Friday, November 4, 2011

ภาคสี่ ตอนที่ 51

เราสองคนเงียบกันไปครู่หนึ่ง จากนั้นจุ๋มก็เริ่มเล่าเรื่องของตนเอง

“ครอบครัวของจุ๋มมีกันอยู่ สี่คน จุ๋มยังมีน้องชายอีกคนหนึ่ง อ่อนกว่าจุ๋มสองปี” จุ๋มพูดช้าๆเหมือนกับกำลังใช้ความคิด “นี่จุ๋มไม่ได้นินทาแม่นะ แต่ว่า... แม่เป็นคนที่... เอ้อ... เจ้าระเบียบ เข้มงวด ค่อนข้างมองโลกในแง่ร้าย เอาแต่ทำงาน ชีวิตมีแต่ที่ทำงานกับที่บ้าน ไม่ชอบไปเที่ยวที่ไหน ส่วนพ่อนั้นเป็นตรงกันข้าม พ่อเป็นคนง่ายๆ มองโลกในแง่ดี อารมณ์ดี ชอบคบเพื่อนฝูง มักไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูงที่นอกบ้านเสมอ...”

ผมฟังด้วยความแปลกใจ พ่อกับแม่ของจุ๋มมีนิสัยแตกต่างกันมาก ราวกับสีขาวกับสีดำ ไม่รู้ว่าคนสองคนที่นิสัยตรงกันข้ามเช่นนี้แต่งงานกันได้ยังไงเหมือนกัน

“จุ๋มเรียนในโรงเรียนเอกชนตั้งแต่เด็ก ตอนเรียนชั้น ม.ต้น ก็ย้ายไปอยู่โรงเรียนประจำ จุ๋มคิดว่าอยู่โรงเรียนประจำก็ดีเหมือนกันเพราะว่าตอนนั้นเบื่อที่บ้านมาก ถ้าอยู่บ้านจุ๋มกับน้องก็ต้องโดนแม่ดุโน่น ตินี่ เสมอ อย่าว่าแต่จุ๋มกับน้องเลย พ่อเองก็โดนแม่บ่นเป็นประจำ

“อยู่ที่โรงเรียนประจำสนุก มีเพื่อนเยอะ จะเซ็งก็ตอนกลับมาอยู่ที่บ้านวันเสาร์อาทิตย์นี่แหละ แต่จุ๋มก็พยายามหาเรื่องออกนอกบ้านในวันหยุดเสมอ ส่วนน้องชายของจุ๋มนั้นเรียนโรงเรียนไปกลับ ต้องเจอแม่บ่นทุกวัน วันหยุดน้องก็อยู่ไม่ติดบ้านเหมือนกัน ส่วนพ่อนั้นไม่ต้องพูดถึง ออกไปเฮฮาสังสรรค์กับเพื่อนเป็นประจำอยู่แล้ว”

ผมคิดในใจว่าบ้านนี้แปลกๆ สามพ่อลูกอยู่ไม่ติดบ้านกันสักคน นึกภาพแม่ของจุ๋มไม่ออกว่าจู้จี้เจ้าระเบียบเพียงใด

“ตอนที่จุ๋มอยู่ชั้น ม.๔ พ่อเริ่มมีอาการหลงๆลืมๆ ลืมนั่นลืมนี่บ่อยๆ ทีแรกก็ยังไม่มีใครสงสัยอะไร แต่ต่อมาตอนที่จุ๋มเรียนอยู่ชั้น ม.๕ พ่อเริ่มมีอาการหลงลืมมากขึ้น ขนาดที่ว่าเมื่อพ่อถามอะไรใครก็จะถามคำถามนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกเพราะลืมว่าเมื่อกี้ถามไปแล้วและได้คำตอบไปแล้ว จากคนที่อารมณ์ดีกลายเป็นคนที่อารมณ์เสียง่าย หากใครขัดใจหรือทำอะไรไม่ได้ดังใจจะโกรธ ฉุนเฉียว ในที่สุดแม่ก็พาพ่อไปหาหมอ จึงได้รู้ว่าพ่อเป็นโรคสมองเสื่อม”

โรคสมองเสื่อมก็คืออัลไซเมอร์นั่นเอง แต่ในตอนนั้นโรคนี้ยังไม่ดัง ศัพท์คำว่าอัลไซเมอร์ก็ยังไม่รู้จักกันกว้างขวางเช่นทุกวันนี้ คนทั่วไปมักรู้จักกันในชื่อโรคสมองเสื่อม

“หมอบอกว่าพ่อเริ่มเป็นโรคนี้เร็วมาก โรคนี้มักเกิดในคนสูงอายุ แต่ตอนนั้นพ่ออายุราวๆ ๕๕-๕๖ ปีเท่านั้นเอง การไปหาหมอในครั้งนั้นทำให้พ่อต้องตรวจร่างกายและก็ทำให้รู้ว่าพ่อเป็นเบาหวานและความดันโลหิตสูงอีกด้วย”

“แย่จัง ตรวจทีนึงก็พบหลายโรคเลย” ผมพูด ตอนนั้นก็ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมเหมือนกันเพราะไม่เคยได้ยินใครพูดถึง รู้แต่ว่าคนที่สูงอายุมากๆคุณตาคุณยายก็มักหลงๆลืมๆ อันถือเป็นเรื่องปกติตามวัย

“หมอบอกว่าหากอาการของพ่อพัฒนาไปเร็วแบบนี้ อีกไม่นาน... เพียงไม่กี่ปี พ่อจะจำใครไม่ได้เลย... จำไม่ได้แม้กระทั่งตัวเอง” จุ๋มพูด น้ำเสียงของจุ๋มยิ่งช้าลงและฟังดูเศร้าสร้อย

ผมนั่งนิ่ง อาการของโรคสมองเสื่อมฟังแล้วน่ากลัว นี่ไม่ใช่เพียงแค่คนสูงอายุหลงๆลืมๆ แต่ถึงขนาดจำตัวเองไม่ได้เลยทีเดียว

“แล้วรักษาได้ไหม” ผมถาม

“โรคนี้มีสาเหตุจากอะไรยังไม่รู้เลย อย่าว่าแต่จะรักษา” จุ๋มส่ายหน้า “เมื่อรู้ถึงความรุนแรงของโรค ทุกคนในบ้านตกใจกันหมด พ่อเองก็ทำใจไม่ได้ หมอแนะนำว่าให้พยายามฝึกคิด ฝึกทบทวนความจำ เพื่อชะลออาการของโรคให้ช้าลง แต่ก็แค่ช้าลงเท่านั้น... ถึงยังไงก็ไม่มีทางยับยั้งมันได้

“อาการของพ่อไปเร็วมากจริงๆ ตอนที่จุ๋มอยู่ ม.๖ พ่อก็แทบจำอะไรไม่ได้แล้ว ไม่ตอบสนองกับคนรอบข้าง ไม่พูดจา ไม่ยิ้ม จากคนที่เคยอารมณ์ดีกลายเป็นคนที่ไม่พูดกับใคร บางทีก็ออกจากบ้านไปโดยไม่มีใครรู้ เดินเรื่อยเปื่อยไม่ดูทาง ไม่ดูรถ ดีที่ตามเจอได้ทุกครั้งและยังไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ จนในที่สุดก็ต้องเฝ้ากันตลอดเวลา ไม่ให้พ่อออกไปไหน

“จุ๋มต้องย้ายจากโรงเรียนประจำมาเรียนในโรงเรียนไปกลับเพื่อช่วยแม่กับน้องดูแลพ่อ ตอนนั้นที่บ้านต้องจ้างแม่บ้านมาช่วยดูแลทำความสะอาดบ้านด้วยเพราะการดูแลพ่อเพิ่มภาระขึ้นอีกมาก แต่แม่บ้านที่จ้างมาแต่ละคนทำได้ไม่นานก็ลาออกเพราะไม่มีใครทนความจู้จี้ของแม่ได้... เปลี่ยนหลายคนแล้วก็ไม่มีใครอยู่ได้ ในที่สุดก็เลยต้องช่วยดูแลพ่อและทำงานบ้านกันเอง”

ที่แท้เป็นอย่างนี้นี่เอง ผมคิด

“แล้วตอนนี้คุณพ่อเป็นยังไงบ้าง” ผมถาม

“พ่อจำใครไม่ได้แล้ว กินข้าวก็ไม่กินเอง ต้องมีคนป้อนให้จึงจะกิน การขับถ่ายก็... เอ้อ... ก็ไม่ควบคุม พ่อไม่ค่อยเคลื่อนไหวแล้ว ดูไปคล้ายกับพ่อติดอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่ง” จุ๋มอธิบาย “ทุกวันนี้พ่อต้องฉีดอินซูลินเพื่อคุมเบาหวานด้วย ยาฉีดนี่ต้องตรงเวลาตามตารางเลย พวกเราก็ต้องจัดเวลาผลัดเวรกันฉีด ยาคุมความดันก็ต้องกิน

“ตอนนี้บ้านแทบไม่เป็นบ้านแล้ว เดิมแม่เป็นคนเครียดอยู่แล้วก็ยิ่งเครียดหนัก สงสารน้องจุ๋ม ทะเลาะกับแม่บ่อยมาก ช่วงหลังนี่นิสัยน้องเปลี่ยนไปเลย จากเด็กที่เคยเรียบร้อยกลายเป็นเด็กก้าวร้าว ที่เคยเรียนดีก็แย่ลง บางทีมันก็เผลอเล่าออกมาว่ามันหนีโรงเรียนไปมั่วสุมตามลานสเก็ตกับเพื่อนๆ แต่เรื่องนี้แม่ยังไม่รู้... และบางทีน้องก็เบี้ยว ไม่ยอมกลับมาฉีดยาให้พ่อ จุ๋มเลยต้องรีบกลับบ้านอยู่เสมอ”

ผมถอนใจ รู้สึกเห็นใจจุ๋มพร้อมๆกับเป็นห่วงน้องชายจุ๋มขึ้นมา ผมเข้าใจดีว่าสภาพเช่นนั้นเป็นอย่างไร

“แล้วที่จุ๋มบอกว่ามีอดีตที่อยากแก้ไขคือเรื่องอะไรล่ะ” ผมถาม

“การเห็นคนที่เรารัก... และคนที่รักเรา... ค่อยๆเปลี่ยนเป็นไม่รู้จักเรา และในที่สุดก็ลืมเราไปโดยสิ้นเชิง มันเจ็บปวดมากนะพี่อู... ทุกๆวันที่จุ๋มเห็นพ่อค่อยๆลืมเราไป... มันเป็นความรู้สึกที่ไม่รู้จะเทียบกับอะไร... จุ๋มเสียใจที่ไปอยู่ในโรงเรียนประจำอยู่หลายปี กลับมาก็ไม่ค่อยอยู่บ้าน จุ๋มรู้สึกว่าเวลาช่วงนั้นมีค่ามาก แต่จุ๋มก็ปล่อยให้มันเสียไป” จุ๋มพูดแล้วหยุดไปครู่หนึ่ง จากนั้นก็พูดต่อด้วยน้ำเสียงเครือ

“จุ๋มอยากมีเวลาอยู่กับพ่อมากกว่านี้... ถ้าตอนนั้นจุ๋มมีเวลาให้พ่อมากกว่านี้ มีความทรงจำกับพ่อมากกว่านี้...” น้ำตาของจุ๋มก็ไหลออกมาคลอเบ้า น้ำเสียงก็กลายเป็นปนสะอื้น จุ๋มรีบหยิบผ้าเช็ดหน้าออกมาเช็ดน้ำตา

นี่มันโทษตัวเองชัดๆ ผมคิด น้ำตาของจุ๋มทำให้ผมมือไม้ปั่นป่วนทำอะไรไม่ถูก จะพูดปลอบใจก็พูดไม่ถูก จึงได้แต่นิ่ง

เราสองนั่งเงียบกันไปพักหนึ่ง ในที่สุดจุ๋มก็หยิบผ้าเช็ดหน้ามาเช็ดน้ำตาอีกครั้ง และดูเหมือนความทุกข์และเหนื่อยล้าของจุ๋มจะถูกปาดทิ้งไปด้วย เพราะจุ๋มกลับมามีท่าทีกระฉับกระเฉงอีกครั้งหนึ่ง

“จุ๋มต้องกลับแล้วล่ะพี่อู” จุ๋มพูดพลางหยิบกระเป๋าและลุกขึ้นจากโต๊ะ “คราวนี้พี่อูก็รู้เรื่องหมดแล้วนะ... จุ๋มไม่เคยเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟัง เพื่อนๆก็ไม่รู้ เพราะเล่าไปก็เหมือนนินทาแม่ตัวเอง...”

“ขอบใจมากที่จุ๋มไว้ใจพี่...” ผมพูดจากใจจริง

ผมเดินไปกับจุ๋มเดินลงจากศูนย์อาหาร เมื่อถึงป้ายรถเมล์ จุ๋มขึ้นรถไปก่อน ส่วนผมรอขึ้น ปอ.๒ ตามปกติ ขณะที่ผมอยู่ในรถ ความคิดของผมล่องลอยไปไกล รู้สึกเศร้าไปกับชะตาชีวิตของจุ๋ม ประสบการณ์ชีวิตของจุ๋มน่าเห็นใจมาก ผมพยายามจินตนาการภาพครอบครัวของจุ๋มว่าดำเนินชีวิตกันอย่างไร พ่อของจุ๋มอยู่อย่างไร พยายามทำความเข้าใจกับความรู้สึกของจุ๋ม ที่ต้องเห็นผู้ที่ตนเองรักค่อยๆสูญเสียความทรงจำทั้งมวลไปทีละน้อย แม้ผมจะไม่เข้าใจความรู้สึกนั้นอย่างถ่องแท้แต่ก็รู้ว่ามันต้องเป็นความทุกข์ใจอันยิ่งใหญ่ น่าแปลกที่จุ๋มยังมีสุขภาพจิตที่ดีและยังมองโลกในแง่ดีอยู่ได้ เธอมีหัวใจที่แกร่งอย่างที่ผมคาดไม่ถึง...

- - -

“พี่อู พักกินข้าวก่อน ป้อมหิวแล้ว” ป้อมวางปากกาในมือลงพร้อมกับบิดขี้เกียจ “เมื่อยด้วย”

“เดี๋ยวก่อน ทำข้อนี้ให้เสร็จเสียก่อน” ผมพูด “ยังไม่ทันจะเที่ยงเลย อย่าเพิ่งหิว”

“ไม่เอา จะกินข้าวแล้ว” ป้อมสะบัดหัวพร้อมกับพูดด้วยเสียงงุ้งงิ้ง

“แน่ะ ตีรวนอีกนะเรา” ผมหัวเราะ “นะนะนะ น้องป้อมคนดี ทำข้อนี้ให้จบก่อน”

ป้อมไม่ตอบ แต่บิดขี้เกียจอีกครั้งพร้อมกับหยิบปากกาขึ้นมาเขียนยุกยิกลงในกระดาษ สักพักหนึ่งก็วางปากกาลงอีก

“อะ เสร็จแล้ว” ป้อมพูด

“ไป คราวนี้เชิญคุณชายไปกินข้าวได้” ผมพูดพลางหัวเราะ

เราสองคนลุกขึ้นและเดินไปที่โต๊ะกินข้าวที่อยู่ในอีกห้องหนึ่ง บนโต๊ะมีข้าวผัดสองจานมีฝาชีครอบเอาไว้วางรออยู่แล้ว

หลังจากที่กลับมาจากออกค่ายและกลับมาสอนพิเศษป้อมอีกครั้งหนึ่ง ผมวางแผนการติวป้อมโดยพยายามทบทวนคณิตศาสตร์ ม. ๔ เทอมหนึ่งทั้งหมดให้เสร็จภายในช่วงปิดเทอมเพื่อว่าเมื่อเปิดเทอมแล้วจะได้พร้อมที่จะเรียนเนื้อหาของเทอมปลายได้ แต่เนื่องจากป้อมยังทำโจทย์ไม่ค่อยได้ ผมจึงพยายามให้ป้อมทำโจทย์ให้มาก การทบทวนและทำโจทย์จึงใช้เวลาไม่น้อย

ป้อมตั้งใจเรียนขึ้นมาก อีกทั้งพยายามพูดคุยกับผมมากขึ้นตามที่ได้สัญญากันเอาไว้ ตอนแรกผมก็รู้สึกไม่ค่อยคุ้นเคยกับน้ำเสียงงุ้งงิ้งของป้อมเท่าไรนัก แต่ไม่นานผมก็เริ่มคุ้นและกลับรู้สึกว่าน้ำเสียงของป้อมเหมือนเด็ก ฟังแล้วน่ารักดี

เมื่อผมให้การบ้านป้อม ป้อมมักไม่ค่อยอยากทำและอ้างว่าติดปัญหาแล้วไม่รู้จะถามใคร ป้อมชอบให้ผมอยู่เป็นเพื่อนขณะทำการบ้านเสมอ ในที่สุด ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนั้นเอง ผมก็ต้องเดินทางมาบ้านป้อมแทบทุกวัน ทั้งสอนและคุมให้ป้อมทำการบ้านตั้งแต่เช้ายันบ่าย หลายวันผ่านไป ความสนิทสนมคุ้นเคยของเราก็เพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งๆที่เมื่อเทอมที่แล้วเราเรียนกันมาทั้งเทอมแต่กลับไม่รู้สึกว่าคุ้นเคยกันเลยแม้แต่น้อย

และในที่สุดผมก็ได้รู้ความจริงที่ผมคาดไม่ถึงว่าป้อมนั้นช่างพูดเหลือเกิน!

“พี่อูไปออกค่ายทำอะไรบ้างฮะ” ป้อมชวนคุยระหว่างที่เรากินอาหารเที่ยงด้วยกัน

“ก็ช่วยสร้างโรงเรียนน่ะ ทำทุกอย่าง เลื่อยไม้ ตอกตะปู ผสมปูน ทาสี แบกของ...” ผมตอบ

“ทำไม่เป็นสักอย่าง” ป้อมพูดดัก

“ใครบอกล่ะ ทำได้ทุกอย่างต่างหาก” ผมหัวเราะกับมุขของป้อม

“ป้อมก็เคยไปออกค่ายลูกเสือ ตอน ม.๓ ไปอยู่ที่ค่ายศรีราชาตั้งหลายวัน โห ที่นั่นนะ กว้างมากกกกกกก...” ป้อมเล่าอย่างออกรส “ตอนทำอาหารต้องก่อกองไฟเอง ต้องเอาไม้มาสีกันให้เกิดความร้อนแล้วกลายเป็นเปลวไฟ”

“แบบมนุษย์หินฟลินต์สโตนเลยนะ” ผมพูด

“ช่าย นั่นแหละ แต่จุดกันไม่ติดสักคน ในที่สุดก็ใช้ไฟแช็ก ฮ่าๆๆ” ป้อมหัวเราะสนุก

“แล้วพกไฟแช็กไปทำไม” ผมถาม

“ป้อมไม่ได้พก คนอื่นพกไป บางคนมันก็สูบบุหรี่” ป้อมตอบ

“ไป ได้เวลาเรียนต่อแล้ว” ผมพูดกับป้อมหลังจากที่เหลือบดูนาฬิกาที่ผนังห้อง

“เดี๋ยว ป้อมยังเล่าไม่จบเลย” ป้อมทักท้วง “ฟังป้อมเล่าก่อนสิ”

“ไม่อยากเชื่อเลยว่าป้อมจะช่างพูดขนาดนี้” ผมแกล้งดุ “ได้เวลาแล้ว เดี๋ยวก็ทวนไม่ทันก่อนเปิดเทอมหรอก”

ป้อมทำหน้าเขินผสมจ๋อยเมื่อโดนผมดุว่าช่างพูด ผมฉุกคิดว่ามันอาจเป็นคำพูดที่ทำให้ป้อมรู้สึกอายในปมของตนเอง

“อะ อะ เล่าให้จบก็ได้ ที่จริงพี่ก็อยากฟังแหละ แค่กลัวทวนไม่ทันเท่านั้นเอง” ผมรีบเปลี่ยนท่าที

ป้อมจึงเล่าเรื่องการไปค่ายลูกเสืออย่างออกรสโดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุด เพราะเมื่อจบเรื่องหนึ่งก็ต่อไปถึงอีกเรื่องหนึ่ง จนผมต้องเร่งรัดป้อมอีกครั้ง

“พี่อู ป้อมถามอะไรหน่อย” ป้อมพูด

“จะถามอะไรล่ะ ว่ามาสิ” ผมตอบ

“พี่อูเป็นอะไรเหรอ” ป้อมถาม

“เป็นอะไร” ผมทวนคำอย่างงุนงง “ หมายความว่ายังไง”

“พี่อูป่วยเป็นอะไรฮะ” ป้อมถามอีก “ที่เคยบอกป้อมว่าพี่อูก็ผิดปกติเหมือนกัน”

ผมจึงค่อยเข้าใจ ที่แท้ป้อมให้ความรู้สึกสนิทสนมคุ้นเคยกับผมคงเป็นเพราะรู้สึกว่าเราสองคนเป็นพวกเดียวกันนั่นเอง แต่ความผิดปกติของผมนั้นคงสุดที่ป้อมจะคาดเดาได้

“เอ้อ อย่าให้เล่าเลย” ผมพยายามบ่ายเบี่ยง “พี่ไม่เคยเล่าให้ใครฟังเลย”

“ทีป้อมมีอะไรยังเล่าให้พี่อูฟังจนหมด” ป้อมทำหน้าเสียใจ “บอกป้อมไม่ได้เหรอ”

“เอ้อ...” ผมรู้สึกอึดอัด ใจหนึ่งก็ไม่อยากทำร้ายความรู้สึกของป้อม แต่ผมคงบอกป้อมไม่ได้หรอกว่าผมไม่ใช่ ‘พวกเดียวกัน’ กับป้อมในความหมายของป้อม “เอาไว้พี่เล่าให้ฟังทีหลังได้ไหม พี่ไม่เคยบอกใครมาก่อนเลย ขอเวลาพี่สักนิดหนึ่ง”

ป้อมพยักหน้าอย่างว่าง่าย ไม่เร่งเร้าผมอีก

“เราไปเรียนต่อกันเถอะ เลยบ่ายโมงมาโขแล้ว” ผมรีบเปลี่ยนประเด็น




<ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นในกรุงเทพฯ เริ่มต้นในราวปลายเดือนตุลาคมและท่วมขังอยู่เป็นเวลานาน ในภาพนี้ ภาพบนเป็นห้างเซ็นทรัลลาดพร้าวที่ถูกน้ำท่วมในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ส่วนภาพล่าง เป็นภาพถนนพหลโยธินหน้าห้างเซ็นทรัลลาดพร้าวในอีก ๒๘ ปีต่อมา ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลายคนถึงกับเรียกเหตุการณ์ในครั้งหลังนี้ว่าเป็นมหาอุทกภัย>

15 comments:

ชายเถิก เกิดเกิดเกิดเกิด said...

สงสารจุ๋มจัง สู้สู้นะจุ๋ม

ครอบคัวผมก็เคยเกิดเหตุการณ์คล้ายๆกันกับจุ๋ม

ในบ้านเครียดกันมาก วิถีชีวิตคนในครอบครัวเปลี่ยนไปหมดแต่ตอนนี้ก็ผ่านกันมาได้แล้ว

เรื่องของน้องป้อมก็น่าติดตามมากๆๆ

มาต่อไวไวน้าคร้าบ

ชายเถิก เกิดเกิดเกิดเกิด said...

สู้สู้นะจุ๋ม

เข้าใจจุ๋มมากมาก หื้อออออ

Anonymous said...

เบื่อน้ำท่วมจัง

แบงค์ครับ

มะขามดอง said...

อาอู ครับเมื่อวานขามดูข่าวน้ำมาถึง 5 แยกลาดพร้าวแล้ว ถึงซอยบ้านอายังครับเนี่ยะ เป็นห่วงเด้อคุณอา

เป็นใครถ้าเจอเหตุการณ์เหมือนจุ๋ม คงทำใจลำบากกันทุกคน

อู said...

ท่วมเรียบร้อยแล้วครับ ถนนลาดพร้าวช่วงสี่แยกตัดถนนรัชดากับช่วงซอยภาวนานี่น้ำท่วมมิดทางเท้าเลย เห็นชัดว่าสองบริเวณที่ว่านี้เป็นแอ่งกะทะ

น้ำยังไม่เข้าตัวบ้าน เจิ่งอยู่ในถนนซอยเท่านั้น แต่ต่อไปก็ไม่แน่ เดินทางไปไหนก็ลำบากแล้วครับ ขอบคุณที่เป็นห่วง คนอื่นอยู่ได้เราก็ต้องอยู่ให้ได้เหมือนกัน

ภาพประกอบของตอน ๕๑ นี้ไม่ได้เกี่ยวกับอะไรกับเนื้อเรื่อง แต่ว่าวันที่โพสต์เป็นวันที่น้ำทุ่งจากด้านเหนือไหลมาถึงห้าแยกลาดพร้าวพอดี ทำให้นึกถึงน้ำท่วมตอนวัยเด็ก จึงนำรูปน้ำท่วมเซ็นทรัลลาดพร้าวมาประกอบตอนนี้ครับ

Unknown said...

จะว่าไปผมก็เคยอยู่ในเหตุการณ์แบบจุ่มเหมือนกัน
แต่เดี๋ยวก็ผ่านไปได้
คุณอูน้ำท่วมแล้ว แล้วสบายใจไหมครับ ผมว่าดีเหมือนกันที่ท่วม เพราะบ้านผมยังไม่ท่วม แต่ต้องมาเครียดว่าน้ำจะมาเมื่อไร จนเอาไปฝันว่าน้ำมาแล้วเก็บข้าวของไม่ทัน ตื่นขี้นมาเดืนดูรอบบ้านว่าน้ำท่วมจริงหรือเปล่า แล้วนอนต่อ ฮะฮากันใหญ่
ระวังสุขภาพนะครับ

กัน

Choo said...

อ้าว อูกลายเป็นผู้ประสบภัยไปแล้วหรือนี้

ภาพล่างนี้ update เร็วจังครับ จะขาดก็ภาพของปี 38 ที่ท่วมใหญ่เหมือนกัน

จุ๋มเข้มแข้งเหมือนอูนั่นแหละคร๊าบ เอาใจช่วยครับ

ป้อมก็คงไม่สามารถสนิทกับใครได้ง่ายๆ อูก็ดูแลดีๆ นะ ไม่งั้นใครมาโฉบเอาไปไม่รู้ด้วยนะเอ้า...

น้ำท่วมหรือจะสู้น้ำใจ เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกันเด้อ

ชู

อู said...

พี่ชูหายยุ่งแล้วหรือ ผมกลายเป็นผู้ประสบภัยไปแล้ว กำลังหาถุงยังชีพอยู่

วันนี้ก็เก็บของไปเรื่อยๆ เมื่อปี ๓๘ น้ำท่วมครั้งนั้นก็มีของเสียหายไปหลาย โดยเฉพาะหนังสือกับนิตยสาร ทิ้งไปก็มากเพราะเปียกน้ำและขึ้นรา เสียดายมาก ครั้งนี้ก็จำใจต้องทิ้งนิตยสารกับหนังสือเก่าๆที่เหลือรอดมาจากปี ๓๘ ไปอีกส่วนหนึ่ง เพราะว่าไม่มีที่เก็บ หนังสือเก่าๆเหล่านี้เป็นของรัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ก็ได้แต่พยายามทำใจ

น้ำมาแล้วก็โล่งใจไปเปลาะหนึ่ง ไม่ต้องคอยลุ้นว่าเมื่อไรน้ำจะมา แต่คราวนี้ต้องมาลุ้นว่าเมื่อไรน้ำจะลดครับ ขอดูอีกสองสามวัน หากไม่เลวร้ายกว่านี้มากก็คาดว่าไม่ต้องย้ายไปไหน เดินลุยน้ำเอาคงพอได้ แล้วก็อาจต้องหยุดงานสักช่วงหนึ่ง

ป้ายรถเมล์หน้าโรงจำนำตรงข้ามซอยภาวนา ที่เมื่อก่อนไปขึ้นรถเมล์เป็นประจำ ตอนนี้หาทางเท้าไม่เจอแล้ว เห็นแต่น้ำ ลาดพร้าวซอยหนึ่งหลังยูเนียนมอลล์ ที่เป็นบ้านเดิมของครูช่วย ก็ท่วมแล้ว ท่วมก่อนซอยภาวนาอีก

พี่สาวลาดพร้าวหายตัวไปเลย คาดว่าอพยพไปอยู่ต่างจังหวัดแล้ว คงไม่น่าเป็นผู้ประสบภัย

มะขามดอง said...

แล้วคุณอาก็เป็นหนึ่งในนั้น ขามก็หนีไม่พ้นเหมือนกัน น้องน้ำก็ใจดีเหลือเกิน ไปเยี่ยมกันทุกพื้นที่ รอน้ำลดกันต่อไป

Anonymous said...

เป็นกำลังใจ สู้น้ำท่วมครับ
ทอป

Anonymous said...

แวะมารายตัวค่ะอู..
พี่เป็นทั้งผู้ประสบภัยและผู้อพยพรุ่นแรกๆเพราะอยู่หัวเมืองฝ่ายเหนือ
ตอนนี้ออกมาตั้งหลักที่ตจว.ประมาณครึ่งเดือนแล้วค่ะ
ในบ้านพี่..น้องน้ำถือวิสาสะเข้าไปนอนเล่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าของบ้านอย่างพี่กลัวน้องเค้าจะเหงาเลยฝากรถให้น้องเค้าช่วยดูแลอีก1คัน(จริงๆแล้วเอาออกไม่ทัน ฮือๆ)

คนลาดพร้าว

Riverunt said...

คนเรานี่ก็แปลกเหมือนกันนะ ความลับของคนอื่นชอบฟัง แต่ความลับของตนเองไม่พร้อมที่จะเปิดเผย
สำหรับจุ๋มและป้อมที่พร้อมใจกันเล่าเรื่องในอดีตทั้งที่สุขหรือทุกข์ แสดงว่าเขาคิดว่าคุณอูน่าไว้วางใจ และกลายเป็นพวกเดียวกัน ความจริงใจและแสดงออกทางสีหน้าที่สามารถเดาได้ง่ายๆ ก็เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของคุณอูเหมือนกัน
ตอนนี้ ก็กลายเป็นผู้ประสบภัยเหมือนกัน หนีจากลาดพร้าวมาอยู่ต่างจังหวัดได้ห้าวันแล้ว มีแต่กินและนอน ว่างงานมากจริงๆ

Anonymous said...

เป็นห่วงทุกๆคนนะครับ น้ำท่วม น่าสงสาร อาหารขาดแคลน อยากช่วยจังเลย คิดถึงลุงอู และทุกๆคนนะครับ

boy_aof_za

Anonymous said...

ชอบผลงานเขียนของคุณอูมากค่ะ จะติดตามต่อไปนะคะ^^

Anonymous said...

ผมเสียดายจัง ถ้าผมมาในช่วงนี้คงได้รับฝากหนังสือไว้
ตอนนี้ขอตามเก็บตอนให้ครบก่อนนะครับ

หลาน Arus ของอาอู