Saturday, October 15, 2011

ภาคสี่ ตอนที่ 48

“สวัสดีอู อารออูโทรมาอยู่ตั้งหลายวัน” พ่อของป้อมทักทายแกมต่อว่านิดๆ

“ครับ” ผมได้แต่รับคำเพราะไม่รู้จะแก้ตัวอย่างไร “ป้อมเป็นอย่างไรบ้างครับคุณอา”

“ที่อาอยากคุยกับอูก็เรื่องป้อมนี่แหละ” พ่อป้อมพูด

ก็แหงล่ะ หากไม่ใช่เรื่องของป้อมก็คงไม่มีเหตุอะไรที่ต้องตามหาตัวผม ผมพยายามทำใจ เตรียมพร้อมรับการต่อว่า

“ช่วงนี้อูว่างไหม” พ่อป้อมถาม “สอนพิเศษใครอยู่หรือปล่า”

“ไม่มีครับ” ผมรู้สึกผิดคาด แต่ก็ตอบอย่างระมัดระวัง

“ถ้ายังงั้นอูมาสอนป้อมต่อได้ไหม” พ่อป้อมเริ่มเข้าประเด็น

อ้าว นึกว่าจะโทรมาต่อว่า หลงไม่สบายใจอยู่ตั้งนาน ที่แท้ก็จะตามให้กลับไปสอนพิเศษต่อ ดูท่าพ่อของป้อมคงยังหาใครมาสอนต่อจากผมไม่ได้ จึงพยายามให้ผมกลับไปสอนต่อไปก่อน

“เอ้อ...” ผมอึกอัก นึกถึงภาพตอนที่ผมพูดคนเดียวเหมือนคนเพ้อ นึกถึงความลำบากในการเดินทาง และนึกถึงความโล่งใจหลังจากที่เลิกสอนป้อม... ผมไม่อยากกลับไปสอนอีกเลย แต่จะให้ปฏิเสธก็พูดไม่ออกเพราะเกรงใจ

“ว่าไง กลับมาช่วยน้องหน่อยเถอะนะ” พ่อป้อมพยายามโน้มน้าว

“ผมว่าคุณอาหาคนอื่นอาจจะช่วยป้อมได้ดีกว่าครับ” ผมพูดตามตรง “ผมไม่ถนัดสอนป้อมจริงๆครับ”

“แต่ป้อมอยากให้อูสอน เค้าไม่อยากได้คนอื่น” พ่อป้อมพูด

ให้ยาหอมกันขนาดนี้เชียว แต่ผมรู้ตัวดี ผมไม่คิดว่าป้อมจะประทับใจผมขนาดนั้น นี่คงเป็นเพียงคำพูดเพื่อโน้มน้าวผมเท่านั้น

“ผมไม่รู้จะสอนยังไงจริงๆครับ ป้อมแทบไม่พูดอะไรเลย ผมก็ไม่รู้ว่าป้อมเรียนรู้เรื่องหรือเปล่า จะปรับปรุงการสอนก็ปรับปรุงไม่ถูก” ผมพูดอย่างถนอมน้ำใจที่สุด ที่จริงอยากจะบอกว่าสอนแล้วเบื่อมาก

“อูคอยเดี๋ยวนะ” เสียงพ่อป้อมพูด จากนั้นก็ได้ยินเสียงพ่อป้อมพูดในที่ไกลออกไป “เอ้า เค้าไม่อยากสอนเราแล้ว มาคุยเองก็แล้วกัน”

มีเสียงกอกๆแกกๆ สักครู่ผมก็ได้ยินเสียงเล็กๆ เบาๆ เหมือนแมวร้อง

“หวัดดีฮะพี่อู” เสียงนั้นพูด เป็นเสียงของป้อมนั่นเอง

“หวัดดีป้อม” ผมทักทาย

“พี่อูมาสอนป้อมต่อนะ” ป้อมพูด

ป้อมถึงขนาดลงทุนอ้อนวอน โดนไม้นี้เข้าผมถึงกับใจอ่อน แต่เมื่อผมตั้งใจแล้วผมก็ไม่อยากเปลี่ยนใจง่ายๆ

“เอ้อ... ไม่รู้สิ... ป้อมแทบไม่พูดอะไรเลย พี่ก็ไม่รู้จะสอนยังไง พี่คงสอนป้อมได้ไม่ค่อยดีเท่าไร...” ผมพูดอ้อมๆ ไม่อยากปฏิเสธตรงๆ

“ป้อมจะพูดให้มากขึ้น อยากให้พี่อูมาสอน” ป้อมพูดด้วยเสียงงุ้งงิ้ง

วันนี้ป้อมพูดกับผมถึงสามประโยคทีเดียว มากกว่าที่ป้อมเคยพูดกับผมตลอดทั้งเทอมที่ผ่านมาเสียอีก ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ป้อมอาจกินยาผิดก็ได้ ได้ยินเสียงหูโทรศัพท์ดังกอกแกกอีก จากนั้นก็กลายเป็นเสียงพ่อของป้อม

“ว่าไงอู กลับมาสอนน้องอีกได้ไหม” พ่อป้อมถาม “ปิดเทอมอูคงมีเวลาว่างมากขึ้น มาช่วยติวให้ป้อมหน่อยนะ”

“เอ้อ...” ผมอึดอัดใจ แต่ก็พยายามบ่ายเบี่ยง “คือผมทำกิจกรรมด้วยครับ อีกไม่กี่วันผมต้องไปออกค่ายแล้ว กลับม็ไม่รู้ว่ามีกิจกรรมอะไรที่ต้องทำอีก”

“งั้นอีกสองสามวันค่อยโทรมาบอกอาก็ได้ อูไปดูเวลาว่างของอูมาก่อน แต่อาหวังว่าอูจะมีข่าวดีให้น้อง” พ่อป้อมพยายามรวบหัวรวบหาง เรื่องวาทศิลป์ผูกมัดคนนี่พ่อของป้อมกินขาด

ผมคิดจะถามป้อมว่าทำไมจึงอยากให้ผมสอน แต่ในที่สุดก็ไม่มีโอกาสถาม แต่ถึงจะรู้ไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะถึงอย่างไรผมคงไม่เปลี่ยนใจ...

- - -

ที่ห้างมาบุญครอง

ผมพาจุ๋มมาเลี้ยงตามที่สัญญากันไว้ เดิมทีคิดว่าจะพาจุ๋มไปเลี้ยงที่ร้านไอศกรีมซิกซ์ทีนที่สยามเซ็นเตอร์ แต่เนื่องจากจุ๋มต้องรีบกลับบ้าน ดังนั้นจึงเอาสะดวกเข้าว่า เลือกมากินที่มาบุญครอง

ร้านที่เราเข้าเป็นร้านพิซซ่าฮัท ร้านอาหารหรูมีระดับของวัยรุ่นในยุคนั้นก็คือร้านอาหารพิซซ่าหรือไม่ก็ร้านแฮมเบอร์เกอร์ หากต้องการจะเลี้ยงอาหารใครเป็นพิเศษสักมื้อคงไม่มีใครเลือกไปกินข้าวแกงที่โรงอาหาร ที่จริงร้านพิซซ่าในยุคนั้นไม่ได้มีเพียงพิซซ่าฮัท มีร้านพิซซ่าอีกร้านหนึ่งที่มีชื่อเสียงด้านพิซซ่ากรอบบาง นั่นคือร้านพิซซาเรีย ผมเคยไปกินกับเพื่อนๆและพี่ปริญญาโทที่แผนกครั้งหนึ่ง พวกพี่ปริญญาโทที่แผนกผมนี้บางคนเป็นพวกเชลล์ชวนชิม นั่นคือ ชอบหาร้านอร่อย ตระเวนกินไปเรื่อย ในยุคนั้นก็แค่ไปนั่งกินเฉยๆ ยังไม่มีการถ่ายรูปอาหารมาเขียนรีวิวลงในเว็บบอร์ดเหมือนในสมัยนี้

“จุ๋มจะสั่งอะไรดี” ผมถามหลังจากที่เรานั่งลงที่โต๊ะอาหารและรับเมนูจากพนักงานมา ตอนนั้นผมเริ่มคล่องแล้ว เข้าร้านพวกนี้ได้โดยไม่มีอาการเงอะงะ “สั่งถาดขนาดกลางแล้วมาแบ่งกันดีไหม”

“พี่สั่งเถอะ ตามใจพี่อู” จุ๋มพูด

“พี่เลือกขนาดไปแล้ว จุ๋มเลือกหน้าก็แล้วกัน” ผมเปิดโอกาสให้จุ๋มได้เลือกบ้าง ผลัดกันเลือกคนละหน่อยแต่ละคนจะได้มีส่วนร่วม หลังจากที่จุ๋มเลือกหน้าพิซซ่าแล้วเราก็ต้องนั่งคอยประมาณ ๑๕ ถึง ๒๐ นาที ระหว่างนั้นเราก็นั่งคุยกันไปเพื่อฆ่าเวลา คุยกันเรื่องนั้นเรื่องนี้ สุดท้ายก็วกมาที่เรื่องของป้อม

“พี่โทรไปหาพ่อป้อมแล้ว” ผมเกริ่น อาหารถูกยกมาพอดี เราจึงกินกันไปคุยกันไป “เค้าไม่ได้โทรมาต่อว่าหรอก แต่โทรมาให้ไปสอนต่อ งงเหมือนกัน”

“อ้าว เหรอ” จุ๋มทำน้ำเสียงแปลกใจ ผมจึงเล่ารายละเอียดให้จุ๋มฟัง

“ทีแรกก็คิดว่าพ่อป้อมยังหาคนมาสอนไม่ได้ เลยพยายามให้พี่สอนแก้ขัดไปก่อน แต่ป้อมถึงกับพูดอ้อนพี่เอง ก็คงไม่ใช่เรื่องหาคนสอนไม่ได้ แต่ทำไมถึงอยากให้พี่ไปสอนอีกก็ไม่รู้ ก่อนจากมาก็ไปด่าเสียขนาดนั้น เอ... หรือคนมันชอบโดนด่าหว่า” ผมอดหัวเราะไม่ได้

“แล้วพี่อูคิดยังไงล่ะ” จุ๋มถาม “จะไปสอนอีกไหม”

“ไกลก็ไกล เหนื่อยก็เหนื่อย แถมต้องพูดคนเดียวอีก ไม่ไหวแล้ว” ผมพูด “ถ้าพูดเรื่องเงินก็อยากได้อยู่หรอก แต่สอนแล้วอึดอัดใจพี่ก็... คืออยากสอนแล้วสบายใจด้วยน่ะ”

จุ๋มพยักหน้าเหมือนกับจะเข้าใจความคิดของผม

วันนั้นเราใช้เวลาได้ค่อนข้างสบาย เพราะนัดกันไว้ตั้งแต่บ่ายสามโมง ทำให้มีเวลาเหลือเฟือ ไม่ต้องเร่งรัดเวลา กินกันไปคุยกันไป นั่งแช่อยู่จนได้เวลาที่จุ๋มต้องกลับบ้าน

“กลับกันเถอะพี่อู” จุ๋มพูด พลางยกข้อมือขึ้นดูนาฬิกา

“ได้ๆ กลับก็กลับ” ผมตอบ พลางขยับตัวจะลุกจากที่นั่ง

“ตกลงพี่อูจะกลับไปสอนที่บ้านนั้นอีกไหม” จู่ๆจุ๋มก็ถามขึ้นมา

“จุ๋มคิดว่ายังไงล่ะ” ผมถามกลับ ที่จริงผมพอจะมีคำตอบในใจอยู่แล้ว แต่อยากลองฟังความคิดของจุ๋มดูบ้าง

จุ๋มนิ่งไปนิดหนึ่ง

“พี่อูเคยทำอะไรผิดบ้างมั้ย” จุ๋มถาม

“ทำผิด”ผมทวนคำ ยังงุนงงกับคำถาม ตั้งตัวไม่ถูก ไม่รู้ว่าจุ๋มจะมาไม้ไหน “ทำผิดแบบไหนล่ะ”

“ทำผิดก็คือทำอะไรที่ไม่ถูกไง” จุ๋มตอบแบบกำปั้นทุบดิน “อะไรก็ได้ เรื่องเล็กๆน้อยๆหรือเรื่องใหญ่ๆ เรื่องอะไรก็ได้”

เมื่อพูดถึงทำผิดเรื่องใหญ่ ผมรู้สึกเจ็บแปลบอยู่ในใจ เรื่องในอดีตผุดขึ้นมา ผมพยายามสลัดมันทิ้งไป

“เคยสิ ใครไม่เคยทำผิดบ้างล่ะ” ผมตอบ “ในชีวิตพี่ พี่ทำผิดมากกว่าทำถูกเสียอีก”

“ตอนที่พี่อูทำอะไรผิด แล้วพี่อูอยากได้โอกาสแก้ตัวอีกสักครั้งไหมคะ” จุ๋มถาม พลางมองหน้าผม

ผมนั่งนิ่ง มองจุ๋มอย่างตะลึง วิธีการพูดแบบนี้ช่างเป็นวิธีที่ผมคุ้นเคยเสียนี่กระไร...

- - -

กลางเดือนตุลาคม ในที่สุดก็ถึงวันเดินทางไปออกค่าย

รถบัสคันใหญ่ ไม่ติดแอร์ จอดรออยู่ที่คณะตั้งแต่เช้า พวกเราทั้งสมาชิกชมรมค่ายอาสาและชมรมวิชาการจำนวนหลายสิบคนมากันตั้งแต่เช้าเพื่อจัดของขึ้นรถ พวกชมรมวิชาการที่ไปออกค่ายครั้งนี้มีเกือบสิบคน หนังสือสำหรับทำห้องสมุดของเรามีอยู่ประมาณ ๕๐๐ กว่าเล่ม ใส่กล่องกระดาษลูกฟูกไว้อย่างเรียบร้อยเกือบสิบกล่อง

การจัดของใช้เวลาไม่นานนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เตรียมไว้พร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่นำมาขึ้นรถเท่านั้น ดังนั้นภายในเวลาแปดโมงเช้า ล้อรถบัสก็เริ่มหมุน และการเดินทางของเราก็เริ่มต้นขึ้น

ผมตื่นเต้นกับการเดินทางครั้งนี้ไม่น้อยทีเดียว เพราะเป็นการออกค่ายครั้งแรกในชีวิต เคยได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับการออกค่ายมาไม่น้อย แม้ว่าผมจะเป็นเด็กต่างจังหวัด คุ้นเคยกับชนบท แต่ก็ไม่เคยไปลงมือทำอะไรเพื่อชนบทสักครั้ง ครั้งนี้จะเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของผม

สถานที่ออกค่ายอาสาของพวกเราครั้งนี้เป็นโรงเรียนประถมเล็กๆในชนบทภาคอีสาน รถบัสพาเราเดินทางออกจากกรุงเทพฯไปตามถนนวิภาวดีรังสิต มุ่งไปทางสระบุรี จากนั้นก็แยกไปทางเส้นทางสายอีสานหรือที่เรียกว่าสระบุรีเลี้ยวขวา เพียงแค่ออกจากรุงเทพฯ คณะค่ายอาสาก็กลายสภาพเป็นฉิ่งฉับทัวร์ ตีกลองร้องเพลงกันอย่างสนุกสนาน แต่สุดท้ายเมื่อหลายชั่วโมงผ่านไปก็กลายเป็นนั่งหลับกัน

ทิวทัศน์ชนบทสองข้างทางในช่วงปลายฤดูฝนมีนาข้าวเขียวชอุ่มไปตลอดรายทาง รถบัสเดินทางนานกว่า ๖ ชั่วโมง ในที่สุดก็ถึงที่หมาย

โรงเรียนประถมในต่างจังหวัดนั้นหากลองสังเกตดูดีๆจะพบว่าแต่ละแห่งมีรูปแบบอาคารเรียนเหมือนกันหมด ทั้งนี้เพราะใช้แบบมาตรฐานอันเป็นการประหยัดค่าออกแบบและสะดวกในการตีราคาและควบคุมค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างซึ่งเป็นงบประมาณแผ่นดิน โดยแต่ละโรงเรียนไม่ต้องไปออกแบบอาคารเอง แต่หากเป็นการก่อสร้างขนาดเล็กที่ไม่ได้ใช้งบประมาณทางราชการก็สามารถสร้างอย่างง่ายๆได้ตามอัธยาศัย

สำหรับการออกค่ายของเราในครั้งนี้ เป็นการสร้างอาคารเรียนขนาดเล็กกับอาคารอเนกประสงค์ อาคารเรียนเป็นอาคารไม้ ส่วนอาคารอเนกประสงค์เป็นอาคารอิฐบล็อกผสมไม้ ขนาดใหญ่กว่าอาคารเรียนนิดหน่อย ทั้งสองอาคารมีโครงสร้างชั้นเดียว ง่ายๆ คิดว่าคงไม่ได้มีแบบมาตรฐานเพราะว่าช่างทั่วไปก็สามารถสร้างได้โดยอาศัยความชำนาญ ไม่ใช่อาคาร คสล. ส่วนห้องสมุดที่เราไปทำนั้นไม่ได้อยู่ในอาคารเรียนที่จะสร้างขึ้นใหม่ แต่เป็นการปรับปรุงดัดแปลงห้องเรียนในอาคารเดิมเพื่อทำเป็นห้องสมุดขึ้นมา

เรื่องงานออกค่าย พวกเราที่มาจากชมรมวิชาการรู้เรื่องไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่ทางชมรมค่ายเป็นคนจัดการ แต่ก็พอรู้คร่าวๆมาว่าโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่ค่อนข้างขาดแคลน อาคารที่จะสร้างขึ้นใหม่หลังนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการ แรงงานที่ใช้ก็เป็นแรงงานของชาวบ้านร่วมกับนักศึกษา

เมื่อพวกเราไปถึงก็เป็นเวลาบ่ายแก่แล้ว โรงเรียนชนบทที่เราจะมาออกค่ายกันนั้นไม่ใช่โรงเรียนในฝันที่มีต้นไม้เขียวขจี ทุ่งหญ้าเขียวชอุ่ม แต่เป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง รอบข้างมีแต่ดินลูกรังกับต้นไม้ที่ถูกฝุ่นลูกรังเกาะจนกลายเป็นต้นไม้สีน้ำตาล

“โห นี่มันยิ่งกว่าเขาชนไก่เลยนะเนี่ย” ผมอดกระซิบกับไอ้กี้ไม่ได้ สมัยนี้ต้องเรียกว่าแล้งได้โล่ห์

“นี่มาทำงานนะโว้ย ไม่ได้มาปิกนิก มึงจะเอาสบายไปถึงไหนกัน” ไอ้กี้ดุผม

“กูไม่ได้บอกว่ากูเอาสบายเสียหน่อย เพียงแต่นึกไม่ถึงว่าจะแล้งขนาดนี้ ดุมากนักนะมึง อย่าให้กูได้ยินมึงบ่นเชียว” ผมดุมันกลับบ้าง

“กูระดับไหน ไม่มีบ่นอยู่แล้ว” ไอ้กี้คุยโว

ครูในโรงเรียนและผู้ใหญ่บ้านกับชาวบ้านในหมู่บ้านต่างก็พากันออกมาต้อนรับ จากนั้นครู ชาวบ้าน และพวกเราก็ช่วยกันขนของลงจากรถ และพาเราเข้าที่พัก ซึ่งก็คือห้องเรียนที่เอาโต๊ะและเก้าอี้ออกไป ดัดแปลงเป็นที่พักชั่วคราวนั่นเอง

ตอนค่ำ ทางโรงเรียนจัดงานเลี้ยงเล็กๆขึ้นเพื่อต้อนรับพวกเรา โดยมีครูและชาวบ้านมาร่วมงานด้วย มีการกินอาหาร แนะนำตัว และร้องรำทำเพลงกัน จากนั้นตอนดึกก็มีการประชุมเพื่อซักซ้อมเรื่องการทำงานกันนิดหน่อย จากนั้นก็เข้านอน

การออกค่ายในวันแรกผ่านไปอย่างสบายๆเพราะเป็นเพียงแค่วันเดินทาง แต่ในวันที่สองกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในวันที่สอง พวกเราต้องเริ่มทำงานกันแล้ว พวกเราต้องตื่นกันแต่เช้า จากนั้นผลัดกันไปเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ แต่งตัว กินอาหาร โดยเรื่องอาหารนั้นพวกเราทำกินกันเองเพราะไม่ต้องการรบกวนทางโรงเรียนหรือชาวบ้าน เมื่อกินอาหารเสร็จก็มาที่หน้างานก่อสร้าง พวกชมรมวิชาการส่วนหนึ่งไปที่อาคารเรียนเดิมเพื่อจัดการทำห้องสมุด ส่วนที่เหลือก็ไปช่วยสร้างอาคารเรียน บางส่วนก็เป็นฝ่ายเสบียง คอยหุงหาอาหารมื้อต่อไป พวกผมที่มาจากชมรมวิชาการก็เงอะๆงะๆเพราะไม่เคยออกค่ายมาก่อน ได้แต่คอยทำตามและคอยเป็นลูกมือช่วยนั่นช่วยนี่ไปตามเรื่อง โดยบางคนก็ไปช่วยงานครัว

ช่วงนั้นเป็นช่วงปิดเทอม ชาวบ้านและนักเรียนที่ว่างจากไร่นาของตนก็จะมาช่วยกันกับพวกเราในการก่อสร้างอาคาร เริ่มกันตั้งแต่ แบกอิฐ หิน ปูน ทราย ผสมปูน ขุดดิน ก่ออิฐ โบกปูน เลื่อยไม้ ตอกตะปู ทำกันจนเหงื่อไหลไคลย้อยทั้งวัน พวกชมรมค่ายดูจะมีความคล่องตัว ส่วนพวกชมรมวิชาการค่อนข้างบอบบางและดูเงอะงะ คงจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับงานหนัก ผมเองก็ไม่เคยทำงานหนักขนาดนี้มาก่อน แต่ถึงหนักก็ต้องทนเพราะไม่ต้องการแสดงความอ่อนแอ

“แม่ง... รู้งี้กูไม่มา หนักกว่าฝึก รด. ที่เขาชนไก่ตั้งไม่รู้เท่าไหร่ เขาชนไก่นี่กลายเป็นเรื่องสบายไปเลย” เพียงตอนบ่ายคล้อยไอ้กี้ก็ถึงกับบ่นอุบ

“ไม่ต้องบ่นเลยมึง มาทำงานนะ ไม่ได้มาปิกนิก” ผมเอาคืนมันบ้าง

“เฮ้ย กูจะบอกอะไรให้มึงอย่างนึง มาใกล้ๆ ฟังคนเดียวก็พอ” ไอ้กี้เรียกผมให้เข้าไปใกล้ ไม่ยอมให้คนอื่นได้ยิน

“อะไรวะ” ผมถามมัน

“ไอ้เหี้ย...” ไอ้กี้เอียงหน้ามากระซิบกับผม

- - -

ผมมาช่วยงานสร้างอาคารเรียน การก่อสร้างดำเนินไปเรื่อยๆตั้งแต่เช้า นักศึกษาและชาวบ้านช่วยกันทำงานขันแข็งจนผมรู้สึกประทับใจ นักศึกษาชมรมค่ายบางคู่ก็เป็นแฟนกันแล้วมาออกค่ายด้วยกัน ระหว่างทำงานก็หาน้ำมาป้อนให้กัน เอาผ้าขาวม้าช่วยซับเหงื่อให้กัน ดูแลกันเป็นอย่างดี

จนในยามบ่าย อาคารเรียนหลังเล็กเป็นรูปเป็นร่างอย่างรวดเร็ว จากการตีพื้น ขึ้นเสา ทำจั่ว จนตอนเย็นโครงหลังคาก็เรียบร้อยพร้อมที่จะมุงได้

“เอ้า วันนี้พอเท่านี้ ลงมาได้แล้ว” เสียงคนที่อยู่ข้างล่างตะโกนเรียกผม ขณะนั้นผมกำลังนั่งอยู่บนโครงหลังคา แดดยามกลางวันแรงมาก คนที่ทำงานต้องใส่เสื้อแขนยาวและเอาผ้าขาวม้าโพกหัวโพกหน้าจนมิดชิด ผมเองก็เช่นกัน แต่ตอนนี้เป็นเวลาเย็นแล้ว แดดจึงไม่แรงนัก

“ลงไม่ได้ กลัวตก” ผมตะโกนตอบ

“เออ งั้นก็อยู่บนนั้นไปละกัน” ข้างล่างตะโกนอีก

ที่จริงโครงหลังคาของอาคารชั้นเดียวก็สูงแค่ไม่กี่เมตรจากพื้น แต่เมื่อแรกที่ปีนขึ้นไปก็รู้สึกเสียวอยู่เหมือนกัน เพราะกลัวหล่นลงมา แต่ทำงานไปสักพักก็จะเริ่มคุ้นเคยและไม่เสียวอีกแล้ว

เพื่อนๆที่อยู่บนโครงหลังคาต่างพากันปีนลงข้างล่าง ส่วนผมรีๆรอๆอยู่เพราะอยากนั่งพักชมวิวอยู่บนนั้นอีกสักครู่

ผมมองลงมาข้างล่าง เห็นนักศึกษากับชาวบ้านกำลังละมือจากงานและเดินเข้าร่ม พวกชาวบ้านร่ำลาเพื่อกลับบ้านของตน ส่วนพวกนักศึกษาก็ไปรวมตัวกันที่อาคารเรียนหลังเดิม เมื่อถึงเวลาสิ้นวัน ท้องฟ้าตะวันตกเริ่มป็นสีแดง แสงสีแดงทอทาบพื้นลูกรังสีส้ม ภาพการแยกย้ายจากกันยิ่งขับเน้นบรรยากาศยามเย็นให้ชวนเหงา น่าแปลกที่มากันเป็นคณะใหญ่แต่ผมกลับรู้สึกเหงาขึ้นมาได้

ผมปีนป่ายลงมาจากโครงหลังคา จากนั้นไปรวมตัวกับเพื่อนๆเพื่ออาบน้ำ ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า และกินอาหารเย็น

วันนั้นเป็นวันที่เหน็ดเหนื่อยมาก และก็เป็นอย่างที่ไอ้กี้พูดว่าตอนอยู่ที่เขาชนไก่ยังสบายกว่านี้ ความเหน็ดเหนื่อยทำให้อาหารเย็นมื้อนั้นอร่อยเป็นพิเศษ คู่ที่เป็นแฟนกันก็กินอาหารแบบนั่งพิงหัวซบกันอย่างเหนื่อยอ่อน

หิวด้วยกัน อิ่มด้วยกัน เหนื่อยด้วยกัน พักด้วยกัน ดูแลกัน ไม่ทอดทิ้งกัน อย่างนี้กระมังที่เขาเรียกว่าร่วมทุกข์ร่วมสุข มันเป็นสายใยแห่งความอบอุ่นที่ผมสามารถสัมผัสได้ด้วยความรู้สึก ผมรู้สึกอิจฉาคู่เหล่านี้ ผมอยากมีความรู้สึกที่ผูกพันกับใครสักคนหนึ่งอย่างนี้บ้างเหลือเกิน...





<ช่วงนั้นเป็นช่วงปิดเทอม ชาวบ้านและนักเรียนที่ว่างจากไร่นาของตนก็จะมาช่วยกันกับพวกเราในการก่อสร้างอาคาร เริ่มกันตั้งแต่ แบกอิฐ หิน ปูน ทราย ผสมปูน ขุดดิน ก่ออิฐ โบกปูน เลื่อยไม้ ตอกตะปู ทำกันจนเหงื่อไหลไคลย้อยทั้งวัน พวกชมรมค่ายดูจะมีความคล่องตัว ส่วนพวกชมรมวิชาการค่อนข้างบอบบางและดูเงอะงะ คงจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับงานหนัก ผมเองก็ไม่เคยทำงานหนักขนาดนี้มาก่อน แต่ถึงหนักก็ต้องทนเพราะไม่ต้องการแสดงความอ่อนแอ>

20 comments:

Unknown said...

ขอจองที่นั่งอ่านที่หนึ่งก่อนนะครับ

กัน

Anonymous said...

นั่นไงว่าแล้ว ว่าพ่อป้อมต้องตามตัวกลับไปสอนแน่ๆ ซื้อหวยจะถูกแบบนี้มั้ยเนี่ย
Federick

หลาบเองค่ะ said...

ชอบออกค่ายเหมือนกันค่ะ

Anonymous said...

แล้วจะเป็นใครละ
น้องจุ๋ม
แม่เพ็ญ
หรือ....คนที่หายไป

Anonymous said...

อยากเชียร์คุณอูให้กลับไปสอนพิเศษต่อ เพราะถ้าไม่มีความสำคัญกับป้อมจริงๆ ป้อมคงไม่พูดออกมาขนาดนั้นแน่ และยังเป็นการให้โอกาสคนอย่างป้อมอีกด้วยครับ
(แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับคุณอูว่าจะHappy หรือไม่ด้วย)
pk

พี said...

...เม้นต์ก่อนหน้า

ไม่ต้องทายเลย

ก็คนที่จะปลูกบ้านอยู่ติดกันนะซิ แต่ก็คงได้เป็นแค่ในฝัน

แต่...เราก็หวังว่าจะมีคนอื่นที่มาดูแลอู หรือให้อูได้ดูแลบ้าง

*** PEE ***

Anonymous said...

6... คิดถึงตอนออกค่ายจัง

แบงค์ครับ

Anonymous said...

ไม่รู้พี่อูจะสอนป้อมต่อมั้ยนะครับ คิดถึงนัยเหมือนกันครับ
ทอป

Anonymous said...

เวลาใครฝากความหวังไว้กับเรา..เรามักอ้ำๆอึ้งๆปฎิเสธไม่ออก จริงมั้ยคะอู..??

คนลาดพร้าว

มะขามดอง said...

ติดตามอ่านตั้งแต่ภาคที่ 1 ผมอ่าน 3 เดือนกว่าจะมาถึงตอนปัจจุบัน ขอบคุณนะครับ นี่เป็นคอมเม้นท์แรกของผมเลย อยากรู้ข่าวคุณนัยจังนะครับ อยากได้ยินเค้าเล่นเพลง A Lover's Concerto ผมรู้จักเพลงนี้ก็เพราะ คุณอาอูนี่และ
อ่านแล้วทำให้ผมได้คิดอะไรหลาย ๆ อย่างเลย เป็นกำลังใจให้มีงานเขียนออกมาเรื่อย ๆ นะครับ

Riverunt said...

จุ๋มพูดได้ดีนะครับ คนเราทุกคนต้องการการแก้ตัวจากเรื่องผิดพลาดในอดีตทั้งนั้น ส่วนตัวเดาว่าอูคงสอนต่อ เพราะคำพูดบางคำของจุ๋มแน่นอน
คนเรามักจะอิจฉาคนอื่นในสิ่งที่ตัวเองไม่มีทั้งนั้นแหละครับ โหยหาในสิ่งที่ขาดเสมอ
รออ่านตอนต่อไปเช่นเดิมครับ

อู said...

มีชาวค่ายอาสาอยู่ในนี้หลายคนทีเดียว

เห็นคู่หนุ่มสาวที่เป็นแฟนกันไปออกค่ายด้วยกันแล้วอิจฉา ตนเองขาดอะไรก็อิจฉาคนอื่นเรื่องนั้นเห็นจะจริงครับ

เรื่องสอนป้อมนั้นยังไม่แน่ แต่ขอไปสมัครเรียนรามก่อนครับ ไอ้กี้ทำอะไรผมก็พยายามทำบ้าง เหมือนเป็นลัทธิเอาอย่างแต่ที่จริงไม่ใช่ ลึกๆแล้วคงอยากพิสูจน์ว่ามันทำอะไรได้ผมก็ทำได้เหมือนกันมากกว่า คงเป็นปมอย่างหนึ่ง

ยินดีที่รู้จักหลานมะขามดองครับ ชื่อเปรี้ยวมาก

มะขามดอง said...

ยินดีที่ได้รู้จักเช่นกันครับ ไม่ได้เปรี้ยวแค่ชื้อนะครับ อย่างอื่นก็เปรี้ยว (กลิ่น) ๕๕๕๕+
ผมเห็นด้วยกับ คห ที่ 11 นะครับ คนเรามักโหยหาสิ่งที่ขาดจนทำให้พลาดสิ่งที่มีอยู่ สุดท้ายก็ไม่เหลืออะไรเลย......และผมก็เห็นด้วยกับคุณอาจุ๋มที่คนเราเมื่อทำผิดพลาดก็ตัองการโอกาสที่จะแก้ไขความผิดพลาดนั้น ๆ
ปล. ตอนหลังๆ รู้สึกคุณอาอูจะมีอะไรลึก ๆ กับคุณอาจุ๋มนะครับ อิอิอิ จะลงเอยกันได้ป่าวน้าาาาาา?

มะขามดอง said...

ยินดีที่ได้รู้จักคุณอาอูเหมือนกันนะครับ
เพราะว่าเรามีวาสนาต่อกันจึงได้มาพบกันใช่ไหมครับคุณอา ^^

Anonymous said...

ชาวชุมชนนายอูเป็นอย่างไรกันบ้าง
เชื่อว่าหลายคนคงโดนน้ำท่วม
เป็นกำลังใจให้ทุกนะครับ
ช่วยกันบริจาคมากๆครับ

คิดถึงนัยเหมือนกันนะครับ
ตอนที่นัยหายไปมันสะเทือนใจมาก ..หยุดอ่านไปพักนึงเลย

ทองก้อน

รักที่คุณมี รักษาให้ดีก่อนสาย said...

นี่เป็นเม้นท์แรกของผมนะครับ
แอบอ่านมานานแระ
ชอบภาคแรกในวัยเด็กมากๆ
เลยติดตามมาเรื่อยๆ (อ่านติด เลยต้องตาม)
ตอนที่ทะเลาะกับชัช ยังแอบเคืองคุณอูเลย
ตอนนี้หายแระ สงสารนัยแทน
อยากให้มีคนเอาไปสร้างเป็นหนัง หรือเขียนเป็นการ์ตูนจัง
รับรองสนุกกว่า รักแห่งสยาม แน่นอน

เป็นกำลังใจให้เขียนต่อเรื่อยๆนะครับ

หลาบเอง said...

น้ำท่วม ค่ะ ที่ บ้านบัวทอง

U Nakrub said...

สวัสดีคุณทองก้อนกับรักที่คุณมีฯครับ

หลาบ พี่อูก็ใกล้โดนแล้ว จตุจักรประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยงแล้ว ตอนนี้กำลังเก็บของขึ้นชั้นบนอยู่ ยังไม่เสร็จเลย

Anonymous said...

อ๋า
เป็นช่วงที่อ่านแล้วสุขใจ เหมือนได้กลับมาพบพระอาทิตย์ตกดิน แต่ก็เหงาๆ ไปกับอาอู

หลาน Arus ของอาอู

Anonymous said...

อาอูยังรักษา Concept เดิม เป็นช่างกล้องประจำค่ายด้วยสินะครับ

หลาน Arus ของอาอู