กิจกรรมที่นัดพบกันในครั้งนี้เป็นการแบ่งกลุ่ม เนื่องจากนักศึกษาใหม่ในคณะมีทั้งหมดกว่าสี่ร้อยคน การทำความรู้จักหรือทำกิจกรรมกันในกลุ่มใหญ่ๆทำได้ยาก ดังนั้นจึงต้องมีการแบ่งกลุ่มนักศึกษาออกเป็น ๔ กลุ่ม กลุ่มที่แบ่งนี้ไม่ได้เป็นการแบ่งอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาโดยตลอดของนักศึกษาในคณะเทคโนฯ
นักศึกษาทั้งหมดไปรวมกลุ่มกันที่ใต้ตึกเคมีตามที่รุ่นพี่นัดหมาย เมื่อถึงเวลา นักศึกษาใหม่ทั้งหมดก็ทยอยกันไปจับฉลาก ในฉลากจะมีเพียงแค่เบอร์ ๑ ถึงเบอร์ ๔ ใครจับได้เบอร์อะไรก็คืออยู่กลุ่มนั้น
“ได้เบอร์อะไรจ๊ะน้อง” เสียงแจ๋วๆดังขึ้นพร้อมกับมีคนมาตบไหล่ผม เจตสาวห้าวนั่นเอง
“เบอร์ ๓ จ้ะเจ๊” ผมตอบ “เจ๊ล่ะ”
“อุ๊ย อยู่กลุ่มเดียวกันเลย ดีมาก” เจตตอบ
“แล้วมันดียังไง” ผมถาม
“อ้าว รุ่นน้องก็ต้องบริการรุ่นพี่ ชั้นก็จะได้มีรุ่นน้องเอาไว้คอยให้บริการไง” เจตตอบหน้าตาเฉย
“อ้อ จะหาเบ๊รับใช้ ว่ายังงั้นเถอะ” ผมสรุป พร้อมกับเริ่มคิดว่านักศึกษาหญิงคนอื่นๆเป็นอย่างนี้ด้วยหรือเปล่า เพื่อนหญิงคนแรกที่ผมรู้จักดูจะไม่ธรรมดาเอาเสียเลย
“อ๊ะ เด็กคนนี้เข้าใจอะไรง่ายนี่” เจตหัวเราะ
แม้จะอยู่กลุ่มเดียวกันกับเจต แต่ผมก็ยังโชคดีที่ไม่ได้อยู่กลุ่มเดียวกับไอ้กี้ กี้จับฉลากได้กลุ่ม ๔ เมื่อจับฉลากเสร็จเรียบร้อย พี่ๆก็พานักศึกษาใหม่แยกย้ายกันไปเพื่อแนะนำให้รู้จักสถานที่ตั้งของกลุ่ม
สถานที่ตั้งของกลุ่มสามไม่ได้เป็นห้องเหมือนอย่างห้องชมรมหรือห้องสหกรณ์อย่างที่ผมนึกเอาไว้ แต่เป็นเพียงพื้นที่หลังตึกเคมีซึ่งมีชายคาคลุมพอคุ้มฝนคุ้มแดดได้ ขนาดเพียงไม่กี่ตารางเมตร มีโต๊ะไม้ตั้งอยู่ ๓-๔ ตัว ดูท่าคงจุคนพร้อมๆกันได้ไม่กี่สิบคนเท่านั้น เนื่องจากกลุ่มนักศึกษาที่แบ่งนี้ไม่ได้เป็นการแบ่งอย่างเป็นทางการ ดังนั้นกลุ่มจึงไม่มีสถานที่ตั้งที่คณะจัดเอาไว้ให้อย่างเป็นทางการ นักศึกษาก็ไปหาและจับจองมุมตึกต่างๆเพื่อจัดตั้งกลุ่มกันเอาเองและใช้พื้นที่นั้นต่อเนื่องกันมาจนถือเป็นธรรมเนียม กลุ่มอื่นๆก็เป็นพื้นที่หลังตึก ซอกตึก หรือมุมตึกเช่นกัน
เมื่อไปถึงโต๊ะกลุ่ม รุ่นพี่ก็เข้าไปยืนที่ด้านใน ส่วนน้องๆก็อยู่ล้อมรอบ นักศึกษาใหม่ร้อยกว่าคนกับรุ่นพี่กลุ่มรวมกันทุกชั้นปีอีกนับร้อยคนอัดกันเข้าไปแต่อัดอย่างไรก็ไม่หมด คนที่มาทีหลังต้องยืนอยู่นอกชายคา
“แล้วมันจะเบียดกันยังไงวะเนี่ย” เจตซึ่งยืนอยู่ข้างๆผมบ่น “คนตั้งล้าน”
“นี่ เธอ” ผมรู้สึกว่ามีใครสะกิดไหล่ พร้อมกันนั้นก็ได้ยินเสียงหวานๆเรียก
เมื่อหันไปดูผมก็เป็นหญิงสาวรูปร่างป้อมๆ ไม่สูง เข้าข่ายอวบระยะที่สองคนหนึ่ง หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ดูเป็นคนอารมณ์ดี กำลังมองหน้าผมอยู่
“เอ้อ มีอะไรเหรอ” ผมถาม
“เรามองอะไรไม่เห็นเลย ตัวเธอบังมิด” เธอพูดด้วยเสียงหวานน่ารัก “แลกที่กันหน่อยได้ป่าว”
“ได้ มาสิ” ผมตอบ พร้อมกับสลับที่ยืนกับเธอ
“เราชื่อแมวนะ เธอชื่ออะไร” สาวน้อยอารมณ์ดีแนะนำตัว
“เราชื่ออู” ผมตอบ แมวดูเป็นสาวที่อ่อนหวาน ต่างจากเจตโดยสิ้นเชิง เวลาคุยด้วยรู้สึกแปลกๆอยู่เหมือนกันเพราะผมพูดกูๆมึงๆกับเพื่อนมาตั้งแต่เด็กจนชิน
“มันเป็นเด็กสอบเทียบมา” เจตเสนอหน้าแทรกเข้ามา
“เฮ้ เธอบังฉัน” ยังไม่ทันที่ผมจะพูดอะไร สาวอีกคนหนึ่งที่อยู่ด้านหลังของผมโวยขึ้นมาอีก เมื่อหันกลับไปดูก็เห็นว่าเธอนั้นสูงน้อยกว่าแมวเสียอีก
“เชิญมาข้างหน้าละกัน” ผมเชื้อเชิญ “ชื่ออะไรอะ”
“เราชื่อจิ๊บ ก็เป็นเพื่อนกับไอ้แมวนั่นแหละ” เธอแนะนำตัว พลางขยับขึ้นมายืนข้างหน้าผม แมวกับจิ๊บมองหน้ากันแล้วหัวเราะ
“เด็กรุ่นน้อง” จิ๊บพูดกับผม “ทำอะไรต้องให้เกียรติรุ่นพี่สุภาพสตรีนะจ๊ะ”
“ก็คือจะให้เป็นม้าใช้” ผมสรุป สองคนนี้ก็มาแบบเดียวกับเจต ทำไมนะ สาวๆถึงได้ชอบข่มเด็กสอบเทียบกันนัก
“นั่นแหละ” แมวช่วยตอบพลางหัวเราะ
หลังจากหยอกล้อกันนิดหน่อย รุ่นพี่ก็เริ่มรายการโดยเริ่มแนะนำตัวรุ่นพี่ที่เป็นแกนของกลุ่มก่อน แกนของกลุ่มนี้มีตั้งแต่ปี ๒ ยันปี ๔ แมวหันกลับไปยืนฟังรุ่นพี่ ผมจึงสังเกตว่าเส้นผมของเธอถักเป็นเปียเส้นเบ้อเริ่ม เปียทั้งสองเส้นแกว่งไกวไปมาตามจังหวะการโคลงของศีรษะ ดูน่ารักดี
หลังจากการพูดคุยแนะนำตัวกันแล้ว ต่อมาก็เป็นการผูกข้อมืออันเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติมาทุกปี เมื่อพิธีผูกข้อมือเริ่มต้นขึ้น รุ่นพี่ก็ร้องเพลงของมหาวิทยาลัยพลางช่วยกันเอาเชือกสีขาวเส้นเล็กๆผูกที่ข้อมือของรุ่นน้อง เชือกนี้เป็นเชือกธรรมดา นักศึกษาใหม่อยากให้พี่คนไหนผูกข้อมือให้ก็เดินเข้าไปมา ผูกแล้วผูกอีกก็ได้ เสียงเพลงในจังหวะแช่มช้าคลอเบาๆไปตลอดการผูกข้อมือ บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น ฉันมิตร และน่าประทับใจ
กว่าจะเสร็จพิธีก็กินเวลาเข้าไปร่วมครึ่งชั่วโมงเนื่องจากแต่ละคนไม่ได้ให้รุ่นพี่ผูกข้อมือเพียงแค่คนเดียว ส่วนใหญ่จะให้รุ่นพี่หลายคนผูกข้อมือให้ ดังนั้นเมื่อเสร็จสิ้นการผูกข้อมือแล้วปรากฏว่าแต่ละคนมีเชือกผูกเต็มข้อมือ ผมเองก็มีเชือกอยู่สิบกว่าเส้น
สำหรับการเข้ากลุ่มนั้นไม่มีการตั้งรุ่นพี่ให้เป็นพี่เลี้ยงหรือที่เรียกกันว่าพี่รหัส คำว่าพี่รหัสนั้นหมายถึงว่าเป็นรุ่นพี่ประจำตัวที่จะคอยดูแลเราเหมือนเป็นพี่จริงๆคนหนึ่งนั่นเอง แต่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับรหัสประจำตัวนักศึกษาเลย ชื่อเรียกเป็นอย่างนั้นเอง รุ่นพี่รหัสจะไปได้เอาตอนรับน้องคณะกับตอนรับน้องของมหาวิทยาลัย เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยไปแล้วผมจึงได้รู้ว่ากิจกรรมรับน้องนั้นมีเยอะมาก ทั้งรับน้องกลุ่ม รับน้องคณะ รับน้องมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีรับน้องโต๊ะโรงเรียนอันหมายถึงการรับน้องที่มาจากโรงเรียนเก่าเดียวกันอีก นอกจากนี้ใครที่เข้าชมรมก็ยังมีการรับน้องชมรม ทั้งชมรมส่วนกลางและชมรมของคณะอีกด้วย
ธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องหนึ่งระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องก็คือการตกทอดสมบัติหรือตกทอดมรดกให้รุ่นน้อง สมบัติหรือมรดกที่ว่าก็คือตำราปีหนึ่งที่รุ่นพี่เรียนไปแล้ว ชีตประกอบการเรียน ข้อสอบเก่าๆ กับชุดนักศึกษา บางคนก็อาจรวมชุด รด. เข้าไปด้วย พวกตำรากับชีตนั้นโดยธรรมเนียมแล้วเป็นหน้าที่ของพี่รหัสของคณะ แต่เนื่องจากพี่รหัสนั้นเป็นพี่ปีสองที่สมัครใจเป็นพี่รหัส ผู้ที่ไม่สมัครใจก็มี ประกอบกับมีผู้ที่สอบเอนทรานซ์ใหม่แล้วลาออกไปบ้าง ดังนั้นพี่ปีสองที่เป็นพี่รหัสจะมีจำนวนน้อยกว่าน้องมาก พี่ปีสองหนึ่งคนอาจต้องมีน้องรหัสสองคน ถ้าได้พี่ปีสองที่มีน้องหลายคน หรือพี่ปีสองที่ขี้เหนียวหน่อย หรือว่ายังสอบไม่ผ่านในบางวิชา รุ่นน้องก็จะได้มรดกไม่ค่อยเต็มที่นัก ส่วนผู้ที่ได้พี่ใจกว้างอีกทั้งมีน้องคนเดียวก็เท่ากับส้มหล่น ได้รับมรดกไปเต็มๆ
ส่วนหน้าที่หลักของรุ่นพี่ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันก็คือการตกทอดชุดขาวให้รุ่นน้องในกลุ่ม กับหน้าที่รองก็คือแบ่งสมบัติให้น้องในกลุ่มเฉพาะน้องคนที่ไม่ค่อยได้รับอะไรจากรุ่นพี่รหัสนัก
เป็นธรรมเนียมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่จะนักศึกษาชายต้องแต่งชุดขาวมาเรียนอยู่ช่วงหนึ่ง ชุดขาวที่ว่าก็คือชุดนักศึกษาสีขาวประกอบด้วยเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาวและกางเกงขายาวสีขาว ผูกเนคไทตรามหาวิทยาลัย เข็มขัดตรามหาวิทยาลัย รองเท้าหนังสีดำ ส่วนจะแต่งเป็นเวลานานเท่าใดนั้นแล้วแต่ยุคสมัยและแล้วแต่คณะ สำหรับที่คณะเทคโนฯในยุคที่ผมเข้าปีหนึ่งเป็นธรรมเนียมที่จะต้องแต่งชุดขาวมาเรียนเป็นเวลาสองสัปดาห์ หลังจากนั้นให้ใส่ชุดนักศึกษาธรรมดาอันประกอบด้วยเสื้อเชิ้ตขาวแขนสั้นหรือแขนยาวก็ได้ กางเกงขายาวสีกรมท่า เนคไทกับเข็มขัดตรามหาวิทยาลัยดูเหมือนจะไม่บังคับแต่ส่วนใหญ่ก็จะใช้เข็มขัดตรามหาวิทยาลัยกัน ส่วนนักศึกษาหญิงนั้นใส่ชุดนักศึกษาตามระเบียบของมหาวิทยาลัยเหมือนกันตลอดตั้งแต่ปีหนึ่งจนปีสี่ ไม่มีอะไรพิเศษ
เนื่องจากชุดขาวของนักศึกษาชายไม่ได้ใช้บ่อย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องไปตัดกันทุกคน ส่วนใหญ่ก็หายืมเอาจากรุ่นพี่ในกลุ่มนั่นเอง บางคนที่ยืมไม่ได้หรือไม่มีขนาดที่เหมาะกับตัวจริงๆจึงค่อยไปตัดชุดขาวเป็นของตนเอง
ดังนั้นเอง หลังจากที่พิธีผูกข้อมือน้องเสร็จสิ้นลงไป เมื่อรุ่นน้องเริ่มคุ้นเคยกับรุ่นพี่บ้างแล้ว กิจกรรมตามล่าหามรดกของเหล่านักศึกษาปีหนึ่งจึงได้เริ่มขึ้น เสียงดังเซ็งแซ่ บรรยากาศเต็มไปด้วยความครึกครื้น
“พี่ๆ พี่อยู่ปีอะไรน่ะ”
“พี่มีชุดมั้ยครับ”
“พี่จำหนูได้มั้ย พี่ผูกข้อมือให้หนูไง พี่มีหนังสือเรียนมั้ยคะ”
“โอ๊ย ค่อยๆพูดทีละคนสิวะ พี่ฟังไม่ทัน”
ฯลฯ
- - -
หลังจากชุลมุนวุ่นวายกันอยู่พักใหญ่ ผู้คนที่แออัดในบริเวณโต๊ะกลุ่มก็ค่อยๆทยอยจากไป จนบ่ายแก่ก็เหลืออยู่เพียงไม่กี่สิบคน สำหรับผมนั้นไม่ได้มรดกอะไรเลยเนื่องจากเข้าไม่ค่อยถึงรุ่นพี่ พอจะเข้าไปก็มีคนมาตัดหน้าไปก่อน กว่าจะได้ถามรุ่นพี่ก็มักบอกว่าช้าไปต๋อยอันหมายถึงว่ายกให้คนอื่นไปแล้ว ส่วนเรื่องชุดนั้นไม่ค่อยหวังเพราะว่าเท่าที่ดูด้วยสายตาแล้วรูปร่างของรุ่นพี่ชายที่อยู่ในกลุ่มตอนบ่ายวันนั้นมีแต่ตัวเล็กกว่าผมทั้งนั้น
ที่ผมอยู่ที่โต๊ะกลุ่มเป็นเวลานานนั้นไม่ใช่เพราะรอหามรดก แต่เป็นเพราะมัวคุยกับเพื่อนและรุ่นพี่โรงเรียนสองคน คนที่เป็นรุ่นพี่โรงเรียนและตอนนี้กลายมาเป็นรุ่นเดียวกันนั้นเป็นคนเด่นของรุ่น ชื่อพี่จุ้ย
ความพิเศษของพี่จุ้ยคนนี้ก็คือเลือกคณะเทคโนฯเป็นอันดับหนึ่งและได้คะแนนสอบเป็นที่หนึ่งของคณะ ว่ากันว่าคะแนนสอบที่พี่จุ้ยได้นั้นสามารถเรียนในคณะแพทย์ได้อย่างสบาย ซึ่งน้อยคนนักที่จะคิดและตัดสินใจเลือกคณะแบบพี่จุ้ย
ส่วนเพื่อนรุ่นเดียวกันนั้นเป็นเพื่อนต่างห้อง ชื่อพัช คนนี้ก็สอบเทียบมาเช่นกัน ไอ้พัชนี่มันเรียกพี่จุ้ยว่าพี่ตลอด ผมก็เลยเรียกตาม จนท้ายที่สุดก็เรียกจนชิน แก้ไม่หาย พี่จุ้ยจึงกลายเป็นเพื่อนร่วมรุ่นในคณะที่ผมเรียกเป็นพี่มาโดยตลอด
พัชเป็นคนปากหวาน คุยเก่ง เรียกว่าพูดจนลิงหลับ เนื่องจากผมเองก็ไม่ได้รีบร้อนจะไปที่ไหนต่อ จึงนั่งฟังพัชรคุยกับพี่จุ้ยจนเวลาผ่านไปโดยไม่รู้ตัว
“เฮ้ น้อง พวกพี่จะกลับกันแล้ว จะไปกันหรือยัง” รุ่นพี่กลุ่มสุดท้ายที่กำลังจะเดินออกจากโต๊ะกลุ่มเรียกพวกเราสามคน
“พี่จะปิดประตูเหรอ” พัชถาม
“ไอ้บ้า มันมีประตูให้ปิดที่ไหนเล่า” รุ่นพี่หัวเราะ
“อ้าว ก็เห็นพี่เรียกให้กลับ นึกว่าพวกพี่ๆจะปิดประตูล็อกห้อง” พัชกวนอีก
“กวนดีนัก ไปหาอะไรกินกันดีกว่า” รุ่นพี่ชวน ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมกวนแล้วต้องชวนไปกินด้วย
“ไปที่ไหนเหรอพี่ พี่เลี้ยงใช่ป่าว” พัชถาม
“เออ พี่ชวนพี่เลี้ยงก็ได้วะ” พี่ตอบ
“สามคนเลยนะ” พัชถามย้ำ ผมเริ่มเห็นแววตลกบริโภคของมันอยู่รำไร
“เออ เต้าฮวยถ้วยละเจ็ดบาท พี่เลี้ยงสามคนได้ มาเถอะ” รุ่นพี่แจ้งงบประมาณเอาไว้ล่วงหน้า ดูท่าจะทันคนอยู่เหมือนกัน
“พี่ชื่ออะไรครับ” พี่จุ้ยถาม
“พี่ชื่อแต้ม อยู่ปี ๓” พี่แต้มตอบ เมื่อผมได้ยินถึงกับอดยิ้มไม่ได้ พี่แต้มเห็นเข้าพอดี
“ชื่อเหมือนหมาใช่ไหม” พี่แต้มถามผม
“ผมยังไม่ได้ว่าอะไรเลยนะพี่” ผมรีบออกตัว เกรงข้อหาล่วงเกินรุ่นพี่
“เออ นั่นแหละ แต่หน้าเรามันบอก ใครๆก็ถามพี่แบบนี้กันทั้งนั้น” พี่แต้มตอบ “ชินแล้วล่ะ”
หลังจากนั้นพี่แต้มกับรุ่นพี่อีกสองสามคนก็พาพวกเราเดินออกจากมหาวิทยาลัย ข้ามไปทางฝั่งตลาดสามย่าน จากนั้นข้ามถนนพญาไทไปอีกทีไปยังฝั่งคณะบัญชีรั้วสีชมพู ที่ข้างคณะทั้งบริเวณเป็นตึกแถวกลุ่มใหญ่ทั้งริมถนนและอยู่ในซอย ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารเกือบทั้งหมด จะมีบ้างที่เป็นกิจการอื่น เช่น โรงรับจำนำ ร้านขายของชำ และอาบอบนวด ปัจจุบันพื้นที่แถบนี้เปลี่ยนสภาพไปหมดแล้วโดยไม่เหลือเค้าเดิมเอาไว้ กลายเป็นจามจุรีสแควร์
“แถวหน้ามหาลัยไม่ค่อยมีอะไร จะกินอะไรจะใช้อะไรก็ต้องมาที่สามย่านนี่แหละ มีทุกอย่างเลย” พี่แต้มแนะนำ
และครั้งนี้เองเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสสำรวจพื้นที่รอบๆมหาวิทยาลัย พร้อมกับเรียนรู้ว่าส่วนหนึ่งของชีวิตนักศึกษาที่นี่อยู่ที่สามย่านนี่เอง

<สามย่านในอดีต คลิกที่ตัวภาพเพื่อดูภาพในขนาดขยาย ภาพนี้เป็นภาพสถานที่ต่างๆในบริเวณสามย่านในยุคประมาณ ๒๐ ปีมาแล้ว ตอนที่ผมเรียนชั้นปี ๑ อยู่ที่สะพานเหลือง ภาพที่เป็นฉากหลังเป็นภาพถ่ายดาวเทียมที่ถ่ายในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ แม้ไม่ใช่ภาพในยุคนั้นแต่อาคารและพื้นที่ในบริเวณสามย่านยังคงเป็นลักษณะเดียวกันกับเมื่อยี่สิบปีก่อน ยกเว้นพื้นที่ตรงหัวมุมสามย่านด้านคณะบัญชี จุฬาฯ เท่านั้นที่ไม่เหมือนเมื่อยี่สิบปีก่อน ถนนสามเส้นที่เห็นในภาพนั้น ถนนเส้นที่วิ่งขึ้นข้างบนภาพคือถนนพญาไท มุ่งไปทางสยามสแควร์ ปทุมวัน ถนนเส้นซ้ายของภาพคือถนนพระราม ๔ มุ่งไปทางหัวลำโพง ส่วนถนนเส้นขวาของภาพคือถนนพระราม ๔ เช่นกัน มุ่งไปทางสีลม ลองมาดูกันว่าสถานที่สำคัญในยุคนั้นมีอะไรบ้าง
หมายเลข ๑ ตลาดสามย่าน ชั้นล่างเป็นตลาดสด ชั้นบนเป็นร้านขายอาหาร มีร้านอาหารมากมายหลายร้าน และห้องกวดวิชา
หมายเลข ๒ โรงหนังสามย่าน อยู่หลังตลาดสามย่าน ยุคนั้นดูเหมือนจะฉายหนังไทย
หมายเลข ๓ ถนนพระรามที่ ๔ และหัวมุมสามย่านด้านตลาดสามย่าน ร้านค้าแถวหัวมุมเป็นคลินิกแพทย์ ร้านขายข้าวสาร โรงรับจำนำ ร้ายขายยา ร้านขายของชำ และโรงรับจำนำ ฯลฯ
หมายเลข ๔ สามย่านด้านคณะบัญชี จุฬาฯ เป็นตึกแถวจำนวนมาก ทั้งริมถนนและที่อยู่ในซอย ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร มีร้านอาหารระดับตำนานอยู่หลายร้าน เช่น สมบูรณ์ อี่ หมง นายใบ้ โจ๊กสามย่าน เต้าฮวยเย็น จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของแถบนี้ก็คืออาบอบนวด ฯลฯ
หมายเลข ๕ ร้านจีฉ่อย ร้านค้าระดับตำนาน ว่ากันว่ามีขายทุกอย่างเท่าที่คุณจะนึกออก ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันกระสวยอวกาศ ต้องการอะไรจีฉ่อยหามาให้ได้ทุกอย่าง
หมายเลข ๖ โรงเรียนศึกษาวัฒนา>