Saturday, September 24, 2011

ภาคสี่ ตอนที่ 46

เมื่อไม่ต้องสอนป้อม ภาระของผมก็เบาลงไปส่วนหนึ่ง ซึ่งก็ดีอยู่เหมือนกันพราะว่าการสอนป้อมต้องเตรียมการสอนมากพอควร ช่วงนี้ใกล้สอบปลายภาคแล้ว เมื่อไม่ต้องสอนจะได้มีเวลาเตรียมตัวสอบมากยิ่งขึ้น

ส่วนโครงการออกค่ายร่วมกับชมรมค่ายอาสาเพื่อทำห้องสมุดในโรงเรียนนั้น ภายในระยะเวลาทำงานอันสั้น ในเมื่อหาผู้สนับสนุนไม่ได้เลยก็จำเป็นต้องพักโครงงานไป ความพยายามทั้งหมดของเราสูญเปล่า เรื่องฝีมือการหาทุนสนับสนุนนั้นพวกเราสู้ชมรมค่ายอาสาไม่ได้เลยเพราะไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน นอกจากนี้ บริษัทห้างร้านที่พอจะมีความหวังเราก็จำเป็นต้องสละให้ชมรมค่ายอาสาไปก่อนเนื่องจากหากโครงการห้องสมุดล้มยังเป็นเรื่องเล็กเพราะเป็นโครงการย่อย แต่หากโครงการหลักล้มไปด้วยจะมีผลเสียมาก ดังนั้นแม้ทุกคนต่างรู้สึกเสียดายแต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

นอกจากความรู้สึกเสียดายแล้ว ความล้มเหลวในครั้งนี้ยังทำให้เราเสียความเชื่อมั่นในตนเองไปไม่น้อย เพราะเมื่อย่างเข้าเดือนกันยายน หลังจากที่ติดตามผลการขอสปอนเซอร์ไปแล้วแต่ได้รับการปฏิเสธทั้งหมด พวกน้องๆก็ลงจากชมรมไปเนื่องจากใกล้สอบแล้วอีกทั้งยังไม่มีงานอะไรให้ทำอีกด้วย ในที่สุดในชมรมจึงเหลือแต่พวกพี่ๆที่นั่งเหงาเกากีตาร์กันเล่น

สำหรับผมเองนั้นก็เสียความเชื่อมั่นในตนเองไปพอสมควร เพราะผมเคยคิดอยู่เสมอว่าไม่มีอะไรที่เกินกว่าความพยายาม แต่ในครั้งนี้แม้พยายามจนเต็มที่แล้วก็ยังไม่ประสบผล คนที่รู้สึกแย่ที่สุดน่าจะเป็นพี่ตั้ว เพราะเป็นคนหาโครงการมา ผลักดันโครงการเต็มที่ แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว

“เซ็งโว้ย แม่ง...” พี่ตั้วบ่นขึ้นมาลอยๆ ในช่วงนี้เราอาศัยชมรมเป็นสถานที่พักผ่อนและดูหนังสือเตรียมสอบ ห้องสมุดคนแน่นมาก ห้องพักนักศึกษาก็คนแน่น นั่งอ่านหนังสือในชมรมบรรยากาศสงบกว่ามาก

“โอ๊ย อย่าบ่นเลยพี่ จะอ่านหนังสือ” ไอ้กี้ดุ

“ก็จะบ่น มีอะไรมั้ย” พี่ตั้วตีรวนบ้าง “ไม่อยากฟังก็เอาตีนอุดหูซะ”

“เพี้ยนแล้ว” ไอ้กี้หัวเราะ “ให้เอาตีนอุดหู มันยัดเข้าไปในหูได้ที่ไหน”

“ถ้ายัดไม่ได้ก็ไม่ต้องพูดมาก” พี่ตั้วหงุดหงิด

“กลับละนะ” ผมพูดขึ้นบ้าง พลางผุดลุกจากที่นั่ง เก็บหนังสือใส่เป้ ปกติเรานั่งอ่านหนังสือกันจนเย็นหรือจนค่ำจึงค่อยกลับ แต่วันนี้แค่บ่ายแก่ๆผมก็ตรียมกลับแล้ว

“มึงจะรีบไปไหน อยู่ดูหนังสือเป็นเพื่อนกันก่อน” ไอ้กี้ฉุดผมให้นั่งลงอีก

“มึงดูโน่น” ผมชี้ให้ไอ้กี้ดูที่นอกหน้าต่าง กลุ่มเมฆดำทะมึนเป็นผืนใหญ่ลอยในระดับต่ำ พัดมาแต่ไกล เห็นแผ่นฟ้าที่อยู่ไกลออกไปดำไปครึ่งหนึ่ง ลมเริ่มพัดแรง ดูท่าอีกไม่นานฝนอาจกระหน่ำลงมา “จะรีบหนีฝนโว้ย”

“มึงหนีฝนไม่ทันอยู่แล้ว ไปตอนนี้ติดฝนพอดี อยู่หลบฝนในชมรมก่อนสบายกว่าเป็นไหนๆ” ไอ้กี้โน้มน้าวอีก

“เฮ้ย ลมพัดแรงยังงี้ฝนไม่ตกหรอก มันไม่ทันจะตกก็เลยไปที่อื่นแล้ว” พี่ต่อพูดอย่างมั่นใจ

“กลัวรถติดหนักน่ะ” ผมพูด ผมไม่ชอบฝนตกตอนเช้ากับตอนเย็นเลย ตกทีไรรถติดหนัก การยืนเบียดในรถเมล์หลายๆชั่วโมงเป็นรสชาติที่ไม่น่าลิ้มลอง ผมรีบกลับตอนนี้ดีกว่า

“ตามใจมึง” ไอ้กี้พูดพลางเค้นเสียงหัวเราะเหมือนดาวร้ายในหนังจีน “ถ้าฝนตกมึงเปียกเป็นไก่ตกน้ำ กูจะหัวเราะให้เหงือกหลุดเลย ฮิฮิฮิ”

ผมรีบเก็บของและลงจากชมรม จากนั้นรีบเดินจ้ำอ้าวเพื่อไปยังป้ายรถเมล์สามย่าน ลมพัดแรงมาก เพียงชั่วเวลาไม่นาน กลุ่มเมฆดำที่เห็นลอยอยู่ในระยะไกลก็เคลื่อนมาลอยอยู่บนท้องฟ้าเหนือมหาวิทยาลัย บรรยากาศที่สามย่านในยามบ่ายแก่กลับกลายเป็นมืดครึ้มราวกับเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ผมคาดผิด ไม่คิดว่าเมฆฝนจะมาเร็วขนาดนี้

“จ๊ะเอ๋ แฮ่ๆ” ผมทำเสียงคำราม

“อุ๊ย พี่นี่เอง” สาวน้อยที่ผมทำเสียงคำรามใส่หันกลับมามอง “แย่แล้ว ฝนจะตกแล้ว จุ๋มยังกลับบ้านไม่ได้เลย”

สาวน้อยคนนั้นคือจุ๋มนั่นเอง จุ๋มพูดด้วยอาการร้อนใจ

“เดี๋ยวรถก็มา ใจเย็นๆ” ผมปลอบใจ

“วันนี้รถขาดช่วง รอตั้งนานแล้ว รถเมล์สายที่ไปได้ยังไม่มาสักคัน” จุ๋มพูดอย่างกระวนกระวายอีก

ผมสังเกตอยู่เหมือนกันว่าวันนั้นที่ป้ายรถเมล์คนแน่นมาก ที่แท้เป็นเพราะรถขาดช่วงนั่นเอง คงเกี่ยวกับฝนตกด้วยเป็นแน่

ทันใดนั้นฝนก็เทโครมลงมา พวกนักศึกษาที่รอรถอยู่ที่ป้ายรถเมล์แตกฮือวิ่งเข้าไปหลบตามใต้ชายคา ผมยืนอยู่หน้าร้านหนังสือที่ป้ายรถเมล์พอดีจึงชวนจุ๋มเข้าไปหลบในร้านก่อน

ร้านหนังสือร้านนั้นเป็นร้านเก่าแก่ เปิดอยู่ตรงป้ายรถเมล์มานานแล้ว ก่อนที่ผมจะมาเรียนที่นี่เสียอีก หลายปีที่เรียนอยู่แถวนั้นแต่ผมกลับจำชื่อร้านหนังสือไม่ได้ จะว่าไปอันที่จริงผมไม่เคยสังเกตชื่อร้านหนังสือเลยต่างหาก ที่พอจะจำชื่อร้านได้ก็มีแต่ร้านถ่ายรูป ได้แก่ ห้องภาพเมืองงาม ห้องภาพนครอาร์ต ฯลฯ

ฝนตกลงมาอย่างหนัก นักศึกษายืนหลบฝนกันเต็มร้านหนังสือ บางคนก็หยิบหนังสือในร้านอ่านฆ่าเวลา เจ้าของร้านก็ไม่ได้ว่าอะไร คงเจอเหตุการณ์เช่นนี้จนชินชา

“จะรีบไปไหนเล่าจุ๋ม ฝนตกหนักขนาดนี้ไปไม่ได้แล้วล่ะ คงต้องรอฝนหายก่อน” ผมพูด อดนึกถึงคำพูดของไอ้กี้ไม่ได้ แม้ผมจะรู้ว่าโอกาสที่ผมจะติดฝนอยู่กลางทางมีอยู่สูง แต่ผมก็ต้องการจะวัดดวงดู และผลก็ปรากฏว่าผมพ่ายแพ้... “พี่ก็คิดจะรีบกลับเหมือนกัน แต่ในที่สุดก็ติดฝน”

“เฮ้อ...” จุ๋มถอนหายใจ เหมือนกันทำใจได้ว่าคงต้องติดฝนอยู่สักพักหนึ่ง

ร้านนั้นมีแผงวางหนังสือพิมพ์และนิตยสารอยู่หน้าร้าน ส่วนในร้านนั้นผนังด้านหนึ่งเป็นชั้นวางหนังสือ มีหนังสือวางโชว์อยู่พอสมควร ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นเคาน์เตอร์ขายเครื่องเขียน ผมยืนมองหนังสือบนชั้นอย่างเลื่อนลอย...

“พี่อู” เสียงจุ๋มเรียก “พี่อูๆๆๆๆ”

“ได้ยินแล้ว” ผมหัวเราะ “เรียกทำไมตั้งหลายครั้ง”

“ได้ยินเสียที่ไหนล่ะ จุ๋มเรียกพี่ตั้งหลายหนยังเห็นพี่ยืนใจลอยอยู่เลย” จุ๋มพูด “ใจลอยคิดอะไรอยู่คะ”

“คิดเรื่องห้องสมุดน่ะ” ผมพูดพลางถอนใจ “ถ้าได้ไปออกค่ายทำห้องสมุดก็คงดี”

“แล้วทำไมไม่ไปล่ะ” จุ๋มถาม ที่จริงจุ๋มพอรู้เรื่องโครงงานห้องสมุดอยู่บ้างเพราะว่าผมเคยเล่าให้จุ๋มฟัง

“ก็หาทุนไม่ได้เลยน่ะสิ” ผมตอบ “หาสปอนเซอร์ไม่ได้เลยสักราย นี่ถ้ามีเงิน ป่านนี้พี่คงกำลังเลือกหนังสือเพื่อจัดเข้าห้องสมุดอยู่ ปิดเทอมก็คงได้ไปออกค่าย”

“พี่อูไปหาสปอนเซอร์ที่ไหนล่ะ” จุ๋มถาม

ผมจึงเล่าให้จุ๋มฟังว่าพวกเราไปเดินตระเวนหาสปอนเซอร์ตามถนนย่านชานเมือง จุ๋มได้ฟังแล้วก็หัวเราะ

“โธ่ พี่ไก่อูเอ๊ย” จุ๋มพูด คำเรียกหาของเธอทำให้ผมเกิดความรู้สึกที่บอกไม่ถูกอยู่ในใจ

“มีอะไรเหรอ” ผมถาม

“พี่คิดดูนะ... หอพักของพี่อยู่ห่างจากปากซอยแค่ไหน” จุ๋มถาม

“สักร้อยหรือสองร้อยเมตรมั้ง” ผมตอบ นึกไม่ออกว่าน้องรหัสฝากเลี้ยงของพี่เหล่งคนนี้จะมาไม้ไหน

“ก็นั่นแหละ ถ้าพี่จะไปปากซอย ทำไมพี่จะต้องเดินไปท้ายซอย แล้วทะลุเข้าซอยข้างๆ จากนั้นจึงค่อยเดินมาถึงปากซอยล่ะ” จุ๋มถาม

“ซอยที่หอพี่เป็นซอยตัน ทะลุซอยอื่นไม่ได้” ผมตอบ

“โอ๊ย คุณพี่” จุ๋มทำสีหน้าเพลียราวกับไม่ได้นอนมาหลายวัน “ทำมั้ย... ทำไม... จุ๋มแค่เปรียบเทียบ ไม่ได้หมายความยังงั้นจริงๆ”

“แหะ พี่ตามไม่ทัน จุ๋มว่ามาตรงๆดีกว่า” ผมกลัวโชว์โง่ออกมาอีก จึงขอเฉลยเลยดีกว่า

“ก็หมายความว่า พี่จะทำอะไรสักอย่าง ทำไมไม่ทำตรงๆเลย ไปอ้อมให้เสียเวลาทำไม” จุ๋มพูด

“ยังไม่เข้าใจแฮะ” ผมพูด “พี่ทำอะไรอ้อมตรงไหน”

จุ๋มหยิบหนังสืออ่านเล่นบนชั้นมาเล่มหนึ่ง พลางชี้ให้ดูที่ตราเล็กๆที่มุมหนังสือ

“พี่อูเห็นอะไรไหม” จุ๋มถามอีก

“เห็นจ้า” ผมตอบอย่างระวัง กลัวโง่อีก

“นี่มันอะไร” จุ๋มถามต่อ

“โลโก้สำนักพิมพ์ไง” ผมตอบ “ถูกไหม”

“ใช่แล้ว” จุ๋มพูด “ก็ในเมื่อพี่จะทำห้องสมุด แทนที่พี่จะไปหาเงินจากที่ไหนก็ไม่รู้ แล้วมาซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด ทำไมพี่ไม่ไปขอหนังสือจากสำนักพิมพ์โดยตรงเลยล่ะ”

ทันใดนั้น ผมรู้สึกกระจ่างวูบขึ้นมาทันที จริงสินะ ทำไมผมไม่เคยคิดมาก่อน

“แล้วมันจะได้ผลเหรอ” ผมทำเป็นไม่เชื่อ หากเชื่อทันทีก็เท่ากับยอมรับว่าผมเป็นรุ่นพี่ที่ซื่อบื้อ เสียหน้าแย่

“จุ๋มเคยขอมาแล้ว” จุ๋มตอบ

“แล้วได้ไหม” ผมถามอีก

“จุ๋มเคยทำงานชมรมภาษาต่างประเทศตอนเรียนม.ปลาย ที่ชมรมต้องการทำห้องสมุดเล็กๆไว้บริการสมาชิก พวกเราก็ขอหนังสือที่เกี่ยวกับการเรียนภาษาจากสำนักพิมพ์โดยตรงนี่แหละ ได้มาตั้งเยอะ ได้ไม่ยากด้วย จุ๋มไม่เคยไปขอสปอนเซอร์แล้วหาเงินมาซื้อหนังสือเลย” จุ๋มอธิบาย

คราวนี้ผมรู้สึกกระตือรือร้นขึ้นมาทันที ที่จริงตอนที่ผมเรียนมัธยมผมก็ทำงานเกี่ยวกับหนังสือเหมือนกัน แต่ว่าเป็นคล้ายๆธุรกิจหนังสือเช่า ดังนั้นประสบการณ์ของผมในการจัดหาหนังสือก็คือเอาเงินไปซื้อมาจากร้านหนังสือ ไม่เคยขอหนังสือจากสำนักพิมพ์มาก่อน

ฝนตกหนักแต่ก็ตกไม่นาน เพียงครู่ใหญ่ๆฝนก็ขาดเม็ด แต่ผลที่ตามมาก็คือการจราจรในถนนพญาไทติดหนึบชนิดไม่ขยับเลย

ผมไม่เคยพบกับเหตุการณ์ที่รถติดหนักเช่นนี้มาก่อน ยืนดูอยู่นานรถก็ยังเคลื่อนตัวไม่ได้ หากเป็นครั้งอื่นๆผมคงกลับไปหลบรถติดบนชมรมแล้ว รอให้ค่ำๆหรือดึกๆค่อยกลับก็ได้ แต่นี่ผมเห็นจุ๋มยืนกระวนกระวายอยู่ ไม่รู้ว่าทำไมถึงได้รีบกลับบ้านนัก จะทิ้งจุ๋มไปก็ไม่เหมาะ

“จุ๋มรีบเหรอ” ผมถาม ที่จริงก็รู้อยู่แล้ว จุ๋มพยักหน้าเป็นคำตอบ

“ถ้างั้นเราเดินไปเรื่อยๆก่อนไหม ฝนหยุดแล้ว อากาศสบายๆ เดินไปเรื่อยๆ รถขยับแล้วค่อยขึ้น” ผมเสนอ “น่าจะเร็วกว่า”

“ดีเหมือนกันพี่” จุ๋มเห็นด้วย

เราสองคนจึงเดินไปเรื่อยๆโดยมุ่งหน้าไปทางห้างมาบุญครอง ที่จริงไม่ได้มีเพียงเราสองคนที่เดิน ยังมีนักศึกษาและคนทำงานที่เดินร่วมทางด้วยอีกจำนวนหนึ่ง

“เห็นไหม เดินเร็วกว่ารถวิ่งเป็นไหนๆ” ผมพูด เมื่อได้ออกเดินทาง ดูจุ๋มกระวนกระวายน้อยลง

เราสองคนเดินผ่านรั้วจามจุรี ผ่านหน้าคณะนิติศาสตร์ จากนั้นเป็นครุศาสตร์ ต่อมาก็เป็นตึกอธิการบดีซึ่งอยู่ตรงข้ามกับประตูใหญ่ ผมมองข้ามฝั่งเข้าไปในถิ่นจามจุรี เห็นสระน้ำด้านหน้า สนามหญ้าสีเขียว และอนุสาวรีย์สองรัชกาลตระหง่านอยู่หน้าหอประชุมใหญ่ โดยมีฉากหลังเป็นท้องฟ้ากระจ่างหลังฝน เป็นบรรยากาศที่สดชื่นและร่มเย็น

ผมมองดูสาวน้อยที่เดินอยู่เคียงข้างผม ผมเริ่มสังเกตว่าเธอเป็นเด็กสาวที่อารมณ์ดีแต่จริงจัง ขี้เล่นแต่ไม่เหลวไหล พร้อมกันนั้นผมรู้สึกว่าเธอเป็นคนที่ปรึกษาพึ่งพาได้ ตั้งแต่ไอ้นัยจากไป แม้ว่าผมจะมีเพื่อนอยู่ไม่น้อยแต่ผมก็ไม่เคยมีเพื่อนสนิทที่เป็นคู่คิดอีกเลย ผมเริ่มมองเธอด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไปจากเดิม...

ฝนตกวันนั้นทำให้รถติดมาก แม้ว่าฝนตกแถวสามย่านไม่นานนักแต่ไปตกหนักในพื้นที่อื่นที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้การจราจรในถนนพญาไทกลายเป็นอัมพาต เราเดินนานเป็นชั่วโมง เดินไปจนถึงสี่แยกพญาไทจึงค่อยขึ้นรถ ตอนนั้นเป็นเวลาค่ำแล้ว

“เมื่อยมั้ย” ผมถามจุ๋มหลังจากที่เราอยู่บนรถ ปอ. บนรถไม่แน่นมากนักเพราะคนลงเดินกันเป็นส่วนใหญ่ แต่เราสองคนเดินกันพอแล้วจึงมาขึ้นรถ

“ไม่หรอก เดินคุยกันไปเรื่อยๆ ไม่ทันรู้สึกอะไร” จุ๋มตอบ

การจราจรเคลื่อนตัวไปได้แต่ก็ไม่เร็วนัก เรายืนยู่บนรถอยู่นานกว่าจะถึงซอยอารีย์

“ถามอะไรหน่อยสิ... ทำไมจุ๋มดูกระวนกระวายมากเลย งานบ้านน่ะทำช้าหน่อยก็ไม่เห็นเป็นไร” ผมถามก่อนที่จุ๋มจะลงจากรถ ผมเก็บความสงสัยเอาไว้นานแล้ว ที่จริงตั้งใจจะไม่ถามเพราะรู้ดีว่าจุ๋มคงลำบากใจที่จะตอบ อีกทั้งเมื่อก่อนหน้านี้ยังไม่สนิทกันเท่าไรนัก จึงไม่อยากละลาบละล้วงเรื่องส่วนตัวจนเกินไป แต่จากการเดินคุยกันนานนับชั่วโมงในวันนี้ทำให้เราคุ้นเคยกันมากขึ้น ในที่สุดผมก็อดรนทนไม่ได้จึงถามออกไป

“เอ้อ...” จุ๋มอึกอัก “เอาไว้จุ๋มค่อยเล่าให้พี่อูฟังทีหลังก็แล้วกัน”

ว่าแล้วจุ๋มก็ลงจากรถไป ทิ้งให้ผมเดินทางต่อไปเพียงคนเดียว...

- - -

หลังจากที่ผมได้คำแนะนำจากจุ๋ม ผมจึงเอาเรื่องนี้ไปคุยกันในชมรม

“เฮ้ย เข้าท่าว่ะ” พี่ตั้วอุทาน “ทำไมเราไม่เคยคิดมาก่อนวะ”

“ไอ้อู มึงคิดเองหรือเปล่าวะเนี่ย” ไอ้กี้ถาม

“ทำไมมึงถามแบบนั้นล่ะ” ผมตอบแบบไว้เชิง

“กูว่ามึงไม่ฉลาดขนาดนี้นะ” ไอ้กี้พูด

“ความคิดใครมึงอย่ารู้เลย ถ้าคิดว่าเข้าท่าก็ลองดูละกัน” ผมตัดบท

“เห็นมั้ยๆ แค่นี้ก็รู้แล้วว่ามึงไม่ได้คิดเอง” ไอ้กี้หัวเราะ พร้อมทั้งไม่วายสงสัย “ความคิดใครวะ”

พวกเราคิดว่าความคิดนี้น่าลองทำดู จึงพยายามขอสปอนเซอร์อีกครั้ง คราวนี้เจาะจงไปที่กลุ่มสำนักพิมพ์ที่มีการพิมพ์หนังสือเด็ก โดยเราระบุไปว่าต้องการขอรับบริจาคหนังสือที่เหมาะสำหรับอ่านในระดับประถม แม้จะใกล้สอบแล้ว แต่เมื่อยังมีความหวัง พวกเราก็ยอมเสียเวลาดูหนังสือ แต่คราวนี้เราไม่ได้ระดมพวกปีหนึ่งให้มาช่วยด้วย เป็นพวกพี่ๆทำกันเอง

ความคิดนี้ได้ผลเกินคาด ปรากฏว่าเราได้รับบริจาคหนังสือเด็กจากสำนักพิมพ์ต่างๆรวมหลายร้อยเล่ม คิดตามราคาปกแล้วมูลค่าเกินกว่าห้าหมื่นบาทเสียอีก หนังสือทั้งหมดนี้มีสภาพใหม่บ้างเก่าบ้าง แต่ทั้งหมดไม่ใช่หนังสืออ่านแล้วหรือหนังสือมือสอง ที่เก่าเป็นเพราะเก่าจากการวางโชว์บนแผงหรือเก่าเพราะขายไม่ออก เรื่องที่จุ๋มพูดนั้นเป็นความจริง สำนักพิมพ์บริจาคหนังสือให้โดยไม่ยากนัก ดีกว่าการไปเดินขอสปอนเซอร์มาก

พวกเราใช้เวลาในช่วงกลางเดือนจนถึงปลายเดือนกันยายน ดำเนินการเรื่องขอหนังสือ มันเป็นเวลาที่เร่งรัดมาก แต่ไม่ทำก็ไม่ได้ ประกอบกับพวกเราต้องสอบด้วย ดังนั้นงานนี้จึงกระทบกับการเตรียมตัวสอบพอสมควร

- - -

คืนวันจันทร์

วันนั้นเป็นวันแรกของการสอบปลายภาค วิชาแรกที่เข้าสอบก็รู้สึกว่าจอดสนิท ข้อสอบยากมาก แต่ผมก็พยายามทำ เมื่อเสร็จจากการสอบยังต้องขึ้นชมรมไปจัดหนังสืออีก กว่าจะกลับถึงหอพักก็ราวๆห้าทุ่มกว่า

เมื่อผมเดินเข้าไปในหอพักก็พบชาวหอหลายคนกำลังมุงดูโทรทัศน์ที่ชั้นล่าง วันนี้ดูคึกคักเป็นพิเศษ

“เฮ้ย อู มาดูเร็วๆเข้า” พี่คนหนึ่งเรียก

“เรื่องอะไรพี่” ผมถาม

“รถก๊าซระเบิด ไฟลุกท่วมถนนเลย”

“ที่ไหนพี่” ผมไม่รู้เรื่องเลย

“ถนนเพชรบุรีตัดใหม่” พี่คนนั้นตอบ “ระเบิดเมื่อตอนสี่ทุ่มนี่เอง”

Wednesday, September 21, 2011

ภาคสี่ ตอนที่ 45

ในที่สุดผมและไอ้กี้ก็จำใจต้องไปขอสปอนเซอร์ย่านถนนแจ้งวัฒนะ ถนนแจ้งวัฒนะในยุคนั้นไม่ใช่ท้องไร่ท้องนาอย่างที่ผมวาดภาพเอาไว้ แต่ก็ไม่ได้แออัดคับคั่งไปด้วยบ้านเรือนเช่นในปัจจุบัน

ผมและไอ้กี้ลงทุนโดดเรียนทั้งวัน เลือกเอาวันที่เรียนเฉพาะวิชาบรรยายเนื่องจากการโดดเรียนวิชาปฏิบัติการค่อนข้างยุ่งยาก เมื่อเลือกวันที่จะโดดร่มได้ตรงกันแล้วก็เตรียมเอกสารให้พร้อม จากนั้นนัดเจอกันที่ชมรมและออกจากชมรมตั้งแต่เช้า

เรานั่งรถเมล์สาย ๓๔ ไปลงที่วัดพระศรีมหาธาตุ ตั้งต้นกันที่หัวมุมอนุสาวรีย์หลักสี่ด้านวัดพระศรีมหาธาตุนั่นเอง จากนั้นเดินไปเรื่อยๆทางมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร สมัยนั้นเรียกวิทยาลัยครูพระนครและกำลังอยู่ในระยะคาบเกี่ยวที่จะเปลี่ยนสถานะจากวิทยาลัยครูไปเป็นสถาบันราชภัฏ จากนั้นเดินต่อไปเรื่อยๆข้ามถนนวิภาวดีรังสิต เดินเลยหลักสี่พลาซ่าในปัจจุบันไปอีก

เส้นทางถนนแจ้งวัฒนะช่วงนั้นในยุคนั้นมีโรงงานอยู่หลายแห่ง จำได้ว่ามีโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานโฟร์โมสต์ และอีกหลายโรงงานซึ่งจำชื่อไม่ได้แล้ว สมัยก่อนโรงงานอยู่ในแถบนี้เนื่องจากถือว่าเป็นแถบชานเมือง ที่ดินมีราคาถูก ประชาชนที่อยู่อาศัยยังไม่มากนัก แต่ต่อมาเมื่อเมืองขยายออกไป แจ้งวัฒนะจึงกลายเป็นย่านที่อยู่อาศัยอันหนาแน่น โรงงานต่างๆจึงทยอยย้ายออกไป

เราเดินเข้าร้านโน้นออกร้านนี้ แจกเอกสารขอสปอนเซอร์ไปเรื่อยๆ พวกร้านค้านี่เราไม่ค่อยหวังนักแต่ก็เผื่อฟลุ้ก ที่หวังจะเป็นพวกโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า ร้านค้าบางร้านก็ไล่เราออกมาเพราะว่าไปขอเงินแต่เช้า ยังไม่ทันจะขายของก็โดนขอเงินแล้ว บางคนที่ถือโชคลางจึงไม่ค่อยพอใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่เรานึกไม่ถึงมาก่อน

“ซวยจริงๆ” ไอ้กี้บ่นหลังจากที่โดนไล่ออกมาจากร้านค้าร้านหนึ่งเพราะไปทำลายโชคลาภในยามเช้าของร้านนั้นเข้า “อยู่ดีๆก็ดวงตกต้องมาตะลอนขอสปอนเซอร์ โดนไล่อีกต่างหาก ร้อนก็ร้อนฉิบหาย”

“หิวน้ำจัง” ผมบ่นบ้าง ที่แย่กว่าหิวน้ำก็คือความรู้สึกท้อใจ

เราเดินขอสปอนเซอร์ไปจนสุดตามเส้นทางที่ได้วางแผนเอาไว้ รวมระยะทางกี่กิโลเมตรก็ไม่รู้เหมือนกัน รู้แต่ว่ากว่าจะเสร็จก็บ่าย เสื้อสีขาวกลายเป็นสีตุ่นเพราะเหงื่อผสมกับฝุ่นริมถนน บ่ายวันนั้นหลังจากที่สุดเส้นทางตามที่ได้รับมอบหมายมาจากพี่ตั้วแล้วเราสองคนต่างก็แยกย้ายกันกลับที่พักด้วยความเหน็ดเหนื่อย

ประสบการณ์ครั้งนั้นจะเรียกว่าดีก็ได้ จะเรียกว่าไม่ดีก็ได้ ส่วนที่ดีก็คือได้เรียนรู้ถึงความยากลำบากในการทำงาน วัยนั้นเป็นวัยที่รู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ชีวิตในรูปแบบต่างๆ แม้กระทั่งเรียนรู้ความล้มเหลว แม้จะรู้สึกว่ายากหรือท้อถอยในบางครั้ง แต่โดยรวมแล้วก็ยังถือว่ายังสนุกกับรสชาติของชีวิตอยู่ ส่วนที่ไม่ดีก็คือเสียการเรียน

- - -

เดือนกันยายน

“เอาละ ป้อม ลองทำข้อนี้ให้พี่ดูหน่อย” ผมสั่งงานป้อม ขณะที่ผมสอนหัวข้อสุดท้ายจบและลองทำโจทย์ให้ป้อมดูเป็นตัวอย่างสองสามข้อ จากนั้นจึงบอกให้ป้อมลองทำให้ผมดูบ้างเพื่อทดสอบความเข้าใจ

ป้อมหมุนปากกา เอียงคอ ผมดูปากกาที่หมุนบนปลายนิ้วของป้อมจนเวียนหัวแต่ป้อมก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะจรดปากกาลงบนกระดาษได้เลย

วันนี้เป็นการสอนครั้งสุดท้ายของผมแล้ว และหัวข้อนี้เป็นหัวข้อสุดท้ายที่ผมเตรียมมาสอน ผมสอนป้อมมาได้หกสัปดาห์ มันเป็นช่วงเวลาที่ผมรู้สึกแย่มาก ขณะที่สอนป้อมผมรู้สึกหงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ราวกับว่าต่อมโมโหของผมถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับความเบื่อหน่ายในการเดินทางไกล บางครั้งก็เจอฝน อีกทั้งไม่ได้ค่าสอน จึงทำให้ผมรู้สึกแย่กับการสอนมาก

เรื่องไม่ได้ค่าสอนนั้นทีแรกผมก็ไม่ได้คิดอะไร ถือเสียว่าเป็นความรับผิดชอบที่ควรแสดงออก แต่หลังจากที่เตรียมการสอนมาอย่างดีทุกครั้ง สัปดาห์หนึ่งเตรียมการสอนอยู่หลายวัน รวมทั้งการเดินทางอันแสนไกล อีกทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ เมื่อมาเจอกับอาการเอียงคอ หมุนปากกา และเงียบเป็นเบื้อใบ้ของป้อม มันทำให้ผมหงุดหงิดอย่างบอกไม่ถูก

อดทนเอาไว้ อีกนิดเดียวก็จะหมดเวรกรรมแล้ว...

ผมผ่อนลมหายใจยาวๆ พยายามสะกดอารมณ์อย่างเต็มที่ ไม่แสดงท่าทีอะไรออกไป ไหนๆอีกไม่นานผมก็จะหมดหน้าที่แล้ว มาฉุนเฉียวกับป้อมในตอนนี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ที่จริงแล้วในใจของผมโกรธป้อมมาก

“เอาเถอะป้อม ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นแหละ” ผมพูด พยายามข่มน้ำเสียงอย่างเต็มที่ไม่ให้แสดงอารมณ์ออกมา “นั่นเป็นข้อสุดท้ายแล้วล่ะ วันนี้พอแค่นี้...”

ผมอดคิดไม่ได้ว่าทำไมชีวิตในช่วงนี้จึงมีแต่ความล้มเหลว ขอสปอนเซอร์ก็เหนื่อยเปล่า หาเงินเข้าชมรมไม่ได้สักบาท สอนหนังสือหารายได้พิเศษก็ไม่ได้เงินสักบาทอีกเช่นกัน นอกจากไม่ได้เงินแล้วยังเสียเงินและเสียเวลาไปไม่น้อย

ป้อมหมุนปากกาต่อไปอีกสักครู่ เหมือนกับพยายามคิดอยู่ แต่ในที่สุดป้อมก็วางปากกาลง เงยหน้าจากโจทย์ที่กางอยู่บนโต๊ะ มองหน้าผมด้วยสายตาที่เสียใจ ส่ายหน้าเล็กน้อย คล้ายกับจะบอกผมว่าขอโทษด้วยที่ทำข้อนี้ไม่ได้

สายตาที่ทอแววเสียใจของป้อมทำให้อารมณ์ฉุนเฉียวของผมมลายไปจนสิ้น ที่จริงป้อมกับผมก็ไม่ได้แตกต่างกัน ป้อมก็ล้มเหลว ผมก็ล้มเหลว เราต่างเป็นคนที่ล้มเหลวด้วยกันทั้งคู่

“ครั้งนี้เราคงเจอกันเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว” ผมพูดพร้อมกับปิดหนังสือเรียนลง ผมไม่แน่ใจว่าพ่อของป้อมหาคนสอนแทนผมได้หรือยัง แต่เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงใกล้สอบปลายภาคแล้ว ถึงอย่างไรก็ควรหยุดสอนไปก่อน

เราสองคนสบตากัน ก่อนหน้านี้ผมรู้สึกหงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายตลอดเวลาที่สอน มาถึงตอนนี้แทนที่ผมจะดีใจที่จะเลิกสอนเสียที ผมกลับรู้สึกใจหายเล็กน้อย

ผมมองดูใบหน้าของป้อม พริบตานั้นผมคล้ายกับเห็นเงาของไอ้นัย ไอ้ตี๋ และของตัวผมเองสะท้อนอยู่ในใบหน้าอันอ่อนเยาว์นั้น...

“ก่อนที่เราจะจากกัน พี่มีเรื่องเรื่องหนึ่งที่อยากเล่าให้ป้อมฟัง” ผมพูดช้าๆ พยายามลำดับความคิด มันเป็นความคิดที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันโดยที่ผมไม่ได้เตรียมล่วงหน้าไว้ก่อน

ป้อมมองหน้าผมด้วยสีหน้าคล้ายกับจะถามว่าจะเล่าเรื่องอะไร

“ตอนที่พี่เรียนอยู่ชั้นมัธยม... พี่หมายถึงตอนที่พี่เพิ่งเข้าเรียนชั้นมัธยมต้น... พี่มีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง มันพิการแขนลีบแต่กำเนิดข้างหนึ่ง ตอนที่พวกเราทุกคนเข้ามาเรียนชั้น ม.๑ นั้น แต่ละคนต่างก็เป็นเพื่อนใหม่ซึ่งกันและกัน เพื่อนแขนลีบคนนี้เวลาทำอะไรจะลำบากกว่าคนอื่นเพราะว่ามือใช้การได้เพียงข้างเดียว เพื่อนๆก็ชอบล้อเลียนมันและตั้งฉายาให้เพื่อนแขนลีบคนนี้ว่าไอ้ลีบ...”

ผมมองหน้าป้อม แต่รู้สึกเหมือนกับว่ามองไม่เห็นหน้าป้อมเลยแม้แต่น้อย ที่อยู่เบื้องหน้าของผมกลับเป็นภาพอดีตที่ไหลพรูเข้ามาภาพแล้วภาพเล่า...

“เพื่อนแขนลีบคนนี้เป็นคนยากจน ครอบครัวอยู่ต่างจังหวัด มันต้องมาอาศัยอยู่กับญาติในกรุงเทพฯเพื่อเรียนหนังสือ” ผมเล่า “เมื่อมันถูกล้อ มันก็โกรธ และมักทะเลาะกับเพื่อนๆ ดังนั้นคนที่ไม่ชอบมันจึงมีอยู่ไม่น้อย”

“มาวันหนึ่ง มันได้ทำความผิดเรื่องหนึ่ง ในความคิดของเพื่อนๆแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ร้ายแรง ดังนั้นเพื่อนๆจึงตั้งข้อรังเกียจและไม่มีใครคบหามัน มันจึงกลายเป็นหมาหัวเน่าประจำห้องไป ญาติที่มันอาศัยอยู่ด้วยเมื่อรู้ความผิดของมันก็เฆี่ยนตีมันอย่างหนัก...”

ผมหยุดเล่าเพื่อดูปฏิกิริยาของป้อม เห็นป้อมเบิ่งตามองผม สีหน้าแสดงความอยากรู้ ผมจึงเล่าต่อไป

“เมื่อไม่มีใครคบมัน มันก็ไม่คบกับใคร มันมีชีวิตที่แปลกแยกจากเพื่อนๆ แต่หลังจากเกิดเรื่องร้ายในครั้งนั้นแล้ว พี่สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของมันอย่างหนึ่ง คือมันตั้งใจเรียนมากขึ้น คะแนนของมันดีขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดมันสามารถสอบเทียบ ม.๖ และเข้ามหาวิทยาลัยได้ มันตั้งใจที่จะเป็นครู... ไปเป็นครูในชนบท ดังนั้นจึงเลือกเรียนคณะศึกษาศาสตร์ และมันก็เข้าเรียนได้สมความตั้งใจ...”

ผมมองหน้าป้อมแล้วพูดต่อ

“เพื่อนคนนี้แม้จะมีปมด้อย แม้จะถูกล้อเลียน แม้เพื่อนๆจะรังเกียจไม่คบหา แต่มันก็พยายามเรียนรู้ที่จะอยู่กับปมด้อยและความผิดพลาดในอดีตของมัน มันพยายามสร้างปมเด่นขึ้นมาชดเชย นั่นคือ พยายามเรียนให้ได้ดี...”

ผมหยุดเล่า อดนึกไปถึงไอ้นัยไม่ได้ ไอ้นัยเองก็เป็นเช่นเดียวกันไม่ใช่หรือ มันพยายามเรียนให้ชนะผมเพื่อที่จะชดเชยความรู้สึกด้อยของตนเอง ส่วนผมเองก็พยายามทำอะไรหลายต่อหลายอย่างเพื่อชดเชยความรู้สึกผิดของตนเอง...

“คนเราเมื่อมีปมด้อยก็อาจสร้างปมเด่นขึ้นมาเพื่อชดเชย... อย่างน้อยก็เพื่อชดเชยความรู้สึกของตนเอง การเรียนให้ดีก็ถือเป็นการสร้างปมเด่นอย่างหนึ่ง...” ผมพูด

ผมหยุดคิดนิดหนึ่ง และแล้ว อารมณ์ชั่ววูบทำให้ผมพูดในสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะพูดมาก่อน

“พี่เองก็มีความผิดปกติที่พี่ไม่เคยบอกให้ใครรู้... พี่เองก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ก็เหมือนกับเพื่อนของพี่ที่ต้องเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่กับแขนเพียงข้างเดียว สิ่งที่พี่พยายามก็คือพี่พยายามเรียนให้ดี การที่เรียนดีทำให้สามารถเข้ามหาวิทยาลัยในคณะที่ดีได้ ต่อไปจะได้มีอาชีพที่ดี สักวันหนึ่ง... ใครจะไปรู้... หากว่าพี่หายจากความผิดปกติที่เป็นอยู่นี้ได้ ถึงเวลานั้นหากพี่มีหน้าที่การงานที่ดี ก็คงถือว่าพี่มีชีวิตที่สมบูรณ์พร้อม...

“ป้อมเองก็เหมือนกัน ที่ป้อมเป็นอยู่นี้ป้อมอาจคิดว่าเป็นปมด้อยที่ร้ายแรง... แต่พี่อยากบอกว่าป้อมยังดีกว่าอีกหลายๆคน ป้อมยังดีกว่าเพื่อนพี่คนที่แขนลีบ อาจจะดีกว่าพี่ด้วย... ป้อมยังดีกว่าคนที่ตาบอดสี ตาบอดสีนั้นเรียนหมอก็ไม่ได้ ทำใบขับขี่ก็ไม่ได้ แต่ป้อมยังมีโอกาสที่ดีกว่า การศึกษาจะช่วยชดเชยปมของป้อมได้...

“สักวันหนึ่ง ป้อมอาจจะหายจากอาการที่เป็นอยู่นี้ก็ได้ หากป้อมหายได้ แล้วป้อมเรียนดี มีหน้าที่การงานดี มีชีวิตที่ดี ถึงตอนนั้นชีวิตของป้อมก็สมบูรณ์พร้อม แต่ถ้าป้อมยังเป็นอยู่แบบนี้ เรียนก็ไม่ไหว อีกหน่อยก็ไม่รู้จะไปทำงานอะไร สักวันหนึ่งที่ป้อมอาจหายขึ้นมา ถึงตอนนั้นหากป้อมไม่ได้เตรียมตัวอะไรเอาไว้เลย... แทนที่จะมีชีวิตที่สมบูรณ์พร้อม ชีวิตของป้อมก็คงอยู่ในความมืดมน แม้ป้อมนึกเสียใจแต่หากถึงตอนนั้นมันก็คงสายไปแล้ว...”

ผมพรั่งพรูคำพูดออกมาภายในอึดใจเดียว ป้อมมองผมด้วยสายตาแปลกๆ ผมอ่านความรู้สึกจากสีหน้าของป้อมไม่ออก แต่ไหนๆเมื่อพูดไปแล้วผมก็อยากพูดให้จบ

“พี่อยากให้ป้อมลองหาปมเด่นของตนเองดู อะไรก็ได้ เรื่องเรียนก็ได้ เรื่องว่ายน้ำก็ได้ พี่ไม่อยากเห็นป้อมเป็นแบบนี้ไปจนโตทั้งๆที่ป้อมมีโอกาสและมีความสามารถ ป้อมยังทำอะไรได้อีกมากเพียงแต่ป้อมต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ไม่ใช่ปล่อยให้มันทำลายป้อม...”

ป้อมเลิกคิ้ว มองหน้าผม เดาไม่ออกว่าสีหน้าของป้อมต้องการสื่อความหมายอะไร ป้อมอาจจะโกรธผมก็ได้ที่พูดถึงปมด้อยของตนเอง แต่ถึงจะโกรธมันก็คงไม่สำคัญแล้ว

“พี่ไปละนะป้อม” ผมปิดการสนทนา เมื่อได้พูดออกไปแล้วก็รู้สึกสบายใจ

หลังจากนั้นผมไปลาพ่อของป้อม พ่อของป้อมทำสิ่งที่ผมนึกไม่ถึงมาก่อน นั่นคือ ส่งซองให้ผมซองหนึ่ง

ผมรับซองมาเปิดดู เห็นภายในมีธนบัตรในละห้ารอยบาทกับร้อยบาทอยู่หลายฉบับ

“นี่ค่าสอนของอู” พ่อของป้อมพูด “ทั้งหมดหกครั้ง เป็นเงิน ๒,๔๐๐ บาท ต้องขอบใจอูมากที่พยายามช่วยน้อง”

“เอ้อ...” ผมรู้สึกกระดากที่จะรับเงิน เพราะว่าได้พูดไปแล้วว่าจะไม่รับเงินค่าสอน

“รับไปเถอะ อูสมควรได้รับ ไม่ต้องเกรงใจไป” พ่อของป้อมยืนกราน

ในเมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงรับซองเอาไว้ ขืนหน้าบางเกินไปพอดีอดตาย เงินก้อนนี้ถือเป็นเงินก้อนแรกในชีวิตที่ผมหามาได้จากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง แม้ว่ามันจะไม่ใช่เงินจำนวนมากแต่ก็มีค่าทางใจสำหรับผมมากทีเดียว

Sunday, September 11, 2011

ภาคสี่ ตอนที่ 44

“แฮ่...”

“อุ๊ย...”

จุ๋มร้องอุทานเบาๆเมื่อได้ยินเสียงคำรามของผม ผมเห็นเธอที่ป้ายรถเมล์หน้าตลาดสามย่านในตอนเย็นวันหนึ่ง จึงย่องเข้าไปข้างหลังเธอพร้อมกับส่งเสียง จุ๋มหันมาดู เมื่อรู้ว่าเป็นผมเธอก็หัวเราะ

“แหม... พี่อูนี่เอง เมื่อกี้ได้ยินเสียงพี่อูเสียวน่องวาบเลย” เธอพูด

“นี่คนนะ ไม่ใช่หมา” ผมท้วง “ทำไมต้องเสียวน่องด้วย”

“ก็เสียงของพี่อูเหมือนมากเลย จริงๆนะ” จุ๋มพูด ทำสีหน้าจริงจัง “ระวังเถอะ ทำแบบนี้บ่อยๆอีกหน่อยหน้าตาจะพลอยเหมือนไปด้วย”

“เอ้อ พี่ว่าเราพูดเรื่องอื่นกันดีกว่ามั้ง” ผมรีบเปลี่ยนเรื่อง “ขืนพูดต่อพี่มีหวังขาดทุน”

“หมู่นี้ไม่ค่อยเห็นพี่อูมาขึ้นรถเลย ไม่ค่อยได้กลับบ้านหรือไง” จุ๋มถาม

“คิดได้ไงเนี่ย ไม่กลับบ้านแล้วจะไปนอนที่ไหน” ผมหัวเราะ “ช่วงนี้พี่กลับค่ำต่างหากล่ะ”

“อ้อ คงเล่นหนัก” จุ๋มถามอีก

“นี่จุ๋มจะมองพี่ในแง่ดีบ้างได้ไหม” ผมแกล้งโวย “ทำไมไม่คิดว่าพี่เรียนหนักบ้างล่ะ”

“ก็หน้าพี่ไม่เหมือนกับเป็นเด็กเรียนเลยนี่” จุ๋มพูดแล้วก็เม้มปากกลั้นหัวเราะ “เอาละๆ ไม่แกล้งพี่อูแล้ว เชื่อแล้วว่าพี่อูเรียนหนัก”

“เปล่าหรอก” ผมสั่นหัว “ที่จุ๋มพูดก็ถูกแล้ว ที่กลับบ้านช้าก็ไม่ใช้เพราะเรื่องเรียนหรอก มัววุ่นกับเรื่องการขอสปอนเซอร์ทำค่ายน่ะ”

“อ้อ พี่อูอยู่ชมรมค่าย” จุ๋มพูดเหมือนกับแปลกใจ

“ก็ไม่เชิง ไปหาอะไรกินกันก่อนไหมล่ะ จะได้เล่าให้ฟัง” ผมชวน “ยืนคุยแล้วเมื่อย”

“พี่เลี้ยงนะ” จุ๋มทำตาโต ผมรู้ดีว่าเธอต้องการจะล้มทับผม

“เลี้ยงก็ได้ งบ ๒๐ บาท” ผมตอบ

“ฮึ” จุ๋มร้อง “ เหนียวจริงๆเลย”

จากนั้นเราสองคนจึงเดินขึ้นไปบนชั้นสองของตลาดสามย่าน สั่งน้ำและขนมมากินกัน ผมได้เล่าให้จุ๋มฟังเกี่ยวกับโครงงานค่ายอาสาและเรื่องการสอนพิเศษของผม

“พี่อูเจออะไรเด็ดๆทั้งนั้นเลยนะ” จุ๋มพูดพลางหัวเราะ “เรื่องสปอนเซอร์นี่จุ๋มไม่เคยขอ เลยไม่มีประสบการณ์”

“นั่นน่ะสิ เจอแต่เรื่องยากๆ” ผมเห็นด้วย “คนอื่นสอนพิเศษก็ไม่เห็นเจองานยากๆแบบพี่”

“ถ้ามาเรียนไวโอลินกับจุ๋มนะ ง่ายเลย” จุ๋มหัวเราะอย่างอารมณ์ดี “ไม่พูดก็ไม่เป็นไร สีไปเรื่อยๆก็ใช้ได้แล้ว”

“แล้วพวกนักศึกษาดนตรีนี่มีสอนพิเศษดนตรีบ้างไหม” ผมอยากรู้ นักศึกษาสายวิทย์สอนคณิต ฟิสิกส์ สายมนุษยศาสตร์ก็สอนพิเศษภาษาต่างประเทศ สายศิลปศาสตร์ก็น่าจะมีสอนดนตรีกันบ้าง

“ฮื่อ” จุ๋มพยักหน้า “หลายคนก็สอน ทั้งดนตรีไทย ดนตรีสากล แต่พวกสอนเปียโนขายดีหน่อย”

“แล้วจุ๋มล่ะ” ผมถามต่อด้วยความสนใจ “สอนดนตรีหรือเปล่า”

“เปล่าค่ะ” จุ๋มส่ายหน้า

“ทำไมไม่สอนล่ะ จะได้มีรายได้เพิ่ม” ผมพูด “คนเรียนไวโอลินก็คงพอมีละน่า”

“จุ๋มไม่ค่อยมีเวลา” จุ๋มตอบ

“คนอื่นเรียนเหมือนจุ๋มยังมีเวลาไปสอนได้ แล้วทำไมจุ๋มไม่มีเวลาล่ะ ขี้เกียจมากกว่าละมั้ง” ผมแหย่

“...” จุ๋มมีสีหน้าสลดลงทันที “เปล่าขี้เกียจนะ”

ผมรู้สึกเอะใจ นี่ผมคงพูดอะไรผิดไปอีกแล้ว ปากพาจนจริงๆ

“เอ้อ... แต่ก็ดีเหมือนกัน จะได้มีเวลาฝึกซ้อมมากหน่อย” ผมพยายามพูดกลบเกลื่อน ผมรู้จากพี่เหล่งว่านักศึกษาดนตรีต้องสอบปฏิบัติเครื่องดนตรีด้วย ดังนั้นการฝึกซ้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญ การมีเวลาฝึกซ้อมก็ทำกับเพิ่มความชำนาญและโอกาสในการทำคะแนน จากนั้นก็เปลี่ยนไปคุยกันในเรื่องอื่น

เรามีเวลากินขนมไม่มากนักเพราะผมรู้ว่าจุ๋มรีบกลับ จึงไม่อยากชวนคุยนาน หลังจากที่กินขนมเสร็จเราสองคนก็กลับไปที่ป้ายรถเมล์ และจุ๋มก็ขึ้นรถเมล์กลับไปก่อนเช่นเคย

- - -

“ท่านสมาชิก” พี่ตั้วพูดด้วยมาดราวกับกำลังประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมสตาฟชมรมในตอนเย็นวันหนึ่ง

“ว่าไงท่านประธาน” ไอ้กี้ทำเสียงล้อเลียนเบาๆ

“ผลจากการขอสปอนเซอร์ในช่วงที่ผ่านมา ปรากฏว่าเราไม่สามารถหาทุนมาเพื่อทำโครงการห้องสมุดได้เลย” พี่ตั้วแถลงพร้อมกับวางมาดเท่ ไม่สนใจเสียงล้อเลียนของรุ่นน้อง

“มันเป็นความไร้ประสิทธิภาพของท่านประธาน เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านประธานควรลาออกไป” ไอ้กี้กวน “แล้วเราก็เลือกประธานคนใหม่ที่มีความสามารถมากกว่านี้”

“ไอ้หอก ถ้ามึงคิดว่าทำได้ดีกว่าก็ลองมาทำดูสิ” พี่ตั้วสวน สงสัยว่าคำพูดไอ้กี้คงจี้ใจดำ

“เอาเถอะๆ น้องไม่แย่งพี่หรอกครับ เชิญท่านประธานทำงานต่อไปเถอะ” ไอ้กี้หัวเราะจนตาหยี พลางหันมากระซิบกับผม “เฮ้ย ยัวะแล้วโว้ย ฮ่าๆ”

“เราต้องเปลี่ยนแผน” พี่ตั้วพยายามระงับอารมณ์ “ต้องหาวิธีใหม่ในการขอสปอนเซอร์”

“แล้วจะทำยังไง” สมาชิกพากันถาม

“ผมมาวิเคราะห์ดูแล้ว ความผิดพลาดของเราก็คือไปขอตามรายชื่อพวกนั้น” พี่ตั้วพูด “รายชื่อพวกนั้นเป็นพวกที่โดนขอมาจนพรุนแล้ว เราต้องเปลี่ยนเป้าหมายและเปลี่ยนวิธีการด้วย... ด้วยการไปเปิดบริสุทธิ์บริษัทห้างร้านใหม่ๆ”

พวกรุ่นน้องพากันฮือฮากับความคิดอันบรรเจิดของพี่ตั้ว จากนั้นก็พากันซักถึงรายละเอียดในวิธีการปฏิบัติ

“พวกเราก็ไม่ต้องหาสปอนเซอร์ตามรายชื่อ แต่เราจะใช้วิธีเดินหาสปอนเซอร์ดะ เข้าร้านต่อร้านไปเลย” พี่ตั้วตอบ “และต้องไปหาสปอนเซอร์ในพื้นที่ที่คนอื่นยังไม่ไปกัน”

ความคิดของพี่ตั้วก็คือการเดินหาสปอนเซอร์แบบเหวี่ยงแหนั่นเอง เดินเข้าไปขอทุกร้านตั้งแต่หัวถนนยันท้ายถนนทำนองนั้น เมื่อพวกเราได้ยินก็เกิดปฏิกิริยาขึ้นทันที

“แล้วต้องเดินกันกี่ร้อยกี่พันร้านกว่าจะได้”

“อายเค้าตายห่า แบบนี้ไม่ไหวโว้ย”

“ถ้างั้นชมรมซื้อรองเท้าผ้าใบแจกหน่อยได้ไหม สงสัยรองเท้าคงสึกหลายคู่แน่เลย”

ความคิดที่ทุกคนรุมประณามในตอนแรก สุดท้ายทุกคนก็เห็นตรงกันว่าหากต้องการเงินทุนมาทำโครงงาน คงไม่มีวิธีใดที่ดีกว่านี้อีกแล้ว ในที่สุดพวกเราก็คุยกันในรายละเอียดและแบ่งงานกัน

- - -

“ป้อม... ดูสิ... วันนี้พี่มีอะไรมาฝากป้อมด้วย...” ป้อมเปิดประตูหน้าบ้านออกมาพร้อมกับยกมือไหว้ผม
ผมรับไหว้พร้อมพูดเสียงขาดห้วงเพราะความเหนื่อย

ป้อมมองของที่อยู่ในมือผม มันเป็นถุงกระดาษใส่ของกินที่ยับยู่ยี่ใบหนึ่ง เมื่อผมออกจากหอพัก บังเอิญเห็นรถขายขนมไทยผ่านหน้าหอพักไปพอดี มันเป็นรถจักรยานสามล้อที่ดัดแปลงเป็นแผงขายขนมไทยเคลื่อนที่ ภายในตู้กระจกบนรถสามล้อมีขนมไทยพวกทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ตะโก้ ข้าวเหนียวสังขยา ขนมเปียกปูน ฯลฯ รถสามล้อขายขนมไทยแบบนี้สมัยก่อนเป็นที่นิยมกันมาก มีนายทุนออกขนมและรถเข็นให้ ใครที่อยากมีรายได้ก็มารับรถพร้อมขนมไปขาย รสชาติก็พอกินได้ สมัยนี้ก็ยังพอมีอยู่

ผมเห็นขนมไทยพวกนี้ดูน่ากินดี ผมอยากหาของฝากติดมือไปให้ป้อมบ้าง แม้ไม่แน่ใจนักว่าเด็กที่มีฐานะอย่างป้อมจะกินของที่ซื้อจากข้างถนนแบบนี้หรือเปล่าแต่ก็อยากลองดู เมื่อซื้อมาแล้วก็ถือถุงอยู่ในมือไปตลอดทาง จนเมื่อเข้าสู่ย่านพระโขนง ฝนก็เริ่มโปรยปราย เมื่อผมลงจากรถเมล์ก็ตัดสินใจวิ่งฝ่าฝนเป็นระยะทางประมาณครึ่งกิโลเมตรไปยังบ้านป้อม ที่ไม่ยอมหยุดรอเพราะเกรงว่าหากฝนไม่ซาแต่กลายเป็นตกหนักแล้วผมจะไปสอนสาย จึงได้ตัดสินใจวิ่ง เมื่อถึงบ้านผมเหนื่อยแทบขาดใจพร้อมกับเสื้อผ้าเปียกปอนไปหมด ถุงใส่ขนมก็ยู่ยี่เพราะเปียกน้ำและเพราะถูกเหวี่ยงไปมาขณะที่ผมวิ่ง

ป้อมรับถุงขนมพร้อมกับส่งเสียงหัวเราะฮึๆในลำคอ เมื่อผมเข้าไปในบ้าน ป้อมก็หายตัวไปสักพักหนึ่ง จากนั้นก็กลับมาใหม่พร้อมกับเสื้อยืดและผ้าขนหนู

“ขอบใจนะป้อม” ผมถอดเสื้อยืดที่เปียกฝนออกและเปลี่ยนเป็นเสื้อยืดที่ป้อมจัดมาให้ พร้อมกับอดนึกไม่ได้ว่าขนมของผมอาจจะได้ผล เพราะดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ของเราดูเหมือนจะดีขึ้นบ้าง สังเกตได้จากการที่ป้อมจัดหาเสื้อกับผ้าขนหนูมาให้

“ป้อมเป็นนักกีฬาว่ายน้ำด้วยเหรอ” ผมถามด้วยความสงสัย เพิ่งสังเกตเห็นในตู้หนังสือข้างๆโต๊ะที่เราเรียนพิเศษกันอยู่นั้นมีภาพขนาดจัมโบ้ใส่อยู่ในกรอบรูป มันซุกอยู่ที่มุมตู้ ครั้งก่อนๆผมจึงไม่ได้สังเกต มันเป็นภาพของป้อมในชุดวอร์ม ยืนอยู่บนแท่นรับรางวัลข้างสระว่ายน้ำ “อ๊ะ เหรียญทองเสียด้วย”

“ป้อมได้เหรียญนี้ตอนปีไหน” ผมถาม คิดว่าไม่ใช่รูปปัจจุบันเพราะในรูปป้อมดูเด็กกว่าตอนนี้

ป้อมชูสองนิ้ว

“ม.สอง” ผมเดา ป้อมพยักหน้า

“เก่งจัง พี่ไม่เคยได้อะไรสักเหรียญ” ผมชม “แล้วตอนนี้ยังแข่งอยู่หรือเปล่า”

ป้อมส่ายหน้า

“แล้วยังว่ายน้ำอยู่หรือเปล่า” ผมพยายามชวนคุย

ป้อมส่ายหน้าอีก

“เอ้อ...” ผมแอบถอนหายใจกับเกมยี่สิบคำถาม “พี่ว่าเรามาเข้าบทเรียนกันดีกว่า”

หลังจากที่เราเริ่มเข้าสู่บทเรียน ป้อมก็ทำให้ผมเซ็งสุดขีดอีก

เพื่อเงิน อดทนไว้ เพื่อเงิน อดทนไว้... ผมพูดกับตนเองในใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แต่เมื่อถึงท้ายชั่วโมงของการสอน ในที่สุดความอดทนของผมก็พังทลาย

ครั้งนี้เป็นการสอนครั้งที่สาม หากผมอดทนสอนไปเรื่อยๆผมก็คงมีรายได้เดือนละ ๑,๖๐๐ บาทไปเรื่อยๆ แต่ตอนนี้ผมคิดว่าผมไม่ไหวแล้ว...

“เอาละ วันนี้เราพอกันแค่นี้” ผมพูดพลางปิดหนังสือเรียนคณิตศาสตร์ลง ป้อมก็ปิดสมุดจดตามบ้าง

“ป้อม...” ผมเรียกป้อม เรียกแล้วก็หยุดไป กำลังคิดอยู่ว่าจะพูดอย่างไรให้ฟังแล้วดีที่สุด

ป้อมเงยหน้าขึ้นมองผม

“พี่คิดว่า... อยากให้คุณพ่อป้อมหาคนมาสอนป้อมแทนพี่น่ะ” ผมพยายามพูดเพื่อรักษาน้ำใจของป้อม รู้สึกเห็นใจเด็กคนนี้อยู่เหมือนกัน แต่ผมไม่ถนัดกับการสอนที่ไม่มีการตอบสนองเลยจริงๆ ผมเพิ่งสำนึกในวันนี้เองว่าการเป็นครูนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนที่ผมเป็นนักเรียน พออาจารย์หันหน้าเข้ากระดานพวกเราก็แอบเล่น แอบทำอย่างอื่น อาจารย์ถามก็ไม่ตอบ หรือตอบไม่ได้ หรือตอบแบบขอไปที ผมไม่เคยรู้เลยว่าอาจารย์รู้สึกอย่างไรบ้าง... จนกระทั่งวันนี้...

ป้อมมองผมด้วยสี่หน้าราบเรียบ ไม่มีท่าทีตกใจเลยแม้แต่น้อย ท่าทีของป้อมทำให้ผมคาดเดาอะไรได้เรื่องหนึ่ง แม้ว่าพ่อของป้อมจะไม่เคยพูดกับผมเกี่ยวกับนักศึกษาคนก่อนๆที่เคยสอนพิเศษแก่ป้อมก็ตาม แต่ผมเดาได้ว่าป้อมคงเปลี่ยนคนสอนมาแล้วนับไม่ถ้วน

“พี่ผิดเองแหละที่สอนป้อมต่อไปไม่ได้ทั้งๆที่เพิ่งมาสอนได้เพียงสามครั้ง ดังนั้นฝากบอกคุณพ่อป้อมด้วยว่าพี่ไม่ขอรับค่าสอน และพี่จะมาสอนป้อมต่อไปอีกสักสองหรือสามครั้ง รอให้ป้อมหาคนสอนใหม่ได้ก่อนแล้วพี่ค่อยไป แต่คราวนี้คุณพ่อป้อมคงต้องหานักศึกษาเอง เพราะในหมู่เพื่อนๆที่พี่รู้จักก็ไม่ใครที่ต้องการสอนพิเศษ พี่เลยไม่รู้จะหาใครมาแทนให้”

ผมพูดเองเออเองเพราะรู้ดีว่าจะถามอะไรป้อมก็คงไม่ตอบ จึงชงเรื่องเองทั้งหมด

- - -

“เฮ้ย นี่มันอะไรกันวะ” ไอ้กี้เอะอะโวยวาย “ความคิดของใครวะเนี่ย”

ความวุ่นวายอลเวงเกิดขึ้นในชมรมในตอนเย็นวันหนึ่ง... หลังจากการจับฉลากเลือกพื้นที่ที่จะไปเหวี่ยงแหขอสปอนเซอร์ การขอสปอนเซอร์นี้จะแบ่งกลุ่มกัน กลุ่มละสองคน แล้วจับฉลากเลือกพื้นที่ซึ่งมีอยู่ ๖ พื้นที่ แน่นอน ผมหนีไม่พ้นต้องจับคู่กับไอ้กี้

“ได้ที่ไหนวะ” ผมชะโงกหน้าดูข้อความที่เขียนอยู่ในฉลากอยู่ในมือไอ้กี้ “ถนนแจ้งวัฒนะ”

ตอนนั้นผมยังไม่รู้เลยว่าถนนแจ้งวัฒนะอยู่ที่ไหน แต่ฟังดูแล้วคงไม่ใช่พื้นที่ในเมือง บางคนก็โวยเพราะจับได้ถนนสุขาภิบาล ๑ ฟังดูยิ่งชนบทเข้าไปใหญ่

พวกปีสามกับปีสี่ช่วยกันเลือกพื้นที่ ส่วนปีหนึ่งกับปีสองเป็นฝ่ายปฏิบัติการ ความคิดของพวกรุ่นพี่ก็คือพื้นที่ในเมืองคงโดนขอสปอนเซอร์จนพรุนไปหมดแล้ว ดังนั้นจึงไปเลือกพื้นที่ชานเมืองเป็นเป้าหมายแทน

“ไอ้บั้ว” ไอ้กี้บ่น ไอ้บั้วก็หมายถึงไอ้บ้านั่นเอง แต่สุภาพกว่า ไอ้กี้ใช้ด่าในบางครั้ง ใครคิดศัพท์คำนี้ก็ไม่รู้เหมือนกัน “ฟังชื่อถนนยังกะทำนาเลี้ยงควายกัน ทำไมไม่ไปขอที่สุพรรณฯเลยวะ”

“พูดเกินไป ไอ้กี้” พี่ตั้วโต้บ้าง “รายชื่อถนนที่ให้ไปน่ะมีห้าง ร้าน โรงงาน ตั้งอยู่ทั้งนั้น ไม่ได้ให้นายไปไถนาโว้ย... ถึงแม้จะรู้ว่านายถนัดไถนาก็ตาม”




<สภาพถนนสุขุมวิทในย่านเพลินจิต เพลินจิตเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯมานานแล้ว ในยุคนั้นมีทั้งอาคารสำนักงานและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอยู่อย่างครบครัน มีทั้งห้างสรรพสินค้า ชื่อห้างบิ๊กเบล (ปัจจุบันเลิกกิจการไปนานแล้ว) ร้านอาหาร โรงเรียนสอนภาษา ธุรกิจรับแปลเอกสาร อพาร์ตเมนต์ให้เช่า ฯลฯ ในภาพเป็นย่านเพลินจิตในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ แม้ไม่ใช่เป็นปีที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยแต่สภาพก็ใกล้เคียงกัน>

ภาคสี่ ตอนที่ 43

ในวันศุกร์นั้นเองผมก็ได้เข้าไปเที่ยวในดิสโก้เธคเป็นครั้งแรกในชีวิตหลังจากที่เคยได้ยินเพื่อนๆคุยให้ฟังมาตั้งแต่สมัยที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย แต่ส่วนใหญ่เพื่อนๆมักพูดกันถึงนาซ่าหรือเดอะพาเลส

วันนั้นพี่อี๊ดกับกลุ่มพวกเราชั้นปีสองรวมกันห้าหกคนนั่งเล่นอยู่ในห้องพักนักศึกษาในแผนกจนเย็น จากนั้นจึงออกไปกินอาหารที่ตลาดสามย่าน กว่าจะกินเสร็จก็ราวๆตอนค่ำ จากนั้นผมก็เปลี่ยนเสื้อเป็นเสื้อยืด และพวกเราก็อัดกันไปในรถของพี่อี๊ดมุ่งไปยังโรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท การนั่งรถอัดกันเป็นปลากระป๋องนี่แม้ว่าจะร้อนแต่ก็สนุกไปอีกแบบ โดยยุคนั้นรถเก๋งที่เป็นรถบ้านติดครื่องปรับอากาศกันแล้วเป็นส่วนใหญ่ ส่วนรถแท็กซี่มีทั้งที่ติดแอร์กับที่ยังเปิดหน้าต่างขับอยู่ รถพี่อี๊ดนั้นเป็นรถเก๋งติดแอร์

กว่าจะไปถึงโรงแรมก็ประมาณสองทุ่ม หลังจากที่จอดรถแล้วพี่อี๊ดก็เดินนำพวกเราไปตามทางเดินในโรงแรมอย่างคุ้นเคย จากนั้นก็ไปหยุดยืนที่หน้าประตูบานหนึ่ง มันคือทางเข้าฟลามิงโกนั่นเอง

เมื่อพวกเราเข้าไปข้างใน บรรยากาศก็เปลี่ยนไปในทันทีทันใด จากแสงไฟสีเหลืองนวลเย็นตาที่ส่องสว่างตามทางเดินในโรงแรมกลายเป็นแสงไฟหลากสีส่องวับๆแวมๆ มืดบ้าง สว่างบ้าง คละเคล้าด้วยควันบุหรี่และเสียงดนตรีที่บรรเลงในจังหวะกระแทกกระทั้น พร้อมกับเสริมความมันด้วยการเร่งเสียงจนสนั่น ทำให้เสียงเบสที่มีความถี่ต่ำมีกำลังกระแทกเข้าที่หน้าอกนักเที่ยวจนหัวใจสั่นราวกับจะเต้นตามจังหวะเพลงไปด้วย

“โห นึกว่าควันน้ำแข็งแห้ง ที่แท้ก็ควันบุหรี่” ผมพูดเปรยๆ รู้สึกว่าควันบุหรี่ฉุนจนแสบตาและแสบจมูกไปหมด

“เธคมันก็ยังงี้แหละ” พิมพ์หันมาพูดกับผม ในยุคนั้นยังไม่มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในห้องอาหาร ผับ บาร์ ดังเช่นในสมัยนี้ นักเที่ยวจึงสูบบุหรี่กันในเธคได้ตามสบาย

ผมสังเกตเห็นผู้ที่มาเที่ยวที่นี่ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน พี่อี๊ดเล่าให้ฟังว่าที่นี่เล็กกว่าที่นาซ่าและไม่แออัดเท่า นักเที่ยวเป็นคนละกลุ่มกัน กลุ่มนักเที่ยวนั้นถูกแบ่งด้วยราคา ที่นาซ่าเป็นแนววัยรุ่นที่ชอบความคึกคักพลุกพล่าน และค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก

วันนั้นเป็นวันศุกร์อันเป็นวันทำงานสุดท้ายของสัปดาห์ จึงมีนักเที่ยวมาเที่ยวเป็นจำนวนมากจนสถานที่ดูแออัด แสงไฟวับแวมหลากสีส่องเข้าตาจนตาลายไปหมด

พวกเราถูกพามานั่งที่ชุดรับแขกเล็กๆ จากนั้นก็สั่งเครื่องดื่มหรือที่เรียกว่าดริ๊งก์ คราวนี้ผมเข็ดตอร์ปิโดแล้ว ไม่อยากโดนหามกลับอีก จึงสั่งพวกเครื่องดื่มที่ไม่แรงนัก แทน ส่วนพวกเพื่อนๆและพี่อี๊ดก็สั่งกันตามอัธยาศัย หลังจากที่สั่งเครื่องดื่มแล้วพี่อี๊ดก็ชวนน้องๆ

“ไป ออกไปดิ้นกัน” พี่อี๊ดพูด

หลายคนขยับเตรียมจะลุกจากที่นั่งไปดิ้นในฟลอร์ ส่วนผมยังทำอะไรไม่ถูก

“ไอ้อู ออกไปด้วยกัน เร็วๆ” พิมพ์เรียกผมพลางฉุดมือผมให้ลุกจากที่นั่ง

“เดี๋ยวก่อน ขอดูลาดเลาก่อน ยังเต้นไม่เป็น” ผมพูด

“โอ๊ย จะไปยากอะไร อาบน้ำได้ก็ออกไปดิ้นได้” พี่อี๊ดพูด “สิบตาเห็นไม่เท่าทำเอง ออกไปเลย”

“ยังไงพี่” ผมงง “เกี่ยวอะไรกับอาบน้ำ”

“อ้าว ก็เวลาอาบน้ำก็ต้องเช็ดตัวใช่ไหม เวลาเต้นก็ทำเหมือนกับถือผ้าเช็ดตัวล่องหนนั่นแหละ” พี่อี๊ดสรุปพร้อมกับทำท่าเช็ดตัวด้วยผ้าเช็ดตัวล่องหนให้ดู “ยังงี้ ยังงี้ ยังงี้”

ในที่สุดคืนนั้นผมก็ได้ประสบการณ์ในการเต้นดิสโก้เป็นครั้งแรกด้วยท่าเช็ดตัวขัดขี้ไคล เต้นมั่วไปเรื่อย ก็สนุกดีเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อไปกับกลุ่มเพื่อนฝูง สถานที่แบบนี้คงไม่มีใครอยากไปคนเดียวเป็นแน่

กว่าจะออกจากฟลามิงโกก็เกือบๆเที่ยงคืน ผมกลับถึงหอพักราวๆตีหนึ่งด้วยอาการมึนๆ ไม่แน่ใจว่าอาการมึนนี้มาจากเครื่องดื่มหรือมึนควันบุหรี่กันแน่ หรืออาจจะเป็นจากทั้งสองอย่างก็ได้ หลังจากที่หารค่าใช้จ่ายกันแล้วจำได้ว่าผมจ่ายไปประมาณ ๔๐๐ บาท รวมกับค่าแท็กซี่ขากลับอีกรวมแล้วก็ราวๆ ๕๐๐ บาท ซึ่งก็ถือว่ามากพอดูสำหรับผมเนื่องจากผมจ่ายค่ารถกับค่าอาหารตอนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเพียงวันละไม่ถึง ๕๐ บาท ค่าเที่ยวครั้งหนึ่งเท่ากับค่าใช้จ่ายในชีวิตวันเรียนถึงสองสัปดาห์ทีเดียว

- - -

ผลจากการเที่ยวในครั้งนั้นทำให้ผมตัดสินใจทนสอนป้อมต่อไป เพราะมาคิดดูแล้วหากจะกินและเที่ยวกับเพื่อนกลุ่มนี้ต่อไปผมคงต้องมีรายได้เพิ่ม ไม่อย่างนั้นคงไม่พอ แม้ว่าตอนนั้นผมจะยังไม่ได้รับค่าสอนพิเศษเนื่องจากเพิ่งสอนไปเพียงครั้งเดียว แต่ผมก็เริ่มเรียนรู้แล้วว่าเงินนั้นมีความสำคัญอย่างไร และบางครั้งคนเราก็อาจต้องทำในสิ่งที่ไม่เต็มใจนักเพื่อให้ได้เงินมา

วันเสาร์ต่อมาผมจึงไปสอนป้อมอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ทดลองเดินทางด้วยเส้นทางใหม่ โดยเดินจากหอพักไปทางสี่แยกที่ถนนลาดพร้าวตัดกับถนนรัชดาภิเษก แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปในถนนรัชดาภิเษก สี่แยกลาดพร้าวตัดกับรัชดาภิเษกก็คือสี่แยกที่ปัจจุบันเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินนั่นเอง ตอนนั้นยังเป็นสี่แยกที่ไม่มีสะพานลอยข้ามแยก (สะพานลอยข้ามแยกดูเหมือนจะมีใช้ในอีกสามปีต่อมา) เมื่อเลี้ยวซ้ายเข้าถนนรัชดาภิเษกเดินไปเพียงนิดหน่อย ยังไม่ทันถึงปั๊มน้ำมันเชลล์ ก็มีป้ายรถเมล์แล้ว แต่ปัจจุบันป้ายรถเมล์ย้ายออกไปไกลจากสี่แยกมาก อยู่เลยตึกโอลิมเปียไปอีก

ผมขึ้นรถจากถนนรัชดาภิเษกเพื่อไปลงที่ปากซอยสุขุมวิท ๒๑ (ซอยอโศก) จากนั้นขึ้นรถเมล์ต่อไปยังซอยสุขุมวิท ๑๐๑ อีกทีหนึ่ง บังเอิญโชคร้าย วันนั้นฝนตกหนัก การจราจรในถนนสุขุมวิทช่วงเช้าวันเสาร์จึงติดหนัก ผมไปถึงบ้านของป้อมในสภาพที่เนื้อตัวเปียกปอนราวกับตกน้ำ การเดินทางในวันนี้สาหัสกว่าครั้งก่อนมาก

หลังจากที่กดออด ป้อมออกมาเปิดประตู เมื่อป้อมเห็นสภาพของผมก็ทำสีหน้าอมยิ้ม แต่ก็ไม่พูดอะไรสักคำ ผมนึกอยากเขกหัวป้อมมากแต่ก็พยายามยั้งใจเอาไว้

วันนั้นพ่อของป้อมอยู่บ้าน พ่อของป้อมใจดีเอาผ้าขนหนูให้เช็ดตัว พร้อมกับหาเสื้อยืดมาให้ผมใส่ชั่วคราว และให้เอาเสื้อของผมไปผึ่งลม พ่อของป้อมได้เรียกผมเข้าไปคุยเป็นการส่วนตัว พร้อมกับเล่าให้ฟังว่าป้อมมีอาการผิดปกติเรื่องเสียง

“ป้อมมีความผิดปกติเกี่ยวกับเส้นเสียง จึงทำให้เสียงเป็นแบบนี้ อยู่ที่โรงเรียนก็โดนล้อมาตั้งแต่เด็ก ก็เด็กละนะ คนล้อบางทีก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่คนถูกล้อก็อายและคิดมาก” พ่อพูด “ตอนเข้าวัยรุ่น เด็กผู้ชายคนอื่นเค้าเสียงแตกกัน ป้อมก็ยังเสียงเล็กเหมือนเสียงแมวอยู่ ยิ่งทำให้ป้อมรู้สึกอายและเป็นปมด้อยมากขึ้น ทำให้เป็นคนไม่ค่อยชอบพูด”

“ครับ” ผมได้แต่รับคำเพราะไม่รู้ว่าจะพูดอะไรดี

“การเรียนของป้อมไม่ค่อยดีนัก” พ่อพูดต่อ” คิดว่าส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะป้อมไม่พูด ไม่ถาม อะไรที่เรียนไม่รู้เรื่องก็เลยไม่รู้เรื่องอยู่อย่างนั้น ทำให้เรียนไม่ทันเพื่อนๆ”

“ป้อมก็เรียน ม.๔ แล้ว ผมว่าพอโตขนาดนี้แล้ว เพื่อนๆไม่ค่อยล้อปมด้อยกันแล้วละครับ” ผมพูดตามประสบการณ์ที่เห็นจากไอ้ตี๋ในสมัยที่เราเรียนอยู่ชั้น ม.ปลาย

“ก็อาจจะใช่ แต่ป้อมก็มีนิสัยพูดน้อยจนแก้ไขไม่ได้ไปเสียแล้ว...” พ่อตอบ หยุดนิดหนึ่งแล้วพูดต่อ “อันที่จริงนิสัยพูดน้อยของป้อมก็อาจจะแก้ไขได้ แต่คงต้องใช้เวลา ตอนนี้อาต้องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องการเรียนของป้อมเสียก่อน”

“ผมสอนเมื่อครั้งที่แล้วป้อมแทบไม่พูดอะไรเลย ผมก็ไม่แน่ใจครับว่าป้อมจะได้อะไรจากการเรียนพิเศษบ้าง” ผมออกตัวว่าอย่าคาดหวังในตัวผมมากนัก

“อาอยากให้อูถือเสียว่าป้อมเป็นน้อง พยายามช่วยการเรียนของน้องหน่อยก็แล้วกัน พยายามให้เต็มที่ ส่วนป้อมเค้าจะรับได้แค่ไหนก็ถือว่าแค่นั้น” พ่อพูด พยายามให้กำลังใจผม ซึ่งก็คงคล้ายๆกับที่เคยคุยกับไอ้กี้ “อาอยากให้ป้อมเรียนวิศวะ เราต้องพยายามกันหน่อย อูก็พยายามช่วยน้องด้วย”

ผมจึงถูกยัดเยียดให้มีน้องอีกคนไปโดยปริยาย การคุยกันระหว่างพ่อของป้อมและผมทำให้ผมมีกำลังใจขึ้นมานิดหน่อย ผมรู้สึกว่านี่ไม่ใช่เป็นเพียงการสอนพิเศษ แต่มันมีความหมายยิ่งกว่านั้น... มันเป็นการช่วยคนคนหนึ่งให้บรรลุเป้าหมายในชีวิต แต่ที่ผมยังไม่แน่ใจนักก็คือผมกำลังช่วยป้อมให้บรรลุเป้าหมายในชีวิตหรือว่าช่วยพ่อของป้อมให้บรรลุเป้าหมายในชีวิตกันแน่

“เอ้า ป้อม อธิบายข้อนี้ให้พี่ฟังหน่อย ว่าต้องใช้หลักอะไรในการหาคำตอบ” ผมพูดกับป้อมในขณะที่สอน

“...”

“ป้อม อธิบายให้พี่ฟังหน่อยนะ พี่จะได้รู้ว่าป้อมเข้าใจแค่ไหนไง” ผมพยายามอ้อนวอน

“...”

“เอ้อ... เอายังงี้... ลองเขียนวิธีทำมาก็แล้วกัน” ผมแอบถอนหายใจกับความดื้อเงียบของป้อม ป้อมดื้อเงียบจริงๆ คือทั้งดื้อและทั้งเงียบ

ป้อมก้มหน้าเขียนอะไรขยุกขยิกอยู่สักพักหนึ่ง จากนั้นก็ส่งให้ผมดู ผมดูแล้วก็รู้ว่าป้อมยังไม่เข้าใจ การที่ป้อมไม่พูดทำให้การเรียนแทนที่จะโต้ตอบและอธิบายกันสั้นๆด้วยคำพูด กลายเป็นว่าต้องเสียเวลาไปกับการเขียนและอ่าน ทำให้การสอนเป็นไปอย่างเชื่องช้ามาก... ช้ามากจนท้ายชั่วโมงสอนผมก็เริ่มเบื่อและท้อใจอีกครั้งหนึ่ง

- - -

หลังจากการประชุมเรื่องโครงงานออกค่ายอาสา พี่ตั้วก็นัดประชุมสตาฟชมรมอีกครั้งหนึ่งในสัปดาห์ต่อมา หัวข้อการประชุมก็คือการหาสปอนเซอร์

“ท่านสมาชิกผู้มีเกือกทุกท่าน” พี่ตั้วเกริ่น วันนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาไม่อยู่ การประชุมจึงเป็นไปอย่างครึกครื้น

“รู้แล้วว่ามีเกือกกันทุกคน ก็ถอดวางอยู่ที่หน้าประตูชมรม” ไอ้กี้ขัดคอ “ท่านประธานอย่ายื้อ เวลาเป็นเงินเป็นทอง เข้าเรื่องเลยเถอะ”

“ไอ้ห่า” พี่ตั้วหัวเราะ “จะรีบไปตายที่ไหนวะ”

“ท่านประธานจะประชุมหรือจะทะเลาะกันครับ” ผมพูดบ้าง

ตอนนี้ชั้นปีที่สองสนิทสนมกับชั้นปีที่สามมากเนื่องจากปีที่แล้วทำงานมาด้วยกันตลอดทั้งปี จึงแหย่กันเล่นอย่างสนุกสนาน สำหรับเรื่องขุ่นใจระหว่างพี่ตั้วกับผมที่เกี่ยวกับเพ็ญนั้นจางหายไปนานแล้ว ส่วนพวกเราชั้นปีสองปีสามกับน้องชั้นปีหนึ่งนั้นยังไม่สนิทกันนักเนื่องจากปีนี้มีกิจกรรมค่อนข้างน้อย

พี่ตั้วได้รายชื่อบริษัทห้างร้านเป้าหมายขอสปอนเซอร์กิจกรรมมาจากชมรมค่ายราวสิบกว่าแห่ง อยู่กระจายกันตามสถานที่ต่างๆในกรุงเทพฯ หน้าที่ของพวกเราก็คือถือจดหมายแนะนำโครงงานกิจกรรมไปติดต่อที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานนั้นๆ ในยุคนั้นเป็นธรรมเนียมที่ต้องไปติดต่อด้วยตนเอง ไม่นิยมโทรศัพท์ไปคุยแล้วส่งจดหมายตามไป เพราะคิดว่าการไปติดต่อด้วยตนเองนั้นน่าจะมีโอกาสประสบผลสำเร็จมากกว่า อีกทั้งการไปขอเงินจากผู้อื่นหากไม่ไปเองก็ดูจะเสียมารยาท ซึ่งหากเป็นสมัยนี้แนวคิดคงเปลี่ยนไปแล้วเนื่องจากสภาพชีวิตที่เร่งรีบและการจราจรที่ติดขัด การส่งอีเมลติดต่อก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ไม่เสียมารยาทแต่อย่างใด แต่จะประสบผลสำเร็จเพียงใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

พวกเราช่วยกันร่างจดหมายแนะนำโครงงาน จากนั้นแบ่งสถานที่ในรายชื่อที่ได้มาคนละสองแห่ง ผมได้ชื่อบริษัทที่อยู่แถวเพลินจิตกับสะพานควาย ผมจึงหาเวลาว่างในวันที่ไม่มีการเรียนในช่วงบ่าย จากนั้นไปติดต่อบริษัทที่เพลินจิตก่อน

การไปขอสปอนเซอร์ในครั้งแรกเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นไม่น้อย เพราะไม่รู้ว่าจะเจอกับอะไรบ้าง วันที่ไปติดต่อนั้นผมใส่เสื้อแขนยาว ผูกเนกไทตรามหาวิทยาลัยมาเรียน แต่งตัวดีผิดปกติจนเพื่อนๆในแผนกแปลกใจ พอถึงตอนบ่ายจากนั้นก็ขึ้นรถเมล์ไปที่เพลินจิต

บริษัทที่ผมไปขอสปอนเซอร์นี้มีสำนักงานตั้งอยู่ภายในอาคารสำนักงานแห่งหนึ่ง เมื่อไปถึงผมก็กดลิฟต์ขึ้นไปชั้นบน เมื่อออกจากลิฟต์แล้วก็จะพบเคาน์เตอร์เจ้าหน้าที่ต้อนรับดักอยู่เป็นด่านแรก หลังเคาน์เตอร์จึงเป็นประตูทางเข้าสำนักงานซึ่งเป็นประตูบานทึบและปิดเงียบ ลักษณะก็คล้ายๆกับอาคารสำนักงานในสมัยนี้

ผมรู้สึกผิดคาด นึกว่าจะได้เห็นบรรยากาศของการทำงานในออฟฟิสบ้าง แต่ที่ไหนได้ที่ทำงานกลับปิดอย่างมิดชิดจนคนภายนอกไม่อาจเห็นได้

“ต้องการติดต่อเรื่องอะไรคะ” เจ้าหน้าที่ต้อนรับถามผมเมื่อผมเดินไปถึงหน้าเคาน์เตอร์

“ผมมาจากมหาวิทยาลัยสะพานเหลือง มาติดต่อขอสปอนเซอร์สำหรับโครงงานสร้างห้องสมุดในโรงเรียนชนบทครับ” ผมแนะนำตัวตามที่พี่ตั้วติวให้ก่อนมา

“งบโฆษณาเราหมดแล้วนะคะ” หญิงสาวตอบทันทีโดยไม่ต้องลังเลใดๆ

“เอ้อ...” ผมรู้สึกเหวอ คาดไม่ถึงว่าการขอสปอนเซอร์ครั้งแรกในชีวิตจะถูกปฏิเสธในทันทีตั้งแต่หน้าประตูสำนักงาน ก็ไหนพี่ตั้วบอกว่าเป็นรายชื่อบริษัทห้างร้านที่มีรุ่นพี่เป็นเจ้าของไง “คือ...”

หญิงสาวเห็นผมยืนงง จึงบุ้ยให้ผมมองป้ายเล็กๆที่วางอยู่บนเคาน์เตอร์ ป้ายนั้นเป็นป้ายที่ทำไว้อย่างดีเหมือนกับต้องการใช้อย่างถาวร ข้อความในป้ายนั้นอ่านได้ว่า

งดโฆษณา

ตอนนั้นผมยังไม่เข้าใจว่าวลีนี้มีความหมายว่าอะไร ทีแรกก็เห็นป้ายนี้อยู่เหมือนกันแต่ไม่นึกว่าจะเกี่ยวกับผม พอหญิงสาวบุ้ยให้ดูก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี แต่ถึงจะอ่านป้ายไม่เข้าใจ แต่ผมเข้าใจคำพูดของหญิงสาวอย่างแจ่มแจ้ง

“ถ้ายังไงผมขอฝากเอกสารไว้ได้ไหมครับ” ผมถือคติตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก

“ฝากไว้ก็ได้ค่ะ แต่เกรงว่าน้องจะเปลืองเอกสารเปล่า เพราะถึงอย่างไรก็คงไม่ได้ งบโฆษณาปีนี้หมดไปแล้ว” เธอยืนกราน

ผมลังเลนิดหน่อย แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจฝากเอกสารเอาไว้จากนั้นก็ลากลับ

ยังเหลือที่สะพานควายอีกแห่งหนึ่ง ผมคิดในใจ ตอนนั้นกำลังใจหดหายไปกว่าครึ่งแล้ว

หลังจากนั้นผมก็เดินทางไปสะพานควายตามที่อยู่ที่ได้รับมา หน่วยงานนี้ไม่ได้เป็นบริษัทจำกัด เป็นแต่เพียงห้างหุ้นส่วนจำกัด เห็นชื่อห้างหุ้นส่วนแล้วยังนึกไม่ออก แต่เมื่อเดินไล่เลขที่ของตึกแถวในย่านสะพานควายดูแล้วในที่สุดก็พบว่าร้านนี้เป็นร้านขายฮาร์ดแวร์ที่ผมผ่านเป็นประจำตอนเดินทางไปเรียนนั่นเอง

ผมไปยืนเก้ๆกังๆอยู่ที่หน้าร้าน สภาพในร้านกำลังขายของกันวุ่นวาย ผมพยายามมองหาว่าผมควรยื่นจดหมายกับใครในร้าน แต่ดูๆแล้วก็ไม่เห็นใครที่เหมาะ ครั้นจะฝากกับคนขายของหน้าร้านก็อาจจะทำจดหมายหายเสียก็ได้

“รับอะไรเฮีย” คนขายของหน้าร้านทักทายผมเมื่อเห็นผมเดินเข้ามาในร้าน

จะรับอะไรดีหว่า ก็ไม่ได้คิดจะซื้ออะไรสักหน่อย

“ผมมาหาสปอนเซอร์ จะติดต่อใครดีครับ” ผมตอบกลับไปด้วยคำถาม

“สปอนเซอร์ สปอนเซอร์อะไร” คนขายงง

พอดีผมเหลือบไปเห็นด้านในของร้านมีห้องกระจกเล็กๆ เปิดไฟสว่าง ลักษณะคล้ายเป็นห้องทำงานของเจ้าของร้านอยู่ ผมจึงชี้ไปที่ห้องนั้น

“ผมจะเข้าไปติดต่อข้างใน ไม่ได้มาซื้อของ” ผมพูด

พนักงานขายจึงผละจากผมไปขายของให้คนอื่นต่อ ปล่อยให้ผมเดินเข้าไปสู่ด้านในของร้านเอง

เมื่อไปถึงห้องทำงานด้านใน ผมเห็นหญิงชาวจีนวัยกลางคน ท่าทางคงเป็นเจ้าของหรือไม่ก็เป็นภรรยาของเจ้าของหรือที่เรียกว่าเถ้าแก่เนี้ย เธอกำลังกินขนมอยู่อย่างเอร็ดอร่อย

ผมเคาะประตูห้องกระจกและเข้าไปแนะนำตัวพร้อมกับแนะนำโครงการ

“โอ๊ย ไม่ไหวแล้ว มาขอสปอนเซอร์กันเยอะแยะ” เถ้าแก่เนี้ยพูดตรงๆ “ช่วยไม่ไหวแล้วจ้ะ ทีแรกก็แค่จะช่วยลูกชายที่ทำสมุดของคณะขาย พอลงโฆษณาไปครั้งหนึ่ง คราวนี้นักศึกษาก็แห่กันมาขอโฆษณาเต็มไปหมด ตั้งแต่เปิดเทอมมานี่ก็ให้ไปหลายรายแล้ว ช่วยไม่ไหวแล้วจริงๆ”

เป็นอันว่าการติดต่อขอสปอนเซอร์ครั้งแรกของผมนั้นล้มเหลวไม่เป็นท่า ไม่มีใครสนใจกิจกรรมของเราเลย แม้แต่จะลองพิจารณาโครงงานของเราดูก่อนก็ยังไม่ทำ

- - -

เหตุการณ์กินแห้วนั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับผมเพียงคนเดียว แต่ปรากฏว่าเกิดขึ้นกับผู้ที่ไปขอสปอนเซอร์ทุกราย ไม่มีใครสามารถขอสปอนเซอร์ได้เลย

“เฮ้ย มันอะไรกันเนี่ย” ไอ้กี้โวยวายในชมรมขณะที่พวกเรากำลังปรึกษากันถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างคร่งเครียด ต่างจากวันก่อนที่ประชุมกันอย่างครึกครื้น “ทำไมขอไม่ได้เลยสักราย เป็นไปได้ยังไง”

“พี่ก็ขอไม่ได้ว่ะ เดี๋ยวนี้การขอสปอนเซอร์คงยากขึ้น เพราะนักเรียน นักศึกษาที่ทำสมุด ทำหนังสือรุ่น ทำโน่น ทำนี่ มีเยอะไปหมดมั้ง พอทุกคนก็แห่กันไปหาสปอนเซอร์จากที่ซ้ำๆกัน รายที่ไปทีหลังก็ต้องอด” พี่ตั้วพยายามหาคำอธิบาย “ชมรมค่ายเองก็ยังหาทุนสร้างอาคารเรียนได้ไม่พอเหมือนกัน”

“แล้วจะเอาไงต่อล่ะพี่” คนหนึ่งถามขึ้น

“เราก็ต้องหาทางของเราเอง” พี่ตั้วสรุปด้วยสีหน้าที่ไม่ค่อยดีนัก “ยังไงก็ต้องพยายามหาเงินมาทำห้องสมุดให้ได้”

ผมเข้าใจความหมายของพี่ตั้ว ผมรู้ดีว่าหากเราหาเงินทุนไม่ได้ ผลก็คือต้องยกเลิกโครงการห้องสมุดนี้ไป แม้ดูผิวเผินจะไม่มีปัญหาอะไร แต่สภาพในตอนนั้นก็คือพวกชั้นปีสองและปีสามมีความรู้สึกผูกพันกับชมรมมาก แม้จะไม่ได้เบี้ยเลี้ยงหรือผลตอบแทนใดจากการทำกิจกรรมชมรม แต่เราก็รู้สึกราวกับว่าชมรมนี้เป็นของเรา และรู้ดีว่าหากโครงการนี้ล้มเหลว มันคงเป็นการทำลายกำลังใจของพวกเรา รวมทั้งของน้องปีหนึ่งด้วย และเทอมนี้... และอาจจะหมายถึงตลอดทั้งปี... ชมรมของเราก็คงไม่มีกิจกรรมอะไร นอกจากทำชีตเล็กๆน้อยๆ ต่อไปน้องๆคงหนีไปอยู่ชมรมอื่นกันหมด ชมรมนี้คงกลายเป็นชมรมตายซากในรุ่นที่พวกเรารับผิดชอบอยู่ ความรู้สึกของพวกเราที่เป็นรุ่นพี่ก็คือเราจะยอมให้เป็นอย่างนั้นไม่ได้...



<ดิสโก้เธค เป็นสถานบันเทิงประเภทหนึ่ง ที่มีบริการดนตรี เครื่องดื่ม และพื้นที่เต้นรำ ลักษณะเด่นของดิสโก้เธคคือใช้ดนตรีแบบเปิดแผ่น ไม่ได้เล่นสด แนวเพลงในจังหวะเร็ว เร้าใจ และไฟหลากสีที่ส่องวูบวาบ คำว่าดิสโก้เธคนี้มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า discothèque ภาษาไทยเขียนว่าดิสโก้เทคก็มี

ยุคแรกของดิสโก้เธคแท้ๆเริ่มตั้งแต่ทศวรรษ 1960s ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ดิสโก้เธคในซีกโลกตะวันตกรุ่งเรืองในช่วงทศวรรษ 1970s พอยุค 1980s ก็ค่อยๆซาไป ในปลายทศวรรษ 1980s รูปแบบสถานบันเทิงแบบดิสโก้เธคในซีกโลกตะวันตกค่อยๆเลือนหายไป กลายเป็นไนต์คลับ (nightclub) แทน

สำหรับในเมืองไทยนั้นดิสโก้เธคเริ่มโด่งดังและเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่วัยรุ่นและนักเที่ยวเมื่อ เดอะ พาเลส ย่านถนนวิภาวดีรังสิตเปิดให้บริการในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ (ค.ศ. 1974) หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยเดอะดั๊ก (The Duck) ที่พัทยา สองแห่งนี้ถือว่าโด่งดังที่สุด

ราวสิบปีต่อมา ดิสโก้เธคของเมืองไทยก็เข้าสู่ยุครุ่งเรืองสุดขีดเมื่อมีดิสโก้เธคเปิดเพิ่มอีกหลายแห่ง อาทิ ฟลามิงโก้ (Flamingo ๒๕๒๖) ย่านสุขุมวิท ซูเปอร์สตาร์ (Superstar ๒๕๒๘) ย่านพัฒน์พงษ์ เดอะเธค (The Theque ๒๕๓๐) ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฟาโรห์ (Faroh ๒๕๓๐) ย่านสี่แยก อสมท. และนาซ่าสเปซีโดม (Nasa Spaceadome ๒๕๓๑) ย่านคลองตัน ฯลฯ

เพลงดิสโก้ที่นิยมกันในยุคนั้น ถ้าเป็นยุคก่อน ๒๕๒๐ จะเป็นพวก Yellow River, Beautiful Sunday ถ้าหลัง ๒๕๒๐ จะเป็นพวก River of Babylon, Ring My Bell และ Rusputin ของบอนนี่เอ็ม (Bonny M) เพลง Go ของทีนา ชาลส์ (Tina Charles) เพลง Y.M.C.A. ของวิลเลจพีเพิล (Village People)ฯลฯ

เมื่อผ่านพ้นจากยุครุ่งเรืองสุดขีดก็เข้าสู่ยุคโรยรา ดิสโก้เธคค่อยๆเสื่อมความนิยมลงโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง สถานบันเทิงแทบไม่มีนักเที่ยว ต่อมาเมื่อผ่านพ้นยุคต้มยำกุ้ง ยุคของผับและไนต์คลับย่านอาร์ซีเอก็เข้ามาแทนที่

ที่เห็นในภาพคือดิสโก้เธค นาซ่าสเปซี่โดม ย่านคลองตัน ดิสโก้เธคแห่งนี้ปิดตัวไปในราวปี พ.ศ. ๒๕๔๖>

Sunday, September 4, 2011

ภาคสี่ ตอนที่ 42

เมื่อป้อมไม่พูดอะไรผมจึงจำต้องเป็นฝ่ายพูดเสียเอง ผมเริ่มทบทวนเนื้อหาของชั้น ม.๔ เทอมต้น ด้วยเรื่องของระบบจำนวน เซ็ตและคุณสมบัติของเซ็ต การยูเนียน อินเตอร์เซกต์ ฯลฯ ป้อมก็ฟังไปเรื่อยๆ ทวนอยู่สักพักก็จบหัวข้อ

“เอาละ ป้อมคิดว่าเข้าใจเรื่องเซ็ตดีขนาดไหน” ผมพยายามถามคำถามที่ต้องตอบด้วยคำพูด ไม่ใช่การพยักหน้าหรือส่ายหน้า แต่ป้อมก็ได้แต่ยิ้มและพยักหน้าและพูดเสียงเบาๆอยู่ในลำคอเป็นทีว่าเข้าใจ

“ฮึ”

ผมแอบถอนหายใจ รู้สึกอยากเตะเด็กคนนี้หรือไม่ก็จับเอาหัวโขกกับโต๊ะ แต่ก็ทำได้เพียงแค่คิด

“เอ้า งั้นป้อมลองทำโจทย์ข้อนี้ให้พี่ดูหน่อย อธิบายเหตุผลให้พี่ฟังด้วย” ผมไม่ยอมแพ้ จะยอมแพ้เด็กนักเรียน ม.๔ ก็อายไอ้กี้ ไอ้กี้แก้ปัญหานี้โดยไม่ทำอะไร อยากเงียบมันก็สอนของมันไปเรื่อยๆ พูดกับลมกับแล้ง ส่วนผมนั้นยังไงก็ต้องพยายามทำให้ป้อมพูดให้ได้

“ฮื่อ” ได้ยินเสียงป้อมคราง หมุนปากกาเล่นบนปลายนิ้ว จากนั้นก็ใช้ปากกาเขียนวิธีทำต่างๆลงบนกระดาษและส่งให้ผมดู

“เอ้อ” ผมชักฉุน “นี่ป้อมไม่คิดจะพูดกับพี่เลยหรือไง ถ้าไม่อยากเรียนกับพี่ก็บอกได้นะครับ”

ป้อมนิ่งไปนิดหนึ่ง ก้มหน้าต่ำ

“เปล่าครับ”

เมื่อผมได้ยินคำตอบของป้อมก็รู้สึกโล่งใจพร้อมๆกับแปลกใจ ที่โล่งใจก็เพราะว่าเข้ามาในบ้านตั้งนานแล้วป้อมยังไม่ได้พูดกับผมเลยสักคำ จนผมคิดว่าป้อมเป็นใบ้หรือไม่ก็ไม่พอใจผม เมื่อป้อมเริ่มพูดผมจึงโล่งใจ และที่แปลกใจก็คือเสียงของป้อม

เสียงของป้อมนั้นไม่เหมือนกับวัยรุ่นชายทั่วไปที่มักแตกพร่าเนื่องจากย่างเข้าวัยหนุ่ม เสียงของป้อมนั้นเป็นเสียงเล็กๆ ไม่ใช่เสียงเล็กแบบเสียงเด็กผู้หญิง แต่เป็นเสียงเล็กแบบเสียงแมวมากกว่า เป็นเสียงที่งุ้งงิ้งๆอธิบายไม่ถูก ผมรู้ได้ทันทีว่าเสียงของป้อมต้องมีอะไรผิดปกติสักอย่างและป้อมคงรู้สึกอายเสียงของตนเอง ไอ้กี้ไม่เคยบอกเรื่องนี้ให้ผมรู้เลยแม้แต่น้อย

“เฮ้อ ในที่สุดก็พูดกับพี่เสียที นึกว่าไม่ชอบหน้าพี่เสียอีก” ผมพยายามพูดตลกเพื่อไม่ให้ป้อมรู้สึกอับอาย พร้อมกับพูดต่อ “เอ้า ไหนๆก็ไหนๆ อธิบายข้อนี้ให้พี่ฟังหน่อยว่าทำยังไง”

“อธิบายไม่ถูกครับ” ป้อมส่ายหน้า พูดด้วยเสียงงุ้งงิ้งเหมือนแมวพูดได้ “แต่ว่าทำได้”

สุดท้ายป้อมก็หลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยกับผม พยายามใช้การพยักหน้า ส่ายหน้า หรือเขียนวิธีทำในกระดาษแทน

เอาวะ เมื่อไม่อยากพูดก็ไม่ต้องพูด เมื่อผมรู้ความจริงเช่นนี้ผมเองก็จนใจที่จะบังคับให้ป้อมพูด ป้อมคงรู้สึกอายมาก ผมจึงสอนของผมไปเรื่อยๆ คราวนี้เหมือนพูดกับลมกับแล้งเลยจริงๆ

- - -

วันจันทร์ต่อมา

วันนั้นพี่ตั้ว ประธานชมรมวิชาการ ได้นัดกรรมการและสตาฟชมรมมาประชุมในตอนบ่ายหลังเลิกเรียนเป็นการพิเศษ ดังนั้นเมื่อเลิกเรียนผมจึงรีบขึ้นไปที่ชมรม เห็นผู้คนแออัดคับคั่งจนเก้าอี้ไม่พอนั่ง ส่งเสียงเฮฮาอึกทึก ผิดแผกไปจากทุกวัน

วันนั้นทั้งวันผมยังไม่ได้ขึ้นไปที่ชมรมเลยเนื่องจากมีงานเก็บข้อมูลการทดลองที่แผนกตั้งแต่เช้า ต้องผลัดกันเก็บข้อมูลสลับกับการเข้าเรียน เมื่อเลิกเรียนแล้วจึงค่อยเสร็จงาน พอวางมือจากงานได้ผมก็ขึ้นไปที่ชมรมทันที

เมื่อขึ้นไปถึงชมรม คนแรกที่ผมมองหาก็คือไอ้กี้ เห็นมันกำลังคุยเอะอะเฮฮากับเพื่อนๆอยู่

“เฮ้ย ไอ้หมากี้” ผมเรียกไอ้กี้เมื่อพบกับมัน “ขอคุยด้วยหน่อย”

“มีอะไรไอ้เหี้ยอู” ไอ้กี้ตอบ

“ไปคุยกันข้างนอกดีกว่า ขอคุยส่วนตัวหน่อย” ผมพูด จากนั้นผมและไอ้กี้ก็ปลีกตัวจากเพื่อนๆ เดินออกไปนอกชมรม หามุมที่ห่างไกลจากผู้คนเพื่อคุยกัน

“เด็กมึงเป็นไงบ้าง” ไอ้กี้ถามพลางหัวเราะอารมณ์ดี และราวกับว่ามันรู้ว่าผมจะคุยเรื่องอะไรกับมัน

“ไอ้เปรต เด็กกูที่ไหน ก็เด็กของมึงนั่นแหละ แต่ฝากให้กูสอนแทน” ผมแย้ง “มึงรู้เรื่องป้อมใช่ไหม”

“เรื่องอะไร” ไอ้กี้ถามแบบเล่นลิ้นพร้อมกับหัวเราะตาหยี “มึงถามถึงเรื่องไหนล่ะ”

“เรื่องเสียงของป้อมน่ะ” ผมพูด

“รู้สิ” ไอ้กี้ตอบพร้อมกับหัวเราะอีก

“ไอ้ห่า แล้วมึงทำไมไม่บอกกูก่อน” ผมด่ามันอีก รู้สึกเคืองที่มันไม่บอกให้ผมรู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับลักษณะพิเศษของป้อม ทีแรกผมก็เข้าใจว่าป้อมเป็นคนพูดน้อยแล้วไอ้กี้มันพูดเวอร์ว่าเหมือนสอนท่อนไหม้ แต่เรื่องราวกลับซับซ้อนกว่านั้น

“จะบอกทำไมล่ะ ไม่เห็นจะเป็นเรื่องใหญ่อะไร อีกอย่าง ไปถึงมึงก็รู้เองนั่นแหละ” ไอ้กี้หัวเราะชอบใจ “พ่อแม่เค้าก็อธิบายให้มึงฟังเอง”

ผมหัวเราะไม่ออก ผมกำลังคิดว่าไอ้กี้วางยาผม ส่งเด็กมีปัญหามาให้ผมสอนโดยไม่บอกว่าเด็กมีปัญหาอะไร

“กูเจอพ่อกับแม่ของป้อมเสียที่ไหน ไปถึงไม่มีผู้ใหญ่อยู่ กูก็ต้องเริ่มสอนเลย พูดคนเดียวอยู่สามชั่วโมง เหมือนคนบ้าเลยว่ะ” ผมบ่น “ยังงี้วางยากันนี่หว่า”

“อ้าว เหรอ” ไอ้กี้ทำเสียงแปลกใจ คงรู้สึกผิดคาดหมายอยู่บ้าง “กูวางยามึงที่ไหนวะ หารายได้มาให้มึง แทนที่จะขอบใจยังจะมาว่ากูอีก”

“ก็เด็กมีปัญหานี่หว่า” ผมบ่นอีก

“โธ่เอ๊ย ไอ้อู” ไอ้กี้โวยใส่ผมบ้าง “มึงก็อย่าคิดว่ามีปัญหาสิวะ มึงคิดเสียใหม่ว่าพูดคนเดียวแล้วได้เงิน งานง่ายๆ ใครทำไม่ได้ก็บ้าแล้ว”

“แล้วมึงไม่ต้องรับผิดชอบกับผลการสอนหรือไง พูดคนเดียว พูดอะไรก็ได้ แล้วไม่ต้องสนใจเด็กว่าจะรู้เรื่องหรือเปล่ายังงั้นเหรอ” ผมโวยเสียงดังใส่บ้าง

ไอ้กี้เอาหลังมือมาแตะที่หน้าผากของผม

“กูว่ามึงตัวร้อนแล้วไอ้อู ไปหายาพารากินหน่อยไป” ไอ้กี้หัวเราะ “จะไปเอาจริงเอาจังอะไรนักหนาวะ ก็เค้าจ้างให้เราสอน เราก็สอน เด็กไม่ตอบสนองอะไรก็เป็นเรื่องที่เด็กเอง แล้วจะให้เรารับผิดชอบอะไรล่ะ ถ้าสงสัยอะไรก็ถาม ถามมากูก็ตอบให้ ก็ไม่ถามเองนี่ แล้วจะให้รับผิดชอบอะไร”

“เอ้อ” ผมอึ้งกับเหตุผลของไอ้กี้ คิดไปมันก็ถูกดังที่ไอ้กี้ว่าเหมือนกัน แต่มาคิดอีกทีมันก็ไม่เชิงว่าจะถูกต้องนัก

“มันเหมือนไปหลอกเงินพ่อแม่เค้าว่ะ” ผมพูดอีก

“หลอกห่าอะไรล่ะ” ไอ้กี้เสียงดังใส่ผมอีก “พ่อแม่ไอ้ป้อมก็รู้ว่ามันไม่ชอบพูดเพราะอายเสียงของตัวเอง เค้าก็บอกให้ทำเท่าที่ทำได้ แล้วจะพูดว่าหลอกได้ไง”

“แล้วทำไมมึงไม่บอกกูก่อน” ผมลังเล ไอ้กี้อาจจะถูกก็ได้ แต่ยังไม่อยากยอมแพ้มันในขณะนี้

“ก็กูไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหาอะไรนี่หว่า” ไอ้กี้ตอบ “อีกอย่าง คิดว่าเมื่อไปถึงพ่อแม่เค้าก็อธิบายให้มึงฟังเอง ไม่นึกว่ามึงไปถึงแล้วไม่เจอใคร”

“โอ๊ย ยังงี้ก็สอนไม่ไหวโว้ย สอนแล้วกลุ้มใจ” ผมตัดบท

“ตามใจมึง มึงก็คุยกับพ่อแม่ของไอ้ป้อมเองก็แล้วกัน” ไอ้กี้ตัดบทบ้าง

“อ้าว เฮ้ย กูแค่สอนแทนมึงชั่วคราว มึงสิที่ต้องไปบอกพ่อแม่ป้อม” ผมแย้งมัน

“กูไม่สนใจหรอกว่าใครสอนแทนใคร ตอนนี้มึงรับช่วงไปแล้ว มีอะไรก็ไปบอกเค้าเอง กูไม่เกี่ยวแล้วโว้ย” ไอ้กี้ตัดรอนแบบไร้เยื่อใย สุดท้ายยังไม่วายด่าผมอีก “โธ่ ไอ้อูเอ๊ย เรื่องง่ายๆเสือกคิดมาก ทำให้กลายเป็นเรื่องยาก กูว่ามึงบ้าไปแล้วแน่เลย”

“เฮ้ย กัดกันเสียงดังเชียว เดี๋ยวเอาน้ำสาดเสียหรอก” เสียงพี่ตั้วลอยมาจากหน้าประตูชมรม “อาจารย์มาแล้ว เข้ามาประชุมได้แล้ว”

เมื่อพี่ตั้วมาขัดจังหวะ เราสองคนจึงยุติการสนทนาเรื่องป้อมแต่เพียงเท่านั้นโดยที่ผมยังรู้สึกขุ่นใจอยู่

การประชุมชมรมในวันนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงงานกิจกรรมประจำปี โดยอาจารย์ที่ปรึกษาของชมรมเข้าร่วมประชุมด้วย ดังนั้นจึงคาดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญ อาจารย์ที่ปรึกษาของชมรมเป็นอาจารย์ที่สอนอยู่ในคณะเทคโนนั่นเอง ชื่ออาจารย์โก เป็นชายหนุ่มผิวขาว สูงโปร่ง ใส่แว่นกรอบทอง หน้าตาผิวพรรณขาวๆแบบคนเหนือหรือไม่ก็ลูกครึ่งไทยจีน อยู่ในวัยไม่ถึงสามสิบปี ผมเห็นอาจารย์โกบ่อยๆในคณะ แต่เพิ่งเคยพบอาจารย์โกบนชมรมเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง เห็นอาจารย์พูดคุยกับพวกรุ่นพี่ปีสามและปีสี่ในชมรมอย่างกันเอง พี่ตั้วเคยเล่าให้ฟังว่าอาจารย์เองก็เคยทำงานอยู่ในชมรมมาก่อน เมื่อเรียนจบและกลับมาเป็นอาจารย์ที่นี่จึงรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของชมรมต่อจากอาจารย์ที่ปรึกษาคนก่อนที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว

“อ้า... วันนี้อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมเรามาร่วมประชุมด้วยนะครับ” พี่ตั้วเริ่มการประชุมเมื่อทุกคนเข้ามารวมตัวกันในห้องชั้นในของชมรมเป็นที่เรียบร้อย นั่งบ้าง ยืนบ้าง ตามอัธยาศัยเนื่องจากเก้าอี้มีไม่เพียงพอ

“ไม่ต้องอ้าก็ได้ท่านประธาน พูดได้เลย” ไอ้กี้แซว พี่ตั้วยกเท้าทำท่าเหมือนกับจะเตะ ทำปากหมุบหมิบ อ่านริมฝีปากได้ความว่าอย่าแซวสิวะไอ้ห่า ผมเหลือบมองไปดูอาจารย์โก เห็นอาจารย์ที่ปรึกษานั่งอมยิ้ม

“ผมขอเข้าเรื่องเลยนะครับ อะแฮ่ม” ท่านประธานกระแอมไอด้วยความประหม่า “ที่ผมเชิญทุกคนมาประชุมในวันนี้ก็เพื่อหารือเกี่ยวกับกิจกรรมชมรมประจำปีนี้”

พี่ตั้วหยุดไปนิดหนึ่ง กลืนน้ำลายไปสามอึกแล้วพูดต่อ

“เดิมเราพยายามซาวเสียงในภายในชมรมเพื่อหากิจกรรมประจำปีใหม่ๆทำ แต่หลังจากที่พูดคุยกันแล้วก็ยังหากิจกรรมที่เหมาะสมไม่ได้ บังเอิญผมเป็นเพื่อนกับประธานชมรมค่ายอาสา เราได้คุยกัน ทางชมรมค่ายอาสาเองก็มีโครงการพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนในชนบท แต่ยังขาดกำลังและงบประมาณในการเลือกและจัดหาหนังสือเข้าห้องสมุด ทางชมรมค่ายจึงเสนอโครงการออกค่ายอาสาร่วมกันระหว่างชมรมค่ายกับชมรมวิชาการ โดยให้เรารับผิดชอบเรื่องการทำห้องสมุดเป็นหลัก จึงอยากขอความคิดเห็นจากทุกๆคน รวมทั้งขอคำแนะนำจากอาจารย์โกด้วยว่าเห็นสมควรที่จะทำโครงการใหม่ในปีนี้ด้วยการร่วมมือกับชมรมค่ายอาสาทำห้องสมุดโรงเรียนในชนบทหรือไม่ ถ้าหากทำ โครงงานแรกที่เราจะร่วมด้วยได้ก็คือโครงงานสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนประถมซึ่งมีเรื่องห้องสมุดเป็นโครงการย่อยอยู่ด้วย โครงการนี้อยู่ในแผนกิจกรรมของชมรมค่ายอาสาอยู่แล้ว จะออกค่ายในช่วงปิดเทอมเดือนตุลาคมนี้ หากเราตกลงก็เข้าไปร่วมงานกันกับชมรม” พี่ตั้วร่ายยาวในอึดใจเดียว ทุกคนฟังเงียบกริบ “เอ้า จบแล้ว ขอเชิญทุกท่านอภิปรายแสดงความเห็นได้”

“เฮ้ย พูดจบแล้วเหรอ ทำไมสั้นยังงี้” เสียงแซวและเสียงเฮฮาดังเซ็งแซ่ หลังจากนั้นก็เป็นการซักถามรายละเอียดต่างๆกัน สังเกตว่าพวกรุ่นพี่คุยกันเฮฮาและเป็นกันเองกับอาจารย์โกมาก พูดคุยกันโดยไม่ต้องเกร็ง เป็นเหมือนรุ่นพี่กับรุ่นน้องมากกว่าจะเป็นอาจารย์กับนักศึกษา

หลังจากที่ช่วยกันซักถามรายละเอียด ในที่สุดก็ได้ความว่าโครงการค่ายอาสาในช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้จะไปพัฒนาโรงเรียนในชนบทในภาคอีสาน โดยโครงการย่อยห้องสมุดนี้ชมรมค่ายอาสาเขียนโครงการและตั้งงบประมาณไว้ราว ๕๐,๐๐๐ บาท แต่งบประมาณส่วนนี้ยังหาไม่ได้ หากชมรมวิชาการจะร่วมมือกับชมรมค่ายก็ให้รับผิดชอบด้านการหางบประมาณและจัดหาหนังสือที่เหมาะสม ส่วนตอนออกค่ายนั้นสมาชิกของทั้งสองชมรมจะทำงานร่วมกันและเหมือนกันหมด ต้องเลื่อยไม้ ตอกตะปู ขุดดิน เหมือนกันโดยไม่มีการแบ่งแยก

“เฮ้ย ต้องไปขุดดินด้วยเหรอ ทำห้องสมุดน่าทำแต่ไปขุดดินเลื่อยไม้นี่ไม่ไหว ตากแดดผิวเสียตายห่า” ไอ้กี้ออกความเห็นเบาๆไม่ให้อาจารย์โกได้ยิน

“ผิวเสีย ถุย” ผมบอกมัน “ปากมึงเสียอยู่แล้ว ผิวเสียด้วยก็ไม่เป็นไรหรอก”

“แล้วงบค่าหนังสือนี่จะมาจากไหนครับพี่ตั้ว” สมาชิกคนหนึ่งถาม

“ก็หาเอา” พี่ตั้วตอบ “ทางชมรมค่ายจะมีรายชื่อบริษัทห้างร้านที่เราสามารถไปขอสปอนเซอร์ได้”

ในยุคนั้นการหางบสำหรับออกค่ายส่วนใหญ่เป็นการขอการสนับสนุนจากบริษัทห้างร้านต่างๆ ส่วนหนึ่งเป็นธุรกิจของศิษย์เก่า จึงให้กันได้อย่างง่ายๆ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นบริษัทใหญ่ที่มีการจัดสรรงบประมาณของบริษัทเพื่อสนับสนุนกิจกรรมนักศึกษา ภาษาในสมัยนี้ก็คือมีการทำซีเอสอาร์นั่นเอง ส่วนใหญ่มักหนีไม่พ้นบริษัทปูนต่างๆและบริษัทน้ำมันต่างๆ การขอรับบริจาคด้วยการยืนถือกล่องตามแหล่งชุมชนนั้นจำได้ว่าไม่เคยเห็น

เมื่อพูดถึงการขอสปอนเซอร์ สมาชิกก็อภิปรายกันเสียงขรมเพราะพวกเราส่วนใหญ่ไม่คุ้นกับการขอสปอนเซอร์เนื่องจากกิจกรรมทางวิชาการที่ผ่านมาในช่วงรุ่นของพวกเรานี้ไม่ได้ใช้เงินมากนัก แม้แต่การทำสมุดขายที่เป็นกิจกรรมหาเงินยอดฮิตก็ไม่ได้ทำ จึงไม่เคยต้องหาเงินสนับสนุน หลายคนจึงรู้สึกอายที่ต้องตากหน้าไปขอสปอนเซอร์ตามหน่วยงานต่างๆ

“สมัยก่อนที่ชมรมนี้ก็เคยมีการขอสปอนเซอร์นะพวกเรา เพราะกิจกรรมเมื่อก่อนหลายโครงการต้องใช้เงินพอสมควร สมัยนี้ยังดีที่มีรายชื่อบริษัทห้างร้านมาให้ สมัยที่ผมทำกิจกรรมต้องนั่งรถเมล์ไปลงที่สีลม แล้วเดินเข้าบริษัทโน้นออกบริษัทนี้ตั้งแต่หัวถนนยันท้ายถนน ขอดะไปเลย” อาจารย์โกพูดขึ้นบ้าง เสียงจ้อกแจ้กของพวกสมาชิกจึงสงบลงไป

ในที่สุด เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าน่าลองทำดู เพราะรู้สึกสนุกกับการไปออกค่าย และเมื่ออยากไปออกค่ายก็ต้องรับผิดชอบเรื่องการขอสปอนเซอร์ไปโดยปริยาย เมื่ออาจารย์โกสนับสนุนและให้กำลังใจ ดังนั้น กิจกรรมโครงการใหม่ของพวกเราก็เริ่มต้นขึ้น...

- - -

ตลอดสัปดาห์นั้นผมคิดทบทวนอยู่หลายครั้งแต่ก็ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะสอนพิเศษป้อมต่อไปดีหรือไม่ ผมรู้สึกว่ารับสภาพการเรียนการสอนแบบนั้นได้ยาก แต่ครั้นจะให้โทรไปบอกเลิกการสอนผมก็กลับลังเล

“นี่ ไอ้อู พรุ่งนี้ไปฉลองกัน” เสียงพิมพ์ เพื่อนสาวร่วมแผนกเรียกผมเมื่อผมเดินเข้าไปในห้องพักแผนกในตอนเช้าวันพฤหัสก่อนเวลาเข้าเรียน ตอนนั้นมีเพื่อนๆอยู่ในห้องพักสี่ห้าคน

“ที่ไหน และเนื่องในโอกาสอะไร” ผมถาม

“ไปดิ้นกัน พี่อี๊ดเค้าอยากไป เลยชวนพวกเราไปด้วย” พิมพ์ตอบ

ไปดิ้นนี่หมายถึงไปดิสโก้เธค พิมพ์เป็นเพื่อนในแผนกที่สนิทกับผมเนื่องจากเราอยู่ในกลุ่มเดียวกันในวิชาปฏิบัติการหลายวิชา การทำงานแล็บด้วยกันต้องแบ่งงานกันทำและต้องรับผิดชอบร่วมกัน พิมพ์เป็นคนที่มีน้ำใจ นอกจากจะไม่เอาเปรียบเพื่อนแล้วยังมักเอื้อเฟื้อเพื่อนคนอื่นๆอยู่เสมอ เราจึงสนิทสนมกัน พิมพ์กับเพื่อนในกลุ่มมีนิสัยอยู่อย่างหนึ่งนั่นคือชอบสีสันและเรื่องบันเทิง พิมพ์ชอบเดินเที่ยวห้าง กินของอร่อย และแน่นอน ราคาก็ต้องแพงตามไปด้วย แต่นั่นไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับพิมพ์เนื่องจากเธออยู่ในครอบครัวที่มีฐานะดี พิมพ์กับเพื่อนอีกสามสี่คนที่คอเดียวกันมักติดสอยห้อยตามหนุ่มเมโทรอี๊ดไปโน่นมานี่อยู่เสมอ และไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือว่าโชคร้ายที่ผมก็ติดอยู่ในกลุ่มนี้เสียด้วย

“ไปไหนล่ะ นาซ่าเหรอ” ผมถาม “เราดิ้นไม่เป็นนะ ไม่เคยเข้าดิสโก้เธค”

สมัยนั้นยังเป็นยุคของดิสโก้เธคอยู่ แม้ว่าจะพ้นยุครุ่งเรืองสุดขีดไปแล้วก็ตาม ดิสโก้เธคชื่อดังที่ชื่อคุ้นหูแต่ไม่เคยเข้าก็ได้แก่นาซ่าสเปซี่โดมที่หัวหมาก รองลงมาก็เป็นเดอะพาเลสที่วิภาวดีรังสิต พอได้ยินว่าไปดิ้นก็เลยเดาชื่อนี้เอาไว้ก่อน หลังๆนี่อะไรที่ไม่เคยผมก็บอกไม่เคย ไม่ต้องอายแล้วเนื่องจากสนิทสนมกัน อะไรที่ไม่เคยผมก็พร้อมที่จะเรียนรู้

“อุ๊ยเธอนี่ ไปไหนก็ไม่เคยไปสักที่” พิมพ์หัวเราะ “แล้ว ส.โบตั๋นล่ะ เคยเข้าหรือยัง”

“ใกล้มหาลัยเกินไป ไม่เข้าหรอก เดี๋ยวหึ่งไปทั่วคณะ” ผมพูดเพื่อรักษาฟอร์ม

“หา แล้วเคยไปเข้าที่ไหน เคยเที่ยวผู้หญิงแล้วเหรอ” พิมพ์ทำตาโต หูผึ่ง เพื่อนๆที่อยู่ในห้องหันมามองผมเป็นตาเดียว

“ของแบบนี้ใครไปแล้วเอามาเล่ากันล่ะ” ผมออกลีลาต่อไปอีก

“ก็เล่าให้ชั้นฟังนี่แหละ ชั้นอยากรู้” พิมพ์ตอบ “เคยไปเที่ยวที่ไหนมา บอกหน่อยซิ”

“ไม่บอกโว้ย” ผมพูด

“ชิชิ เห็นหน้าตาละอ่อน อะไรก็ไม่เคย นึกว่าไก่อ่อน ที่แท้ก็ร้ายนะไอ้อู” พิมพ์แซว

“ตกลงว่าจะไปที่ไหน” ผมเบี่ยงประเด็นให้ห่างตัวออกไป

“ไปฟลามิงโก” พิมพ์พูด “เอาเสื้อมาเปลี่ยนด้วยนะ”

“เดี๋ยวก่อน มันอยู่ที่ไหน” ผมซัก

“อยู่ในโรงแรมแอมบาสซาเดอร์” พิมพ์ตอบ

“แล้วโรงแรมนี้อยู่ที่ไหน” ผมซักต่อ ยังไม่หายข้องใจ

“เธอนั่งรถไปกับพวกเรา ไม่ได้นั่งรถเมล์ไปเอง จะซักไปทำไม” พิมพ์ตอบ “อยู่สุขุมวิท ซอย ๑๑”

“ทำไมต้องเปลี่ยนเสื้อด้วยล่ะ” ผมสงสัย

“จะไปดิ้นทั้งชุดนักศึกษานี่น่ะเหรอ มันก็ต้องเปลี่ยนเป็นชุดเที่ยวสิเธอ”

“แล้วชุดเที่ยวนี่มันเป็นยังไง จะได้แต่งถูก” ผมซักอีก

“โอ๊ย” พิมพ์ร้องกรี๊ดกับคำถามอันมากมายของผม “ใส่อะไรมาก็ได้ที่ไม่ใช่เสื้อขาวแบบนักศึกษาก็แล้วกันพ่อคุณ ถ้ามีเสื้อเชิ้ตหรือเสื้อฮาวายสีสดใสก็ยิ่งดี จะถามอะไรอีกไหม จดใส่กระดาษมาก็ได้นะ จะได้ตอบให้ทีละข้อไปเลย”

เสื้อฮาวายอะไรนั่นผมไม่มีหรอก มีแต่เสื้อเชิ้ตใส่ไปเรียน สีขาวกับสีพื้นอ่อนๆไม่กี่ตัว นอกนั้นก็เป็นเสื้อยืดทั้งหมด

“หมดแล้ว ไม่ต้องประชดหรอก เฮอะ” ผมบ่นบ้าง “เดี๋ยวก็ไม่ไปซะหรอก”

Thursday, September 1, 2011

ภาคสี่ ตอนที่ 41


ทางด้านการเรียนนั้นเมื่อเปิดเทอมใหม่ๆการเรียนในแผนกดูเหมือนจะไม่ยาก แต่เมื่อเรียนไปได้สักพักหนึ่งก็กลายเป็นว่าการปีสองนั้นไม่ง่ายเลย ตำราส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษแต่ก็พออ่านรู้เรื่องเนื่องจากใช้ภาษาที่ไม่ยาก หากรู้ศัพท์เทคนิคในสาขานั้นๆก็อ่านเข้าใจได้ แต่ที่ยากกลับเป็นตำราภาษาไทยเพราะบางวิชาอ่านอย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง สุดท้ายก็ต้องไปหาฉบับภาษาอังกฤษมาอ่าน

การเรียนในปีนี้มีวิชาภาคปฏิบัติมากขึ้น มีทั้งวิชาแล็บที่ทำการทดลองในห้องทดลอง กับวิชาทางด้านอุตสาหกรรม วิชาภาคปฏิบัติทางด้านอุตสาหกรรมจะเรียนในห้องปฏิบัติการอุตสาหกรรมซึ่งมีสภาพคล้ายโรงงานขนาดเล็ก ภายในห้องมีอุปกรณ์อย่างเดียวกับที่ใช้ในโรงงานขนาดเล็ก อย่างเช่น หม้อต้มความดันหรือที่เรียกว่าบอยเลอร์ เครื่องกรอง รีแอกเตอร์ ฯลฯ การเรียนวิชาภาคปฏิบัติต้องเรียนเป็นกลุ่มและทำรายงานกลุ่มหลังจากการเรียนหรือทำการทดลองในแต่ละครั้ง ซึ่งการเรียนและทำรายงานวิชาภาคปฏิบัตินี้เป็นเรื่องที่ใช้เวลา บางทีเก็บข้อมูลการทดลองภายในเวลาเรียนแล้วยังได้ไม่ครบก็ต้องรอเก็บหลังเลิกเรียนต่อ บางวันก็อาจต้องอยู่จนค่ำ แต่ก็ยังโชคดีที่มีไม่บ่อยนัก นอกจากนี้บางครั้งยังมีการการทัศนศึกษาโดยออกไปดูโรงงานจริงอีกด้วย

แม้ว่าการเรียนจะใช้เวลาและบางครั้งใช้เวลาไม่แน่นอน แต่ในที่สุดผมก็ตัดสินใจรับสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์ ม.๔ ต่อจากไอ้กี้ ในยุคนั้นนักศึกษาคณะวิศวะกับคณะเทคโนนิยมหารายได้เสริมด้วยการสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์ซึ่งถือว่าเป็นวิชายากในการสอบเอนทรานซ์ของนักเรียนชั้น ม.ปลาย บางคนก็สอนแบบตัวต่อตัว บางคนก็สอนเป็นกลุ่ม ตอนเย็นๆมักเห็นนักศึกษากับนักเรียนติวกันตามม้านั่งหินภายในบริเวณมหาวิทยาลัย หรือไม่อย่างนั้นก็อาจไปติวกันในร้านอาหารแบบฟาสต์ฟูด

แรงจูงใจที่ทำให้ผมตัดสินใจสอนพิเศษส่วนหนึ่งก็เนื่องจากเห็นคนอื่นสอนกันผมก็เลยอยากลองดูบ้าง นอกจากนี้ก็ยังอยากหารายได้พิเศษด้วยเนื่องจากตอนปีสองนั้นกินและเที่ยวมากขึ้นกว่าเดิมจนเบี้ยเลี้ยงแต่ละเดือนไม่พอใช้ เมื่อไม่อยากขอจากทางบ้านเพิ่มก็ต้องหาเงินใช้เอง อีกอย่างหนึ่งคือสอนในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันว่างด้วย อยู่ที่หอก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน สู้สอนพิเศษหารายได้น่าจะดีกว่า

ไอ้กี้ใช้ลูกไม้ในการเลิกสอนแบบเนียนๆด้วยการบอกกับนักเรียนและพ่อแม่ของนักเรียนว่าช่วงนี้มันมีงานที่ต้องช่วยทางบ้านในวันหยุด จะหาเพื่อนมาสอนแทนให้ชั่วคราวไปก่อน หลังจากนั้นก็ให้ผมสอนไปเรื่อยๆโดยที่ไอ้กี้ไม่มีวันกลับไปสอนอีก

“เฮ้ย แล้วเค้าจะไม่ว่าเอาหรือไงถ้าในที่สุดมึงไม่กลับไปสอนอีก” ผมถามไอ้กี้ ยังไม่ค่อยแน่ใจกับวิธีของมันนัก “ไปโกหกแบบนี้ดูจะไม่เหมาะ เกิดเค้ารู้ความจริงเข้าจะว่าเอาได้ว่ากูกับมึงสมรู้กันหลอกเขา เสียหมาหมด”

“ไม่ว่าหรอก” ไอ้กี้ตอบแบบสบายๆ “ถ้ามึงสอนดีเค้าก็ไม่สนใจกูหรอกว่าจะมาหรือไม่มา เค้าสนใจอยู่ที่ว่าสอนลูกเค้าให้ได้ผล ใครสอนก็ไม่ต่างกันหรอก มึงอย่าขี้กังวลนักเลย”

“เข้าใจพูดนะมึง” ผมตอบ “เอาก็เอา ลองดูก็ได้วะ”

ในที่สุดไอ้กี้ก็ดำเนินตามแผนที่มันวางเอาไว้ โดยบอกว่าจะหาเพื่อนมาสอนแทนไปก่อนในช่วงที่มันไม่อยู่ ส่วนผมนั้นก็ใช้เวลาเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนการสอนประมาณ ๑ สัปดาห์

เนื่องจากไม่เคยสอนพิเศษมาก่อน ดังนันจึงยังไม่รู้เทคนิคการสอนใดๆ ก็ได้แต่เตรียมตัวสอนไปตามหัวข้อในหนังสือคณิตศาสตร์ ของ สสวท. บวกกับหาข้อสอบเอนทรานซ์กับโจทย์กับเฉลยจากหนังสือติวต่างๆเอามาเตรียมเอาไว้ เมื่อเรียนถึงบทไหนก็จะเอาข้อสอบที่เกี่ยวกับบทนั้นๆมาทำด้วยกันกับนักเรียน ทีแรกนึกว่าจะใช้เวลาเตรียมตัวไม่นาน แต่พอลงมือเตรียมตัวจริงๆกลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ผมใช้เวลานานกว่าที่คาดเอาไว้มาก โดยเฉพาะการเตรียมข้อสอบเอนทรานซ์กับโจทย์ต่างๆนั้นผมต้องลองทำเองก่อนทุกข้อ และต้องพยายามอธิบายให้ได้ด้วยว่าทำไมต้องทำวิธีนั้น ทำด้วยวิธีอื่นได้หรือไม่ ฯลฯ ผลปรากฏว่าผมต้องกลับหอพักเร็วกว่าปกติและใช้เวลาเตรียมตัวอยู่จนดึกทุกวันจนตลอดสัปดาห์ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ใช้เวลาแต่ในตอนนั้นผมมีความกระตือรือร้นมาก จึงกลับมองว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย

ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ผมจะไปสอน ผมออกจากมหาวิทยาลัยประมาณบ่ายสี่โมงครึ่งทุกวัน กว่าจะกลับไปถึงหอพักก็เกือบๆหกโมง หลังจากนั้นก็จะกินอาหารและเตรียมงานสอนอยู่จนหลังเที่ยงคืนจะเข้านอน และในช่วงนี้เองที่ผมพบจุ๋มที่ป้ายรถเมล์เกือบทุกวัน จนผมสังเกตได้ว่าจุ๋มจะมารอรถเพื่อกลับบ้านในช่วงเวลาประมาณสี่โมงครึ่ง ยกเว้นบางวันที่ติดซ้อมดนตรีจึงกลับช้ากว่านั้น

“เอ๊ะ ทำไมหมู่นี้เราเจอกันบ่อย” ผมทักทายจุ๋มเมื่อเราพบกันที่ป้ายรถเมล์ในตอนเย็นวันหนึ่ง วันนั้นจุ๋มยืนอยู่หน้าร้านถ่ายรูปนครอาร์ต

“นั่นสิ เบื่อแย่เลย” จุ๋มพูด

“อ้อ เบื่อพี่เหรอ งั้นวันหลังพี่หลบไปยืนไกลๆก็ได้ จุ๋มจะได้ไม่ต้องเห็นพี่” ผมพูด

“เปล่า จุ๋มหมายความว่าพี่อูจะเบื่อจุ๋มแย่เลยต่างหาก” จุ๋มหัวเราะ “แต่ถ้าพี่อูจะคิดแบบนั้นก็ตามใจ สงสัยจะหัวล้าน”

“เอ๊ะ เรานี่ เอายังไงกันแน่” ผมหัวเราะบ้างจากนั้นเปลี่ยนหัวข้อสนทนา “กลับบ้านเร็วเกือบทุกวันเลยนะ”

“ฮื่อ” จุ๋มพยักหน้า “ยกเว้นวันไหนซ้อมก็กลับช้าหน่อย”

“แล้วทำไมต้องกลับบ้านเร็วขนาดนี้ด้วยล่ะ” ผมถาม “เห็นคนอื่นต้องรอให้ดาวขึ้นก่อนจึงจะกลับบ้านถูก”

วัยรุ่นยุคนั้นก็เหมือนวัยรุ่นยุคนี้ ติดเพื่อนฝูง กลับบ้านช้า เถลไถลไปเรื่อย กว่าจะถึงบ้านก็ค่ำหรืออาจจะดึกเลยด้วยซ้ำ บางคนที่ไม่เที่ยวก็มัวแต่ขลุกอยู่ตามชมรมต่างๆจนเย็นจนค่ำ

“จุ๋มต้องทำงานบ้านด้วย” จุ๋มตอบ “ถ้ากลับบ้านช้ากว่าจะเสร็จก็ดึก”

“ชีวิตรันทดจริงๆ” ผมหัวเราะขำ แต่ดูเหมือนจุ๋มจะขำไม่ออก สีหน้าของเธอเปลี่ยนไปนิดหนึ่ง

ผมรู้ตัวว่าคงพูดอะไรผิดไปเป็นแน่ แม้ยังไม่รู้สาเหตุว่าพูดผิดตรงไหนแต่ผมก็รีบเปลี่ยนเรื่องทันที

“จุ๋ม... เอ้อ วันนี้พี่หิวนิดหน่อย ถ้าจุ๋มไม่รีบ ไปหาอะไรกินกันก่อนไหม” ผมเสนอ

เห็นจุ๋มทำสีหน้าลังเล ผมจึงรีบโน้มน้าวต่อ

“ไปกินที่ตลาดสามย่านนี่เอง กินเดี๋ยวเดียวก็เสร็จ ไม่เสียเวลามากหรอก และที่สำคัญ พี่เลี้ยงด้วยนะ”

“เลี้ยงจริงนะ” จุ๋มมีท่าทีดีใจพร้อมกับทำสีหน้าคาดคั้น จนผมอดขำไม่ได้

“จะหลอกทำไมล่ะ จุ๋มกินไม่จุ แค่นี้พี่เลี้ยงได้อยู่แล้ว” ผมย้ำ

“งั้นวันนี้จะกินให้พุงแตกเลย” จุ๋มพูด ทำสีหน้าแบบว่าแกเสร็จฉันแน่คราวนี้

“แหะ งั้นจำกัดงบประมาณเอาไว้ที่ยี่สิบบาทก็แล้วกัน” ผมกลับคำทันที “เกินกว่านั้นจุ๋มออกเอง”

“โอ๊ย พี่นี่” จุ๋มหัวเราะ “ทำไมขี้เหนียวยังงี้”

“ไม่ได้ขี้เหนียว แต่ยังไม่อยากล่มจม” ผมแก้ตัว “ไปกันเถอะ ไม่นานหรอก”

จุ๋มพยักหน้า จากนั้นเราก็เดินเข้าไปในซอยเล็กๆที่อยู่ใกล้ๆร้านนครอาร์ต ตลาดสามย่านในยุคนั้นอยู่หลังป้ายรถเมล์นั่นเอง เพียงคั่นด้วยตึกแถวริมถนนเท่านั้น ระหว่างตึกแถวจะมีซอยเล็กๆที่สามารถเดินเข้าไปถึงตลาดสามย่านได้

ตัวตลาดสามย่านนั้นชั้นล่างเป็นตลาดสด เปิดมายี่สิบกว่าปีแล้ว เดิมเป็นตลาดสดเก่าๆ โทรมๆ ลักษณะเฉพาะของตลาดสดรุ่นเก่าก็คือพื้นตลาดต้องเจิ่งนองไปด้วยน้ำสกปรก เวลาเดินต้องระวังน้ำกระเด็นโดนขาหรือว่าระวังน้ำที่เจิ่งนองบนพื้นซึมเข้าไปในรองเท้า ต่อมาตลาดสามย่านถูกปรับปรุงใหม่ให้เป็นตลาดสดทันสมัย ทางเดินยกสูง มีรางระบายน้ำด้านข้าง เวลาเดินไม่เฉอะแฉะ การปรับปรุงเกิดขึ้นก่อนหน้าที่ผมเข้ามาเรียนเพียงไม่กี่ปี ตอนที่ผมเรียนอยู่แถวนั้นตลาดสดสามย่านก็อยู่ในสภาพที่ทันสมัยและน่าเดินแล้ว

เราสองคนเดินขึ้นไปยังชั้นสอง ตลาดสามย่านนี้เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างเป็นตลาดสด ชั้นบนเป็นศูนย์อาหาร มีร้านอาหารให้เลือกมากมายทั้งระดับราคาปานกลางไปจนถึงระดับราคาแพง นอกจากร้านอาหารแล้วยังมีสำนักติวอยู่ด้วย ตอนนั้นมีอยู่สองแห่ง ห้องติวแต่ละแห่งมีขนาดไม่ใหญ่นัก จัดติวได้เพียงชั้นเรียนขนาดเล็ก

ชั้นสองในยามบ่ายแก่ยังไม่ถึงกับแน่นขนัด ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักศึกษากับนักเรียนในย่านนั้น แต่เมื่อหลังเลิกงานไปแล้วจะมีคนทำงานมากินอาหารด้วย ถ้ามาในตอนหัวค่ำจะเห็นร้านอาหารคลาคล่ำไปด้วยผู้คน กลิ่นและควันจากการปรุงอาหารคลุ้งไปหมด โดยเฉพาะหากเป็นร้านชื่อดังจะมีคนไปนั่งรอคิวกันเลยทีเดียว

เราสองคนเลือกนั่งที่หน้าร้านขายขนมพวกน้ำแข็งไสและน้ำหวาน สั่งน้ำกับขนมมากินและนั่งคุยกันไป จุ๋มเป็นหญิงสาวที่มีอารมณ์ขัน ใบหน้าของเธอมักประดับด้วยรอยยิ้มเสมอ ยิ่งรู้จักกันดีขึ้นผมก็พบว่าเธอก็ชอบแกล้งและชอบแซวเหมือนกัน ไม่ใช่เด็กสาวที่เงียบและเรียบร้อยเหมือนเมื่อตอนที่ได้พบครั้งแรก เวลาผ่านไปอย่างไม่รู้ตัว เรานั่งคุยกันอยู่นานพอสมควรจนจุ๋มยกข้อมือขึ้นดูเวลา เธอก็ทำสีหน้าตกใจ

“อุ๊ย ต้องกลับแล้วละพี่อู ห้าโมงกว่าแล้ว” เธอพูด

“ห้าโมงกว่าแล้วเหรอ นึกว่าสี่โมงกว่าเอง” ผมพยายามถ่วงเวลา “ดูเวลาผิดมั้ง”

“พี่อูก็ดูนาฬิกาของพี่สิ มันจะสี่โมงกว่าได้ยังไง ตอนที่เราอยู่ที่ป้ายรถเมล์ก็เลยสี่โมงครึ่งมาแล้ว” จุ๋มพูด พลางลุกจากที่นั่ง “กลับกันเถอะพี่อู”

“เอ้า กลับก็กลับ” ผมจนใจที่จะเหนี่ยวรั้งให้นั่งคุยกันต่อ ดังนั้นจึงจ่ายเงินค่าขนมและเดินไปที่ป้ายรถเมล์ด้วยกัน เมื่อรถเมล์สาย ๓๔ มาก่อน จุ๋มก็ขอตัวกลับไปก่อน

“ไม่รอรถ ปอ.๒ ล่ะ เย็นกว่านะ” ผมแนะนำ เราจะได้คุยกันต่อในรถได้

“ไม่ไหวละพี่ นานๆมาสักคัน จุ๋มรีบกลับก่อนดีกว่า ไปละค่ะพี่อู” จุ๋มปฏิเสธ พลางเดินขึ้นรถเมล์สาย ๓๔ ไป

- - -

วันเสาร์

ในที่สุดวันที่ผมจะต้องไปสอนพิเศษเป็นครั้งแรกในชีวิตก็มาถึง เดิมไอ้กี้ไปสอนตั้งแต่เวลาบ่ายโมงจนถึงบ่ายสี่โมง รวม ๓ ชั่วโมง ผมจึงไปสอนตามเวลาเดิม

ผมออกจากหอพักตั้งแต่ ๑๐ นาฬิกากว่าๆ นั่งรถเมล์สาย ๙๒ ไปลงหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่หัวหมาก จากนั้นนั่งรถเมล์จากหน้ารามไปลงที่ปากซอยสุขุมวิท ๗๑ หลังจากนั้นจึงต่อถเมล์ไปลงที่ปากซอยสุขุมวิท ๑๐๑ หรือที่เรียกกันว่าซอยปุณณวิถี จากนั้นเดินเข้าซอยไปประมาณ ๕๐๐ เมตรจึงจะถึงบ้านนักเรียนที่ผมจะสอน สมัยนี้มีแผนที่กูเกิล จะไปไหนก็สามารถศึกษาเส้นทาง สายรถเมล์ และระยะทางล่วงหน้าได้อย่างสะดวก แต่ในยุคนั้นไม่มีเครื่องมืออะไร แผนที่ กทม. ก็มีแต่ต้องซื้อจากร้านหนังสือซึ่งซื้อแล้วดูครั้งเดียวก็ไม่คุ้ม จึงต้องอาศัยการสอบถามจากคนอื่นและเดินทางแบบลองผิดลองถูกเอา

การไปสอนพิเศษวันแรกของผมนั้นทุลักทุเลพอสมควร นั่งรถอยู่สองสามชั่วโมง การจราจรในถนนลาดพร้าว รามคำแหง ตลอดไปจนสุขุมวิทในวันเสาร์คับคั่งตลอด แถมยังมีหลงทางขึ้นรถผิดอีกนิดหน่อย อีกทั้งยังต้องเดินเข้าซอยอีก โชคดีที่ผมเผื่อเวลาเอาไว้มากจึงไม่ได้ไปสาย แต่กว่าจะไปถึงเหงื่อก็ไหลโชกเต็มเสื้อไปหมด ตอนที่คุยกับไอ้กี้และมันบ่นให้ฟังถึงเรื่องระยะทางอันแสนไกลผมยังคิดว่ามันสำออย ผมเรียนไกลมาตั้งแต่เด็ก ช่วงที่เรียนมัธยมเดินทางจากลาดพร้าวไปสะพานพุทธอยู่หลายปี ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยนี้ก็ไม่ถือว่าใกล้ ดังนั้นเรื่องเดินทางไกลผมจึงค่อนข้างชินกับมัน แต่การเดินทางมาสอนพิเศษนี่เป็นระยะทางไกลอย่างที่ผมคาดไม่ถึง

ผมหาบ้านตามบ้านเลขที่ที่ไอ้กี้จดให้ เมื่อพบบ้านที่ต้องการ ผมจึงกดกริ่งที่เสารั้วหน้าบ้าน

บ้านนี้ดูจากภายนอกเห็นเป็นหลังใหญ่ ตัวบ้านปลูกจนเกือบชิดกำแพงแทบไม่มีระยะเว้น รอสักครู่ประตูเล็กที่หน้าบ้านก็เปิดออกพร้อมกับเด็กวัยรุ่นชายรูปร่างกะทัดรัดคนหนึ่งชะโงกหน้าออกมา

วัยรุ่นคนนี้ตัวไม่สูงนัก อายุราว ๑๕ ปี ใส่เสื้อยืด กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ รูปร่างปานกลาง ไม่อ้วนไม่ผอม ไว้ผมรองทรงสูง ผิวสีแทน ใบหน้าสั้นแต่สมส่วน ปลายคางมน จมูกเล็กและรั้นเล็กน้อย ปากเล็ก ริมฝีปากบาง รวมความแล้วหน้าตาน่ารักทีเดียว เพียงเห็นปราดแรกผมก็รู้ว่าวัยรุ่นคนนี้คือนักเรียนของผม

ผมรู้สึกสะดุดอยู่ในใจเล็กน้อย มันเป็นความรู้สึกแปลกๆที่อธิบายไม่ถูก รูปร่างที่กะทัดรัดของเด็กคนนี้ทำให้ผมอดนึกถึงไอ้น้องบอยไม่ได้แม้ว่าหน้าตาจะไม่เหมือนกันก็ตาม

“ป้อมใช่ไหมครับ” ผมทักทาย

นักเรียนของผมพนักหน้าตอบโดยไม่พูดอะไร ดูท่านายคนนี้จะเป็นโรคพิกุลทองจริงๆ

“พี่ชื่ออูนะครับ มาสอนแทนพี่กี้” ผมแนะนำตัว

ป้อมไม่พูดอะไรแต่เปิดประตูบานเล็กให้กว้างขึ้นเป็นทีเชื้อเชิญให้ผมเข้าไปข้างในบ้าน

เมื่อผมก้าวเข้าประตูเล็กไปก็แลเห็นบ้านขนาดใหญ่ พร้อมกับโรงรถขนาดใหญ่ ในโรงรถว่างเปล่าไม่มีรถจอดอยู่ ป้อมพาผมเดินเข้าไปในตัวบ้าน เมื่อผมก้าวเข้าไปในบ้าน ความคิดวูบแรกของผมก็คือคิดถึงบ้านของเวช เพื่อนร่วมห้องสมัยมัธยมปลาย บ้านนี้ดูจากขนาดและการตกแต่งทำให้รู้ได้ว่าเป็นบ้านของครอบครัวที่มีฐานะ จึงทำให้ผมอดคิดถึงเวชไม่ได้ น่าแปลกที่การมาสอนพิเศษที่บ้านนี้ทำให้ผมอดหวนคิดถึงเรื่องเก่าๆไม่ได้

ป้อมพาผมเข้าไปที่ห้องเล็กๆห้องหนึ่ง ดูจากการตกแต่งที่มีตู้หนังสือและโต๊ะทำงานที่มีเก้าอี้สองตัวตั้งตรงข้ามกันทำให้รู้ได้ว่าเป็นห้องทำงาน ห้องนี้คงเป็นห้องเรียนพิเศษของป้อม ป้อมพาผมเดินมาที่โต๊ะทำงานและนั่งลงที่ด้านหนึ่ง

“คุณพ่อคุณแม่อยู่ไหมป้อม พี่อยากไปสวัสดีคุณพ่อคุณแม่ของน้องเสียก่อน” ผมพูด

ป้อมส่ายหน้า

“คุณพ่อคุณแม่ไม่อยู่เหรอ” ผมถาม ความรู้สึกเหมือนกับว่าตนเองกำลังเล่นเกมยี่สิบคำถามอยู่

ป้อมพยักหน้า

“อ้อ ถ้ายังงั้นเรามาเริ่มเรียนกันเลยก็แล้วกัน” ผมพูด

ป้อมหยิบหนังสือและสมุดสองสามเล่มออกมาจากเป้ที่วางอยู่บนโต๊ะทำงาน เห็นเป็นหนังสือเรียนคณิตศาสตร์ ม.๔ กับสมุดจด พลางหยิบปากกาขึ้นมา แสดงท่าทีพร้อมที่จะเรียน

ตั้งแต่เข้าบ้านมา ป้อมยังไม่ได้พูดอะไรเลยสักคำ นี่ถ้าไม่ได้รู้จากไอ้กี้มาก่อนว่าป้อมพูดได้ผมคงคิดว่าป้อมเป็นใบ้ จากข้อมูลที่ไอ้กี้ถ่ายทอดแก่ผม ป้อมเป็นลูกคนเดียว พ่อแม่ต้องการให้ลูกเรียนเก่งและสอบเอนทรานซ์เข้าคณะวิศวฯ จุฬาฯให้ได้ จึงพยายามกวดวิชาให้ลูกตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น ตัวของป้อมเองนั้นพูดน้อยมากถึงมากที่สุด ไอ้กี้เองก็แทบไม่รู้ว่าป้อมมีพื้นคณิตศาสตร์แค่ไหนเนื่องจากสอนอะไรก็พยักหน้าอย่างเดียว รวมทั้งไม่ค่อยถามอะไรอีกด้วย

ผมรู้สึกกระหายน้ำมาก แต่รออยู่สักพักก็ไม่เห็นป้อมที่เป็นเจ้าบ้านจะหาน้ำมาเลี้ยงแขกตามธรรมเนียมเสียที เมื่ออดรนทนกระหายไม่ได้จึงต้องทำหน้าด้านขอน้ำดื่ม

“เอ้อ น้องป้อม” ผมพูด “ขอน้ำเย็นสักแก้วได้ไหม พี่นั่งรถมาไกล หิวน้ำมากเลย”

ป้อมไม่พูดอะไร เดินออกจากห้องเรียนหนังสือหายไปพักหนึ่ง จากนั้นก็เข้ามาพร้อมกับน้ำเย็นหนึ่งแก้ว ผมยกแก้วขึ้นดื่มรวดเดียวหมดแก้วด้วยความกระหาย ขอเท่าไรก็ให้เท่านั้นจริงๆ รู้ยังงี้ขอสักสองสามแก้วดีกว่าเพราะแก้วเดียวยังไม่ทันได้ดับกระหายเลย

“เอ้า เรามาเริ่มเรียนกันดีกว่า” ผมพูดกับป้อม “ที่ป้อมเรียนกับพี่กี้ไปมีอะไรที่ไม่เข้าใจไหม พี่จะได้ทวนให้ก่อนที่จะไปต่อ”

ป้อมส่ายหน้า ผมเริ่มรู้สึกอึดอัด เข้าใจแล้วว่าการพูดกับลมกับแล้งนั้นเป็นความรู้สึกเช่นไร




<ตลาดสามย่านเดิม คือตลาดที่อยู่หลังป้ายรถเมล์สามย่าน หรือในซอยจุฬา ๑๕ ตลาดสามย่านนี้เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เดิมเป็นตลาดเอกชน ต่อมามอบให้ฝ่ายทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้บริหารจัดการ ในยุคดั้งเดิมของตลาดสามย่าน ชั้นล่างเป็นตลาดสดที่พื้นเจิ่งนองไปด้วยน้ำสกปรกจากแผงตามแบบตลาดสดทั่วไป ส่วนชั้นบนเป็นแผงขายอาหาร ด้านหลังของตลาดจะมีรถเข็นขายอาหารและขนมมาตั้งโต๊ะเก้าอี้ชั่วคราวขายกันคับคั่งในตอนเย็นและมีลูกค้ามาอุดหนุนกันมาก


ต่อมามีการปรับปรุงตลาดสามย่านเสียใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยปรับปรุงพื้นตลาดสดให้แห้งและสะอาด แผงต่างๆก็ได้รับการปรับปรุงให้สะอาดถูกสุขอนามัยยิ่งขึ้น หลังปี ๒๕๓๐ รถเข็นขายอาหารที่มาชุมนุมหลังตลาดตอนเย็นหายไปจนหมด เข้าใจว่าถูกห้ามขาย ในภาพเป็นตลาดสามย่านเดิมที่ปรับปรุงแล้ว ภาพย่อยบนเป็นอาคารตลาดสามย่านที่มองจากภายนอก ภาพย่อยล่างซ้ายเป็นตลาดสดชั้นล่าง ภาพย่อยล่างขวาเป็นศูนย์อาหารชั้นบน>




<ต่อมาเจ้าของพื้นที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ในย่านนั้นเสียใหม่ จึงเรียกที่เช่าคืนทั้งบริเวณ ทั้งตลาดสามย่านโรงเรียน และอาคารพาณิชย์ในย่านนั้นทั้งหมด ตลาดสามย่านใหม่ถูกสร้างขึ้นในบริเวณซอย ๓๒-๓๔ เป็นการทดแทนและก็คือตลาดสามย่านในปัจจุบัน ตำนานของตลาดสามย่านเดิมได้ถูกปิดลงในตอนกลางปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ในภาพเป็นสภาพชั้นบนของตลาดสามย่านเดิม มีห้องติวและร้านอาหารมากมาย อาหารราคาตั้งแต่ปานกลางจนถึงแพง>