ ร้านนั้นในยุคนั้นนิสิตนักศึกษาเข้าไปกินกันแน่นขนัด อาหารเด่นก็คือสเต๊ก ข้าวผัดอเมริกัน ฯลฯ ร้านนี้ปัจจุบันไม่มีแล้ว แต่กลายเป็นร้านหนังสือซีเอ็ดแทน
ในวันนั้น ร้านอาหารทั้งร้านดูเหมือนจะมีเราสองคนที่เด็กที่สุด นอกนั้นก็เป็นวัยหนุ่มสาวกันทั้งนั้น เมื่อเราได้โต๊ะว่าง คุณหนูนัยก็นั่งกระดิกเท้าอ่านเมนูอย่างอารมณ์ดี
เราสั่งสเต๊กกันไปคนละจาน ได้มาแล้วก็กินไม่ถูก ไม่รู้ว่าต้องใส่เครื่องปรุงอะไรบ้าง ครั้นจะถามพนักงานก็เสียฟอร์ม ก็เลยเอาขวดต่างๆที่วางอยู่บนโต๊ะ บีบๆราดๆเข้าไป
เราสองคนซื้อประสบการณ์อาหารเที่ยงในวันนั้นด้วยเงินสองร้อยบาท สเต๊กจานละประมาณแปดสิบบาท น้ำผลไม้อีกราวแก้วละยี่สิบบาท สำหรับผมนั้นก็สนุกดี เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ แต่เนื่องจากมีรสนิยมด้านอาหารการกินไม่มากนัก ดังนั้นคนที่สนุกกว่าก็คือไอ้นัย เห็นสีหน้ามันแจ่มใส
“อร่อยจัง ฮุฮุ” ไอ้นัยหัวเราะสดชื่น
“เออ กินเสียกระเป๋าโบ๋ อร่อยเสร็จแล้วก็กลับบ้านได้แล้ว” ผมเร่งมันอีก
“เดี๋ยวๆ ขอกินโดนัทก่อน” ไอ้นัยยังอร่อยไม่เสร็จ
“โอ๊ย” ผมโวย “ยังไม่อิ่มอีกหรือมึง”
“ที่จริงก็อิ่มแล้วแหละ แต่ว่าอยากแกล้งมึง” ไอ้นัยพูดหน้าตาเฉย
- - -
บ่ายวันนั้น คุณอาผู้ชายอยู่ที่บ้านด้วย เพราะว่าต้องรอรับของ ที่แท้ไอ้นัยไม่รีบก็เพราะว่ามันรู้ว่าของจะมาส่งในตอนบ่าย มาเร็วไปก็ไม่มีประโยชน์ เลยถือโอกาสแกล้งผมเสียเลย
จนแล้วจนรอดไอ้นัยก็ยังไม่ยอมบอกว่าเป็นของอะไร ถามคุณอา คุณอาก็ไม่บอก พร้อมกับบอกว่าไอ้นัยสั่งเอาไว้ไม่ให้บอก แต่ตอนนั้นผมไม่ค่อยสนใจแล้ว สนใจแต่หนังสือมากกว่า อยากจะดูใจแทบขาดแต่ก็ดูไม่ได้ เพราะมีคุณอาอยู่ในบ้าน ถึงจะแอบดูอยู่ในห้องนอนของไอ้นัย แต่ถ้าหากคุณอาโผล่เข้ามา ถึงอย่างไรก็คงซ่อนไม่ทัน
หลังจากการรอคอยด้วยความกระวนกระวาย ในที่สุดของที่ว่าก็ถูกนำมาส่ง ผู้ที่มาส่งของอุ้มกล่องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่เข้ามาในบ้าน ข้างกล่องมีรูปจอทีวีปรากฏอยู่
“ทีวีใหม่เหรอ เนี่ยนะน่าตื่นเต้น” ผมกระซิบบ่นให้ไอ้นัยฟัง คุณอากุลีกุจอคอยจัดสถานที่ให้วางของ
ไอ้นัยสั่นหัว “ฮึ”
หลังจากนั้นก็มีกล่องสี่เหลี่ยมขนาดต่างๆกันทยอยเข้ามาอีกหลายใบ
“คอมพิวเตอร์” ผมอุทาน
มันเป็นคอมพิวเตอร์แบบเดสก์ทอปพร้อมพรินเตอร์ครบเครื่อง...
คราวนี้ผมตื่นเต้นขึ้นมาบ้าง ในยุคนั้นคอมพิวเตอร์ยังไม่แพร่หลายเช่นในปัจจุบัน มันเป็นอุปกรณ์ที่ใช้กันในสำนักงานมากกว่าจะอยู่ในบ้าน เพราะมีราคาแพง ดังนั้นหากบ้านใครมีคอมพิวเตอร์ไม่เพียงแต่บ่งบอกถึงกำลังซื้อเท่านั้น แต่ยังบ่งบอกถึงความเป็นคนทันสมัยอีกด้วย
ในยุคนั้น หากที่บ้านใดมีคอมพิวเตอร์ ผู้ที่ใช้ส่วนใหญ่มักเป็นเด็กวัยรุ่น เพราะเด็กในวัยของผมโตมาพร้อมกับเกมคอมพิวเตอร์ ดังนั้นจึงคุ้นเคยกับเครื่องคอมพิวเตอร์มากกว่า ส่วนหนุ่มสาวในยุคนั้นถ้าต้องการจะหัดใช้คอมพิวเตอร์ ก็มักต้องไปสมัครเรียน เพราะว่าตอนเรียนในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัยไม่มีให้ใช้ แต่เวลาทำงานมักต้องใช้ ดังนั้นจึงต้องไปเรียนเพิ่มเติม ส่วนผู้ใหญ่ที่อายุอยู่ในวัยพ่อของผมหรือคุณอาไอ้นัย ส่วนใหญ่จะไม่คุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์เอาเลย ถ้าใครใช้เป็นถือว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ทันสมัยมาก
คุณอาไอ้นัยบอกว่าซื้อให้ไอ้นัยเนื่องในโอกาสที่มันได้เป็นหัวหน้าชั้น พูดง่ายๆก็คือซื้อให้เป็นรางวัลนั่นเอง
“หูย ให้รางวัลกันขนาดนี้เลย” ผมแอบพูดกับไอ้นัยด้วยความทึ่ง ไอ้นัยเองก็มีสีหน้าภูมิใจ ดูคุณอาจะมีเลือดสถาบันอันเข้มข้น จึงได้ภูมิใจในตัวหลานขนาดนี้ ถ้าเป็นพ่อผม ถึงผมได้เป็นหัวหน้าห้องก็คงไม่สนใจ
“แต่ทำไมเอาเครื่องไปตั้งในห้องทำงานคุณอาวะ ทำไมไม่ตั้งในห้องนอนมึง” ผมอดสงสัยไม่ได้
“ก็นั่นน่ะดิ” ไอ้นัยยิ้มแห้งๆ “คุณอาบอกว่าจะขอใช้ด้วยน่ะสิ”
สรุปแล้วก็เลยไม่รู้ว่าคุณอาซื้อให้คุณหลานใช้ หรือว่าคุณอาซื้อใช้เองแล้วยอมให้คุณหลานมาใช้ด้วยกันแน่
“คุณอาคงรักมึงยังกับลูกเลยนะ” ผมพูดด้วยความเลื่อมใส อดคิดถึงตนเองไม่ได้ พ่อผมคงไม่คิดซื้ออะไรแบบนี้ให้ผมเป็นแน่ และถึงผมอยากซื้อ พ่อก็คงไม่ซื้อให้
ไอ้นัยหน้าหมอง ผมอดแปลกใจไม่ได้ ผมพูดแบบนี้ทีไร ไอ้นัยมีสีหน้าแปลกๆทุกที
“เป็นไรวะนัย” ผมถามด้วยความสงสัย
ไอ้นัยสั่นหัว บอกว่าไม่มีอะไร แล้วก็ชวนกันไปช่วยดูช่างที่มาส่งเครื่องติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ ผมเองพลอยตื่นเต้นกับคอมพิวเตอร์จึงถูกเบนความสนใจไปอย่างรวดเร็ว
ห้องทำงานของคุณอาตกแต่งแบบเรียบง่าย แต่มีรสนิยม สมกับเป็นสถาปนิก คอมพิวเตอร์เครื่องนั้นเป็นคอมพิวเตอร์รุ่น PC-XT อันเป็นต้นตระกูลเครื่องเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี ใช้ซีพียู 8086-1 ความเร็ว 4.77-5.0 MHz ความเร็วในยุคนั้นอยู่ที่แค่นี้เอง มีดิสก์ไดรฟสองตัว ดิสก์ไดรฟหรือว่าเครื่องอ่านเขียนแผ่นดิสเก็ตต์นี้ใช้กับดิสเก็ตต์ขนาด 5.25 นิ้ว ความจุเพียงแผ่นละ 360 กิโลไบต์เท่านั้น ฮาร์ดดิสก์ไม่มี จอที่ใช้ในยุคนั้นก็เป็นจอเขียว พรินเตอร์ก็เป็นแบบ 8 เข็ม พิมพ์ได้แค่ช้ามาก อีกทั้งความละเอียดของตัวอักษรก็ต่ำ
สเป็กเครื่องประมาณนี้ ในยุคนั้นถือว่าหรูมากแล้ว ถ้าเป็นของแท้ ยี่ห้อไอบีเอ็ม จะมีราคาประมาณหนึ่งแสนถึงหนึ่งแสนสองหมื่นบาท แต่ถ้าเป็นเครื่องคอมแพ็ตที่ทำในฮ่องกงหรือไต้หวัน จะมีราคาประมาณเครื่องละ 40,000 ถึง 60,000 บาท

<ห้องทำงานของคุณอาตกแต่งแบบเรียบง่าย แต่มีรสนิยม สมกับเป็นสถาปนิก มีคอมพิวเตอร์ พีซี-เอ็กซ์ที อันเป็นต้นตระกูลเครื่องเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี ใช้ซีพียู 8086-1 ความเร็ว 4.77-5.0 MHz ความเร็วในยุคนั้นอยู่ที่แค่นี้เอง หน่วยความจำแบบแรมขนาด 640 kB มีดิสก์ไดรฟสองตัว ดิสก์ไดรฟหรือว่าเครื่องอ่านเขียนแผ่นดิสเก็ตต์นี้ใช้กับดิสเก็ตต์ขนาด 5.25 นิ้ว ความจุเพียงแผ่นละ 360 กิโลไบต์เท่านั้น ฮาร์ดดิสก์ไม่มี
ที่เห็นเป็นกล่องสี่เหลี่ยมวางอยู่บนโต๊ะคือกล่องซีพียู ในตอนนั้นนิยมกล่องซีพียูแบบวางนอน ที่วางอยู่บนซีพียูคือพรินเตอร์แบบเข็ม พิมพ์ได้ช้ามาก อีกทั้งความละเอียดของตัวอักษรก็ต่ำ เพราะมีเพียง ๘ เข็ม ตอนนั้นยังไม่มีระบบพ่นหมึก ถัดไปเป็นจอมอนิเตอร์ขนาด ๑๔ นิ้ว เป็นจอเขียว คือเห็นแต่สีดำและสีเขียวเพียงสองสี และมีคีย์บอร์ดวางอยู่หน้าจอมอนิเตอร์>