Tuesday, July 20, 2010

ภาคสาม ตอนที่ 72

สภาพของการแข่งขันเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยในยุคนั้นหากเทียบกับยุคปัจจุบันแล้วผมคิดว่าในยุคของผมนั้นสภาพการแข่งขันในภาพรวมมีสูงกว่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยที่ร่วมในการสอบเอนทรานซ์มีเพียงมหาวิทยาลัยของรัฐ ๑๓ แห่ง ผู้สมัครสอบเอนทรานซ์มีประมาณหนึ่งแสนคน ที่นั่งก็มีเพียงสามหมื่นกว่าที่เท่านั้น นักเรียนจึงมีความตึงเครียด คิดคร่าวๆสภาพการแข่งขันก็ประมาณ ๑ ต่อ ๓ ถึง ๑ ต่อ ๔ อย่างหนึ่งต่อสามหมายถึงว่าผู้สอบเอนทรานซ์สามคนจะมีสอบติดหนึ่งคน หนึ่งต่อสี่ก็ความหมายทำนองเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วบางคณะอัตราการแข่งขันสูงมากเพราะว่าเป็นคณะยอดนิยม บางคณะก็มีอัตราการแข่งขันเป็น ๑ ต่อ ๑๐ หรือสูงกว่านั้นก็มี เทคนิคการเลือกคณะตามลำดับคะแนนสูงสุดต่ำสุดก็มีส่วนช่วยเพิ่มหรือลดโอกาสในการสอบติดอีกด้วย ดังนั้นผู้ที่ต้องการสอบเข้าคณะดังๆหรือว่าคณะที่เป็นที่นิยมจึงค่อนข้างตึงเครียด

ตัวอย่างจำนวนรับของบางคณะ เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ตอนนั้นไปแยกสาขาตอนปี ๒ ดังนั้นต้องเอนทรานซ์เข้าคณะวิศวฯไปก่อน จำนวนรับในตอนนั้นประมาณ ๕๒๐ คน ส่วนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตอนนั้นต้องเลือกสาขาตั้งแต่ตอนสอบเอนทรานซ์ไปเลย จำนวนรับประมาณ ๔๒๐ คน ส่วนบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งปัจจุบันเป็นคณะยอดนิยมแห่งหนึ่ง ตอนนั้นยังไม่เป็นคณะ ยังเป็นเพียงสาขาบริหารธุรกิจในคณะสังคมศาสตร์ ปีนั้นรับประมาณ ๘๐ คน

อย่างไรก็ตาม หลังจากปีที่ผมเข้าสอบ ในอีกไม่กี่ปีต่อมาสถานการณ์การแข่งขันก็ดีขึ้นบ้างนิดหน่อยเนื่องจากมีมหาวิทยาลัยเกิดใหม่อีก ๓ แห่ง นั่นคือ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยสุรนารี และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเพื่อช่วยรองรับนักเรียน

สำหรับทางเลือกของผู้ที่พลาดจากการสอบเอนทรานซ์ ในยุคนั้นมีมหาวิทยาลัยเอกชน ๒๖ แห่ง แล้วก็มีวิทยาลัยครู (คือมหาวิทยาลัยราชภัฎในปัจจุบัน) และมหาวิทยาลัยเปิดอีก ๒ แห่ง

นอกจากนี้ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของนักเรียนที่ต้องพยายามสอบเอนทรานให้ได้นั่นก็คือเรื่องของปัญหาค่าเล่าเรียน การเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐเสียค่าหน่วยกิตถูกกว่ามหาวิทยาลัยเอกชนมาก อีกทั้งทุนเล่าเรียนฟรีก็มีจำกัด ดังนั้นผู้ที่มีกำลังทรัพย์จำกัดจึงต้องพยายามเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐให้ได้

ส่วนการสอบในสมัยนี้สภาพการแข่งขันอาจไม่รุนแรงเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยเอกชนเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนไม่น้อย อีกทั้งยังมีสถาบันราชภัฎซึ่งมีจำนวนรับมากขึ้น แล้วยังมีมหาวิทยาลัยเปิดที่ไม่จำกัดจำนวนรับอีก รวมทั้งในยุคปัจจุบันที่มีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือว่า กยศ. ที่ทำให้เกิดระบบ เรียนก่อน ผ่อนทีหลังขึ้น ทำให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ก็ยังสามารถเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนได้หากจำเป็นหรือว่าต้องการเช่นนั้น แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาพอสมควร นั่นเรื่องที่บัณฑิตที่ขอทุน กยศ. บางคนแปลงตัวเป็นซามูไรในเวลาต่อมา

แม้ว่าสภาพการแข่งขันในยุคนี้เมื่อดูในภาพรวมแล้วเหมือนกับจะน้อยกว่าในยุคของผม แต่ดูไปแล้ววุ่นวายอลเวงกว่า ความเครียดของนักเรียนยุคนี้จึงอยู่ที่ความวุ่นวายของระบบการสอบแอดมิชชัน เนื่องจากมีการสอบวัดผลโอเน็ต (O-Net) ปีละครั้ง สอบแกต (GAT) และแพต (PAT) อีกปีละหลายครั้ง อีกทั้งระบบการคัดเลือกแบบแอดมิชชันยังมีจุดอ่อน เงื่อนไขการคิดสัดส่วนคะแนนเปลี่ยนอยู่ตลอดยังไม่ลงตัว ทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆพากันเปิดสอบแบบรับตรงของตนเองขึ้นมาโดยจะรับนักศึกษาโดยวิธีตรงก่อน หากมีที่นั่งเหลือจากการรับตรงจึงเอาที่นั่งที่เหลือนั้นไปรับในกระบวนการแอดมิชชัน นักเรียนจึงต้องวุ่นวายกับการเตรียมตัวสอบแกต แพต (ซึ่งนักเรียนเรียกว่าแกะ กับ แพะ) สอบปีละหลายครั้งเพื่อเอาครั้งที่ได้คะแนนดีมาใช้ รวมทั้งต้องตระเวนสอบตามมหาวิทยาลัยที่เปิดรับตรง นอกจากนี้ยังต้องติวเพิ่มในส่วนที่โรงเรียนไม่ได้สอนอีก ตัวอย่างเช่นการสอบ GAT หรือ general aptitude test ซึ่งเป็นการสอบเพื่อวัดความถนัดทั่วไปนั้นโดยหลักการแล้วไม่จำเป็นต้องเตรียมสอบเพราะไม่ใช่วิชาเรียน แต่ในความเป็นจริงแล้วอะไรที่กว้างจนจับแนวทางไม่ได้นักเรียนยิ่งต้องการติวเพราะขาดความมั่นใจ อีกทั้งคะแนนก็มาก ๓๐๐ คะแนน หรือที่เรียกว่าตัวละสามร้อย ดังนั้นการติวแกตจึงเป็นการธุรกิจที่ทำรายได้ดีวิชาหนึ่งของวงการติวในยุคนี้ ส่วนการติวฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา กลับกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญน้อยลงเนื่องจากเป็นวิชาสามตัวสามร้อยอันหมายถึงสามวิชานี้รวมกันอยู่ใน PAT2 คิดเป็น ๓๐๐ คะแนน (แต่ถ้าเป็นการสอบ O-Net คิดสามตัวร้อย) นักเรียนหลายๆคนจึงคิดว่าสู้เอาเวลากับเงินไปติวแกตดีกว่า

- - -

เรื่องการทุจริตในการสอบเอนทรานซ์นั้นมีมาทุกยุคทุกสมัย ในยุคของผมก็มีเช่นกัน เท่าที่รู้มักเป็นการทุริตแบบโลว์เทค อย่างเช่นพวกการจดโพยเข้าไปในห้องสอบ อาจจะจดใส่กระดาษหรือจดใส่ชายเสื้อ พกไม้บรรทัดสูตรเข้าไปในห้องสอบ พวกนี้มักเป็นนักเรียนทำกันเองเป็นส่วนตัว ส่วนพวกที่ทำเป็นขบวนการก็มี นั่นคือ พวกที่ไปเก็บเงินนักเรียนเป็นหลักหมื่นแล้วบอกว่าจะช่วยให้สอบเอนทรานซ์ได้ ส่วนใหญ่มักเป็นการหลอกเอาเงินแล้วเชิดหนีไป

แก๊งที่ทุจริตการสอบเอนทรานซ์จริงๆก็มี ที่เคยเป็นข่าวก็คือไปหลอกล่อนักเรียนให้หลงเชื่อแล้วจ่ายเงิน จากนั้นแก๊งทุจริตก็จะส่งทีมงานเข้าไปสอบ ส่วนใหญ่วิชาหนึ่งต้องเข้าไปหลายคน แต่ละคนถูกมอบหมายให้จำข้อสอบและตัวเลือกมาคนละส่วน จากนั้นรีบออกจากห้องสอบโดยเร็วที่สุด (ในระเบียบการสอบจึงต้องมีการดักทางเอาไว้ว่าห้ามออกจากห้องสอบก่อนเวลาที่กำหนดเอาไว้) แล้วทีมงานอีกส่วนหนึ่งก็จะรีบเฉลยโดยเร็ว จากนั้นใช้กระจกเงาสะท้อนแสงส่งเป็นรหัสจากยอดตึกให้ผู้เข้าสอบเห็น แต่แล้วในที่สุดก็ถูกจับได้เนื่องจากกรรมการคุมสอบสังเกตเห็นแสงวับๆแวมสะท้อนเข้ามาในห้องสอบอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องของการทุจริตแบบโลว์เทคในอดีตซึ่งแตกต่างจากในปัจจุบันที่ใช้วิธีการไฮเทค เช่น มีการติดอุปกรณ์รับสัญญาณระบบสั่นซ่อนเอาไว้ในตัวนักเรียนแล้วส่งคำตอบด้วยการสั่นของเครื่องรับสัญญาณ

อีกธุรกิจหนึ่งที่ทำเงินได้มากในยุคก่อน นั่นคือ การเฉลยข้อสอบเอนทรานซ์ขายแบบจานด่วน กล่าวคือ กลุ่มที่ทำจะส่งทีมงานเข้าไปนั่งสอบเช่นกัน แล้วจำข้อสอบกับตัวเลือกออกมาคนละส่วน จากนั้นรีบนำมาเฉลยและพิมพ์ขาย ภายในช่วงการสอบหรือว่าหลังการสอบนิดหน่อย แต่ว่าต้องแอบขายเพราะว่าผิดกฏหมาย แต่ถึงจะผิดกฎหมายเช่นกันแต่ก็ดูเหมือนกับว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าการทุจริตในการสอบ

- - -

ในที่สุดการสอบทั้ง ๖ วิชาก็ผ่านพ้นไป ผมไม่ได้ซื้อเฉลยข้อสอบจานด่วนมาดูเพราะว่าไม่แน่ใจในความถูกต้อง ดูแล้วอาจเสียกำลังใจเปล่าๆ สอบแล้วก็ช่างมัน เอาไว้ลุ้นตอนประกาศผลจริงๆดีกว่า ตื่นเต้นดี

หลังจากการสอบ เรื่องแรกที่ผมทำในวันรุ่งขึ้นก็คือ กลับบ้าน...

“ป๊า แม่ อูกลับมาแล้ว” ผมส่งเสียงดังเอะอะเมื่อเดินเข้าบ้าน การกลับบ้านในครั้งนี้รู้สึกโล่งใจอย่างประหลาด ผมสามารถปลดเปลื้องภาระในจิตใจไปได้หลายอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสอบ กศน. การสอบเอนทรานซ์ รวมทั้งเรื่องของบอย...

พ่อกำลังยุ่งๆอยู่ คุยกันได้ไม่กี่ประโยคก็ต้องไปคุยโทรศัพท์ ส่วนแม่นั้นซักถามผมไม่ได้หยุด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอยู่ว่าทุกข์ สุข สบายหรือไม่สบายอย่างไรมากกว่า ไม่ค่อยได้ถามเรื่องการสอบเอนทรานซ์ของผมเท่าไรนัก

“กลับมาคราวนี้อยู่บ้านนานไหม เมื่อไรต้องกลับไปกรุงเทพฯอีกล่ะ” แม่ถาม

“คงอยู่จนหลังสงกรานต์น่ะแม่” ผมตอบ

“ทำไมสั้นนักละ ก็สอบเสร็จหมดแล้ว ไม่มีธุระอะไรอีกแล้วไม่ใช่เหรอ” แม่สงสัย

“หลังสงกรานต์เพื่อนๆมันชวนไปเที่ยว ถ้าป๊ากับแม่ยอมให้ไปอูก็จะกลับกรุงเทพฯหลังสงกรานต์ แล้วต้นเดือนหน้าก็ประกาศผลสอบเอนทรานซ์ ถ้าสอบไม่ติดก็ได้อยู่ที่นี่ยาวหลายปีเลยแม่” ผมตอบขำๆ พลางสังเกตดูแม่ หลายเดือนที่ไม่ได้เจอกันดูแม่กลับมาดูมีน้ำมีนวลขึ้น ช่วงก่อนผ่าตัดแม่ดูผอมไปมากคงเนื่องมาจากความกังวล คิดแล้วอดสะท้อนใจไม่ได้ ความคิดของคนเรานี่น่ากลัวจริงๆ ที่ไม่ได้ป่วยอะไรก็กังวลจนกลายเป็นสุขภาพทรุดโทรม ที่ป่วยอยู่ก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง

“มาสิ มาอยู่ที่บ้านบ้างก็ดีเหมือนกัน” แม่พูดหน้าตาเฉย

“อ้าว นี่แม่ไม่ได้หวังจะให้อูสอบติดเลยเหรอ” ผมอุทาน

“ก็ถ้ามันไม่ติดแล้วจะให้ทำยังไงเล่า แม่ก็ว่ามาอยู่กับแม่นี่แหละ หลายปีมานี้อูแทบจะไม่ได้อยู่บ้านเลย” แม่พูดให้ฟังขำ แต่ผมว่าหางเสียงของแม่ฟังแล้วอ้างว้างอย่างไรก็ไม่รู้ หวนนึกถึงถ้าผมสอบติดมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดก็คงเหมือนเอ๊ดที่กลับบ้านบ่อยๆไม่ได้ หากได้ในกรุงเทพฯก็พอค่อยยังชั่วหน่อย

ผมคุยกับแม่เรื่องการไปเที่ยวโดยเพื่อนๆจัดไปเที่ยวกันเอง

“ไปจังหวัดอะไรนะ” แม่ถาม

“นราธิวาสอะ” ผมตอบ

“หา อะไรนะ” แม่ทำเสียงตกใจ “อูจะไปทำไม”

ในยุคนั้นแม้จังหวัดนราธิวาสไม่ถึงกับมีเหตุการณ์ไม่สงบดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็มีการก่อความไม่สงบในบางพื้นที่อยู่บ้าง ดังนั้นในความคิดของหลายๆคนจึงเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยมากกว่าคิดเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว

“ล้อเล่นน่ะแม่ ไปสงขลา หาดใหญ่” ผมพูดความจริงไปเพียงครึ่งเดียว ถือว่าทำไร่สตรอเบอร์รี่ไปเพียงครึ่งไร่

“อย่าไปเลยอู มีแต่เด็กๆทั้งนั้น เดินทางไกลตั้งสิบวันแล้วยังไม่มีผู้ใหญ่ไปด้วย แม่ไม่สบายใจเลย เกิดเป็นอะไรเข้าไม่มีใครดูแล” แม่ห้ามปราม นี่ถ้าแม่รู้ว่าไปนราธิวาสด้วยจริงๆมีหวังอดไปแน่นอน

แต่มีหรือที่ผมจะยอมฟัง เมื่อแม่ไม่อนุญาตผมจึงไปขอพ่อแทน

“มีแต่เด็กๆไปกันเองไม่ปลอดภัย อย่าไปดีกว่า” พ่อตอบสั้นๆ

“แต่อูอยากไปน่ะป๊า ไปกันตั้งสิบคน แล้วก็แค่เดินทางขึ้นรถไฟไปกลับกันเองเท่านั้น ไปถึงที่ก็มีผู้ใหญ่ดูแลและพาเที่ยว ไม่ได้เที่ยวเองเลย ขออูเที่ยวฉลองจบ ม.ปลายหน่อยนะป๊า ครั้งเดียวในชีวิตเองนะ” ผมทั้งตื๊อ ทั้งอ้อน พร้อมกับหมกเม็ดไปนิดหน่อยโดยโมเมเอาว่าแค่ไปและกลับเองเท่านั้น แต่ไม่ได้เล่ารายละเอียดว่าจะแวะตามรายทางหลายจังหวัดอย่างไร

ในที่สุดพ่อก็ใจอ่อน เมื่อพ่ออนุญาตแม่ก็ไม่ขัดอะไร เป็นอันว่าในที่สุดผมก็สามารถร่วมเดินทางไปกับเพื่อนๆได้

ผมใช้เวลาอยู่ที่บ้านประมาณสิบกว่าวันจนถึงหลังสงกรานต์ เทศกาลสงกรานต์ในยุคนั้นมีวันหยุดราชการเพียงวันที่ ๑๓ เมษายนวันเดียวและยังเป็นเพียงแค่วันสงกรานต์ตามประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณ ไม่ได้หยุดราชการในวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายนและถือเป็นวันครอบครัวดังเช่นในปัจจุบัน แต่ถึงแม้ว่าในสมัยนั้นจะหยุดราชการเพียงวันเดียวก็ตาม แต่บริษัทห้างร้านต่างๆก็หยุดติดต่อกันหลายวันเหมือนเช่นในปัจจุบันเนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่ต้องการเดินทางกลับบ้านเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล ณ ภูมิลำเนา บางแห่งก็หยุดมากถึง ๕ วันหรือ ๗ วันก็ยังมี

ชีวิตที่อยู่ที่บ้านในช่วงนั้นแตกต่างกับเมื่อก่อนโดยสิ้นเชิง แต่ละครั้ง แต่ละปีที่ผมกลับบ้าน ผมกลับไปด้วยสภาพที่แตกต่างกัน บ้างครั้งสนุกสนานรื่นเริงเนื่องจากมีไอ้นัยกลับไปด้วย บางครั้งก็เศร้าซึมหดหู่เพราะความผิดหวัง บางครั้งก็ว่างเปล่าไม่มีทั้งอดีตและอนาคต บางครั้งวุ่นวายกับการอ่านหนังสือสอบ แต่ในครั้งนี้กลับเป็นความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง... ผมรู้สึกว่าภาระอันหนักหน่วงได้ถูกปลดเปลื้องไปแล้วส่วนหนึ่ง ขณะนี้ผมอยู่ว่างๆ... แต่กลับไม่รู้สึกว่างเปล่า เปรียบเหมือนการพักชั่วครู่เพื่อเตรียมตัวสำหรับการเดินทางใหญ่ในครั้งต่อไป... บนเส้นทางชีวิต...

- - -

เมื่อเทศกาลสงกรานต์ผ่านพ้นไป ผมก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯกลับมาพักที่หอพักเช่นเดิม เมื่อถึงวันนัดหมาย ผมก็เดินทางไปที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เราเดินทางล่องใต้ด้วยรถไฟเที่ยวค่ำโดยมีจุดหมายปลายทางคืออำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส สุดเขตชายแดนของประเทศไทยทางด้านใต้

ในตอนนั้นรถไฟไปสุไหงโก-ลกยังมีเที่ยวหัวค่ำ ออกจากกรุงเทพฯตอนค่ำแล้วไปถึงปลายทางราวบ่ายสามโมง ผมไปถึงสถานีรถไฟหัวลำโพงตั้งแต่ ๕ โมงเย็นตามเวลาที่นัดกันพร้อมกับหิ้วกระเป๋าเดินทางใบเขื่อง ข้างในส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าที่ต้องเอาไปมากถึงสิบกว่าชุดเนื่องจากไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสได้ซักผ้าระหว่างการท่องเที่ยวหรือไม่

ที่สถานีรถไฟหัวลำโพงคลาคล่ำไปด้วยผู้คน แต่ก็หากันพบได้ไม่ยากนักเนื่องจากห้องโถงที่เป็นทั้งห้องขายตั๋วและจุดนัดพบมีขนาดไม่ใหญ่นัก อีกทั้งพวกเรายังเป็นกลุ่มใหญ่พอสมควร เห็นกันได้ง่าย

“อ้าว ไอ้เหี้ยอู มึงไปกับเค้าด้วยเหรอ” เสียงที่ผมไม่ค่อยอยากได้ยินนักลอยมาเข้าหูหลังจากที่ผมหากลุ่มเพื่อนๆพบ

“โอย มึงไปด้วยเหรอ ยังงั้นกูกลับดีกว่า” ผมพูดพลางหันหลังกลับ ไอ้กี้เจ้าของเสียงทักทายดึงกระเป๋าเดินทางของผมเอาไว้

“ไอ้ห่านี่ มึงเห็นกูแล้วจะหนีเหรอ” ไอ้กี้หัวเราะ

“เบื่อแม่งฉิบหาย” ผมบ่นลอยๆ “ตอนเรียนก็เจอ จะไปเที่ยวยังมาเจออีก ซวยอะไรยังงี้”

“เออ มึงจะกลับก็ได้ แต่ต้องจ่ายเงินเข้ากองกลางมาก่อน ตั๋วรถไฟก็ซื้อมาแล้ว ของกินก็ซื้อมาแล้ว มีส่วนของมึงด้วยทั้งนั้น ไม่ไปก็ต้องจ่ายมา” ไอ้กี้ไม่สนใจคำบ่นของผม

“อ้าว เหรอ ยังงั้นกูไปก็ได้ เสียดายเงินโว้ย” ผมเปลี่ยนใจ “กูยอมทนเบื่อมึงละกัน”

“โธ่ กูนึกว่ามึงจะแน่” กี้หัวเราะจนตาหยี

เพื่อนๆที่เดินทางไปด้วยกันในครั้งนี้มีด้วยกันประมาณ ๑๐ คน นอกจาก กรณ์ หมู และสิทธิ์แล้วก็ยังมีไอ้กี้และเพื่อนคนอื่นๆในห้องอีก ส่วนใหญ่เป็นพวกที่อยู่กลางห้องกับหน้าห้อง กลุ่มไอ้เฉาไม่มีเลย ส่วนกลุ่มหลังห้องมีแต่ผมและกี้เท่านั้น ผมเองก็ยังงงว่าไอ้กี้มาด้วยได้อย่างไรเพราะไม่รู้มาก่อนเลย

ในที่สุดการเดินทางของเราก็ได้เริ่มขึ้น รถไฟออกช้ากว่าเวลานิดหน่อย เราเดินทางกันด้วยรถไฟชั้น ๓ อันเป็นรถนั่งไม่ปรับอากาศเพราะต้องการประหยัด ในชีวิตของผมเพิ่งมีโอกาสเดินทางด้วยรถไฟเพียงไม่กี่ครั้งเอง ดังนั้นผมจึงตื่นเต้นกับการเดินทางด้วยรถไฟในครั้งนี้พอสมควร

แม้จะเป็นรถไฟสายทางไกลแต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ตั๋วนั่ง ผู้โดยสารที่ตีตั๋วยืนก็มี แม้อากาศจะร้อนอบอ้าวแต่ในตู้รถไฟไม่ร้อนเท่าใดนักเนื่องจากลมพัดโกรกเข้ามาทางหน้าต่างตลอดเวลา

- - -

ดึกแล้ว...

เมื่อขึ้นรถไฟไปแรกๆพวกเราก็สนุกสนานเฮฮากัน แต่เมื่อนั่งไปหลายๆชั่วโมงเข้าความง่วงและความเงียบก็ค่อยๆเข้ามาครอบคลุม ผู้โดยสารที่ยืนอยู่ในรถต่างก็พากันหาที่นั่งกันตามแต่จะหาได้ เช่น ตามรอยต่อระหว่างโบกี้ ตามช่องว่างข้างทางเดิน และหน้าห้องน้ำ ฯลฯ จนในที่สุด รถไฟทั้งขบวนก็ตกอยู่ในความสงัด มีเพียงเสียงล้อรถไฟที่กระทบรางเหล็กส่งเสียงดังเป็นจังหวะอย่างต่อเนื่องเท่านั้น เพื่อนๆต่างพากันนั่งหลับกันจนหมด คงเหลือแต่ผมที่นั่งอยู่ตรงที่นั่งข้างหน้าต่างและยังตื่นอยู่

ผมเหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง ในช่วงต้นข้างแรมแสงจันทร์ยังส่องสว่างทำให้พอมองเห็นทิวทัศน์ในยามดึกได้ ผมเห็นทิวไม้ตะคุ่มคล้อยหลังไปอย่างรวดเร็วขณะที่รถไฟวิ่ง บรรยากาศค่อนข้างอ้างว้างเงียบเหงา

ผมจมอยู่กับบรรยากาศยามดึกที่อ้างว้างอยู่เนิ่นนาน ปล่อยความคิดให้ล่องลอยไปไกลแสนไกล จนในที่สุดก็ผลอยหลับไป...

วันถัดมา...

การเดินทางของเราใช้เวลาเกือบ ๒๔ ชั่วโมง เมื่อแรกเดินทางก็สนุกสนานกันดี แต่เมื่อนั่งรถไฟนานหลายชั่วโมงก็ชักเริ่มเมื่อยล้ารวมทั้งรู้สึกเหนอะหนะเนื่องจากอากาศร้อนอีกทั้งยังไม่ได้อาบน้ำมาเป็นเวลานาน จนในทุกสุดทุกคนก็เริ่มบ่นกันว่าเมื่อไรจะถึงเสียที แต่สำหรับผมแล้วผมรู้สึกตื่นเต้นไปกับการเดินทาง แม้จะเบื่อบ้างก็เป็นบางขณะเท่านั้น มันเป็นการเดินทางไกลเป็นครั้งแรกในชีวิตของผม ทิวทัศน์ที่แปลกตา สถานที่และผู้คนที่ผมไม่คุ้นเคย ล้วนแต่น่าสนใจ น่าค้นหา และน่าเรียนรู้...

รถไฟเดินทางไฟเรื่อยๆแบบหวานเย็น สลับกับการจอดแวะตามสถานีต่างๆ จนถึงเวลาบ่ายแก่เราก็เริ่มเข้าเขตจังหวัดนราธิวาส ทิวทัศน์สองข้างทางก็เริ่มเปลี่ยนแปลง จากทิวทัศน์ท้องไร่ท้องนาสลับกับสวนยางพารากลายเป็นทิวทัศน์สวนยางเกือบทั้งหมด บรรยากาศค่อนข้างร่มครึ้ม

เมื่อถึงเวลาไต้เข้าไฟ เราก็ใกล้ถึงจุดหมายปลายทางเต็มทีแล้ว แสงตะวันค่อยๆเลือนลับไปจากขอบฟ้า อากาศก็เริ่มเย็นลง ความชื้นที่พื้นดินจับตัวกันก่อให้เกิดเป็นหมอกหนาปกคลุมต้นไม้ใบหญ้าเหมือนกับที่เราเห็นหมอกหนายามเช้าในช่วงฤดูหนาว ก่อให้เกิดเป็นทัศนียภาพที่แปลกตา ผมต้องกอดอกเอาไว้เพราะรู้สึกเย็น

กลิ่นไอดินลอยเข้ามาในขบวนรถ ผมสูดอากาศเย็นที่กรุ่นกลิ่นไอดินเข้าไปจนเต็มปอด บรรยากาศที่สงบและสันโดษของชนบทในจังหวัดนราธิวาสทำให้ผมอดนึกถึงสยามสแควร์ไม่ได้ มันช่างเป็นชีวิตที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง…


<ผมเข้าห้องสอบด้วยจิตใจที่ไม่ตื่นเต้นมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมคิดว่ายังมีโอกาสแก้ตัวได้อีกครั้งหนึ่งในปีหน้า จึงทำให้การทำสอบของผมไม่เคร่งเครียดนัก ต่างกับนักเรียนบางคนที่ตึงเครียดจนถึงกับเกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนออกมา>


<รถไฟเดินทางไฟเรื่อยๆแบบหวานเย็น สลับกับการจอดแวะตามสถานีต่างๆ จนถึงเวลาบ่ายแก่เราก็เริ่มเข้าเขตจังหวัดนราธิวาส ทิวทัศน์สองข้างทางก็เริ่มเปลี่ยนแปลง จากทิวทัศน์ท้องไร่ท้องนาสลับกับสวนยางพารากลายเป็นทิวทัศน์สวนยางเกือบทั้งหมด บรรยากาศค่อนข้างร่มครึ้ม ภาพนี้เป็นภาพที่ถ่ายในระหว่างการเดินทาง>

27 comments:

nai said...

เร็วจังเลย

Anonymous said...

พวกหัวโจกในห้องหายไปไหนหมดแล้ว ไม่เห็นอาอูเล่าให้ฟังบ้างเลยว่าเขายังแกล้งอยู่หรือเป่า

Anonymous said...

สมกับที่เป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากจริงๆ นะ นัยเนี้ย ที่1 อีกละ

ชู

Anonymous said...

ว๊าว!ตอนนี้มาไวถูกใจแฟนคลับจัง..

อ่านตอนนี้ทำให้พี่ระลึกชาติขึ้นมาได้หลายอย่างเลยเชียวค่ะอู..ไม่ว่าจะเป็นการเลือกคณะ การแยกเม-เจอร์ ค่าหน่วยกิต และการท่องเที่ยวหลังจากสอบเสร็จ

อย่างที่อูบอก..หากเราเรียงคะแนนในการเลือกคณะ
ได้ถูกต้องเท่ากับเราเพิ่มโอกาสให้ตัวเองมากขึ้น ในยุค
ของพี่เด็กๆส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้จักและรู้ใจตัวเองว่าอยากเรียนอะไร อยากประกอบอาชีพแบบไหน ด้วยอ่อนด้อยทางประสบการณ์และขาดการแนะนำจากผู้ใหญ่ โลกทัศน์ของเด็กยุคนั้นจึงต่างกับยุคนี้โดยสิ้นเชิง ประกอบกับผู้ปกครองไม่ได้ชี้แนะ+ผลักดันให้เรียนพิเศษเป็นบ้าเป็นหลังเหมือนยุคนี้ ฉะนั้นการเลือกอนาคตของเด็กในยุคนั้นมักจะขึ้นอยู่กับตัวเองเป็นส่วนใหญ่และเป็นไปตามยถากรรม..555

ในยุคของพี่ค่าเล่าเรียนถูกมากอย่างเหลือเชื่อเมื่อเทียบกับยุคนี้ ค่าเทอมเพียงหน่วยกิตละ10บาทและลงทะเบียนได้ไม่เกิน22หน่วยกิต/เทอม ฉะนั้นเมื่อลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อยแล้วเหล่านักศึกษายังอยู่ในสภาพเศรษฐีต้นเทอมกันได้อีกพักหนึ่งเนื่องจากค่าเล่าเรียนอันแสนถูกนั่นเอง และการจัดทัวร์ท่องเที่ยวขึ้นมักจะตามมาติดๆหลังจากเปิดเทอมไปได้ไม่นานนัก ส่วนค่าหอพักในมหา'ลัยน่าจะ400บาท/เทอม ค่าจ้างซักผ้าเดือนละ80บาทอะไรทำนองนั้น

เอ๊ะ!นี่พี่มานั่งรำลึกถึงความหลังมากไปรึปล่าวคะเนี่ย?เห็นอูบอกกล่าวว่าใกล้จบภาค3แล้วใจหาย เลยรีบเล่าเรื่องที่ระลึกชาติได้ออกมาใหญ่เลย..ไม่ว่ากันนะ

หลังจากสอบเสร็จก้อลั้ลลาพากันไปเที่ยวทะเลอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในยุคนั้น..

ส่วนการประกาศผลสอบพี่จำไม่ได้แล้วว่าเค้าประกาศทางไหนบ้างแล้วตัวเองรู้ได้ยังไง..มานั่งรออูท้าวความหลังเล่าให้ฟังก่อนดีกว่า..

ขอบคุณสำหรับตอนนี้..ที่มีอูมาช่วยเปิดกล่องความทรงจำสีจางๆค่ะ

คนลาดพร้าว

Anonymous said...

มาจอง หนึ่งในห้าก่อนครับ

กัน

Bomber_Boy said...

อยากรู้เร็วๆ แล้วสิว่าพี่อูสอบติดคณะแพทย์ได้หรือเปล่า!!!! และหวังว่าคงจะมีเรื่องเล่าตอนที่อยู่มหาวิทยาลัยอีกนะครับ อยู่กันมาตั้งนานจะมาจากไปง่ายๆ ได้ยังไง ยังไงๆ ก็ขอเสียงสนับสนุนจากแฟนคลับของพี่อูด้วยละกันนะครับ

ภาค 4....
ภาค 4....
ภาค 4....
ภาค 4....

ไม่อย่างนั้นจะปลุกระดมในช่วงที่มี พรก.ฉุกเฉินนะ...(แต่คงไม่บุกเผาบ้านพี่อูหรอกครับ.......oop!!!!!)

Bomber_Boy

Anonymous said...

แสดงว่าคุณอูก็อายุพอควรแล้วนะ สมัยที่ภาควิชาบริหารยังรวมในคณะสังคมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สมัยที่ป้าขวัญเรียนตอนนั้น(ปี23)ยังเป็นตึกคณะสังคม(เก่าๆ)ต้องไปเรียนที่อาคารเรียนรวมเกือบทุกวิชา
อิอิ

Anonymous said...

ยังดีติด 1 ใน 10

สงสัยได้เรียนรามแหงเลยอ่ะพี่อู

แบงค์ครับ

Anonymous said...

ฑี่อู
หลาบขอ ภาคสี่ได้มั้ยคะ
หลาบมิอยากพรากจากพี่อุเรย

Anonymous said...

ผมว่าอาอูได้คนมาทำให้หายเหงาคนใหม่แล้วแน่ๆเลย^^

เพราะไม่น่าเชื่อว่า กี้ จะมาด้วย O_O

Anonymous said...

ไม่รู้ทำไม อ่านแล้วเหมือนมีอะไรบ่งบอกบางอย่างว่า พอเข้ามหาวิทยาลัย อาอูจะไม่เหงาใจอีกต่อไปแล้ว
Federick
ป.ล.นับเวลารอหลังไมค์กับแฝด

Anonymous said...

เอ..
สงสัยจัง นายอูจะพบรักใหม่กับหนุ่มใต้ป่าวน้ออออออออออออ

หนุ่มใต้หล่อนะคร๊าบบบ

Anonymous said...

ภาพเก่าได้ใจดีจริง

Top said...

คิดถึงนายนัยอ่ะครับ

ผมอ่านภาคสองจบไปนานแล้ว
แต่เวลาคิดถึงนัย ผมยังน้ำตาซืมอยู่เลย

ผมสงสารนัยมาก
ความรู้สึกเค้าคงแย่สุดๆ
ทำให้เค้าต้องเล่นยา
ทำให้เค้าต้องทำต้วมั่วsex

ยิ่งสงสารนัย ผมก็ยิ่งสงสารอู ที่ต้องรู้สึกว่าตัวเองผิด

ทำไมคุณอูเขียนบทได้ทารุณใจผมขนาดนี้

ถ้าเป็นไปได้ เขียนเล่าในภาคของนัยบ้างก็ดีนะครับ

ขอบคุณครับ
Top

Anonymous said...

เย้ยยย อาอูคร้าบบ ไวไปมั้ย
จะเร่งจบไปไหนเนี่ย
อ่านแล้วอยากไปเที่ยวโดยรถไฟมั่ง
ชีวิตไฮโซเกินไป ไม่เคยนั่งรถไฟเลย อิอิ

นายอูนี่จะเหงาไปไหนเนี่ยครับ
หลานหนิงอยากอ่าน เรื่องของอู ภาค NC 18+ มั่งอะ อิอิ

หลานหนิง

ปล.รอแฝดเค้าหลังไมค์กัน ผมกำลังฝึกโห่รับขันหมากอยู่

Anonymous said...

เข้ามารอฟังผลสอบ


เข้ามารอฟังเรื่องตื่นเต้นที่ใต้



... เป็นห่วงคุณแม่ของพี่ด้วยครับ ...


โอ๋ครับ

boyaofza2 said...

ว๋าว มาต่ออีกแล้ว พรุ่งนี้ค่อยจะอ่านแล้วกัน อิอิ
มาบอกว่าคิดถึงก่อนนะครับ

Anonymous said...

ตอนนี้โพสต์อย่างว่างเพราะรู้สึกผิดที่ช่วงก่อนโพสต์แล้วขาดช่วงไปน่ะนัย แต่โพสต์เร็วก็จบเร็ว ได้อย่างเสียอย่าง

ไม่ไวไปหรอกหลานหนิง เดิมทีอาคิดว่าจะจบภายในเดือน พ.ค. ด้วยซ้ำ แต่นี่ลากมาจนถึงเดือน ก.ค. เลยต้องพยายามทำเวลาอยู่บ้าง

ป้าขวัญนี่ใครกันครับ ชื่อไม่คุ้นเลย แต่ว่าดูจากรุ่นแล้วน่าจะใกล้ๆกับพี่สาวลาดพร้าวของผม พี่สาวลาดพร้าวคงดีใจที่มีเพื่อนรุ่นใกล้ๆกัน ดูท่าจะจบจากสำนักเดียวกันเสียด้วย ว่าแต่ป้าขวัญนี่เป็นผู้บ่าวหรือแม่หญิงครับ เรียกป้าก็จริงแต่ว่าผมไม่ค่อยแน่ใจ

ภาควิชาบริหารฯ มช ถูกยกเป็นคณะในราวปี ๒๕๓๕ ครับ โยกย้ายไปตั้งหลักไกลจากคณะเดิม ช่วงหลังนี้กลายเป็นคณะยอดนิยมไปเลย

ค่าหน่วยกิตยุคกระดน้น ๑๐ บาทเองหรือครับ ทำไมถูกจัง รามฯยัง ๑๘ บาทเลย ผมว่ารามฯประหยัดสุดแล้วนะ

โรงอาหารคณะสังคมฯ มช นี่อาหารอร่อยมาก ถูกอีกต่างหาก ปัจจุบันก็ยังราคาถูกอยู่ (มั้ง) ในนั้นมีข้าวซอยอยู่ ๒ เจ้า ผมชอบข้าวซอยเจ้าที่ติดกับข้าวมันไก่ทอด อร่อยมาก ผมว่าร้านข้าวซอยแพงๆนอก มช. ก็ไม่ได้อร่อยไปกว่านี้หรอก ราคา ๑๕ บาทเอง (ชอบของถูกอะ) หน้าหนาวกินข้าวซอยร้อนๆกับพริกกะเหรี่ยง ร้อนท้องดีครับ แต่ตอนนี้โรงอาหารคณะสังคมจัดแบ่งแผงใหม่ มีการสลับร้านกัน ไม่รู้ว่าข้าวซอยร้านนี้เปลี่ยนไปอยู่ตรงไหนแล้ว

หอพักใน มช สมัยก่อนตกค่ำแล้วเวิ้งว้างน่ากลัวผีหลอก ไปหาสาวชาวหอ มช แต่ละทีลำบากเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องผีๆที่เล่าลือกันนี่เยอะเอาการ พี่สาวลาดพร้าวกับป้าขวัญเล่าเรื่องเก่าๆใน มช ให้ฟังก็น่าจะดีครับ ให้หลานๆได้เปรียบเทียบกับในยุคปัจจุบัน

เรื่องเที่ยวนี่ไม่ต้องพูดถึง ปิดภาคเรียนทีไรก็วางแผนไปดอยนั้นดอยนี้ บ้านไม่ต้องกลับมันล่ะ ส่งเงินมาให้เป็นพอ ใช่ไหมพี่

ใครจะจับคู่ผมกับไอ้กี้เหรอครับ รับประทานไม่ลงมั้ง ไอ้นั่นมันกินหมาเข้าไปทั้งตัว เต็มปากเลย ทนมันไม่ไหวหรอกครับ

วันก่อนโดนต่อว่าในบอร์ดปาล์มกว่าใจร้าย วันนี้ก็โดนทอปต่อว่าอีก คนที่ใจร้ายถ้าจะมีก็น่าจะเป็นคุณอาไอ้นัยมากกว่านะ (โยนไปโน่นเลย) ไหงมาลงที่ผมล่ะ

เรื่องภาคของนัยคงไม่มีหรอกครับ เพราะว่าติดต่อกันไม่ได้ แต่ถ้าจะให้คนที่คอมเมนต์เป็นลำดับที่ ๑ มาเล่าสู่กันฟังบ้างก็ลองดูได้ครับ

ตอนหน้า ๗๓ ลาโรงแล้ว จบเสียที โปรดคอยติดตามครับ

อู

Anonymous said...

อ่ะแน่!อูแอบมาคุ้นกับคณะสังคมกะเค้าด้วย สงสัยจะขึ้นไปเยี่ยมเอ๊ดล่ะมั้ง ว่าแต่ว่าเอ๊ดเรียนอะไรที่นั่นเหรอคะ..เผลอๆพี่อาจเป็นย่ารหัสของเอ๊ดก้อได้นา..

ส่วนป้าขวัญ..ยินดีที่ได้รู้จักศิษย์สำนักเดียวค่ะ คงต้องขอคารวะ1จอกต่อรุ่นพี่ อิอิ

ถ้าจำไม่ผิดในยุคของพี่ ภาควิชาบัญชี-บริหาร เป็นส่วนหนึ่งของคณะสังคมศาสตร์ เรียกย่อๆว่าAcc-Ba เป็นที่เลื่องลือว่าเป็นแหล่งรวมสาวสวยแห่งหนึ่งยิ่งเป็นพวกคนเมืองยิ่งไม่ต้องพูดถึงสวยสะเด็ดน้ำจริงๆเลย การเลือกเมเจอร์เค้าจะให้ระบุตั้งแต่ตอนสอบเข้าแล้วค่ะว่าเป็นบัญชี/บริหาร ส่วนจะมาย้ายกันทีหลังนั่นก้ออีกเรื่องนึงค่ะอู

เรื่องเล่าในม.ช.มีเยอะแยะไปหมด..ทั้งเรื่องผีที่ฮอตไม่มีตก เรื่องแจกของเมื่อไฟดับ ยิ่งเรื่องท่องเที่ยวไม่ต้องรอให้สอบเสร็จค่ะเพราะเราหาโอกาสได้ทุกๆเมื่อ.
..อันนี้เป็นความสามารถส่วนบุคคลนะคะ!!

อ่อ!แต่ที่พฤติกรรมคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่คือช่วงปลายเดือนจะพร้อมใจกันคิดถึงบ้านโดยทั่วหน้า และแปลงสาส์นความคิดถึงไปยังบุพการีเป็นโทรเลขสั้นๆมีใจความว่า.."เงินหมด ส่งด่วน" ส่วนใครที่มีมอเตอร์ไซค์จะพากันไปต่อคิวรอโทรทางไกลกลับบ้านที่หน้ามอซึ่งค่าโทรและค่าบริการในสมัยนั้นแพงมั่กๆ..

อู..จะจบตอนหน้าจริงๆน่ะเหรอ?..แล้วจะทำยังไงกับเหล่าแฟนคลับดีล่ะคะ..เคว้งคว้างเลยเชียวนา..

ชักสงสัยล่ะสิว่าที่อูคุ้นกับม.ช.เป็นเพราะว่า..อันดับ6
น่ะคือที่นี่555++(แทงกั๊กอีกนิดนึงว่าถ้าไม่ใช่ก้อหลบไปเลียแผลใจโดยอาศัยสิงสู่อยู่กับเอ๊ด..จริงป่ะคะ?)

คนลาดพร้าว

Anonymous said...

มาเจอดาว มช แถวนี้นี่เอง แอบแซวคนลาดพร้าว

หลาบเองค่ะ

Anonymous said...

ป้าขวัญจบบัญชีรหัส23
เท่าที่ตามข่าวอาจารย์ที่เคยสอนก็จากไปหลายท่านแล้ว
สมัยนั้นค่าหน่วยกิตของมช.หน่วยกิตละสิบบาท
แต่ถ้าเป็นของพวกที่มีแล๊บก็ยี่สิบบาท

ข้าวแกงใต้ถุนหอถาดละห้าบาทมั้ง
กินข้าวมื้อละสิบบาทก็อิ่มแล้ว
ค่ารถแดงเข้าเมืองดูเหมือนจะสามบาท

อยากจะกลับไปเที่ยวมช.อีกสักครั้ง
สงสัยน้องอูจะพบรักแถวๆนี้นะ

ป้าขวัญไม่ระบุเพศจ๊ะ ตามดูในเล้าเป็ดเอาเอง
อิอิ

andy_kwan

Anonymous said...

ดีจังเลยค่ะ..มีป้าขวัญมาช่วยยืนยันอีกคนว่าหน่วยกิตละ10บาทในโลกนี้มีจริงๆ ส่วนค่าข้าวแกงใต้ถุนหอจะถูกขนาดนั้นเลยเหรอคะ คนลาดพร้าวเองก้อจำไม่ได้แล้วเพราะไม่ค่อยได้ใช้บริการ เพราะจัดอยู่ในประเภทเศรษฐีต้นเดือนปลายแผ่วทุกทีเลยเชียว..มีอยู่ครั้งนึงแผ่วจัด..เทกระเป๋ารวมกันทั้งกลุ่มไปซื้อผักจากกาดหลังมอมาผัดกับมาม่าลงทุนใส่หมูซัก5บาทได้กระมัง งานนั้นรู้สึกว่าอร่อยเป็นพิเศษเพราะมื้อหน้ายังไม่รู้ชะตาชีวิตขึ้นอยู่กับธนาณัติของแต่ละบ้านว่าจะส่งมาเมื่อไหร่..555

ยุคของพี่และป้าขวัญ เพียงแค่มีกระทะไฟฟ้าตรานกยูงแอบซ่อนไว้ในห้อง+ฝีมือการต่อไฟแบบสุกเอาเผากิน(ไม่รู้รอดตายมาได้ยังไง? อิ อิ)เราก้อสามารถเนรมิตอาหารต่างๆได้มากมายเลยเชียวค่ะ นี่ยังไม่รวมถึงการแอบเอาทีวี วิทยุ-เทปซ่อนไว้ไม่ให้อาจารย์แม่บ้านเห็นอีกต่างหาก อันนี้ผิดกฎระเบียบนะคะน้องๆหลานๆทั้งหลายโปรดอย่าเยี่ยงอย่าง..ไม่ทราบว่าปัจจุบันกฎนี้ได้รับการผ่อนผันหรือยัง..เวลาอาจารย์แม่บ้านมาตรวจความเรียบร้อยพวกเราจะรู้หน้าที่โดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องเตี๊ยม ส่วนหนึ่งเอาของกลางไปซ่อน อีกส่วนเอาแอร์รีเฟรชเชอร์มาฉีดดับกลิ่นอาหาร ส่วนที่เหลือเปิดประตูกล่าวคำทักทายสวัสดีอาจารย์..แค่นั้นเอง!!

เรื่องในม.ช.มีเยอะค่ะ เล่ายังไงก้อไม่มีวันจบ ยิ่งเป็นกลุ่มแสบๆล่ะก้อวีรกรรมมากมายนัก..

ไปเชียงใหม่ทีไรกลับไปเยี่ยมม.ช.แทบทุกครั้ง แต่อยากบอกว่าฝายหินยุคนี้ไม่มีเสน่ห์เหมือนครั้งกระโน้น
ป้าขวัญอาจเสียฟีลดีๆที่มีแต่เดิมก้อได้ค่ะ..

เอาล่ะสิมาที่เว็บเล้าเป็ดอีกแล้ว..วันก่อนหน้าแตกเรื่องสาววายที่หลานหนิงแต่งตั้งให้แผลยังไม่สมานดีเลย..
เห็นหลานหนิงพูดถึงNC 18+อีก ไหนจะปาล์มบอร์ดที่เราไม่รู้จักอีกล่ะ(รู้จักแต่Egg Boardอ่า)เราไม่รู้เรื่องก้อตีหน้ามึนๆไปก่อนแล้วกันสักวันนึงฟ้าคงมีตา..ส่งคนใจดีมาเฉลยให้เนอะ..

น้องหลาบ..พี่มิอาจเอื้อมเป็นดาวม.ช.หรอกค่า เกรงว่าจะปฎิบัติภารกิจจนครบวาระไม่ไหวด้วยขยันป้ำๆเป๋อๆฉะนั้นขอส่งต่อ..โดยมอบตำแหน่งนี้ให้ป้าขวัญน่าจะเวิร์คกว่า ส่วนพี่ขอเป็นดาวลูกไก่อยู่ในบล็อกนี้ก้อพอแร้วววว์..คริ คริ

ป.ล.ขอโทษนะคะไม่ได้ทักทายอูและท่านอื่นๆเลย มัวแต่เม้าท์เรื่องอดีตกาลจนน้ำหมากกระจาย..เฮ้อ!!

คนลาดพร้าว

Anonymous said...

วันก่อนผ่านไป แถวลาดพร้าวซ.18 บอกรถไม่ถูกว่าจะให้ไปส่งที่ไหน เลยนึกถึง...ปานะพันธ์ ขึ้นมา ...
แล้วก็นึกถึง เรื่องของอูขึ้นมา ซะเฉยๆยังงั้นแหละ...
คิดเลยไปจนถึง ซ.ภาวนา....
เราเคยมีเพื่อนแบบอูที่ซ. 29เลยคิดถึงเขาขึ้นมา...

Anonymous said...

เจอดาว acc-ba มช เข้าน้ำหมากกระจายเต็มบล็อกเลย

ป้าขวัญรหัส ๒๓ ก็แสดงว่ารุ่นใกล้ๆกับพี่ ments42 พี่คนนี้หมู่นี้หายไปไหนก็ไม่รู้ น่าจะมาต่อคอมเม้นต์ช่วยรื้อฟื้นอดีตบ้างนะพี่

ผมถามไปยังงั้นเอง แค่อยากรู้ว่ามีแม่หญิงอ่านบล็อกนี้มากน้อยเท่าไรแค่นั้นเองครับ ไม่ได้สำคัญอะไร แค่รู้ว่าพี่ขวัญ-ป้าขวัญติดตามอ่านก็ปลื้มใจแล้วครับ จะได้ช่วยกันรำลึกเรื่องราวในอดีต

กระทะไฟฟ้าตรานกยูงนี่ถือว่าของจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชาวหอในยุคก่อน แล้วทำไมคิดถึงบ้านเอาช่วงปลายเดือน อตตาหิอตโนนาโถ นิ้วโป้งก็ใช้หาเงินได้นะพี่ เข้าไปหลังมู่ลี่ไม้ไผ่ก็ได้เงินใช้แล้ว อ้อ เป็นดาวนี่ สงสัยจะเขินถ้าไปในสถานที่อย่างนั้น

ต้องขอบคุณพี่สาวลาดพร้าวด้วยครับที่ท้วงเรื่องแยกเมเจอร์

ซอยลาดพร้าว ๒๙ ก็แถวๆที่ผมอยู่นั่นแหละ นั่งรถเลยเชียวเหรอ คงชอบใจลอยเหมือนผมแน่เลย

คืนนี้ตอนอวสานมา ก่อนอุษาได้อ่านกันแน่

อู

Anonymous said...

กรี๊ดดด พี่ขวัญ

ผมจำพี่ได้นะ พี่ขวัญอ่านเรื่องผมอยู่ เมื่อนานมาแล้ว อิอิ

ปล. ที่จริงแกดองมาเป็นปีต่างหากล่ะ บักหนิงหน่อง

มารอตอนอวสานละกัน คืนนี้มีขอบตาดำอีกแล้ววว

หลานหนิง

Anonymous said...

ขอบตุณคับอู ไหนๆ ก้อจะจบตอนหน้าแล้ว ก้อเลยขอโผล่ออกมาทักทายหน่อยครับ หวังว่ายังคงจำผมได้นะครับ แอบอ่านอยู่ข้างหลังมาตลอด ไม่ได้หายไปไหนนะคับ เพียงแต่ไม่ได้เข้ามาเม้นต์นานแล้วครับ เห็นมีสมาชิกใหม่ๆ และหลาย
น ๆของอูเข้ามาเม้นต์มากมาย ก้อเลยได้อ่านเม้นต์เพลินไปด้วย เพื่อนผมก้อหายไปด้วย t1000 งัยคับ
ผมคิดว่าคงไม่ได้หายไปแค่หลบอ่านอยู่ช้างหลังเหมือนผม ขอบอกว่าคิดถึงอูเสมอคับ ชอบคุณมากสำหรับเรื่องนี้ทั้ง สามภาค ผมเป็นแฟนคลับตั้งแต่ตอนแรกๆเลยนะครับ ใจหายเหมือนกัน รู้จักกันมา ตั้งแต่ต้น เมษายน 2548 เป็นเวลา 6 ปีมาแล้ว แล้วจู่ ๆ ก้อจะต้องจากกันรู่สึกใจหายมาก ไม่เป็นรัยยังงัยก้อยังมี อีเมลของอูอยู่ ยังงัยก้อคงได้คุยกันบ้างคับ
รอตอนจบอยู่นะ
คิดถึงเสมอ
KTB
KTB
KTB

Anonymous said...

มารักอาอูครับ

หลาน Arus ของอาอู