Saturday, July 30, 2011

ภาคสี่ ตอนที่ 38

ชีวิตนักศึกษาชั้นปีที่สองของผมนั้นดูเหมือนจะเริ่มต้นอย่างราบรื่น วิชาเรียนในแผนกดูน่าสนใจดี หากเป็นวิชาในแผนกชั้นเรียนแต่ละวิชามีผู้เรียนไม่มากนัก ทำให้ตอนเรียนรู้สึกใกล้ชิดกับอาจารย์ผู้สอน ต่างจากการเรียนในห้องบรรยายขนาดใหญ่ตอนชั้นปีหนึ่งที่แทบจะมองใบหน้าผู้สอนไม่เห็น นอกจากนี้อาจารย์ผู้สอนที่เป็นอาจารย์ในแผนกดูจะทำตัวสนิทสนมใกล้ชิดกับนักศึกษามากกว่าอาจารย์ที่สอนวิชาปีหนึ่ง

เรื่องหนึ่งที่ทำให้อึดอัดใจอยู่บ้างก็คือสถานะของผม การที่สอบเทียบมาทำให้เพื่อนรุ่นเดียวกันกลายเป็นรุ่นน้อง ผมจะวางตัวแบบรุ่นพี่ก็ลำบากใจ ขณะเดียวกันพวกปีหนึ่งที่รู้ว่าผมสอบเทียบมาก็มักไม่คิดว่าผมเป็นรุ่นพี่ ดังนั้นสถานะของนักศึกษาชั้นปีสองที่สอบเทียบมาในสายตาของพวกปีหนึ่งจึงเป็นเพียงนักศึกษาชั้นปีหนึ่งครึ่งเท่านั้น คือมีสถานะครึ่งๆกลางๆ ไอ้กี้และเพื่อนคนอื่นๆก็มีความรู้สึกแบบเดียวกัน ดังนั้นพวกปีหนึ่งครึ่งหลายคนจึงไม่ว้ากน้องเพราะว่าบางทีว้ากไปก็โดนด่ากลับ สำหรับผมเองนั้นไม่ชอบการว้ากน้องอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็มีปัญหาเรื่องการวางตัวบ้างเหมือนกัน

ตั้งแต่เปิดเทอมมา ผมพยายามหลบเลี่ยงเพ็ญมาตลอด จะเดินไปที่ไหนในคณะก็พยายามสอดส่ายสายตามองหาเพ็ญไปด้วย หากเจอจะได้หลบ แต่เท่าที่ผ่านมาหลายวันก็ยังไม่เจอเพ็ญเลยแม้แต่ในโรงอาหารเวลาพักเที่ยง จนผมรู้สึกเบาใจ คิดว่าเพ็ญคงพยายามไม่เจอผมเหมือนกัน ส่วนที่ชมรมวิชาการนั้นเพ็ญไม่ได้มาช่วยงานแล้ว ผมจึงเดินเข้าออกชมรมได้อย่างสบายใจ

ผมย่ามใจอยู่ได้เพียงไม่กี่วัน ในที่สุดผมก็ปะกับเพ็ญเข้าอย่างจังในตอนบ่ายวันหนึ่ง เราเดินสวนกันตรงบันไดหน้าตึกเรียนหลังหนึ่งในคณะขณะที่เราทั้งสองคนต่างก็กำลังเดินอยู่ในหมู่เพื่อนๆ ตอนที่ผมเจอเพ็ญนั้นผมไม่เห็นเธอเลยจนเมื่อเราเดินสวนกันในระยะกระชั้นชิด แม้ผมจะเตรียมใจเอาไว้บ้างแล้วแต่เมื่อเจอกันอย่างกะทันหันในระยะเผาขนเช่นนี้ผมก็ทำอะไรไม่ถูกไม่ชั่วขณะ

“เอ้อ เอ้อ เอ้อ...” ผมตั้งตัวไม่ถูก “หวัดดีเพ็ญ”

“หวัดดีจ้ะอู” เพ็ญอึ้งไปนิดหนึ่งเช่นกัน จากนั้นก็ทักทายผมพร้อมกับส่งยิ้มให้ เพ็ญควบคุมอารมณ์ได้ดีมาก กิริยาของเพ็ญเหมือนกับการทักทายเพื่อนตามปกติ

เอ้อ... คือ... เพ็ญเป็นไงบ้าง สบายดีไหม” ผมตะกุกตะกัก อดรู้สึกละอายไม่ได้ที่รับมือกับสถานการณ์ไม่ได้ดีเท่ากับเพ็ญ

“ก็สบายดี” เพ็ญตอบ “อูล่ะ เป็นไงบ้าง”

ผมมองหน้าเพ็ญ แต่ไม่กล้าสบตาเธอนานนัก ความรู้สึกผิดทำให้ผมไม่กล้าสู้หน้าเพ็ญ ไม่กล้าแม้แต่จะสบตาเพ็ญนานๆ แต่เท่าที่ได้สบตาเพ็ญแว่บหนึ่ง ผมเห็นแววตาของเธอดูเฉยเมย ผมเองก็แยกแยะไม่ออกเหมือนกันว่าแววตาแบบนี้ควรเรียกว่าเฉยเมยหรือเรียกว่าว่างเปล่าดี

“ก็ใช้ได้ แต่รุ่นน้องไม่ค่อยเกรงใจ คอยนึกว่าเราเป็นเพื่อนอยู่เรื่อย” ผมพยายามขำ

“เด็กสอบเทียบก็ยังงี้แหละ” เพ็ญยิ้ม “ต้องทำใจ”

ผมสะอึกกับคำว่าต้องทำใจ ไม่รู้ว่าเพ็ญตั้งใจพูดในความหมายอื่นหรือเปล่า

“แล้วนี่เพ็ญกำลังจะไปไหนล่ะ” ผมถาม

“กลับแผนก เมื่อกี้มาเรียนแถวนี้” เพ็ญตอบ

“อ้อ... ถ้ายังงั้น... แล้วเจอกันใหม่นะเพ็ญ” ผมนึกเรื่องพูดไม่ออก รู้สึกกระอักกระอ่วนกับสถานการณ์ จึงจบการสนทนาเอาดื้อๆ จากนั้นเราก็แยกย้ายกัน เมื่อเราเดินจากกันนั้นผมไม่กล้าหันหลังกลับไปมองเพ็ญอีกเลย

“เฮ้อ... หรือว่าถ่านไฟเก่าจะลุกโชนขึ้นมาอีก” เพื่อนที่เดินมาด้วยกันรำพึงเบาๆ

“...”

“ดูไอ้อูมันทำเข้าสิ เย็นชาซะนาดนี้ มันจะไปโชนได้ยังไง” อีกคนหนึ่งพูดต่อ เรื่องที่ผมคบกับเพ็ญเป็นแฟนกันนั้นเป็นเรื่องที่ลือกันจนรู้ไปทั่วคณะ คือเป็นเรื่องที่เอาไปพูดกันโดยที่แม้ผมจะแก้ต่างอย่างไรก็ไม่มีใครเชื่อ อีกทั้งเมื่อตอนที่ผมหลบหน้าเพ็ญ เพื่อนๆก็เอาไปลือกันทั่วคณะอีกว่าเราสองคนเลิกกัน

“ตกลงมึงเลิกกับเพ็ญเพราะอะไรกันแน่วะไอ้อู” เพื่อนถามต่ออีก “มึงได้ยังงี้แล้วจะเอาอะไรอีก”

“ก็บอกแล้วว่าไม่ได้เป็นแฟนกัน เป็นเพื่อนสนิทกัน แล้วจะมาเลิกกันได้ยังไง” ผมเถียงไปข้างๆคูๆ “มึงพูดเรื่องนี้มาร้อยครั้งแล้วมั้ง เบื่อโว้ย”

“กูก็เบื่อความปากแข็งของมึงเหมือนกัน ท่าทางเค้ายังงั้นน่ะนะที่มึงบอกว่าเป็นเพื่อนสนิท” เพื่อนยังไม่ยอมเลิก

“ท่าทางเพ็ญเป็นยังไงเหรอ” ผมถาม ผมว่าเพ็ญนิ่งมากจนผมดูไม่ออก แต่บางทีเพื่อนๆอาจเห็นอะไรบ้างก็ได้

“ก็ยายเพ็ญนิ่งซะขนาดนั้น ดูก็รู้ว่าแกล้งทำเป็นไม่มีอะไรเพื่อกลบเกลื่อน” เพื่อนตอบ

“มึงรู้ดีขนาดนั้นเลยนะ มีลูกอย่าลืมขอกูตัวนึงนะ คงแสนรู้แน่เลย” ผมหัวเราะ

“มึงก็เหมือนกัน ไอ้อู ท่าทางมึงหลุกหลิกเหมือนคนมีพิรุธ แล้วยังมาทำพูดตลกฝืดกลบเกลื่อนอีก กูดูไม่ออกก็หน้าง่าวแล้ว” เพื่อนใช้ภาษาเหนือเสียด้วย

“บอกแล้วไม่เชื่อก็ไม่รู้จะว่าไง” ผมยืนกระต่ายขาเดียว “แล้วแต่จะคิดก็แล้วกันโว้ย ไปก่อนดีกว่า”

พูดจบผมก็เดินปลีกตัวมาจากเพื่อนๆทันที

- - -

เมื่อแยกจากเพื่อนแล้ว ผมเดินลัดเลาะไปตามซอกตึกไปจนถึงสนามหญ้าขนาดใหญ่หน้าคณะ เดินตัดสนามหญ้าไปจากนั้นเดินต่อไปอีกหน่อยก็ถึงคณะศิลปะ วันนี้ผมมาหาพี่เหล่งเพื่อให้พี่เหล่งเลี้ยงตามนัดนั่นเอง

ผมเดินขึ้นไปจนถึงห้องพักนักศึกษาก็พบพี่เหล่งกำลังนั่งคุยอยู่กับนักศึกษาสาวปีหนึ่งสองคน

“หวัดดีครับพี่” ผมทักทาย

“แน่ะ อูมาได้เวลาพอดี กำลังรออยู่เลย” พี่เหล่งทักตอบ

“เรื่องกินเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะกินฟรี ผมไม่พลาดอยู่แล้วละพี่” ผมตอบ

“มากันพร้อมแล้ว ยังงั้นไปกันเลย” พี่เหล่งพูดกับสาวสองคนนั้น จากนั้นก็หันมาพูดกับผม “วันนี้พี่พาน้องไปกินด้วย”

เมื่อเห็นผมทำหน้างง พี่เหล่งจึงพูดต่อ “สองคนนี้เป็นน้องรหัสของน้องรหัสของพี่อีกทีหนึ่ง พอเค้ารู้ว่าพี่จะพาอูไปเลี้ยงเค้าเลยฝากให้เลี้ยงน้องรหัสของเค้าด้วย”

เอาน้องรหัสของตัวเองฝากให้พี่รหัสพาไปเลี้ยง ยังงี้ก็มีด้วย

“พี่รหัสของสองคนนี้ช่วงนี้เค้าต้องซ้อมหนักน่ะ เตรียมตัวลงแข่งไวโอลิน อีกไม่กี่วันก็จะแข่งแล้ว เลยฝากพี่พาไปเลี้ยงรับขวัญน้องใหม่รอบหนึ่งก่อน เมื่อแข่งเสร็จแล้วเค้าจะพาไปเลี้ยงเองอีกที” พี่เหล่งรีบอธิบายเพิ่มเติมเหมือนกับจะรู้ว่าผมยังมีคำถามอยู่ในใจ จากนั้นจึงแนะนำทุกคนให้รู้จักกัน “มาๆๆ พี่แนะนำน้องๆให้รู้จักกันก่อน คนนี้จุ๋ม คนนี้นา แล้วก็คนนี้พี่อู อยู่ปีสองคณะเทคโน เป็นน้องรหัสของพี่เองจ้ะ”

เมื่อฟังพี่เหล่งอธิบายแล้วผมก็ไม่แปลกใจเนื่องจากรู้ดีว่าพี่เหล่งใจดีและเอาใจใส่น้อง ดีไม่ดีอาจไม่ใช่น้องรหัสฝากให้พาไปเลี้ยงแต่ว่าเป็นพี่เหล่งเสนอจะพาไปเองเสียด้วยซ้ำ

ผมพิจารณาดูน้องรหัสของน้องรหัสพี่เหล่งทั้งสองคน จุ๋มเป็นสาวหน้าหมวยสุดขีด ใบหน้าเรียว ตาชั้นเดียวแต่ทว่ากลมโต ต่างจากไอ้กี้ที่ตาชั้นเดียวแต่แทบจะดูไม่ออกว่าตอนไหนลืมตาตอนไหนหลับตา จุ๋มผิวขาว ตัวค่อนข้างสูงเพรียว ส่วนนานั้นผิวสีน้ำตาล ใบหน้าสั้น รูปร่างเตี้ยกว่า

พวกเราออกจากมหาวิทยาลัย เพื่อขึ้นรถเมล์ไปสยามสแควร์ สมัยนั้นนักศึกษาที่ขับรถมาเรียนก็พอมีบ้าง ส่วนใหญ่ใช้บริการรถประจำทางกันทั้งนั้น ถนนหนทางในมหาวิทยาลัยจึงดูโล่งๆ ต่างจากทุกวันนี้ที่ทุกมหาวิทยาลัยต่างแออัดคับคั่งไปด้วยรถยนต์

“ไปกินร้านไหนดีอู” พี่เหล่งถามผมขณะที่ยืนรอรถเมล์

“โดนัทก็ได้พี่” ผมตอบ ที่จริงอยากบอกให้พี่เหล่งไปกินสเต๊กไฮไลท์แต่ก็กลัวพี่เหล่งจะล่มจมเนื่องจากไปกันหลายคน

“เบื่อแล้ว” พี่เหล่งตอบ “เอแอนด์ดับบลิว... ไม่เอาดีกว่า ไปบ่อยแล้วเหมือนกัน”

พี่เหล่งยืนคิดสักครู่ก็เห็นรถเมล์สาย ๔๐ เข้าป้ายก็เรียกให้พวกเราขึ้นรถทันที

“รถมาแล้ว ขึ้นไปก่อนเถอะ” พี่เหล่งพูด

เพียงครู่เดียวรถก็พาพวกเราไปถึงสยามสแควร์ ผมขยับตัวเพื่อเตรียมลงแต่พี่เหล่งส่ายหัวเป็นความหมายว่ายังไม่ต้องลง

“ยังไม่ลง เดี่ยวเราไปที่อื่นกัน” พี่เหล่งพูดกับผมและน้องๆ

รถเมล์สาย ๔๐ พาเราผ่านหน้ากรมตำรวจ ที่แรกผมคิดว่าพี่เหล่งจะพาเราไปที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ แต่เมื่อถึงป้ายแล้วพี่เหล่งก็ยังไม่ลง รถเมล์พาเราข้ามสี่แยกราชประสงค์ไปแล้วพี่เหล่งจึงค่อยบอกให้พวกเราลงจากรถ

“จะไปไหนล่ะพี่”ผมถาม

“โน่นไง” พี่เหล่งบุ้ยใบ้ให้ผมดูยังฝั่งตรงข้าม

โรงแรมเอราวัณตรงสี่แยกราชประสงค์ในตอนนั้นยังล้อมรั้วปิดเพื่อก่อสร้างโรงแรมหลังใหม่อยู่ เห็นแต่ศาลท้าวมหาพรหมที่ตั้งเด่นอยู่ตรงมุมถนน ด้านข้างของเขตก่อสร้างเป็นตึกอัมรินทร์พลาซ่าซึ่งมีลักษณะเด่นอยู่ที่เสาทรงโรมันแบบไอโอนิกขนาดใหญ่ ในตอนนั้นยังมีห้างสรรพสินค้าโซโก้อันเป็นห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นอยู่ ชั้นล่างตรงหัวมุมตึกมีร้านอาหารขึ้นป้ายสีแดงและมีตัวหนังสือสีเหลืองเป็นตัวเอ็มเด่น มันคือร้านขายอาหารฟาสต์ฟูดแมคโดนัลด์นั่นเอง

“เบื่อโดนัทสยามสแควร์แล้ว มากินแฮมเบอร์เกอร์บ้างดีกว่า” พี่เหล่งพูดพลางพาพวกเราเดินขึ้นสะพานลอยไปยังฝั่งตรงข้าม

โลกที่ผมคุ้นเคยก็มีอยู่เพียงแค่สยามสแควร์ เลยออกมาที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์นี่ก็เปรียบเหมือนสุดขอบโลกแล้ว พอข้ามสี่แยกราชประสงค์มาด้านอัมรินทร์พลาซ่านี่ก็เหมือนกับออกนอกโลกมาเลย

“เบื่อหรือเปล่า มากันบ่อยไหม” พี่เหล่งถามพวกเรา “พี่ชอบที่นี่ บรรยากาศดี”

“ไม่ค่อยได้มาค่ะ” จุ๋มตอบ ส่วนนาบอกว่ามาบ่อยๆตอนที่เรียนอยู่ชั้นมัธยม

“กินได้ครับพี่” ผมตอบเลี่ยงๆ ไม่บอกว่ามาบ่อยหรือไม่ทั้งๆที่จริงนั้นไม่เคยมาเลย

พวกเราเดินเข้าไปในร้าน ร้านแมคโดนัลด์สาขานี้เป็นสาขาแรกที่เปิดในเมืองไทย เปิดมาได้ราวสี่ห้าปีแล้ว ตอนนั้นจำได้ว่าที่สยามสแควร์มีโฮเบอร์เกอร์ ร้านแมคโดนัลด์ก็มีแล้ว แต่ดูเหมือนกับว่าพี่เหล่งตั้งใจพาพวกเรามาที่สาขานี้โดยเฉพาะ อาจเป็นเพราะว่าบรรยากาศดีกว่าอย่างที่ว่า

สภาพภายในร้านกว้างขวาง โปร่ง โล่ง และสว่าง มีโต๊ะเก้าอี้ขนาดเล็กกระทัดรัดวางเรียงรายเหมือนในร้านโดนัท ดูทันสมัยสำหรับยุคนั้น แต่ก็คงดูทันสมัยเมื่อเทียบกับการแต่งร้านในยุคนี้ไม่ได้ ภายในร้านมีวัยรุ่นนั่งอยู่เต็มไปหมด ส่วนใหญ่มากันเป็นกลุ่ม ที่เคาน์เตอร์เห็นวัยรุ่นต่อคิวจ่ายเงินและรับอาหารกันอยู่หลายคน

“จะสั่งอะไรกันดี” พี่เหล่งถาม “เดี๋ยวจุ๋มกับนาสั่งแล้วไปหาที่นั่ง อูมาช่วยพี่ยกของก็แล้วกัน”

“ครับ” ผมตอบรับอย่างงงๆ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมเข้าร้านแฮมเบอร์เกอร์ ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ปกติไม่เคยเข้าร้านแฮมเบอร์เกอร์ ขนาดที่คณะมีซุ้มขายแฮมเบอร์เกอร์ผมอยู่มาปีกว่าเพิ่งเคยกินไปเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ผมเห็นจุ๋มกับนาเดินไปดูเมนูที่หน้าเคาน์เตอร์ ส่วนพี่เหล่งลากผมมายืนรอต่อคิวสั่งอาหาร เมื่อสองสาวดูเมนูแล้วก็มาบอกพี่เหล่ง จากนั้นก็เดินไปหาโต๊ะนั่ง ผมจึงมองไปที่เมนูที่เป็นป้ายขนาดใหญ่พร้อมภาพและราคาที่เคาน์เตอร์บ้าง เห็นมีแฮมเบอร์เกอร์หลายชนิด ดูไปดูมาก็แยกไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร จึงหมายตาอันที่ราคาถูกที่สุดเอาไว้และบอกพี่เหล่งไป

“รับอะไรดีครับ” พนักงานหนุ่มถามพี่เหล่งเมื่อคิวของพี่เหล่งมาถึง

พี่เหล่งสั่งอาหารและเครื่องดื่มตามที่สองสาวต้องการ พร้อมกับของผมและของพี่เหล่งเอง พนักงานจัดอาหารใส่ถาดมาให้ในเวลาอันรวดเร็ว จากนั้นพวกเราก็ยกถาดอาหารที่เต็มไปด้วยของกินไปที่โต๊ะที่สองสาวนั่งรออยู่

ระหว่างที่กินแฮมเบอร์เกอร์พวกเราก็คุยกันไป ส่วนใหญ่พี่เหล่งเป็นคนนำการสนทนา สองสาวปีหนึ่งค่อนข้างคุ้นกับร้านนี้เนื่องจากนาจบมาจากโรงเรียนชื่อดังข้างๆห้างโซโก้นี่เอง ส่วนจุ๋มก็จบจากโรงเรียนชื่อดังในย่านอโศก ส่วนผมนั้นเป็นคนเดียวที่หลุดมาจากหลังเขา ไม่เคยเข้าร้านแมคโดนัลด์มาก่อนเลยในชีวิต แต่ในเมื่อไม่มีใครถามก็ไม่ได้บอกออกไป

ผมสังเกตเห็นลูกค้าในร้านส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ส่วนใหญ่กินอาหารในถาดหมดไปนานแล้วแต่ยังนั่งคุยกันอยู่ บางโต๊ะก็เป็นนักศึกษานั่งกับนักเรียนหลายคน ใช้ร้านอาหารเป็นสถานที่สอนพิเศษ รวมความแล้วแต่ละโต๊ะล้วนแต่นั่งแช่กันทั้งนั้น

“แต่ละโต๊ะนั่งรากงอกกันทั้งนั้นเลยนะพี่” ผมตั้งข้อสังเกต

“ร้านนี้ก็ยังงี้แหละ” พี่เหล่งตอบ

เมื่อก่อนการสอนพิเศษส่วนใหญ่มักสอนกันตามม้าหินหรือโรงอาหารในมหาวิทยาลัย ยุคนั้นเป็นยุคแรกเริ่มที่มีการติวหรือสอนพิเศษกันตามร้านอาหารฟาสต์ฟูด ซึ่งบรรยากาศดีกว่าการติวตามม้าหินมากเนื่องจากมีเครื่องปรับอากาศอีกทั้งยังไม่ต้องคอยหลบฝนยามฝนตก ข้อเสียที่เห็นมีอยู่อย่างเดียวก็คือแพง เพราะต้องสั่งอาหารและเครื่องดื่มด้วย

เรานั่งคุยพร้อมกับกินอาหารและดื่มเครื่องดื่มอยู่ประมาณหนึ่งชั่วโมง นาเป็นคนช่างคุย พูดจาฉาดฉาน ส่วนจุ๋มพูดน้อยกว่าแต่ไม่ถึงกับเงียบขรึม พี่เหล่งหาเรื่องชวนคุยไปเรื่อยส่วนผมนั้นก็คุยบ้างแต่ส่วนใหญ่นั่งฟัง ปล่อยให้สาวๆคุยกันมากกว่า

ประมาณหกโมงเย็น จุ๋มก็ขอตัวกลับ

“พี่เหล่งคะ จุ๋มคงต้องกลับก่อนแล้วล่ะ” จุ๋มพูด

“อ้าว จะรีบไปไหนล่ะ” พี่เหล่งรั้ง

“มีงานบ้านต้องทำค่ะ” จุ๋มตอบ “กลับช้านักไม่ได้”

“อ้อ ทำงานบ้านเองเหรอ” พี่เหล่งถามอีก “แล้วอูกับนาล่ะ รีบกลับหรือเปล่า”

นาส่ายหัวบอกว่าไม่รีบ ส่วนผมนั้นเห็นว่าคุยกันนานพอสมควรแล้ว ใจก็คิดอยากกลับอยู่เหมือนกัน

“กลับก็ได้ครับพี่ ผมอิ่มแล้ว” ผมตอบ

“บ้า” พี่เหล่งหัวเราะ

ในที่สุดพวกเราก็แยกย้ายกันกลับ บ้านของนาอยู่บนถนนสุขุมวิท จึงข้ามไปขึ้นรถยังฝั่งตรงข้ามอันเป็นด้านที่เราลงรถมา ส่วนผมเดินไปขึ้นรถที่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตอนนั้นยังไม่มีรถสาย ปอ.๕๑๔ การกลับหอพักต้องนั่งรถเพื่อไปต่อสาย ๘ ที่อนุสาวรีย์อีกทีหนึ่ง ขณะที่เดินข้ามถนนเพื่อข้ามไปยังฝั่งเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์นั้นเองผมก็สังเกตว่าจุ๋มเดินตามมาด้วย

“จุ๋มขึ้นรถที่ไหนน่ะ” ผมชะลอฝีเท้าจนจุ๋มเดินมาทัน จากนั้นชวนคุย

“หน้าเวิลด์เทรดค่ะพี่อู” จุ๋มตอบ

“อ้อ บ้านอยู่ไหนเหรอ” ผมถามต่อ

“อยู่ในซอยอารีย์ค่ะ” จุ๋มตอบ

“งั้นก็ไปทางเดียวกัน พี่อยู่ลาดพร้าว จะไปต่อรถที่อนุสาวรย์” ผมพูด

จุ๋มรอรถเมล์สาย ๗๗ ส่วนผมนั้นที่จริงหากจะไปต่อรถที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิสามารถขึ้นได้หลายสาย แต่วันนั้นผมตัดสินใจรอรถสาย ๗๗ เพื่อไปพร้อมกับจุ๋ม

“ขยันนะ ทำงานบ้านเองด้วย” ผมหาเรื่องชวนคุย ที่จริงก็อดรู้สึกแปลกใจไม่ได้ที่รู้ว่าจุ๋มนั้นทำงานบ้านเอง เพราะว่าจุ๋มจบจากโรงเรียนชื่อดัง อีกทั้งบ้านยังอยู่ในซอยอารีย์ซึ่งในความคิดของผมแล้วผู้ที่พักอาศัยอยู่ในซอยนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะ ดังนั้นจึงไม่น่าต้องทำงานบ้านเอง

“เมื่อก่อนก็มีแม่บ้านมาช่วยค่ะ แต่ว่ามาทำแล้วก็ออกไป ได้มาหลายคนก็ออกไปหมด ในที่สุดก็เลยไม่ได้หาอีก” จุ๋มอธิบาย

“บ้านใหญ่ งานคงหนักนะ” ผมเลียบเคียงถาม

“ทำหมดไม่ไหวหรอกพี่อู ห้องไหนไม่ได้ใช้ก็ไม่ทำ บางห้องก็ปิดตายไปเลย” จุ๋มพูด

การเลียบเคียงถามของผมได้ผล อย่างน้อยก็รู้ว่าบ้านของจุ๋มนั้นคงเป็นบ้านขนาดใหญ่ น่าจะเป็นครอบครัวที่มีฐานะแต่โชคร้ายที่หาแม่บ้านไม่ได้ คนในครอบครัวเลยต้องทำกันเอง

“แล้วจุ๋มต้องรับผิดชอบงานบ้านอะไรบ้างล่ะ” ผมถามต่อ

“ก็... หลายอย่างค่ะ” จุ๋มตอบ

รถเมล์มาถึงอนุสาวรีย์ชัยฯพอดี ผมจึงขอตัวลง

“พี่ลงก่อนนะ แล้วคุยกันใหม่” ผมกล่าวลา

“ค่ะพี่อู เดินดีๆนะ” จุ๋มพูด

“ทำไม พี่เดินไม่ดีหรือไง” ผมงงกับคำพูดของจุ๋ม

“ก็เห็นพี่อูเดินสะดุดโน่นสะดุดนี่” จุ๋มพูดพลางกัวเราะกิ๊ก

“พี่ก็ซุ่มซ่ามแบบนี้แหละ” ผมรู้สึกหน้าชาที่โดนรุ่นน้องแซว “ไปละ”

พูดจบผมก็เบียดแทรกคนไปยังประตูรถ แต่ยังไม่ทันจะได้ก้าวลงจากรถ รถก็เคลื่อนตัวออกไปก่อน

“อ้าว เฮ้ย” ผมอุทาน

เพิ่งถูกรุ่นน้องว่าซุ่มซ่าม นี่ก็มัวแต่คุยจนลงรถเมล์ไม่ทันอีกแล้ว ผมยืนรออยู่แถวบันไดจนรถเมล์จอดป้ายถัดไปที่ปากซอยลือชาจึงได้ลงจากรถ




<(คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพเต็ม)อาคารอัมรินทร์พลาซ่าในสมัยก่อนมีห้างญี่ปุ่นชื่อโซโก้ อาคารนี้เปิดตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยห้างโซโก้และร้านแมคโดนัลด์สาขาแรกก็เปิดให้บริการในปีเดียวกันนั้น ตอนเปิดใหม่ค่อนข้างเงียบแต่ต่อมานักเรียนและนักศึกษาชอบเข้ามานั่งแช่ครั้งละนานๆจึงทำให้ดูมีคนมาก ต่อมาก็พัฒนามาอีกขั้นหนึ่งโดยนักศึกษาบางคนใช้เป็นสถานที่สอนพิเศษด้วย ซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติของร้านอาหารแบบฟาสต์ฟูดในเวลาต่อมา ต่อมาห้างโซโก้ปิดไปในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ภาพร้านแมคโดนัลด์นี้ถ่ายเมื่อประมาณปี ๒๕๔๔ หาภาพที่เก่ากว่านี้ยังไม่ได้>




<(คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพเต็ม) อาคารอัมรินทร์พลาซ่าในปัจจุบัน ร้านแมคโดนัลด์ได้รับการปรับปรุงใหม่ ดูหรูหรากว่าเดิม>

Saturday, July 2, 2011

ภาคสี่ ตอนที่ 37

หลังจากที่ผมตัดสินใจเรียนต่อที่เดิม ผมก็ดำเนินชีวิตต่อไปตามปกติ ที่บ้านมีแต่แม่กับเอ๊ดที่รู้เรื่อง ส่วนพ่อนั้นทุกคนปิดเอาไว้ตามคำขอของผม ที่มหาวิทยาลัยนั้นมีเพื่อนรู้กันพอสมควร การที่ผมสอบได้นั้นไม่ได้มีหน้ามีตาอะไรเลย ตรงกันข้าม เพื่อนๆกลับคิดว่าผมเพี้ยนเนื่องจากสละสิทธิ์ ผมจึงกลายเป็นตัวตลกให้เพื่อนๆล้อเลียนอยู่พักใหญ่

ต้นเดือนมิถุนายน วันเปิดเทอม...

ในที่สุดการเรียนในวันแรกของปีการศึกษาใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น ผมเดินเข้าไปในมหาวิทยาลัยด้วยความรู้สึกแปลกๆ น้องใหม่เป็นจำนวนมากในชุดนักศึกษาใหม่เอี่ยมละออเดินกันขวักไขว่ การแต่งกายของผมในปีนี้เป็นเพียงเสื้อเชิ้ตแขนสั้น กางเกงสีกรมท่า กับเข็มขัดตรามหาวิทยาลัยเท่านั้น เพราะว่าเป็นรุ่นพี่แล้ว ส่วนรองเท้าหนังสีดำก็ยังใช้อยู่ เพียงแต่ว่าไปซื้อรองเท้าวิ่งมาใส่สลับบ้างเนื่องจากรองเท้าวิ่งนั้นใส่สบายกว่ารองเท้าหนังแข็งๆมาก

ที่ว่ารู้สึกแปลกๆก็เนื่องจากน้องใหม่ชั้นปีหนึ่งนั้นเป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่โรงเรียนเก่าของผมอยู่หลายคน บางคนก็อยู่คณะเทคโน บางคนก็อยู่คณะอื่น การมีรุ่นน้องเป็นเพื่อนหรือว่ามีเพื่อนเป็นรุ่นน้องนี้เป็นความรู้สึกที่อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน รวมทั้งยังไม่รู้ว่าต่อไปผมจะวางตัวอย่างไร จะว้ากเพื่อนก็กระอักกระอ่วนใจ ยิ่งถ้าต่อไปได้เพื่อนมาเป็นน้องรหัสนี่คงยิ่งทำหน้าไม่ถูกเข้าไปใหญ่

บรรยากาศในวันเปิดภาคเรียนวันแรกคึกคักแจ่มใส ผมเดินเข้าคณะจากนั้นก็เดินลัดเลาะเพื่อไปยังโต๊ะกลุ่มสาม ขณะที่เดินไปก็ทักทายเพื่อนซึ่งเป็นน้องใหม่ไปตลอดทาง แตกต่างจากตอนที่ผมเป็นน้องใหม่ในปีที่แล้วที่เดินเข้าคณะโดยแทบไม่รู้จักใครเลย จากการพูดคุยทำให้ผมได้รู้ความข่าวคราวของเพื่อนคนอื่นๆอีกไม่น้อย ที่ห้องผมนั้นปีนี้สอบได้แพทย์สามสี่คน รวมกับที่สอบเทียบแล้วเข้าแพทย์ได้ในปีที่แล้วก็เจ็ดแปดคนทีเดียว นอกจากนั้นยังมีที่สอบได้วิศวะ ทันตแพทย์ เภสัชอีก บางคนก็สอบไม่ติดที่ใดเลยก็มี

ช่วงปีหนึ่งเทอมสองผมไม่ค่อยได้มาที่โต๊ะกลุ่มนักเนื่องจากมัวแต่ขลุกอยู่ที่ชมรม แต่เนื่องจากตอนต้นปีการศึกษาเป็นเวลาที่พวกพี่ปีสองต้องมาอยู่ประจำที่กลุ่มเนื่องจากมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับน้องใหม่หลายอย่าง ถือว่าเป็นสปิริตอย่างหนึ่งของชั้นปีสอง ดังนั้นผมจึงต้องเข้ามาที่โต๊ะกลุ่มด้วย โดยปีนี้ผมต้องรับน้องรหัสถึงสองคนเนื่องจากมีเพื่อนนักศึกษาร่วมรุ่นสอบเอนทรานซ์ติดและลาออกไปเป็นจำนวนไม่น้อย พี่ปีสองจึงไม่พอกับจำนวนของนักศึกษาปีหนึ่ง ดังนั้นบางคนจึงต้องรับน้องรหัสไว้ถึงสองคน ผมก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นด้วย

“เฮ้ย ไอ้อู” ไอ้ตู้ อดีตเพื่อนร่วมห้องของผมคนหนึ่งสมัยเรียนมัธยมซึ่งตอนนี้กลายมาเป็นรุ่นน้องในคณะเทคโนร้องทักผมขณะที่ผมกำลังเดินไปยังโต๊ะกลุ่ม ที่เพื่อนๆตั้งฉายาให้มันว่าตู้เห็นบางคนบอกว่าหุ่นของมันตันๆ ดูแล้วเหมือนตู้ใบหนึ่ง บางคนก็บอกว่ามันไม่ค่อยฉลาดเท่าไรนักก็เลยชื่อตู้ เพราะตู้แปลว่าโง่ ผมเองก็ไม่แน่ใจนักว่ามันชื่อตู้เพราะว่าอะไรกันแน่ เราเคยเรียนด้วยกันมาปีหนึ่งซึ่งก็ไม่สนิทกันมากนัก แต่เมื่อมาอยู่ที่นี่ สายสัมพันธ์ของโรงเรียนเก่าทำให้ผมรู้สึกดีใจเหมือนกับได้พบญาติคนหนึ่ง

“เออ หวัดดีตู้” ผมทักมัน

“ต้องเรียกพี่อูมั้ยเนี่ย” ตู้ถามด้วยสีหน้าลังเล

“เรียกก็ดีเหมือนกัน” ผมตอบ “ที่นี่ถือระบบอาวุโส”

“หา ให้กูเรียกมึงว่าพี่เนี่ยนะ” ตู้ทำเสียงดัง

“อ้าว ไม่อยากเรียกแล้วมึงถามทำหอกอะไร” ผมหัวเราะแล้วขู่มัน “ตามใจมึง อยากเรียกก็เรียก ไม่อยากเรียกก็อย่าเรียก แต่ถ้าโดนจับซ่อมฐานละเมิดอาวุโสกูก็ช่วยอะไรไม่ได้นะ”

“มีซ่อมกันด้วยเหรอ” ไอ้ตู้ชักลังเล “งั้นต่อหน้าคนอื่นกูเรียกมึงพี่อูก็ได้ แต่ลับหลังกูก็เรียกมึงไอ้อู ไอ้ห่า พอเป็นรุ่นพี่ทำเบ่งใส่กู”

“เออ กูล้อเล่น” ผมหัวเราะ ดีใจที่ได้แกล้งเพื่อน “ขู่มึงไปยังงั้นเอง กูก็ไม่รู้หรอกว่าจะวางตัวยังไง เพิ่งเปิดเทอมวันแรก ยังทำตัวไม่ถูกเหมือนกัน มึงลองสังเกตดูคนอื่นก็แล้วกัน คนอื่นทำยังไงมึงก็ทำยังงั้นนั่นแหละ”

- - -

ทางด้านการเรียนของผมนั้น ในที่สุดผมก็ได้เข้าเรียนในแผนกเทคโนอุตฯตามที่ผมได้ตั้งใจเอาไว้ แผนกเทคโนอุตนั้นมีนักศึกษาราวสามสิบคน จำนวนนักศึกษาหญิงกับชายปกติจะพอๆกันแต่รุ่นผมนี้นักศึกษาหญิงมากกว่านักศึกษาชายนิดหน่อยเนื่องจากมีนักศึกษาชายลาออกไปเรียนที่ใหม่กันมาก ส่วนเพ็ญนั้นเข้าเรียนในแผนกคณิตศาสตร์ประยุกต์ตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้ ไอ้กี้เข้าเรียนในแผนกเคมีประยุกต์ ส่วนสองสาวแมวกับจิ๊บรวมทั้งชาญได้เรียนอยู่ในแผนกเดียวกันคือแผนกเทคโนโลยีชีวภาพ

การเรียนในวันแรกของชั้นปีที่สองนั้นแตกต่างจากปีหนึ่งไปมาก ตอนอยู่ชั้นปีหนึ่งนั้นเป็นการเดินไปเรียนตามตึกต่างๆซึ่งส่วนใหญ่เป็นห้องเรียนรวม มีขนาดใหญ่ แต่พอขึ้นปีสองแล้วมีรายวิชามากกว่าครึ่งที่เป็นวิชาของแผนกซึ่งเรียนในตึกภาควิชานั่นเอง ส่วนที่เป็นวิชาเรียนรวมกันหลายๆแผนกและต้องเดินไปเรียนยังตึกอื่นมีน้อยลง รวมทั้งห้องเรียนในแต่ละรายวิชาก็เป็นห้องเรียนขนาดเล็ก จุคนได้เพียงไม่กี่สิบคน เนื่องจากรายวิชาของแต่ละสาขามีคนเรียนไม่มากนัก แต่ห้องแล็บหรือห้องปฏิบัติการกลับมีขนาดใหญ่ขึ้นเนื่องจากเป็นปฏิบัติการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรม อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้จึงมีขนาดใหญ่และกินเนื้อที่มาก

เรื่องที่ผมกลัวมาตลอดก็คือการพบหน้าเพ็ญ เนื่องจากผมรู้สึกว่าเมื่อเราพบกันแล้วผมคงวางตัวไม่ถูก แต่โชคดีที่ปีสองนั้นเรียนในตึกภาควิชาของตนเองค่อนข้างมาก รวมทั้งวิชาเรียนในแผนกของเพ็ญเองก็ค่อนข้างเป็นเอกเทศ แทบจะไม่มีวิชาที่เรียนร่วมกับนักศึกษาแผนกอื่นเลย ดังนั้นโอกาสที่ผมจะได้เรียนร่วมกับเพ็ญนั้นจึงไม่มี จะมีก็แต่เพียงพบกันในคณะ ในโรงอาหาร หรือพบกันที่โต๊ะกลุ่มเท่านั้น ส่วนที่ชมรมนั้นผมได้สืบมาแล้วได้ความว่าตั้งแต่ช่วงปลายเทอมสองของปีที่แล้วเพ็ญก็ไม่ได้ไปช่วยงานที่ชมรมอีกเลย

- - -

การเรียนในเช้าวันแรกของชั้นปีที่สองยังไม่มีอะไรมากนัก ส่วนใหญ่เป็นการแนะนำวิชา เมื่อเรียนเสร็จก็รีบไปกินอาหาร หลังจากนั้นก็เดินไปที่โต๊ะกลุ่ม ตลอดเวลาผมพยายามสังเกตหาเพ็ญ คิดว่าหากเจอก็จะหลบหน้าไปเสีย แต่ตั้งแต่เช้าผมก็ยังไม่ได้พบเพ็ญเลย

เมื่อไปถึงโต๊ะกลุ่มสาม ผมสำรวจดูบริเวณโต๊ะกลุ่มอย่างระมัดระวัง เมื่อไปพบเพ็ญผมก็เบาใจลง พบแต่สองสาวแมวกับจิ๊บ

“ไอ้อู มานี่เลย” เสียงจิ๊บร้องเรียกผมพร้อมทั้งกวักมือหยอยๆ ผมแอบหนาวเล็กน้อยเพราะคิดว่าที่เรียกผมคงเกี่ยวกับเรื่องของเพ็ญ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ “ไปอยู่ที่ไหนมา น้องมารออยู่ตั้งนานแล้ว”

“เรียนเสร็จก็กินข้าวแล้วมาที่นี่แหละ ไม่ได้อู้เลยสักนิด” ผมตอบ “แล้วไหนล่ะน้อง”

น้องรหัสของผมเป็นผู้หญิงทั้งสองคน คนหนึ่งอยู่กลุ่มสามชื่อเก๋ไก๋ว่าน้องแพรว ส่วนอีกคนอยู่กลุ่มหนึ่งชื่อน้องนุช เสียดายเหมือนกันที่ไม่มีน้องรหัสผู้ชายสักคน ผมกับน้องรหัสพบกันแล้วตั้งแต่วันแรกพบน้องใหม่ แต่เมื่อครู่ตอนเดินเข้ากลุ่มมายังไม่เห็นน้องรหัสเลย

พูดกับจิ๊บยังไม่ทันขาดคำ แพรวก็ปรากฏตัวขึ้นตรงหน้าผม เห็นเธอเคี้ยวหมากฝรั่งหยับๆ

“อ้อ หวัดดีแพรว” ผมทัก “แล้วนุชอยู่ไหนล่ะ”

“มารอเอาหนังสือน่ะพี่อู” แพรวพูดตรงเข้าประเด็นเลยโดยไม่ได้ตอบคำถามหรือทักทายผมแม้แต่น้อย พูดไปก็เคี้ยวหมากฝรั่งไป ผมได้ยินแล้วถึงกับเหวอ วันก่อนที่เราพบกันในวันแรกพบน้องใหม่ผมยังไม่มีโอกาสคุยกับน้องรหัสทั้งสองคนมากนัก แค่ทักทายกันแล้วก็บอกว่าเปิดเทอมให้มาหาที่กลุ่ม จะยกมรดกคือหนังสือเรียนชั้นปีหนึ่งให้

“เอ้อ วันนี้พี่ยังไม่ได้เอาหนังสือมาเลย พรุ่งนี้ก็แล้วกัน” ผมตอบพร้อมกับแอบกลืนน้ำลายอึกใหญ่ อารมณ์ตอนนั้นไม่ได้อยากให้หนังสือแก่น้องรหัสคนนี้เลยแม้แต่น้อย เห็นมารยาทแล้วรู้สึกเสียดายหนังสือมาก “อีกอย่างก็มีไม่เยอะนะ พี่ต้องแบ่งให้นุชอีกด้วย”

น้องแพรวผู้มีชื่อเล่นอันไพเราะทำหน้ายี้

“ทำไมพี่ไม่หามาเยอะๆล่ะ หามาเพิ่มอีกได้ไหมหรือเปล่า จะได้ไม่ต้องซื้อมาก” น้องแพรวสั่งผมด้วยน้ำเสียงตำหนิ

นี่จะมาเป็นน้องหรือมาเป็นแม่กันแน่วะ ผมเริ่มกรุ่นอยู่ในใจ

“น้อง ทำไมพูดกับพี่เค้าแบบนี้ล่ะ” แมวตำหนิน้องรหัสของผม

น้องแพรวไม่พูดอะไรแต่ทำหน้ายี้อีก “พี่อูสอบเทียบมาเหรอ”

ผมพยักหน้า ไม่รู้ว่าแพรวรู้ได้อย่างไร วันก่อนที่พบกันผมแน่ใจว่าไม่ได้บอกเรื่องนี้ให้แพรวรู้

“ที่จริงเราก็รุ่นเดียวกัน” แพรวสรุป พร้อมกับเป่าหมากฝรั่งในปากเป็นลูกโป่ง “งั้นพรุ่งนี้มาเอาหนังสือนะ”

หลังจากที่แพรวเดินออกไปจากโต๊ะกลุ่ม จิ๊บก็หัวเราะขึ้นมา

“น้องไอ้อูนี่เจ๋งจริงๆ” จิ๊บพูด

“แหม บุคลิกของเค้าคงเป็นยังงั้นเอง” แมวช่วยแก้ต่างให้ แล้วก็หัวเราะ “แต่จะว่าไปอูนี่ก็ซวยจริงๆ แพรวน่าจะไปเป็นน้องรหัสของเจตมากกว่า ดูแล้วสมกันดี”

“ใครไปบอกว่าเราสอบเทียบมาวะ” ผมบ่นอุบ “เสียหมาหมดเลย ดูดิ”

“เราเองแหละ” แมวพูดเสียงอ่อยพร้อมทำสีหน้าสำนึกผิด “หลุดปากไปน่ะ”

“โธ่เอ๊ย พูดยังกะปิดเป็นความลับได้ยังงั้นแหละ” จิ๊บหัวเราะ “คณะนี้เด็กสอบเทียบตั้งครึ่งค่อนคณะ ไม่ต้องรอใครบอกอีกหน่อยก็รู้เองอยู่ดีนั่นแหละ”

“คงเป็นกรรมเก่ามั้ง” ผมเอาธรรมะเข้าข่มแกมประชดชีวิตนิดๆ “เลยเจอน้องรหัสแบบนี้”

- - -

ชีวิตนักศึกษาชั้นปีที่สองนั้นก็แตกต่างจากปีหนึ่งไม่มากนัก เพียงแต่ว่าสถานภาพต่างไปจากเดิมบ้าง เดิมเป็นชี่ซึ่งต้องคอยฟังพี่ว้ากหรือฟังคำสั่งต่างๆของรุ่นพี่ มาปีนี้พวกเราได้เป็นพี่บ้างแล้ว เป็นทีของพวกเราที่จะว้ากน้องๆที่เป็นเฟรชชี่อันเป็นการกระทำที่เหมือนเป็นกงกรรมกงเกวียน แต่ที่คณะนี้ไม่มีเรื่องโหดร้ายแต่อย่างใด เรื่องการรับน้องด้วยความรุนแรงนั้นไม่มี มีแต่ดุบ้างด่าบ้างเท่านั้น

ปกติการจัดกิจกรรมต่างๆเกี่ยวกับน้องใหม่รุ่นพี่ปีสองจะเป็นคนดูแล ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมวันแรกพบ การจัดหาพี่รหัส การจัดเข้าโต๊ะกลุ่ม การซ้อมเชียร์ ฯลฯ ดังนั้นเมื่อพวกเราขึ้นชั้นปีที่สองก็จะมีบางส่วนที่เข้ามาทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับน้องใหม่ ส่วนที่เหลือก็คอยช่วยเหลือสนับสนุน บางส่วนก็ตั้งหน้าตั้งตาเรียนไม่สนใจทำกิจกรรมน้องใหม่ใดๆ

สำหรับผมนั้นก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนักเกี่ยวกับน้องใหม่ เพียงมาช่วยงานในวันสำคัญๆบ้างเท่านั้น อย่างเช่นในวันแรกพบ รวมทั้งรับเป็นพี่รหัส แต่ไม่ได้ถึงขั้นเข้าไปร่วมเป็นสต๊าฟกิจกรรมน้องใหม่ สต๊าฟเชียร์ หรือสต๊าฟกีฬาแต่อย่างใด

หลังจากเปิดเทอมในวันแรก วันต่อมาผมก็หอบเอาหนังสือเรียนของชั้นปีหนึ่งที่ผมไม่ได้ใช้แล้วมาที่กลุ่มเพื่อมอบให้แก่แพรวและนุช ก็ได้กันไปคนละเล่มสองเล่มเท่านั้น ผมไม่ได้ให้สมุดจดไปเพราะว่าลายมือของผมแย่มาก น้องเอาไปก็คงอ่านไม่ออก แถมยังจดไม่ดีอีกต่างหาก เครื่องแต่งกายไม่ได้ให้เพราะใช้กันไม่ได้ ถึงจะใช้กันได้ก็คงไม่มีอะไรจะให้เนื่องจากผมเองก็ยืมรุ่นพี่มา จึงได้แต่ให้หนังสือและพาไปเลี้ยง โดยหลังจากที่พาไปกินไอศกรีมที่ร้านแถวสามย่านแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธีรับขวัญน้องรหัส

นุชนั้นแม้จะมีมารยาทดีกว่าแพรวแต่ก็ไม่ถึงกับอ่อนหวานดังที่ผมคาดหวังเอาไว้ หลังจากที่ผมมอบหนังสือเรียนให้และพาไปกินไอติมรับขวัญแล้ว หลังจากนั้นก็แทบเรียกได้ว่าเป็นพี่รหัสน้องรหัสกันแต่ในนามเท่านั้น ส่วนความสัมพันธ์นั้นแทบไม่มีเอาเลย เดินเจอกันในคณะก็ทักทายกันเล็กๆน้อยๆเท่านั้น

ความสัมพันธ์ที่เบาบางระหว่างผมกับน้องรหัสทำให้ผมอดนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างผมกับพี่รหัสของตนเองไม่ได้ นึกแล้วก็คล้ายๆกันคือหลังจากรับหนังสือมาแล้วทั้งปีก็แทบไม่ได้พบกันเลยเนื่องจากพี่รหัสของผมเป็นคนเฉยๆ พบกันก็ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไรกันดี แต่ที่ต่างกันก็คือผมคิดว่ามารยาทของผมที่แสดงต่อพี่รหัสนั้นดีกว่ามาก

- - -

ที่คณะศิลปศาสตร์

เมื่อคิดถึงน้องรหัสและพี่รหัสของตนเองแล้วก็ทำให้ผมนึกถึงพี่เหล่งพี่รหัสต่างคณะของผม แม้ว่าพี่เหล่งจะเป็นพี่รหัสต่างคณะแต่กลับสนิทสนมกับผม แถมยังใจดีแอบให้ผมเล่นเปียโนบ้างเป็นบางครั้งอีกด้วย เย็นวันหนึ่งผมจึงแวะไปเยี่ยมเยียนพี่เหล่งที่ห้องพักนักศึกษาของคณะศิลปศาสตร์

“เฮ้ อู” พี่เหล่งทักทายเมื่อได้เห็นผม “ไม่ได้เจอกันเสียนาน เป็นไงบ้าง”

“หวัดดีครับพี่” ผมทักทาย “เปิดเทอมแล้วเลยแวะมาเยี่ยมพี่เหล่ง”

พี่เหล่งมองดูผมอย่างสำรวจ

“ดูหน้าเปลี่ยนไปนะ”พี่เหล่งตั้งข้อสังเกต

“ช่างสังเกตจังพี่” ผมหัวเราะ “ก็เปลี่ยนแหละ ปีที่แล้วเรียน รด. ปีนี้เลิกเรียนแล้ว เลยไว้ผมได้ครับ”

“มิน่าล่ะ” พี่เหล่งพยักหน้าเป็นเชิงเข้าใจ

“ปีหนึ่งคณะนี้ดูคึกคักดีนะพี่” ผมตั้งข้อสังเกตบ้าง “แล้วปีนี้พี่เหล่งมีน้องรหัสหรือน้องแผนกหรือเปล่า”

“ไม่มีหรอก นั่นมันหน้าที่ของปีสอง แต่พี่ก็ช่วยดูแลนั่นแหละ มีอะไรขาดเหลือพี่ก็ช่วย” พี่เหล่งตอบ แล้วก็พูดอย่างนึกขึ้นได้ “นี่อูไม่ได้สอบเอนทรานซ์ใหม่หรอกเหรอ”

“สอบครับ” ผมตอบ

“ไม่ติดหรือไง” พี่เหล่งดักคอ

“ติดแพทย์ต่างจังหวัดครับ แต่ไม่ได้ไป” ผมตอบตามตรง

“เออ ดีแล้ว ให้พี่เรียนพี่ก็ไม่เอา เห็นเลือดแล้วจะเป็นลม เรียนเปียโนดีกว่า” พี่เหล่งหัวเราะ นับเป็นคนแรกที่สนับสนุนความคิดของผม “เดี๋ยวก่อน คุยกันมาตั้งนาน อูมาหาพี่มีอะไรพิเศษหรือเปล่า”

“เปล่าครับ” ผมตอบ “คิดถึงพี่เลยมาเยี่ยม แต่ถ้าพี่จะเลี้ยงขนมผมก็ไม่ขัดข้อง”

“เฮอะ เห็นแก่กินนี่เอง” พี่เหล่งหัวเราะ “งั้นวันมะรืนอูมาใหม่ วันนี้กับพรุ่งนี้พี่ติดคิวซ้อม ไปกินที่สยามกันก็ได้”

“ได้เลยพี่” ผมไม่เกรงใจ กับพี่เหล่งผมรู้สึกเป็นกันเองจนผมกล้าทวงให้เลี้ยง

หากผมไม่ได้พบกับแพรวและนุชผมก็อาจไม่ได้นึกถึงพี่เหล่ง เมื่อไม่ได้นึกถึงพี่เหล่งผมก็อาจไม่ได้มาเยี่ยมพี่เหล่งอีกครั้ง และเมื่อไม่ได้มาเยี่ยมพี่เหล่ง ชะตาชีวิตของผมก็อาจกลายเป็นอีกแบบหนึ่งก็ได้...